fbpx
คุยกับ นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ เชื่อมเทคโนโลยีกับการแพทย์ ทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาลด้วย Health at Home

คุยกับ นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ เชื่อมเทคโนโลยีกับการแพทย์ ทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาลด้วย Health at Home

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

สำหรับคนหนุ่มสาว ในวัยวันที่ร่างกายยังแข็งแรง เรื่องการเจ็บป่วยอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับพ่อแม่ของพวกเขาแน่ๆ

อีกไม่กี่ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ และแม้ในกระทั่งตอนนี้ เราก็ควรเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ รับมือกับโรคภัยไข้เจ็บ และภาวะพึ่งพิงของคนวัยชราที่กำลังถาโถมเข้ามา

ยามป่วยไข้ เรามักคิดถึงโรงพยาบาล ทุกคนวิ่งเข้าหาการรักษา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอเข้าไป แต่ไม่มีใครออกมา ผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมากต้องนอนที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทั้งที่เตียงไม่เพียงพอ หากใครเคยไปที่โรงพยาบาลรัฐ เราจะพบเห็นคนไข้และญาติจำนวนมากอยู่ทั่วบริเวณตึก มีเตียงเสริมวางอยู่ชานระเบียง ดูแล้วไม่เป็นระเบียบและไม่สบายตา ทั้งยังน่ากังวลว่ามีปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้นตามมาบ้าง

ปัญหาทางการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Care ของประเทศไทยมีหลายอย่างที่ต้องแก้ไข แต่ในวันที่โลกหมุนด้วยเทคโนโลยี ปัญหาอาจถูกแก้ไปทีละเปลาะได้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ หรือ หมอตั้ม แพทย์อายุรกรรมที่เรียนต่อเฉพาะทางเรื่องเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) จาก Icahn School of Medicine at Mount Sinai, USA เริ่มต้นทำสตาร์ทอัพในชื่อ Health at Home ช่วยจัดสรรผู้ดูแลไปยังบ้านแต่ละหลังให้เหมาะสมด้วยเทคโนโลยี ในนาทีนี้เขาบอกว่าอาจจะรองรับผู้ป่วยไม่ได้ทั้งหมด ยังมีผู้ป่วยติดบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่อีกเยอะมาก แต่เขาก็ต้องพยายามขยายบริการเพื่อแก้ปัญหาในขนาดที่ใหญ่ขึ้นให้ได้

ความทรงจำในการดูแลคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่สำหรับลูกๆ ทุกคน และจะติดอยู่กับเราตลอดชีวิตหลังพ่อแม่จากไป” เขาเน้นย้ำสิ่งนี้อยู่หลายครั้งตลอดการสัมภาษณ์ เขาและทีมพยายามแก้ปัญหาเล็กๆ นี้ และค่อยๆ ไต่ไปในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น

เริ่มทำสตาร์ทอัพได้ไม่นาน เขาก็เข้าร่วมเป็น fellows ใน The Equity Initiative องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ โดยมีตัวแทนจากหลายประเทศทั้งในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าร่วมโครงการทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำ และเห็นมิติของความเหลื่อมล้ำที่หลากหลายขึ้น

จากหมอหนุ่มที่เข้าไปเป็นหมอชุมชนที่พัทลุง โลดแล่นไปศึกษาแพทย์เฉพาะทางที่นิวยอร์ก แล้วกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน ตอนนี้เขาเลือกจะเป็นสตาร์ทอัพเต็มตัว อยากสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมด้วยการทำธุรกิจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าให้เทียบความสำเร็จเป็นมาตรวัด จาก 1-10 เขาบอกว่าน่าจะอยู่ประมาณ 0.5  อย่างไรก็ตามแนวคิดการเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาล การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาเรื่องสุขภาพและการแพทย์ในไทยและทั่วโลก ก็ยังเป็นเรื่องน่าพูดคุย

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

ตอนนี้สิ่งที่ Health at Home กำลังทำอยู่คืออะไรบ้าง มีโมเดลแบบไหนในการทำงานเรื่องการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน (home care)

เราเป็นแพล็ตฟอร์มในการหาผู้ดูแลมืออาชีพ สมมุติคุณอยากได้ผู้ดูแลสักคนไปดูแลพ่อแม่ที่ไม่สบาย ปรกติแล้วก็ไปหาในเน็ต เสิร์ชตามพันทิป เห็นเบอร์ไหน ศูนย์ไหน ก็โทรฯ ไป ซึ่งก็มีความลำบากว่า จะได้คนดีจริงมั้ย มาแล้วทำเป็นรึเปล่า ปลอดภัยรึเปล่า ทิ้งงานมั้ย ซึ่งเป็นปัญหามาก

ตอนที่ผมเป็นหมออายุกรรม มีบ่อย เวลาคนไข้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ต้องกลับบ้านแล้วเจอปัญหานี้ มีโคว้ตที่ผมจำขึ้นใจ คนไข้บอกว่า คุณหมอรู้มั้ย “การหาผู้ดูแลดีๆ ได้ซักคน เหมือนถูกลอตเตอรี่เลยนะ”  ผมว่ายากมากที่เราจะหาผู้ดูแลที่เหมาะสมกับครอบครัวเรา

Health at Home จึงเข้ามาจัดการตรงนี้ ทำให้ความเสี่ยงตรงนั้นลดลง ทำให้ได้มาตรฐาน เช่น ความเสี่ยงด้านอาชญากรรม เราก็ต้องตรวจสอบอาชญากรรม ความเสี่ยงด้านทักษะ กลัวจะทำงานไม่เป็น เราก็ให้พยาบาลตรวจว่าทำเป็นจริงมั้ย ดูทักษะการพูดคุย พูดจารู้เรื่องมั้ย คาแรกเตอร์ ทัศนคติเป็นยังไง ต้องมาสัมภาษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ตกด่านนี้เยอะ คือดูเหมือนทำเป็น แต่คุยไม่ดี คุยแข็งๆ ไม่ได้รักงานนี้ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญ เราก็ต้องย้อนไปดูประวัติเก่าๆ

ส่วนมาก ผู้ดูแล’ ที่พูดถึง คือคนที่มีทักษะการพยาบาลหรือการดูแลในระดับไหน

คำว่า ผู้ดูแล หรือ caregiver มีหลายเลเวล ตั้งแต่พยาบาลวิชาชีพที่เรียน 4 ปี มีผู้ช่วยพยาบาลที่เรียน 1 ปี มีผู้ช่วยเหลือคนไข้ (nurses’ aide) เรียน 6 เดือน แล้วก็มีกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีวุฒิชัดเจนนั่นคือ คือ พนักงานเฝ้าไข้  (home health aide) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่พวกเราส่วนใหญ่ใช้บริการกัน สำหรับ Health at Home นั้นก็มีทุกกลุ่ม แน่นอน พยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่สูง อาจไม่ได้เหมาะที่จะไปจ้างอยู่นานๆ  สำหรับพนักงานเฝ้าไข้ ก็มีวุฒิหลากหลาย ตั้งแต่จบ ม.3 ถึงจบปริญญาตรี สิ่งที่เราทำคือในแง่ของ screening คนที่เหมาะสม และสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมา (Health at home standard)

ต่อมาคือการ matching เหมือนหาคู่เดท บางทีทางบ้านอาจจะขอมาว่า อยากได้คนพูดเก่ง พูดไม่เก่ง อยากได้ผู้หญิง ผู้ชาย อายุเท่าไหร่ บ้านของผู้ดูแลกับบ้านของลูกค้าอยู่ไหน ถ้าทำงานแบบไป-กลับ ว่างตรงกันรึเปล่า ถ้าไม่ว่างจะจับยังไงให้ลงตัว ซึ่งพวกนี้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วย ถ้าเราเก็บฐานข้อมูลไว้ดี การ matching ก็จะมีโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น  คนบอกว่าไม่เห็นดูเป็น tech startups ตรงไหนเลย ดูเป็นการหาคนส่งธรรมดา แต่ผมว่าเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ใช้เทคโนโลยีมา matching อย่างไร

เรามีหน้าเว็บหลักให้ลูกค้าเข้ามาหาผู้ดูแล ให้เลือกแพ็คเกจราคา กรอกข้อมูลว่าอยู่บ้านหรือโรงพยาบาล บ้านอยู่ไหน เดินได้มั้ย ต้องการอะไรบ้าง รีเควสต์ก็จะเข้ามาอยู่ในนี้  ทีนี้มาดูฝั่งผู้ดูแล เราก็จะดูว่าทำอะไรเป็นบ้าง เช่น ถ้าทางบ้านต้องการผู้ให้อาหารทางสายยาง เราก็จะจับคู่เฉพาะผู้ดูแลที่มีทักษะนี้ เพราะทุกคนไม่ได้ทำทักษะนี้ได้ดีหมด ผู้ดูแลก็จะรับงานผ่านแอพพลิเคชั่นของเขา ได้เห็นงานที่เหมาะกับตัวเขา เหมือนรับงานกับอูเบอร์

ถ้ามองในแง่ของแพล็ตฟอร์ม มีสองด้าน คือคนป่วยที่บ้าน (demand) กับ ผู้ดูแล (supply) ซึ่งถ้ามาดูฝั่งผู้ดูแลก็พบว่ามีปัญหาเหมือนกัน ตลาดนี้ไม่ได้ถูกจัดการหรือมีข้อกำหนดอะไรมาก ใครอยากเปิดก็เปิด มีผู้ดูแลจับกลุ่มกันเอง หรือมีพยาบาลหนึ่งคนแล้วมีผู้ดูแลในสังกัด ซึ่งบางทีก็ไม่ได้สนใจผู้ดูแลเท่าไหร่ เช่น ส่งงานให้ว่าต้องไปดูแลบ้านนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าไปแล้วจะเจออะไร ได้เงินเท่าไหร่ บางทีหักเงิน จ่ายเงินไม่ตรงเวลา สุดท้ายพอเขาไปถึงหน้างาน แล้วเป็นเคสที่เขาไม่ถนัด หรือดูไม่ไหว มันก็จบด้วยการหนี  แต่เราพยายามเก็บข้อมูลให้ละเอียดจากทางครอบครัว แล้วบอกผู้ดูแลว่าเดี๋ยวคุณจะเจอประมาณนี้นะ ได้เงินเท่าไหร่ ก็บอกไปเลย เราไม่ได้หักเพิ่มจากนี้แล้ว เพราะหักไปแล้ว มันก็จะแฟร์ว่า คุณทำกี่วันก็ได้ตามนี้

อีกอย่างที่สำคัญคือ เราเรียกผู้ดูแลว่า Care Pro ทีมเราเชื่อว่าอาชีพนี้ถูกมองข้ามพอสมควร คนนึกไม่ออกผู้ดูแลคืออะไร คนใช้เหรอ เหมือนไม่ค่อยมีศักดิ์ศรีในวิชาชีพ  เราพบว่าผู้ดูแลที่ทำงานได้ดี อยู่กับเราได้นาน คือคนที่มีทัศนคติดีกับอาชีพนี้

เราอยากทำให้อาชีพ Care Pro เหมือนบาริสต้าในสตาร์บัคส์ เพราะเมื่อก่อนคนชงกาแฟก็ไม่เคยเท่ แต่เดี๋ยวนี้พอสตาร์บัคส์เข้ามาทำให้เป็นบาริสต้า คนที่เป็นบาริสต้าก็ภูมิใจกับงานที่ทำ เงินเดือนก็อาจไม่ได้เยอะกว่าหรอก แต่มีบางอย่างที่ทำให้เขาภูมิใจ  อาชีพผู้ดูแลก็เหมือนกัน เราต้องทำให้อาชีพนี้ได้รับการยอมรับ มีความเป็นมืออาชีพ คนก็อยากเข้ามาทำงานนี้ เพราะเรารู้ว่าอาชีพนี้ยังไงก็เป็นที่ต้องการในสังคม แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติกับเขาดีๆ ไม่มีใครอยากทำหรอก ทุกคนก็ทำงานห่วยๆ แล้วก็ไป

สิ่งที่เราทำก็คือ เรามียูนิฟอร์มให้ สร้าง look branding ต่อมาเขาได้รับการเทรนให้เก่งขึ้น ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ เราสอนเทคนิคใหม่ๆ เขาก็เอาไปสอนคนอื่นได้ แล้วต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วย ผมว่าการยอมรับของคนที่บ้านและคนในสังคมก็สำคัญ ตัวบริษัทก็ต้องยอมรับและเคารพผู้ดูแลก่อนว่าเป็นมืออาชีพที่ทำงานกับเรา เขามาใช้เพลตฟอร์มเรา แล้วก็จ่ายคอมมิชชั่นให้ ต้องมองว่าเขาเป็นลูกค้าด้วย นี่คือทั้งหมดของ Health at Home ในแง่ของแพล็ตฟอร์ม

มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในการ matching ข้อมูล แล้วจัดหาผู้ดูแลไปที่บ้านไหม คุณมีความตั้งใจอยากจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้น

ขั้นตอนสุดท้ายที่เราทำคือ on going คือเริ่มการดูแลแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าเราอยากเป็นแค่นายหน้า เราไม่ได้เป็นศูนย์ส่งคน แล้วหักค่าหัวคิวเยอะๆ แต่เราอยากทำให้ประสบการณ์การดูแลมันดี เพราะผมเชื่อว่า หนึ่ง การอยู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สอง เราเชื่อว่า ความทรงจำในการดูแลคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่สำหรับลูกๆ ทุกคน และจะติดอยู่กับเราตลอดชีวิตหลังพ่อแม่จากไป เราจะได้ยินญาติคนไข้พูดบ่อยๆ ว่ารู้สึกผิดกับแม่ ทำไมตอนนั้นไม่ดูแล แม่ดูแลเราได้ แต่พอแม่แก่ เรายุ่ง เราไม่ดูแลเขา  Health at Home ควรจะมีส่วนช่วยในการสร้างประสบการณ์ตรงนี้ให้ดี

การที่จะดีได้ เราต้องมีข้อมูลของการอยู่บ้าน เพราะหมอก็ไม่รู้ว่าตอนที่อยู่บ้านคนไข้เป็นยังไงบ้าง ข้อมูลที่หมอเห็นที่โรงพยาบาลคือข้อมูลที่คนไข้วัดความดันที่นั่นครั้งนึง แต่ที่บ้านมีข้อมูลเยอะกว่านั้น อย่างตอนที่ผมตรวจคนไข้ ผมก็จะเห็นว่า เมื่อก่อนมีผู้ดูแลสัก 10 เปอร์เซ็นต์ พาคนไข้มา เขาก็จดสมุดไดอารี่มาว่าอากงกินอะไรบ้าง ความดันเท่าไหร่ บางคนพล็อตกราฟให้ด้วย ผมก็เห็นว่าอันนี้ดี แต่ถ้าอยู่ในรูปแบบอนาล็อก มันทำอะไรไม่ได้ จบก็เผาทิ้ง เก็บไป ก็เลยคิดว่าน่าจะมีการทำข้อมูลให้เป็นดิจิทัล จากเขียนมาเป็นพิมพ์ แล้วเอามาวิเคราะห์ได้ว่าปรกติหรือไม่ปรกติ ข้อมูลที่บ้านน่าจะถูกเอามาใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้

เราทำแอพฯ เวอร์ชั่นใหม่สำหรับผู้ดูแลให้ส่งข้อมูลคนไข้ เพิ่งออกไปเดือนนี้ ทำรูปแบบให้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนให้พิมพ์ ตอนนี้พยายามให้ติ๊ก อารมณ์เป็นยังไง ส่งรูปมา ทำหมวดหมู่ลงข้อมูลให้คลีนขึ้น ญาติก็เข้ามาดูได้ ถ้าผู้ดูแลเปลี่ยนมือข้อมูลก็ต่อเนื่อง ก็แค่มาดูว่าคนก่อนทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของ Health Record ทำยังไงให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะถ้ามีข้อมูล ก็ทำให้การดูแลดีขึ้นอยู่แล้ว ดูได้ว่า คนไข้ความดันเริ่มสูงแล้ว มีอะไรรึเปล่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บางทีไม่ได้มีอาการแสดงเหมือนคนหนุ่มๆ

Health at Home เป็นเหมือนโรงพยาบาลที่มีเตียงกระจายอยู่ทั่วเมือง ไม่ได้ใหญ่มาก ถ้าเทียบกับปีแรก ที่มีลูกค้าวันละ 5-10 คน ปัจจุบันก็โตขึ้นมาเยอะเหมือนกัน แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้มากหรอก มันต้องใช้เวลา และต้องใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ถึงจะทำได้มากกว่านี้

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

ด้วยความที่เราเป็นสตาร์ทอัพ หรือเอกชนที่แยกออกมา คุณคิดว่าภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

ในแง่ของ health care ภาครัฐต้องเป็นส่วนสำคัญในการสเกลอยู่แล้ว เพราะว่าเรื่องสุขภาพเป็นโปรดัคส์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ไม่รู้จะจ่ายเมื่อไหร่ ไม่รู้จะจ่ายเท่าไหร่ แล้วไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ลูกค้าเป็นคนจ่ายเอง เป็นกลุ่มแคบมากที่จะสามารถจ่ายเอง เพราะฉะนั้นต้องมีคนรับและช่วยจัดการความเสี่ยง นั่นคือประกัน ซึ่งประกันก็มีสองขา คือเอกชน กับ รัฐบาล สุดท้ายรัฐต้องมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะชาติไหน อเมริกาก็มี ญี่ปุ่นก็มีกองทุนประกันสังคม เมืองไทยก็ต้องมี ผมว่าภาครัฐต้องมาแน่ๆ เพราะด้วยสเกลต้องให้ภาครัฐช่วยทำ

ตอนนี้ในแง่ของภาคสังคม ภาครัฐทำได้ดีอยู่แล้ว มีโมเดลที่ดีมาก มีระบบโรงพยาบาลชุมชน มีอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน มีกองทุน อบต. อบจ. คือเขาทำมาในระดับนึง  เราอยากทำเรื่อง home care ก็จริง แต่เรามาในแง่ของภาคสังคมเมือง เพราะยังขาดอยู่ แน่นอนรัฐควรจะเข้ามาช่วย แต่ผมว่าในบริบทของเอกชนมันต่างกับชุมชน ในชุมชนมีต้นทุนของคนในชุมชนอยู่ แต่สังคมเมืองไม่ได้บริหารแบบนั้น ต้องบริหารอีกบริบทหนึ่ง

เราแก้ปัญหาในสิ่งที่ยังไม่ได้ถูกแก้ หรือถูกมองข้าม ในความเป็นจริงคือ ตอนนี้ราคาในโครงสร้างราคาที่เราทำได้ ยังเป็นชนชั้นกลางที่มีพลังในการซื้อระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่พรีเมี่ยมนะ พรีเมี่ยมไม่มีปัญหา อีลีทเขาก็มีตังค์จ้างพยาบาลอยู่บ้าน

ส่วนเรื่องจะให้รัฐบาลมาช่วย Health at Home ผมว่าเราก็ยังไม่ได้เป็นรุ่นใหญ่ขนาดนั้น การจะคุยกับภาครัฐได้ ต้องมีเรื่องที่ประสบความสำเร็จพิสูจน์มาระดับหนึ่ง ผมคิดว่าถ้าเอกชนจะเป็นพาร์ทเนอร์กับภาครัฐ เราควรจะทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราทำ ไม่มี downside  บริการด้านสุขภาพไม่สามารถจะเสี่ยงได้เพราะมันคือชีวิตของประชาชน ดังนั้น downside เขามากกว่า upside เช่น ถ้าเกิดปัญหา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอาจต้องเสียตำแหน่งไป ถ้าสำเร็จ เขาก็อาจไม่ได้อะไรขนาดนั้น แต่เอกชนเราก็มีแรงจูงใจด้านรายได้ด้วย ดังนั้นผมว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาที่การดีลกับภาครัฐต้องยาก เราคงต้องทำงานหนักกว่านี้ พิสูจน์ตัวเองให้มากกว่านี้ ถึงจะก้าวไปเป็นพาร์ทเนอร์ได้ ผมว่าตอนนี้เรายังเล็กเกินไป แต่เราต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ เพราะถ้าไม่มีภาครัฐมันจะไม่ได้เกิดอิมแพ็คสู่ทุกคนอย่างแท้จริง

การทำสตาร์ทอัพดูจะเป็นเรื่องเหนื่อยหนักพอสมควร จากชีวิตที่เคยเป็นหมอ มีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้หันมาทำธุรกิจ

เวลาบอกคนอื่นว่ากำลังทำ Health at Home ก่อนที่จะถามว่าทำอะไร คนชอบถามก่อนว่า เป็นหมอแล้วลาออกมาทำไม ดูน่าจะมีเส้นทางที่ดีแล้ว  คือผมเป็นเด็กกรุงเทพฯ เรียนที่สาธิตเกษตร เป็นเด็กเมืองมาตลอด แต่เอนท์ฯ ติดที่เชียงใหม่ ไม่ได้มีสตอรี่พ่อแม่บังคับ ผมฝันอยากเป็นหมอเลย อ่านการ์ตูน ดร.เค แล้วก็ตั้งใจเอนท์ฯ หมอ

เมื่อก่อนผมเป็นคนเรียนไม่ค่อยเก่ง  เป็นลูกคนเดียว ค่อนข้างสปอยล์ พ่อแม่เป็นหมอทั้งคู่ เราก็รู้สึกไม่ต้องแข่งขันอะไร ชีวิตกูก็ดี เลยไม่ค่อยเอาไหน ช่วงประถมถึงมัธยมต้น คะแนนก็เกรดหนึ่ง เกรดสอง จนมาขึ้น ม.ปลาย ผมก็รู้สึกว่าชีวิตไม่น่าจะเวิร์กนะแบบนี้ ช่วงมัธยมเราได้เจอเพื่อนที่ดี เพื่อนที่เก่งๆ co-founder ผมก็เป็นเพื่อนมัธยม เพื่อนในกลุ่มเราเก่งหมดเลย เราง่อยอยู่คนเดียว ทำอาหารก็ไม่เป็น เล่นดนตรีก็ห่วย แม่ส่งไปเรียนเปียโนก็โดด เล่นกีฬาก็ตัวสำรอง เลยรู้สึกว่าการเป็นหมอน่าจะทำให้เราดูมีความสามารถอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แล้วผมก็ชอบคุยกับคน ก็เลยคิดว่าเป็นหมอน่าจะเหมาะ

พอเรียนหมอจบ ผมก็ไปอยู่พัทลุง อยากไปอยู่ภาคใต้ คิดภาพโรงพยาบาลอยู่ติดทะเล ชิล จับสลากไป ติดพัทลุง แต่พัทลุงไม่ติดทะเล ไปอยู่ 3 ปี ตอนนั้นสนุกมาก อยู่โรงพยาบาลชุมชน ไปถึงได้เป็น ผอ.โรงพยาบาลเลย ไม่ได้เก่งอะไรนะ แต่ว่าพี่เขาลาออกหมด คือย้ายไปปุ๊บ หมอเก่าหายหมดเลย เราเป็นหมอใหม่คนเดียว

เราเป็นหมอ 1 ใน 3 คน ที่ดูแลชุมชน 5 หมื่นคน โรงพยาบาลป่าบอนเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ มี 30 เตียง ก็มีความผูกพันกับชาวบ้าน พอได้ไปเยี่ยมบ้านก็เริ่มเป็นจุดเปลี่ยน เรารู้สึกว่าบริบทของการไปเยี่ยมบ้านมันคนละแบบ เราไปเยี่ยมชนเผ่าซาไก เพราะเขาอยู่บนเขา ลงมาไม่ได้  แต่ก่อนเราอยู่โรงพยาบาล คนไข้มาหาเรา เราก็บอกคนไข้ กินยาให้ครบนะ ให้ออกกำลังกาย พอเราไปเยี่ยมบ้าน เราจะเห็นว่า เฮ้ย เขาเก็บยาตรงไหนวะ ก็ไม่ได้กินอย่างที่คุยกัน กินข้าวก็กินแบบของเขา ไม่ได้กินแบบที่เราคิดว่าต้องกินคลีน เราเห็นมิติของคนไข้อีกแบบนึง

ก่อนกลับมาเรียนต่อ ผมไปเป็นหมออาสาที่เคนยาอยู่หนึ่งเดือน ก็เปิดโลก แต่ก่อนเราชอบคิดว่าการแพทย์คือโรงพยาบาล มีคน มีเทคโนโลยี แต่ความจริงในหลายๆ สถานที่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น ผมก็คิดว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น ก็กลับมาเรียนต่อด้านอายุรกรรมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พอเรียนจบ ผมก็ไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก เป็นสาขาใหม่ เรียกว่า เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือ Geriatric Medicine ซึ่งเรื่องของสังคมผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่กำลังจะมาในเมืองไทย โดยที่เรายังไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลย ดังนั้นก็น่าจะมีโอกาสให้ทำอะไรเยอะ เราเป็นลูกคนเดียวด้วย เป็นปัญหาที่กูต้องเจอแน่นอน (หัวเราะ) ก็เลยเลือกเรียนที่นี่

เสร็จแล้วกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดแผนกผู้สูงอายุใหม่เลย ชีวิตก็ดีแล้วนะตอนนั้น แต่ผมก็ยังค้าง ตอนที่ทำงานอยู่ในชุมชน เรารู้สึกว่าปัญหา health care เยอะนะ ปัญหาในวงการแพทย์เต็มไปหมดเลย ทุกคนก็ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล มีแต่เรื่องบ่น ไม่มีอะไรที่น่าพิศมัย ก็เลยคิดว่าอยากแก้ไขปัญหา ผมอยากสร้างอิมแพ็คบางอย่าง เคยคิดอยากจะเป็นปลัดกระทรวงด้วยนะ แต่ก็คิดว่ากว่าจะมีอำนาจก็คงแก่มากแล้ว

ช่วงนั้นผมก็เลยพยายามทำเว็บไซต์ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยหมอและเรื่องการแพทย์หลายอย่าง แต่ก็เจ๊ง เพราะไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ เช่น การจ่ายเงิน เรื่องเดบิต เครดิต การดีลงานต่างๆ ไม่รู้เรื่องเลย ผมทำได้สองปี เป็นหมอเต็มเวลาและแบ่งเวลามาทำโปรเจ็กต์พวกนี้ เลยคิดว่า ไม่ไหวแล้วว่ะ กูจะยังไงดีกับชีวิต ตอนนั้นภรรยาผมตั้งครรภ์ ผมก็นั่งคิดว่า ถ้าลูกเกิดมาแล้ว คงไม่กล้าจะเสี่ยงกันมากแล้วละ แต่เราก็ไม่อยากเป็นคนแก่ที่บอกลูกว่า เมื่อก่อนพ่อมีความฝัน แต่พ่อไม่ได้ทำ เพราะมีลูก ผมว่ามันไม่ค่อยเท่เท่าไหร่ ก็เลยลองลุยสักช็อตให้รู้เรื่อง น่าจะทำให้ได้ ไม่งั้นก็หมดเวลาแล้ว เราก็รู้ว่าทำคู่กันไม่เวิร์ก ก็เลยออกจากหมอก่อนที่ลูกจะเกิด ผมขอมาตรวจคนไข้แค่อาทิตย์ละวัน จะขอไปทำสตาร์ทอัพแล้ว ไม่ได้มีไอเดียว่าจะทำเรื่องอะไร แต่ว่าถ้าจะทำก็ต้องเป็นเรื่องที่เราอยากแก้ ให้คุ้มค่ากับการออกมา

มีโมเดลต้นแบบ หรืออะไรที่เห็นมาแล้วคิดว่าอยากจะทำแบบนั้นให้ได้ไหม

ผมคิดถึงตอนเรียนที่นิวยอร์ก มียูนิตหนึ่งเรียกว่า Visiting Doctor คือ คุณหมอเยี่ยมบ้าน ความแอดวานซ์คือ ไม่ใช่การไปเยี่ยมบ้านคนไข้ติดเตียงธรรมดา แต่คือการเยี่ยมคนไข้ที่หนักก็ได้ คนไข้หัวใจวาย คนไข้ปอดบวม มีพยาบาลไปฉีดยาทุกวัน หมอก็มาเยี่ยม แล้วก็มีรายงานลงใน IT เชื่อมกับระบบในโรงพยาบาล คนไข้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเลย เราเห็นภาพสิ่งที่เรียกว่า virtual hospital อันนี้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่คอนเซ็ปต์  เราไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปบริการ แล้วคุยกับคนไข้ แล้วเขาก็บอกว่า Thank god for this service. I can’t go to a hospital. It’s very hard. โห มันอิมแพ็ค

เราอยากให้มีแบบนี้ในเมืองไทยนะ ผมว่ามันเวิร์ก ยิ่งบ้านเราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้มีวัฒนธรรมเรื่อง nursing home ถ้าเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาลได้น่าจะดี ดีกว่าเอาเงินมาสร้าง nursing home ทุกตำบล แล้วในแถบเอเชียก็ให้คุณค่าเรื่องการอยู่บ้าน  เรื่องของ home care เป็นสิ่งที่ผมอยากทำให้เกิดขึ้น แล้วถ้าพูดถึงในสังคมเมือง ก็ไม่มีใครทำ พ่อแม่ผมป่วย ผมมีเซอร์วิสอะไร โรงพยาบาลก็ไม่มา เราก็ต้องพาไปที่โรงพยาบาล ผมก็เลยคิดว่าน่าทำ สิ่งที่เราเชื่อคือบ้านเป็นที่พักฟื้นที่ดีที่สุด

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ
ภาพ Visiting Doctor ที่นิวยอร์ก

ช่วยเล่าหน่อยว่าฐานของ home care คืออะไร แล้วจะนำมาใช้กับสังคมไทยอย่างไรได้บ้าง

ต้องเล่าก่อนว่า โรงพยาบาลคือการดูแลส่วนที่เรียกว่า acute care ก็คือการดูแลพวกติดเชื้อ คลอดลูก ไอซียู ปอดบวม โรคหนักๆ โรคที่ป่วยฉุกเฉินฉับพลัน แต่ว่าโรงพยาบาลไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการอยู่นานๆ ตั้งแต่โลกยุคสมัยก่อน เราก็รักษาที่บ้านแหละ คุณหมอก็หิ้วกระเป๋าไปที่บ้าน หมอตำแยไปทำคลอดให้ที่บ้าน แต่โรงพยาบาลถูกสร้างขึ้นมาเพราะว่ามีการตรวจที่ซับซ้อนขึ้น มีการเจาะเลือด มีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย มีเรื่องของสงคราม การกักโรค ก็ทำให้ต้องรวมคนเข้ามา

พอโลกเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เริ่มเป็นโรค NCDs คือไม่ได้เป็นโรคระบาด แต่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคชรา โรคสมองเสื่อม โรงพยาบาลไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องขยับเคลื่อนไป เทรนด์ที่เราเห็นตอนนี้คือเป็น residential care เช่น nursing home, retirement resort ทุกคนก็คิดว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มี health care service อยู่ ผมเชื่อว่า ช็อตต่อไป ต้องกลับมาที่บ้าน เพราะถ้าเทคโนโลยีดีพอ ตัว health care service ก็ส่งตรงถึงที่บ้านได้ มอนิเตอร์ที่บ้านได้ เพราะฉะนั้นบ้านเป็นจุดหมายที่สำคัญกับ health care ในอนาคต บ้านต้องเป็นโรงพยาบาลได้ แล้วค่าใช้จ่ายก็น่าจะถูกกว่า คุณภาพชีวิตก็ดีกว่า แต่ถึงเวลารึยัง เราอาจจะมาก่อนกาลก็ได้

คิดว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับวงการสุขภาพไทยเยอะแค่ไหน

น่าจะต้องพูดว่าเป็นทั่วโลก ธุรกิจ health care ต้องเปลี่ยน มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครแฮปปี้เลย จะดีแค่ไหนก็มีความไม่พอใจอยู่เยอะ  health care มี 3 แกน คือ cost, access  และ quality ทุกอย่างเป็น trade off  ซึ่งกันและกัน  อย่างตอนนี้อังกฤษ ถ้าเป็นภาครัฐ ระบบประกันสุขภาพต่ำ แต่ access เขามี family doctor นะ คุณมี gate keeper ถ้าคุณผ่านถึงจะใช้สิทธิ์ได้ ถ้าคุณไม่ฉุกเฉินจริง คุณต้องจ่ายตังค์เพิ่ม มันมีระบบบางอย่างเข้ามาช่วย  quality ก็อาจจะไม่ลดไปมากนัก แต่แน่นอนคนอังกฤษก็ไม่ได้แฮปปี้นะ

ด้วยลักษณะของ health care ณ ปัจจุบัน  เป็น provider centric คือไม่ได้โฟกัสที่ผู้ป่วยหรือลูกค้า มันถูกดีไซน์เพื่อเอาใจหมอ หนึ่ง เพราะเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด สอง เป็น centralized ทุกอย่างต้องมาอยู่ที่โรงพยาบาล สาม เป็นเรื่องของ closed data ข้อมูลไม่ถูกเอามาใช้ ทุกคนพยายามหวง เลยทำอะไรไม่ได้ และสี่ เป็นเรื่องของ treatment คือเป็นการซ่อมบำรุงมากกว่าป้องกัน ศาสตร์การแพทย์ที่ทำการรักษาได้รับการยอมรับมากกว่าศาสตร์การป้องกัน ด้วยความที่เท่กว่า ค่าตอบแทนสูงกว่า คนก็เทมาตรงนี้เยอะ  ศาสตร์ด้านนี้จึงได้รับความนิยม แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าป้องกันไม่ดี ซ่อมยังไงก็ไม่หมด

ผมคิดว่า future of health care เราต้องทำให้ตรงข้าม ต้องเป็น patient centric ต้องเป็น decentralized health care ต้องไม่เป็น hospital based แต่ต้องเป็น home based ต้องเป็น prevention ไม่ใช่ treatment ต้องเป็น open data ไม่ใช่  closed data จะทำให้เกิดได้ ต้องมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ว่าทำได้จริงๆ ซึ่งก็ต้องรอความสุกงอมของเทคโนโลยีด้วย

ซึ่งเป็นสิ่งที่ Health at Home กำลังทำอยู่?

เราก็อยากเป็นคนขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า future of health care แต่ผมเชื่อว่าในความเป็นจริง มันไม่ได้ง่าย health care  มันใหญ่ ยาก และซับซ้อน ก็ต้องหามุมที่คิดว่าน่าจะเป็น sweet spot ถ้าจะตีเมืองก็ต้องหาเมืองที่น่าบุกที่สุด  ผู้ดูแลเป็นส่วนหนึ่งใน health care ที่มีการวางกฎระเบียบไว้น้อย และมีความเสี่ยงน้อยในระดับที่พอควบคุมได้ที่สุดแล้ว คิดว่าเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐและเอกชนไม่ได้สนใจมาก เป็นจุดดีที่เราจะเข้าไปปักหมุด

มากกว่านั้นผมอยากทำเรื่อง home care คือการดูแลที่บ้านแบบครบวงจร เป็นเรื่องที่มากกว่าการดูแล มีเรื่องพยาบาลมาเยี่ยมบ้าน ทำกายภาพ แล้วถ้าเราใหญ่พอ ก็จะขยับขึ้นไปเป็น health care สเต็ปเหมือนไต่เขา อยากเคลียร์ไปทีละสเต็ป แต่ไม่รู้จะโดนน็อคไปก่อนรึเปล่า มันไม่น่าง่าย ถ้าง่ายคงมีคนทำแล้วแหละ ส่วนใหญ่เขาทำแล้วก็เจ๊งไปเยอะ เราไม่ได้อยากเป็นแค่นายหน้าส่งผู้ดูแลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่เราอยากสร้าง health care ที่ใช้ดิจิทัลแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

พอมันเป็นธุรกิจ จะมีความเหลื่อมล้ำมั้ยว่า คนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้

จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่เจ็บปวด คือเราอยากช่วยสังคมให้ดีนะ แต่ธุรกิจเราเป็น for profit เพราะถ้าไม่มีกำไร ไม่มีเงินทุน มันก็ไม่สามารถเติบโตได้ ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ พูดได้เลยว่า ปัจจุบันนี้เราอาจไม่สามารถเป็นคำตอบสำหรับทุกคนเพราะโครงสร้างราคายังไม่ได้จริงๆ  ใช่ครับ มีความเหลื่อมล้ำอยู่สูงมาก มีคนโทรศัพท์เข้ามาแล้วบอก แพงจัง ใช้ไม่ไหวอยู่พอสมควร ผมรองรับได้แค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของ called demand ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าราคาจะถูกได้ เราต้องมีเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้

แน่นอนในท้ายที่สุด เราอยากให้ทุกคนใช้ Health at Home ได้ แต่ว่าจะลดราคาเอาดื้อๆ เลย ก็เจ๊ง ถามว่าจะลดราคาได้ยังไง ผมว่ามีหลายอย่าง ตอนนี้เรามีทีมงาน 14 คน รองรับลูกค้าได้ 50-60 คนต่อวัน แต่ถ้าเทคโนโลยีเราดีพอ ลูกค้า 500 คนก็ใช้ทีมงานเท่าเดิม อันนี้ลดราคาได้ ก็ต้องไปถึงจุดนั้น มันจะมีจุดหนึ่งที่เราสามารถ scale business ได้  จะอิมแพ็คแค่ไหน อยู่ที่เทคโนโลยีเท่านั้นเลย นอกจากนี้อาจจะมีโมเดลอื่นๆ เช่น เรามี technology solution ให้ภาครัฐ แล้วภาครัฐก็มาช่วยทำให้เกิดขึ้นด้วยเครื่องมือของเรา

ขยับมาเป็นภาพใหญ่ในประเทศ ในสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในอนาคต อยากให้คุณช่วยฉายภาพว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะต้องรับมือยังไง

ผมว่าปัญหาน่าจะเป็น Sandwich Generation เนื่องจากค่านิยมของคนไทยไม่ค่อยพูดเรื่องเงินเท่าไหร่ แล้วภาครัฐก็ไม่ได้มีโครงสร้างการเก็บเงินเพื่อรัฐสวัสดิการแบบเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจอก็คือพ่อแม่ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็คาดหวังว่าลูกหลานหรือรัฐต้องดูแล ความกดดันก็มาตกที่ลูก ภาพคือ Silent Generation รุ่นหลังสงครามโลก ซึ่งมีลูกเยอะ ลูกของแก๊งนี้คือ Baby Boomer แก๊ง Baby Boomer ก็จะมีลูกน้อย เพราะว่าชีวิตแก่งแย่งมาเยอะ มีลูกเป็น Gen X Gen Y ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว รุ่นก่อน อากงหนึ่งคน มีลูก 5-6 คน แต่รุ่นพ่อแม่เรา มีลูกแค่ 1-2 คน  ลูกก็จะมีหลานอีก เพราะฉะนั้นปัญหาคือ Gen Y กับ Gen X จะเป็น Gen ที่เหนื่อยมาก เป็นปัญหาแรกที่เราเจอแน่ๆ

รัฐก็ต้องเข้ามาจัดการในแง่สวัสดิการ ยังไงก็ต้องมี แต่ก็ต้องย้อนไปว่าเราต้องเก็บภาษีหรือวางแผนภาษียังไง ตอนนี้เราก็คงยังเก็บได้ไม่ดี เราจะดีไซน์เหมือนญี่ปุ่นมั้ย เก็บภาษีด้านสวัสดิการตั้งแต่อายุ 40 ภาครัฐต้องคิดรึเปล่า หรือจะเอาเงินมาบอมบ์สวัสดิการเดือนละ 600 ซึ่งมันไม่พอและไม่ยั่งยืน ผมว่าการเก็บภาษีก็สำคัญ การนำมาใช้อย่างโปร่งใสด้วย หรือการกระตุ้นการวางแผนตั้งแต่เบื้องต้น

ส่วนเรื่องการดูแล ลูกก็ต้องคิดเรื่องนี้แหละ พ่อแม่แก่แล้วจะอยู่ยังไง จะอยู่ที่บ้านหรือที่ไหน จะเตรียมความพร้อมยังไง  ในเชิงโครงสร้างก็ยากอีก เพราะเมืองไทยมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเยอะ เราไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน  สิงคโปร์มีนโยบายว่า ถ้าคุณปลูกบ้านใกล้กับพ่อแม่ไม่เกินรัศมี 5-10 กิโลเมตร หรืออยู่ดูแลพ่อแม่ เขาจะลดภาษีบางอย่าง เพราะรัฐบาลรู้ว่าถ้าลูกอยู่ใกล้ ลูกก็เป็นคนดูแล ไม่ใช่คนอื่นดูแล ก็คล้ายๆ กัน เรื่องของโลจิสติกส์เมืองไทยก็แย่อย่างนี้ อยู่คนละที่ก็ดูแลกันยาก

สิ่งสำคัญที่ภาครัฐน่าจะปลดล็อคได้ในระยะสั้น คือเอาเอกชนมาช่วย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถใช้เงินได้มีประสิทธิภาพภายใต้กรอบที่จำกัดอยู่แล้ว คิดว่าควรจะมีระบบบางอย่าง เหมือนญี่ปุ่นที่มีเงินสวัสดิการ แต่ว่าภาคเอกชนเป็นคนทำ คือรัฐทำหน้าที่เป็นแค่ third-party validation ตรวจสอบว่าคุณทำถูกมั้ย เซอร์วิสดีมั้ย ทำถูกก็ได้เงินไป แบบนี้น่าจะเหมาะกับเมืองไทย เป็นทางออกในช่วงนี้

ที่ญี่ปุ่นเห็นผู้สูงอายุออกมาทำงานเยอะเหมือนกัน แต่ที่ไทยไม่ค่อยมี เป็นเพราะว่าคนไทยไม่แข็งแรง หรือมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นหรือไม่ อย่างไร

เราอาจจะแค่ไม่คุ้น เพราะไม่ค่อยมีคนทำ คนไทยก็ตามวัฒนธรรม รู้สึกว่าแก่แล้วทำไมต้องทำงาน บางคนก็เกษียณตำแหน่งใหญ่โต ปัญหาไก่กับไข่ เพราะงานก็ไม่มีให้เขาทำ ต่างประเทศเขาเลื่อนอายุไปที่ 65 แล้ว ยังเหลือที่ให้เขาทำงานได้ ผมว่าปัจจุบันนี้คนแข็งแรงมากขึ้น คนทั่วโลกอายุยืนขึ้น อายุ 70 ก็น่าจะทำได้สบายๆ  ตัวผู้สูงอายุก็ควรจะสร้างชุมชน ออกมาทำอะไรกัน ไม่งั้นก็จะเป็นการแก่แบบไม่มีความหมาย

อาชีพหมอเป็นอาชีพที่ช่วยบรรเทาทุกข์ให้คนอื่น แล้วหมอมีความเจ็บปวดอะไรของตัวเองบ้าง 

รับผิดชอบเยอะ มีความคาดหวังสูง ส่วนหนึ่งก็คือโดนฟ้อง โดนเรียกร้องเยอะ ผมว่าหมอที่อยู่โรงพยาบาลรัฐ ทุกคนอยู่ตรงนั้นด้วยความตั้งใจที่อยากช่วยคนในพื้นที่ แต่ด้วยระบบที่มีดีมานด์สูงมากกว่าซัพพลาย เป็นไปไม่ได้ที่หมอคนนึงจะทำงานได้เพอร์เฟ็กต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่พลาดเลย

มีเพื่อนผมหลายๆ คนที่ลาออกจากความช้ำใจ ทั้งที่เขาตั้งใจดี ผมว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ค่อยได้ด้วยนะ เพราะหมอเป็นอาชีพที่ดีแล้ว ไม่ควรจะเรียกร้องอะไรแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งผมคิดว่าเราจะไปคาดหวังความโรแมนติกแบบสมัยก่อนก็คงไม่ใช่  เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว หมอไม่ใช่เทวดา มันเป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย  ก็เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เราประเทศเดียว

การเป็นหมอกับการเป็นสตาร์ทอัพเป็นการช่วยคนทั้งสองอย่าง คุณคิดว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เรารู้สึกว่าเรายังได้แก้ปัญหา health care อยู่ ยังไปช่วยคน แต่สิ่งที่ต่างคือตอนที่เป็นหมอเรารักษาเขาหาย เขาขอบคุณเรา เขาเดินกลับบ้าน เราดื่มด่ำได้ ผมว่าความสุขตอนเป็นอาชีพแพทย์ มันลงตัว  ดีครับ เราตื่นมาโรงพยาบาลทำงานมีความสุข เจอคนไข้ แล้วโมเมนต์ที่คนไข้หายกลับบ้านเราจะรู้สึกดีมาก ยิ่งตอนที่อยู่โรงพยาบาลรัฐนะ ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าบอน พัทลุง หรือโรงพยาบาลที่ธรรมศาสตร์ รู้สึกดีมากๆ  พอมาเป็นสตาร์ทอัพก็อีกแบบ ตื่นเต้นกับการได้ลองสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ต้องใช้เวลานานหน่อย ไม่ได้เห็นผลทันที แต่มันก็ต้องแลก ไม่มีใครได้ทุกอย่างหรอก

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save