fbpx

1 ปีหลังบอกลาวงการบันเทิง ของ ‘ลูกกอล์ฟ’ คณาธิป สุนทรรักษ์

ลูกกอล์ฟ คณาธิป“พี่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใครมานานมากแล้วนะ”

ก่อนเริ่มต้นสนทนา ‘ลูกกอล์ฟ’ ออกตัวกับเราด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ ถ้านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่ตกเป็นข่าวดังหลังประกาศลาออกจากวงการบันเทิง ท่ามกลางความร้อนระอุของกระแสการเมืองและการเรียกร้องให้คนดังพูดถึงประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ลูกกอล์ฟก็แทบไม่ได้ปรากฏตัวบนสำนักข่าวหรือสื่ออื่นใดมากว่าหนึ่งปี  

ไม่ใช่แค่เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถานะคนบันเทิง กลับมาเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ทุกวันนี้ลูกกอล์ฟยังใช้ชีวิตแบบ ‘ฝนแปดแดดสี่’ คือพำนักอยู่ในประเทศฝนพรำได้แทบทุกฤดูอย่างอังกฤษเป็นเวลา 8 เดือน และกลับมาประเทศไทยที่แดดร้อนเลื่องลืออีก 4 เดือนต่อปี ทำให้การพบปะพูดคุย หรือแม้กระทั่งทำงานที่เธอรักในฐานะเจ้าของและผู้สอนของสถาบัน ‘Angkriz’ รวมถึงพิธีกรในรายการ ‘ถกถาม’ เป็นไปได้อย่างจำกัดเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม ลูกกอล์ฟยังคงพูดคุยกับแฟนคลับ อัปเดตชีวิตผ่านโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวน้องใหม่ ‘ไทยเลิฟ’ ของตนเอง ไปจนถึงติดตามข่าวสารบ้านเมืองในไทยอยู่เป็นประจำ บางครั้งถึงขั้นออกมาแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น เราจึงเฝ้ารออย่างอดทนและใจจดใจจ่อทีเดียวกับการได้สนทนากับลูกกอล์ฟในครั้งนี้

เวลาราวสิบโมงเช้าในวันที่ลอนดอนอากาศดี เราคุยกันตั้งแต่ชีวิตส่วนตัวกับความเปลี่ยนแปลงหลังบอกลาวงการบันเทิงมากว่าหนึ่งปี ย้อนมองแวดวงศิลปินดารากับวัฒนธรรมการคอลเอาต์ (call-out) และความคิดเห็นต่อกระแสการเมืองไทย — ในบรรทัดนับจากนี้คือคำตอบของลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์


หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จัดทำจากการพูดคุยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทางลูกกอล์ฟไม่อนุญาตให้ตัดข้อความบางส่วนในบทสัมภาษณ์ไปใช้เป็นโควตหรือคำคมในสื่ออื่นๆ โดยขอความกรุณาแชร์ไปทั้งบทความ และหากไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด สามารถถกถามกับลูกกอล์ฟได้ตามสะดวกค่ะ

ภาพจาก Angkriz

เมื่อไม่นานมานี้ คุณเพิ่งประกาศถึงความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสถาบัน Angkriz ว่าอาจต้องลดคอร์สสอนสดลงเพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เราจะยังได้เห็นคุณในบทบาทของ ‘ผู้สอน’ อยู่ไหม

ตอนนี้เรามีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเกิดขึ้น คือการที่เราต้องแบ่งเวลาอยู่ในประเทศไทย 4 เดือน และอยู่ที่สหราชอาณาจักร 8 เดือน เรากำลังจะมาใช้ชีวิตที่นี่ในฐานะคนที่กำลังจะสมรสกับคุณพอล (Paul Burgess) ที่คบกันมา 13 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแค่ภาพในหัวว่ามันจะต้องเกิด พอเกิดขึ้นจริง ต้องบอกเลยว่ามันใหม่สำหรับเราเหมือนกัน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ก้าวต่อไปของชีวิต ฉะนั้นมันเลยส่งผลต่อหลายๆ อย่างในชีวิตเรา

มาดูกันทีละพาร์ต ตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์กับคนอื่นแทบจะตัดได้เลย เพราะถ้าคนต้องการเจอตัว เราอยู่ที่ลอนดอนก็ 8 เดือนต่อปีเข้าไปแล้ว สัมภาษณ์ออนไลน์เราก็ไม่ค่อยจะสะดวก การทำรายการต่างๆ ยิ่งกระทบมาก ต่อไปเราอาจจะปรับมาทำเป็นรูปแบบพอดคาสต์มากขึ้น รายการอย่าง ‘ถกถาม’ นี่ต่อให้เป็นรายการที่ดีแค่ไหนก็ทำได้แค่ปีละ 6 ตอน เพราะเราไม่มีเวลาจริงๆ ตอนเรากลับไทย 4 เดือนมันวุ่นมากๆ

พาร์ตใหญ่ของชีวิตคือตัวโรงเรียน เรายังคงสอนอยู่ ยังคงบริหารโรงเรียนอยู่ เพียงแต่พอเรามีเงื่อนไขนี้ โรงเรียนก็ต้องปรับตัวและไปต่อ สิ่งที่จะส่งผลคือถ้านักเรียนอยากเรียนสดกับพี่ที่เมืองไทย เราจะเปิดแค่สองรอบ ที่เหลือเป็นการสอนออนไลน์แบบไลฟ์ เจอกันใน zoom ใน webinar หรือคอร์สออนไลน์แบบอื่นๆ และเราต้องร่วมมือกับคนอื่นๆ ที่อยากเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ Angkriz มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าตัวเรามาอยู่อังกฤษแล้ว โรงเรียนเราจะสูญสลาย เรามีทีมงาน มีฐานนักเรียนที่อยากมาเรียน แค่ตัวเราในฐานะผู้สอนและไดเรกเตอร์ต้องทำงานแบบห่างไกลมากขึ้นเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่ติดตามคุณ น่าจะเห็นคุณเทียวไปเทียวมาระหว่างไทยและอังกฤษอยู่เรื่อยๆ แต่แผนการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้คิดไว้นานหรือยัง

จริงๆ ช่วงก่อนโควิด ก่อนตัดสินใจบอกลารายการต่างๆ ในวงการบันเทิง เราคุยกันกับแฟนมาตลอดว่าเดี๋ยวอายุ 40 ค่อยว่ากัน เหมือนเราก็เลื่อนแผนไปเรื่อย เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองยังมีแรงทำคอนเทนต์ที่จะช่วยเปลี่ยนอะไรบางอย่างในประเทศ

ถ้าคุณย้อนกลับไปในการเดินทางของเรา จะสังเกตได้ว่านอกจากเราจะทำโรงเรียน Angkriz เป็นงาน full-time เวลาเราทำรายการอะไรบางอย่าง จะมีธงในใจ เหมือนสนองความต้องการของตัวเองในฐานะเด็กนิเทศจุฬาฯ ว่าเรียนมาแล้วอยากปล่อยของบางอย่าง อยากทิ้ง legacy ทิ้งตำนานแบบที่ใช้คำว่า ‘ถ้ากูไม่ทำแล้วใครจะทำ’ ดังนั้นทุกรายการจะมีแก่นที่เรายึดว่าต้องมีประโยชน์ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในบางมิติ จะเล็กน้อยหรืออะไรก็ตาม ตั้งแต่เราทำ ‘Loukgolf’s English Room’ 4 ซีซั่น หลายร้อยตอน เราคิดว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงในการฝึกภาษาอังกฤษ ปรับมายด์เซ็ตคนไทยจำนวนมากมายได้แน่นอน ‘พุธทอล์ก พุธโทร’ ที่เราทำมา 6 ปีกว่า นั่นก็สร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่การรับฟัง การแก้ปัญหา

ต่อมามีรายการที่ทำกับ Netflix (Loukgolf’s Netflix English Room) ก็เป็นรายการสอนภาษาอังกฤษอีก จนมาถึง ‘ถกถาม’ รายการนี้เราว่าเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จมากในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแขกรับเชิญและสำหรับคนดู และเป็นรายการที่น่าสนใจ สำหรับเรา ประเด็นที่คุยใน ‘ถกถาม’ 10 กว่าตอน อย่าง sex workers ความกตัญญู เราจะเป็นเพื่อนกับคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองได้ไหม cancel culture หลายประเด็นที่แตะบอกได้เลยว่าต่อให้คุยกันในบริบทบ้าน ในครัวเรือนของคุณยังตีกันได้เลย แต่เราทำให้เห็นว่าพอสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย มันไปได้ถึงขนาดนี้ ถ้าย้อนกลับไปตอนเป็นเด็ก สามารถพูดได้เลยนะว่าเราไม่เคยเห็นรายการแบบนี้มาก่อน เราคิดว่า ‘ถกถาม’ สร้างมาตรฐานบางอย่างใหม่ ขนาดมีคอมเมนต์มากมายไม่ได้เห็นด้วยกับเรา แต่เขาก็เข้ามาคุย ส่วนตัวเรามีความเชื่ออย่างหนึ่งนะ ว่าถ้าเราส่งอะไรไปยังไง สังคมจะส่งแบบนั้นกลับมา สมมติเราทำรายการด้วยเอเนอจี้ ‘อีคว๊ายยย!’ สังคมก็มีสิทธิ์ ‘อีคว๊ายยย!’ ใส่เรา ดังนั้นถ้า ‘ถกถาม’ ส่งพลังไปอย่างที่เห็น แล้วคนดูส่งกลับมาว่า ‘อีคว๊ายยย!’ ก็แสดงว่าคุณคงไม่ได้เข้าใจตัวรายการ

ทั้งหมดทั้งมวลที่เราทำอยู่ใต้ธงที่เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในหลายๆ มิติของประเทศ ด้วยความที่ภาระหน้าที่การงานมันเยอะเหลือเกิน เลยกลับมาที่คำถามว่าเราได้คุยกับแฟน แล้วก็ขอเลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอายุถึง 40 แต่สุดท้ายมันเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณตัดสินใจเปลี่ยนแผนการของชีวิต

หนึ่งคือโควิดมา ทำให้เห็นว่าชีวิตกูสั้นมาก ไม่ได้ละ สองคือจุดที่เราตัดสินใจออกจากวงการบันเทิง ซึ่งเป็นการตัดสินใจบอกสถานะเก่า ในฐานะดีเจ พิธีกร ก่อนหน้านั้นมีงานอีกเยอะมาก วางแผนจะขึ้นรายการใหม่ ‘Loukgolf’s English Room’ ก็จะกลับมา ‘พุธทอล์กพุธโทร’ ก็ยังไปได้สวยงาม เราบอกฝั่งพุธทอล์กฯ ไว้แล้วว่าจะอยู่อีกสามปี เขาก็ยังไม่อยากให้ออก แต่สุดท้ายก็เกิดเรื่องราวขึ้นก่อน เรื่องราวที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันสั้น และการอยู่ในวงการมีกรอบบางอย่างที่อธิบายได้สั้นๆ คือ ทำให้เราไม่สามารถแสดงความเห็นหรือเป็นตัวเองได้มากขนาดนี้ ทุกๆ การเคลื่อนไหวและการแสดงความเห็นของเราไปยึดโยงกับอำนาจบางอย่าง จะมีเรื่องแบบที่ผู้ใหญ่เตือน บอกว่าเบาๆ หน่อยนะ ระวังหน่อย ผู้ใหญ่เป็นห่วงตลอดเวลา เราก็ โอ๊ย! อะไรนักหนา! (หัวเราะ)

พูดได้ไหมว่ากฎการห้ามแสดงความเห็นในวงการบันเทิงทำให้คุณรู้สึกขัดใจเป็นการส่วนตัว

มาก มาก! (ย้ำคำ) เราเป็นมนุษย์ แน่นอนล่ะว่าเราผิดพลาดได้ แต่ตอนนี้เราก็โตพอแล้วที่จะมีความเห็นของตัวเอง แล้วเราโชคดี มีพรีวิลเลจ ได้ไปศึกษาต่างประเทศ เรียนเยอรมันหนึ่งปี เรียนปริญญาโทที่อังกฤษ แล้วก็มีแฟนชาวอังกฤษที่พูดเยอะ พูดทุกเรื่อง พูดอย่างตรงไปตรงมาในหลายมิติมาก คุณเข้าใจไหมว่าพอเราได้รับอิสรภาพเหล่านั้นไปแล้ว มองกลับมาเราก็รู้สึก โอ๊ยยย! (เบ้หน้า)

คุณอาจจะบอกว่าทุกที่มีกฎของมัน เราเข้าใจทั้งหมด เข้าใจทุกบริบท เพราะเราเป็นเด็กไทย เราโตมาที่ทุ่งลุง  หาดใหญ่ เราจะไม่เข้าใจความเป็นไทยได้ยังไง แต่ความเป็นไทยบางอย่างมันไม่เป็นสากล (global) คุณอาจจะเลือกสงวนมันไว้ก็ได้ แต่ต้องยอมรับก่อนว่าเรามีหมุดหมายของประเทศ ผู้นำของเราเคยบอกเองว่าเราต้องเตรียมเด็กให้เป็นพลเมืองโลกใช่ไหมคะ พลเมืองโลกของไทยคืออะไร เราต้องนิยามคำว่าพลเมืองโลกใหม่แล้ว เพราะลองนึกภาพคนอย่างน้องเกรตา (Greta Thunberg) หรือนักกิจกรรมเยาวชนอื่นๆ ในระดับสากลมาอยู่ในบริบทไทย เด็กเหล่านี้อาจจะกลายเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในสังคมไทยรับไม่ได้หรือเปล่า

สำหรับเรา มีวลีหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือ ‘The elephant in the room’ ช้างอยู่ในห้อง ช้างคือสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วมันชัดมากเพราะช้างมันตัวใหญ่ แต่เรากลับไม่พูดถึง ประเทศเรามีช้างหลายตัวมาก แต่เราพูดไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงบริบทใหญ่ เอาแค่ในครอบครัวก็ได้ เราแตะพ่อแม่ไม่ได้ ที่โรงเรียนเราแตะ ผอ. ไม่ได้ ทั้งที่บางครั้งเรารู้ว่าพวกเขานั่นแหละเป็นช้าง ปัญหาทุกอย่างเริ่มจากอะไรเล็กๆ อย่างการที่เราพูดถึงช้างในห้องไม่ได้ มันจึงเริ่มแก้อะไรหลายอย่างไม่ได้

ในหลายๆ ประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เรามีอิสรภาพในการพูดถึงอะไรหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการแสดงความเห็นจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่มันมอบอำนาจให้แก่คนตัวเล็ก กล้าจะไป call-out คนตัวใหญ่กว่า แล้วพร้อมมีพลังมวลชนคอยสนับสนุน อย่างเราเป็นคนตัวเล็กคนหนึ่งในอังกฤษ ถ้าอยาก call-out บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งก็ทำได้ แต่ในบริบทบ้านเรา บางบริษัทก็ยึดโยงกับอำนาจอื่นๆ เต็มไปหมดจนมันทำไม่ได้

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์คนจำนวนมากอยากย้ายประเทศ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ส่วนตัวคุณเคยรู้สึกอยากหลีกหนีข้อจำกัดในประเทศ และคิดว่าอยู่นอกประเทศน่าจะทำอะไรได้สะดวกกว่าบ้างไหม

สังเกตว่าคนที่อยู่ในกลุ่มย้ายประเทศส่วนใหญ่น่าจะเป็นเจน Z ซึ่งเขาอาจจะนิยามตัวเองเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ไปแล้ว เราเข้าใจถึงความอัดอั้น เพราะในประเทศเราคงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกเหนื่อย ไม่ไหวแล้วจริงๆ เราเคยคุยกับนักเรียน มีบางคนบอกว่ายอมเป็นพลเมืองชั้นสองที่อังกฤษก็ยังดี ซึ่งเราคิดว่าการย้ายประเทศมีความท้าทายของมันเอง ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ง่าย ฉะนั้นเราเลยมอง กระแสการย้ายประเทศเป็นเสียงเรียกร้องของคนที่รู้สึกว่าอยากให้ที่ไทยดีขึ้น คุณคะ ถ้าบ้านมันดีใครจะอยากออกคะ ใช่ไหม เราจะไปทำไมคะ

สมมติว่าประเทศไทยเป็นบ้าน แน่นอนว่ามีคนที่อยู่ในบ้านแล้วมีความสุขเพราะเขาอยู่ในโซนที่ดี เป็นโซนหรูหราของบ้าน โซน 10% ของบ้าน เป็นแก๊งเพนท์เฮาส์ มันจะไม่ดีได้ยังไง ถ้าประเทศเรามีช่องว่างระหว่างความรวยจนตั้งเยอะ พอช่องว่างเยอะ แล้วคุณอยู่ในแก๊ง 10% ยังไงก็เป็นสวรรค์ เราเองก็อยู่ในนั้นนะ พูดได้เลยว่ามีพรีวิลเลจ เราคงไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดเป็น 1% ของประเทศไทย แต่เรารู้ตัวว่าเผลอๆ ตัวเองกลายเป็น 10% นั่นแล้วค่ะ เราไม่มีความลำบากในประเทศไทยเลย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวสุดๆ น้ำของเราไม่มีวันเหือดแห้ง ไม่มีมิติไหนในชีวิตเป็นปัญหาเลย

แต่วันนี้เราพูดแทนคนอื่น เสียงเรามันดังกว่าคนอื่นอีก 80% ที่เขาอยู่บ้านหลังเดียวกับเรา แต่โซนของเขาท่อมันรั่ว มีคนโกงมิเตอร์เขา มีใครไม่รู้เอาเงินที่เขาขอให้ซ่อมหลังคาไปซื้อเสาไฟกินรีมาปักแทน ไปโกงอะไรต่างๆ เขาก็ต้องออกมาเรียกร้อง แต่ดันไม่มีใครฟัง แล้วแก๊งเพนท์เฮาส์ก็ดันไปบอกว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เราจะเดือดร้อนอะไร

ถ้าแก๊งผู้มีอำนาจ แก๊ง 10% ไม่ฟังกูเลย ไม่มีอนาคต มันก็ไปดีกว่าไหม แต่ถ้าถามใจจริงๆ คนมันอยากไปหรือเปล่า เราว่าถ้าคนไม่รู้สึกว่าเหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ใครมันจะอยากทิ้ง support system ที่นี่ล่ะ

ทุกวันนี้ยอมรับว่าเราเหนื่อยหน่ายกับการคุยกับคนที่เป็น 10% นะ คนที่เราพยายามบอกว่า เฮ้ย คนไทยมากมายประสบปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีอันจะกิน แล้วเขาก็สวนว่าไหนคนไทยลำบาก ยังมีคนต่อคิวซื้อไอโฟนอยู่เลย หลุยส์วิตตองคอลเลกชันใหม่ คนยังไปเข้าคิวอยู่เลย … (สูดหายใจลึก) ฉัน ไม่ คุย กับ เธอ แล้ว! เหมือนเธอไปกรุงเทพฯ แล้วเธอไปถ่ายรูปตึกมหานคร แต่เธอไม่มองชุมชนคลองเตยแล้วบอกว่าไหนว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่เห็นจะมี ฉันไม่อยากคุยแล้ว!

ดังนั้น วันนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็น่าสนใจว่ามันเป็นเสียงเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่รัฐบาล มันอาจหมายถึงสื่อมวลชนต่างๆ คนมีชื่อเสียง หรือคนที่มีอำนาจในมือที่จะช่วย call-out ได้ ให้มาช่วยกันทำให้บ้านดีขึ้นในหลายมิติเพื่อคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญปรากฏการณ์ call-out ของคนมีอำนาจ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วไง ยุคหนึ่งที่มีคนออกมาแทบจะทุกที่เลย ทั้งนักปราชญ์ อาจารย์ ศิลปิน ดารา คุณจำได้ไหมคะ

สิ่งเหล่านั้นวันนี้อาจจะหายไป แต่เราก็สามารถกลับมาพูดได้ถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราสังเกตมันก็กำลังกลับมานะ ขนาดป๋าเทพ (เทพ โพธิ์งาม) ยังมีจุดวกกลับมาวิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเลย เราควรทำให้อะไรแบบนี้เป็นที่ทำได้ปกติ วันนี้เราอาจจะชอบพรรคหนึ่ง เป็นแฟนตัวยงพรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดบางอย่าง เราก็ควรจะหันกลับมาฟาดพรรคที่เราสนับสนุนได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเมื่อก่อนเราชอบพรรคประชาธิปัตย์มาก แต่ถ้าตอนนี้พรรคเขาบ้ง เราก็ต้องด่าค่า! (เสียงสูง) ฉันนี่แหละคือคนที่เคยโหวต และวันนี้ฉันก็ไม่ไหวแล้วกับคติพจน์ของเธอ! ฉันเคยแท็กเขาไปด้วยค่ะ เขาก็ต้องออกมาแถลงการณ์ เก็ตป่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ healthy นะในแง่การเป็นพลเมืองประเทศ

ภาพจาก Angkriz

มองย้อนกลับไป เพิ่งผ่านไปเพียงปีเดียวเองหลังจากคุณประกาศออกจากวงการบันเทิง จากมุมมองของคนนอกแลดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนยังติดตามและให้กำลังใจคุณอย่างต่อเนื่อง แต่เบื้องหลังจริงๆ ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรไหม

เปลี่ยนสิ เปลี่ยนเยอะเลย รายการต่างๆ โปรเจกต์ต่างๆ ที่คุยไว้ก็พับหมดเลย สถานะทางสังคมก็เปลี่ยนมาเป็นแค่ผู้สอนคนหนึ่ง คนหายไปจากชีวิตก็เยอะ คนที่เราเคยคิดว่าสนิทกัน เป็นเพื่อนในวงการบันเทิง ได้เจอกันตามงานต่างๆ เคยเม้ามอยกัน ส่งความห่วงใยมา พอเราไม่ได้มีผลประโยชน์ยึดโยงกันก็หายไป เป็นเรื่องปกติ

ถ้าถามว่าชีวิตหลังบ้านเปลี่ยนไปมากไหม เปลี่ยนมาก (ย้ำคำ) มันอาจดูเหมือนเราไม่ได้หายไป เพราะเราก็อยู่ใน TikTok อยู่ในทวิตเตอร์ อยู่ในเฟซบุ๊ก ทำรายการ ‘ถกถาม’ คืออยู่ในพื้นที่ของเราไง แต่ไหนล่ะรายการบันเทิง? ไหนบทบาทพิธีกร? ‘ถกถาม’ นี่แทบไม่นับ เพราะคงไม่ถือว่าเป็นรายการบันเทิง เรามีเส้นชัดเจนเลยว่างานไหนที่เราจะปฏิเสธทันที ในแง่คอนเทนต์ก็เปลี่ยนมาก รู้สึกว่ามีอิสรภาพในการทำคอนเทนต์มากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าถ้าทำคอนเทนต์นี้แล้วจะไปโดนพาดพิงรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำแล้วผู้ใหญ่จะยกหูหาว่าเบาๆ หน่อย

สิ่งที่เปลี่ยนที่สุดคือรู้สึกว่าได้ความเป็นตัวเองกลับมา รู้สึกมีความสุข

มองในภาพรวม ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องไหม

ที่สุด! ไม่ลังเลเลยที่จะบอกว่าที่สุด ถามว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองไหมก็ประมาณหนึ่ง เพราะสูญเสียไปเยอะกับโปรเจกต์ต่างๆ ที่ทำเงิน (หัวเราะ) แต่ว่าไม่เป็นไร มีคนที่สูญเสียมากกว่านี้ตั้งเยอะ

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่คุณจะออกจากวงการบันเทิง จนถึงช่วงที่มีประกาศออกมา มีหลายคนกล่าวว่าคุณได้สร้างบาร์ที่สูงมากในวงการเรื่องการแสดงความเห็น ประเด็นนี้คุณคิดเห็นอย่างไร

ไอ้บาร์นี่ก็เป็นปัญหา หนึ่งในเหตุผลที่เราตัดสินใจเอาตัวเองออกมาก็คือคำเหล่านี้ มันสร้างความอึดอัด ในทวิตเตอร์ช่วงหนึ่งมีคำนี้เยอะ นักเรียนก็ส่งมาให้ตลอด บอกว่าภูมิใจในตัวเรา ขอบคุณเรา บอกว่าเราคือ ‘บาร์สูงสุด’ ของวงการบันเทิง พอเริ่มมีกระแส มีคนบันเทิงเริ่มออกมาวิจารณ์รัฐบาลหรือออกมาพูดในแบบของเขา เขามักถูกเอามาเปรียบเทียบกับเรา บางครั้งเขาโดนโจมตีว่าถ้าทำไม่ได้เท่าเราก็ไม่ต้องทำ หรือบางทีใช้คำที่แรงกว่านั้น หลายๆ ครั้ง เราก็เจ็บปวดนะ เพราะบางคนที่โดนโจมตี เราก็รู้จักเขาด้วย

เราใช้คำว่าค่อนข้าง messy ได้เลยกับการที่ชื่อของเราถูกเอาไปทิ่มแทงคนเหล่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงเขามีสิทธิ์ จะพูดแค่ไหนเป็นเรื่องของเขา โอเค  คุณมีสิทธิ์ที่ไม่พอใจเช่นเดียวกัน ถ้าเขาเลือกจะเงียบ ไม่สนใจ คุณก็มีสิทธิ์โกรธและผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ แต่การที่คนคนหนึ่งออกมาพูดแล้วคุณต้องดึงเราไปเทียบ เราไม่ได้รู้สึกดี จำได้เลยว่าช่วงที่เละเทะที่สุดคือตอนที่เราพูดเรื่องการเมืองเยอะๆ ในโซเชียลมีเดีย มีคนในวงการบันเทิงมากดหัวใจ มาสนับสนุน ดันมีคนเข้ามาด่าเขา บอกว่ามาเกาะ มาขอส่วนบุญ ซึ่งเราแบบ โอย (กุมหัว) มัน awkward น่ะ การพูดของเราไม่ได้เกิดจากการที่เราต้องการตั้งสถานะว่าตัวเองเป็นบาร์สูงสุดของวงการบันเทิง ดูฉันนี่ ไม่ใช่เลย เราแค่ต้องการทำให้คนเห็นว่ามันมีวิธีพูด แล้วอยากพูดเท่าไหร่ก็พูดไป

เราไม่ได้ภูมิใจกับคำนี้ ตอนนี้ก็รู้สึกดีใจที่คนไม่ได้ยุ่งกับเรา เอาเรามาเป็น ‘บาร์สูงสุด’ ของวงการบันเทิงแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกดีใจคือการที่สื่อบันเทิงสำนักข่าวต่างๆ ฟังคำขอของเรา ถ้าคุณย้อนกลับไปตอนที่เราออกจากวงการบันเทิงแล้วมีดราม่า เราเขียนจดหมายเลยว่าถ้ามีเรื่องอะไร ขอให้สื่อบันเทิงไม่ต้องเขียนข่าวถึงเรา ปล่อยเราไป ส่วนใหญ่ฟังคำขอกัน แต่ก็มีบางสื่อที่เล่นอยู่ เอาไปพาดหัวตลกๆ นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราเปิด ‘สำนักข่าวไทยเลิฟ’ ตอนนี้เราก็มีสื่อในมือนะ มีทีมงาน มีเว็บไซต์ ทีมทนายเรียบร้อย ถ้าสื่อบางสื่อยังไม่ปล่อยเรา เล่นข่าวเรา เราก็มีพื้นที่สื่อของตัวเอง เขียนข่าวฉันให้มันจบตรงนี้เลย ถ้าโดนเอาไปพาดหัวบนสื่ออื่นก็ไม่กลัว เราจะพาดหัวสู้บนไทยเลิฟ สื่อชนสื่อ เอาซี่!

ในฐานะอดีตคนบันเทิง มองว่าสิ่งที่ทำให้เกิด ‘บาร์’ ห้ามแสดงความเห็นในวงการบันเทิงคืออะไร

(นิ่งคิด) ตอบแบบง่ายๆ คงเป็นลูกค้า กลุ่มทุน ซึ่งกลุ่มทุนประเทศเราสนับสนุนใครล่ะ ขอใช้คำนี้ก็แล้วกันว่ากลุ่มทุนส่วนใหญ่สนับสนุนทุกรัฐบาล จากประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือพอกลุ่มทุนต้องการขายทุกคน ต้องการขายคนทั้งหมด ก็ไม่อยากยุ่งกับศิลปินดาราหรือคน endorse สินค้าที่มีตำหนิ ในแง่ที่ว่าคนคนนี้เป็นตัวแทนคนบางกลุ่ม มีภาพลักษณ์สร้างความแตกแยก ต้องการได้คนดังที่ไม่ controversial ไม่ใช่คนที่ก่อให้เกิดกรณีพิพาทในสังคมหรือถกเถียง ตอนนั้นที่เราเองออกมาพูด ก็สินค้า 2-3 เจ้าที่ไม่รู้ว่าลูกค้าหรือเอเจนซีติดต่อมาว่างานจะ on air แล้ว รบกวนไม่พูดอะไรเลยได้ไหมเป็นเวลาหกเดือน เราก็เลือกที่จะปฏิเสธ บอกไม่ได้ค่ะ เขาไม่เอาเราไปเองเพราะรู้สึกว่าควบคุมเราไม่ได้

ทางออกคือศิลปินดาราทั้งหมด ไม่ว่าเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่ควรจะฝึกพูดแสดงความเห็นให้เป็นเรื่องปกติ แล้ว ณ วันนั้น ยังไงลูกค้าก็ต้องเลือกทุกคน

ถ้าคุณไปดูดาราที่เมืองนอก เบอร์ใหญ่ๆ เขาก็ออกมาพูดกันนะ กัปตันอเมริกา (Chris Evans) ก็ออกมาด่าประธานาธิบดี (Donald Trump) ไม่หยุด มันมีผลกระทบแน่ แต่เขาก็แสดงความเห็นกันเป็นเรื่องปกติ ในเมืองไทย ศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ยังอยู่ในลูปของการพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับทุกคน ช่วงหลังๆ อาจมีดาราบางคนออกมาพูดเรื่องการเมืองเยอะขึ้น แต่มักเป็นเบอร์รองๆ หรือดาราเจน Z ออกมาพูด แต่เบอร์ที่ใหญ่จริงๆ อาจจะยังไม่พูด ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เขาอาจจะให้กลุ่มทุนแฮปปี้ ให้ผู้จัดแฮปปี้ก็ได้

ถือว่าเป็นคำขอของคนนอกวงการก็แล้วกันว่าอยากให้ทุกคนฝึกพูดให้ชิน ทั้งหมดทั้งมวลมันคือการแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย แน่นอนว่าแรงปะทะมีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะแตะประเด็นไหนก็ตาม เพราะบ้านเมืองมันแบ่งฝักฝ่ายไปหมดแล้ว แต่ถ้าคุณไม่อยากแสดงความเห็นก็เป็นสิทธิ์ของคุณเช่นกัน

ส่วนตัวคุณมองว่าการเป็นบุคคลสาธารณะควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน หรือมองว่าการเลือกพูด-ไม่พูดก็เป็นสิทธิ์ของบุคคลอย่างหนึ่ง

เราคิดว่ามันตอบได้หลายมิติ เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองผ่านเลนส์อะไร ถ้าเป็นฝั่งเอเชียหรือบ้านเรา ก็แน่นอน ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบบางอย่าง แต่ถ้าเป็นฝั่งยุโรป เขาก็อาจจะฮัลโหล แล้วไงคะ ฉันไม่ได้มีหน้าที่สอนลูกเธอหรือเปล่า

สำหรับเรา เรามองผ่านเลนส์ผู้สอนว่าเราต้องมีความรับผิดชอบบางอย่าง เพราะมีทั้งเด็ก ผู้ปกครองติดตามเรา สิ่งที่เราทำส่งผลต่อสังคม และเราก็รู้ตัว เลยต้องรับผิดชอบ ถามว่าเป็นความกดดันไหม ก็ประมาณนึง บางครั้งอาจทำให้เรารู้สึกเอ๊ะ ต้องเซนเซอร์ความเป็นมนุษย์ของเราที่อยากแสดงเกินไปหรือเปล่า อย่างเช่นวันนี้เราอยากจะขึ้นไปเต้นบนโต๊ะ อยากกรี๊ดๆๆ ก็คงไม่ได้แล้ว ไม่เหมาะสม วันรุ่งขึ้นอาจต้องไปออกโหนกระแส อธิบายสังคม นึกออกไหม

ที่น่าสนใจคือเราว่ามันเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความดังของคนฝั่งเอเชีย ไม่ใช่แค่ประเทศเรานะ ไอดอลเกาหลีใต้ จีน เขาก็ต้องมีกรอบว่าต้องทำตัวแบบไหน ส่วนตัวเราดีใจที่หลุดออกมาได้ รู้สึกได้เลยว่าตอนนี้ฉันเป็นมนุษย์! (หัวเราะ)

เห็นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมในวงการบันเทิงเอเชียกับตะวันตกอย่างไรบ้าง

เราเห็นอิสรภาพในการแสดงความเห็นของเขา เห็นอิสรภาพในการใช้ชีวิตของเขา เอาง่ายๆ ดารา ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นตั้งโต๊ะแถลงกับสื่อมวลชนน้อย ในเมืองไทยนี่เลิกกับแฟนต้องมาขอโทษสังคม การขอโทษสังคมเนี่ยก็เป็นมิติที่น่าสนใจ

แต่คนดังในต่างประเทศ ถ้าโดน cancel culture ก็อาจจะต้องออกมาขอโทษเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่แคร์อะไรเลย เราเข้าใจว่าถ้าสมมติเป็นเรา มีฐานแฟนคลับต้องรักษา ถ้าไปทำเรื่องอะไรมาจนแฟนคลับรู้สึกผิดหวัง กลับมาทำร้าย โจมตีเรา ต่อให้เรามองโลกผ่านเลนส์อะไรก็ตาม ก็ต้องหยุดคิดนิดนึงเหมือนกันว่าจะทำยังไงต่อ

โดยรวมๆ ความดังเป็นสปอตไลต์ที่เหนื่อย ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เข้าใจได้ว่าทำไมหลายคนสุขภาพจิตเสีย นอกจากจะเหนื่อยกับสายตาที่จับจ้องมา สมัยนี้ยังเหนื่อยกับการทำคอนเทนต์ ประเมินคอนเทนต์ตัวเอง  เหนื่อยกับการต้องทำให้คอนเทนต์มียอดวิว ต้องเป็นกระแส มีคนดู ต้องศึกษา AI พัฒนาไปตามอัลกอริทึมว่าต้องการอะไร เหนื่อยกับการชาเลนจ์ตัวเอง TikTok ก็มีตีมทุกสัปดาห์ เหนื่อยมาก เหนื่อยกับการต้องมาฟังคอมเมนต์คนบอกว่าทำแบบนี้สิคะๆ เหนื่อยมากกก อยากบอกมากว่าแล้วแต่เลยค่า

ภาพจาก Angkriz

หนึ่งในรายการที่คุณตั้งใจทำมากๆ คือรายการ ‘ถกถาม’ โดยมีคอนเซปต์ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียง ซึ่งช่วงหลังมานี้ เราได้ยินทำนองว่าควรสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในสังคมมากขึ้น สำหรับคุณ พื้นที่ปลอดภัยมีลักษณะแบบไหน

ควรจะมีลักษณะแบบในรายการ มันคือพื้นที่ที่ให้คนที่จะมาคุยกันต้องฟังแบบรับฟัง สังเกตไหมว่าในรายการ ทุกคนพูดจบ แล้วค่อยให้คนอื่นพูดเสริม จะมีจังหวะขัดกันน้อย เพราะก่อนเริ่มถ่ายรายการเราจะบอกก่อนเลยว่ารูปแบบจะเป็นแบบนี้นะ เราจะฟังกันจริงๆ มีคำถามอะไรให้ยกมือถามได้ ไม่เห็นด้วยกับใครก็สามารถเสริมได้ ซึ่งในบริบทแบบนี้แม้แต่ในครอบครัวยังยากเลย แต่ถ้าขนาดคนแปลกหน้า 5-6 คน มาเจอกันครั้งแรกในรายการสามารถคุยเรื่องแบบนี้ได้อย่างปลอดภัย ทำไมคุณจะสร้างพื้นที่แบบนี้ร่วมกับคนใกล้ตัวไม่ได้

อะไรคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงกันอย่างมีคุณภาพ

ในความเป็นจริงมันทำยากนะ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นรายการ และคนที่มาส่วนใหญ่เกรงใจเรา เราคุมอยู่เลยคุยกันได้อย่างที่เห็น แต่เบื้องหลังการถกถามอันที่จริงก็มีการปะทะบางอย่าง บางเทปต้องหยุดถ่ายกลางคัน แค่คุณไม่ได้เห็น เพราะเราคุยกับแขกที่มาทุกคนว่าเขาต้องรู้สึกปลอดภัย ถ้าเขาไม่รู้สึกปลอดภัย เราก็ต้องหยุดคุย แล้วผ่านไปเรื่องอื่น

พอมาเป็นบริบทของคนจริงๆ อาจจะทำยากกว่าในรายการ เพราะมันมีเรื่องอำนาจของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เช่น ในครอบครัวจะคุยกัน พ่อแม่อาจจะรู้ว่าตัวเองผิด แต่พ่อแม่อาจจะใช้อำนาจทำให้ถูก มันจึงอาจไม่เกิดการรับฟังกันจริงๆ เราจึงได้แต่บอกว่าให้ลองทำดู แบบในรายการ ‘ถกถาม’ จะได้รู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยมันจำเป็นแค่ไหน จะได้รู้ว่าทำไมการเปลี่ยนใจคนมันยากจังเลย ขนาดคนที่รู้จักกันดี การคุยกันยังไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในบางประเด็น

ขอชวนคุยเรื่องการเมืองบ้าง ภายในปีหน้ามีกำหนดการเลือกตั้งระดับชาติ มีแผนจะกลับมาไทยเพื่อเลือกตั้งบ้างไหม  

เลือกสิ! (ยิ้ม) ยังไงก็ต้องกลับมาเลือกกันนะ ฮัลโหล!

งั้นพรรคการเมืองที่คุณจะเชียร์เป็นแบบไหน นโยบายแบบใดที่คุณอยากจะเห็น

ไม่บอกละกันว่าพรรคอะไร เดี๋ยวจะเป็นการโน้มน้าวว่าเราชื่นชอบพรรคไหน แต่สำหรับเรื่องนโยบาย อยากเห็นพรรคการเมืองที่พูดแทนเราในเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วกล้าที่จะชนกับกลุ่มทุนใหญ่ เพราะมันยึดโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และอยากเห็นพรรคการเมืองที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในหลายๆ มิติของสังคมมากขึ้น

ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่ในช้อยส์ของคุณไหม คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

เราคิดว่าเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องพูด คำถามคือจะพูดในรูปแบบไหน ตอนนี้เราอยู่ที่อังกฤษ สิ่งที่เราอยากให้เกิดคืออยากเห็นภาพแบบเดียวกับอังกฤษ คือการที่เราสามารถนั่งร่วมโต๊ะกับรอยัลลิสต์ อัลตรา-รอยัลลิสต์ แล้วก็คนที่สนับสนุนแนวคิด republic ได้ ใครที่มาอังกฤษจะรู้ว่ามีคนมองสถาบันกษัตริย์ด้วยสเปกตรัมที่หลากหลาย และไม่ได้มีทัศนคติว่าต้องส่งใครไปเข้าคุก เรามีซีรีส์แบบ The Crown ที่สามารถออกฉายได้ทั้งที่ยังมีราชวงศ์อังกฤษอยู่ แล้วในนั้นมีการวิพากษ์เต็มไปหมด ย้อนกลับมามองไทย วันนี้ขนาดเราพูดถึงแค่ตัวกฎหมายที่ปกป้องสถาบันฯ ความ uncomfortable ยังแผ่ซ่าน เกิดขึ้นกับแทบทุกครัวเรือนเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่น แค่กฎหมาย คนยังพูดแทบไม่ได้เลย

ประเทศไทยไม่ใช่ planet เราเป็นแค่หนึ่งประเทศในโลกใบนี้ ถ้ามีบางอย่างที่ไม่ไปกับบริบทของโลก ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่สบายใจและอยากพูด ซึ่งเราคิดว่าตอนนี้มีเกินล้านคน ที่พูดไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพนะ พูดเพราะรู้สึกว่าอยากเห็นอะไรบางอย่างดีขึ้น อยากเห็นคนใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ หายไป เพราะในเมืองไทย เราต้องยอมรับว่าอะไรก็ตามที่มาพร้อมกับความเป็นสถาบันฯ เราก็ไม่กล้าที่จะไปยุ่ง

ถ้าคนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มคนที่อยากพูดเป็นคนส่วนน้อย เลยไม่สนใจ ไม่ฟัง สำหรับเรา เรารู้สึกว่าต่อให้จำนวนจะมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเขาคิดไม่เหมือนเรา เราจะมีวิธีทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ไหม หรือจะเอาเขาออกไปจากประเทศให้หมดล่ะ ถ้าเราเลือกได้ เราคงไม่อยากใช้วิธีนั้นกัน เพราะวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าสถาบันฯ ยังอยู่ได้สหราชอาณาจักร คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสถาบันฯ ก็อยู่ร่วมกันได้ สิทธิ์ในการแสดงความเห็นเท่ากัน นี่เป็นสิ่งที่ถ้าเกิดได้ เราคงไม่ต้องมานั่งกังวลกันว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมหรืออะไรร้ายๆ

ถ้าถามว่าจะเกิดได้จริงไหม เมื่อไหร่ (คิด) ก็คงอีกสักพักหนึ่งล่ะเนอะ หลายๆ เรื่องถ้าได้เป็น agenda ของพรรคการเมืองก็ยิ่งส่งผลดี แต่เท่าที่เห็นอาจจะมีพรรคเดียวด้วยซ้ำที่อยากดันเรื่องนี้ ปกติพรรคการเมือง นักการเมืองคือตัวแทนประชาชน ถ้าพรรคอื่นๆ เห็นว่าตัวเองเป็นตัวแทนเหมือนกัน แต่ไม่เล่น agenda นี้ ก็คงเป็นภาพสะท้อนได้ดีว่าเราต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน

สุดท้าย มีเรื่องที่คุณอยากทำ แต่ยังไม่มีโอกาสไหม

อยากทำ ‘ถกถาม’ ตอนหนึ่ง ซึ่งยังบอกหัวข้อไม่ได้ แต่เรื่องนี้อยากทำมาก ไว้รอดูกันว่าจะได้ทำเมื่อไหร่  (ยิ้ม)

ภาพจาก Angkriz

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save