พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ
ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศเหนือราว 120 กิโลเมตร ลึกเข้าไปในหุบเขาซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน หมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่กลางป่าเขียวชอุ่ม รายล้อมด้วยลำห้วยอันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ คือ ‘บ้าน’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ลงหลักปักฐานมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ในนามของชุมชนบ้านแม่หมี
ด้วยวีถีชีวิตที่หากินอยู่กับป่า ประกอบกับความเชื่อและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่การ ‘เลี้ยงผี’ เจ้าป่าเจ้าเขา การผูกสายรกของเด็กเกิดใหม่ไว้กับต้นไม้ใหญ่ ไปจนถึงการทำไร่หมุนเวียนตามฤดูกาล ล้วนตั้งอยู่บนฐานของการเคารพธรรมชาติ
วันเวลาผ่านไป เมื่อรัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทกำหนดกฎเกณฑ์ในการอยู่อาศัย ขีดเส้นแบ่งเพื่อจัดสรรและควบคุมดูแลพื้นที่ ป่าซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งกับที่ทำกินและอยู่อาศัย ค่อยๆ ถูกแยกออกจากกันด้วยตัวบทกฎหมาย ภายใต้นโยบายต่างๆ นานาว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เกิดเป็นปัญหา ‘คนกับป่า’ ที่เรื้อรังมาไม่น้อยกว่า 40 ปี
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงคนในชุมชนยังแก้ไม่ตก คือการหาจุดสมดุลระหว่างสิทธิของชาวบ้านในที่ทำกินและที่อยู่อาศัย กับการใช้กลไกรัฐในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนบ้านแม่หมี เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ลำปาง ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมกันจัดงาน “สืบทอดภูมิปัญญา สืบสานวัฒนธรรม ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สถาปนาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553” ณ ชุมชนบ้านแม่หมี เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค อันเกิดจากการนำมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 อันมีสาระสำคัญคือการส่งเสริมและฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวปกาเกอะญอ มาดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
งานดังกล่าวคือการรวมตัวกันในรอบหลายปีของกลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอที่กระจัดกระจายอยู่ตามโซนต่างๆ ทางภาคตะวันตกของไทย มีการเปิดเวทีรับฟังปัญหา พาลงพื้นที่ที่มีข้อพิพาท พร้อมจัดวงเสวนาว่าด้วยการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของชาวบ้าน โดยมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วมงาน
101 ได้ลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การประชุมและการลงพื้นที่ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางและข้อเสนอจากแต่ละฝ่าย ต่อไปนี้คือเสียงสะท้อนเล็กๆ จาก ‘บ้านแม่หมี’ ว่าด้วยการจัดการปัญหาที่ดินทำกินซึ่งทับซ้อนกับเขตอุทยาน และการสถาปนาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตามวิถีของชาวปกาเกอะญอ
เมื่อเจ้าป่าเจ้าเขา ไม่น่ากลัวเท่าผีอุทยาน
วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมาช้านาน คือการกินอยู่กับป่า โดยมีหัวใจอยู่ที่การทำไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของการรักษาสมดุลแก่ระบบนิเวศ มีหลักการสำคัญคือ การปลูกพืชโดยวิธีการหมุนเวียนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในแต่ละปี เพื่อให้พื้นที่เดิมได้มีการพักฟื้น และกลับมาทำไร่หมุนเวียนยังพื้นที่เดิมอีกครั้งเมื่อแร่ธาตุในดินคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยในการเลือกพื้นที่แต่ละครั้ง จะมีการทำพิธีกรรมบวงสรวงผีเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อดูว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมแก่การเพาะปลูกหรือไม่
“ผีในวิถีของปกาเกอะญอ ถ้าพูดภาษาเมืองก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทาง แม่น้ำก็จะมีเจ้าแม่น้ำ แผ่นดินก็มีแม่ธรณี มีเจ้าป่าเจ้าเขาที่ดูแลต้นไม้ พูดง่ายๆ คือปกาเกอะญอจะเคารพต่อธรรมชาติ และมีพิธีกรรมที่แสดงความนอบน้อมต่อธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สืบทอดกันตั้งแต่บรรพุบุรุษ รุ่นสู่รุ่น”
ชัยธวัช จอมติ ตัวแทนจากชุมชนหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อธิบายถึงคำว่า ‘ผี’ ตามวิถีปกาเกอะญอ พร้อมชี้ให้เห็นต้นตอปัญหาว่า เกิดจากระบบการบริหารประเทศที่เกี่ยวข้องกับป่า เช่นการประกาศเขตอุทยาน หรือการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ชาวบ้านโดยไม่สำรวจก่อน เป็นผลให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก ผู้ผิดกฎหมาย
“สิ่งที่ชาวบ้านออกมาตอบโต้ ก็คือเขาต้องการรักษาผืนป่า ผืนน้ำ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขา ซึ่งแทนที่รัฐจะให้การสนับสนุน ให้การยอมรับหรือคุ้มครอง แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มเติมคือการอพยพคนออกจากป่า”
ทั้งนี้ ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยและหาของป่าในแนวเขตอุทยาน สิ่งที่ชาวบ้านกังวลใจคือ จะสามารถใช้ทรัพยากร เก็บของป่า กระทั่งเลี้ยงสัตว์ได้ในขอบเขตแค่ไหนอย่างไรโดยไม่กลายเป็นผู้บุกรุก ส่วนในฝั่งของเจ้าหน้าที่ ก็มีประเด็นว่าหากไม่ดำเนินการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีบทลงโทษหนักเช่นกัน
สำหรับชุมชนบ้านแม่หมี ประกอบด้วย 3 หมู่บ้านย่อย กินพื้นที่ในเขตอุทยานประมาณหนึ่งหมื่นกว่าไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำกินและเพาะปลูก 1,170 ไร่ สิ่งที่ชาวบ้านเสนอคือ พวกเขาไม่ปฏิเสธหากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาช่วยดูแลทรัพยากร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการกรรมสิทธิ์ในเขตอุทยานแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้มีการสำรวจและขีดแนวเขตอุทยานให้ชัด โดยละเว้นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไว้ ส่วนพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในเขตอุทยาน ชาวบ้านยืนยันว่าพวกเขาสามารถช่วยกันดูแลรักษา ร่วมเป็นหูเป็นตากับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านทำกันมาแล้วเนิ่นนาน อย่างเป็นระบบ จากการกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน
“สิ่งที่เราต้องการให้เกิด คือการรับรองสิทธิ์ตามความเป็นจริง ถ้านับตั้งแต่ปี 2545 ที่พวกเราผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่ามา ถ้ารัฐทำตามแนวทางของเราตั้งแต่ปี 2545 ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้จบแล้ว ชุมชนที่เข้มแข็งอย่างบ้านกลางก็ดี หินลาดก็ดี หรือที่สะเมิงก็ดี มีแผนที่ชัดเจน ชุมชนไม่ได้ขยาย สามารถตรวจสอบได้ แต่เมื่อรัฐปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีการสำรวจไว้ มันก็ทำให้ชุมชนอื่นๆ หรือนายทุน ฉวยโอกาสเข้ามาทำลายป่ากันเยอะแยะมากมาย
“บางคนบอกว่า ชาวเขาอยู่กับป่าไม่ได้ เพราะชาวเขาทำลายป่า ผมไม่ปฏิเสธครับ แต่แจกแจงได้ไหมว่าชุมชนที่อยู่กับป่าได้ มันมีอยู่จริง ไฟป่าไม่ได้เกิดจากชาวบ้านทั้งหมด แต่ที่เกิดจากชาวบ้านมีไหม ก็มี สิ่งที่ควรทำคือแยกพระกับโจรให้ออกก่อน คนทำดีควรได้ดี ไม่ใช่ทำดีแต่กลับถูกลงโทษ” ชัยธวัชกล่าว
ด้าน ‘พ่อหลวงชาติ’ หรือ สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หนึ่งในพื้นที่นำร่องโมเดลคนอยู่กับป่า เสริมว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่ชาวบ้านมองว่าน่ากลัวกว่าผีเจ้าป่าเจ้าเขา ก็คือผีอุทยาน
“ผีเจ้าป่าเจ้าเขานี่ไม่น่ากลัวเท่าผีอุทยานครับ เพราะเขาบีบไม่ให้เราได้ทำกินเลย นี่คือปัญหาใหญ่ที่พี่น้องกะเหรี่ยงเราเจออยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่เราต่อสู้เรียกร้องก็คือ ให้แยกพื้นที่ทำกินกับพื้นที่จิตวิญญาณ ออกจากเขตอุทยาน เราไม่ได้ขอกันออกมาเพื่อจะเอากรรมสิทธิ์นะครับ แต่ขอกันเพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลจัดการ ชาวบ้านชอบแซวว่า พวกเราช่วยกันทำแนวกันไฟป่า แต่เวลาเจ้าหน้าที่มา ก็มากินเหล้า แล้วก็ถ่ายเซลฟี่สวยๆ
“ตอนนี้สิ่งที่พี่น้องกะเหรี่ยงเราเจอ ไม่ว่าที่สะเมิง ราชบุรี หรือแม่ฮองสอน คือปัญหาเดียวกันครับ อันแรกคือนโยบาย คทช. หรือโครงการแก้ไขที่ดินแห่งชาติ ซึ่งคุ้มครองสิทธิ์ไม่ทั่วถึง อีกเรื่องคือพ.ร.บ.อุทยาน ฉบับใหม่ ซึ่งในทางเครือข่ายชาวบ้านยืนยันว่าให้สำรวจแนวเขตให้ชัดเจนก่อน แต่รัฐก็แทบไม่ได้ฟังเราเลย”
ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ช่วยย้ำถึงปัญหาที่สืบเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งพื้นที่ทำกินของชาวปกาเกอะญอหลายแห่งที่ทับซ้อนกับเขตอุทยาน ต่างตกเป็นเป้าหมายในการทวงคืน
“ฟังดีๆ นะครับ ที่นาแปลงนี้อยู่ในอุทยาน วันนี้เรากันที่นาออก พื้นที่ป่าของประเทศไทยจะลดลงมั้ยครับ มันจะลดลงได้ไง ก็มันกันที่นา ไม่ได้กันป่า แต่ที่ลดลงคือพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่มันประกาศทับนาอยู่ ถูกไหมครับ กันนาออก ป่าของประเทศไทยไม่ลดครับ กันไร่หมุนเวียนชาวบ้านออก ป่าของประเทศไทยก็ไม่ลดครับ เพราะมันไม่ใช่ป่า มันเป็นที่ไร่”
“ส่วนป่าข้างหลังโน้น เป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้าเรากันป่าผืนนี้ออกจากอุทยานแห่งชาติ แล้วให้ชาวบ้านทำป่าชุมชน ถามว่าป่าของประเทศไทยจะลดลงมั้ยครับ ไม่ลด แล้วทำไมไม่ทำล่ะครับ กันออกมา ชาวบ้านดูแล มันก็ยังเป็นป่าอยู่ ป่าผืนนี้ก็ยังอยู่ในประเทศไทยอยู่ ไม่ได้กันออกไปพม่า แล้วชาวบ้านก็ใช้ทำมาหากิน ทำไร่หมุนเวียน ถามว่าประเทศนี้มันจะล่มจมหรือไง ตอนคุณทำสัมปทาน ตัดไม้ใหญ่ๆ ไปขายฝรั่ง ทำไมถึงตัดได้ ขายได้ ทำไมถึงไม่บอกว่าเป็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ประยงค์กล่าว พร้อมยกกรณีข่าวอื้อฉาวเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
“เมื่ออาทิตย์ก่อนครับ หลายคนคงเห็นข่าว พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐ ไปจัดสัมมนา ส.ส. ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งอธิบดีกรมอุทยานยืนยันว่ารีสอร์ทแห่งนี้อยู่อุทยานแห่งชาติทับลานจริง และเคยถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วเมื่อปี 2555 แต่ปรากฏว่าสู้ไปสู้มา เมื่อต้นปี 2561 อัยการสั่งไม่ฟ้องครับ… ผมแค่สงสัยว่า บริษัทนี้มันมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นผู้ยากไร้ใช่ไหมครับ อัยการเลยไม่ฟ้อง
“ในทางกลับกัน ชาวบ้านห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน จำนวน 298 ราย ถูกทวงคืนผืนป่า 7,000 ไร่ภายในวันเดียวกันครับ เหตุการณ์นี้เกิดวันที่ 30 มีนาคม 2559 หลังคำสั่ง คสช. 66/2557 ออกมาสองปี ถามว่าทำไมคนที่นั่นยังถูกทวงคืน ผมไปดูบันทึกแจ้งความ คนที่แจ้งความคือเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน กับเจ้าหน้าที่กรมป่าสงวน สองกรมไปด้วยกัน ไปแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ โดยไม่มีการคัดกรองว่า 298 ราย เป็นผู้ยากไร้ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ จนกระทั่งบัดนี้ ชาวบ้าน 298 รายที่ว่า ไม่ได้ทำมาหากินมาเกือบ 4 ปีแล้วครับ” ประยงค์กล่าว
จากมติ ครม. 3 สิงหาฯ ถึงการสถาปนาเขตวัฒนธรรมพิเศษ
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกยกมากล่าวในงานนี้ คือการนำมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน
คำถามคือ เหตุใดมติ ครม. ดังกล่าวจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่ประกาศออกมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว
หากตอบแบบรวบรัด ก็คือมติ ครม. ดังกล่าว เป็นมติที่ให้สิทธิกับชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญออย่างครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากร สิทธิเรื่องสัญชาติ ไปจนถึงการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม โดยระบุถึงมาตรการสำคัญ เป็นต้นว่า
- เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่าชาวบ้านได้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนดังกล่าว
- ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
- ส่งเสริมสนับสนุน และยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดังเดิม เช่น การออกโฉนดชุมชน
- จัดสรรงบประมาณรายหัวตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้จัดทำประวัติ และมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มติ ครม. ดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างที่ควรจะเป็น โดยพ่อหลวงสมชาติชี้ว่า แม้จะมีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ออกมา ทำให้คนในพื้นที่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในการให้คนอยู่กับป่า แต่ระดับนโยบายกลับไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ทั้งการออกกฏหมาย หรือการทำนโยบายให้ต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเพราะชุมชนกะเหรี่ยงทั้งหมดมีขนาดใหญ่ และกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด จึงทำให้การดำเนินงานเกิดการติดขัดและทับซ้อนกันในหลายหน่วยงาน ตั้งแต่กรมที่ดิน กรมป่าไม้ ไปจนถึงกรมอุทยาน
“ถามว่าทำไมเราถึงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองตามมติ ครม. 3 สิงหาฯ ก็เพราะว่า หนึ่ง มติดังกล่าวจะแก้ปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่า เรื่องการทำไร่หมุนเวียน ไปจนถึงเรื่องวัฒนธรรม ฉะนั้นผมคิดว่าพวกเราต้องยืนยันตามมตินี้ ไม่ว่ารัฐจะใช้ คทช. หรือใช้ พ.ร.บ.อุทยาน ก็ตามแต่ แต่ถ้าพวกเราชาวกะเหรี่ยง ยืนยันว่าจะใช้การคุ้มครองตามแนวทางของมติ ค.ร.ม. 3 สิงหา ผมมั่นใจว่าพวกเราจะอยู่รอด” พ่อหลวงสมชาติกล่าว
ด้านชัยธวัช ในฐานะตัวแทนชุมชนหินลาดใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยบุกเบิกการสถาปนาสิทธิชุมชนมาก่อน เสริมว่า เมื่อปี 2546 ชุมชนหินลาดในได้สถาปนาสิทธิชุมชน โดยอาศัยอำนาจ 4 ส่วนคือ รัฐธรรมนูญ มติครม. 3 สิงหาฯ ปฏิญญาสากล และโฉนดชุมชน
“สำหรับพื้นที่ที่นี้คือ บ้านแม่หมี เป็นพื้นที่ต่อยอดมาจากหินลาดใน ซึ่งผมก็ดีใจที่ชาวบ้านกล้าที่จะลุกขึ้นมาประกาศว่าเราจะบริหารจัดการป่าและชุมชนด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ผมอยากเสนอให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน ในลักษณะที่มีความเท่าเทียมกันในการจัดการทั้งระบบ” ชัยธวัชกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดเครือข่ายชาวบ้านพร้อมด้วยกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้รวมตัวกันเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ โดยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า ตามแนวมติ ครม. 3 สิงหาคม เพื่อให้ยกระดับเป็นกฏหมายแล้ว
ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร นักพัฒนาอาวุโสชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ มองว่ามติ ครม. 3 สิงหาฯ เป็นมติที่ช่วยเน้นย้ำวิถีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้เกิดการยอมรับในสังคม แต่ยังเป็นเพียงช่องเล็กๆ ของกำแพงใหญ่ที่กั้นไว้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ช่องว่างนี้ถ่างออกกว้างขึ้น
“ชนเผ่าพื้นเมืองมีองค์ความรู้ในการอยู่กับป่า มีธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับป่า มีการจัดการป่าของคนต้นน้ำ ที่สำคัญคือวิถีคนกับป่าของปกาเกอญอนั้นไม่ได้จัดการเพื่อตนเองเท่านั้น เห็นได้จากแผนที่ประเทศที่แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่ที่มีชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ ล้วนแต่เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์”
ในประเด็นนี้ ประยงค์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากไปดูพื้นที่ป่าในประเทศไทย จะพบว่าจังหวัดที่พื้นที่ป่ามากที่สุดนั้น ล้วนอยู่ในพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยง
“ความจริงเกี่ยวกับเรื่องป่าก็คือว่า 1 ใน 6 จังหวัดที่มีป่าเยอะที่สุดในประเทศไทย อยู่ในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดครับ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีป่า 86 เปอร์เซ็นต์ ประชากร 70 เปอร์เซ็นต์เป็นกะเหรี่ยง ลำดับที่สอง จังหวัดตาก เหลือป่า 72 เปอร์เซ็นต์ เยอะสุดเป็นอันดับสองของประเทศ ประชากรครึ่งหนึ่งของจังหวัดตากเป็นกะเหรี่ยง ลำดับสามมีสองจังหวัด คือลำปางและเชียงใหม่ สองจังหวัดนี้มีกะเหรี่ยงครับ อันนี้มันพอจะพิสูจน์ได้รึยังว่าเขารักษาหรือทำลาย ลำดับที่หก จังหวัดกาญจนบุรี มีป่า 62 เปอร์เซ็นต์ มีกะเหรี่ยงไหมครับ แล้วลองไปดูซิว่ากะเหรี่ยง 1,500 ชุมชนตอนนี้ รอบบ้านมีแต่ป่าเต็มไปหมด” ประยงค์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบพากลในช่วงที่ผ่านมาว่า
“พี่น้องครับ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ในขณะที่เราไปเจรจาต่อสู้ต่อรองเรื่อง พ.ร.บ.อุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรฯ ยืนยันนั่งยันนอนยันว่า ป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1A แบบพื้นที่นี้ จะอนุญาตให้ใครเข้าไปทำมาหากินไม่ได้ วันรุ่งขึ้นเกิดอะไรขึ้นรู้ไหมครับ ครม.อนุมัติให้บริษัทเหมืองแห่งหนึ่ง ระเบิดแร่หินในชั้นลุ่มน้ำคุณภาพชั้นหนึ่ง 3,000 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี นี่มันคืออะไรครับ
“ขณะที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน 7 ปีเปลี่ยนเป็นไร่ครั้งนึง ที่เหลืออีก 6 ปีเป็นป่า คุณจะมาจับเขา แต่บริษัทเหมืองที่ว่านี้กลับระเบิดภูเขาทั้งลูกได้ บนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A โดยที่ครม.กลับอนุมัติ บอกว่าไม่มีผลกระทบ เอาสามหมู่บ้านนี้มารวมกัน ยังไม่ได้ครึ่งของที่อนุมัติให้บริษัทเหมืองเลยครับ เรื่องนี้รัฐบาลจะตอบคำถามผมยังไง” ประยงค์กล่าวทิ้งท้าย
ในช่วงท้ายของการจัดงาน กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันการทำพิธีปักหมุดเขตวัฒนธรรมพิเศษ ชุมชนบ้านแม่หมี พร้อมอ่านแถลงการณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เราขอประกาศว่า ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรของชุมชน ที่บรรพชนดูแลรักษาด้วยวิถีวัฒนธรรมชุมชนกับการจัดการป่ามาช้านาน เราจะปกป้อง รักษา และสืบทอดพื้นที่จิตวิญญาณคนกับป่า ให้ดำรงอยู่คู่มาตุภูมิแผ่นดินแม่ โดยผลักดันให้มีการคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และจะผลักดันมติดังกล่าวให้เป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยเร็วที่สุด”
แม้การฝังหมุดพร้อมประกาศ ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ จะยังไม่นับว่ามีผลทางกฎหมาย เช่นเดียวกับการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ทำกินซึ่งคงยังไม่มีบทสรุปในเร็ววัน แต่อย่างน้อยๆ นี่คือการส่งสัญญาณไปยังภาครัฐ รวมถึงผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไป ให้หันมามองปัญหานี้ในระยะที่ใกล้ขึ้น และอาจช่วยทลายกำแพง ‘ชาวเขา’ กับ ‘ชาวเรา’ ลงได้บ้าง