fbpx
การเมืองเรื่อง 'ยา' กับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

การเมืองเรื่อง ‘ยา’ กับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

“การเข้าถึงยาจำเป็น เป็นเรื่องศีลธรรม ชีวิตของคนทุกคนมีค่าเท่ากัน หากเป็นคนจนแล้วไม่สามารถเข้าถึงยาที่สามารถป้องกันความตายได้ เพราะยานั้นแพงเกินไป เป็นโศกนาฏกรรม อันหมายความว่ายังมีอะไรไม่ถูกต้องในระบบยาอันซับซ้อน…”

นายแพทย์ประเวศ วะสี

(จากคำนำหนังสือ ‘ใครว่าไทยละเมิดสิทธิบัตรยา ที่จริงเรายังไม่ได้ทำอีกหลายอย่าง’)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงข้อถกเถียงร้อนแรงเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า บัตรทอง

ทว่าหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บรรลุผล แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่นัก คือกลไกการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ป้อนเข้าสู่โรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ถูกปฏิเสธการรักษา หรือไม่ต้องกระเป๋าฉีกจากการควักกระเป๋าจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์บางประเภทที่ราคาสูงลิบ

ในช่วงปี 2552-2558 กองทุนยา ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาได้ราวๆ 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมตั้งแต่ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ยาต้านไวรัสเอชไอวี น้ำยาล้างไต รวมถึงยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ อีกกว่า 100 รายการ ครอบคลุมผู้ป่วยมากกว่า 400,000 ราย

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้จากกลไกการต่อรองราคายา และการจัดซื้อยารวมที่เข้มแข็ง เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย กลายเป็นกรณีศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คือหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและผลักดันกลไกต่างๆ ในการเข้าถึงยาจำเป็น เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี เธอทำงานเคลื่อนไหวในหลายระดับ ตั้งแต่การเป็นนักวิจัยของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ จับตาการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่กระทบต่อการเข้าถึงยา ภายใต้ตำแหน่งรองประธาน FTA Watch ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบหลักประกันฯ ผ่านการเป็นตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช. เป็นแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมถึงอนุกรรมการอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

ในช่วงเวลาที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกสั่นคลอน เช่นเดียวกับระบบการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เราชวนกรรณิการ์มานั่งสนทนายาวๆ เพื่อคลี่ปมปัญหาของ ‘ระบบยา’ ซึ่งยึดโยงอยู่กับพัฒนาการของ ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมชำแหละการเมืองเบื้องหลังการผูกขาด ซึ่งมีเงินและอำนาจเป็นผลประโยชน์ตอบแทน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

คุณทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพมาสิบกว่าปี ครอบคลุมสองเรื่องหลักๆ คือการส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับการรณรงค์การเข้าถึงยาจำเป็น อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าสองเรื่องนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร และมีความสำคัญกับระบบสุขภาพในภาพรวมอย่างไร

ขอเริ่มเล่าจากจุดนี้ก่อน คือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีมากว่า 15 ปี มันมีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ที่เห็นชัดเลยคือ จากเมื่อก่อนที่หลายแสนครอบครัวเคยล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พอมีระบบหลักประกันฯ มันช่วยพวกเขาได้เยอะมาก แล้วก็ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยลดลงด้วย แต่ตอนนี้มันก็เริ่มถ่างขึ้นอีกแล้วนะ

ประเด็นสำคัญคือ ในขณะที่ด้านหนึ่งมันมีประโยชน์กับสังคม เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศชาติ แต่มันก็ทำให้เกิดผู้เสียประโยชน์ อย่างน้อย 2-3 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือพวกหมอพาณิชย์ โรงพยาบาลเอกชน กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพ การตั้งราคาของเขาก็จะต้องมีฐานอ้างอิง จากเดิมที่ไม่เคยมี

กลุ่มที่สอง คือพวกบริษัทประกันสุขภาพ ก็ได้รับผลกระทบเยอะ จากเมื่อก่อน ช่วงที่ยังไม่มีระบบหลักประกันฯ บริษัทเหล่านี้เติบโต 2 digit ทุกปี แต่พอมีระบบหลักประกันฯ เขาเหลือแค่ประมาณ 1 digit ทำให้เขาต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาสู้ และต่อมาก็พยายามให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเรื่องการทำประกันสุขภาพ ซึ่งก็มาสำเร็จในช่วงรัฐบาลทหาร ซึ่งน่าสังเกตเหมือนกันว่า เวลาที่มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยออกมาพูดเรื่องนี้ มันมีความเชื่อมโยงกับการที่ระบบหลักประกันฯ ไปกระทบผลประโยชน์ของธุรกิจเขาหรือไม่ อย่างไร

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเสียผลประโยชน์จากการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะในช่วงสิบปีหลังที่มีการทำ Compulsory Licensing (CL) ที่ทำให้เราสามารถจัดซื้อยาในราคาถูกลงได้

ทีนี้ ถ้าเราพูดถึงภาพใหญ่ คือระบบสุขภาพทั้งหมด ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐประมาณ 45-50% มันคือเรื่องยา ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นการที่จะบริหารงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้อยู่รอดได้ นั่นคือการที่ต้องมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านยาที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งระบบหลักประกันสุขภาพขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษามากเท่าไร ค่าใช้จ่ายด้านยาจำเป็นก็จะมากขึ้นตามมา ด้วยเหตุผลนี้ การส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการรณรงค์การเข้าถึงยาจำเป็นจึงมีความเชื่อมโยงกัน

ประเด็นหนึ่งซึ่งมีความพยายามทำกันในช่วงหลัง คือการพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เพราะถ้าเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา โดยเฉพาะยาแพงๆ ที่ใช้รักษาโรคที่ซับซ้อนได้ ยิ่งควบคุมมันได้ดีเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้การใช้งบที่อยู่ในระบบหลักประกันฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งที่ทีมงานจากญี่ปุ่นเคยทำการสำรวจใน 10 ประเทศ เขายกให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่สามารถใช้เงินที่มีอยู่ไม่มากนัก มาบริหารระบบสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จนั้นก็คือการจัดการเรื่องยานั่นเอง

การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพที่เกริ่นมา เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไหน

ถ้าย้อนไปช่วงแรกที่มีระบบหลักประกันฯ ต้องยอมรับว่าเงินที่มีมันไม่มาก โรคที่ครอบคลุมก็ยังไม่มาก แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีการขยายชุดสิทธิประโยชน์มากขึ้น ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพต้องเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ไทยต้องเจอวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งเลยของระบบหลักประกันสุขภาพและระบบการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา

ก่อนหน้าปี 2549 เคยมีการทำข้อมูลจาก สปสช.ว่า จะมียาต้านไวรัสบางตัวที่ขาดตลาดอยู่ตลอดเวลา ก็คือ เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน ซึ่งเอาไว้ใช้กับคนที่แพ้สูตรขององค์การเภสัชกรรม สปสช.พบว่านี่คือยาที่มักจะขาดตลาดอยู่ตลอดเวลา สาเหตุเพราะไม่มีเงินจ่าย พูดง่ายๆ คือไม่ได้จ่ายเงินสด พอไม่จ่ายเงินสด บริษัทเขาก็จะเอาไปให้ผู้ซื้อรายอื่นที่สามารถจ่ายเงินสดก่อน

สมัยก่อนที่เราทำงานอยู่องค์การหมอไร้พรมแดน เราจำได้ว่ายาตัวนี้มันไม่เคยขาดนะ เพราะเราจ่ายเงินสด แล้วโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องมาขอยืมเรา นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทยาไม่ค่อยอยากขายยาให้กับคนที่จ่ายเป็นเงินเชื่อ เป็นเหตุให้ยามันขาดบ่อย

ประเด็นสำคัญคือ ยาต้านไวรัสนั้น มันขาดยาไม่ได้ เพราะถ้าขาด จะทำให้เชื้อมันดื้อยา ดังนั้นเขาจึงได้ข้อสรุปกันว่า ยาตัวนี้คือหนึ่งในยาที่ควรทำ Compulsory Licensing หรือ CL คืออนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถใช้สิทธิในการผลิต การใช้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้ ในกรณีที่จำเป็น การทำ CL ส่งผลให้ราคายาถูกลงอย่างมาก

ในล็อตแรกที่มีการจัดซื้อ นอกจากยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว ก็มียาโรคหัวใจด้วย พอมาถึงล็อตสอง ยาก็ถูกลงอีก บางตัวลดลงจากราคาเดิมกว่า 6 เท่า ด้วยเหตุนี้ จากงบประมาณเดิมที่รัฐให้ไว้ มันจะเหลือเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปทำสิทธิประโยชน์อื่นๆ ต่อได้ เช่น กรณีของยากำพร้า คือยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ไม่เยอะนัก ส่วนผู้ผลิตก็มีน้อยราย หมายความว่าจะซื้อมาเก็บไว้เยอะ ก็ไม่ได้ เพราะมันจะหมดอายุ เช่น ยาต้านพิษ รวมถึงสามารถเอาไปคิดทำโครงการอื่นๆ ได้

ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการขยายสิทธิประโยชน์การล้างไตให้แก่ผู้ป่วยไตวาย ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มมากขึ้น

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

ในส่วนของการเข้าถึงยาจำเป็น มีอุปสรรคอะไรบ้าง

ที่ผ่านมา มีปัญหาตั้งแต่ว่า เรามียาในการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารึเปล่า ต้องบอกว่าช่วงแรกๆ ที่มีการระบาดของโรคเอดส์ ผู้ป่วยตายเยอะมาก พอผู้ป่วยตายเยอะ ก็เลยมีการคิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์ขึ้นมา ซึ่งถ้าเราไปฟังบริษัทยาข้ามชาติ เขาก็จะมีชาร์ตของเขาเลยว่า เมื่อมีการคิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์ขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2000 นั้น มันส่งผลให้มีผู้ป่วยตายน้อยลง ผู้ป่วยกลายเป็นแค่ผู้ติดเชื้อ และสามารถมีอายุยืนยาวมากขึ้น มีอัตราการมีชีวิตอยู่สูงขึ้น

ประเด็นที่จะบอกคือ มันเป็นจริงแค่สำหรับผู้ป่วยที่มีความสามารถในการจ่ายเท่านั้น เพราะอีกมุมหนึ่งเราก็พบว่าราคายาต้านไวรัสเอชไอวีมันแพงมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนย่อมไม่สามารถซื้อยาต้านไวรัสเอดส์ได้ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการพัฒนายาเลย

ช่วงนั้นราคายาของบริษัทยาข้ามชาติตกอยู่ที่ประมาณสามหมื่นบาทต่อคนต่อเดือน หมายความว่าคนที่จะมีปัญญากินยาแบบนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีฐานะมากพอควร เราเคยดูสารคดีเรื่องหนึ่ง ชื่อ ‘Fire in the blood’ เป็นผู้พิพากษาชาวแอฟริกาใต้ที่ใช้เงิน 1 ใน 3 ของเงินเดือนสำหรับยาต้านไวรัสตัวนี้่ หมายความว่าคนที่มีฐานะดี ก็ยังต้องเสียรายได้ 1 ใน 3 ของตัวเอง

ฉะนั้นคนแอฟริกันที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย จึงหมดสิทธิ์เข้าถึงโดยปริยาย และตายกันเยอะมาก ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันในเมืองไทย คนก็ตายเยอะมากเช่นกัน แต่เมื่อบริษัทยาต่างๆ เช่น ในบราซิล เริ่มผลิตยาชื่อสามัญตัวเดียวกันได้ ในไทยก็มีอาจารย์กฤษณา ไกรสินธุ์ ที่ผลิตได้ พอคนเริ่มผลิตได้แบบนี้ ราคามันก็ลดลง ซึ่งยาต้นแบบก็ต้องลดราคาลงด้วยเพื่อมาแข่งขัน แล้วจากนั้นมันก็ลดมาเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ ถ้าดูจากยาสูตรเดียวกัน เทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ต้องใช้เงินสามหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ตอนนี้เหลืออยู่ไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน ซึ่งพอราคามันลดลงขนาดนี้ มันก็ส่งผลให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ กระทั่งประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงยาได้ หาซื้อได้

การมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ช่วยให้คนเข้าถึงยาประเภทนี้ได้มากขึ้นด้วยไหม

ถ้าย้อนไปช่วงปี 2547-2548 ที่เกิดระบบหลักประกันฯ ขึ้นมาแรกๆ มันยังไม่ได้ cover ยาต้านไวรัสเอชไอวี แต่เขาก็บอกเงื่อนไขมาว่า ถ้าราคายามันไม่เกินสองพันบาทต่อเดือนต่อคน ก็น่าจะพอได้ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์กฤษณา ก็บอกว่าเขาสามารถทำได้ในราคานี้ ซึ่งถึงเวลาก็ทำได้ถูกกว่านั้นด้วยนะ ก็เลยเป็นผลให้เขาเอายาต้านไวรัสสูตรแรก เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประขาชนจำนวนมากเข้าสู่ระบบได้

จากเดิมที่ผู้ป่วยจากเชื้อเอชไอวีต้องไปพึ่ง ‘โครงการนภา’ ซึ่งไม่ได้ให้สิทธิ์กับทุกคน สมมติว่าโรงพยาบาลนี้ได้โควตา 10 คน แต่ดันมีผู้ป่วยอยู่ 20 คน คุณก็ต้องมาคิดกันแล้วว่า ใครควรจะได้ยา จะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวรึเปล่า แต่ถ้าเกิดเป็นคนติดยา ไม่ให้มันดีมั้ย ช่วงนั้นเลยมีการเถียงกันเยอะมาก จนสุดท้ายไปลงเอยที่การจับฉลาก ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นคือ จะมีคนที่รอลุ้นให้คนที่ได้ยา เกิดการแพ้ยา เพื่อจะได้สละโควต้า เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น หรืออีกกรณีคือลุ้นให้ตายก่อนได้รับยา เช่น บางคนโดนไวรัสโจมตีแบบฉับพลัน รักษาไม่ทัน โควต้าก็จะว่าง ช่วงนั้นมันต้องลุ้นกันแบบนั้นเลย ซึ่งมันทุเรศ นึกออกไหม คุณต้องลุ้นให้เพื่อนตาย ไม่ก็แพ้ยา เพื่อที่คุณจะได้โควต้าบ้าง

แต่พอราคายามันถูกลง รัฐก็สามารถเอาเข้าระบบหลักประกันสุขภาพได้ คนก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นเราจึงเห็นเลยว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อ จะเติบโตมาพร้อมๆ กับการมีอยู่ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเขาอยู่มาตั้งแต่ช่วงที่หายาไม่ได้ สักพักก็เริ่มมียา แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน จนกระทั่งมียาราคาถูกและมีระบบหลักประกันฯ ที่ทำให้เขาเข้าถึงยาได้

ฉะนั้นการพัฒนาระบบนี้ให้มีความมั่นคงและดีขึ้น จึงมีความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มาก ที่เขาเคยเห็นและใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นความตายจากการเฝ้ารอยามาแล้ว ซึ่งสะท้อนว่า ระบบที่ไม่ดีหรือง่อยเปลี้ยเสียขา สุดท้ายจะนำไปสู่การเสียชีวิตของเขาแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรที่คนเหล่านี้จะแอคทีฟมาก

ทีนี้นอกจากผู้ป่วยที่ใช้ยาสูตรพื้นฐานแล้ว ยังมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 10% ที่แพ้ยา กับอีกจำนวนหนึ่งที่กินสูตรพื้นฐานไม่ได้ ทำให้ต้องกินสูตรที่แพงขึ้น พอเป็นแบบนี้เขาก็ต้องคิดแล้วว่า ยาตัวอื่นมีไหม หาจากไหน พอไปดูปุ๊บ อ๋อ มันเป็นของบริษัทยา มันติดสิทธิบัตร พอติดสิทธิบัตร ก็ต้องไปดูว่ามีหนทางอื่นไหม เช่น พอไปดูของอินเดีย ก็พบว่ามันถูกกว่าเยอะมาก อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ต่างจากของเราซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน อะไรทำนองนี้

แล้วการจัดหายาได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

ประเด็นแรกคือ การจะมียาหรือไม่มียาให้ใช้ มันต้องเริ่มจากผู้ผลิตก่อน ซึ่งแยกเป็นผู้ผลิตต้นแบบหรือรายใหญ่กับผู้ผลิตรายเล็กหรือบริษัทยาชื่อสามัญ ทีนี้ถ้ามันติดสิทธิบัตรอยู่ บริษัทเล็กๆ เหล่านี้ก็จะผลิตยาเองไม่ได้ เพราะละเมิดสิทธิบัตร พูดง่ายๆ คือเป็นการผูกขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยผ่านกลไกหลายอย่าง เช่น สมมติว่าคุณมีความจำเป็นจริงๆ ไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหากำไร แล้วก็มีรัฐจัดการ คุณสามารถใช้วิธีที่เรียกว่า Compulsory Licensing (CL) อย่างที่บอกไปได้

ประเด็นต่อมา คือปัญหาเรื่องสิทธิบัตร สมมติว่ามียาตัวไหนติดสิทธิบัตรอยู่ คุณสามารถไปเช็คดูได้ว่าบริษัทนั้นสมควรได้สิทธิบัตรจริงไหม ต้องอธิบายย้อนไปนิดนึงว่า สมัยก่อนมันเป็นการให้สิทธิบัตรที่คุ้มครองเฉพาะ ‘กระบวนการ’ สมมติว่าคุณเอายา A + ยา B แล้วได้ยา X ออกมา แล้วคุณพิสูจน์ได้ว่าการเอา A+B เป็นวิธีการใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำ คุณสามารถได้สิทธิบัตรยาตัวนี้ แต่เป็นสิทธิบัตรกระบวนการเท่านั้น แล้วถ้าเกิดมีคนอื่นสามารถหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อผลิตยาตัวเดียวกันที่มีคุณสมบัติเหมือนกันได้ เขาก็สามารถผลิตได้เช่นกัน ไม่ถือเป็นการละเมิด ทำให้เกิดการแข่งขันกันในการหาวิธีการผลิตยาใหม่ๆ ของนักวิจัย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อแข่งขันมาก การผูกขาดก็น้อย ราคายาก็ยิ่งถูกลง นี่คือช่วงก่อนปีพ.ศ.2535

ต่อมา เราถูกสหรัฐฯ กดดันให้ต้องยอมรับสิทธิบัตร ‘ตัวยา’ หมายความว่า ถ้าคุณเอา A+B แล้วได้ X คุณสามารถได้สิทธิบัตรของตัวยา X เลย พอเป็นแบบนี้ คนอื่นก็ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นเพื่อผลิตยา X ได้เลย จนกว่าอายุสิทธิบัตรนี้จะหมด

ขอยกตัวอย่างหนึ่งให้ฟัง คือกรณีของยาที่ชื่อว่า Didanosine (ddI) เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีเหมือนกัน จากเดิมก่อนที่จะถูกสหรัฐฯ กดดันเรื่องสิทธิบัตรตัวยา เรายังสามารถผลิตยาตัวนี้ได้ แต่พอมีสิทธิบัตรแบบใหม่ขึ้นมา เขาก็มาเตือนเราเลย บอกว่าเขาได้สิทธิบัตรตัวนี้ ซึ่งพอเราไปเช็คดู เราก็พบว่ามันมีความไม่ชอบธรรมอยู่ จึงมีการฟ้องให้เพิกถอนสิทธิบัตร แต่ระหว่างที่กำลังฟ้องเพิกถอนนั้นเอง บริษัทก็รู้ว่าตัวเองคงจะแพ้แน่ ก็เลยตัดสินใจเจรจา คืนสิทธิบัตร เป็นผลให้เราสามารถผลิตยาตัวนี้ได้ แต่กว่าที่จะต่อรองกันได้เรียบร้อย ผู้ติดเชื้อช่วงนั้นก็ตายกันไปเยอะ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

ในกรณีแบบนี้ เรามีวิธีตรวจสอบหรือป้องกันการผูกขาดแบบนี้อย่างไรได้บ้าง

วิธีหนึ่งคือไปดูตั้งแต่เริ่มต้นเลย ตั้งแต่ตอนที่เขาขอสิทธิบัตร ไม่รอให้สิทธิบัตรมันออก เพราะพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ของบ้านเรา จะมีช่วงเวลาที่ให้คนนอกคัดค้านก่อนที่จะออกสิทธิบัตรได้ สมมติเราเห็นว่าคำขอนี้ มันไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น แต่เป็นการขอเพื่อที่จะยืดการผูกขาดออกไปเรื่อยๆ ที่เราเรียกกันว่า Evergreening Patent หรือสิทธิบัตรไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเจอกรณีแบบนี้ เราสามารถยื่นเรื่องค้านการออกสิทธิบัตรได้

กรณีแบบนี้มีตัวอย่างเหมือนกัน คือกรณีของยาต้านไวรัสเอชไอวี สูตร 3 ที่ชื่อว่า Atasanavir เป็นยาที่ราคาแพง มีคนที่ต้องใช้ไม่เยอะมาก ตัวนี้ สปสช.เพิ่งเอาเข้าระบบ เราพบว่ามีตัวนึงที่จะหมดสิทธิบัตรเดือนเมษาปี 2560 หมายความว่าเขาต้องขอตั้งแต่ปี 2540 แต่เราดันไปพบอีกว่า ช่วงปี 2548 2550 2552 มันมีขอเข้ามาอีกเต็มเลย ตัวเดียวกันนี้แหละ หมายความว่าถ้าเขาได้ สิทธิบัตรตัวยาก็จะยืดอายุต่อไปได้อีก แทนที่ในเมื่อหมดสิทธิบัตรแล้ว เราจะสามารถนำเข้ายาตัวนี้จากอินเดียได้ ซึ่งราคาถูกกว่ากันมาก ปรากฏว่าก็ยังต้องมารอลุ้นกันอีก

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมช่วงที่ประยุทธ์บอกว่าจะใช้มาตรา 44 ปล่อยผีสิทธิบัตร เราถึงออกมาค้านกันแบบหัวชนฝาเพราะมันหมายความว่าสิทธิบัตรที่ค้างอยู่ ซึ่งรวมถึงสิทธิบัตรยาพวกนี้ ก็จะพรวดออกไปทันที

 

แล้วกลวิธีที่บริษัทยาข้ามชาติใช้ในการผูกขาด นอกจากเรื่องสิทธิบัตรที่ว่ามา มีวิธีไหนอีกบ้าง

สิ่งที่อเมริการวมถึงบริษัทยาข้ามชาติทำ คือพยายามยืดอายุสิทธิบัตรให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวิธีการยืดการผูกขาดของเขา ก็ทำด้วยหลายวิธี เช่น ขยายอายุสิทธิบัตรออกไป เช่น บอกว่า 20 ปีมันไม่พอ

ประเด็นอยู่ที่ว่า การยื่นขอสิทธิบัตร มันไม่เหมือนอย่างอื่น เช่น ถ้ามีการยื่นขอวันนี้ สมมติว่าตรงกับวันที่ 1 มกราคม 2550 ช่วงเวลาตรวจสอบจะเป็นยังไงก็ตาม แต่เมื่อบริษัทยาข้ามชาติได้สิทธิบัตรแล้ว เช่น ได้ตอน 5 มกราคม 2558 มันไม่ได้หมายความว่าอายุสิทธิบัตรเริ่มวันที่ 5 มกราคม 2558 แต่มันเริ่มแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 ยาวไปถึง 31 ธันวาคม 2570 ก็คือ 20 ปี

และนับจากช่วงเวลาที่เริ่มขอรับสิทธิบัตร ถ้าบริษัทยาข้ามชาติหรือผู้ทรงสิทธิไปพบว่ามีใครที่ผลิตแบบเดียวกับเขา แล้วเขามั่นใจว่าของเขาสมควรได้สิทธิบัตร เขาก็จะยื่น notice ไปที่ผู้ผลิตรายนั้นเลย ว่าผมกำลังขอสิทธิบัตรอยู่นะ แล้วถ้าสมมติว่าผมได้สิทธิบัตร ถือว่าคุณละเมิดนะ ฉะนั้นถ้าบริษัทที่กำลังผลิตอยู่ ไม่มั่นใจ เขาก็จะหยุดผลิต แต่ถ้าบริษัทนั้นมั่นใจว่าสิทธิบัตรที่ผู้ทรงสิทธิขอไว้ มันไม่ได้เจ๋งขนาดนั้นหรอก ไม่ได้มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ไม่มีความใหม่ พูดง่ายๆ คือแหกตา เขาก็จะบอกว่า ฉันไม่กลัว ถ้าจะฟ้องก็ฟ้องเลย แล้วมาสู้กัน ซึ่งกรณีแบบนี้ในประเทศไทยก็มีหลายเคส

ประเด็นต่อมาที่เกี่ยวกับการผูกขาด นอกจากเรื่องสิทธิบัตรแล้ว การที่ยาจะขายได้ มันต้องมีการขึ้นทะเบียนยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการเจรจา FTA จะมีข้อบังคับที่เรียกว่า การให้การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) คือ เมื่อมาขอขึ้นทะเบียนยา บริษัทยาต้นแบบก็บอกว่า ถ้าเขามาขอเป็นเจ้าแรก คุณต้องไม่ให้คนอื่นมาใช้ข้อมูลต่างๆ ของเขาเพื่อขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกันนะ

สมมติว่าเป็นยาสามัญชื่อเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ยาเหล่านี้ก็จะไม่มีสิทธิบัตรแล้ว บริษัทยาต้นแบบก็จะขอความคุ้มครองหรือผูกขาดข้อมูลนี้ เพราะรู้ดีว่า บริษัทยาชื่อสามัญซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ไม่มีปัญญาทำการวิจัยทางคลินิก ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การพิสูจน์ประสิทธิภาพทางยาของยาชื่อสามัญ แค่ทำชีวสมมูล (Bioequivalent) ก็เพียงพอแล้ว แต่อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ใช้วิธีการแบบนี้เพื่อที่จะขวางการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญ

พูดง่ายๆ คือขวางสองทางเลย ถ้าขวางโดยสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะสิทธิบัตรคุณหมดแล้ว เขาก็จะมาขวางโดยการขึ้นทะเบียนยาอีกที ซึ่งวิธีการนี้ เอาจริงๆ แล้วผลกระทบเยอะกว่าด้วย ถ้าไปดูงานวิจัยจะพบว่าความเสียหายมันเยอะมาก หลายหมื่นล้าน สาเหตุเพราะช่วงเวลาที่คุณผูกขาดโดยวิธีนี้ มันไม่มีช่องให้แก้หรือช่องหายใจเลย

อีกวิธีหนึ่ง เรียกว่าการใช้ Enforcement ก็คืออ้างว่าบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่เดิม สมมติว่าคุณจะจับของผิดกฎหมาย หรือของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เขาจะอนุญาตให้จับได้ในสองกรณีเท่านั้น คือ เรื่องลิขสิทธิ์ กับเครื่องหมายการค้า เพราะสองอย่างนี้มันแยกได้ด้วยตา แต่ถ้าเป็นเรื่องสิทธิบัตรจะใช้วิธีแบบนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของยา เพราะการจะพิสูจน์ว่าตัวไหนละเมิดหรือไม่ มันต้องวัดกันด้วยผลจากห้องแล็บ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายปีในการพิสูจน์

ประเด็นอยู่ที่ว่า ข้อตกลงใน FTA ดันมีการระบุไว้ว่า สามารถยึดจับยาที่ละเมิดสิทธิบัตรได้ด้วย พูดง่ายๆ ว่า นอกจากสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่มีเครื่องหมายการค้า เขายังสามารถจับและยึดสินค้าที่ละเมิดสิทธิบัตรได้ด้วย ปัญหาคือในกรณีของยา มันเป็นสินค้าที่แยกด้วยตาไม่ได้ แต่ข้อตกลง FTA กลับเปิดช่องให้สามารถยึดจับได้ ซึ่งถ้าคุณจับเขา เท่ากับว่าคุณบล็อกเขาทั้งกระบวนการเลยนะ โดนตั้งแต่คนขับรถ บริษัทยา ร้านยา คำถามคือในเมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ แล้วใครจะไปอยากสั่งซื้อยาจากบริษัทชื่อยาสามัญ เพราะมันเสี่ยงเหลือเกิน

กรณีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วที่อินเดีย อินเดียส่งยาชื่อสามัญตัวหนึ่งไปให้แอฟริกา กับบราซิล ซึ่งเวลาจัดส่ง มันต้องไปผ่านยุโรปก่อน ผ่านท่าเรือที่อัมสเตอร์ดัม ปรากฏว่าก็โดนยึดจับที่อัมสเตอร์ดัม พอจับปุ๊บ เขาก็ให้เหตุผลว่ามันละเมิดเครื่องหมายการค้าแบบที่แยกไม่ออก แล้วก็ละเมิดสิทธิบัตรด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ อินเดียกับยุโรปนี่แทบจะฟ้องกันเลย ก็ยันกันอยู่สักพัก จนในที่สุดยุโรปก็ต้องปล่อย แล้วบอกว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

อีกเรื่องที่เรากังวลกัน คือการทำข้อตกลง ISDS (Investor-state Dispute Settlement) หรือกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของการทำ FTA เป็นข้อตกลงที่ช่วยคุ้มครองนักลงทุนต่างประเทศ ว่าถ้าเขาเข้ามาลงทุนในประเทศเรา รัฐบาลต้องดูแลอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าเขารู้สึกว่ารัฐบาลไม่คุ้มครองเขา หรือทำให้เขาเสียหาย เขามีสิทธิ์ฟ้องอนุญาโตตุลาการได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านศาลของเรา

สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราไปยอมรับข้อตกลง ISDS ที่คุ้มครองทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อม มันจะทำให้เราเกิด chilling effect โดยปริยาย พูดง่ายๆ คือเสียวสันหลังอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าออกนโยบายอะไรมาแล้วจะโดนฟ้องมั้ย เช่น การต่อรองราคายา หรือการจะประกาศ CL เป็นต้น ซึ่งถ้าเกิดภาวะเสียวสันหลังแบบนี้แล้ว เราจะขยับตัวลำบาก การขยายสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ นานาก็จะยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณายาตัวใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ หรือการปฏิเสธยาที่เราเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการจัดซื้อ ซึ่งสุดท้ายก็จะโยงกลับไปสู่การคุมงบในระบบหลักประกันฯ เป็นจุดหนึ่งที่อาจทำให้ระบบหลักประกันฯ อ่อนด้อยลงได้

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมประชาชนในฐานะผู้รับบริการ จึงต้องสนใจเรื่องยา ต้องสนใจเรื่อง FTA การเจรจาการค้า ก็เพื่อให้ในที่สุด เราจะสามารถป้องกันไม่ให้การเจรจาการค้ามาทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นเหตุผลว่า ถ้าจู่ๆ ใครสักคนจะชงให้หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งตามม.44 ซึ่งจะมีผลทำให้สิทธิบัตรที่ค้างอยู่ผ่านไปทั้งหมด รวมถึงสิทธิบัตรยาห่วยๆ บางตัว เราต้องลุกขึ้นมาต้าน ก็เพราะมันจะยิ่งทำให้ยาถูกผูกขาด จนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถดูแลประชาชนได้

การสู้เรื่องการเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษา มันเป็นโซเชียลมูฟเมนต์ที่ตื่นตาตื่นใจ และมีชีวิต เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน สมมติถ้าไม่มียาบางตัว บางคนอาจถึงกับชีวิตเลย ความสำคัญคือว่า เราต้องพยายามทำให้คนที่ได้รับผลกระทบ กล้าออกมาพูดเอง

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยนอำนาจในการจัดซื้อยารวมของสปสช. ในมุมของคนที่คลุกคลีกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น คุณมีมุมมองต่อประเด็นเหล่านี้อย่างไร

การปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อยาจากสปสช. ไปสู่กระทรวงสาธารณสุขโดยรพ. ราชวิถี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มีหลักการใดทั้งสิ้น ริเริ่มระบบใหม่บนพื้นฐานความกลัวการทุจริต หลังถูกหน่วยงานตรวจสอบทักท้วงแบบไม่มีความรู้ แต่ผลการสอบสวนไม่พบความผิดใดๆ เลย จึงไปแก้เกี้ยวว่า กฎหมายไม่ให้อำนาจ สปสช. ในการจัดซื้อ

จริงๆ แล้วสปสช. ในฐานะหน่วยงานจัดหาบริการให้ประชาชน ทำหน้าที่พัฒนาระบบจัดหายาที่ทำมาตลอดสิบกว่าปี สามารถประหยัดรายจ่ายให้ประเทศได้มากกว่าห้าหมื่นล้านบาท จนได้รับการยกย่องและเป็นต้นแบบของโลกไปแล้ว กลับต้องมาป่นปี้เพราะคำทักท้วงที่ไม่มีมูล ประกอบกับความพยายามในการดึงอำนาจการจัดซื้อกลับไปของกระทรวงฯ ระบบใหม่จึงขลุกขลัก เพราะขาดประสบการณ์ และยังต้องให้สปสช. เป็นพี่เลี้ยงอยู่

นอกจากนี้ก็มีเส้นทางการบริหารจัดหายาที่ยุ่งยากมากขึ้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เกิดปัญหายาขาด ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย คิดว่าถ้าไปถามคนที่จัดหายาอยู่ตอนนี้ เชื่อเลยว่าเขาต้องอยากคืนกลับให้สปสช. ทำตามเดิม

ส่วนตัวจึงคิดว่า การแก้ปัญหาเรื่องการจัดซื้อยา ควรกลับมาให้สปสช. เป็นคนบริหารเหมือนเดิม และอาจเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อลดความวิตกกังวล รวมถึงคำครหาว่าไม่เปิดเผยโปร่งใส และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรขยับขยายไปช่วยเจรจาต่อรองการจัดซื้อยาที่มีราคาแพงให้ทั้ง 3 กองทุนหลักด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

ความแตกต่างระหว่างการผลักดันเรื่องนี้ ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลทหาร แตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร

ตั้งแต่ คสช.เข้ามาบอกได้เลยว่านรกมาก (หัวเราะ) มีเรื่องให้ปวดหัวแทบทุกวัน จนเรารู้สึกว่ามันจะอะไรมากมายขนาดนี้วะ ถึงวินาทีนี้ ขอแค่อย่าท้อกันก่อน ทำเท่าที่ทำได้ สู้เท่าที่สู้ได้ ถ้าจะมัดปากเรา เราจะไม่ยอมให้มัดปาก จะมัดตีนเรา เราก็ไม่ยอมให้มัดตีน

พูดได้ไหมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากที่สุด ตั้งแต่ต่อสู้ผลักดันเรื่องนี้มาสิบกว่าปี

ใช่ ที่ชัดเจนคือในรัฐบาลประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดเรายังออกมาชุมนุมได้ สื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวของเราอย่างเข้มข้นได้ มันมีสิทธิเสรีภาพอยู่พอสมควร หมายความว่าโอกาสที่เราจะแสดงพลังของเรา แสดงความคิดเห็นของเรา มันไม่ยาก ต่อให้สถานการณ์จะแย่ยังไง รัฐบาลเลวร้ายแค่ไหน แต่โอกาสที่ประชาชนจะลุกมาเคลื่อนไหว นักวิชาการลุกมาจัดวงเสวนา ยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าตอนนี้เรากลับทำได้น้อยมาก

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนหน้านี้ พวกข้าราชการนี่ยังมีความกล้านะ คนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำ หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล เขาก็ส่งเอกสารมาบ้าง ทำเอกสารตกหล่นบ้าง พูดง่ายๆ ว่ามีข้อมูลภายในหลุดมาเสมอๆ ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงนี้ เราคิดว่าคนที่ต้องทำงานกับข้อมูลเชิงลึกแบบนี้ แทบไม่มีข้อมูลมาถึงมือเลย

ฉะนั้น ด้วยความที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพถูกปิดกั้น โอกาสที่จะทำให้คนมีเสียงเท่ากัน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย คนที่เสียงดังคือคนที่อยู่ในภาคธุรกิจ ซึ่งได้เข้าไปคุยกับรัฐบาลตลอด

อย่างตอนที่ประยุทธ์จะใช้มาตรา 44 ปล่อยผีสิทธิบัตร เราก็จับสังเกตตั้งแต่ตอนที่คุณวิษณุ เครืองาม ออกมาพูดแล้ว พอวันถัดมา ประยุทธ์พูดอีก เราก็เอ๊ะ ชิบหายแล้ว มันออกแน่ๆ เราก็ด่าเลย เอางานวิจัยมายันเลยว่าคุณทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วก็รีบเข้าไปขอพบคุณวิษณุเลย ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเขาให้บริษัทต่างๆ ที่จะมาขอสิทธิบัตรเข้าพบ แต่กับประชาชนอย่างเราที่จะได้ผลกระทบ เขากลับไม่ให้เข้า แต่เราไม่สนไง ก็ไปรอหน้าห้องเลย

ยังมีนักข่าวมาถามเราเลยว่า เขายังไม่ได้ปล่อยนะ เป็นแค่ข่าวลือไม่ใช่เหรอ จะรีบมาค้านทำไม เราก็ตอบกลับไปว่า แล้วที่ผ่านมา เวลาเขาใช้ม.44 สั่งให้ทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันเคยมีฉบับไหนที่แก้ได้มั้ย ยกเว้นฉบับที่รีบเขียนออกมาลวกๆ แต่ดันเขียนผิด แล้วแอบไปแก้กันเนียนๆ ทีหลัง ฉะนั้นเราจะรอจนมันออกมาไม่ได้ เพราะถ้าออกมาแล้วมันไม่มีทางแก้ได้

แล้วด้วยความที่เราไม่ได้มีคนช่วยเยอะ เราก็ต้องหูตาไวเป็นพิเศษ ต้องทำตัวให้ alert ผิดปกติ (หัวเราะ) เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะทำอะไร ตอนไหน อย่างที่ไปบอกว่ามันเป็นเรื่องความเป็นความตาย มีคนจำนวนมากที่เคยเห็น เคยมีประสบการณ์ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีระบบหลักประกันฯ เขารู้ว่ามันนรกขนาดไหน

ส่วนคนรุ่นหลังๆ ที่เข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันฯ ตั้งแต่แรก อาจไม่รู้ว่าสภาพแบบนั้นแบบยังไง นึกภาพไม่ออก แต่ประเด็นคือมันมีคนจำนวนมากที่ยังเห็นภาพนั้นอยู่ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังต้องสู้

ถึงตอนนี้มีอะไรที่อยากทำ อยากผลักดัน แต่ยังไม่สำเร็จไหม

เราเชื่อว่าที่ผ่านมา การมีอยู่ของระบบหลักประกันฯ มันได้พิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่งแล้วว่า ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นประเทศร่ำรวยก่อนแล้วถึงทำได้ ตอนที่ญี่ปุ่นทำ เขาก็ไม่ได้ทำตอนเขารวยมาก ตอนที่อังกฤษทำ ก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนตอนที่ประเทศไทยทำ คือช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ฉะนั้น การที่มันเกิดขึ้นมาได้ คงอยู่ได้ และทำประโยชน์แก่ผู้คนได้ด้วย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา หมายความว่าฝันแบบนี้มันเป็นจริงได้ ฉะนั้นเราก็มีสิทธิ์ที่จะฝันต่อไง แต่ถ้าพูดถึงวินาทีนี้ ก็อย่างที่บอกไปว่าขอแค่ยังไม่ท้อกันก่อน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล การเมือง ยา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save