fbpx

ความยุติธรรมนั้นอยู่ที่ไหน จากไทยแลนด์ถึงสหรัฐอเมริกา

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา จัดแสดงนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ’ ที่แกลเลอรีกินใจ (Kinjai Contemporary) ฝั่งธนบุรี ตลอดเดือนตุลาคมจนถึง 13 พฤศจิกายน ปีนี้ที่โดดเด่นและต่างจากปีก่อนๆ คือ การเปิดภาพ 6 ตุลาที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนจำนวนไม่น้อยที่มีความหมายอย่างยิ่ง อันนี้สำคัญมากสำหรับการบันทึกเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่การสร้างเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม ต้องมีหลักฐานและการเสนอความจริงที่ยอมรับได้

นับจากปีโน้นก็กินเวลาถึง 46 ปีเข้าไปแล้ว เกินครึ่งอายุคน นับว่าเป็นผู้ใหญ่และเข้าสู่วัยกลางคน แต่หากถามถึงเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมและการเมืองไทย คำตอบและความรับรู้เกี่ยวกับสิ่งประวัติศาสตร์นี้กลับได้อะไรน้อยเกินกว่าอายุของมัน เรื่องคุณค่าและบทเรียนสำหรับคนรุ่นหลังยิ่งไม่ต้องถาม มันยังให้ไม่ได้ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะรัฐยังไม่ยอมรับมันอย่างที่มันเป็นจริงว่ามันคือฆาตกรรมโหดกลางกรุงโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร้เหตุผลและความถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันเปิดงานนิทรรศการฯ มีการอภิปรายในหัวข้อ ‘ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง’ ผู้อภิปรายมีชื่อให้ข้อมูลและการดำเนินเรื่องเกี่ยวกับการนำคดี 6 ตุลาขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) การเคลื่อนไหวได้กระทำไปจนถึงขั้นที่อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศตกลงรับพิจารณากรณีการใช้ความรุนแรงนี้ต่อประชาชน ได้เดินทางมาเก็บข้อมูลและที่สำคัญเจรจากับรัฐบาลไทยขณะนั้นซึ่งเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เจรจากับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ ข้อที่ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่อาจให้สัตยาบัน มาจากความเชื่อว่าจะขัดมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกฟ้องร้องได้ แต่ผู้อภิปรายชี้แจงว่าไม่เป็นเช่นนั้นเพราะการกระทำของรัฐมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว จึงเป็นผู้รับผิดชอบหากมีการดำเนินการทางศาล

ต่อคำถามว่าสังคมไทยจะหลุดจากวงจรอำนาจรัฐกดขี่และการไม่รับผิดต่อการกระทำของตนได้หรือไม่และอย่างไร คำตอบที่คิดได้จากระบบการเมืองไทยแทบไม่ให้ความหวังอะไรเลย มันแสนจะริบหรี่ที่จะเห็นแสงทองส่องอำไพยังความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของประชาชน ทำให้ผมคิดออกนอกกรอบไปยังประวัติศาสตร์อเมริกาที่มีความเป็นมาในเรื่องการกดขี่และเอาเปรียบคนผิวดำที่ถูกทำให้เป็นคนส่วนน้อยไป ด้วยเหตุทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเหล่านั้นถูกซื้อและจัดวางให้เป็นทาสตั้งแต่ยุคแรกก่อตั้งอาณานิคมอเมริกา จนถึงการปฏิวัติกระฎุมพีประชาธิปไตย ที่นำเสรีภาพและความเสมอภาคมาให้คนผิวขาวทุกคน ยกเว้นคนผิวดำและสตรีผิวขาว

นี่เป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้ต่อเมื่อไปเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาจริงๆ ในสหรัฐฯ ว่าการปฏิวัติกระฎุมพีประชาธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วยังไม่สามารถสถาปนาระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ให้ความเสมอภาคและเสรีภาพแก่คนทุกคนในประเทศนั้นได้ เรื่องราวของคำประกาศเอกราชที่แถลงอย่างหนักแน่นและจับใจคนทั่วโลกอย่างยิ่งคือวรรคทองที่ว่า “คนทั้งหมดพระเจ้าสร้างให้เกิดมาเท่าเทียมกัน ว่าพวกเขาได้รับจากพระผู้สร้างพร้อมด้วยสิทธิที่ไม่อาจถูกพรากไปได้ ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และการแสวงความสุข” (all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness.)

เป็นเวลานานที่คนทั่วไปเชื่อว่าข้อความเหล่านั้นคือความจริงในตัวมันเอง ทั้งๆ ที่ในการปฏิบัติมันเป็นได้เพียงอุดมการณ์ทางการเมืองของคนชั้นกลาง ระบบการเมืองประชาธิปไตยในอเมริกาจึงวางอยู่บนการดิ้นรนต่อสู้เรียกร้องของคนทั่วไปในการได้รับอุดมการณ์นั้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา เมื่อมองจากแง่มุมนี้ ปัญหาความอยุติธรรม การกดขี่ขูดรีดและใช้กำลังรุนแรงกระทำต่อคนอื่นๆ ที่เสียเปรียบเช่นคนผิวดำ จึงไม่ใช่คำตอบว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศเหยียดผิวและเชื้อชาติและกดขี่ ต้องประณามและต่อต้านอย่างเดียว หากแต่ในระบบสังคมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อเมริกาเป็นเสมือนกล่องดวงใจหรือเครื่องจักรใหญ่ที่กำกับและผลักดันการทำงานของระบบทุนโลก ดังนั้นมันจึงต้องเปิดพื้นที่และโอกาสจำนวนหนึ่งให้แก่คนทุกคนที่มีความสามารถในการผลิตและสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าได้ อเมริกาจึงเป็นสังคมที่ย้อนแย้งในตัวเอง ด้านหนึ่งมีการกีดกันเหยียดผิวและเอาเปรียบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนผิวขาวอย่างแอบแฝง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เปิดรับและให้คนที่มีความสามารถเข้ามาใช้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายในอเมริกาได้อย่างเสรี เพื่อสร้างระบบทุนนิยมให้เติบใหญ่และมีสมรรถภาพยิ่งๆ ขึ้น ความขัดแย้งต้านตึงดังกล่าวดำรงอยู่ในแทบทุกอณูของสังคมอเมริกัน เชื่อในความเท่าเทียมกันของอุดมการณ์อเมริกา ว่าไปแล้วมันเกือบเป็นตัวตนและบุคลิกของความเป็นอเมริกันที่สุด

เมื่อมองไปในประวัติศาสตร์ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมนักประวัติศาสตร์อเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับและยึดถือการตีความและอ่านประวัติศาสตร์อเมริกาด้วยแว่นทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งและฉันทมติ (conflict and consensus) เหมือนกับการยึดแว่นกรมพระยาดำรงราชานุภาพในประวัติศาสตร์ชาติไทยในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์อเมริกามาโดยตลอด  ในทางการเมืองจึงแสดงออกในการเกิดขึ้นของระบบสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่เป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้งในด้านต่างๆ อย่างรวมศูนย์ ไม่มีพื้นที่และโอกาสให้แก่พรรคเล็กพรรคน้อยมาร่วมกระบวนการทางการเมืองการปกครองนี้ได้ ข้อดีคือทำให้ภาคประชาสังคมและกลุ่มมวลชนทั้งหลายที่ทำการต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรม ไม่ต้องไปจัดตั้งพรรคอะไรใหม่ให้เสียเวลา หากหาทางเข้าไปยึดการนำทางนโยบายภายในพรรคทั้งสองให้ได้ก็เรียบร้อย ดังที่ปรากฏว่าพรรคเดโมแครตมีแกนนำและสมาชิกพรรคเอียงทางเสรีนิยมและซ้ายหน่อยๆ สนับสนุนกรรมกรและชาวบ้านและสตรีเรื่องทำแท้ง ในขณะที่พรรครีพับลิกันแกนนำและสมาชิกเอียงหรือกุมอุดมการณ์เอียงขวา อนุรักษนิยม ต่อต้านสตรีนิยมและเสรีนิยม โดยเฉพาะความคิดเอียงซ้ายทั้งหมด

แต่ทั้งหมดนั้นสร้างให้เกิดความยุติธรรมแก่คนเสียเปรียบได้ไหม ความรุนแรงและการกดขี่ของภาครัฐและกลไกรัฐและเอกชนได้รับการจัดการแก้ไขให้ถูกต้องและเป็นธรรมขึ้นมาไหม ตอบอย่างสั้นก็ต้องบอกว่า ได้ แต่มีเงื่อนไข กล่าวคือเมื่อพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาคองเกรสได้หมด ก็ออกกฎหมายมาแก้ไขเรื่องราวและปฏิบัติการที่ผิดพลาด เช่นการให้คนผิวดำมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมในทุกมลรัฐ ให้สิทธิสตรีในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังผลักดันให้ศาลสูงสุดตัดสินให้สิทธิในการทำแท้งแก่สตรีทั้งหมด

ทว่าเมื่อกระแสพลังการเมืองตีกลับ เช่นสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันเป็นรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้สามารถเลือกผู้พิพากษาหัวอนุรักษนิยมสุดขั้วเข้ามาในศาลสูงสุดได้จนเป็นเสียงข้างมาก จากนั้นก็มีการพลิกคำตัดสินในหลายเรื่องที่เอียงข้างเสรีนิยมมาเป็นเอียงข้างอนุรักษนิยมแทน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ความยุติธรรมมีลักษณะสัมพัทธ์ อาจขยายออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อรับใช้คนส่วนมาก หรืออาจหดตัวให้แคบลงเพื่อสนองตอบความเชื่อและความต้องการของกลุ่มเฉพาะและไม่ใช่คนส่วนมากได้

ลักษณะการต่อสู้และผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้การเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในอเมริกามีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวอย่างหน้ากระดานแนวนอนมากกว่าเป็นแนวตั้ง ในแต่ละช่วงและเวลาของการต่อสู้ ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้แต่ละครั้ง มีผลกระเทือนถึงคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ ฝ่ายประชาชนและประชาสังคมมุ่งเน้นไปที่การกระจายและจัดตั้งกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ให้มากที่สุด ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและเอียงขวาซึ่งได้รับการหนุนหลังจากทุนผูกขาด มีแนวโน้มไปสู่การขยายทุนและปัจจัยการผลิตของทุนเพื่อสร้างกำไรและขยายทุนต่อไป

ดังสังเกตได้จากท่วงทำนองการรณรงค์หาเสียงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายแรกเน้นไปที่การปลุกระดมให้ประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ให้มากที่สุด ส่วนทรัมป์ปลุกระดมมวลชนคลั่งชาติให้ทำลายกลไกการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ ต่อต้านกำจัดบรรดาคนอพยพเข้าเมืองทั้งถูกและผิดกฎหมาย ต่อต้านเล่นงานสตรีที่ต้องการสิทธิในร่างกายตนเอง คัดค้าน LGBTQ และเพศสภาพหลากหลาย ในที่สุดเอนเอียงทางสนับสนุนประธานาธิบดีปูตินในสงครามฆ่าล้างยูเครน ต่อต้านประเทศจีนที่เป็นสังคมนิยม

ผมคิดว่าบาปและความไม่เป็นธรรม ไปถึงความอยุติธรรม การกดขี่ขูดรีดทำลายความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงของอเมริกาคงไม่มีเรื่องไหนเกินปัญหาระบบทาสผิวดำที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันพร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของอาณานิคมและต่อมาเป็นรัฐชาติอิสระ ตลอดเวลาอันยาวนาน 4 ศตวรรษ หากถือปี 1619 เป็นปีแรกของการซื้อคนแอฟริกันกลุ่มแรกราว 20 คนมาทำงานในไร่ยาสูบและน้ำตาล ข้าว ครามและฝ้าย อันเป็นสินค้าส่งออกที่ทำเงินมหาศาลให้แก่นายทาสและรัฐคนผิวขาว จนประชากรทาสผิวดำเพิ่มปริมาณขึ้นไปเป็น 4 ล้านคนในระยะสงครามกลางเมืองในปี 1861-65

คนผิวดำที่เป็นทาสและไทในระยะก่อนสงครามกลางเมือง ต่อมาจะได้รับเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (บทบัญญัติแก้ไขที่ 13) พวกเขาเป็นบรรพบุรุษของบรรดาคนอเมริกันผิวดำที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่อย่างยากลำบาก แต่ที่ต่างจากอดีตในยุคทาส คือการมีระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลักในการรับรองเสรีภาพต่อมาสิทธิทางการเมือง ทำให้พวกเขาและเธอสามารถลุกขึ้นเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษที่ถูกใช้เป็นทาสอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและคำสอนทางศาสนาคริสเตียน บทเรียนอันแรกของการหาและสร้างความยุติธรรมสำหรับคนถูกกดขี่คือต้องเสนอประวัติศาสตร์ของตนเองออกมาให้ได้ ในนั้นเต็มไปด้วยหลักฐานทั้งชั้นต้นและชั้นรอง ทั้งมุขปาฐะและบันทึกลายลักษณ์อักษร รวมไปถึงอัตชีวประวัติและงานวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ

ข้อนี้คือลักษณะเฉพาะของคนผิวดำอดีตทาสในสหรัฐอเมริกาที่ต่างอย่างมากจากบรรดาทาสผิวดำในแคริบเบียนและอเมริกาใต้ ซึ่งแม้มีจำนวนของคนแอฟริกันถูกบังคับขายเป็นทาสอย่างมากมหาศาลกว่าในอเมริกาเหนือก็ตาม ประมาณว่าจากปี 1525-1866 คนแอฟริกันจำนวน 12.5 ล้านคนถูกบังคับลงเป็นทาสในโลกใหม่ (ทวีปอเมริกามีเพียง 388,000 คนเท่านั้นที่ถูกนำไปขายในทวีปอเมริกาเหนือ คนแอฟริกันที่เป็นทาสส่วนใหญ่ไปใช้ชีวิตในแถบแคริบเบียนและทวีปอเมริกาใต้ ประเทศบราซิลประเทศเดียวมีถึง 4.86 ล้านคน เหลือไปถึงอเมริกาเหนือเพียง 450,000 เท่านั้น

แต่คนผิวดำแอฟริกันที่เป็นทาสเพียงไม่ถึงล้านคนในอเมริกาเหนือ กลับสามารถสร้างชุมชนและสังคมคนผิวดำเป็นแอฟริกันอเมริกันที่ค่อยๆ เติบใหญ่และมีพลังทางการเมือง ทางภูมิปัญญาและทางศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่น จากแฮร์เรียต ทับแมน เฟรเดอริก ดักลาส ถึงวิลเลียม ดูบัวส์ ริชาร์ด ไรท์ ราล์ฟ เอลลิสัน ถึงหลุยส์ อาร์มสตรอง พอล โรบีสัน โทนี มอริสันและมาร์ติน ลูเธอร์ คิงจูเนียร์ ที่สร้างบารัก โอบามาให้เป็นประธานาธิบดีได้ในที่สุด แม้ยังถูกกีดกันและเหยียดผิวประการใดก็ตาม ในสังคมอเมริกันจากวันที่ได้รับเสรีภาพมาถึงปัจจุบัน เปรียบกับคนผิวดำและลูกครึ่งในแคริบเบียนและอเมริกาใต้ปัจจุบันนี้ที่ยังตกอยู่ในสภาพที่แทบไม่ต่างจากยุคกึ่งทาส

ตอนที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ระบบทาสในอเมริกา เริ่มได้ยินคนพูดถึงการเรียกร้องค่าชดเชย (reparation) จากการถูกทำให้เป็นทาสอย่างไม่ชอบ เรียกร้องจากใคร ก็เรียกร้องจากรัฐบาลอเมริกันปัจจุบันซึ่งเป็นทายาทโดยตรงของรัฐอเมริกาที่เป็นทาสในอดีต มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากและซับซ้อนเกินกว่าจะเชื่อว่าจะเป็นจริงได้ เราคิดว่าอย่างมากก็เป็นเพียงกระแสในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคที่ยังไม่ครอบคลุมไปทั้งหมด การมุ่งไปสู่จุดหมายอันสูงสุดอาจทำให้รัฐอเมริกายินยอมให้สิทธิและโอกาสในทางเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นการตอบแทน แต่ระยะหลังๆ มานี้ มีคนผิวดำออกมารวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำไปดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป ระหว่างนี้มีการเปิดโปงหลักฐานว่าสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ ดังๆ เช่นมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ พรินซ์ตัน และฮาร์วาร์ด ต่างเคยได้รับเงินอุดหนุนหรือลงทุนในกิจการที่ใช้แรงงานทาสมาก่อน ทำให้สถาบันเหล่านั้นยอมเปลี่ยนชื่อตึก ตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ทายาทของอดีตทาสที่เคยทำงานในสถาบันเหล่านั้นเป็นต้น แสดงว่าหนทางและความเป็นไปได้ในการเรียกค่าชดเชยในการทำให้คนผิวดำเป็นทาสในอเมริกาจะได้รับความยุติธรรมและความเป็นธรรมอย่างถ้วนหน้านั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น

หมายความว่า ลูกหลานของอดีตผู้มีบุญอีสาน (“ยุติธรรมไม่เกื้อหนุน ผีบุญจึงเกิด” – ถนอม ชาภักดี) กบฏพระยาแขก(ปัตตานี) กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ การสังหารผู้ชุมนุมประท้วงตากใบและมัสยิดกรือเซะ และในที่สุดกรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์กับเขาบ้าง แต่ก่อนอื่น ต้องทำประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำเหล่านี้ให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติ เป็นวาทกรรมและประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ท้าทายและวิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาตินิยมดั้งเดิมได้อย่างมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ เช่นโครงการ 1619 โดยนิโคล ฮันนาห์- โจนส์ (Nikole Hanna-Jones) ที่สร้างแรงกระเทือนถึงทำเนียบขาวสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ยังเป็นเจ้า เขาออกคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงการไม่รักชาตินี้ และให้หาทางเอามันออกไปให้ได้ ขนาดในอเมริกาที่เสรีภาพทางความคิดและแสดงออกทำได้อย่างเปิดเผยและปลอดภัยมากที่สุดในโลกยังหนีไม่พ้นกงเล็บปีศาจที่หวาดกลัวแสงสว่างทางปัญญา

ข้อสรุปในวันนี้คือ ความยุติธรรมยังพอหาได้และอาจเอื้อมถึงได้ในสังคมที่มีระบบกฎหมายเป็นธรรม ระบบการเมืองประชาธิปไตยระดับทำงานได้ เครื่องมือในการรื้อสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรม หนีไม่พ้นต้องอาศัยประวัติศาสตร์ในความหมายที่กว้างและกินพื้นที่ของศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงที่ดึงมาร่วมงานได้ ในการนำเสนอและสถาปนาความรู้ที่เป็นความจริงของประชาชน อีกมุมหนึ่งต้องจัดตั้งประชาสังคมของคนถูกเอารัดเอาเปรียบขึ้นมาอย่างกว้างขวางและยกระดับการศึกษา ความรับรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

อนาคตเป็นของคนส่วนมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save