fbpx
เมื่อเธอเอาร่างกายเรียกร้องความเป็นธรรม

เมื่อเธอเอาร่างกายเรียกร้องความเป็นธรรม

แม้จะเป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้ขาดด้วยคำพิพากษาของศาล เป็นสิ่งที่ดำเนินไปอย่างเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด และทำให้ข้อโต้แย้งต่างๆ สามารถยุติลงได้ด้วยการยอมรับกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ความข้อนี้ก็ไม่อาจนำมาอธิบายได้ในคดีข้อพิพาทเรื่อง ‘การล่วงละเมิดทางเพศ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘คดีข่มขืน’

ในเบื้องต้น การพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการข่มขืนมีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย หากเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดทางอาญาด้านอื่น เนื่องจากสถานที่ของการข่มขืนมักเกิดขึ้นในสถานที่อันเป็นที่ลับหูลับตาของผู้คน ดังนั้นย่อมเป็นการยากที่จะหาพยานซึ่งเห็นเหตุการณ์มายืนยันถึงการกระทำดังกล่าว การตัดสินว่าเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการข่มขืนหรือไม่ จึงมักเป็นการตัดสินจากหลักฐานต่างๆ ประกอบ รวมถึงโครงเรื่องที่มาจากปากคำของหญิงกับชาย โดยผู้ตัดสินจะต้องพิจารณาว่า ‘เรื่องเล่า’ ของฝ่ายใด เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือมากกว่ากันในสายตาของคนที่ทำหน้าที่ตัดสิน

นักกฎหมายด้านนิติศาสตร์แนวสตรีนิยม (feminist jurisprudence) ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริงของคดีข่มขืนว่าเป็นช้านานแล้วที่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างเป็นกลาง หากแต่จะทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก

หากเป็นคดีอาญาอื่น กระบวนการค้นหาความจริงจะมุ่งไปที่ตัวบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เช่น หากถูกกล่าวหาว่าได้ทำการฆาตกรรมผู้อื่น ก็จะมีกลไกทำงานที่พิสูจน์ว่าบุคคลนั้นได้ฆ่าคนตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดเหตุขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์หรือความขัดแย้ง รวมทั้งพิสูจน์ว่าการกระทำของบุคคลนั้นเกิดขึ้นในสภาวะที่มีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์

หรือกล่าวได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะกลายเป็นวัตถุแห่งการสอบสวน (object of investigation) เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำมายืนยันถึงการกระทำอย่างตั้งใจของบุคคลนั้น   

แต่ในกรณีการข่มขืน เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำชำเราหญิงอื่นโดยไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมกลับมีท่าทีที่แตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก ในด้านหนึ่งอาจมีการค้นหาข้อเท็จจริงว่าฝ่ายชายได้กระทำการข่มขืนจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่ง หญิงก็จะตกเป็นวัตถุแห่งการค้นหาความจริงไปด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญหนึ่งของการชี้ขาดในคดีข่มขืนจะวางอยู่ที่ว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจหรือไม่ หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความยินยอม (consent) ก็จะไม่ถือว่าเป็นการข่มขืน ทางชายผู้ถูกกล่าวหาก็มักจะอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสมัครใจหรือตนเข้าใจว่าหญิงยินยอม ขณะที่หญิงก็จะให้เหตุผลว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตนเองไม่ยินยอม

คำถามสำคัญก็คือบรรดาผู้พิพากษาจะรู้ได้อย่างไรว่าเพศสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของความยินยอมหรือการข่มเหงต่ออีกฝ่าย

งานศึกษาเกี่ยวกับคดีข่มขืนจำนวนมากทั้งภายในสังคมไทยและต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นกับหญิงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยืนยันว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจของหญิง การขัดขืนอันนำมาซึ่งร่องรอยที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ผู้พิพากษาจำนวนมากหยิบมาใช้เป็นเหตุผลที่ชี้ถึงการไม่ยินยอมของหญิง แน่นอนว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นสามารถเป็นหลักฐานยืนยันถึงความไม่ยินยอมของหญิง

แต่การพิจารณาหลักฐานที่ชัดเจนอันเกิดขึ้นกับหญิงได้กลายเป็นปัญหาขึ้น เมื่อมีการข่มขืนที่ปราศจากบาดแผลหรือร่องรอยจากการต่อสู้ และนำไปสู่การตัดสินให้ชายสามารถหลุดพ้นไปจากความผิด

การให้ความสำคัญกับการขัดขืนทางร่างกายเป็นสำคัญนับว่าเป็นการทำให้เพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่สมัครใจเป็นเพียงแค่เรื่องของอำนาจบังคับทางกายภาพ (force) ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น มุมมองเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจว่า หากถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์อย่างไม่สมัครใจแล้ว ก็เป็นเรื่องที่หญิงต้องขัดขืน ทั้งที่ในโลกของความเป็นจริงยังมีการใช้อำนาจบังคับในลักษณะอื่นๆ ที่ชายมีอยู่เหนือฝ่ายหญิงและไม่อาจทำให้หญิงสามารถต่อต้านทางกายภาพได้

เคยมีข่าวคราวของลูกจ้างหญิงที่มีสถานะของการจ้างงานแบบปีต่อปี ถูกหัวหน้างานชายลวนลามและพยายามล่วงละเมิดทางเพศมานานนับปี แต่เธอก็ไม่ได้ตอบโต้อย่างรุนแรง นอกจากพยายามหลบเลี่ยงและหลีกหนีให้ได้มากที่สุด เพราะชายคนนี้คือผู้ที่มีอำนาจในการประเมินต่อสัญญา

กรณีดังกล่าวก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เพียงแค่การใช้กำลังทางภายภาพเท่านั้น หากยังอำนาจเหนือที่สามารถบังคับ (threat) อีกฝ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงของร่างกาย ซึ่งก็มีอีกหลากหลายกรณีที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้  

การเน้นเรื่องการขัดขืนทางร่างกายกลายเป็นประเด็นหัวใจในการตัดสินเรื่องการข่มขืนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในบางคดีก็มีการตีความว่า การปฏิเสธของหญิงเพียงแค่การใช้คำพูด อาจไม่ได้มีความหมายว่าเป็นการไม่ยินยอม กรณีเช่นนี้ได้ถูกเรียกว่า ‘No means Yes Theory’ อันหมายถึงว่า ถ้าต้องการปฏิเสธก็ต้องกระทำออกทางร่างกายอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่เพียงคำพูด ลำพัง การพูดว่า no แบบไม่จริงจังจึงเป็นแค่การปฏิเสธ ‘พอเป็นพิธี’ แต่ความจริงแล้วคือ yes ต่างหาก

ประเด็นเรื่องความยินยอมก็อาจนำไปสู่การพิจารณาถึงตัวตนของฝ่ายหญิงว่าเธอเป็นใคร มีภูมิหลังหรือประวัติความเป็นมาอย่างไร การสืบค้นถึงชีวประวัติของฝ่ายหญิงก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำที่กล่าวอ้างว่าเป็นไปโดยที่เธอมิได้สมัครใจนั้นเป็นเรื่องที่ชวนตั้งข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

นักการเมืองชายชื่อดังในสังคมไทยคนหนึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าล่อลวงหญิงไปข่มขืนที่โรงแรม ในขณะที่เป็นข่าวดังทางสาธารณะ คนรอบข้างของนักการเมือง รวมถึงสื่อมวลชน ก็พากันขุดคุ้ยประวัติของหญิงออกมาแสดงว่าเธอเป็นคนที่เคยมีคดีในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้า คดีนั้นจบลงด้วยการที่ฝ่ายชายต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่หญิงก่อนที่จะมีการถอนฟ้องคดีออกไป ประวัติของหญิงได้ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองก็อาจเป็นอุบายของหญิง เช่นเดียวกับที่เคยเป็น กระทั่งความพยายามในการเก็บพยานหลักฐานของหญิงในการถูกข่มขืนก็ได้ถูกกระบวนการยุติธรรมพิจารณาว่าเป็นการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ในกรณีนี้จะจบลงด้วยการที่นักการเมืองชายพ้นไปจากความผิดทางกฎหมายแบบไม่ยากเย็น

กระบวนการยุติธรรมในคดีข่มขืนได้หันไปค้นหาความจริงกับทางฝ่ายหญิงว่าถูกข่มขืนจริงหรือไม่ แทนที่จะสืบค้นว่าผู้ชายได้กระทำการข่มขืนจริงหรือไม่ สภาวะดังกล่าวจึงกลับตาลปัตรจากคดีอาญาโดยทั่วไปที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นวัตถุแห่งการค้นหาความจริง แต่กลับกลายเป็นว่าในคดีข่มขืน ฝ่ายผู้เสียหายได้มาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวแทน

ดังนั้น นอกจากการถูกข่มขืนด้วยน้ำมือจากชายซึ่งเป็นผู้กระทำการแล้ว หญิงก็อาจต้องเผชิญกับการข่มขืนทางจิตใจซ้ำจากคำพิพากษาภายหลังกระบวนการยุติธรรมที่สลับซับซ้อน หากใครไม่สามารถที่จะแบกรับความชอกช้ำดังกล่าวไว้ได้ก็อาจต้องเลือกเส้นทางชีวิตแบบ “กูจะเอาร่างกายกูเรียกร้องความเป็นธรรม”

มักจะเข้าใจกันว่าแนวความคิดแบบสตรีนิยมได้มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อสังคมไทยรวมถึงในแวดวงของกระบวนการยุติธรรม ดังจะปรากฏว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในศาลฎีกาสองคนล่าสุดก็ล้วนแต่เป็นหญิงทั้งสิ้น รูปธรรมเช่นนี้อาจสร้างความปีติยินดีให้แก่บรรดานักสตรีนิยมแห่งชาติจำนวนหนึ่ง

แต่พึงตระหนักว่า เอาเข้าจริงแล้ว แนวความคิดหรือสถาบันที่ทำให้หญิงต้องตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า แย่กว่า หรือถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากบุคคลที่เป็นชายแต่เพียงอย่างเดียว อุดมการณ์หรือความเข้าใจที่ฝังอยู่ในระบบกฎหมายมาอย่างยาวนานโดยไม่ถูกตรวจสอบ ก็พร้อมที่จะถูกบังคับใช้อย่างอยุติธรรมต่อหญิงได้ ไม่ว่าผู้ตัดสินคนนั้นจะมีเพศใดก็ตาม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save