fbpx
“กมลา แฮร์ริส” กับอนาคตการเมืองสหรัฐฯ : ความหลากหลายของคนอเมริกัน v ความเป็นหนึ่งของคนผิวขาว

“กมลา แฮร์ริส” กับอนาคตการเมืองสหรัฐฯ : ความหลากหลายของคนอเมริกัน v ความเป็นหนึ่งของคนผิวขาว

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเก่าๆ ทั้งหลาย ระบบสังคมอเมริกันมักถูกมองว่าเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นจารีตประเพณี เช่น กษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง ทำให้ไม่มีคติเรื่องชนชั้นแบบดั้งเดิม สีสันของความแตกต่างในฐานันดร ตลอดจนฐานะและการแสดงออกทางสังคมอย่างเหลื่อมล้ำและดูถูกกัน จึงไม่มีให้เห็นอย่างสะใจมากนัก ปัญหาส่วนใหญ่เป็นความแตกต่างทางความมั่งคั่งอันเป็นผลมาจากอาชีพหรือเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้แต่ความร่ำรวยที่ได้รับจากบรรพบุรษก็มีไม่มากและหนักหนาเหมือนดังสังคมเก่าๆ ทั้งหลาย  ธรรมเนียมปฏิบัติของคนมีเงินหรืออำนาจจึงได้แก่การฝากหรือซื้อที่เรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ ที่เรียกว่า ไอวี่ลีก เช่น ฮาร์วาร์ด เยล ปรินซตัน เพนซิลเวเนีย และคอร์แนล ให้แก่ลูกชาย (ไม่ค่อยได้ยินว่าให้ลูกสาว) เพื่อจะได้มีหน้าตาและพรรคพวกเป็นเส้นสายในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมและการเมือง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชอบคุยอวดว่าเขาเรียนจบจากวิทยาลัยวอร์ตัน (Wharton School) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นคณะด้านการเงินและบริหารธุรกิจที่โด่งดังทั่วโลก แต่ทรัมป์ไม่ได้เข้าเรียนที่นี่ตั้งแต่ปีแรก หากโอนย้ายมาจากมหาวิทยาลัยฟอร์ดแธมในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยยิวเอกชนธรรมดาไม่ใช่ไอวี่ลีก หลังจากเรียนไปสองปี นั่นแสดงว่าคะแนน SAT สำหรับใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยคงไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องหาวิธีขอย้ายมาภายหลัง กระนั้นก็ตาม นักศึกษาส่วนใหญ่ในรุ่นนั้นบอกว่าไม่เคยเห็นหรือจำทรัมป์ได้เลย มีอยู่คนหนึ่งที่เคยกินอาหารกลางวันกับทรัมป์บอกว่าเมื่อเทียบกับบุคลิกของทรัมป์สมัยเป็นประธานาธิบดีแทบจะเป็นคนละคนกันเลย

มีคนเชื่อว่าพ่อและพี่ชายคนโตหาทางวิ่งเต้นฝากทรัมป์เข้าวอร์ตัน แต่สิ่งที่ทำให้ประวัติการศึกษาของทรัมป์ด่างพร้อยก็คือ คำให้การของไมเคิล โคเฮน ทนายความส่วนตัวของทรัมป์ซึ่งถูกจำคุกข้อหาร่วมมือฉ้อโกงเรื่องการเงิน เปิดโปงว่าทรัมป์ให้เขาส่งจดหมายข่มขู่ไปยังมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทุกแห่งที่ทรัมป์เคยเรียน ว่าห้ามไม่ให้เปิดเผยคะแนนและผลการเรียนทั้งหมดของเขาต่อสาธารณชน ไม่งั้นจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดคือฟ้องร้อง ไม่ต้องถามก็เดาได้ว่าเพราะอะไร หากไม่ใช่เพราะคะแนนมันฟ้องถึงความไม่เอาไหนในการเรียนของทรัมป์เอง

ล่าสุดประวัติของผู้สมัครที่กำลังเป็นที่สนใจและสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่ว คือประวัติครอบครัวของกามาลา (กมลา) แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับเลือกจากพรรคเดโมแครตและโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เข้าเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ไบเดนใช้เวลากว่าสามเดือนในการคัดเลือกคู่หู เพราะมีผู้สมัครที่อยู่ในข่ายมากหน้าหลายคน ที่น่าสนใจคือมติเสียงส่วนใหญ่ลงให้ว่าครานี้ต้องเลือกผู้สมัครหญิง เสียงนี้ไม่มีใครคัดค้าน ต่อจากนั้นคือจะเอาสตรีแบบไหน หัวก้าวหน้า นักสู้เพื่อสิทธิเสมอภาคหรือเพื่อความยุติธรรม และจะเอามาเรียกคะแนนจากผู้ลงคะแนนส่วนไหนของประเทศ ในการเคลื่อนไหวผลักดันผู้สมัครของแต่ละกลุ่ม ปรากฏว่ากลุ่มผู้หญิงผิวดำมาแรงมากในคราวนี้ ทำให้ตัวเลือกของโจ ไบเดน ลดลงว่าจะเอาคนไหนจาก 6 คนที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก (1) กามาลา แฮร์ริส (2) แคเรน แบส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งแคลิฟอร์เนีย (3) ซูซาน ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีโอบามา (4) ไคชา แลนซ์ บอททอมส์ นายกเทศมนตรีเมืองแอตแลนตา ซึ่งโดดเด่นจากการควบคุมสถานการณ์รุนแรงในเมืองได้เป็นอย่างดี (5) สเตซีย์ แอแบรมส์ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย (6) วาล เดมิงส์ สมาชิกคองเกรสจากฟลอริดา ในที่สุดโผก็ออกที่หมายเลขหนึ่งคือแฮร์ริส

กามาลา แฮริส ไม่ใช่สตรีคนแรกที่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คนแรกคือเจอร์รัลดีน เฟอร์ราโร คู่กับวอลเตอร์ มอนเดล ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตในปี 1984 ผมยังจำเหตุการณ์นั้นได้เพราะกำลังเรียนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อยู่ พวกเราวิจารณ์ว่านี่เป็นความก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตอย่างยิ่ง แต่เป้าหมายสูงสุดต่อไปคือการทำให้คนผิวดำได้เป็นประธานาธิบดีด้วยก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก เรารู้ดีว่านี่เป็นความฝันที่ยากจะเป็นจริงในสมัยนั้น

ในประวัติศาสตร์อเมริกา การต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมนั้น นับตั้งแต่สมัยปฏิวัติมา ขบวนการฝ่ายก้าวหน้ามีชายผิวขาวเป็นหลัก ตามมาด้วยผู้หญิงผิวขาว และที่ขาดไม่ได้คือมีคนผิวดำ ซึ่งยุคแรกเป็นอดีตทาสที่หลบหนีขึ้นไปภาคเหนือ เช่น เฟรเดอริค ดักลาส หนี่งในแกนนำสำคัญของขบวนการทำลายทาสคู่กับวิลเลียม ลอยด์ แกริสัน และที่ขาดไม่ได้คือสตรีทาสผิวดำ เช่น โซเจอร์เนอร์ ทรูธ และแฮเรียต ทับแมน ผู้พาทาสหนีไปตามเส้นทางใต้ดินเรียกว่า “Underground Railroad” และเป็นผู้ช่วยเหลือทาสให้เป็นอิสระในระหว่างสงครามกลางเมือง เธอยังเข้าร่วมรณรงค์กลุ่มเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งแก่สตรีด้วย หลังจากขบวนการต่อสู้นี้ประสบชัยชนะแล้ว คนที่ได้รับดอกผลของชัยชนะนี้มากที่สุดคือชายผิวขาว ตามมาด้วยชายผิวดำ ส่วนผู้หญิงทั้งผิวขาวและดำได้รับดอกผลน้อยหรือไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมและสิทธิเลือกตั้งกลับต้องรอไปอีกหลายสิบปี

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1988 พรรคเดโมแครตเสนอไมเคิล ดูคาคิส ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ตอนนั้นผู้นำคนผิวดำที่มีบทบาทและรู้จักกันทั่วไปคือเจสซี แจ็กสัน ศาสนาจารย์และนักพูดมีชื่อ ในการเลือกตั้งไพรมารี่ที่เรียกว่า “มหาอังคารใหญ่” (Super Tuesday) ดูคาคิสได้คะแนนนำเป็นที่หนึ่ง ตามด้วยแจ็กสัน ทำให้มีการเรียกร้องให้คนผิวดำมีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญบ้าง เขาพยายามสร้างเงื่อนไขให้คนผิวดำเข้าร่วมการเมืองระดับชาติได้ โดยเสนอนโยบายที่เรียกว่า “แนวร่วมสายรุ้ง” มีข่าวลือมากว่าแจ็กสันอาจได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งจะเป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญยิ่งในการสร้างความเท่าเทียมทางการเมือง แต่ในที่สุดวันสุดท้ายดูคาคิสก็ประกาศว่าเขาเลือกลอยด์ เบนสัน สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเท็กซัสแทน สร้างความผิดหวังให้แก่คนผิวดำไม่น้อย จนอีกสองทศวรรษต่อมา ชายผิวดำคนแรก บารัค โอบามา จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีอย่างไม่คาดฝัน ประวัติศาสตร์ของผู้ชายจึงพูดได้ว่าสมบูรณ์แล้ว เหลือแต่ของสตรีเพศ การได้เข้าเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฮิลลารี คลินตัน ในปี 2016 จึงเป็นก้าวใหญ่อีกก้าวของสตรีอเมริกันผิวขาว ส่วนในปี 2020 ก็จะเป็นอีกก้าวใหญ่ของสตรีผิวดำ กามาลา แฮร์ริส

ปฏิกิริยาต่อการเลือกแฮร์ริสก็น่าสนใจ นักยุทธศาสตร์การเมืองของพรรครีพับลิกันต่างพากันระดมหาจุดอ่อนและปมอื้อฉาวของกามาลา แฮร์ริส เป็นการใหญ่ โชคร้ายที่หาไม่ค่อยได้ โดนัลด์ ทรัมป์รีบทวีตต่อข่าวการเลือกแฮร์ริสด้วยการวิจารณ์ว่าเธอเป็นคน “น่ารังเกียจ” (nasty) “ไม่มีความน่านับถือ” (disrespectful) ทรัมป์ยังจำวันที่แฮร์ริสซักฟอกเบร็ตต์ คาวานอห์ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ทรัมป์เสนอชื่อและเข้ารับการซักฟอกในวุฒิสภาก่อนจะได้รับตำแหน่ง เธอซักและวิจารณ์พฤติการณ์เรื่องลวนลามทางเพศอย่างหนัก ทำให้คาวานอห์หน้าเสียและแสดงอาการโกรธอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาที่ทรัมป์เสนอและรับรองคุณภาพว่าคับแก้วนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วมีไม่ถึงครึ่งแก้ว

ฟ็อกซ์นิวส์กระบอกเสียงที่เลียทรัมป์ก็ไม่สามารถถล่มแฮร์ริสได้มากนัก นอกจากออกชื่อเธอผิดเพราะไม่ใช่ภาษาอังกฤษหรือละติน หากแต่มาจากรากสันสกฤต (“กมลา” แปลว่าดอกบัว) ฟ็อกซ์นิวส์วิจารณ์ว่าเธอไม่ใช่ “คนผิวดำ” จริงๆ แน่นอนเพราะแฮร์ริสเป็นลูกครึ่งแม่อินเดียพ่อจาไมกา ซึ่งฝ่ายขวาอุตส่าห์ไปขุดประวัติตระกูลพ่อว่าเป็นเจ้าของทาส ดังนั้นแฮร์ริสต้องไม่ใช่ทาสผิวดำแน่ๆ พ่อและแม่มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมโดยร่วมขบวนการสิทธิพลเมือง แฮร์ริสเล่าว่าพ่อแม่พาเธอนั่งรถเข็นเด็กไปร่วมประท้วงตั้งแต่เล็กๆ จำได้ว่ารอบๆ ตัวเห็นแต่ขาคนขวักไขว่ ก่อนจะเขียนหนังสือได้เต็มที่ เธอก็หัดเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีนิกสันเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดในเวียดนามแล้ว

คนที่มีอิทธิพลต่อแฮร์ริสมากคือแม่ พื้นฐานของแม่ ซึ่งมืชื่อว่า Shyamala Gopalan (ผมเดาว่าคือ “ศยามาลา”) เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่เป็นทมิฬในดินแดนทมิฬนาดูในอินเดีย นับว่าเป็นคนวรรณะชั้นสูง และส่งเสริมให้บุตรีเรียนสูง จึงได้ไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา โดยธรรมเนียมการแต่งงานกับคนเชื้อสายแอฟริกันคงถูกต่อต้านและปฏิเสธไม่ให้รับเข้ามาในตระกูล แต่ตากับยายของแฮร์ริสเป็นคนทันสมัย เห็นได้จากการเข้าร่วมการต่อสู้ในการเรียกร้องเอกราชให้อินเดียด้วย หลังจากนั้นก็ยังทำงานเคลื่อนไหวให้การศึกษาแก่คนในชนบทเรื่องการคุมกำเนิด

ต่อมาแม่หย่ากับพ่อเมื่อเธอเติบโตขึ้นในเมืองโอ๊คแลนด์ แม่ทำงานเป็นนักวิจัยมะเร็งทรวงอกในมหาวิทยาลัย เมื่อต้องเลี้ยงลูกสาวสองคนเพียงคนเดียว แม่จึงต้องอาศัยชุมชนเพื่อนบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นคนแอฟริกันอเมริกัน ส่งลูกสาวไปร่วมวงร้องเพลงในโบสถ์คนผิวดำ ไปเรียนศิลปะในศูนย์ชุมชน พี่เลี้ยงที่ดูแลตอนไม่อยู่บ้านก็คือเพื่อนบ้านคนผิวดำ แม้ไม่ลืมความภูมิใจในวัฒนธรรมอินเดีย แต่แม่ของแฮร์ริสตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกสาวให้มีความมั่นใจและภูมิใจในความเป็นคนผิวดำไม่ใช่อินเดีย โดยตัดสินใจส่งแฮร์ริสไปเข้ามหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่มีความสัมพันธ์กับคนผิวดำอย่างแนบแน่นและมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำมายาวนาน แทนที่จะส่งไปเข้าไอวี่ลีกเหมือนพ่อของทรัมป์ ดังนั้นสมาชิกและแกนนำกลุ่มสมาคมของสตรีผิวดำทั้งหลายจึงสนับสนุนและไม่รู้สึกว่าแฮร์ริสเป็นคนต่างเชื้อชาติ

แฮร์ริสเคยกลับไปเยี่ยมยายในอินเดีย จึงเติบโตมาในสองวัฒนธรรมและสองโลกที่เก่าแก่พอๆ กัน แต่ก็อยู่ห่างไกลและไม่มีปฏิสัมพันธ์อะไรกัน อเมริกาจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมสองโลกของเธอเข้ามาให้เป็นหนึ่งเดียว เธออึดอัดเมื่อถูกถามและบีบให้ตอบว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ เพราะเธอไม่เคยมีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของตน ถ้าต้องเลือกคำตอบเดียว เธอตอบว่า “อเมริกัน” นี่เป็นจุดยืนเดียวกับวิลเลียม ดูบัวส์ ผู้เขียน The Soul of Black Folks ว่าคนแอฟริกันอเมริกันมีสองวิญญาณคือแอฟริกันและอเมริกัน ไม่อาจเลือกอันเดียวได้ แต่ต้องไปด้วยกัน

กล่าวโดยสรุป กามารา แฮร์ริส ได้สร้างตำนานของการเป็นคนแรก ไม่ใช่แค่เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกให้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่เธอยังเป็นคนแรกในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น เป็นสตรีอินเดียอเมริกันคนแรก เป็นลูกสาวคนแรกของผู้อพยพ เป็นบัณฑิตคนแรกของมหาวิทยาลัยคนผิวดำ และเป็นสมาชิกคนแรกของสมาคมสตรีแอฟริกันอเมริกันที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย (African-American sorority)

การเมืองอเมริกันจึงก้าวหน้าพัฒนาไปท่ามกลางความหลากหลายและแตกต่าง ไม่มีประโยชน์ที่จะเชิดชูและสดุดีเชื้อชาติและรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียว อันเป็นแนวทางและนโยบายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คนผิวขาวเป็นเจ้า” และ “อเมริกาต้องมาก่อน” ทั้งยังกล่าวหาโจมตีบรรดาผู้ประท้วงในเมืองต่างๆ ว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวายและก่อการร้าย

การเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้จึงเป็นดัชนีว่าความเปลี่ยนแปลงในอเมริกาจะหันเข็มทิศไปทางใด ระหว่างความหลากหลายแตกต่างแต่อยู่ด้วยกันได้ กับความเป็นหนึ่งของคนผิวขาวและชาติอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save