fbpx

อาเซียนในเค้าลางพหุภาคีใหม่ กับไทยในระบอบการเมืองที่ไร้ซึ่งความแน่นอน: มองเศรษฐกิจ กับ แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ

วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความจริงที่ว่า ‘ความไม่แน่นอน’ คือกฎของโลกเศรษฐกิจ

แต่หากจะว่าไป วิกฤตโควิด-19 เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ย้ำเตือนให้โลกได้เห็นสัจธรรมข้อนี้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพราะโลกในวันนี้ยังครอบงำด้วยความไม่แน่นอนอีกมากมายมาแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกท่ามกลางการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจที่กำลังตึงเครียด และเทรนด์เศรษฐกิจที่ทยอยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รูปแบบใหม่

กระแสการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกเหล่านี้ย่อมไปยืนถึงหน้าประตูบ้านของบรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องหาทางรอดและปรับตัวให้ประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังเผชิญคำถามว่า ‘อาเซียน’ (ASEAN) ซึ่งเป็นองค์กรเรือธงแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาคของประเทศเหล่านี้ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในโลกที่บริบทและกรอบคิดทางเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรอบคิดทางพหุภาคีแบบเดิมที่กำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัย

และเมื่อมองลงมายังประเทศไทย แน่นอนว่าเราก็ไม่อาจหนีพ้นพายุแห่งความไม่แน่นอนที่กำลังพัดโหมทั่วโลก แต่ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังต้องเผชิญพายุแห่งความไม่แน่นอนที่ก่อตัวในประเทศตัวเอง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองท่ามกลางบรรยากาศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อทิศทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของไทยบนเวทีนานาชาติ 

แม้ว่าปี 2023 นี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นความหวังของประเทศไทย แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์พิสดาร ทำให้การเลือกตั้งอาจเป็นปัจจัยเพิ่มความไม่แน่นอนมากเสียกว่าที่จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

บทใหม่ของเศรษฐกิจอาเซียน-ไทย จะเป็นเช่นไร ท่ามกลางฉากของการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 การทวีความตึงเครียดของสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์โลก การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ และการเลือกตั้งใหญ่ของไทยที่กำลังจะมาถึง 101 ชวน ผศ.ดร. แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ หัวหน้าศูนย์พหุภาคีศึกษา สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Centre for Multilateralism Studies, S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) of Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์ มาสนทนาในเรื่องนี้

แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ
ผศ.ดร. แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ
ภาพจาก: https://www.rsis.edu.sg/profile/kaewkamol-pitakdumrongkit

มองทิศทางเศรษฐกิจในปี 2023 อย่างไร คิดว่าปีนี้จะมีปัจจัยหรือสถานการณ์สำคัญอะไรบ้างที่เป็นตัวชี้ทิศทางเศรษฐกิจ

ขอแบ่งเป็นปัจจัยภายนอกกับภายใน ถ้าเป็นปัจจัยภายนอก สิ่งที่เห็นได้อยู่ก็คือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีการแข่งขันที่เข้มข้นมากในบางภาคเศรษฐกิจ อย่างที่เห็นชัดก็เช่นสนามเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะฉะนั้นการวางแผนเรื่องห่วงโซ่อุปทานจะต้องคำนึงถึงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น

ถัดจากเรื่องนี้ก็คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในภาคอาหารและพลังงาน และเป็นไปได้ว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งตอนนี้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจเผชิญภาวะถดถอยเล็กน้อยในปีนี้ แล้วตอนนี้ยังมีประเด็นไต้หวันที่เริ่มร้อนแรงขึ้นมา ล่าสุด CSIS (Center for Strategic and International Studies) ซึ่งเป็นสถาบันคลังปัญญา (think tank) ของสหรัฐฯ อยู่ๆ ก็ทำแบบจำลองสงคราม (war simulation) ขึ้นมา จัดฉากทัศน์ว่าถ้าสมมติจีนบุกไต้หวัน จะเกิดการรบขึ้นอย่างไร ใครจะแพ้หรือชนะในสงคราม ซึ่งผลก็บอกว่าส่วนใหญ่สหรัฐฯ-ไต้หวันจะชนะ แต่ก็คงเจ็บปวดกันทุกฝ่าย ตอนนั้นจีนก็ออกมาตำหนิเรื่องการทำแบบจำลองนี้ ส่วนตัวมองว่าการที่อยู่ๆ ทำแบบจำลองนี้ขึ้นมาก็สะท้อนได้ส่วนหนึ่งว่าประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของสหรัฐฯ และอย่าลืมว่าประเด็นไต้หวันก็เกี่ยวโยงกับเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เลยต้องจับตาประเด็นนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่ส่วนตัวคิดว่าก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากก็คือการเปิดประเทศของจีน ซึ่งจะมีผลมากโดยเฉพาะในแง่การท่องเที่ยว คือจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

และยังมีเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจในระดับโลกก็คือการผสมผสานกันระหว่างประเด็นโลกร้อนกับประเด็นเศรษฐกิจที่มากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นสหภาพยุโรป (EU) ที่จะใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ในเดือนตุลาคมปีนี้ CBAM คือมาตรการปรับราคาสินค้าที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ โดย EU จะมีการคำนวณว่าสินค้านำเข้ามีคาร์บอนอยู่เท่าไร แล้วจะมีการเก็บภาษีจากตรงนั้น ต่อไปนี้เศรษฐกิจโลกกำลังจะได้เห็นเทรนด์แบบนี้เยอะขึ้น ซึ่งทำให้ทั่วโลกต้องปรับตัว

ส่วนปัจจัยภายใน สำหรับประเทศไทยที่สำคัญมากก็คือการเลือกตั้ง เดี๋ยวเราค่อยคุยรายละเอียดตรงนี้กันต่อไป แต่เบื้องต้นคิดว่าการเลือกตั้งปีนี้จะทำให้เราได้รัฐบาลผสมซึ่งเป็นไปได้หลายรูปแบบมาก ตรงนี้จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอยู่พอสมควร และปัจจัยภายในอีกอย่างหนึ่งที่จะเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจเราก็คือเรื่องเงินเฟ้อ คือพอค่าครองชีพสูงขึ้น มันก็ไปกระทบกับปัญหาที่เรามีอยู่แล้วอย่างหนี้ครัวเรือน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 88 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไปแล้ว ขณะที่ตัว พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ก็กำลังจะสิ้นสุดลง แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือปัจจัยที่ส่งเสริมรัฐบาลให้อัดฉีดเงินให้กับกลุ่มที่เปราะบางก็จะน้อยลง ตรงนี้คิดว่าน่าจะกระทบเศรษฐกิจพอสมควร

ถ้าถามว่าจากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้พอมองเห็นทิศทางเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร เท่าที่เห็นตัวเลขคร่าวๆ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยก็จะบวกอยู่ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ เพราะได้แรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก แต่ภาคเศรษฐกิจที่เราอาจจะได้รับผลกระทบมากคือภาคการส่งออก เพราะยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเผชิญเศรษฐกิจถดถอย ทำให้การส่งออกของเราจะขาดอุปสงค์ในทางนี้ไป แต่โดยรวมแล้วเราก็ถือว่าจะโตได้ค่อนข้างดี เกินกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ถ้าเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว เราโตน้อยกว่า ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศเรา โดยเฉพาะการที่แรงงานของเรายังอาจไม่มีทักษะมากพอที่จะตามทันเทคโนโลยีและรูปแบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป

แล้วถ้าขยับมามองกว้างขึ้นในระดับเศรษฐกิจอาเซียน อาจารย์พอจะมองเห็นแนวโน้มอะไร และจากที่ผมติดตามหลายๆ บทวิเคราะห์ของอาจารย์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นเรื่องการพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แล้วจนถึงตอนนี้ความพยายามฟื้นตัวของอาเซียนไปถึงไหน และโควิด-19 จะยังเป็นปัจจัยสำคัญไหมสำหรับปีนี้

คิดว่าโควิด-19 น่าจะไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญแล้วในปีนี้ อย่างประเทศไทยเอง สถานการณ์ก็โอเคแล้ว สภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาปกติ คนเริ่มออกไปทำงาน จับจ่ายใช้สอยมานานแล้ว และโลกก็เปิดมากขึ้นแล้ว ตอนแรกที่จีนประกาศว่าจะเปิดประเทศ ก็อาจจะมีความกังวลของหลายคนว่าจะเกิดสายพันธุ์ใหม่หรือเปล่า แต่ก็เห็นนักวิชาการออกมาพูดว่าไม่น่าวิตกกังวลอะไร เพราะคนฉีดวัคซีนกันเยอะแล้ว อย่างที่สิงคโปร์เองก็มีข่าวว่าฉีดวัคซีน mRNA 3 เข็มก็พอต่อการทำให้ไม่ป่วยรุนแรงเมื่อติดเชื้อ ไม่ต้องไปฉีดเข็มที่ 4 ก็ได้ เพราะฉะนั้นโควิด-19 ไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว

ส่วนในประเด็นการเดินหน้าฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ผ่านมาก็ถือเป็นโจทย์สำคัญจริง จากที่ติดตามมาคือชาติอาเซียนมีความพยายามฟื้นตัวด้วยการอาศัยความร่วมมือภายใต้กรอบของอาเซียนและอาเซียนพลัส อย่างตอนที่โควิด-19 เกิดใหม่ๆ ก็เกิดความริเริ่มโดยเฉพาะ ASEAN Comprehensive Recovery Framework ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดทิศทางว่าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร จะฟื้นฟูให้เศรษฐกิจผ่านช่วงโควิด-19 ไปอย่างไร โดยกรอบความตกลงนี้มี 5 ด้าน ด้านแรกคือการพัฒนาระบบสาธารณสุข ด้านที่ 2 คือการสร้างความมั่นคงทางมนุษย์ (human security) ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาสาธารณสุข ด้านที่ 3 คือการพัฒนาในแง่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ Intra-ASEAN Market and Broader Economic Integration ด้านที่ 4 คือการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) และด้านที่ 5 คือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกัน (sustainable and resilient future) กรอบนี้คือความตั้งใจที่จะออกมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ให้ผ่านพ้นโควิด-19 ไปให้ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ยังมีกรอบความร่วมมืออื่นอีกมากมายที่กำลังคุยกันและดำเนินการอยู่

แล้วถ้ามองประชาคมอาเซียนเฉพาะในเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) อันที่จริงในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 (AEC Blueprint 2025) ก็มีแนวนโยบายปฏิบัติต่างๆ อยู่แล้ว แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา อาเซียนก็ตกลงกันว่าจะมีการขับเคลื่อนแนวนโยบายบางข้ออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะข้อที่จะเน้นไปในทางที่ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและเกิดความมั่นคงในระยะยาว และยังมีไอเดียสร้างกรอบความร่วมมือเฉพาะด้านต่างๆ ขึ้นมาภายใต้ AEC ที่กำลังพูดกันเยอะก็คือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable tourism) ซึ่งกำลังศึกษาอยู่และคงมีการคุยในที่ประชุมอาเซียนกันต่อไป อีกด้านคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ก็มีกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Framework of Circular Economy) ที่เริ่มใช้แล้ว และตอนนี้อาเซียนก็อยากจะมีความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) โดยเฉพาะด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะมีขึ้นในทิศทางไหน

นอกจากนี้ก็มีกรอบความร่วมมือทางการค้าอย่างเช่น RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: ข้อตกลงการค้าเสรี โดยมีสมาชิกได้แก่ ชาติอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ที่อันที่จริงก็ถือว่าเป็นตัวช่วยทางเศรษฐกิจของอาเซียนในเวลานี้เหมือนกัน การมีข้อตกลงนี้ขึ้นมาก็ช่วยในเรื่องการเชื่อมต่อทางห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) มีการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเชื่อมโยงและรวมตัวกันได้มากขึ้น  

การมีความร่วมมือหรือข้อตกลงพวกนี้ร่วมกันสำคัญกับเศรษฐกิจอาเซียนในตอนนี้ขนาดไหน โดยเฉพาะในแง่การช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

มันช่วยในการขับเคลื่อนประเด็นที่มีความสำคัญในโลกหลังโควิด-19 ที่เราเห็นว่ามีทั้งเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกัน

ส่วนทางด้าน RCEP ก็มีความสำคัญค่อนข้างเยอะเลย มันอาจจะเป็นตัวที่หลายคนมองข้าม แล้วยิ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หลายคนก็อาจจะมองว่า RCEP ดูตื้นเขิน ไม่ลึกเท่ากับ CPTPP แต่ถ้าดูลงไปในรายละเอียดจริงๆ RCEP ก็เหมาะกับอาเซียนแล้ว เพราะมันช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนกับโลก

RCEP มีข้อบทว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (rule of origin) ซึ่งกำหนดอัตราส่วนต่ำสุดของการใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ถ้าดูข้อตกลงการค้าอื่นๆ อย่าง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) นั่นกำหนด rule of origin ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับ RCEP แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ก็คือว่า made in RCEP ได้แล้ว คนอาจจะมองว่านี่คือตัวชี้วัดว่า RCEP คุณภาพไม่ดี แต่ถ้ามองมุมกลับ การกำหนดตัวเลขนี้แปลว่าเราต้องการมูลค่าเพิ่ม (value added) แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ภายใน RCEP และอีก 60 เปอร์เซ็นต์มาจากที่ไหนก็ได้ในโลก ตรงนี้เลยเป็นสะพานที่จะทำให้ประเทศอาเซียนสามารถวัตถุดิบได้จากหลายทาง ลองนึกภาพว่าหากในกลุ่มประเทศ RCEP เกิดการปิดโรงงานหรือสายพานการผลิตติดขัดขึ้นมา เราก็ยังไปหาวัตถุดิบจากข้างนอกได้อยู่ 60 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้เรายืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับนอกภูมิภาคได้ดี เพราะฉะนั้นส่วนตัวมองว่า rule of origin ของ RCEP เป็นจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน

เท่ากับอาจารย์มองว่าการมีความร่วมมือ-การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เป็นตัวช่วยในการฟื้นตัวและเดินหน้าเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ได้ใช่หรือเปล่า

จะพูดอย่างนั้นก็ได้นะ คือมันต้องประกอบกัน ต้องมีทั้งความร่วมมือพหุภาคี ทวิภาคี ไตรภาคี ถ้าเราเป็นผู้นำประเทศ เราคงไม่ใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าใบเดียว (put all your eggs in one basket) ใช่ไหม ก็ต้องกระจายความเสี่ยงไป เพราะฉะนั้นการมีความร่วมมือเยอะๆ ไว้ก็ดีกว่า เราควรมีหลายกรอบเศรษฐกิจให้เลือกเล่นในสถานการณ์ต่างๆ

แต่เคยมีการวิเคราะห์ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (economic nationalism) รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจะหมายความว่าทำให้แต่ละประเทศอยากร่วมมือหรือรวมตัวทางเศรษฐกิจลดน้อยลง อาจารย์เห็นด้วยหรือเปล่า

ไม่ๆ แต่ละประเทศอาจจะตกใจในตอนต้นๆ ช่วง 2-3 เดือนแรกของการระบาด เช่น ต้องรีบเก็บสต็อกกักตุนสินค้าอย่างพวกชุด PPE ที่ทำให้อุปสงค์พุ่งสูง เพราะตอนนั้นก็น่าตกใจจริงๆ คือเแต่ละประเทศไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สักพักหนึ่ง บริษัทก็เพิ่มการผลิต บางที่ก็ผลิตกันทั้งวันทั้งคืนจนผลิตสินค้าออกมาได้มากขึ้น ปัญหานี้ก็คลี่คลายไป แล้ววิกฤตนี้ยังทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน ตระหนักถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น เพราะเห็นว่าพอห่วงโซ่อุปทานชะงัก มันกระทบถึงกันหมด วิกฤตนี้เลยกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศต่างๆ ต้องมาร่วมมือกันเพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานกลับมามีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

และในตอนนั้น เราก็ยังได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศหลายด้าน ทั้งความร่วมมือด้านวัคซีนหรือด้านยา เขารู้ตัวว่าต้องร่วมมือกันเพราะเป็นวิกฤตระดับโลก เพราะฉะนั้นสรุปแล้ว ส่วนตัวคิดว่าวิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิด economic nationalism มากขึ้นเท่าไร

มันอาจไม่ถึงขั้นทำให้เกิด economic nationalism รุนแรงขึ้น แต่ก็มีคนมองว่าเราอาจจะได้เห็นห่วงโซ่อุปทานโลกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ (fragmented) มากขึ้น เช่นแตกเป็นห่วงโซ่ตะวันตก ห่วงโซ่จีน หรือห่วงโซ่ย่อยระดับภูมิภาค อาจารย์คิดแบบนั้นไหม

มันจะ fragmented ในบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้น เช่นเซมิคอนดักเตอร์ที่มีปัจจัยด้านการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ด้วย แล้วยังมีส่วนที่สหรัฐฯ อาจจะแข่งกับยุโรปเองด้วยในบางจุด เลยคิดว่ามันต้องดูกันเป็นส่วนๆ ไป แต่ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ก็น่าจะแตกแน่นอนอยู่แล้ว เพราะสหรัฐฯ ก็ประกาศกร้าวว่าจะไม่ขายให้จีน และยังบังคับให้อีกหลายประเทศไม่ให้ขายบางเทคโนโลยีให้กับจีนอีก

อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะแตกก็คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กเทค (big tech คือบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น Apple, Meta, Twitter, ฯลฯ) เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีกฎหมายออกมาทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และอียูด้วย ที่เป็นการช่วยบริษัทของประเทศตัวเองในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้เงินอุดหนุน และการลดหย่อนภาษี และกฎหมายควบคุม (regulate) ของบริษัทเหล่านี้ก็มีผลในการไปกีดกันบริษัทประเทศอื่น มันเป็นเรื่องของการแข่งกันด้านการผลิตเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ  

แล้วอาจารย์คิดว่าทิศทางอนาคตของความร่วมมือพหุภาคี (multilateralism) จะเป็นอย่างไรต่อไป

ถามได้ดีมาก (หัวเราะ) จริงๆ อยากพูดเรื่องนี้มานานแล้ว คืออยากจะบอกว่าไอเดียหรือกรอบของ multilateralism ที่คลอดออกมาช่วงยุคหลังสงครามเย็นและเคยเวิร์กในยุคนั้น ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่แล้วในยุคนี้ ตอนนี้ศูนย์ของเรา (Centre for Multilateralism Studies, RSIS, Nanyang Technological University) ก็คิดว่าจะต้องมีการคิดใหม่-จินตนาการใหม่ในเรื่อง multilateralism กันอยู่ว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้ มันต้องเป็นอย่างไรถึงจะเวิร์ก ซึ่งเราคิดกันว่าจะต้องมีการจัดเวิร์กช็อป เชิญนักวิชาการมาระดมสมองพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าในภูมิภาคต่างๆ ของตัวเองมีความท้าทายอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากช่วงหลังสงครามเย็น และคุยกันว่าจะมีไอเดียสร้างพหุภาคีชุดใหม่อย่างไรให้ตอบโจทย์โลกปัจจุบันมากขึ้น

ตอนนี้เรามองว่าประเทศต่างๆ ยังไม่ได้ระดมสมองในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่ก็พอมีเค้าโครงความคิดแล้วว่าต้องดูที่ดุลอำนาจ (balance of power) แบบใหม่ว่ากำลังไปทิศทางไหน เช่นว่าตอนนี้เศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economy) กำลังจะยิ่งมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกและจะยิ่งมีส่วนร่วมในการเขียนกฏระหว่างประเทศมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เทคโนโลยีดิจิทัลก็เปลี่ยนโฉมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตลาดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นด้วยพลวัตต่างๆ ที่เปลี่ยนไปจากช่วงหลังสงครามเย็นมาก มันเลยเป็นไปไม่ได้ว่าโลกของเราจะยังยึดหรือปฏิบัติตามกรอบหรือกฎเกณฑ์เดิมๆ ที่ค่อนข้างไปทางตะวันตกมากเหมือนเมื่อก่อน และเรายังต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้แยกย่อยเป็นแต่ละภาคเศรษฐกิจไปด้วย

ที่บอกว่า multilateralism แบบเดิมกำลังไม่เวิร์ก หมายถึงว่าไม่เวิร์กอย่างไรบ้าง

อย่างที่เราเห็นว่า WTO (World Trade Organization) และ IMF (International Monetary Fund) อยู่ภายใต้อิทธิพลชาติตะวันตก ซึ่งประเทศฝั่งเอเชียหรือกลุ่ม emerging economy โดยเฉพาะจีน ก็มองว่ากฎต่างๆ ที่ผลิตมาในช่วงหลังสงครามเย็น เอนไปทางโลกตะวันตกมากเกินไป ซึ่งตอนนี้เสียงของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่พวกนี้ก็ดังขึ้นมาก โดยมองว่ากรอบพวกนี้ไม่ได้ represent เสียงของพวกเขาเท่าที่ควร หรือรวมถึง UN (United Nation หรือองค์การสหประชาชาติ) เองก็เริ่มมีความตึงเครียดลักษณะนี้ขึ้นมาเยอะ แล้วพอประเทศเหล่านี้ไม่โอเค ก็เริ่มไม่อยากร่วมกับกรอบนี้ และพยายามไปหากรอบอื่นมากกว่า

แล้วอาเซียนถือว่าเวิร์กอยู่ไหม

(หัวเราะ) อาเซียนเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องวิเคราะห์เหมือนกันนะ อย่างหลักการที่ว่าอาเซียนต้องยึดหลักฉันทมติ (consensus) คือทุกประเทศต้องตกลงเหมือนกัน ก็ต้องมาคิดว่ายังได้อยู่ไหม ซึ่งที่ผ่านมาอาเซียนก็มีบางเรื่องที่ไม่ต้องใช้ฉันทมติก็เวิร์กนะ คือมันมีหลัก ASEAN minus X (ประเทศที่พร้อมสามารถดำเนินการตามข้อตกลงไปก่อน ส่วนประเทศที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมทีหลัง) ที่ทำให้บางเรื่องสำเร็จได้ เช่น เรื่องการเปิดเสรีการขนส่ง (transport liberalisation) รวมถึงเรื่องสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ที่มีปัญหาเรื่องเงินทุน เราอาจต้องคิดปรับใหม่ในประเด็นพวกนี้ การคิดใหม่-จินตนาการใหม่ในเรื่อง multilateralism ที่ศูนย์เราจะทำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโละไอเดียหรือกรอบเดิมๆ ทิ้งไปทั้งหมด แต่ศูนย์เราก็จะวิจัยดูด้วยว่าจะมีกรอบไหนที่จะปฏิรูปอะไรได้ได้บ้าง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศไปพร้อมๆ กับกรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโลกที่เปลี่ยนไป

ส่วนถ้ามองในแง่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอาเซียน ตอนนี้ก็ถือว่าเวิร์กอยู่ แต่ตอนนี้ก็มีปัจจัยบางอย่างที่อาจจะทำให้เราต้องมาเริ่มคิดใหม่ในบางเรื่อง โดยเฉพาะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ แล้วตอนนี้ก็เริ่มมีคอนเซปต์ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ‘friendshoring’ (การเลือกฐานการผลิตในประเทศที่เป็นพันธมิตรตนเท่านั้น) คำนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาและโปรโมตโดยสหรัฐฯ คำถามคือแล้วใครคือ friend ของเรา คอนเซปต์นี้จะเปลี่ยนโฉมห่วงโซ่อุปทานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปอย่างไร คือมันเป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงกับภูมิรัฐศาสตร์เยอะมาก ในภาพใหญ่คือเราก็ต้องดูว่ากระแสภูมิรัฐศาสตร์จะไปทางไหน และจะมีผลต่อ multilateralism อย่างไร  

วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยให้อาเซียนเกิดการปรับตัวทางสถาบันอะไรไหม เพราะถ้าย้อนไปตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (Asian Financial Crisis – AFC) ปี 1997 วิกฤตนั้นทำให้อาเซียนเกิดการปรับตัวชัดเจนมาก คือเกิดการรวมตัวหนาแน่นขึ้น เกิดกลไกความร่วมมือต่างๆ มากขึ้น แล้วในตอนนี้ที่อาเซียนเจอวิกฤตอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ได้เห็นแนวโน้มการปรับตัวอะไรไหม

ปี 1997 คือวิกฤตในภาคการเงิน แต่ตอนนั้นเราฟื้นตัวได้เร็วเพราะภาคการส่งออกค่อนข้างแข็งแรง บวกกับมีอุปสงค์จากทางกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ทำให้เราส่งออกได้ แต่วิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตอีกแบบหนึ่งเลย คือมันทำให้เกิดการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน พอคนป่วยก็ไม่มีแรงงานเข้ามาในภาคการผลิต มีการปิดโรงงาน ซึ่งมันทำให้เราไม่สามารถส่งออกได้ และถ้าเปรียบเทียบในแง่ความรุนแรง โควิด-19 รุนแรงกว่าเยอะมาก มันมีกราฟหนึ่งที่ IMF พล็อตขึ้นมา แล้วจะเห็นว่าตอนที่เกิดวิกฤต AFC เศรษฐกิจเอเชียก็ร่วงลงมาระดับหนึ่ง แต่พอเป็นวิกฤตโควิด-19 ร่วงลงมาลึกกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งอีก วิกฤตนี้ค่อนข้างหนัก มันกระทบรอบด้านมากกว่า และอีกอย่างคือโควิด-19 มาในช่วงที่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น พอมีหลายปัจจัยมากระทบพร้อมกัน เลยทำให้เศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ดิ่งเยอะ

ที่มา: https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2020/04/15/blog-covid-19-pandemic-and-the-asia-pacific-lowest-growth-since-the-1960s

ถ้าถามว่าอาเซียนเปลี่ยนไปอย่างไรจากโควิด-19 ก็เปลี่ยนไปนะ ที่สังเกตได้คืออาเซียนเน้นเรื่อง resilience กับ sustainability มากขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้อาเซียนคิดว่านี่อาจจะไม่ใช่วิกฤตครั้งสุดท้าย ในอนาคตอาเซียนต้องเจอวิกฤตที่ไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้าอีกแน่ แล้วเราจะมีมาตรการอะไรให้ความร่วมมือของเรายังอยู่คงทน ยังเดินหน้าได้ มันก็แสดงให้เห็นจากการออก ASEAN Comprehensive Recovery Framework อย่างที่พูดไป รวมทั้งในกรอบของ AEC Blueprint 2025 เองก็กำลังมาเน้นในด้าน resilience กับ sustainability นี้เยอะขึ้นมาก ในภาพรวมคือมันไม่ใช่ว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้อาเซียนหักทิศทางไปอีกด้านหนึ่งแบบนั้น มันก็ยังไปทิศทางเดิม เพียงแต่มีการมองในมิติที่กว้างขึ้น และเน้นบางเรื่องมากขึ้นเท่านั้นเอง

หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเห็นว่าอาเซียนเกิดกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมากเพื่อปรับตัวจากวิกฤต เช่น อาเซียนบวกสาม (ASEAN plus three) แล้วก็ทำให้เกิดกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเช่น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative – CMI) ที่เป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แล้วหลังจากโควิด-19 มา เราได้เห็นการเกิดขึ้นของกลไกอะไรใหม่ๆ ในอาเซียนที่เป็นรูปธรรมไหม

วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้หลายๆ ประเทศในภูมิภาคผลักดันให้เกิดกรอบความร่วมมือ ASEAN plus three Financial Cooperation ขึ้นมา คือความร่วมมือทางการเงินระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การที่จีนกับญี่ปุ่นร่วมมือกันผลักดันก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้กรอบนี้เกิดขึ้นมา กรอบนี้เป็นกลไกที่ถือว่าพลิกจากแบบเดิมๆ เลย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือตัวเอง (self-help mechanism) เพราะตอนนั้นหลายประเทศกำลังไม่พอใจ IMF และท่าทีของประเทศตะวันตกในด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทำให้เล็งเห็นว่าถึงเวลาที่จะมีกลไกกู้วิกฤตในเวอร์ชันของภูมิภาคนี้เอง แต่ตอนนี้เรายังไม่ค่อยได้เห็นอะไรใหม่แบบพลิกโฉมความร่วมมือ อย่างที่บอกไปแล้วคืออาเซียนทำ ASEAN Comprehensive Recovery Framework ขึ้นมา และเราก็ยังต้องใช้ AEC Blueprint 2025 อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ไปเน้นบางจุดขึ้นมาก่อน

พูดถึง AEC Blueprint 2025 อีกแค่ 2 ปี เราก็จะถึงปี 2025 แล้ว ถ้าเรามองจนถึงตอนนี้ อาเซียนดำเนินการตามแผนงานฉบับนี้ไปได้ถึงไหน มีประเด็นไหนที่ค่อนข้างสำเร็จแล้ว และมีประเด็นไหนที่ยังห่างไกลเป้าหมายบ้าง

ประเด็นนี้ต้องไปดูรายละเอียดที่เอกสาร Mid-Term Review ซึ่งบอกชัดเจนว่าความคืบหน้าแต่ละด้านไปถึงไหน แล้วแสดงตัวเลขให้เห็นชัดเจนเลย ในภาพรวม ด้านที่เดินหน้าไปได้อยู่ก็คือด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและด้านดิจิทัล ซึ่งอาเซียนให้ความสำคัญอยู่เยอะ ส่วนด้านที่ยังขับเคลื่อนไปได้ยากหน่อยก็คือ Resilient, Inclusive, People-Oriented and People-Centred ASEAN (ความยืดหยุ่น ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งตอนนี้ยิ่งยาก เพราะโควิด-19 ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้นไปอีก

ตอนที่เราเข้าสู่ AEC กันใหม่ๆ เมื่อปี 2015 เราตื่นตัวกันมากเพราะกลัวเรื่องการเปิดเสรีในบางวิชาชีพ แล้วจะทำให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน แต่ตอนนี้ดูเหมือนเงียบไปแล้ว ตกลงประเด็นนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ยังไม่ขับเคลื่อนได้เท่าไหร่เลย ยังเหมือนเดิม ก็ยังมี 8 วิชาชีพเหมือนเดิมที่อยู่ภายใต้ ASEAN MRA (ASEAN Mutual Recognition Arrangements) ซึ่งมีการยอมรับในใบรับรองวิชาชีพซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ สามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่เวิร์กเท่าไหร่ เพราะแต่ละประเทศมักมีกฎระเบียบอื่นๆ บล็อกอยู่เยอะ เช่น ต้องมีการสอบภาษาก่อน จะมีแต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสอบภาษาของประเทศเขาด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งคือถ้ารวมจำนวนแรงงานใน 8 สาขาวิชาชีพนี้ คิดเป็นแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในอาเซียนเอง

แปลว่าเรื่องนี้ยังอีกไกลเลย?

อีกไกลแหละ จะว่าไปคือความสำเร็จในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีเรื่องอัตลักษณ์เป็นปัจจัยสำคัญมาก คือคนต้องมองว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของมันจริงๆ แต่อาเซียนอาจจะยังไม่ได้เป็นเหมือนยุโรป คือคนที่นั่นมี 2 อัตลักษณ์ ถ้าเราไปคุยกับคนยุโรป สมมติเป็นคนเยอรมัน เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนเยอรมันและคนอียู (EU – European Union) ไปถามคนสเปนก็เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นอาเซียน คนก็จะบอกแค่ว่า เราเป็นคนไทย เราเป็นคนพม่า แค่นั้นจบ ไม่มีการบอกว่าเราเป็นคนอาเซียน

แล้วหลังจากที่ AEC Blueprint ฉบับนี้จะสิ้นสุดลงไปในปี 2025 ถ้ามี blueprint ฉบับใหม่หลังจากนั้น อาจารย์คิดว่าควรจะต้องให้ความสำคัญกับด้านไหนหรือเพิ่มด้านไหนเข้ามาไหม

วิกฤตหรือความท้าทายต่างๆ เช่น โควิด-19 หรือปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบ AEC blueprint ฉบับใหม่ คิดว่าต่อไปอาเซียนควรจะให้ความสำคัญด้าน digital, resilience และ sustainability มากขึ้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้พลวัตเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเร็วกว่าเดิม เพราะฉะนั้นอาเซียนควรปรับองค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เช่น การเพิ่ม efficiency โดยอาจจะลดจำนวนการประชุมให้น้อยลง เพราะตอนนี้จำนวนการประชุมในกรอบอาเซียนและอาเซียนพลัสทั้งหมดอยู่ประมาณ 1000 การประชุมต่อปี ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมาก อาเซียนควรคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะลดจำนวนการประชุม แต่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้กระบวนการขับเคลื่อนความร่วมมือก็ควรทำให้สั้นและกระชับมากขึ้น เพื่ออาเซียนจะได้ออกกฏระเบียบได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจต่อไป

ถ้าย้อนมามองที่ประเทศไทย อาจารย์คิดว่าความร่วมมือต่างๆ ภายใต้อาเซียน อย่างเรื่องการเดินหน้า AEC หรือข้อตกลงการค้า RCEP ยังถือว่าจำเป็นสำหรับประเทศไทยขนาดไหนในช่วงเวลานี้

สำคัญนะ อย่างน้อยชาติอาเซียนก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด (immediate neighbor) เพราะฉะนั้นมันสำคัญอยู่แล้วในแง่เศรษฐกิจและในแง่ความร่วมมือในมิติต่างๆ กรอบเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องหนึ่ง และมันยังมีมิติอื่นๆ ที่จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วย เช่นประเด็นเรื่องการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติดข้ามชาติ หรืออาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อาเซียนยังสำคัญกับประเทศไทยก็คือเราเป็นประเทศที่ค้าขายเยอะ ถ้าไปดูที่ตัวเลขการเปิดกว้างทางการค้า (trade openness) ของเรา มันอยู่ที่ 117-118 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะฉะนั้นการมีความร่วมมือระหว่างประเทศถึงอย่างไรก็ยังสำคัญกับประเทศเรามากๆ อยู่ ไม่ใช่แค่ในอาเซียนด้วยกันเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 14 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมคู่ค้าหลักของเราท้้งหมด ยกเว้นสหรัฐฯ เลยคิดว่าถ้าเรามี Thailand-US FTA ก็คงดี แต่สถานการณ์การเมืองภายในสหรัฐฯ ตอนนี้ไม่เอื้อให้เขาทำ FTA กับประเทศไหนเลย

ถ้าความร่วมมือระหว่างประเทศยังสำคัญมากสำหรับประเทศไทย แล้วที่ผ่านมาประเทศไทยแสดงบทบาทในด้านนี้ได้ดีขนาดไหน โดยเฉพาะถ้ามองไปที่ช่วงเวลา 8 ปีภายใต้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือถ้าถามกว้างกว่านั้นอีกหน่อยคือการเมืองในประเทศของเราช่วง 8 ปีที่ผ่านมาส่งผลถึงบทบาทของเราบนเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง

ส่งผลแน่นอนอยู่แล้ว ประเด็นคือพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถลบภาพของการขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารได้ แล้วยังมีกลไกพิเศษที่ทำให้เขาสามารถสืบทอดอำนาจ อย่างเช่น ส.ว. 250 เสียง ซึ่งก็แน่นอนว่ามันทำให้การเมืองไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกระทบกับความเชื่อมั่นของเราบนเวทีต่างประเทศ แล้วที่ผ่านมาที่มีการเรียกร้องให้ลบล้างกลไกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยออกไป อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการแก้อำนาจ ส.ว. เขาก็ไม่ได้ทำตรงนี้ กลไกพวกนี้ก็ยังอยู่ อย่างการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คาดว่าจะมีการใช้เสียง ส.ว. 250 เสียงอีก มันทำให้ภาพของเราดูไม่ค่อยดีในสายตานานาชาติ

ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้อย่างในยุคของนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) ไทยโดดเด่นมากบนเวทีโลก คืออาจจะโดดเด่นด้วยความที่เขาเป็นคนเก่งด้วย แล้วอีกอย่างคือเขามาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ถึงทักษิณจะมีข้อเสียอยู่เยอะ แต่บนเวทีระหว่างประเทศ เขาคือคนเก่งในแง่วิสัยทัศน์ เขาสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้นำอาเซียนหลายคนในยุคนั้นได้ สามารถไปหารือกับโก๊ะ จ๊กตง และลี กวนยู (อดีตนายกฯ สิงคโปร์) ได้ ตอนนั้นหลายคนก็เริ่มมองว่าไทยกำลังขึ้นมาเป็นตัวนำขับเคลื่อนอาเซียนคู่ไปกับสิงคโปร์ได้ ตอนนั้นเกิดข้อริเริ่มต่างๆ ที่ไทยกับสิงคโปร์ร่วมกันผลักดันก่อน แล้วอีก 8 ประเทศที่เหลือถึงมาตาม จนข้อริเริ่มออกมาได้เป็นรูปธรรม อย่างเช่น เรื่องการเปิดเสรีเที่ยวบินขนส่งสินค้า (ASEAN Multilateral Agreement on the Full Liberalisation of Air Freight Services) ที่ไทยกับสิงคโปร์คุยกันเองก่อน แล้วถึงดึงประเทศอื่นๆ ตามมาจนสำเร็จ แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนภาพบทบาทของไทยแบบนั้นค่อนข้างหายไป กลายเป็นว่าประเทศที่เป็นผู้นำในการเสนอไอเดียต่างๆ ในอาเซียนเป็นสิงคโปร์หรืออินโดนีเซียมากกว่า ไม่มีไทยแล้ว ถ้าถามว่าเราไปผิดพลาดตรงไหน ก็ย้อนกลับไปที่เรื่องระบอบการเมืองตอนนี้ที่ทำให้ต่างชาติไม่เชื่อมั่นและยังมีแนวการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ทำให้คนเคลือบแคลงอยู่เยอะ

แต่เรื่องที่ต้องชมในสมัยประยุทธ์ก็มี อย่างบทบาทไทยที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปก (APEC) ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เราสามารถชมรัฐบาลนี้ได้ เพราะตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าการประชุมผู้นำเอเปกจะมีแถลงการณ์ร่วม (joint statement) ออกมาได้ เพราะก่อนหน้านั้นในการประชุมระดับย่อยลงมา อย่างการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เพราะมีบางประเทศที่วอล์กเอาต์ประท้วงรัสเซีย แต่ปรากฏว่าการประชุมระดับผู้นำเดือนพฤศจิกายนสามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ซึ่งก็คงใช้กำลังภายในเยอะเหมือนกัน และต้องถือว่าเกินความคาดหมาย แล้วพอเราออกแถลงการณ์ร่วมได้ ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะได้ผลักดันเป้าหมาย BCG (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทยเอง

ถ้ามองกว้างกว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์มอง 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมามีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

จากที่นักลงทุนคุยๆ กัน เขารู้สึกว่าการเมืองไทยไม่ค่อยนิ่ง เขายังไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่กับการลงทุนในประเทศไทย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถลบภาพของการขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยได้ รวมถึงมีกฎหมายแปลกๆ ที่ทำให้การเมืองไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เช่น กฎหมายที่มีช่องให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ แล้วก็มีการซื้อตัว ส.ส.งูเห่าต่างๆ เกิดขึ้น ตรงนี้ยิ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในแง่ความไม่แน่นอนของการเมืองไทย

พูดถึงการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ อาจารย์มองอย่างไรบ้าง คิดว่าจะมีนัยทางเศรษฐกิจอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความไม่แน่นอนเยอะ หลักๆ คือเราไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลกันแน่หลังเลือกตั้ง มันมีอะไรหลายอย่างที่เราคาดการณ์ไม่ได้ ถ้าเป็นการเลือกตั้งเมื่อก่อน สมมติในการเลือกตั้งปี 2011 ที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุด เราก็เห็นได้เลยว่าพรรคนี้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแน่นอน แต่พอเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2019) พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากสุดก็จริง แต่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายค้าน คือมันพลิกได้ เพราะประเด็นคือมันมี ส.ว. 250 เสียงที่โหวตให้พลเอกประยุทธ์ แล้วยังมีการซื้อตัว ส.ส.กันหลังการเลือกตั้งได้อีก เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเดาไม่ได้เหมือนกัน

แล้วถ้าถามว่ามันมีนัยทางเศรษฐกิจอย่างไร ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ามันทำให้นักลงทุนต้อง wait and see คือรอก่อนแล้วกัน อย่าเพิ่งเอาเงินไปลงทุนเลยเพราะมันเสี่ยงเยอะ สมมติลงทุนไปแล้ว แต่เกิดเปลี่ยนรัฐบาลขึ้นมา แล้วรัฐบาลใหม่ไม่โอเคกับโปรเจกต์เราหรือล้มโปรเจกต์เรา ก็ยุ่งเลย เพราะฉะนั้นปีนี้นักลงทุนก็อาจจะชะลอการลงทุน ซึ่งคิดว่าน่าจะชะลอกันไปถึงไตรมาส 2 ของปีนี้เลยด้วยซ้ำ แล้วสมมติว่ามีการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ก็ต้องดูอีกว่าจะตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ แล้วจะตั้งได้ไหมก็ไม่รู้ อาจจะมีการทะเลาะกันหรือดูดตัว ส.ส.กันไปมา ก็ต้องดีเลย์การตั้งรัฐบาลไปเรื่อยๆ สมมติมิถุนายนยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไปจนถึงกรกฎาคมก็ยังตั้งไม่ได้อีก อย่างนี้ถือว่าวิกฤตเลยนะ

แปลว่าการเลือกตั้งคือปัจจัยสำคัญมากของเศรษฐกิจไทยปีนี้?

สำคัญที่สุดเลย เพราะนักลงทุนต้องรอดูผลการเลือกตั้งเพื่อดูว่าจะมีทิศทางการลงทุนอย่างไร

ถ้าอย่างนั้น เราจะมีหวังอะไรกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้บ้างไหม

(หัวเราะ) โห พูดยากเลย ก็เหมือนเดิมคือคิดว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง จริงๆ ในทางเศรษฐกิจ เราอาจจะพอไปได้อยู่ เพราะถึงอย่างไรเราก็มีจุดแข็งของเรา อย่างในภาคอิเล็กทรอนิกส์ ภาคยานยนต์ แล้วตอนนี้ก็มีเทรนด์การลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ เพราะฉะนั้นภาพรวมก็พอไปได้ ตัวเลขจีดีพีที่เคาะว่าน่าจะโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ ก็คิดว่าโอเคอยู่ แต่ที่จริงก็ควรโตได้มากกว่านี้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องการเมือง อย่างเรื่องการเลือกตั้งนี่แหละ แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นเกิดรัฐประหาร 

แล้วอาจารย์คิดว่าหลังการเลือกตั้งมีฉากทัศน์แบบไหนที่เป็นไปได้บ้าง

คิดว่าจะได้เห็นรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นไปได้หลาย combination มาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบางพรรค เช่น พรรคก้าวไกลยืนยันจะไม่จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะไม่รวมกับพรรคที่ประยุทธ์อยู่ ซึ่งก็แปลว่าจะไม่รวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่สุดท้ายก็เดายากว่าจะเห็นรัฐบาลผสมรูปแบบไหน

อีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมองไปที่คนโหวต ซึ่งประเทศไทยก็มีกลุ่ม voter อยู่หลายๆ แบบ บางกลุ่มอาจจะโหวตไปในทางอุดมการณ์ เช่น กลุ่มที่อยากให้มีการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ส่วนบางกลุ่มก็โหวตแบบ pragmatic คือโหวตให้พรรคที่ตอบโจทย์เขา ทำให้ปากท้องเขาดีขึ้น และมันก็มีอีกหลายๆ กลุ่ม ซึ่งเราก็ต้องรอดูทิศทาง แต่สุดท้ายแล้วพอโหวตเสร็จ ก็อาจจะมีการดูด ส.ส.กันไปมา จนทำให้เราอาจจะเจอรัฐบาลผสมในรูปแบบแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้ แล้วก็อาจจะเป็นรัฐบาลที่เราไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เผลอๆ เราอาจจะได้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เหมือนเดิมก็ได้ เพราะเขาก็มี ส.ว. 250 เสียงเป็นตัวช่วยอยู่

พูดถึงประเด็น voter อาจารย์คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองต้องคิดคืออะไร

ตอนนี้แต่ละพรรคอาจจะยังไม่ค่อยเปิดนโยบายกันเท่าไหร่ แต่เท่าที่เห็นคือทุกพรรคเริ่มจะเน้นเรื่องปากท้อง ว่าเราจะเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดหนี้อย่างไร หลายพรรคน่าจะชูเรื่องนี้เด่นขึ้นมา เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน แล้วยิ่งตอนนี้เป็นช่วงที่เรากำลังพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ด้วย

ถ้ามองใหญ่กว่าการเลือกตั้ง โจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีอะไรบ้าง

โจทย์ระยะสั้นก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เราจะไม่มีเม็ดเงินจากรัฐบาลช่วยเท่าเดิมแล้ว เพราะ พ.ร.ก. เงินกู้ กำลังจะหมดลงแล้ว ก็ต้องมาคิดว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรกันต่อ จะช่วยกลุ่มเปราะบางอย่างไร ช่วยกลุ่ม SME อย่างไร และจะใช้เงินจากตรงไหน โจทย์ระยะสั้นอีกเรื่องก็คือเงินเฟ้อซึ่งกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน แล้วไปกระทบปัญหาหนี้ครัวเรือนอีก คือเป็นการกระทบต่อไปเป็นโดมิโน

ส่วนโจทย์ในระยะยาวก็คือเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องแรงงานฝีมือของไทย ว่าจะตามทันเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการผลิตได้ขนาดไหน มีการฝึกทักษะ reskill หรือ upskill กันหรือยัง เรามีโครงการอะไรที่จะตอบโจทย์นี้มากขนาดไหน อย่างที่สิงคโปร์มีเยอะแล้ว ถ้าเรายังไม่พัฒนาให้แรงงานของเราสามารถรองรับงานในอนาคตได้ งานก็จะย้ายไปที่อื่นแทน แล้วจากที่เห็นตัวเลขเกี่ยวกับผลิตภาพ (productivity) ของทางกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย ตัวเลขนี้ก็ตกลงมา ก็น่าจะเกี่ยวที่ว่าแรงงานเราใช้เทคโนโลยีอย่างพวกเอไอยังไม่เป็นหรือเปล่า ยังไม่พัฒนาทักษะเท่าที่ควรหรือเปล่า การศึกษาโดย IMF ล่าสุดพบว่าไทยมีผู้ประกอบการเพียง 40% เท่านั้นที่มีแรงงานฝีมือด้านดิจิทัลเพียงพอ การศึกษานี้ยังพบว่าไทยมีสัดส่วนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งน่าเป็นห่วง

ในวันนี้ถ้าประเทศไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ตอบโจทย์กับโลกใหม่ได้ อาจารย์คิดว่าเราควรปรับไปทางไหน

เป็นคำถามที่ใหญ่มากนะ ถ้าเป็นในแง่เทคโนโลยี ประเทศไทยควรจะรู้ตัวว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่บางประเทศทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ไปมาก ไทยควรเลือกเล่นเกมนี้อย่างชาญฉลาด เราไม่ควรไปลงทุนในการสร้างเทคโนโลยี เพราะว่าเราถมเงินด้าน R&D (การวิจัยและพัฒนา) ไปเท่าไหร่ก็จะค่อนข้างสูญเปล่า เราตามประเทศพวกนั้นไม่ทันอยู่ดี เพราะเขาเองก็เร่งทำด้าน R&D อย่างหนักหน่วงเหมือนกัน มันเป็นการลงทุนที่ต้นน้ำซึ่งต้องใช้เงินมหาศาลมาก แล้วเราก็ไม่ได้มีเม็ดเงินมากขนาดนั้น และอีกอย่างคือเราคงไปสู้กับประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือประเทศในยุโรปไม่ได้ในการจะผลิตเทคโนโลยีต่างๆ แต่เราควรมาเน้นในด้านการประยุกต์ใช้มากกว่า คือถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ออกมาตัวหนึ่ง เราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าหรือบริบททางสังคมของเอเชีย ตรงนี้น่าจะทำให้เรามีทางไปมากกว่า

เสือ 4 ตัวแห่งเอเชีย (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง อาจารย์คิดว่าประเทศไทยเดินตามรอยนั้นไม่ได้แล้วหรือ

ไม่ได้แล้ว เพราะคอนเซปต์การพัฒนาเปลี่ยนไปแล้ว ตอนที่เสือ 4 ตัวเด่นขึ้นมาได้เพราะบริบทและแนวคิดตอนนั้นต่างกับตอนนี้ ตอนนั้นแนวคิดของเสือ 4 ตัวคือเขาคิดว่าเขาควรจะผลิตขึ้นมาเป็นแบรนด์ของเขาเองเลย และผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะมันเกี่ยวกับบริบทห่วงโซ่อุปทานในตอนนั้นด้วยที่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกันในระดับโลก (globalized) เหมือนทุกวันนี้ แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ห่วงโซ่อุปทานโลกเชื่อมโยงกันหมด คือเราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทุกส่วนก็ได้ เลยทำให้แนวความคิดในการพัฒนาประเทศเปลี่ยนไปเป็นว่าเราจะอยู่จุดไหนของห่วงโซ่อุปทานที่จะตอบโจทย์ประเทศของเรา แล้วค่อยพยายามไต่ระดับขึ้นไปมากกว่า หรืออาจจะไม่ต้องไต่ระดับก็ได้ แค่พยายามหาจุดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ (strategic) ของห่วงโซ่อุปทานนั้นๆ แล้วทำตรงนั้นให้ดี

แล้วประเทศไทยจะยังยึดเอาการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจได้เหมือนเดิมอยู่ไหม

คิดว่าคงได้อยู่ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพราะจากที่เห็นผลสำรวจต่างๆ ของบริษัทท่องเที่ยว เทรนด์การท่องเที่ยวในโลกหลังโควิด โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อไปจะมีกำลังซื้อเยอะ คือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์มากกว่าการท่องเที่ยวที่ให้สิ่งของ ต่อไปการบินไปอีกประเทศหนึ่งเพื่อช็อปปิงจะมีน้อยลงแล้ว มันจะกลายเป็นการบินไปอีกประเทศเพื่อทำกิจกรรม ไปตั้งแคมป์ หรือไปผจญภัย แบบนี้มากกว่า ตรงนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเราได้ แล้วปกติการท่องเที่ยวของไทยก็เน้นการเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือผจญภัยเยอะอยู่แล้ว เราอาจจะต้องเน้นตรงนี้ให้มากขึ้นอีก รวมถึงว่าเราอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism) มากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อนกันมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เราอาจจะต้องผสมผสานเรื่องนี้เข้าไปสร้างเป็นจุดขายหนึ่งของเราด้วย

อาจารย์เคยเขียนบทวามที่บอกว่าชาติอาเซียนอาจจะต้องโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น ตรงนี้สำคัญขนาดไหน

สำคัญมาก ที่เขียนเรื่องนั้นเพราะอยากเห็นการกระจายรายได้สู่เมืองรองด้วย เพราะทุกวันนี้ 95% ของรายได้จากการท่องเที่ยวไปกระจุกตัวอยู่ที่ 5-6 จังหวัดเอง ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น มันควรจะกระจายสู่จังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็เกี่ยวกับเรื่องการกระจายความเจริญและการสร้างความเท่าเทียม

จากที่ฟังมาก่อนหน้านี้ เหมือนอาจารย์มองว่าปัจจัยการเมืองเกี่ยวพันมากกับเศรษฐกิจ แล้วถ้าเราจะต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจเราเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว ควรต้องปรับไปทางไหน

ต้องเอากลไกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยออกไป รวมถึงกลไกที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น กฎหมายที่เอื้อให้ ส.ส.เปลี่ยนพรรคได้ง่าย มันจะทำให้การเมืองเรามีเสถียรภาพและคาดเดาได้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในแง่เศรษฐกิจการลงทุนมากขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save