fbpx
“ปฏิรูประบบยุติธรรม เปลี่ยนสังคมไทย” – ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

“ปฏิรูประบบยุติธรรม เปลี่ยนสังคมไทย” – ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

 

30% ของผู้ต้องขังไทยเป็นคนที่ไม่สมควรที่จะต้องอยู่ในคุก!! 30% ที่ว่าคิดเป็นนักโทษจำนวนกว่า 100,000 คน จำนวนไม่น้อยในนี้ติดคุกเพียงเพราะ ‘ไม่มีเงินประกัน’ ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นไม่เพียงแต่ช่องโหว่ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ยังรวมถึงสังคมไทยโดยร่วมด้วย ไม่ต้องพูดถึงว่า มีอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘นักโทษการเมือง’

101 ชวน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาถึงปัญหาและหนทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และภาพแบบไหนในกระบวนการยุติธรรมที่เขาใฝ่ฝันถึง

 

:: คุกล้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ::

 

 

การจะประเมินว่ากระบวนการยุติธรรมแต่ละประเทศมีประสิทธิภาพในการสร้างความยุติธรรมมากแค่ไหน ปัจจัยแรกต้องดูว่าเรือนจำมีคนหนาแน่นแค่ไหนและเป็นคนจนมากเท่าไหร่

ภาพรวมประเทศไทย เราสร้างคุกมาขังคนได้ประมาณ 1.5 แสนคน แต่มีคนติดจริง 3.7 แสนคน ทุกปีราชทัณฑ์ต้องแก้ปัญหาคุกล้น ต้องหาทางระบายออก คุกไทยคล้ายเขื่อนที่น้ำไหลมาทุกทางแล้วเขื่อนจะแตก จึงต้องระบายน้ำออก ทั้งการปล่อยตัวล็อตใหญ่ตามโอกาสสำคัญทีละ 2-3 หมื่นคนและล็อตย่อยด้วยการเลื่อนให้เป็นนักโทษชั้นดีและรับโทษน้อยลง

ในคดีบางประเภทเมื่อเห็นว่านักโทษรับโทษมาเพียงพอแล้ว มีการปรับพฤติกรรมและความคิดจนน่าจะเป็นพลเมืองดีแล้วก็ไม่ต้องขังต่อ แต่ความผิดบางประเภทไม่พึงปล่อยมา เช่น คดีที่ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เพราะความผิดบางอย่างเป็นอันตรายต่อสังคมจึงต้องกันบุคคลนี้ออกจากสังคม

การแก้ปัญหาเขื่อนแตกไม่ได้แก้โดยการพร่องน้ำออกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วย เพราะปัจจุบันนักโทษ 30% เป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวน การพิจารณาสั่งฟ้อง การพิจารณาคดีและพิพากษา และในจำนวนนี้ราว 60-70% คือคนที่ศาลให้ประกันตัวแต่ไม่มีเงินประกันตัว

เรื่องเงินประกันเป็นประเด็นสำคัญ การใช้เงินประกันเป็นความเชื่อว่าจะเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหามาขึ้นศาลในครั้งหน้า แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ผล คุกเราล้นเพราะการใช้เงินเป็นหลักประกัน ทำให้คนไม่มีเงินต้องติดคุก แม้ว่าเขาจะบริสุทธิ์ก็ตาม

กองทุนยุติธรรมช่วยเรื่องนี้ได้ แต่ก็น้อยมาก แต่สถานการณ์ตอนนี้เริ่มดีขึ้น มีการรณรงค์เรื่องไม่มีใครต้องติดคุกเพราะจน ตั้งแต่สมัยประธานศาลฎีกาไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ก็มีการศึกษาและทดลองแก้ปัญหามากขึ้น อย่างคดีการเมืองในปัจจุบันก็ไม่ต้องใช้เงินประกัน

ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กำหนดว่าในเรือนจำมีคนถูกขังสามประเภท 1. นักโทษเด็ดขาดที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว 2. ผู้ต้องขัง เช่น คนที่ไม่มีเงินจ่ายโทษปรับแล้วต้องขังแทน 3. คนฝาก คือคนที่ถูกตั้งข้อหาแล้วตำรวจฝากขัง เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่ให้คุกล้นได้อย่างไร ในประเทศอื่นก็มีปัญหาเรื่องการใช้เงินเป็นหลักประกัน ทำให้คนติดคุกเพราะจน แต่ไม่เคยได้ยินประเทศไหนกำหนดว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับแล้วให้มาขังแทน

 

:: สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด หลักการอันบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม ::

 

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองกำหนดว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” แสดงว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการกำหนดให้เอาคนฝากและผู้ต้องขังไปขังในเรือนจำรวมกับนักโทษทำให้ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน

แม้ว่าตามระเบียบราชทัณฑ์เรื่องคนฝากจะได้รับการปฏิบัติดีกว่านักโทษเด็ดขาดในเรื่องทรงผม ที่ให้ตัดทรงสุภาพได้ แต่คนฝากในคดีการเมืองที่เห็นกันก็โดนกล้อนผมหมด แสดงว่าในทางปฏิบัติแล้วถือว่าแย่กว่าระเบียบ

นอกจากนี้การขอประกันตัวใช้คำว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ ทั้งที่หากเราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วทำไมจึงใช้คำว่าปล่อยตัวชั่วคราว หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) มีเขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ซึ่งมีความตั้งใจจะแก้กฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน หลังจากนั้นหลักการนี้ก็กลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2515 แล้วก็มีรัฐประหารอีก จึงไม่ได้แก้กฎหมายอาญา กลายเป็นว่าหลักการนี้กลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกครั้งแต่คนลืมไปแล้วว่าต้องมาแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ประเทศไทยใช้หลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ สิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรู ถ้าตำรวจจับได้ว่าคุณทำผิดก็จะจับแล้วไปขอฝากขังไว้เรื่อยๆ หากขอประกันตัวไม่ได้ก็ถูกขังไปเรื่อยๆ พอขอประกันตัวจึงเรียกว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ และกลายเป็นหน้าที่ผู้ต้องหาที่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์

สิ่งที่ร้ายที่สุดคือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ ที่กำหนดให้นำรายชื่อและประวัติของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร แม้ว่าต่อมาตำรวจจะไม่สั่งฟ้องหรือศาลยกฟ้อง ชื่อก็ยังอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร วิธีที่จะให้ไม่มีชื่ออยู่คือถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง เราต้องไปขอเอกสารจากศาล ไปยื่นที่ สน. ท้องที่ที่ตั้งข้อหา เพื่อคัดแยกชื่อจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรให้ไปอยู่ในแฟ้มที่ขอดูชื่อไม่ได้ แต่ไม่ได้ทำลายชื่อนั้นไป มีวิธีเดียวที่จะทำลายคือเมื่อเราตาย เท่ากับว่าเมื่อไหร่ที่ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือคือเราจะเป็นอาชญากรไปจนกว่าจะตาย

สองปีที่ผ่านมาผมไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ไป กสม. ไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เรื่องนี้เกิดการแก้ปัญหา ตอนนี้ทุกคนเห็นปัญหาแล้ว ปัจจุบันเรามีทะเบียนประวัติอาชญากร 17 ล้านแผ่น ประเมินว่ามีราว 10 ล้านคน และคาดว่าถูกตัดสินว่าผิดจริงราว 30% รวมถึงคนที่ทำความผิดลหุโทษ คนที่ถูกตัดสินโทษปรับหรือรอลงอาญาด้วย ผมเคยสงสัยว่าทำไมเราต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก เพราะคนไทย 10 ล้านคนสมัครงานไม่ได้ เพราะมีชื่อเป็นอาชญากร

 

:: แก้ปัญหายาเสพติด ไม่ได้มีแค่จับขังคุก ::

 

 

ก่อนที่แอมเฟตามีนจะถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 คุกไทยมีคนราว 6 หมื่นคน หลังจากนั้นกราฟพุ่งพรวดพราดในเวลาแค่ 20 กว่าปี ปัจจุบันผู้ที่ถูกขังในคุก 80% คือคดียาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่คือแอมเฟตามีน

ผู้ออกกฎหมายไทยเชื่อว่าวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมพลเมืองคือต้องทำให้พฤติกรรมนั้นเป็นอาชญากรรมแล้วมีโทษจำคุก คนจึงจะเกรงกลัวแล้วไม่ทำ เราจึงใส่โทษจำคุกและเพิ่มโทษขึ้นเพื่อให้คนเกรงกลัว นี่คือการทำเรื่องที่ไม่เคยเป็นความผิดให้เป็นอาชญากรรม (criminalization)

สมัยก่อนยาม้าเม็ดละ 2-3 บาท มีขายตามร้านขายยา พอเราเห็นว่าเป็นปัญหาก็ทำให้กลายเป็นอาชญากรรม ผู้มีอำนาจรัฐเชื่อว่านี่คือแนวทางอันประเสริฐเพื่อควบคุมพฤติกรรมพลเมือง เราจึงเอาการขังคุกเป็นโทษหลัก ทำให้แม้แต่คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเราก็เอาไปขัง แล้วจะไม่ให้คุกล้นได้อย่างไร

เราต้องคิดว่าวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมพลเมืองไม่ได้มีการขังคุกแค่วิธีเดียว

เรื่องการทำให้ยาม้าเป็นยาบ้าทำให้คุกล้น จากราคาเม็ดละ 3 บาท เป็นเม็ดละ 200 บาท เพราะหายาก ต้องลักลอบจำหน่าย ราคาจึงแพง จากต้นทุนการผลิตที่ถูกทำให้คนลงทุนทำกำไรได้ถึง 500 เท่า ยิ่งปราบราคายิ่งแพง ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีกำไรคนก็ยิ่งผลิต กลายเป็นผลที่ตามมาอย่างไม่ตั้งใจ พอราคาแพงขนาดนี้ หากคนต้องการเสพแล้วไม่มีเงินก็ต้องก่ออาชญากรรม สิ่งที่ตามมาคือการจำหน่ายยิ่งแพร่ระบาดขึ้น เพราะหากผู้เสพเริ่มมาขายด้วยจะได้ราคาที่ถูกลง ทำให้คนขายมากขึ้น

เรื่องใหญ่สุดคือทัศนคติของนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่คิดว่าถ้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมพลเมืองต้องทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นอาชญากรรม ผลลัพธ์คือยิ่งใช้วิธีการแบบนี้มาก คุกก็ยิ่งล้นมากขึ้น

ตัวอย่างที่โปรตุเกสกับเนเธอร์แลนด์ เขาทำตรงข้ามกับไทย ไทยปราบยาเสพติดโดยใช้แนวทางของอเมริกา ขณะที่อเมริกาก็มีคนติดคุกมากที่สุดในโลก ประชากรอเมริกา 1 แสนคนมีคนติดคุกราว 700 คน ส่วนประชากรเนเธอร์แลนด์ 1 แสนคน ติดคุกราว 40 คน

โปรตุเกสใช้แนวทาง drug decriminalization คือทำให้การเสพยาไม่เป็นอาชญากรรม นี่คือวิธีการในการควบคุมที่ได้ผล ผู้ติดแอมเฟตามีนต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนป่วยแล้วเบิกยามาเสพได้ เมื่อแอมเฟตามีนราคาเท่าพาราเซตามอลแล้วคนจะไปปล้นเพื่อซื้อยาเสพทำไม

โลกนี้มีวิธีปราบยาเสพติดสองวิธี วิธีแรกคือแบบอเมริกา ปราบเข้าไปหนักๆ วิธีที่สองคือโปรตุเกสกับเนเธอร์แลนด์ที่ทำให้การเสพยาไม่ใช่อาชญากรรม แต่ควบคุมไม่ให้เสรี

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของโปรตุเกสคือคุกว่าง ส่วนเนเธอร์แลนด์มีการทำเรื่องกฎหมายยาเสพติดแบบเดียวกับโปรตุเกสและมีการทำเรื่องการใช้กำไลข้อเท้า(อีเอ็ม) แล้วให้คนเหล่านั้นไปบริการสังคมแทน

 

:: หลากทางแก้คุกล้น ::

 

 

ที่ผ่านมาเราพูดแค่ว่าคุกมีแต่คนจน นักโทษล้น ตอนนี้เราต้องไปดูว่ามีระเบียบหรือ พ.ร.บ. อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุให้นักโทษล้น เราต้องวิเคราะห์ว่าคนติดคุกเพราะอะไรกันบ้าง

ทางแก้ปัญหาเรื่องคุกล้น ผมคิดว่า 1. เรื่องยาเสพติด เราต้องเปลี่ยนวิธีการจากการปราบปรามเป็นการควบคุม ใช้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ในทางบวก เมื่อราคามันถูกเท่ายาแก้ปวดก็จะตัดวงจรการค้าไป ควบคุมผู้เสพให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยแล้วรับใบสั่งแพทย์เพื่อไปซื้อยาราคาถูกได้

2. เรื่องไม่มีเงินจ่ายค่าปรับแล้วติดคุก เมื่อสี่ปีที่แล้วมีการแก้ประมวลกฎหมายอาญา แทรกมาตรา 30/1 เข้าไปว่าเมื่อศาลเห็นสมควรหรือผู้ต้องโทษค่าปรับร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้

ปัญหาคือก่อนหน้านี้ผมกับนักศึกษานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไปตั้งโต๊ะตามเรือนจำให้บริการช่วยเขียนคำร้องสำหรับคนที่ต้องโทษค่าปรับแล้วอยากบริการสังคมแทน ปรากฏว่าผู้ต้องโทษค่าปรับทุกคนไม่มีใครรู้ว่าตัวเองมีสิทธินี้มาก่อน ช่วงสองปีเราเขียนคำร้องได้ราว 500 คน แต่ช่วยได้แค่ 20 กว่าคน เพราะมีระเบียบศาลฎีกาบอกว่าความผิดบางประเภทไม่พึงให้บริการสังคม เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ช่วยคนได้น้อย

ผมเคยเสนอทางศาลไปว่าคดียาเสพติดเป็นโทษทั้งจำและปรับ แม้ว่าได้รับโทษจำคุกเรียบร้อยไปแล้วแต่เหลือโทษปรับ ก็ยังมาขอบริการสังคมแทนไม่ได้เพราะเป็นคดียาเสพติด ทั้งที่เขาเหลือแต่โทษปรับ

3. ไม่ควรใช้เรื่องเงินประกัน หลายศาลเริ่มใช้ระบบประเมินความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงมากว่าจะไม่กลับมาก็จะไม่ให้ประกันตัว แต่ถ้าเสี่ยงน้อย ไม่ว่าจนหรือรวยต้องให้ประกัน ระบบนี้ได้ผลดีกว่าการใช้เงิน ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนจนที่ติดคุก

4. หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบันทึกผู้ต้องหาทุกคนลงในทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นเรื่องผิด ทางแก้คือเราต้องเปลี่ยนทะเบียนที่ตำรวจเก็บให้เรียกว่า ‘ทะเบียนผู้ต้องหา’ แทน ‘ทะเบียนประวัติอาชญากร’

การศึกษากฎหมายของไทยเราเรียนมาตรากันมากเกินไป ไม่เรียนเรื่องข้อเท็จจริง ผมพยายามให้นักศึกษาก่อนเรียนจบได้ไปเจอปัญหาจริงๆ ไปบริการสังคม ไปช่วยคนจนที่ติดคุก 10 ปีที่ผ่านมานักศึกษานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีความแตกต่างจากการเรียนแต่ตำราเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดในการดูแลเรื่องความยุติธรรมอย่างแท้จริง ในกระบวนการยุติธรรมมีตำรวจ อัยการ ศาล คุก แต่กระทรวงยุติธรรมดูแลแค่คุกกับการคุมประพฤติ ขาดการบูรณาการและประมวลผล ปัจจุบันต่างคนต่างทำ สุดท้ายผลมาตกหนักที่ราชทัณฑ์ ทำให้เขื่อนจะแตก ต้องพร่องน้ำแล้วก็พร่องคนที่ไม่ควรจะออกได้ออกมาด้วย แล้วกลายเป็นคนออกมาทำผิดซ้ำ

 

:: สองเป้าหมายทางกฎหมายที่ต้องสมดุล ::

 

 

การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง รัฐจะไปสลายการชุมนุมไม่ได้ถ้าไม่ได้เป็นการจลาจล ไม่ว่าจะสีเสื้อไหน คิดเห็นอย่างไร ทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการแสดงออก เจ้าหน้าที่ตำรวจพึงเคารพสิทธินี้และปฏิบัติต่อเขาตามกฎหมาย

การอยู่ร่วมกันในสังคมมีความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ความหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ คนเรามีความคิดแตกต่างกันอยู่แล้ว ลูกแต่ละคนเกิดมาต่อให้พ่อแม่เดียวกันยังมีความหลากหลาย นับประสาอะไรกับคนในสังคมที่จะหลากหลายและขัดแย้งกัน ก่อนมีอารยธรรมเราใช้กำลัง แต่พอมีอารยธรรมเราใช้กฎหมาย มีกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนพึ่งได้โดยเสมอกัน

กฎหมายต้องเป็นที่พึ่งให้ทุกคนโดยเสมอกัน ไม่ว่ายากดีมีจนหรือมีความคิดทางการเมืองอย่างไร

เป้าหมายทางกฎหมายมีสองอย่าง คือ สันติภาพและความยุติธรรม ที่ผ่านมาก็สุดโต่งทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งบอกให้ปรองดองสามัคคี แต่ไม่แก้ปัญหาให้เกิดความยุติธรรม เวลาชาวบ้านรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่าอย่าประท้วง ถ้าต้องการให้เกิดสันติภาพเราต้องสร้างความเป็นธรรม จะกดเอาไว้ก็กดไม่อยู่หรอก แต่ถ้าจะเรียกร้องแต่ความเป็นธรรมโดยไม่สนใจสันติภาพก็จะฆ่ากัน เราต้องสมดุล เรามีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็เพื่อสร้างสันติภาพและความยุติธรรม

คนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้าไม่ว่ายากดีมีจน และเรื่องการเมืองต้องไม่เป็นประเด็นที่ทำให้คนได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save