fbpx

การหวนคืนสนามท่ามกลางเสียงวิจารณ์ชุดใหญ่ เบนเซมาในสายตาของฝั่งขวาจัด

ภาพจาก ‘Chris Deahr

ถึงที่สุดแล้วแม้ฝรั่งเศสซึ่งเป็นอดีตแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2018 จะทะลวงไปจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายไม่ไหวในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ‘ยูโร’ ครั้งล่าสุดนี้ เมื่อต้องพ่ายให้กับสวิตเซอร์แลนด์จากการดวลลูกโทษไปด้วยคะแนน 5-4 หลังเสมอแบบชวนขาดใจ (และแฟนบอลชาวไทยที่รอดูให้จบแมตช์จนสว่างคาตา) แบบต่อเวลากันสุดเหยียดที่ 120 นาทีและคะแนน 3-3 แต่ถึงอย่างนั้น ทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้ก็มีเรื่องให้ชวนพูดถึงอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือการหวนคืนสนามของกองหน้าตัวแกร่งอย่าง การีม เบนเซมา

จุดสำคัญที่ทำให้ชื่อของเบนเซมาถูกหยิบมาพูดถึงระลอกใหญ่ ไม่เพียงแต่เป็นการลงเตะในนามทีมชาติอีกครั้งหลังห่างหายไปร่วม 6 ปี ทั้งยังระเบิดฟอร์มร้อนด้วยการยิงอัดคู่ต่อสู้ไปทั้งสิ้น 4 ลูกตลอดทัวร์นาเมนต์ (รวมทั้งแมตช์สุดท้ายที่ลงเตะกับสวิตเซอร์แลนด์ด้วย) หรือการเป็นนักเตะหน้าเก่าที่ต้องเล่นประสานกันกับกองหน้าเลือดใหม่ผู้เป็นความหวังอย่าง คีลิยาน เอ็มบับเป แต่ไม่มีหัวข้อไหนจะเร่าร้อนไปกว่า การปรากฏตัวของเขาในครั้งนี้ทำให้บทสัมภาษณ์ที่เขาเคยพูดเกี่ยวกับเชื้อชาติเมื่อปี 2006 ไล่เรื่อยมาจนถึงคดีที่พัวพันติดตัวมาตั้งแต่ปี 2015 จนถูกพิพากษาด้วยการไม่ให้ลงเล่นทีมชาตินาน 6 ปีเต็มจะหวนกลับมาเต็มหน้าสื่ออีกหน

ต่อประเด็นที่ว่า ทีมชาติฝรั่งเศสชุดก่อนหน้านี้หลายปีก็เคยถูกสื่อแซวว่าเป็นชุดที่อุดมด้วยนักเตะหลากหลายเชื้อชาติ หรือคือชุด ‘black, blanc, beur’ (คนดำ คนขาว และคนอาหรับ) โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทีมชาติฝรั่งเศสเกรียงไกรสุดขีดในปี 1998 จน ซีเนดีน ซีดาน กองกลางระดับโลกที่เกิดจากครอบครัวผู้อพยพชาวอัลจีเรียให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นความหลากหลายของผู้เตะในทีม หรือในทางกลับกันคือการถูกมองว่าแทบไม่มีคนฝรั่งเศสที่ไม่ได้เป็นผู้อพยพเป็นสมาชิกเลยว่า 

“นี่มันไม่ใช่เรื่องของศาสนา เรื่องสีผิวอะไรเลย เราไม่ได้แยแสเรื่องนั้นแม้สักนิด” 

ตัวเบนเซมาเองเกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวอัลจีเรีย ณ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ ว่าไม่มีความเป็นฝรั่งเศสมากพอจะเล่นให้ทีมชาติ และถูกโหมกระพือจนไฟลุกจากบทสัมภาษณ์ระหว่างเขากับ RMC คลื่นวิทยุเจ้าดังว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่เขาอาจจะเลือกเล่นให้ทีมชาติอัลจีเรีย “เพราะมันเป็นประเทศของพ่อแม่ผม มันอยู่ในหัวใจ” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ยังไม่นับรวมที่มีคนจับภาพเขาร้องเพลงชาติฝรั่งเศส ก่อนลงเตะด้วยท่าทางราวกับไม่เต็มใจหลังจากนั้น

ก่อนที่ในปี 2016 เบนเซมาจะกระโจนเข้าไปสู่เรื่องอื้อฉาวที่ดังกระฉ่อนไปทั่วทั้งโลกแบบที่คนไม่ได้ติดตามวงการฟุตบอลก็น่าจะเคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้าง กับกรณี ‘เซ็กซ์เทป’ อันเป็นต้นเหตุให้ ดีดีเยร์ เดฌ็องส์ กุนซือใหญ่ของทีมชาติอัปเปหิเขาออกจากทีมชาติฝรั่งเศสนาน 6 ปีเต็ม แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเบนเซมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติฝรั่งเศสและพิสูจน์ตัวเองในฐานะกองหน้าตัวฉกาจของเรอัล มาดริดมาอย่างยาวนาน

กล่าวทบทวนเรื่องคดีฉาวเจ้ากรรม เอาเข้าจริงๆ เบนเซมาไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง กล่าวคือเขาไม่ได้เป็นทั้ง ‘ตัวละครในเทป’ หรือกระทั่ง ‘เจ้าของเทป’ แต่เป็น ‘คนกลาง’ ที่พยายามสมานรอยร้าวซึ่งกลายเป็นการตัดสินใจผิดครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา

คู่กรณีตัวจริงคือ แมตธีเยอ วาลบูเอนา เพื่อนนักเตะชาวฝรั่งเศส ที่เข้าแจ้งความว่าวิดีโอเทปส่วนตัวของเขาตกไปอยู่ในมือของคนร้าย โดยอีกฝ่ายเรียกค่าไถ่เป็นเงินราวๆ หนึ่งแสนยูโรเพื่อปกปิดไม่ให้เทปเจ้ากรรมนี้ตกไปอยู่ในมือสาธารณชน ซึ่งในระหว่างนี้เบนเซมาได้ติดต่อวาลบูเอนามาเป็นการส่วนตัว และแจ้งให้เขาจ่ายค่าไถ่ตามที่คนร้ายเรียกร้องให้มันจบๆ ไปจะดีกว่า จนเมื่อเรื่องถึงมือตำรวจ กระบวนการกรรโชกทรัพย์ที่ว่านี้ก็ถูกสาวไส้ล้างบางครั้งใหญ่

เบนเซมาเองติดร่างแหและถูกสอบสวนไปด้วย เพราะพยายามโน้มน้าววาลบูเอนาให้ “จ่ายๆ ไปเถอะ” ก่อนที่ทั้งตำรวจและวาลบูเอนาจะพบว่าแท้จริงแล้วคนร้ายคือเพื่อนวัยเด็กของเบนเซมา และการพยายามโน้มน้าววาลบูเอนาจนเรื่องยุ่งเหยิง ทำลายชื่อเสียงดันจนป่นปี้นี้ก็เกิดขึ้นมาจากการที่เบนเซมาปรารถนาดี อยากช่วยเพื่อนในวัยเด็กที่โตมาด้วยกันจากสลัมที่ลียงให้รอดจากการถูกตำรวจจับกุม โดยการติดต่อไปยังวาลบูเอนาเป็นการส่วนตัวและกล่อมให้อีกฝ่ายจ่ายเงินแทนที่จะแจ้งตำรวจก็เพื่อไม่ให้เพื่อนต้องถูกจับ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า วาลบูเอนาฮึดสู้ แจ้งตำรวจเรื่องเทปอันอื้อฉาวจนกลายเป็นการสางปมอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่เบนเซมาจำต้องรับผิดรับชอบด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผลที่ตามมาหลังจากนั้นไม่เพียงแต่จะต้องแตกหักกับวาลบูเอนา แต่เบนเซมายังถูกสื่อมวลชนขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะการถูกจับตาเพ่งเล็งในฐานะอดีตเด็กชายที่เติบโตมาในย่านสลัมของฝรั่งเศส บ่อยครั้งก็ถูกหยิบโยงไปถึงเรื่องเชื้อชาติและสถานะการมาจากครอบครัวผู้อพยพของเขา ตลอดจนถูกเดฌ็องส์ถอดออกจากรายชื่อทีมชาติในปี 2016 ทั้งที่ผลการเล่นให้มาดริดในฤดูกาลนั้นยอดเยี่ยม (ในฤดูกาลเดียว เขาดาหน้ายิงไปทั้งสิ้น 25 ประตู) ก่อนที่ทีมจะไปพ่ายให้โปรตุเกสในรอบชิงชนะเลิศ

อย่างไรก็ดี หลายคนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เบนเซมาไม่ได้รับสิทธิให้ลงเตะในนามทีมชาติครั้งนั้นด้วยเหตุจากกรณีอื้อฉาว แต่พร้อมกันนั้นก็มีคนตั้งคำถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่เบนเซมา หรือถ้าตัวละครในความวุ่นวายนี้เป็นคนฝรั่งเศสที่ไม่ได้มาจากครอบครัวผู้อพยพล่ะ เขาหรือเธอต้องเจอโทษเช่นเดียวกันหรือไม่ 

นักการเมืองขวาจัดก็ถือเอาจังหวะนี้วิพากษ์วิจารณ์เบนเซมานอกเหนือไปจากคดีที่เขาเข้าไปพัวพัน นำโดยบทสัมภาษณ์อันอื้อฉาวของ มารีน เลอ แปน นักการเมืองจากพรรค National Rally ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของฝรั่งเศสว่า “การีม เบนเซมา ไม่สมควรได้รับโอกาสในการเล่นให้ทีมชาติฝรั่งเศสอีกต่อไป ฉันคิดว่าเขาแสดงอาการหยามหมิ่นฝรั่งเศสซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั่น รวมถึงยังมีพฤติกรรมในลักษณะที่คนฝรั่งเศสไม่อาจยอมรับได้ ทั้งที่หารายได้เป็นกอบเป็นกำแต่ยังประพฤติตัวราวกับเด็กนิสัยเสียเช่นนี้” หรือ “เบนเซมาคือหนึ่งในนักฟุตบอลที่ไม่ยอมร้องลามาร์แซแยซ (เพลงชาติฝรั่งเศส) ตลอดจนให้สัมภาษณ์แนวคิดที่สะท้อนการต่อต้านความรักชาติอยู่หลายต่อหลายครั้ง”

ท่าทีของเลอ แปนต่อกรณีของเบนเซมาไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะเธอแสดงตัวต่อต้านผู้อพยพอย่างชัดเจนมาโดยตลอด (จนถูกขนานนามว่าเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ สาขาฝรั่งเศสอยู่เนืองๆ) เพียงแต่เธอถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่าพยายามโยงเอาเรื่องคดีฉาว (ซึ่งด้านหนึ่งก็ได้รับการพิจารณาว่าสมเหตุสมผลแล้วที่จะตัดสิทธิ์กองหน้าตัวฉกาจออกจากทัพนักเตะ) มาใช้เป็นฉากหน้าในการโจมตีเบนเซมาเรื่องความไม่เป็นฝรั่งเศสมากพอ หรือกระทั่งสถานะการเป็นเด็กจากครอบครัวผู้อพยพของเขา 

สำหรับเลอ แปง เธอเป็นที่รู้จักตั้งแต่ชื่อสกุลที่พ่วงติดตัวมาในฐานะที่ ฌ็อง-มารี เลอ แปง ผู้เป็นพ่อของเธอก็เป็นนักการเมืองจากฝั่งขวาจัด และในปี 1996 เขาเคยพูดถึงความ ‘หลากหลายทางเชื้อชาติของทีมฟุตบอลฝรั่งเศส’ ไว้อย่างแสบสันว่า “พวกนั้นแค่เอานักเตะต่างชาติมาแล้วทำพิธีบัพติศมาให้เป็นทีมฝรั่งเศสเท่านั้นแหละ” และ “นักเตะบางคนยังร้องเพลงชาติเราไม่ได้เลยมั้ง” 

ข้อถกเถียงกรณีความหลากหลายของนักเตะฝรั่งเศสมีมายาวนานและกลายเป็นข้อพิพาทกับทั้งตัวนักเตะ โค้ช นักวิจารณ์ไปจนถึงฝั่งคนดูที่แตกออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ ฝั่งแรกรู้สึกว่าความเป็นชาติไม่อาจยึดติดได้ด้วยชาติพันธุ์หรือชาติกำเนิดของนักเตะ ขณะที่อีกฝั่งรู้สึกว่าความเป็นฝรั่งเศสควรจะผูกแนบแน่นมาด้วยเชื้อชาติตั้งแต่แรกเริ่ม

ประเด็นดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมก็ตอนที่ โลร็องต์ บล็องก์ อดีตเซ็นเตอร์แบ็กและผู้จัดการทีมเคยให้สัมภาษณ์ในปี 2010 และกลายเป็นข้อครหาใหญ่ในเวลาต่อมาว่า ระยะหลังแนวโน้มการเลือกนักเตะรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาของสโมสรเยาวชนจะเน้นไปที่ศักยภาพด้านร่างกายมากกว่าไหวพริบจึงทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของนักเตะรุ่นเยาว์เหล่านี้เป็นคนดำ 

“พวกเขามักเลือกนักเตะที่ตัวใหญ่ แข็งแรงและทรงพลัง แล้วคนลักษณะไหนกันที่ตัวใหญ่ แข็งแรงและทรงพลังไปพร้อมๆ กันได้ คำตอบคือคนดำไงล่ะ…เรื่องนี้ใครก็รู้ พระเจ้าก็รู้ดีว่าในสโมสรฝึกหัดและโรงเรียนกีฬาต่างมีคนเหล่านี้อยู่มากมายมหาศาล” บล็องก์บอก

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกันกับคำวิจารณ์ของเลอ แปงคนพ่อในปี 1996 คือแม้จะมีกระแสไม่พอใจต่อความ ‘ดูจะไม่ฝรั่งเศสพอ’ ของทีมชาติ แต่ทุกอย่างก็มลายหายไป เมื่อฝรั่งเศสตะลุยเอาชนะบราซิลไปที่ 3-0 จนกลายเป็นแชมป์โลกในปี 1998 และในอีกสองทศวรรษต่อมา (ในทีมชุดที่ได้รับการขนานนามว่าแทบไม่มีคนขาวเลย) ก็เฉือนเอาชนะโครเอเชียไปที่ 4-2 หอบถ้วยยักษ์กลับมาฉลองกันกลางกรุงปารีสให้ชาวเมืองได้อิ่มอกอิ่มใจกับชัยชนะ พร้อมทั้งแจ้งเกิดเด็กใหม่ตัวจี๊ดอย่างเอ็มบับเป ซึ่งมีเชื้อสายแคเมอรูนจากฝั่งพ่อและอัลจีเรียจากฝั่งแม่ อย่างไรก็ดี เด็กหนุ่มให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกถึงความเป็นฝรั่งเศสเสมอแม้จะไม่ได้สละรากเดิมของตัวเองทิ้งไปก็ตาม เพราะนั่นเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของผม แต่ไม่เคยแม้สักครั้งที่สถานที่แห่งนี้ (ฝรั่งเศส) จะไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้าน”

กระแสการหวนกลับทีมชาติของเบนเซมาหลังห่างหายจากการลงเตะในนามของ Les Bleus อยู่นาน 2,805 วันเต็ม ทำให้เรื่องราวตั้งแต่คดีฉาวเรื่อยมาจนถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติถูกหยิบขึ้นมาพูดอีกหน (หลังจากที่เคยเป็นประเด็นมาอย่างยาวนานอย่างน้อยก็ในสายตาของฝั่งขวาจัด) ท่ามกลางกระแสธารตื่นตัวต่อความหลากหลายที่โหมกระหน่ำอยู่ในสากลโลกมากกว่าเดิม เป็นที่น่าจับตาว่าหัวข้อนี้จะวนกลับมาอีกครั้งหรือไม่ เพราะถึงอย่างไร หลังจากพ่ายให้ศึกยูโร พวกเขาก็ต้องเตรียมจัดกระบวนทัพใหม่เพื่อรอป้องกันแชมป์ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ในที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save