fbpx
ปีแห่งการเปิดเปลือยปัญหาสิทธิ : รื้อใหม่ สิทธิมนุษยชน-ความยุติธรรมในไทย 2020

ปีแห่งการเปิดเปลือยปัญหาสิทธิ : รื้อใหม่ สิทธิมนุษยชน-ความยุติธรรมในไทย 2020

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เรื่องมักเริ่มต้นง่ายๆ แบบนั้น — มนุษย์ใช้ชีวิต คาดหวังจะอยู่อย่างมีความสุข ก่อนที่หลายคนจะโดนพรากสิทธิออกไปจากอก และความสุขที่ว่าไม่เคยมาถึง – น่าเศร้าที่ดูเหมือนว่ามนุษย์ไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หมดจดเสียที ไม่ว่าเราจะเดินผ่านการต่อสู้มานานเพียงใด

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่โลกผกผันที่สุดปีหนึ่งในเส้นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่โรคระบาดที่สร้างปัญหาทุกหัวระแหง แต่หลายประเทศทั่วโลกก็มีปัญหาการเมืองทับซ้อนซ้ำเติม เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ ตั้งแต่การประท้วงของชาวฮ่องกง เหตุการณ์ Black Lives Matter ที่สหรัฐอเมริกา ชาวฝรั่งเศสประท้วงกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ การประท้วงในเลบานอน และไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่การเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นจนโลกต้องหันมามอง

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมถูกหยิบยกมาคุยกันอีกครั้ง – ในวันที่ว่ากันว่าโลกหันขวา ดูเหมือนว่ามนุษย์จำเป็นต้องตีความและขีดเส้นชุดความคิดอุดมการณ์กันใหม่

ถึงอย่างนั้น ในแต่ละวันที่โลกดำเนินไป มีผู้คนจำนวนมากตกหล่นจากสิทธิพึงมี และยิ่งแย่กว่านั้น ที่หลายคนแม้มีเสรีภาพในชีวิต แต่ไม่มีเสรีภาพทางการเงินจนไม่อาจใช้ชีวิตตามใจปรารถนา ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 กระจายไปทั่วโลกก็ยิ่งทำให้เส้นแบ่งชัดเจนขึ้น โรคระบาดเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลก และยิ่งคลี่ความอยุติธรรมให้เห็นถนัดตามากขึ้น แรงงานจำนวนมากต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด ทั้งในแผ่นดินตัวเองและแผ่นดินอื่น

ยังไม่นับปัญหาทางการเมืองที่หลายครั้งก็พรากสิทธิเสรีภาพของผู้คนไปไม่อาจหวนกลับ เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นบนโลกราวกับเป็นเรื่องปกติ แม้เรามิอาจยอมรับให้เป็นเรื่องปกติ

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา 101 เข้าไปสำรวจชีวิตของผู้คนหลากพื้นที่ ทำความรู้จักปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำความเข้าใจการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย และเปิดภาพความยุติธรรมที่ควรจะเป็นเพื่อให้เราเห็นความหวังร่วมกัน

 

สิทธิที่จะรอดชีวิตในยุคโควิด  

 

ที่ประเทศไทย ในช่วงล็อกดาวน์ต้นปี 2020 ยังไม่มีใครรู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ เงียบเหงาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกคนฝังตัวอยู่บ้าน ส่วนโรงเรียน ร้านรวง ห้างสรรพสินค้า สนามบิน ฯลฯ ปิดชั่วคราว พลวัตของมนุษย์ถูกยับยั้งจากเชื้อโรคเล็กจิ๋ว หลายคนที่มีบ้านให้พักพิงและยังมีเงินเดือนเข้าบัญชีอาจยังพอผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่อาจไขว่คว้าสิ่งยึดเหนี่ยวไว้ได้ เพราะชีวิตเปราะบางเกินไป

ที่ถนนราชดำเนิน มีคนไร้บ้านจำนวนมาก รวมถึงพ่อค้าแม่ขาย และร้านกินดื่มในถนนข้าวสารที่ต้องเผชิญภาวะยากลำบาก จากถนนที่เป็นหมุดหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาวันนี้ ที่นี่เหลือเพียงป้ายปิดชั่วคราว และถนนโล่งไร้ผู้คน มีขวดเบียร์ที่ดื่มหมดแล้ววางไว้ข้างทางเป็นภาพทรงจำ

ในสารคดี ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน เล่าฉากและบทสนทนาหนึ่งกับคนไร้บ้านไว้ว่า “งานฉันน่ะอยู่ที่บางบอน ฉันทำงานก่อสร้าง พอโควิดมาเขาก็ไม่จ้าง ฉันไม่มีค่าห้อง เลยมานอนแถวนี้ ปัญหาหลักคือไม่มีข้าวกิน เลยต้องมากินข้าวที่นี่ ฉันได้เงินเป็นรายวัน พอเขาปิด เราก็ไม่ได้อะไรเลย ประกันสังคมก็ไม่มี” สมหมายเล่าพลางดันแว่นพลาสติกขอบสีฟ้าเสยผม ข้างตัวเขามีกระเป๋าผ้าใบเขื่องที่กลายเป็นเพื่อนแท้ในยามต้องโยกย้าย เขาไม่มีรายได้มากว่า 2 เดือนแล้ว

ภาพคนไร้บ้านนามว่า ‘สมหมาย’ เป็นเพียงหนึ่งในผู้คนอีกหลายพันหมื่นที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในช่วงโควิด-19 การเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชันกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อพวกเขามีเพียงโทรศัพท์ปุ่มกด หรือบางคนก็ไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ เลย หลายคนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือกับบางคนจากที่เคยมีงานทำ โควิดก็กระชากพวกเขาให้ลงมาอยู่ใต้ตาข่ายปลอดภัย และไม่รู้จะรอดชีวิตต่อไปได้อย่างไร

รัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามถึงมาตรการการดูแลประชาชนอย่างมากในช่วงแรกของการระบาด การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงสิทธิอย่างถ้วนหน้ากัน โดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ อย่างที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยประกาศ กลับกลายเป็นความสงสัยของประชาชนว่ารัฐบาลทำได้อย่างที่พูดจริงหรือไม่

ไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิในการเข้าถึงการช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังมีการตั้งคำถามกับมาตรการที่เข้มข้นของรัฐบาลว่าทำเกินความจำเป็นหรือไม่ หลังจากรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบชีวิตผู้คนในภาพรวม จนคำถามที่ว่ากฎหมายนี้ใช้เพื่อ ‘ควบคุมโรค’ หรือ ‘ควบคุมประชาชน’ ดังขึ้นมาในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะทางการเมืองที่มีการประท้วงรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 จากนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ

จากกรณีที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงกับข้อถกเถียงทั่วโลกที่ว่าโควิด-19 สร้างข้อท้าทายใหม่ต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นบททดสอบที่สำคัญของรัฐบาลทั่วโลกในการยืนยันหลักการประชาธิปไตยเพื่อรับมือภัยคุกคามทางสุขภาพ

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ทางรายการ 101 One-On-One Ep.139 : สุขภาพ Vs. เสรีภาพ สำรวจสิทธิคนไทย ยุคโควิด-19 ในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ ไว้ว่า “โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน แต่การหยิบเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้มีปัญหามาตั้งแต่ต้น”

ศิริกาญจน์อธิบายว่า ต้นกำเนิดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ถูกร่างมาเพื่อใช้จัดการกับโรคระบาด แต่ถูกนำมาจัดการกับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 อีกทั้งเมื่อโควิด-19 ยกระดับเป็นการระบาดทั่วโลก สิ่งสำคัญที่จะจัดการกับสภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องการใช้กฎหมาย แต่ต้องใช้มาตรการทางสังคม มาตรการเศรษฐกิจ มาตรการสาธารณสุข พร้อมกับความร่วมมือของประชาชน

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แวดวงสิทธิมนุษยชนมีการพูดคุยกันถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิที่เราคุ้นชิน เช่น เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพการชุมนุม สิทธิพลเมือง กับสิทธิอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เน้นมากนัก เช่น สิทธิในสุขภาพ มีการตั้งคำถามว่ารัฐควรลงทุนและให้ความสำคัญกับหลักประกันด้านสุภาพอย่างเต็มรูปแบบไหม เพื่อให้เกิดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสิทธิอื่นๆ ที่เป็นข้อท้าทายขึ้นมา เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ลี้ภัย สิทธิกลุ่มเปราะบางต่างๆ สิทธิคนไร้บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องไหนสำคัญกว่ากัน เพราะในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ทุกสิทธิมีความเกี่ยวพันกัน ไม่มีสิทธิใดสิทธิหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง” ศิริกาญจน์กล่าว

ทุกสิทธิที่มีความเกี่ยวพันกันนี้ ทำให้การจัดการปัญหาเรื่องสุขภาพต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ให้รอบด้าน ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาคนไทยในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ และในช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทำให้เกิดการวิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลในประเด็นเรื่องการนำคนไทยกลับประเทศ

ในบทความ นำคนไทยกลับประเทศ: สิทธิตามรัฐธรรมนูญ Vs. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ นูรีซีกิน ยูโซ๊ะ สะท้อนภาพแรงงานไทยในต่างชาติ ทำให้เห็นว่านโยบายรัฐส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนอย่างไร และในภาวะวิกฤต การมองทุกอย่างรอบด้านจำเป็นแค่ไหน โดยบทความยกกรณีพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานำเสนอ ซึ่งมีความซับซ้อนเนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซ้ำซ้อนกับกฎหมายพิเศษเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่

“…การประกาศมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น การประกาศปิดตำบล การประกาศปิดหมู่บ้าน การประกาศปิดจังหวัด การประกาศปิดการสัญจรในบางเส้นทาง การกำหนดจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียให้เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้วันละ 100 คนต่อด่านชายแดน”

“ผลกระทบจากการประกาศมาตรการที่กะทันหันเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งการประกอบอาชีพที่ยังพอสามารถทำได้ในช่วงของการแพร่ระบาดนั้นต้องหยุดไป โดยในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มดำเนินการช่วยเหลือในด้านปัจจัยยังชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ”

บทความยังฉายให้เห็นภาพของแรงงานไทยในมาเลเซียที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย แรงงานเหล่านี้ทำงานในร้านอาหารไทย หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า ‘ร้านต้มยำกุ้ง’ มีคนไทยเชื้อสายมลายูเป็นเจ้าของกิจการ นอกจากนั้นยังมีแรงงานทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และคนไทยพุทธจากภาคอื่นๆ ที่มาทำงานในภาคเกษตร เช่น ลูกเรือประมงหรือลูกจ้างในอุตสาหกรรมการประมง คนงานสวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด และยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยทำงานในภาคบริการ เช่น งานนวด งานแม่บ้านหรือคนรับใช้

กลุ่มแรงงานไทยส่วนมากในมาเลเซียทำงานในฐานะลูกจ้างรายวัน เมื่อต้องเจอกับมาตรการเข้มงวดในมาเลเซียจึงทำให้แรงงานเหล่านี้ตกงาน ส่งผลให้ขาดรายได้ที่ใช้ส่งกลับภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตในมาเลเซียเมื่อพวกเขาไม่มีทั้งงานและเงิน จนมีการพยายามแสวงหาทางกลับภูมิลำเนา และหวังพึ่งพานโยบายรัฐที่จะพาพวกเขากลับบ้าน ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้มีการหยิบเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนกับการป้องกันการระบาดมาถกเถียงในสังคมอย่างเข้มข้น

ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่อยากกลับบ้าน แต่ยังมีแรงงานต่างชาติในไทยที่อยากกลับบ้านตัวเองเช่นกัน ในสารคดี ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ ชีวิตแรงงานพม่าในกรุงเทพฯ หลังโควิด เมื่อคนทวายไม่อาจกลับบ้าน เขียนเล่าชีวิตแรงงานชาวทวายที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหลังวัดไผ่ตัน เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน และไม่ได้อยู่บ้าน พวกเขาอยู่อย่างไรในช่วงล็อกดาวน์ พวกเขาแก้ปัญหาชีวิตอย่างไร เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในบางฉาก เมื่อสารคดีเล่าให้เห็นว่าชีวิตของหญิงชาวพม่าที่มาทำงานต่างถิ่นในยุคโควิด-19 เป็นอย่างไร

“ชีวิตช่วงที่ไม่มีงานลำบากมาก กลับบ้านก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากเลย แม่ก็บอกว่ากลับมาเถอะ เราก็บอกว่าตรงชายแดนปิดแล้ว ออกไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากกลับด้วย เพราะกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ดี แล้วครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เหมือนไปทำให้ครอบครัวลำบาก” โอ๋ สาวชาวทวายที่อยู่ไทยมากว่า 10 ปี เล่า

ภาวะ ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับโอ๋ แต่คนกว่าครึ่งหนึ่งจาก 200 ครัวเรือนในชุมชนทวายแห่งนี้ กลายเป็นคนตกงานที่ลอยคว้างกลางมหาสมุทร ไร้ที่ยึดเหนี่ยว ยังไม่นับว่ามีแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมากในพื้นทื่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน และดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการเหลียวแลในเชิงนโยบาย

ในบทความ ‘อยู่ต่อก็ไม่ไหว จะกลับไปก็กลับไม่ได้’ ชีวิตแรงงานข้ามชาติบนสมรภูมิโรคระบาด หยิบเอาความเห็นของผู้ที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติมาให้เห็นว่า มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ที่ติดตามสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครออกความเห็นว่า มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลิกจ้างอย่าง ‘ไม่เป็นธรรม’ โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัญหาการเลิกจ้างช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ใน 23-24 โรงงานที่เลิกจ้างคน มีแค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่ค่าชดเชยให้ นอกนั้นปล่อยลอยแพไปเฉยๆ

สุธาสิณีเล่าว่า ในภาวะนี้ทำให้ภาคประชาสังคมต้องทำงานมากขึ้นในหลายด้าน โดยยกตัวอย่างงานที่ต้องทำมาสามด้าน

ด้านแรก คือ การช่วยเหลือแรงงานให้เข้าสิทธิที่พึงได้รับจากการถูกเลิกจ้าง เงินช่วยเหลือจากการว่างงาน และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

ด้านที่สอง  คือการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในตอนที่พวกเขายังต้องเฝ้ารอเงินชดเชยจากนายจ้างและประกันสังคม รวมถึงไม่อาจหางานทำได้

ด้านที่สาม คือ ช่วยสื่อสารความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ด้วยการทำคลิปวิดีโอ ไลฟ์ให้ความรู้ และแปลเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติให้พวกเขาได้เข้าถึง

ด้านศรีไพร นนทรี เจ้าหน้าที่จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เล่าถึงผลกระทบในชีวิตแรงงานที่เกิดขึ้นจากโควิดและสถานการณ์เศรษฐกิจไปจนถึงการต่อสู้ของภาคแรงงานที่มีส่วนยึดโยงกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในรายการ 101 One-On-One Ep.175 สู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า สู่ความฝันของ ‘แรงงาน-ประชาชน’ ไว้ว่า “แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโซนก่อสร้างหรือในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกพิจารณาให้ออกจากงาน จากนั้นจึงเป็นซับคอนแทรก และพนักงานประจำ

“แรงงานข้ามชาติมีปัญหาหนักพอสมควร ในหลายที่ไม่มีสหภาพแรงงานไว้คอยปกป้องเขาด้วย เราได้ไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่ง ก่อนโควิดถูกนายจ้างโกงค่าจ้าง ไม่ได้เงินสักบาทเดียว กำลังจะฟ้องร้องกัน พอโควิดมา นโยบายรัฐมีการจัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเพราะกลัวจะเป็นตัวแพร่เชื้อ คนที่ไม่มีใบอนุญาตจะถูกผลักออกนอกประเทศหมด สิทธิต่างๆ ที่เขาควรจะได้ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เลย แล้วเราก็ติดต่อเขาไม่ได้เลย เพราะเขากลัว ไม่รู้ว่าเขากลับบ้านไหม ถูกจับหรือเปล่า หรือไปหลบซ่อนกันอยู่ที่ไหน” ศรีไพรกล่าว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถรวมตัวกันในลักษณะสหภาพได้ คำถามสำคัญก็คือกลไกคุ้มครองดูแลแรงงานข้ามชาติควรเป็นอย่างไร ศรีไพรให้ความเห็นว่า “การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติจะทำได้ รัฐบาลต้องเซ็นรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่จะทำให้คนงานและภาคประชาชนรวมตัวกันได้ง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อรองได้ นอกจากต้องเซ็นอนุสัญญาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่ได้เปิดเรื่องการรวมกลุ่มหรือสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ไว้ ดังนั้นถ้าจะให้ดีรัฐธรรมนูญต้องถูกเปลี่ยนด้วย เพื่อรองรับการรวมกลุ่มหรือการเจรจาต่อรองให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะทำให้ภาคประชาชนทุกหน่วยงาน ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนยากจน สามารถรวมกลุ่มเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหรือเจ้าของกิจการนั้นๆ ได้”

จะเห็นว่ามีหลายหน่วยงานพยายามแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิ ทั้งในเชิงนโยบายและการช่วยเหลือโดยตรง แน่นอนว่า การช่วยเหลือเหล่านี้อาจทำได้ไม่ทั่วถึง แต่การเกิดวิกฤตโควิดทำให้สังคมมองเห็นว่าโลกที่เราอยู่นั้นเปราะบางแค่ไหน และมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะหลุดออกจากตาข่ายความปลอดภัยทันทีที่โรคระบาดมาถึง การมองเห็นภาพความจริงนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการจัดการให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมถูกหยิบมาปัดฝุ่น และเปิดเปลือยให้เห็นแผลที่เราปิดกลบกันมานาน

 

พวกเขา-พวกเรา-คนอื่น ทำความเข้าใจแรงงานข้ามชาติ

 

จริงอยู่ ที่โควิด-19 ทำให้เราเห็นปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติและกลุ่มคนเปราะบางมากขึ้นในสังคม แต่ก็ใช่ว่าถ้าไม่มีปัญหานี้ เรื่องสิทธิมนุษยชนจะไม่เคยเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เพราะเรื่องอคติต่อแรงงานข้ามชาติส่งผลอย่างเข้มข้นล้ำลึกต่อการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน

จากการประมาณการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ปี 2018 แรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีจำนวนกว่า 11.6 ล้านคน โดย 5.2 ล้านคนเป็นแรงงานหญิงซึ่งเข้ามาทำงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ภาคก่อสร้างและอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย สถิติล่าสุดระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวน 3.9 ล้านคน และส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม แต่ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังคงเผชิญกับปัญหาจากทัศนคติคนในสังคม จนเป็นเหตุให้ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ รวมถึงเกิดความรุนแรง

ในวิดีโอ Call Of Duty : หน้าที่เพื่อเพื่อนมนุษย์ ‘แรงงานข้ามชาติ’ และ Familiar Strangers: ‘แรงงานข้ามชาติ’ คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย พาเราไปทำความรู้จัก ‘ความแปลกหน้า’ และทำความเข้าใจว่า เราทุกคนล้วนเท่ากัน ซึ่งการพยายามทำความเข้าใจนี้ อาจทำให้ ‘ความเป็นอื่น’ ที่เราเคยมองเห็นนั้นเปลี่ยนไป

ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวหลายอย่างที่เรานึกภาพไม่ออก หรือไม่รับรู้ว่าความยากลำบากที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญมีอะไรบ้าง ในสารคดีเรื่อง 72 ชั่วโมงก่อนการมีตัวตน: เมื่อเด็กหนึ่งคนเกิดในไทย โดย รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์ เล่าเรื่องการแจ้งเกิดของลูกแรงงานข้ามชาติในแคมป์คนงานก่อสร้างที่เกิดในไทย กระบวนการที่คนไทยทำได้อย่างเป็นปกติ กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากเมื่อเราต้องทำในที่ไกลบ้าน

ปัญหาสำคัญคือ เมื่อพวกเขาถูกละเลยในการแจ้งเกิด พวกเขาต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และเมื่อไม่มีเอกสารระบุตัวตน ก็ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ สูงขึ้นไปด้วย

องค์การยูนิเซฟประเทศไทยคาดการณ์ว่ายังมีคนอีกกว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ติดตามหรือแม่และเด็ก อาจนับได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เข้าถึงความคุ้มครองทางสุขภาพ การศึกษา และความคุ้มครองอื่นๆ ในระดับต่ำ เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมาย โดยเฉพาะลูกหลานของแรงงานข้ามชาตินั้นอาจมีมากถึง 7-10% จากแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 4 ล้านคน และในจำนวนนั้นมีเด็กแรกเกิดเพียงประมาณ 540,000 คน ที่ได้รับการแจ้งเกิด นับตั้งแต่ปี 2551-2562

ในงานเขียนเรื่อง แรงงานข้ามชาติ : จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินไทย เส้นทางที่ไม่มีกลีบกุหลาบ โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เขียนถึงประเด็นสิทธิของแรงงานข้ามชาติไว้ว่า กระเทือนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างบัตรประจำตัว รวมถึงการเลือกปฏิบัติ และอคติของคนไทยที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่เมื่อมองในภาพใหญ่เชิงนโยบาย ยังมีแนวโน้มที่ดี โดย สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ตัวแทนองค์กร MWRN กล่าวว่า นโยบายคุ้มครองสิทธิแรงงานของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอดีต โดยสุธาสินีตั้งข้อสังเกตว่าการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาตินี้ อาจเป็นผลจากกรณีที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประมง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) แก่ไทย รวมกับการทักท้วงจากองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย “เพื่อให้สังคมโลกเห็นว่าไทยไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ”

ทั้งนี้ ในโลกแห่งความจริงอาจไม่เป็นไปตามที่กฎหมายเขียนเสมอไป ในบางที่ยังมีแรงงานบางคนถูกละเมิดสิทธิ เช่น นายจ้างเก็บเอาบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรประจำตัวของลูกเรือประมงเอาไว้ โดยอ้างว่าช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่การละเมิดสิทธิเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะนายจ้างต้องการรักษาภาพลักษณ์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานในโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และลูกเรือประมง ซึ่งการจะพัฒนาสิทธิแรงงานให้ได้มาตรฐาน ย่อมต้องอาศัยการตรวจสอบดูแลจากนานาชาติ รวมถึงทำควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจใหม่แก่คนในสังคม เพื่อลดอคติต่อแรงงานข้ามชาติด้วย

ในภาพใหญ่ของโลกก็มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง กษิร ชีพเป็นสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลและความเห็นในบทสัมภาษณ์เรื่อง 75 ปี สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความร่วมมือโลกในมือ UN ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ว่า

“UN ยังพยายามสร้างกลไกและเครื่องมือคอยเฝ้าสังเกตการณ์ว่าสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดหรือไม่ อย่างเช่น Universal Periodic Review (UPR) ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เป็นเจ้าภาพในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นแอมเนสตี หรือมีคณะกรรมาธิการดูแลอนุสนธิสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง สิทธิเด็ก แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฯลฯ แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐสมาชิกก็ตามว่าจะเลือกรับหรือไม่รับ แต่ตราบเท่าที่ประเทศสมัครใจรับเครื่องมือเหล่านี้เข้าไป ประชาชนในประเทศก็จะได้รับการคุ้มครอง”

ทั้งนี้ยังมีอีกบรรทัดฐานที่ UN กำหนดต่อยอดมาจากแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน คือเรื่อง ‘ความมั่นคงมนุษย์’ ซึ่งประกัน ‘เสรีภาพจากความกลัว’ คือปกป้องชีวิตและร่างกายจากอันตราย และ ‘เสรีภาพจากความต้องการ’ คือปราศจากความหิวโหยและความยากจน

‘ความมั่นคงของมนุษย์’ ที่เป็นบรรทัดฐานนั้น เชื่อมโยงกับระบบสังคมที่ซับซ้อน การจะปกป้องชีวิตและร่างกายจากอันตราย และทำให้คนปราศจากความหิวโหยและยากจนนั้น ต้องอาศัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับระบอบการเมืองที่ดีด้วย ดังนั้นทำให้มีมนุษย์ในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังไม่มีเสรีภาพเหล่านี้

 

สิทธิในที่ดินทำกินและการอยู่อาศัย

 

การถูกละเมิดสิทธิไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์อยู่ไกลบ้านหรือโดนโรคระบาดเล่นงานเท่านั้น แต่แค่อยู่ ‘บ้าน’ ของตัวเองก็ยังไม่อาจหนีพ้น

ในสารคดี เลือดเนื้อ ‘จะนะ’ ในเงาทะมึน โดย ธีรภัทร อรุณรัตน์ ฉายให้เห็นภาพชัดว่าความอยุติธรรมคุกคามผู้คนได้เสมอ โดยเล่าเรื่องราวในพื้นที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ สงขลา สำรวจเลือดเนื้อของชาวจะนะ และขุดค้นแก่นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกฝังไว้ในพื้นที่ เมื่อชาวจะนะต้องต่อสู้กับโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเอกชนในอำเภอจะนะกว่า 16,753 ไร่ ครอบคลุมตำบลนาทับ สะกอม และตลิ่งชัน นั่นหมายถึงวิถีชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ในบางฉาก ธีรภัทรเขียนบรรยายไว้ว่า

คลื่นน้ำสีเขียวมรกตที่คลอแดดในวันหลังฝนตก ตัดกับสีเขียวชอุ่มของเกาะเล็กใหญ่รายล้อม ชวนให้ปลอดโปร่งเพียงชั่วครู่ เมื่อกวาดสายตาไปพบกลุ่มควันที่ลอยขึ้นมาจากโรงแยกก๊าซ เป็นความจริงที่เราหนีไม่พ้น

“เราสู้ให้ถึงที่สุด ถ้าเขาสร้าง เราก็ทำงานไม่ได้แล้ว” ชาวประมงอาวุโส ผู้มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองในโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังจะลงหลักปักฐานในอนาคตเปรยออกมา

เรื่องเล่าผ่านน้ำเสียงของผู้คน สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างขนาดใหญ่กดทับหัวจิตหัวใจคนได้เพียงไหน และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ชุมชนต้องรับมือกับการเข้ามาของกลุ่มทุนหรือภาครัฐขนาดใหญ่ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วภูมิภาค เช่นเรื่องราวในสารคดี ความหวานอันขมขื่น : เมื่อที่ดินชาวบ้านสเรอัมเบลในกัมพูชา ต้องกลายเป็นไร่อ้อยของนายทุนไทย เล่าเรื่องการต่อสู้ในสเรอัมเบล หมู่บ้านในกัมพูชา ที่พื้นที่กว่า 18,641.6 เฮกตาร์ (116,510 ไร่) ในอำเภอกลายเป็นไร่อ้อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาเป็นเวลา 90 ปี – ยาวนานกว่าอายุขัยของหลายคน โชคดีที่วันนี้บริษัทหยุดทำไร่อ้อยและปิดโรงงานไปแล้ว หลังการต่อสู้อย่างยาวนานของชาวบ้านกว่า 13 ปี นับตั้งแต่โดนทุนรุกคืบเข้ามาเมื่อปี 2006 แต่ถึงอย่างนั้นที่ดินมหาศาลที่ชาวบ้านสูญเสียไปก็ยังได้คืนมาไม่หมด

ภาพการต่อสู้กับทุนใหญ่ยิ่งฉายชัดขึ้น เมื่อในประเทศกัมพูชายังมีอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของทุนจีน ในสารคดี อาณาจักรคาสิโน เบียร์หนึ่งดอลลาร์ และราคาชีวิตของสีหนุวิลล์ สำรวจพื้นที่สีหนุวิลล์ พื้นที่ลงทุนแห่งใหม่ของจีน ที่กลายเป็นเมืองบันเทิงครบวงจร ขณะที่ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องโดนไล่ที่และต้องเปลี่ยนอาชีพทำกิน

“ไชน่า ไชน่าเยอะมาก” คนขับตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งบอก เขาพูดไทยได้นิดหน่อยจากการมาทำงานในไทยหลายปี นี่คือความเปลี่ยนแปลงของเมืองในสายตาเขา “จีนอย่างเดียว ไม่พูดอังกฤษเลย กัมพูชาก็ไม่” เขาบ่นไม่ขาดปากถึงปัญหาการไม่พูดภาษาอื่นของคนจีน และตอนนี้คนจีนแทบจะกลายเป็นประชากรหลักในเมืองไปแล้ว หลังจากชาวสีหนุวิลล์กว่าหมื่นคนถูกย้ายออกไปจากเมือง

ในตอนท้ายของสารคดีเขียนให้เห็นภาพรวมการเข้ามาของทุนจีนไว้ว่าเมื่อขยับมองออกมาให้ไกลขึ้น สีหนุวิลล์ไม่ใช่แห่งเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของทุนจีน แต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็โดนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ที่เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายที่เปิดตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ล่าสุดมีรายรับปีที่แล้วรวมกว่า 150 ล้านดอลลาร์ฯ โดยรัฐบาลลาวเปิดให้จีนเช่าที่ดินเป็นเวลา 99 ปี เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่มีศูนย์บันเทิงครบวงจร โดยมีนักท่องเที่ยวหลักเป็นชาวจีน คาสิโนย่อมเป็นพระเอกในพื้นที่นั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

“ขณะที่มัณฑะเลย์ ก็มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากจีนเช่นกัน รวมถึงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาก็มีตึกสูงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อรองรับการลงทุนมหาศาลของจีน

“ถ้าใครบอกว่าการล่าอาณานิคมหมดไปแล้ว ภาพเหล่านี้คงสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นเมืองขึ้นทางการลงทุนกำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นในภูมิภาคของประเทศรายได้น้อย โดยมีจีนเป็นผู้บุกรายใหญ่ น่าสนใจว่าลมหายใจของภูมิภาคนี้จะเป็นอิสระได้อย่างไร เมื่อทุกอย่างดูคล้ายอยู่ในกำมือของคนอื่นอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”

 

ผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อคนไม่อาจอยู่บ้าน

 

อีกหนึ่งเรื่องน่าเศร้าที่ยังดำเนินไปบนโลกนี้อย่างเข้มข้น คือการถูกไล่ล่าเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับผู้มีอำนาจ ตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยก็มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หลายคนถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย หลายคนถูกพบว่าเสียชีวิต และอีกหลายคนที่ต้องอยู่ไกลบ้าน ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

ในบทสัมภาษณ์ พ่อของเขา ความทรงจำของเรา และความตายที่ไม่มีวันจบ โดยวจนา วรรลยางกูร ที่สัมภาษณ์กึกก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ‘สหายภูชนะ’ ผู้ลี้ภัยการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เปิดบทไว้ว่า

“ช่วงปีใหม่ 2562 ขณะที่สังคมไทยกำลังจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนับแต่ปี 2557 ในความทรงจำของ กึกก้อง บุปผาวัลย์ นั่นเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของชายหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อพ่อของเขาหายตัวไป และพบร่างในแม่น้ำโขงพร้อมร่องรอยการถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม

“พ่อของเขา ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ‘สหายภูชนะ’ ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศลาวนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ก่อนจะหายตัวไปในช่วงปลายปี 2561 พร้อมกับ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และไกรเดช ลือเลิศ หรือ ‘สหายกาสะลอง’ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคนไม่ใช่กรณีแรกสำหรับการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยการเมืองไทย และไม่ใช่กรณีสุดท้าย เพราะต่อมายังเกิดเหตุการณ์หายตัวไปของ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย และรายล่าสุดคือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ กึกก้องบอกว่า “ผมหวังว่าพอการเมืองโล่งกว่านี้ จะมีกระบวนการที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ตอนนี้มันเลือนราง ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น รอยล้อรถก็หายไปตามกาลเวลา ไม่มีใครไปถ่ายรูปไว้ ต้องมีการวัดทิศทางแม่น้ำที่ถูกต้อง แล้วเสาที่ยัดท้องเป็นเสาของที่ไหน เราตามหาจากอะไรพวกนี้ไม่ได้แล้ว ยกเว้นจะมีคนมาสารภาพว่าเป็นคนทำ”

เช่นเดียวกับ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ขับเคลื่อนทางการเมืองมาอย่างเข้มข้นยาวนาน ที่ปัจจุบันลี้ภัยที่ฝรั่งเศส ก็ต้องเจอความอยุติธรรมไม่ต่างกัน ในบทสัมภาษณ์ “คุณจะไม่โกรธสังคมอยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร” วัฒน์ วรรลยางกูร โดยสมคิด พุทธศรี ทำให้เห็นภาพความคิดและชีวิตของผู้ลี้ภัยได้คมชัด วัฒน์เล่าว่าเมื่อได้ตามการเมืองแบบ ‘คนไกลบ้าน’ ก็ยิ่งทำให้มองเห็นปัญหาของประเทศไทยชัดขึ้น

“…สังคมไทยเป็นกะลาอย่างที่เขาว่าจริงๆ ตอนที่ต่อเครื่องบินจากฮานอยมาปารีส ผมรู้สึกว่าผมบินตรงไปยังจักรวาล ออกจากโลกที่เคยเป็นกะลาเล็กๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็น ‘กะลา’ ที่ผมรักมากนะ ถ้าอ่านนิยายผมไม่ว่าจะเป็น มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือรักและหวัง ตำบลช่อมะกอก ฯลฯ จะเห็นว่า ตัวหนังสือของผมมีความผูกผัน ซาบซึ้งกับฤดูกาล ต้นไม้ คลอง สายน้ำของชนบท โดยเฉพาะภาคกลาง เพราะบ้านผมอยู่ปทุมธานี ลพบุรี ซึ่งผมก็พอใจกับกะลานี้มาตลอด”

“แต่ต่อให้ผมรักกะลานี้ขนาดไหนก็ตาม สิ่งเดียวที่ทำให้ผมอยู่ไม่ได้เลยคือ ระบอบการเมืองการปกครอง ความจริงผมไม่ได้อยากลี้ภัยและเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากลี้ภัยมาไกลขนาดนี้ แต่สุดท้ายต้องตัดใจ เพราะคนใกล้ตัวผมแทบทุกคนถูกไล่ฆ่า บางคนเป็นคนที่ผมรักและสนิทสนมมากอย่างคุณสยาม ธีรวุฒิ ก็ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมอยู่ไม่ได้ ถึงขั้นป่วย จิตตก กินแต่เหล้า ข้าวไม่อยากกิน ช่วงที่อยู่ที่ลาวทำกับข้าวเสร็จก็กินไม่ได้ ปล่อยจนบูดทิ้งไปเป็นปกติ  แต่อยู่ที่นี่มาปีกว่าสุขภาพก็ดีขึ้น ทั้งกายและใจ ถือว่ากินอิ่ม นอนหลับดี”

ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีจะรอดชีวิตและกินอิ่มนอนหลับ แต่ในความจริง การกินอิ่มนอนหลับใน ‘บ้าน’ ของคนอื่น ก็ไม่อาจนับเป็นความโชคดีได้

นอกจากเรื่องราวของสหายภูชนะ, วัฒน์ วรรลยางกูร และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แล้ว ยังมีผู้คนอีกมากที่โดนคุกคามเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และยิ่งในปี 2020 ที่เหตุการณ์ทางการเมืองของไทยมาถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ ก็มีผู้คนอีกมากในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่โดนหมายจับ รวมถึงการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

 

ความยุติธรรมและการคุมขัง

 

“ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนสามารถเข้ามาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” คือแนวคิดหลักในบทสัมภาษณ์ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ และ มุทิตา เลิศลักษณาพร จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งเสริมหลักนิติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมไทย

“เวลาเราพูดถึงเรื่องความยุติธรรม มันไปไกลกว่านิติศาสตร์อยู่แล้ว เพราะคำนี้มีทั้งความเป็นเศรษฐศาสตร์ในแง่ของการจัดสรรทรัพยากร หรือเป็นรัฐศาสตร์ในแง่การสร้างสมดุลอำนาจ ดังนั้น คำว่า ‘ยุติธรรม’ จำเป็นจะต้องดึงหลายๆ ศาสตร์เข้ามา เวลาเราจะตอบโจทย์เรื่องความยุติธรรมให้ประชาชน เราถึงจะเข้าใจว่า ต้องมองมิติไหนบ้าง” ดร.อณูวรรณ กล่าว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามสร้างมาตรฐานเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ในสังคมไทย และมีการพูดถึงเรื่องหลักนิติธรรม (Rule of Law) กันอย่างจริงจัง

กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 One-on-One ตอน ‘Justice Next Challenges: ความท้าทายใหม่ของระบบยุติธรรมไทย’ ไว้ว่า

“หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นคำที่ให้คำจำกัดความยาก แต่ถ้าให้คิดง่ายๆ คือการเริ่มจากความคิดว่า ถ้าสังคมใดจะพัฒนาอย่างยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย สังคมนั้นต้องปกครองด้วยกฎหมาย มีกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีคนหรือคณะบุคคลเป็นใหญ่ ซึ่งกฎหมายที่จะเป็นใหญ่ต้องมีที่มาจากคนส่วนใหญ่หรือประชาชน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน และต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ

“ดังนั้น หัวใจของหลักนิติธรรมคือ สังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย เป็นธรรมกับทุกคน และมีระบบแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งการจะไปสู่จุดนี้ได้ก็ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การพัฒนากฎหมายที่ต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ด้านพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำวิชาสายกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าหลักนิติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตของทุกคน และเป็นเรื่องที่ผูกกับระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแยกไม่ออก หรือที่เขาให้นิยามว่า เป็นเหมือน ‘เสาสองต้น’ ที่แยกขาดจากกันไม่ได้

“นิติธรรมกับประชาธิปไตยเหมือนเป็นเสาสองต้นที่ค้ำยันกันอยู่ หากเสาต้นใดล้ม อีกต้นจะล้มด้วย หากเสาต้นหนึ่งแตกร้าว เสาอีกต้นก็จะเริ่มผุพัง ดังนั้น การจะชี้ว่าประเทศนั้นมีนิติธรรมหรือยัง ดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ตอบได้คือประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และในทางเดียวกัน ถ้าจะดูว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือยัง ให้ดูว่าประเทศนั้นมีนิติธรรมหรือไม่

นอกจาจากเรื่องหลักนิติธรรมแล้ว การเข้าถึงความยุติธรรมนั้นไม่อาจละเว้นคนที่อยู่ในเรือนจำได้ เพราะหลังจากที่พวกเขารับโทษแล้ว พวกเขาก็ต้องกลับออกมาอยู่ร่วมกับคนในสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังจึงเป็นหนึ่งในสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้และควรได้รับโอกาส

อนุสรณ์ อุณโณ ผู้ทำวิทยานิพนธ์  “วิสามัญฆาตกรรม: อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ในสังคมไทย” ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าสังคมควรคิดเรื่องการลงทัณฑ์สมัยใหม่ เพื่อคืนผู้กระทำผิดสู่สังคมในฐานะสมาชิกของสังคมให้ได้

“คนยังมองว่าอาชญากรรมคือการกระทำผิดของใครคนหนึ่ง และคนที่ทำควรได้รับโทษอย่างสาสมกับความผิดนั้น ยังไม่มีใครมองมิติเรื่องการปรับปรุงแก้ไขที่มาพร้อมกับการลงทัณฑ์สมัยใหม่ การลงทัณฑ์สมัยใหม่ไม่ได้พิจารณาแค่สัดส่วนความผิดกับโทษที่ต้องได้รับ แต่ยังรวมว่าเมื่อคนเข้าไปในเรือนจำ อยู่ใต้ความดูแลของเรือนจำแล้ว ต้องมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้คืนสู่สังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งต่อไป จิตสำนึกเรื่องนี้ไม่ได้ก่อตัวขึ้นในสังคมไทยพร้อมๆ กับการปฏิรูปศาลและกฎหมาย แทบไม่มีใครคิดเรื่องปรับปรุงแก้ไขตรงนี้”

วิธีคิดนี้ใกล้เคียงกับวิธีทำงานของ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม ที่เชื่อว่า “ถ้าดูแลคนในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์จะงอกงาม” โดยทิชาอธิบายว่า

“ป้าคิดว่าคือชุดความคิดเรื่องตาต่อตา ฟันต่อฟัน แรงมาก็แรงไป ทำผิดก็ต้องรับโทษซึ่งความคิดของคนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงโครงสร้างหรือระบบที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ทุกครั้งที่มีคดีปรากฏในสื่อเราจะเห็นแค่ปัจเจกผู้ผิดพลาด แล้วก็เกรี้ยวกราดกับปัจเจกผู้ผิดพลาดนั้นอย่างรุนแรง เราติดกับดักที่ปัจเจกและไปไม่ถึงโครงสร้างที่อัปลักษณ์ ไปไม่ถึงระบบที่ทำหน้าที่ประดักประเดิด ถึงที่สุดประเทศนี้ก็เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ผลิตผู้แพ้มาป้อนคุกหรือสถาบันจิตเวชอยู่ตลอดเวลา”

เมื่อมองในเชิงนโยบาย ด้าน สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็เชื่อว่า สิ่งสำคัญคือการมอบ ‘โอกาส’ ครั้งที่สองให้เด็กที่เคยก้าวพลาด

“เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้ามาอยู่กับเราเสียอีก บางคนไม่ได้รับการศึกษา บางคนถูกไล่ออกจากโรงเรียน สุดท้ายเขาก็ไปอยู่ในมุมมืด ไปคบเพื่อนที่เกเรและอาจจะชักจูงเขาไปในทางที่ไม่ดี หรือบางครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พ่อแม่ดูแลไม่ได้ เด็กก็ต้องอยู่ตามลำพัง จะเห็นว่าพวกเขาเสียโอกาสตั้งแต่แรกแล้ว แล้วถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาอีก มันก็เหมือนกับเราต้อนให้เด็กจนมุม ต้อนจนหลังชนฝา แล้วถ้าออกไปไหนไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครให้โอกาส เด็กจะอยู่ยังไง ถ้าเราบังคับให้เขาต้องต่อสู้แบบนี้ ไม่เหลือที่ทางดีๆ ให้เขายืน แล้วเขาจะทำยังไงล่ะ ถ้าไม่ได้ไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม

“เพราะฉะนั้น การให้โอกาสของสังคมจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ผมคิดว่า ทางกรมพินิจฯ ต้องรีบให้โอกาสเพื่อจะตัดวงจรการกระทำความผิดของเขา ไม่ให้เขาเป็นเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด จนโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด” สหการณ์ กล่าว

นอกจากเรื่องการให้โอกาสผู้กระทำผิดแล้ว เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเรือนจำ และการให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ เช่น เน้นเรื่องการดูแลผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีความต้องการเฉพาะด้านที่แตกต่าง ก็เป็นหนึ่งในการพัฒนาเชิงนโยบายที่อาจส่งผลในเชิงมหภาคได้ โดยข้อกำหนดกรุงเทพเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่ผลักดันเรื่องคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงอย่างจริงจัง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการผลักดันระบบยุติธรรมและเรือนจำให้เหมาะกับผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงมองโจทย์ให้ไกลกว่าการคุมขังและเรือนจำ มีความพยายามใช้ ‘มาตรการที่มิใช่การคุมขัง’ เป็นหนทางสู่กระบวนการยุติธรรมที่ละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ หรือระงับข้อพิพาทอย่างยั่งยืน ด้วย ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง ด้วย

 

ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมถูกนำมาคลี่แล้วมองด้วยสายตาใหม่ เมื่อโลกมีวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และแม้จะมีความพยายามทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอหน้ากัน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้

หากวิกฤตครั้งนี้จะมีข้อดีอยู่บ้าง ก็คือการทำให้เราเปิดแผลของสังคมออกมามองด้วยสายตาที่เป็นจริง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save