fbpx
ผู้ลี้ภัยไม่มีสี : คุยกับ 'กัณวีร์ สืบแสง' อดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนาม ซูดานใต้ UNHCR

ผู้ลี้ภัยไม่มีสี : คุยกับ ‘กัณวีร์ สืบแสง’ อดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนาม ซูดานใต้ UNHCR

8 ปีก่อนหน้าที่ ‘ซูดานใต้’ จะได้รับการรับรองจากสหประชาชาติเมื่อ 9 ก.ค. 2011 ให้เป็นประเทศเกิดใหม่ประเทศที่ 193 ของโลก ซึ่งผ่านการลงประชามติจากคนในประเทศให้แยกออกจากซูดาน กัณวีร์ สืบแสง กำลังรับราชการอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

หน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายคือดูแลงานด้านนโยบายความมั่นคงบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะตอนเหนือบริเวณแม่ฮ่องสอนลงไปถึงตอนใต้นราธิวาส ผ่านการประสานงานตั้งแต่ตำรวจ ทหาร มหาดไทย ไปจนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่าง UNHCR ที่ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ

ความที่วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขาเน้นศึกษาทางด้านผู้ลี้ภัย ทำให้เขามีใจเอนเอียงที่จะข้ามสายงานจากราชการไปยังองค์กรสิทธิฯ เต็มตัว และ UNHCR คืองานที่เขาลองเลือกยื่นใบสมัคร

ระหว่างที่กำลังตึงเครียดอยู่ในเหตุการณ์ถล่มมัสยิดกรือเซะ ปี 2004 กัณวีร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ สมช. ขณะนั้นรับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่าเขาได้รับเข้าทำงานที่ UNHCR พอดี และงานแรกของสายงานใหม่ก็พาเขากลับไปที่แม่ฮ่องสอนอีกครั้ง

กระทั่งเดือน ก.ค. ปี 2011 อย่างที่ไปกล่าวตอนต้น เมื่อซูดานใต้ก่อตั้งเป็นประเทศ แต่ปัญหาการเมืองและชาติพันธุ์ภายในกับลุกลามกลายเป็นสงคราม ประสบวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นอันดับ 3 ของโลก กัณวีร์ที่ถูกฝึกอบรมพร้อมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ERT (Emergency Roster Team) ก็ได้รับงานร้อนทันที

เขาบินไปซูดานและอยู่ที่นั่นร่วม 5 ปี เป็นคนไทยคนเดียวที่ได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานภาคสนาม UNHCR ทำงานท่ามกลางความเป็นความตาย

มีบ้างประปรายที่ถูกเรียกฉุกเฉินไปฟิลิปปินส์และอัฟกานิสสถานช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นช่วงเวลาสั้นที่ทำเอาเกือบตาย

ที่อัฟกานิสสถาน ระหว่างที่เขาออกมาพักสูบบุหรี่ข้างนอกสำนักงาน เกิดเหตุคาร์บอมบ์ข้างหน้าหอ แม้ว่าไม่ถึงกับชีวิต แต่ทุกวันนี้เขาสามารถได้ยินเพียงหูข้างเดียว

101 พูดคุยกับกัณวีร์ล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนที่เขาจะบินไปรับงานที่บังกลาเทศ เพื่อช่วยเหลือวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ท่ามกลางคำถามว่าผู้ลี้ภัยคืออะไร ไปจนถึงว่าทำไมต้องช่วยเหลือ นี่อาจเป็นภาพสะท้อนของบ้านเมืองที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนยังคล้ายไม้หลักปักเลน

แต่ประสบการณ์และบทเรียนจากซูดานของเขาคงพออธิบายได้…

กัณวีร์ สืบแสง

ทราบว่าก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ในซูดาน คุณรู้ล่วงหน้าและมีเวลาเตรียมตัว 3 วัน

เขาจะมีเวลาให้ 72 ชั่วโมงหลังจากที่เรียกตัว ก่อนนั้นระหว่างที่อยู่แม่ฮ่องสอน UNHCR จะมีชุดเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกว่า ERT (Emergency Roster Team) ต้องมีการคัดเลือก ปีหนึ่งมี 40 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม และคัดเลือกเหลือ 10 คนต่อปีเพื่อเข้าไปยังสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉิน พอดีปี 2011 ที่ซูดานใต้แยกประเทศจากซูดานเหนือ ก็มีผู้ลี้ภัยจากซูดานเหนือหนีมาซูดานใต้ เพราะรัฐบาลซูดานเหนือบอกว่า “เฮ้ย คุณเคยช่วยซูดานใต้ ตอนนี้คุณมาอยู่ในดินแดนผม คุณควรจะย้ายไปอยู่ซูดานใต้ได้แล้ว” เขาก็บอกว่าพวกเราไม่ไป พอไม่ไปก็เกิดการยิงปะทะกัน คนพวกนี้ที่เป็นชาวบ้านก็หนีไปซูดานใต้ในปี 2011 ทาง UNHCR ก็ส่งเราเข้าไปเปิดสำนักงาน UNHCR ที่นั่นเพื่อช่วยดูแลผู้ลี้ภัยประมาณ 25,000 คนในช่วงแรก มีการให้สถานะผู้ลี้ภัย ให้พื้นที่พักพิง อาหาร และช่วยให้เขาสามารถดำรงชีพอยู่ได้

ครั้งแรกในชีวิตที่เข้าไปในพื้นที่สู้รบเป็นอย่างไร

ช่วงแรกเราเอาอาหารไปให้ จากการประสานกับองค์การอาหารโลก (WFP) เอาอาหารขึ้นเฮลิคอปเตอร์ MI28 ไปส่ง พอเครื่องลงปุ๊บ UNHCR ได้รับอาณัติในการเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ เราก็เห็นคนวิ่งมาเต็มเลย ตอนแรกเรานึกว่าคนดีใจกันเพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่อาหารไม่ถึงผู้ลี้ภัย นักบินก็บอกว่ายูมีเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงในการที่จะพาทุกองค์กรไปดูพื้นที่ พอนักบินพูดเสร็จ เราก็ได้ยินเสียงพลุดังเหมือนประทัด พอหันไปดูเห็นฝุ่นคลุ้งๆ มองขึ้นไปข้างบนเห็นเครื่องบิน Antonov เป็นเครื่องบินลำเลียงพลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กองทัพซูดานเหนือเขายังใช้อยู่เพื่อทิ้งระเบิด แต่เป็นการทิ้งลงมาแบบสุ่ม ไม่ใช่การทิ้งด้วยเรดาร์

ตอนนั้นเราเห็นว่ามันใกล้เฮลิคอปเตอร์เรามากเลย เจ้าหน้าที่ WFP ยืนตัวแข็งฉี่รดกางเกงทำอะไรไม่ถูก ทุกคนกระโดดหลบเข้าพงหญ้าหมด เรากระโดดก่อนเพื่อน ทั้งที่ฝึกมาแต่วินาทีนั้นก็ไม่รู้ต้องทำยังไงเหมือนกัน เหวอกันหมด เราต้องไปดึงคนของ WFP ลงมานอนหมอบ เขาก็ถามว่าทำยังไงต่อ เราบอกเวลานี้ทำได้สองอย่าง smoke and smile สูบบุหรี่แล้วก็ยิ้มเข้าไว้

สองอย่างนี้ถูกฝึกมาไหม

เปล่า แต่เราสูบอยู่แล้วไง (หัวเราะ) ตอนนั้นก็เลยเอาบุหรี่ให้เขาสูบตัวนึง จากนั้นเราต้องโทรบอกเจ้าหน้าที่ที่เป็น focal point ด้าน security เรามีโทรศัพท์ดาวเทียมที่พกติดตัวตลอด แต่ถึงเวลาแล้วมือไม้สั่นหมดเลย เราก็โทรเข้าเบอร์มือถือผู้แทนข้าหลวงใหญ่ แกนั่งประชุมอยู่ เราขออนุญาตคุยด้วย บอกว่า “ตอนนี้ผมคิดว่าสถานการณ์มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่” เขาก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็ตอบว่า “ไอรู้สึกว่าไอกำลังโดนบอมบ์” เขาก็นึกว่าพูดเล่น “อะไรนะ พูดใหม่สิกัณวีร์” “ผมคิดว่าเรากำลังโดนระเบิดครับ” หลังจากนั้นระเบิดก็ลงข้างๆ ดังสนั่น

จากนั้นเราขออนุญาตอพยพออกนอกพื้นที่ เขาบอกเรามาคำเดียวว่า “กัณวีร์ ก่อนยูจะออกไป ช่วยทำ assessment ก่อนว่าระเบิดลงที่ไหน มีใครตายบ้าง”

แต่นักบินตอนนั้นสติแตกแล้ว เกือบไม่รอแล้ว เราเลยอ้อนวอนนักบินว่าขอเวลาครึ่งชั่วโมงเพื่อทำ assessment นักบินก็บอก มึงยังมีกระจิตกระใจอีกเหรอเนี่ย แต่ก็ยอมให้เวลาครึ่งชั่วโมง เพราะเครื่องบิน Antonov เวลาบินมันจะไม่สามารถบินเหมือนเครื่องบินไอพ่นได้ มันต้องตีวงกว้าง เราจะเห็นมันตีวงกว้างรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนที่มันจะวนกลับมาทิ้งระเบิดใส่เราใหม่ เราก็วิ่งเลย

ที่วุ่นวายหลังจากนั้นคือพวกผู้ลี้ภัยเขาก็กรูกันเข้ามาด่าเรา บอกว่าเป็นเพราะเราเอาอาหารมาให้ ทำให้ชี้เป้าว่าค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ตรงนี้ มันก็เลยเอาระเบิดมาทิ้ง หลังจากนั้นเขาก็เริ่มระดมมวลชน เราก็ตะโกนดังๆ ว่าอย่าเข้ามานะ เขาก็หยุด ทีนี้ก็เราวิ่งกลับไปที่เครื่องบินเลย เอาตัวรอดไว้ก่อน (หัวเราะ)

หลังจากนั้นพอเรารายงานไป รัฐบาลซูดานก็โดนเรียกไปให้ปากคำในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าคุณทำอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะเป็นพื้นที่ผู้ลี้ภัย ต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและจารีตประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ คุณไม่สามารถใช้ความรุนแรงในพื้นที่ผู้ลี้ภัยได้ รัฐบาลซูดานไปถึงก็บอกว่า “ผมไม่ได้ทิ้งระเบิดในประเทศซูดานใต้ ผมทิ้งระเบิดในประเทศผม”

จริงๆ พื้นที่ตรงนั้นมันยังไม่มีการตีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้ เพราะฉะนั้น operation ที่ผมทำไป เป็น operation ทางการทหารภายในประเทศซูดานเหนือ พอได้ยินแบบนี้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็น No man’s land จริงๆ เขาก็เลยบอกว่าขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศซูดานเองหรือซูดานใต้ก็ตาม หลังจากนั้นเขาก็ยุติการใช้ระเบิด

ตั้งแต่เหตุการณ์ร้อนแรงจนวันที่คุณกลับออกมาจากพื้นที่ ซูดานใต้สอนอะไรคุณบ้าง

ช่วงแรกเป้ใบเดียวไปทุกที่ น้ำท่าไม่ต้องพูดถึง การอาบน้ำไม่มี การกินก็เหมือนคนทั่วๆ ไป เวลาใช้โทรศัพท์ดาวเทียมต้องลุ้นว่าจะติดหรือเปล่า การเดินทางถ้าโชคดีก็มีเฮลิคอปเตอร์มา แต่บางทีไม่ว่าง ต้องรออีกอาทิตย์นึงก็มี

และที่มันท้าทาย เพราะเหตุบ้านการเมืองไม่นิ่ง โดยหลักการทำงานองค์การสหประชาชาติ ถ้าเราทำงานในพื้นที่ที่ไม่นิ่งทางการเมือง เราจะลำบาก เพราะว่าการเดินทางเข้าไปถึงกลุ่มคนในความช่วยเหลือของพวกเรา จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะเราไปในฐานะแค่ผู้ให้ความช่วยเหลือและต้องได้รับการเชิญจากรัฐบาลนั้นๆ เนื่องจากศักยภาพของรัฐบาลที่ขอร้องมาบางทีก็ขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรต่างๆ

อีกอย่างคือที่ซูดานใต้มีปัญหาเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 4 ล้านกว่าคน คือชะตากรรมเหมือนผู้ลี้ภัย เพียงแต่ไม่ได้ข้ามออกมานอกประเทศ เขาอยู่ในประเทศนั่นแหละ ซึ่งยิ่งหนักกว่าผู้ลี้ภัย เพราะผู้ลี้ภัยเขาหนีออกนอกประเทศเขาไปแล้ว ไม่โดนทำร้ายแน่นอน แต่คนพลัดถิ่นยังอยู่ประเทศเดียวกันกับคนที่ก่อเหตุ

ทำได้แค่วิ่งหนีหลบไปหลบมา แต่พ้นจากอันตรายจริงๆ ไม่ได้

ใช่ และบางพื้นที่ที่เราจะเข้าไป รัฐบาลไม่รับรองความปลอดภัยให้ รัฐบาลบอกว่าถ้าคุณจะเข้าไปต้องติดต่อฝ่าย opposition เอง รัฐบาลไม่รับผิดชอบในชีวิตและทรัพย์สินคุณ เครื่องบินที่เราจะบินไป ก่อนออกจากเมื่องหนึ่งต้องคุยกับรัฐบาล พอจะลงในอีกพื้นที่ต้องคุยกับฝั่งตรงข้าม เพราะเขาก็มีปืนต่อสู้อากาศยานพร้อมยิงเสมอ เคยมีเครื่อง UN ของทหารบินเข้าไปโดยไม่แจ้ง ถูกยิงร่วงทันที 10 คนโดนยิงตายหมด

มีประสบการณ์ตรงเรื่องนึงที่ผมเจอกับตัวเองตอนปี 2011 ตอนนั้นพอเราตั้งออฟฟิศ UNHCR เสร็จ มันเปิดให้มีการลงทะเบียน ระหว่างที่เราตั้งโต๊ะลงทะเบียน ก็เห็นลุงผู้ชายแก่ๆ คนหนึ่งยืนอยู่ มีไม้ค้ำยัน มีขาข้างเดียว เลือดไหลโชก มีผ้าเก่าๆ พันขาตัวเอง เรามองอยู่แป๊บนึงเห็นท่าไม่ดีก็เลยเดินไปหาแกกับล่าม ถามว่าเกิดอะไรขึ้น มาทำไม โรงพยาบาลอยู่ทางโน้น แกว่าไม่ไป เราก็ถามว่าทำไมไม่ไปโรงพยาบาลก่อน แกว่าไปโรงพยาบาลจะไม่ได้ข้าว แต่ถ้าลงทะเบียนเสร็จ ครอบครัวลูกเมียจะได้ข้าวกิน

แกมีหลายเมีย มีลูกเยอะ เป็นหัวหน้าครอบครัว จะต้องลงทะเบียน ถ้าหัวหน้าครอบครัวไม่ลงทะเบียนคนอื่นจะลงทะเบียนไม่ได้ เขาคิดกันแบบนั้น เราก็บอกว่าเอางี้ อุ้มกันไปโรงพยาบาล แล้วก็ลงทะเบียนไปด้วย ไปถึงโรงพยาบาลปั๊บ พอวางตัวลงเตียง แกก็ขาดใจตาย เพราะแกเสียเลือดจากขาขาด

เรารู้สึกว่าชีวิตคนมันน่าจะมีค่ากว่านี้นะ หดหู่มาก คนขาขาดเลือดโชกกลัวไม่ได้ข้าวต้องมาลงทะเบียน มันสะท้อนว่าการได้รับสิทธิมันสำคัญกับชีวิต และชีวิตเขาคือการได้ลงทะเบียนเพื่อจะได้สิทธิ ทั้งครอบครัวของเขาจะได้สิทธิการคุ้มครองจาก UNHCR จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย โดยไม่ห่วงชีวิตตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาบาดเจ็บสาหัส

ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราจะยืนรอไหม ขาขาดแล้วเลือดไหลโชกเลย และแกเดินมาข้ามเขามานะ จากภูเขานูบา อยู่รัฐ Southern Kordofan ของซูดานเหนือ เดินมาถึงยีดาของซูดานใต้ ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 7 ชั่วโมง แต่แกไปเหยียบกับระเบิดขาขาดระหว่างมาเสียก่อน แล้วคิดดูว่ายังมีใจมาต่อคิวอีก 50 นาที เพราะแถวมันยาว เรามีเจ้าหน้าที่รวมแค่ 7 คน ต้องดูแลคนราวๆ 900 คนที่กำลังยืนต่อแถว

กัณวีร์ สืบแสง

นั่นคือความตายครั้งแรกที่ใกล้ตัวมากที่สุด ?

ตายกับมือเลย

หลังจากนั้นทีมงานสรุปหรือปรับวิธีการทำงานกันใหม่ไหม

ปรับครับ เราพูดกับเจ้าหน้าที่กับน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันในทีมเสมอว่า อย่าไปคิดว่าเราคือพระเจ้า เราต้องสร้างระบบให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม หน้าที่ของเราคือช่วยให้ทุกคนได้สิทธิเท่าเทียมกัน เราสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ เราไม่ควรทำงานเป็นข้าราชการแบบเดิมๆ เราควรดูแลคนให้เป็นระบบ

ภาพจาก กัณวีร์ สืบแสง/UNHCR

เวลา UNHCR จะให้สถานะผู้ลี้ภัยกับใคร ต้องดูเงื่อนไขอะไรบ้าง

มีกระบวนการทั้งหมด 3 อย่างหลักๆ อย่างแรกคุณจะเป็นผู้ลี้ภัยได้ ต้องมีเหตุผลในการถูกกีดกันจากประเทศต้นกำเนิดในการเข้าถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติ อย่างที่สองคือรัฐบาลเจ้าของที่ลี้ภัยอนุญาตให้หนีมาได้ เราก็ให้สถานะได้ทันที และอย่างที่สาม อย่างกรณีซาอุฯ ผู้หญิงชื่อราฮาฟ ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ เขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เป็นแค่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่พอมาถึงในประเทศไทย เขาบอกว่าเขากลับประเทศเขาไม่ได้แล้ว เพราะถ้ากลับไปเขาจะได้รับการประหารชีวิต แบบนี้เขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทันที

ที่บอกว่างานสิทธิมนุษยชนจะอิงการเมืองไม่ได้ เอาเข้าจริงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานคุณบาลานซ์ยังไง

เราชัดเจนมาก เรื่องส่วนตัวก็เรื่องส่วนตัว เรื่องงานก็ต้องยึดหลักการ อย่างตัวเราเองก็มีหลักที่ต้องยึดโยง ไม่สามารถบิดเบือนได้ เพราะมันต้องมีการตรวจสอบ ความเป็นพันธมิตร เรามีการพูดคุยกันได้ อย่างเช่นเราคุยกับคนของรัฐบาล ท่านครับผมจะเดินทางไปตรงนี้นะ เราสามารถมี access ในการพูดคุยได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะให้สิทธิประโยชน์กับเรามากกว่าคนอื่น เรามีแค่โอกาสที่จะพูดคุยว่าผมต้องการตรงนี้ คุณช่วยได้ไหม เพราะมันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเราเอง เราไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาลด้วย แต่เราไปช่วยเหลือรัฐบาลในการช่วยเหลือบุคคลอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นมันจะเคลียร์มาก

จะว่าไปก็เป็นงานที่ไต่เส้นลวดเหมือนกัน

มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ จริงๆ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว ทุกคนมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับใครก็ตาม แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถยึดหลักการเราได้มากน้อยขนาดไหน

เคยมีเหตุการณ์หมิ่นเหม่บ้างไหมที่ทำให้ลำบากใจ

อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ เพราะจริงๆ กระบวนการสันติภาพมันไม่ใช่หน้าที่ของ UNHCR เลย คือมันมีความเกี่ยวข้องแน่นอน แต่หน้าที่หลักๆ ต้องเป็นรัฐบาล รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการทำงานเรื่องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศเขาเอง เราเป็นฝ่ายให้การช่วยเหลือตามหลักสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น human center, community based approach คือกระบวนการที่เอาชุมชนรากหญ้าเป็นหลัก เราพยายามสนับสนุนรัฐบาลตรงนั้น

แต่เวลารัฐบาลจะสร้างสันติภาพ คุณต้องไปปลดอาวุธกับชาวบ้าน ซึ่งใช้ความรุนแรงในการปลด พอปลดอาวุธมาเสร็จ กระบวนการต่างๆ ที่เราไปสร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็น human center หรือชุมชนรากหญ้ามันก็สั่นคลอน แล้วรัฐบาลก็จะบอกว่า ชุมชนรากหญ้าที่คุณสร้างขึ้นมาเป็นตัวที่มาขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาล

เราก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำ เราต้องสร้างศักยภาพให้กับชุนชนในพื้นที่ ให้เขาสามารถคิดเรื่องการแก้ปัญหาของเขาเอง เราไม่สามารถไปผลักดันเขาได้ว่าคุณต้องคิดอย่างนั้นอย่างนี้

หมายความว่าชาวบ้านที่คุณเข้าไปช่วยเหลือก็ยังสะพายปืนอยู่ แต่หน้าที่คุณไม่มีสิทธิไปปลดอาวุธเขา แต่กลับถูกกดดันจากรัฐบาล

ใช่ เราช่วยเหลืออย่างเดียว ช่วยเหลือในการพูดคุย จัดเวทีเสวนา การบอกว่าเราจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ รัฐควรจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองทางด้าน safety & security ตัวคุณเองอาจจัดตั้ง community police ขึ้นได้ คุณมีสิทธิในการดูแลตัวเอง แต่ไม่ใช่การถืออาวุธ การถืออาวุธจะต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล คุณสามารถเป็นหูเป็นตา สร้าง networking ต่างๆ ขึ้นมาได้ นั่นคือสิ่งที่เราให้คำแนะนำได้

แต่เหมือนว่าพอรัฐบาลไปจับกุมเขา ไปปลดอาวุธ ก็เกิดความไม่ไว้ใจกัน แทนที่จะเริ่มคุยกันก่อน

ประมาณนั้น แต่หลังจากมีการสร้างความเข้าใจในพื้นที่มันก็ดีขึ้น ตอนแรกๆ ลำบากเพราะว่ามันเกิดความขัดแย้ง คนไม่เชื่อใจมันยังมีอยู่ โดยเฉพาะจากชุมชนที่มีความขัดแย้งกัน พอเราบอกว่า เฮ้ย ทำไมยูไม่จับมือกัน ฝั่งนึงก็จะบอกว่ามันยิงผมตอนนั้น อีกฝั่งก็จะบอกว่าคุณฆ่าผมก่อน เราบอกให้เขาไปจับมือกันยาก

ภาพจาก กัณวีร์ สืบแสง / UNHCR

ปัจจุบันซูดานใต้คลี่คลายไปอย่างไรบ้าง

ปี 2017 มีการประกาศในเวทีโลกถึงภาวะวิกฤตเรื่องอาหารและความอดยาก ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่ายังเผชิญสถานการณ์เลวร้ายอยู่ แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจจะดีขึ้น ใช้อาวุธน้อยลง แต่ประชาชนก็ยังอดอยากอยู่ ไม่สามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานตามหลักสากลทั่วๆ ไป ลูกเด็กเล็กแดงยังไม่มีสุขอนามัยที่ดีในการใช้ชีวิต

ภาพจาก กัณวีร์ สืบแสง/UNHCR

อยากชวนมองย้อนกลับไป เคยคิดไหมว่าทำไมถึงย้ายชีวิตจากราชการที่ค่อนข้างมั่นคงไปทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เข้าไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง

ผมคิดถึงหลักการสิทธิของการเป็นมนุษย์ เพราะตอนที่ทำงานกับ สมช. นโยบายความมั่นคงเป็นความมั่นคงของมนุษย์ ในบรรดาคนที่ทำงานเชิงนโยบายเราคุยกันว่าจะทำยังไงให้นโยบายเป็น human center ให้ได้ ไม่ใช่ความมั่นคงทางด้านการป้องกันประเทศอย่างเดียว ซึ่งเป็นแค่หนึ่งในร้อยของนโยบายความมั่นคง

เพราะฉะนั้นการทหารจึงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ต่างๆ นานา และคนมักจะเข้าใจผิดว่าคนที่ทำงานนโยบายความมั่นคงต้องใส่ชุดยูนิฟอร์ม ต้องใส่เครื่องแบบทหาร ต้องใส่เครื่องแบบตำรวจ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความมั่นคงในปัจจุบันต้องเป็นนโยบายที่เปิดสาธารณะ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำยังไงให้คนเรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่ได้

การย้ายมาทำงานด้านผู้ลี้ภัยคือหนึ่งในความตั้งใจ เพราะประเด็นผู้ลี้ภัยมันกระทบความมั่นคงหมดเลย ทั้งที่จริงๆ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งแต่ละพื้นที่มันสูงขึ้น มีการปะทะกัน ในแง่หนึ่งมันก็เป็นผลพวงจากนโยบายความมั่นคงด้วยที่ไม่ได้เปิดกว้างและไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะเห็นว่านโยบายความมั่นคงของชาติ ทั้งไทยหรือสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยังมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นแค่ติ่งหนึ่ง เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องตัดออก ไม่ใช่ควรแก้ไข

พอพูดเรื่องผู้ลี้ภัย พวกเขามักจะบอกว่า “ไอ้พวกนี้เป็นภาระให้กับประเทศ ทำยังไงถึงจะเอามันออกนอกประเทศให้ได้ ปิดค่ายมันเลย ไล่มันกลับไป” คำถามคือทำได้ไหม มีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมา 30-40 ปี ยังกลับบ้านไม่ได้ มีคน 130,000 คนยังอยู่ในพื้นที่พักพิงบริเวณชายแดน 9 แห่ง ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนถึงราชบุรี

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาในบริบทของไทยหรือพม่า ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียน นี่คือบริบทของโลก สมมติเราผลักดันคนพวกนี้กลับไป มันจะมีเสียงสะท้อนขึ้นมาเยอะในเวทีระหว่างประเทศ สหประชาชาติก็คงตั้งคำถาม เอ๊ะ ประเทศไทยคุณไม่นับถือ Customary international law เหรอ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศว่าคุณไม่สามารถผลักดันคนที่เขาหนีภัยมา ให้กลับไปสู่ประเทศที่เขาต้องถูกฆ่าได้

แปลว่าความมั่นคงแบบไทยกับแบบสากลไม่สอดคล้องกัน ?

จริงๆ ตัวนโยบายความมั่นคงไทยเราเปิดกว้างนะ แต่เวลาปรับใช้ดันไปเลือกเฉพาะความมั่นคงกระแสหลัก คือนโยบายการป้องกันประเทศ

อย่างกรณีของจีน เขามองประชาชนของเขาก่อนอันดับแรก ไม่ได้มองแค่การป้องกันประเทศ เขาคิดว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจมีการพัฒนาเติบโตต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น จีนคิดว่าอยากจะไปลงทุนที่ประเทศซูดาน จะทำยังไงดี เขาก็ให้โอกาสคนซูดานมาประเทศจีน มาเล่าเรียนศึกษาเลย ปัจจุบันมีคนซูดานพูดภาษาจีนได้เยอะมาก แล้วคนจีนเองก็พูดภาษาอาหรับได้ด้วย แปลว่าทั้งสองประเทศเขาเอาการศึกษามาเชื่อมบริบทของความมั่นคง มีการแลกเปลี่ยนนักเรียน แลกเปลี่ยนภาษากัน หลังจากนั้นเขาก็มีการลงทุน รัฐบาลซูดานอนุญาตให้รัฐบาลจีนส่งบริษัทต่างๆ เข้าไป ถนนหนทางในซูดานที่เห็น จีนสร้างทั้งนั้นเลย

 

คุณคิดอย่างไร เวลาเห็นคนไทยวิจารณ์ผู้ลี้ภัย เช่นว่า “ประเทศก็ลำบากอยู่แล้ว ไอ้พวกนี้ยังมีลูกเยอะกันอีก”

การทำงานของพวกเราชัดเจนนะครับ คือเราเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าเขาจะเลือกมีลูกมากหรือมีลูกน้อย หรือบางคนไม่มีลูกเลย อันนั้นคือการตัดสินใจของพวกเขาเอง เราในฐานะเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน เราเคารพการตัดสินใจของแต่ละคนบนพื้นฐานของการพิจารณาตัวเขาเอง ตราบใดก็ตามถ้าเขาไม่ไปลิดรอนสิทธิของคนอื่น เราต้องเคารพเขา นี่คือสิ่งที่เราต้องเคารพในหลักการของการเป็นนักสิทธิมนุษยชน

การที่มีคนบอกว่าลี้ภัยเข้ามาแล้วยังผลิตลูกกันต่อไปไม่หยุด เราคงไม่สามารถไปชี้ให้คนที่มีความคิดต่างมามีความคิดอย่างเดียวกับเราได้ แต่เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

บางคนบอกว่าประเทศไทยดีที่สุดในโลก ไม่มีปัญหาอะไร ประชาชนสุขสบายดี ประเทศอื่นวุ่นวายก็ไม่เกี่ยวกับเรา ทัศนคติทำนองนี้น่ากังวลต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนไหม เพราะคุณค่าสิทธิมนุษยชนในโลกสมัยใหม่ไม่ได้ยึดถือว่าใครอยู่ประเทศอะไร

แน่นอนครับ ประเทศไทยนี่ยากนิดนึง เนื่องจากว่าจริงๆ เรากินอยู่สบาย มีทุกอย่างครบ ตื่นมาเรามีน้ำ มีไฟ บางคนมีแอร์ มีพัดลม เดินออกมาจากบ้านเรามีอาหารการกินเต็มที่ แต่ที่อยากให้คิดก็คือ วันใดวันนึงถ้าครอบครัวเรา พ่อแม่ พี่น้องเรา กลายเป็นผู้ลี้ภัย คุณจะทำอย่างไร คงไม่มีใครอยากจะเห็นพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานเราเป็นผู้ลี้ภัยแน่นอน แต่มันคือสิ่งที่เป็นจริงในโลกนี้ เราต้องตระหนักให้ดี เพราะตอนนี้เรามีคน 60 กว่าล้านคนที่เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ แล้วยังมีผู้พักพิงภายในประเทศอีกที่เขายังเผชิญสิ่งต่างๆ ซึ่งเขาไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนไทยทั่วๆ ไป

ลองมองในมุมมองที่เขาเผชิญตรงนั้น ลองมองในมุมมองที่พ่อแม่ตัวเองเอาก้อนหินไปปาต้นตาลเพื่อให้ลูกตาลหล่นลงมา แล้วเอาไปให้ลูกกิน ลองคิดดูว่าถ้าวันใดวันนึงเราไปอยู่ในรองเท้าของเขา เราจะทำยังไง

ลูกเราร้องอยู่เนี่ย เราไม่มีอาหารให้ลูกเรา ลูกเราโดนยุงกัดเป็นมาลาเรีย ลูกเราจะตายแล้ว เรายังบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เราสบายดี คงไม่ใช่ อยากให้ลองคิดว่าเรื่องนี้มันใกล้ตัวมาก การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเลย

ตอนนี้คุณเห็นอะไรในสังคมไทย ที่อาจทำให้คนจะเริ่มตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นบ้างไหม 

จากประสบการณ์ที่ไปซูดานมา ถ้าลองเอามาปรับกับไทย บริบทต่างกันมาก ประเทศเราข้ามผ่านตรงนั้นนานมากแล้ว เพราะตรงนั้นคือประเทศใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา มีหลายกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์เกิดขึ้น คนยังมองว่าชาติพันธุ์อื่นด้อยกว่าชาติพันธุ์ตนเอง มองตัวเองสูงกว่าคนอื่นจนถึงขั้นเอาชีวิตกัน ประเทศไทยเราผ่านจุดนั้นมานานแล้ว ตอนนี้เราจะเห็นว่ามีการพูดคุยเรื่องพหุวัฒนธรรมมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

คุณคิดอย่างไรกรณีคนไทยบางส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศหลังรัฐประหาร 2014 พอ UNHCR ให้การช่วยเหลือ ก็มีคนไทยอีกบางส่วนวิจารณ์ว่าคุณจะไปช่วยพวกนั้นทำไม

กรอบกฎหมายระหว่างประเทศมีอยู่ชัดเจน คือสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย ปี 1951 มีการเคารพหลักนี้กันทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว ถึงแม้ว่าประเทศไทยเราจะยังไม่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ แต่มันเป็นจารีตประเพณีปฏิบัติเหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องยอมรับ

และการให้สถานะผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้เข้าข้างใครข้างหนึ่ง เพราะเราพิจารณาตามหลักการ ในบริบทประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อม่วง เสื้อเขียว เราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ต้องไปให้ความช่วยเหลือทั้งหมด

ที่ซูดาน คนผิวดำก็ช่วย ที่บังคลาเทศ ผิวดำน้อยกว่าก็ช่วย ไม่เกี่ยงเฉดสี ?

ผิวเขียวยังช่วยเลย ทุกสีเราช่วยหมด ไม่มีการเอนเอียง

ประเด็นคืออย่าลืมว่าเราเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ผมอยากจะบอกว่าเราควรจะยกระดับของประเทศเราให้ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นกว่านี้

ตอนนี้เรามีความพยายามที่จะเข้าเป็นสมาชิกความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการแข่งกัน เกือบได้แต่ไม่ได้ เนื่องจากอะไร มันมีหลายๆ องค์ประกอบด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหลายๆ ข้อเราไม่ได้ให้ไว้ เพราะฉะนั้นเวลาเราไปพูดคุยในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยเรายังไปไม่ถึงระดับมาตรฐานสากล

แล้วจะทำยังไงให้ประเทศที่ยังไม่ถึงมาตรฐานระดับบสากลเข้าไปเป็นสมาชิก สามารถไปนั่งอยู่ตรงนั้นเป็น observer ในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ ตราบใดที่คุณไม่ยอมรับหลักสากล แล้วผมจะให้คุณเข้ามาได้ยังไง ฉะนั้นประเทศไทยเราจะต้องยกระดับให้ได้ ถ้าเรามีการยอมรับและเข้าใจในความโปร่งใสของเวทีระหว่างประเทศ ใช้จุดนั้นให้เป็นประโยชน์ในการยกระดับประเทศเรา ตอนนี้เราเลยช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศไปแล้ว แต่เราควรยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นกว่านี้

ไทยเรามีศักยภาพในการไปถึงระดับสากลได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ เรามีพื้นฐานที่ดี วัฒนธรรมก็ดี ถึงแม้เหตุบ้านการเมืองเราจะเป็นยังไงก็ตาม แต่เรามีรากฐานที่ดี เราจำเป็นจะต้องผลักดันโดยใช้เวทีระหว่างประเทศ ตอนนี้เรามีอาเซียน แต่ยังใช้อาเซียนอย่างไม่เต็มที่เลย

ลำพังการใช้แว่นตามองว่าความเป็นไทยดีที่สุดในโลก ช่วยยกระดับประเทศได้ไหม

ตราบใดก็ตามที่เราบอกว่าวิกฤตปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่ใช่วิกฤตหรือปัญหาของตัวเรา มันจะทำให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่ถ่องแท้ และทำให้การก้าวไปถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระหว่างหลายๆ ประเทศไม่เกิดขึ้น เวลาบอกว่าเราเป็น land of smile อันนี้ดี แต่ถ้ายิ้มโดยที่จะก้าวข้ามปัญหาเฉพาะหน้า มันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ซึ่งถึงเวลานั้นคงคิดแบบไทยๆ ไม่ได้แล้ว ?

เราต้องยอมรับว่าเราเป็นสมาชิก humanity การเป็นคนไทยอย่างเดียวเป็นได้ แต่เราต้องเป็นสมาชิกของโลกนี้ด้วย.

กัณวีร์ สืบแสง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save