fbpx

กับข้าวกับแขก

คำอ้าง

 

You are what you eat สมัยนี้ใครพูดประโยคนี้ขึ้นมาก็เชยตายเลย เพราะเรื่องราวและเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาหาร นับวันยิ่งจะพิสดารพันลึกไปทุกที ตั้งเรื่องเล่าอาหารกับความทรงจำ อาหารกับสิทธิ ความเท่าเทียมในการเข้าถึง อาหารกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อาหารกับประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์  ไม่ต้องพูดเรื่องอาหารกับเซ็กส์ ความรักและอีกสารพันแห่งความเย้ายวน จนคำว่า food กับ sex นั้นกลายเป็น synonym ของกันและกันไปแล้ว

 

ประโยค you are what you eat ยิ่งทำให้เราเห็น อาหารในฐานะเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวและการสร้างตัวตนของคนๆ หนึ่ง พูดง่ายๆ อาหาร และรสนิยมการกิน กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับผู้บริโภคอย่างเราไปโดยที่บางทีก็รู้ตัว บางทีก็ไม่รู้ตัว

อาหาร จึงไม่ต่างจากแฟชั่น เสื้อผ้า เพลง ยี่ห้อสมาร์ตโฟนที่เราเลือก นั่นก็คือ เรากินอะไร เพื่อบอกว่า ตัวเราเป็นใคร เช่น แทนการไปกินอาหารฝรั่งเศสในโรงแรมหกดาวที่เปิดกิจการมาร้อยยี่สิบปี ฉันเลือกดั้นด้นไปกินอาหารโซมาเลียในตรอกลึกลับแห่งหนึ่งกรุงเทพฯ (สมมติว่ามี) หรืออาจจะไปลองกินไข่เป็ดที่ฟักเป็นตัวอ่อนแล้วในร้านอาหารฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพื่อจะบอกว่า – ชั้นนี่แหละ นักกินผู้โอบกอดความหลากหลายทางวัฒนธรรม นักการผจญภัยในอาหาร เปิดกว้าง ใจกล้า ไม่ดูถูกคนโลกที่สาม วัฒนธรรมโลกที่สาม โอ้ ศิวิไลซ์เลย อ่านระหว่างบรรทัดต่อไปอีก ยังได้ใจความว่า หือออมมม คนๆ นี้ไม่ธรรมดานะเนี่ยะ ต้องเป็นคนที่มีความรู้เยอะแยะ กว้างขวาง literate สูงส่ง ไม่ได้รู้จักแค่อะไรพื้น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบฯๆ อ่ะ คนจริงเขาต้องรู้จักชาติ ประเทศ เมือง ที่เอ่ยขึ้นมาแล้ว เพื่อนๆ ได้แต่กรอกตาว่า – มันคืออะไร มันมีสิ่งนี้ในโลกด้วยเหรอ มันกินได้ด้วยเหรอ? จากนั้น เราอาจจะได้โอกาสในการเลคเชอร์เพื่อนเบาๆ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของอาหาร ประวัติศาสตร์ อาณานิคม การค้าทาส ความสัมพันธ์ของอาหรับกับแอฟริกา โอ๊ยยย เก๋จะตาย

ส่วนคนบางจำพวก (ที่เป็นเพื่อนฉันก็เยอะ) ก็ขี้หมั่นไส้ รู้สึกว่าอีพวกสรรกิน ทั้งกินดี กินแพง กินแปลก กินพิสดาร กินต้องมีรสนิยม ต้องรู้ที่มาที่ไป ไม่ใช่สักแต่ว่า เมื่อเกิดความหมั่นไส้มากเข้า คนเหล่านี้ก็จะป่าวประกาศบอกใครๆ ว่า

ชั้นชอบกินจังก์ฟู้ด ยิ่งจังก์ยิ่งชอบ ฉันเลิฟอาหารทุกอย่างในเซเว่นฯ ฉันรักขนมสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยไขมันทรานส์ ฉันมุ่งมั่นจะกินแต่แมคโดนัลด์ เคเอฟซี ฉันเกลียดผัก เกลียดอาหารสุขภาพ ฉันจะกินทุกอย่างที่อีกพวกสรรกิน บอกว่ากินแล้วไม่ดี กินแล้วเบียดเบียนคนจน กินแล้วอ้วน กินแล้วไขมัน คอลเสเตอรอลสูง บ้างก็ยืนยันว่าอาหารทุกจานของชั้นต้องใส่ผงชูรสเยอะๆ

อัตลักษณ์ และ self narrative ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนมีการศึกษา และเอาเข้าจริงๆ เป็นคนที่ “รู้” เรื่องอาหารอย่างละเอียดลออ จึงเกิดขึ้นจากการบิดผัน narrative หลักของสังคม ที่บอกว่า อาหารขยะ จังก์ฟู้ด การกินไขมัน อาหารคุณภาพต่ำ อาหารแช่แข็ง ผลิตจากสายพานอุตสาหกรรม อันปราศจากความละเมียดละไม เป็นอาหารของคนจน คนใช้แรงงาน คนที่ไม่ละเอียดอ่อน ไม่หือไม่อือต่อรสชาติ คน ignorance ต่อคุณภาพวัตถุดิบ ฯลฯ นั่นคือลากเส้นได้จากคนจน คนไร้การศึกษา ไปจนถึงคนไม่มีรสนิยม –  เมื่ออ่านระหว่างบรรทัดจึงพบว่า self narrative ของคนกลุ่มนี้อาจเกิดจากการความต้องการท้าทาย narrative ที่บอกว่า จังก์ฟู้ดต้องคู่กับคนจน คนไร้การศึกษา และคนจน ด้วยการบอกว่า – ดูสิ ชั้นก็มีการศึกษา และ sophisticate แต่ชั้นรักจังก์ รักไขมันทรานส์ รักอาหารร้านสะดวกซื้อ – พวกเธออย่าได้ไปเที่ยวตีขลุมอะไรง่ายสิ และถ้าเป็นไปได้ คนเหล่านี้ จะโพสต์ผลตรวจสุขภาพประจำปีของตัวเอง พร้อมบอกว่า เห็นไหม ชั้นกินทุกอย่างที่พวกรักสุขภาพ และดูถูกจังก์ฟู้ดกิน ชั้นกลับแข็งแรง ผลเลือด ผลน้ำตาล น้ำหนักเลิศเลอไปหมด แล้วหันไปดูพวกกินออร์กานิกส์ต่างๆ ซิ โอยยย ปริ่มๆ เป็นมะเร็ง เป็นนู่น เป็นนี่กันยกใหญ่เลย

นี่ยังเป็นแค่ตัวอย่างสองเรื่องเล่าว่าด้วย การฟาดฟันกันของ “เรื่องเล่า” ว่าด้วย “ฉันคือใคร” ผ่านการกินอาหาร

เพราะรอบๆ ตัวเรายังมีเรื่องเล่าว่าด้วยฉันเป็นมนุษย์กินพืช ฉันเป็นมนุษย์กินสัตว์ ไปจนถึงการถกเถียงกันเรื่อง การกินเนื้อหมาเนื้อแมว หรือสัตว์เลี้ยงแสนรักของคนอื่นควรเป็นอาหารของเราหรือไม่ การกินสุก การกินดิบ ที่กินความไปหาโรคาพยาธิไปจนถึงการดูหมิ่นถิ่นแคลนบางวัฒนธรรมการกิน และการโต้กลับในรูปแบบต่างๆ เช่น ไม่นานมานี้เอง ที่เห็นคลิปจาก wongnai ว่าด้วยการทำก้อยเนื้อดิบ โดยคนหนุ่มสาว ชิคๆ คูลๆ แทนภาพของคนอีสานเจ้าของอารยธรรมการกินก้อย

ระหว่างคลิป คนอีสานชาวบ้านแท้ๆ ทำก้อย อยู่กับเขียงกระมอมกระแมม กับคลิปทำก้อยโดยคนรุ่นใหม่ แก้มใสๆ ดูสุขภาพดี ทำด้วยเนื้ออย่างดีอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต ดูสะอาดอ้าน ก็คือการสร้างเรื่องราวใหม่ พื้นที่ใหม่ให้กับอาหารที่เคยถูกมองว่า “ไม่ถูกสุขอนามัย” หรือ การกินแมลง อันแต่เดิมดูน่าขยะแขยง สยดสยอง ก็ถูกนำมาเล่าใหม่ ตั้งแต่พล็อตว่าด้วยการเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนสำหรับมนุษยชาติในอนาคต (การเป็นพล็อต ไม่ได้แปลว่าไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ) ไปจนถึงการไปอยู่ในมือของเชฟที่แทบจะจับแมลงไปปิดทองก่อนเสิร์ฟ แมลงอันน่าสยดสยองจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความ “เก๋” ความ เท่าทันโลก คือการ (ที่คนชั้นกลาง) ได้เล่าให้ตัวเองฟังว่าฉันได้โอบกอดความเป็นพื้นเมือง ท้องถิ่น ความด้อยค่า ชายขอบ แถมยังเพิ่มมูลค่าให้มันด้วยการจับมาแต่งตัวใหม่สวยงาม เหมือนได้จับเอาน้องนางบ้านนามา “โม” ใหม่ด้วยเครื่องสำอาง เสื้อผ้าหน้าผม จนสามารถเอามาเดินควงไปไหนมาไหนได้ไม่อายใคร

เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะพูดสั้นๆ ว่า อาหารนอกจากเป็นวัตถุเพื่อประทังชีวิต ยังถูกใช้เพื่อแสดงสถานะทางสังคม ใช้เพื่อสร้างเส้นแบ่งระหว่าง “เขา” กับ “เรา” ใช้เพื่อเป็นวาระต่อสู้ทางการเมืองในหลายๆ รูปแบบ เช่น เป็นเครื่องมือที่นำเราไปรู้จักผู้ลี้ภัย เพื่อลดอคติที่มีต่อพวกเขา ใช้สร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง และท้ายที่สุด ใช้เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวของเราเอง ว่าเราอยากให้คนอื่นรู้จักเราอย่างไร อยากให้รู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน และทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ สักเท่าไหร่ หรือไกลกว่านั้นผ่านเรื่องเล่าที่เราพยายามเล่าถึงตนเองผ่านอาหาร ตัวเราก็อาจเชื่อในเรื่องเล่านั้น และปรับเปลี่ยนตนเองจนมีพฤติกรรมอันตรงกับเรื่องที่เราเล่า ก็เป็นไปได้อีก

 

สุดท้าย สิ่งที่อยากจะบอกคือ ต่อไปนี้ ฉันจะมา “เล่า” เรื่องอาหารที่นี้

ข้อเขียนทั้งหมดนั้นจึงเป็นทั้งข้ออ้าง ข้อแก้ตัว ให้แก่ตัวเองว่า ทั้งหลายที่จะเขียนต่อไปนั่น ไม่ใช่ว่าไม่ว่าไม่สำเหนียกนะ ว่าเล่าเรื่องที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ผสมไปกับกระบวนการสร้างภาพอะไรบางอย่างให้กับตัวเอง ผ่านอาหารต่างๆ นานา ที่จะกล่าวถึงต่อไป

สนุกหรือเปล่าไม่รู้แต่อย่างน้อย ต้องอร่อยล่ะ

ส่วนจะเป็นการสร้าง self narrative แบบไหนให้ตัวเอง ก็ ช่างแม่ง – เหอะ ฮ่าๆๆ

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save