fbpx
เรื่องเล่าไร้พรมแดน : เข้าใจกระบวนการยุติธรรมด้วยเครื่องมือใหม่สำหรับเยาวชน - กันต์รวี กิตยารักษ์

เรื่องเล่าไร้พรมแดน : เข้าใจกระบวนการยุติธรรมด้วยเครื่องมือใหม่สำหรับเยาวชน – กันต์รวี กิตยารักษ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นสองสิ่งที่สำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน เพราะหลักนิติธรรมเป็นเสมือนกฎของกฎหมาย ขณะที่กระบวนการยุติธรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพ เป็นเหมือนเครื่องรับประกันความสงบสุขและสิทธิมนุษยชนของพลเมือง

ที่ผ่านมา เรื่องของกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม อาจเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมองว่า ‘เป็นเรื่องของผู้ใหญ่’ และไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก เรามักได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้หลักนิติธรรม หรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า ทั้งนี้การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเริ่มจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคม นั่นคือกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญและจะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศต่อไป

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังเรื่องกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้จัดกิจกรรม ‘การสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดน (Youth Borderless Forum)’ ขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 162 คน จาก 14 ประเทศ

ความน่าสนใจของกิจกรรมครั้งนี้คือ การที่ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการ 3 ปัญหาสำคัญ อันได้แก่ การยุติความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ (Gender-based Violence) การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม (Access to Justice for Vulnerable Groups) และ การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม (Social Reintegration for Ex-Prisoners) โดยใช้เทคโนโลยี ‘การออกแบบข้ามพรมแดน’ (Design Across Border) ผสมผสานเข้ากับการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาและทางออกที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน

101 สนทนากับ กันต์รวี กิตยารักษ์ ในฐานะผู้จัดงานครั้งนี้ เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการจัดงาน ‘Youth Borderless Forum’ และการนำแนวคิด design thinking กับเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างความแตกต่างในการจัดงานครั้งนี้ กระบวนการจัดงานและโจทย์ที่สำคัญ ปิดท้ายด้วยมุมมองของเธอต่อกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม และบทบาทของเยาวชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม

 

กันต์รวี กิตยารักษ์

จุดเริ่มต้นของการจัดงาน ‘Youth Borderless Forum’ คืออะไร

เรารู้สึกว่า ต้องการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในโลกของเยาวชน เรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา หรือแม้จะมีเยาวชนที่สนใจและคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้เขาเสนอความคิด เพราะผู้ใหญ่คิดว่า เยาวชนอาจไม่เคยมีประสบการณ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องทำ เป็นเรื่องเฉพาะทาง สิ่งที่เราอยากทำจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอความคิดของตนเองบนเวทีที่ผู้ใหญ่เป็นผู้ชม

ในการจัดกิจกรรมสองครั้งแรก เราคัดเลือกเยาวชนจากทั่วเอเชียได้มาประมาณ 60 กว่าคน ทุกคนมาที่กรุงเทพฯ ทำกิจกรรมกัน 3 วัน โดยเป็นการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ปัญหาของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ค้นคว้าอะไรมาก็ให้พวกเขามาแลกเปลี่ยนกัน และร่วมกันตกตะกอนความคิดว่า เขามีแนวทางแก้ปัญหาหรือคำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง จากนั้น ก็นำความคิดของเยาวชนมานำเสนอบนเวทีที่ผู้ใหญ่จากทั่วเอเชียมาร่วมฟัง และยังมีช่วงที่ให้ตัวแทนเยาวชนขึ้นไปนำเสนอผลการอภิปรายบนเวที ตอนนั้น กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมก็ตื่นเต้น รู้สึกว่ามีพลัง มีเพื่อนใหม่

จากการจัดงานสองครั้งที่ผ่านมา เห็นข้อจำกัดอะไรบ้าง

จากการจัดงานมา 2 ปี เราเห็นข้อจำกัด 3 ประการ ข้อแรกคือ เรื่องงบประมาณในการให้เยาวชนที่เข้าร่วมบินมาที่กรุงเทพฯ ข้อที่สองคือ เรื่องการเรียนรู้ในพื้นที่ เยาวชนที่เข้าร่วมมาที่ประเทศไทย และได้ไปเรียนรู้ดูงานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเด็กไทยคงได้ความรู้เต็มที่ แต่เด็กต่างชาติก็จะได้รับฟังข้อมูลที่มาจากการนำเสนอของคนที่พาเขาชมสถานที่ต่างๆ และเขาอาจไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในจุดนั้นๆ ได้ และยังมีบริบทเรื่องวัฒนธรรม เพราะเยาวชนต่างชาติไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมไทย จนถึงขั้นที่จะเข้าใจว่ามันมีส่วนในการสร้างปัญหาหรือเปล่า ตรงนี้ก็เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้

ข้อสุดท้ายคือ รูปแบบของการจัดงาน ที่เราเน้นให้ผู้เข้าร่วมหาข้อมูลมาก่อนและเอามาแลกกัน และด้วยวัยของเยาวชนที่เข้าร่วมคืออายุ 18-30 ปี ความรู้ที่เขาได้ก็มักมาจากการอ่านงานวิจัย ซึ่งมันก็ดี ลึกซึ้งในเชิงวิจัย แต่พอมาทำการอภิปรายกันแล้ว อาจไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา ไม่รู้เรื่องราวของมนุษย์ว่าคืออะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนวิเคราะห์บทความดังกล่าวมีอคติอะไรไหม

ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้ข้ามข้อจำกัดนี้ไปได้ ซึ่งตอนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) มีโรงเรียน d. school ที่คุณเกลน (Glenn Fajardo) เป็นผู้สอนเรื่องหลักสูตร design across border ด้วยความที่เรามีประสบการณ์การทำงานเรื่องเยาวชนแบบข้ามประเทศ เราเลยลองไปลงเรียนหลักสูตรที่ว่า ซึ่งเป็นการทำร่วมกับองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) จากเม็กซิโกด้วย

ในชั้นเรียนนั้นมีทั้งเด็กสแตนฟอร์ดและเด็กจากองค์การ ซึ่งสุดท้ายก็ทำงานออกมาได้โดยไม่ต้องเจอหน้ากันเลย เรารู้สึกว่าวิธีนี้น่าสนใจ และหาทางเอามาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของเรา จึงส่งอีเมลไปหาคุณเกลนและชักชวนเขามาทำด้วย ซึ่งเขาก็ตอบตกลง จึงเกิดเป็นการสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดน (Youth Borderless Forum) ครั้งที่ 3 ขึ้น

ความแตกต่างระหว่างการงานครั้งนี้กับสองครั้งที่ผ่านมาคืออะไร

ข้อแรกคือ เราไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมคนใดที่เป็นคนต่างชาติบินเข้ามาในประเทศไทยเลย แต่ให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้จะแก้ข้อจำกัดที่ว่า การเรียนรู้จำกัดแค่คนที่อยู่ในพื้นที่เพราะเรื่องภาษาและวัฒนธรรม แต่การให้เขาอยู่และเรียนรู้ในพื้นที่ของตนเอง เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ซึ่งก็คือคนจริงๆ ที่ทำงานในพื้นที่ น่าจะช่วยให้เขาเข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น และเห็นมุมมองของชีวิตมนุษย์จริงๆ ที่ประสบปัญหามากขึ้น

อีกทั้งการได้เห็นเรื่องพวกนี้ อาจทำให้เขารู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม แต่ข้อที่ยากคือ การหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราได้เดินทางไปในประเทศแถบอาเซียน คือเมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำประเด็นที่เราสนใจจะนำมาใช้จัดกิจกรรม สุดท้ายเราก็ได้ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 23 คนทั่วเอเชียมา ซึ่งตรงนี้จะโยงไปยังความแตกต่างข้อที่สองคือ เราได้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ข้อมูลโดยตรง แต่พวกเขาไม่ต้องบินเข้ามาในกรุงเทพฯ ให้คุยกันผ่านออนไลน์แทน และข้อสุดท้ายคือ เราใช้วิธีคิดแบบ design thinking ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเรียนรู้ สร้างความเข้าอกเข้าใจคนที่ประสบปัญหา และสร้างมุมมองให้เขาเห็นโอกาสในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น

จากการที่เราไม่ได้ให้ใครบินเข้ามาในกรุงเทพฯ เลย ทำให้เราขยายจำนวนผู้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น และการที่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง จะทำให้เยาวชนที่เข้าไปพูดคุยรับรู้ปัญหาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งการที่เรานำ design thinking มาใช้ ทำให้เขาไม่ได้รู้แค่ปัญหา แต่มองเห็นศักยภาพว่าตนจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร และสุดท้าย เราจะนำวิธีแก้ปัญหาที่เยาวชนเสนอมา ไปนำเสนอใน Side event ที่จะจัดโดย UNESCAP

เราเห็น ‘ความไร้พรมแดน (Borderless)’ อย่างไรจากกิจกรรมนี้

ข้อแรกที่เห็นได้ชัดคือ เราไม่ต้องให้เยาวชนคนใดบินมาที่กรุงเทพฯ เลย แค่คลิกหนึ่งปุ่ม ทุกคนก็เชื่อมโยงกันได้หมด พรมแดนไม่เป็นสาระสำคัญ ข้อต่อมาคือในแง่ของประเด็นที่เราเลือกมา เพราะประเด็นสามประเด็นหลักที่เราเลือกมีความเป็นสากล ทั้งการยุติความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ ที่เรามีวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม ก็เป็นสากล และสุดท้ายคือเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม ทุกประเทศก็มีนักโทษ

แต่ถึงเราจะรู้ว่าประเด็นพวกนี้มีความเป็นสากล แต่เราไม่รู้ความหนัก ความต่าง หรือความคิดเห็นที่คนมีต่อประเด็นนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร การที่เราให้คนจากต่างที่มาเชื่อมต่อกัน เราจะมองเห็นสเปคตรัมของประเด็นเรียงกันได้แบบไม่มีอะไรมากั้นเลย เราจะดูได้ว่า ความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ นั้นเป็นความรุนแรงที่เกิดในกลุ่มไหน หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสของแต่ละประเทศเป็นกลุ่มเดียวกันรึเปล่า

สุดท้าย เรื่องที่น่าสนใจมากคือเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม เพราะแต่ละประเทศคิดถึงเรื่องนี้ต่างกัน ในไทยอาจจะมองว่าเป็นนักโทษ แต่ในเมียนมาร์ พวกเขามองว่าเป็นเรื่องนักโทษทางการเมือง (Political prisoner) เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า แม้จะเป็นประเด็นเดียวกัน แต่คนในแต่ละประเทศก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป สิ่งนี้เป็นเหมือนการเปิดโลกให้เราเห็นถึงความไร้พรมแดน และการไร้กรอบของประเด็นด้วย

การเรียนรู้แบบข้ามประเทศทำให้เยาวชนได้เรียนรู้อะไรบ้าง

การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เยาวชน หรือแม้แต่ตัวเราเอง สามารถลบความถูกผิดของเรื่องราวไปได้ เพราะวิธีการคิดที่แบบขาวกับดำ ก็อาจมีมุมมองต่างกันในประเทศอื่น แม้กำแพงภาษาอาจเป็นอุปสรรคบ้าง แต่ในกลุ่มเด็กๆ จะมีทั้งคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและไม่ดีนัก ซึ่งพวกเขาช่วยกันได้ อีกทั้งการเรียนรู้เป็นกลุ่มโดยที่มีวัฒนธรรมต่างกัน สุดท้ายมันนำมาซึ่งความเข้าใจหัวข้อที่เหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต่างมุมมอง เพราะเราจะเห็นภาพความเป็นสีขาวจัดดำจัดลดลง เหลือเป็นสีเทา ทำให้อะไรๆ ลึกซึ้งขึ้น ความจริงเป็นความจริงมากขึ้น

กันต์รวี กิตยารักษ์

โจทย์ทั้ง 3 ข้อของโครงการนี้ ล้วนเป็นประเด็นที่หนักและซับซ้อน กระบวนการ design thinking หรือ design across border จะเข้ามาช่วยให้เยาวชนเข้าใจโจทย์ทั้ง 3 ข้อให้มากขึ้นได้อย่างไร

อย่างแรก ปัญหาเกี่ยวกับหลักนิติธรรม กฎหมาย หรือปัญหาสังคมทุกเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องซับซ้อน หากจะแก้ก็ไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหนเพราะมันเชื่อมกันหมด หรือถ้าจะแก้ ก็มักจะเป็นการพูดในเชิงนโยบาย แต่คนที่มีส่วนในการสร้างนโยบายก็ไม่เห็นว่าใครที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ดังนั้น พอเราไม่รู้ว่าใครที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เราก็แทบไม่รู้ว่าเราออกนโยบายมาเพื่อใคร ตอบโจทย์ใคร และจะไปทางไหนต่อ

ขณะที่กระบวนการ design thinking มีหลักการคือคนเป็นศูนย์กลาง (human-centered) คือพยายามเข้าใจความรู้สึกของคน เหมือนการเอาเท้าเราเข้าไปใส่ในรองเท้าเขา ว่าเขารู้สึกหรือคิดเห็นยังไง ถ้าเราเข้าใจชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงอนาคตข้างหน้า เราก็จะเข้าใจว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในชีวิตเขา และทำให้เรามองเห็นโอกาสว่า จุดไหนที่ทำให้ชีวิตเขาพลิกไป และจุดไหนที่เราจะพลิกชีวิตเขากลับมาได้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ได้มาจากชีวิตจริงแบบนี้ จะมีศักยภาพและสร้างผลได้มากขึ้น

นี่คือตัวอย่างการนำเอา design thinking มาทำให้การทำความเข้าใจเรื่องในภาพรวมง่ายขึ้น เพราะเป็นการทำความเข้าใจชีวิตคนหนึ่งคน ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเป็นคนเหมือนกัน ความรู้สึกน่าจะสื่อถึงกันได้มากกว่าการอ่านทฤษฎี

เยาวชนที่มาเข้าร่วม มองโจทย์ทั้ง 3 ข้ออย่างไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่า การแบ่งกลุ่มประเด็นจะขึ้นอยู่กับเยาวชน เขาเป็นผู้เลือกเองว่าสนใจประเด็นไหน ประเด็นที่เยาวชนสนใจมากที่สุดคือ การยุติความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ รองลงมาคือการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม ตามลำดับ

แม้ว่าจำนวนกลุ่มที่สนใจเรื่องเหล่านี้จะไม่ได้ต่างกันมาก แต่เราเห็นว่าคนสนใจเรื่องเพศภาวะเยอะมาก และจากการสอบถามผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พบว่าตัวเขาคิดว่าตนเองก็ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมหรือความรุนแรงในประเทศ เขามองว่าตนเองเป็นเหยื่อ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใกล้ตัวที่พวกเขาสนใจ

สำหรับประเด็นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม ก็มีการพูดถึงมานานมากแล้ว เลยมีคนที่สนใจประเด็นเหล่านี้อยู่ ส่วนเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม ก็เป็นเรื่องที่ทาง TIJ ทำอยู่ เครือข่ายคนที่สนใจเลยอาจคาบเกี่ยวกันบ้าง

สำหรับโจทย์เรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม เรามีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ได้พูดคุยกับอดีตผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเขาบอกกับเราว่า กิจกรรมนี้ช่วยเปิดโลกเขามาก ตัวเขาเองเป็นตำรวจ แต่ไม่เคยคิดจะถามคนที่ทำผิดซ้ำๆ เลยว่า คุณทำผิดทำไม แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่า ปัญหาการทำผิดซ้ำมาจากโครงสร้างสังคมด้วย ที่อดีตผู้ต้องขังไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน และไม่มีโอกาส นักเรียนนายร้อยคนนี้บอกว่า เขารู้แล้วว่าหลังจากนี้เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการเปิดโลกให้คนที่ทำงานใกล้ชิดกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งสะท้อนว่าสุดท้ายแล้ว เยาวชนได้อะไรมากกว่าที่เขาคาดหวังว่าจะได้

อยากให้เล่าเกี่ยวกับหัวข้อการยุติความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่เยาวชนสนใจมากที่สุด

ความน่าสนใจคือมุมมองของเยาวชน มีกลุ่มหนึ่งทำเรื่อง ‘Boys can cry’ (ผู้ชายก็อ่อนแอได้) เพราะเมื่อเราพูดถึงความรุนแรงต่อบุคคลเพศต่างๆ คนมักมองว่า เป็นผู้ชายทำร้ายผู้หญิงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมันเป็นได้ทั้งสองทาง หรือจะเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ก็ไม่ได้ขึ้นกับเพศภาวะแค่อย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวด้วย เยาวชนที่เข้าร่วมบอกว่า ตอนที่มาใหม่ๆ ตัวเขาไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพอถูกทำร้ายแล้วเหยื่อไม่ไปหาตำรวจ แต่พอได้มาคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ได้เห็นมุมมอง รับรู้ถึงความรู้สึกว่าคนที่ทำร้ายเราเป็นคนที่เรารัก เราจะฟ้องเขาได้เหรอ เขาจะหายจากเราไปเลยไหม และก็มักมีคำพูดในทำนองว่า เป็นแฟนกันเดี๋ยวก็คืนดีกัน หรือเป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ คือมันมีหลายปัจจัยที่มาพร้อมกับการแบกร่างของตัวเองไปหาตำรวจ ซึ่งเยาวชนพวกนี้ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เขาจึงไม่เห็นมุมมองตรงนี้ กิจกรรมนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกของเยาวชน ว่ามันไม่ได้มีแค่ด้านกฎหมาย แต่มีเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การที่มีเยาวชนจากหลายประเทศมารวมกัน แน่นอนว่าจะต้องมีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม อะไรคือความน่าสนใจหรือความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญบ้าง

ความน่าสนใจคือ เยาวชนไม่รู้สึกว่า เรื่องพวกนี้พูดกันไม่ได้ หรือไม่อยากฟังเรื่องนี้ พวกเขาเปิดรับและรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาอยากเรียนรู้ และมันมีอยู่จริงในสังคม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ เรามีเยาวชนจากปากีสถาน เรามีเด็กจากเมียนมาร์ที่โตมาตามแถบชายแดนแล้วเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อ เวลามีการคุยเรื่องชนกลุ่มน้อยหรือผู้ลี้ภัย พวกเขาแค่รู้สึกว่า ถ้าเขามีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เขาก็จะทำ

ในฐานะผู้จัดงาน เห็นพลังอะไรในตัวเยาวชนที่มาเข้าร่วม

เรารู้สึกว่าเยาวชนกลุ่มนี้มีพลังเยอะมาก ทั้งในแง่การอยากออกไปทำและการเรียนรู้ และเยาวชนที่เข้าร่วมก็อยู่ในช่วงอายุ 18-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่รู้สึกว่า ถ้าอยากทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้

การนำแนวคิด design thinking เข้ามาใช้ในกิจกรรมนี้ ทำให้เกิดผลลัพธ์แบบใด

เราเห็นว่า กระบวนการ design thinking อาจไม่ได้นำมาซึ่งทางแก้ปัญหาที่ใหม่กว่าเดิม แต่นำมาซึ่งกระบวนการทางความคิด (mindset) ว่า ฉันทำได้ ฉันคิดทางออกแบบนี้ออกมาได้ และฉันก็คงจะทำมันได้ต่อ มันเป็นการเสริมพลังที่เราคิดว่า มีความสำคัญมากกว่าผลลัพธ์เสียอีก เพราะงานนี้จัดแค่ 2 วัน เราอาจคาดหวังให้เยาวชนคิดหาทางออกไม่ได้เลย เพราะถ้าคิดได้ ผู้ใหญ่ก็คงคิดได้ไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การสร้างความรู้สึกว่า ฉันทำได้ เพราะความรู้สึกแบบนี้จะนำเยาวชนไปสู่การเอาตัวเองเข้าใกล้ปัญหาเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ นี่เป็นสิ่งที่เราคาดหวังมากกว่าผลลัพธ์แบบชั่วข้ามคืน

กระบวนการทำงานกับเยาวชนในกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือก เราใช้สื่อ Social media ทั้งหมด ซึ่งน่าสนใจ เพราะตอนแรกเราคาดหวังไว้ว่า อยากจะได้ผู้สนใจเข้าร่วม 150 คนก็ดีแล้ว แต่เรากลับได้มาถึง 300 คน ซึ่งเราเข้าใจว่า Social media ไปไกลและเข้าถึงคนได้มาก ผู้ที่สนใจเข้าร่วมจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสิ่งที่เราพิจารณาเป็นหลักคือ เขาเคยพยายามเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม หรือเคยพยายามออกนอกกรอบไหม และเขาจะพูดถึงความร่วมมือของเพื่อนคนอื่นด้วยไหม

แต่ด้วยความที่ design thinking เป็นเรื่องซับซ้อน และยังมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เยาวชนอาจไม่เคยใช้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราเลยมองว่า จำเป็นมากที่จะต้องมีคนที่เป็นเหมือนวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) ในแต่ละกลุ่ม เพื่อคอยอธิบายเรื่องการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี หรือตอบคำถามเกี่ยวกับ design thinking

ดังนั้น หลังจากอ่านใบสมัครและคัดเลือกเยาวชนมาจำนวนหนึ่งแล้ว เราจะมีการคัดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่นี้อีกทีหนึ่ง โดยในใบสมัครจะมีช่องให้เขาติ๊กว่าสนใจจะทำหน้าที่นี้ไหม โดยเราจะเลือกจากคนที่พอรู้เรื่อง design thinking มาก่อน และใช้ภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี เราจะให้เด็กกลุ่มนี้มาฝึกกับเราก่อน เป็น Facilitator workshop เพื่อจะจัดพวกเขาไปไว้ประจำกลุ่มได้ เป็นการทดสอบไปในตัวด้วยว่า ระบบใช้ได้ไหม เด็กเข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไรบ้าง

แล้วเจออะไรน่าสนใจจากกระบวนการหาคนหรือกลุ่มคนที่จะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญบ้าง

ตอนแรก เราไม่รู้หรอกว่าใครจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ได้ เรารู้แค่ว่า เราอยากได้คนที่สามารถเล่าเรื่องของกลุ่มคนที่อยู่ในความยากลำบากของกระบวนการยุติธรรมให้เราฟังได้ เราเคยลงพื้นที่ไปเจอกลุ่มสตาร์ทอัพกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าเขาน่าจะรู้เรื่องข้อมูลเยอะและมีอะไรมาแบ่งปันได้ แต่พอไปคุยแล้ว เขากลับบอกว่า ถ้าจะให้มาให้ความรู้เยาวชน แล้วมาช่วยเขาทำงานไม่ได้ เขาก็ไม่ทำ นี่เลยทำให้เราเข้าใจว่า การหาผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หาง่ายๆ แต่จะต้องหาคนที่มีจุดมุ่งหมายอยากสนับสนุนสิ่งที่เขาทำ และเห็นความสำคัญในการให้ความรู้เยาวชน ซึ่งก็มักเป็นกลุ่ม NGOs หรืออาจารย์ ที่เข้าใจว่าประเด็นที่เขาทำนั้นไม่ง่ายและมีความซับซ้อน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเพื่อจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย

กันต์รวี กิตยารักษ์

ถ้ามองในแง่ของคณะหรือสิ่งที่เรียน เยาวชนที่เข้ามาร่วมมีความหลากหลายแค่ไหน เพราะถ้าพูดถึงเรื่องทำนองนี้ ผู้เข้าร่วมอาจมาจากคณะนิติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า

นี่เป็นหนึ่งในความสำเร็จของเรา เพราะเด็กกฎหมายไม่ได้เยอะเลย มีทั้งที่เรียนประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชน วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่สตาร์ทอัพในไทยก็มา หลากหลายมาก แต่หนึ่งในความตั้งใจของเราคือ ถ้าเราโฆษณากิจกรรมด้วยคำว่า ความยุติธรรมและหลักนิติธรรม (Justice and the rule of law) อาจจะไม่มีใครสนใจ แต่เราโฆษณาด้วยคำว่า นวัตกรรม (Innovation) ความยุติธรรม (Justice) และความร่วมมือ (Collaboration) ซึ่งผู้ที่มาเข้าร่วมก็อาจรู้สึกว่า ตนเองเกี่ยวข้องกับคำใดคำหนึ่งในนี้

ในฐานะนักกฎหมาย คิดว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติธรรมถึงมีความสำคัญกับเยาวชน

จริงๆ กระบวนการยุติธรรมกับหลักนิติธรรมน่าจะสำคัญสำหรับทุกคน เหมือนดังคำกล่าวว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” ซึ่งความสำคัญของมันคือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ต้องมีกติกาเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ส่วนหลักนิติธรรมก็เป็นกฎของกฎหมาย ซึ่งจะมากำกับกฎหมายอีกทีว่า กฎหมายที่ดีที่จะทำให้สังคมสงบสุขควรเป็นแบบไหน กฎหมายถูกร่างโดยใคร เพื่อใคร บังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียมกันไหม เรื่องนี้สำคัญมากกับทุกคนในสังคม

สำหรับเยาวชน พวกเขาต้องโตไปเป็นคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ตัดสิน และขับเคลื่อนสังคมไปในอนาคต ถ้าเราไม่ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน แล้ววันหนึ่งมาบอกให้เขาทำเลย มันจะไม่มีข้อมูล ไม่มีทางเชื่อมกันได้ว่า ผู้ใหญ่ทำอะไรมา แล้วเยาวชนจะมารับช่วงต่อ หรือพวกเขาก็อาจเห็นแค่ข้อเสียจากการกระทำของผู้ใหญ่ แต่ไม่เห็นเบื้องหลังว่า ข้อเสียนั้นเกิดจากข้อจำกัดอะไรของสังคมในตอนนั้นบ้าง

ดังนั้น หลักนิติธรรมสำคัญกับทุกคน แต่เยาวชนคือคนที่จะพัฒนาประเทศ ถ้าเขาไม่เข้าใจหลักนิติธรรม หรือหลักนิติธรรมไม่ดีพอที่จะเอื้อให้เขาเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ โอกาสที่พวกเขาจะมาพัฒนาประเทศได้ต่อไปก็คงน้อย และคงต้องกลับมาเริ่มใหม่ทุกครั้ง ซึ่งมันจะไม่ไปไหน

หนึ่งในรากฐานสำคัญของการสร้างหลักนิติธรรมในสังคมคือ เราจะต้องมีวัฒนธรรมของการเคารพกติกา (Culture of lawfulness) แล้วเราจะปลูกฝังหรือเสริมสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เยาวชนได้อย่างไร

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สร้างข้ามคืนไม่ได้ เราจึงดึงเอา design thinking เข้ามาใช้ เพราะเราคิดว่า การให้เยาวชนมาเข้าใจชีวิตของคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกับเขา จะทำให้เขาเข้าใจว่าโลกนี้มีหลายอย่าง สิ่งที่เขาอยู่ วัฒนธรรมที่ควรจะเป็น อาจไม่ได้เอื้อกับทุกคน และถ้าเยาวชนเข้าใจเรื่องนี้ ความคิดเขาจะเริ่มเปลี่ยน พอความคิดเปลี่ยน การกระทำก็จะเริ่มเปลี่ยน และมันจะเริ่มเปลี่ยนพร้อมๆ กัน อันจะนำไปสู่การเกิดกติกาแบบใหม่ที่ตกลงร่วมกันขึ้นมา เพราะฉะนั้น ความรู้สำคัญมากในการเปลี่ยนความคิดของคน เราต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อให้เยาวชนไปตกตะกอนความคิด สัมผัสว่าความจริงเป็นอย่างไร

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่เราเห็น เช่นจากนักเรียนกฎหมาย เรียน 4 ปีจบมา ไม่เคยพูดถึงเรือนจำสักคำ ไม่รู้ว่าออกจากเรือนจำแล้วไปไหนต่อ ไม่รู้ว่าพวกเขาเข้าเรือนจำมาได้อย่างไร มันไม่สมบูรณ์ นี่ขนาดเป็นนักเรียนกฎหมาย แล้วนักเรียนจากสาขาอื่นล่ะ เขาจะเข้าใจหรือได้สัมผัสอะไรแบบนี้ไหม เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ถ้าเอาแต่มองว่า ต้องเป็นผู้ใหญ่ถึงจะเข้าใจระบบยุติธรรม หรือมาทำงานตรงนี้ได้ เยาวชนก็ไม่มีทางเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคืออะไร และจะเตรียมตัวเพื่อก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างไร เรื่องแบบนี้ควรเอาเยาวชนเข้ามาร่วมด้วยแต่แรก ให้พวกเขาเข้าใจว่า โลกนี้มีทั้งความสวยงามและความไม่สวยงาม แต่คำว่าไม่สวยงาม มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเอง แต่พวกเขาช่วยให้มันสวยงามขึ้นได้

จากที่ได้สัมผัสโลกของกระบวนการยุติธรรมทั้งของเยาวชนและผู้ใหญ่ ทั้งสองกลุ่มมีความเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ถ้าเป็นเด็กนอกรั้วโรงเรียนกฎหมาย อาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าความยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมคืออะไร หรืออาจเข้าใจว่าคือตำรวจแล้วจบ เราอาจเห็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในข่าว ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะคนวิจารณ์ไม่รู้กระบวนการ พอไม่รู้กระบวนการก็ไม่รู้ว่าควรจะวิจารณ์ตรงไหน พอไม่รู้ว่าควรจะวิจารณ์ตรงไหน ก็ไม่รู้ว่าจะไปช่วยแก้ตรงไหน เรื่องแบบนี้ผู้ใหญ่ยังเข้าไม่ถึง ไม่ต้องพูดถึงเด็ก เพราะคำว่ากระบวนการยุติธรรมดูเป็นคำที่น่ากลัว ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งเราเข้าใจว่า มันมีภาพลักษณ์มาแบบนี้ แล้วจะทำอย่างไรให้สามารถพูดคุยเรื่องนี้กับทุกคนได้โดยไม่ใช้คำว่าความยุติธรรม

ดังนั้น การใช้เรื่องเล่าของคน หรือการใช้วิธีการแบบคนเป็นศูนย์กลาง (human-centered approach) เป็นวิธีการหรือเครื่องมือที่ดีมาก คุณไม่ต้องจั่วหัวว่ากระบวนการยุติธรรมเลย เพราะคนอาจจะไม่อ่าน แต่ถ้าจั่วหัวว่า คุณแม่ลูกสามถูกทำร้าย อันนี้คนจะอ่าน ทั้งที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน แค่ใช้วิธีต่างกันเพื่อให้เข้าถึงได้มากขึ้น

อะไรคือจุดมุ่งหมายสำคัญที่หวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับ

การทำให้เยาวชนรู้ว่า ความยุติธรรมใกล้ตัวเขามากกว่าที่คิด และที่ยิ่งกว่าใกล้ตัวคือ การที่เขามีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องรอใครมาทำ เพราเขาทำกันเองได้

เราไปสัมภาษณ์เยาวชนที่เข้าร่วมหลายคน มีคำพูดที่เขาตอบว่า เขารู้แล้วว่าจะแก้ปัญหาที่ต้นตอของมันอย่างไร หรือบอกว่า เขารู้แล้ว เข้าใจปัญหามากขึ้น นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า กระบวนการทางความคิดของเยาวชนเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่บอกว่า เขาทำได้ เขาเกี่ยวข้อง และเขาอยากทำ

โครงการนี้จะขยายผลกิจกรรมต่อไปอย่างไร

ขั้นแรก เราเอาผลและข้อเรียนรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในเวที Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ที่จัดโดย UNESCAP ซึ่งการจัดเวทีนี้ก็เพื่อทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และปีนี้ เป้าหมายที่ 16 คือเรื่องสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่แข็งแรง (Peace, Justice, and Strong Institutions) ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เขาจะทบทวนว่าใครทำอะไรถึงไหนแล้ว

การที่เราเอาเรื่องนี้ไปพูดบนเวที จะเป็นการเปิดตัวว่าเราทำสิ่งนี้อยู่ หากใครสนใจก็มาร่วมกับเราได้ ซึ่งเหมือนเป็นการขยายพาร์ทเนอร์ออกไป เพราะการที่เราจะพัฒนาไปมากกว่านี้ เราต้องการพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในท้องถิ่นเยอะมาก ที่จะมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลเยาวชน นอกจากนี้ เรายังไม่ได้อยากหยุดแค่ในเอเชีย แต่อยากจะเชื่อมต่อโลกทั้งใบแม้ช่วงเวลา (Timezone) จะต่างกันก็ตาม

ตอนนี้เทคโนโลยีมีอยู่แล้ว เหลือแค่การจัดการว่า จะจัดสรรเวลาอย่างไรให้โลกทั้งใบเชื่อมต่อกัน และมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เรายังหวังว่า นี่จะทำให้คนเห็นว่าเรื่องของความยุติธรรมมันง่ายมาก แค่คลิกปุ่มๆ หนึ่ง คุณก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องรอใครบินมาหาใคร ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แค่ความตั้งใจก็พอแล้ว

กันต์รวี กิตยารักษ์


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) กับ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save