จักรกริช สังขมณี เรื่องและภาพ
ในตอนที่แล้ว ผมได้ชวนผู้อ่านย้อนรอยผ่านภาพยนตร์ เพื่อร่วมรำลึกในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ควังจู หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 1980 ผมได้ชี้ให้เห็นว่า การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีช็อนดูฮวันนั้นเกิดขึ้นและดำเนินไปโดยขาดความชอบธรรม
อำนาจที่ขาดความชอบธรรมนั้นเป็นอำนาจที่เปราะบาง และต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการรักษาไว้ซึ่งสถานะทางการเมืองของตน จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยนสถาบันทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการรักษาและสืบทอดอำนาจ ตลอดจนการโฆษณาชวนเชื่อ การควบคุมจัดการทางความคิด ควบคุมสื่อมวลชน และการแสดงออกทางการเมือง รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงจัดการผู้เห็นต่าง และปราบปรามการชุมนุมต่อต้านที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ
แม้ว่าเหตุการณ์ที่ควังจูจะเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของความพ่ายแพ้ของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่มันก็เป็นจุดเปลี่ยน หรือแรงกระตุ้นที่สำคัญของการเกิดจิตสำนึกร่วมในการเรียกร้องอำนาจของประชาชนที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเกาหลีใต้ ความเจ็บปวดและความขมขื่นจากการถูกกระทำโดยอำนาจรัฐจากเหตุการณ์ที่ควังจู ได้กลายมาเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ผลักดันให้ขบวนการประชาชนในเกาหลีใต้ต่อสู้จนได้มาซึ่งสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลมาจากการลุกฮือครั้งสำคัญของประชาชนในเดือนมิถุนายน 1987
ความเปราะบางของอำนาจเผด็จการ
หลังการล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมที่ควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ช็อนดูฮวันยึดอำนาจและกดดันให้ประธานาธิบดีชเวคูฮาลงจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ในวันที่ 1 กันยายน ช็อนดูฮวันขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จากการลงคะแนนของคณะกรรมการเลือกประธานาธิบดีซึ่งตั้งขึ้นโดยช็อนดูฮวันเอง
ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่ง ช็อนดูฮวันก็เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเข้ามาจัดการสถานการณ์บ้านเมือง และการไม่ต้องการสืบต่ออำนาจของตนเอง ช็อนดูฮวันเสนอให้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 7 ปี อย่างไรก็ตาม ในแง่ที่มาของประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญยังคงรูปแบบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อมผ่านคณะผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญฉบับยูชินของประธานาธิดีพัคจองฮี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1981 ช็อนดูฮวันลงเลือกตั้งภายใต้พรรค “ยุติธรรมประชาธิปไตย” (Democratic Justice Party) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่า เขาได้รับการ “เลือกตั้ง” ให้เป็นประธานาธิบดีในครั้งนั้น โดยคณะผู้ลงคะแนนเสียงซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญที่เขาร่างขึ้นมานั่นเอง
ตลอดช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งของช็อนดูฮวัน มีข้อกังขาและความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นมากมาย และยังไม่รวมถึงความโกรธแค้นจากกรณีควังจูซึ่งยังคงคุกรุ่นอยู่ในสังคม อำนาจที่เปราะบางของช็อนดูฮวันนั้นวางอยู่บนการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง มีการจับกุมสื่อมวลชนและนักศึกษาผู้ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พัคจงชอล นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับกุมและซ้อมทรมาน จนนำไปสู่การเสียชีวิตในระหว่างการสอบสวนอย่างโหดร้ายทารุณในเดือนมกราคม 1987[1]
ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านซึ่งหวาดระแวงต่อการสืบทอดอำนาจของช็อนดูฮวันพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 10 ล้านคน[2] ในช่วงก่อนกลางปี 1986 คณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การเจรจาหาข้อสรุประหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลของช็อนดูฮวันกับพรรคฝ่ายค้านดำเนินไปอย่างล่าช้า การปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่คืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อระยะเวลา 7 ปีของการดำรงตำแหน่งใกล้หมดลง ในเดือนเมษายน 1987 ช็อนดูฮวันประกาศว่าเขาจะระงับการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นไม่ทันการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งวางแผนจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้น และให้การเลือกตั้งดำเนินไปในรูปแบบเดิมโดยคณะผู้ลงคะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังได้ประกาศให้นายพลโนแทอู เพื่อนนายทหารคนสนิท ผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ที่ควังจู เป็นผู้นำพรรคยุติธรรมประชาธิปไตยของเขาในการลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่จะถึงด้วย การออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า ช็อนดูฮวันได้ใช้กลยุทธ์ทางการเมือง ในการปิดประตูการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตย และต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารของเขา ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมในระบบรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง
ความโกรธเคืองเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ เพราะสัญญาที่ช็อนดูฮวันให้ไว้ว่าจะมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งทางตรงอย่างเสรีนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน ศิลปิน แรงงาน และผู้นำศาสนา ได้ออกมารวมตัวแสดงความไม่พอใจ ในเดือนถัดมา
ความไม่พอใจดังกล่าวได้รับการตอกย้ำมากขึ้นไปอีก จากวาระครบรอบการรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1980 ในการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนที่โบสถ์คาทอลิกที่มย็องดงใจกลางกรุงโซล ได้มีการเปิดเผยผลชันสูตรการเสียชีวิตของพัคจงชอล ว่าเกิดจากทรมานโดยวิธีการกรอกน้ำจนเสียชีวิตที่นัมยองดง ความอึดอัดคับข้องใจต่อการใช้อำนาจอย่างไร้ความชอบธรรมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนี้ นำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ทั่วประเทศในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
เมื่อวันนั้นมาถึง
การประท้วงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในวันที่ 9 มิถุนายน 1987 นักศึกษาร่วมกับเครือข่ายขบวนการประชาชนอื่นๆ รวมตัวกันประท้วงใหญ่หลายจุดในกรุงโซล ในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น อิฮันยอล (이한열) นักศึกษาเอกบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยยอนเซ ถูกระเบิดแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ด้านหลังศีรษะอย่างจัง ท่ามกลางสายตาของเหล่าผู้ชุมนุมหลายร้อยคน ในขณะเขาที่กำลังร่วมชุมนุมอยู่หน้ามหาวิทยาลัยยอนเซ
ภาพถ่ายวินาทีที่เลือดของอิฮันยอลกำลังไหลลงมาจากศีรษะ ในขณะที่ตัวของเขากำลังล้มพับลง โดยมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์กำลังประคองตัวเขาอยู่นั้น ได้รับการบันทึกโดยผู้สื่อข่าวจองแทวอนและถูกเผยแพร่ออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ในวันถัดมา เพียงชั่วข้ามคืน ศิลปินชเวบองซูได้นำภาพดังกล่าวมาแกะเป็นภาพพิมพ์สลักไม้ พร้อมกับสโลแกน “เอาฮันยอลกลับมา!” (한열이를 살려내라!; Save Han-yeol!) และแจกจ่ายออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงของการชุมนุมในวันถัดๆ มา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ June Democratic Struggle (6월 민주항쟁)
ภาพการต่อสู้ของอิฮันยอลและวินาทีที่เขาถูกทำร้ายปางตายจากการสลายการชุมนุม ได้กลายมาเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญของเกาหลีใต้จนถึงทุกวันนี้[3]



อิฮันยอลไม่ได้สติอีกเลยหลังจากถูกนำส่งโรงพยาบาล หลังจากร่างกายของเขาถูกประคับประคองด้วยเครื่องช่วยชีวิตในโรงพยาบาลยอนเซอยู่เกือบหนึ่งเดือน อิฮันยอลก็ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 5 กรกฎาคม และในวันที่ 9 เดือนเดียวกันนั้น ศพของเขาถูกแห่จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยยอนเซไปทั่วกรุงโซล มีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเข้าร่วมงานศพของเขากว่า 1 ล้าน 6 แสนคน[4] ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4,000 นาย ที่ถูกสั่งให้มาประจำการที่หน้ามหาวิทยาลัยยอนเซ เพื่อควบคุมการชุมนุมและยึดเอาศพของอิฮันยอลออกมาจากประชาชน
บทเรียนจากกรณีควังจู ที่เริ่มต้นจากการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเพียงไม่กี่ราย จากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุม ได้กลับมาย้ำเตือนและส่งสัญญาณว่าบทเรียนเหล่านี้ควรจะถูกจดจำและไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นอีก ดูเหมือนหน่วยงานตำรวจของกรุงโซลจะตระหนักดีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นลูกคลื่นต่อไป ผู้บัญชาการตำรวจกรุงโซลจึงได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของอิฮันยอล และแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แถลงการณ์ที่ว่านี้แตกต่างจากวาทกรรมที่ตำรวจมักใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมุ่งประณามผู้เข้าร่วมชุมนุมว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวายและขัดต่อกฎหมายความมั่นคง แถลงการณ์และการออกมาขอโทษของผู้บัญชาการตำรวจกรุงโซลจึงแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ถึงความหวาดกลัวของหน่วยงานตำรวจต่อผลบานปลายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว[5]
เป็นไปตามที่คาดหมาย การตายของอิฮันยอลได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรง และผลักดันให้ประชาชนกว่า 5 ล้านคนออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการ แรงกดดันของการชุมนุมอย่างกว้างขวางและเต็มไปด้วยความโกรธเคืองเป็นเวลาร่วมสามสัปดาห์ นำไปสู่การที่โนแทอูตัดสินใจกลับลำ สวนความต้องการของช็อนดูฮวันก่อนหน้านี้ โดยการออกมาประกาศในวันที่ 29 กรกฎาคม ว่ายินดีที่จะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านและประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เป็นไปอย่างเสรีและมาจากเจตจำนงของประชาชนโดยตรง[6]
การกลับลำทางยุทธศาสตร์ในเกมการเมืองของโนแทอู และแรงกดดันจากจากการชุมนุมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่กี่วันให้หลัง ประธานาธิบดีช็อนดูฮวันตัดสินใจเดินตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในตอนที่เข้ารับตำแหน่ง โดยยอมให้คณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมกลับมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยการลงคะแนนจากประชาชนโดยตรง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนธันวาคม 1987[7]
จนถึงวันนี้ เสื้อและกางเกงยีนส์ที่เปื้อนไปด้วยรอยเลือด และร่องรอยของการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตลอดจนรองเท้าที่เหลือติดตัวอยู่เพียงข้างเดียว และแว่นตาที่แตกหักของอิฮันยอล ยังคงได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี และจัดแสดงอยู่ที่ Lee Han-yeol Memorial Museum พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แถวซินโชน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยยอนเซอันเป็นที่รักของเขา ส่วนร่างไร้วิญญาณของอิฮันยอลนั้น ได้รับการนำกลับไปฝังไว้ที่สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม ที่เมืองควังจูบ้านเกิดของเขา ร่วมกับเหล่าบรรพชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1980

ในปี 2017 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน 1987 เหตุการณ์การเสียชีวิตของอิฮันยอลได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในชื่อ 1987 When the day comes เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์มีผู้เข้าชมร่วม 10 ล้านคน และก่อให้เกิดกระแสความสนใจที่จะรื้อฟื้นการศึกษาประวัติศาสตร์อีกครั้งในแวดวงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจบทบาทของขบวนการนักศึกษาและประชาชน
ความสำเร็จของภาพยนตร์ที่ฉายภาพของอิฮันยอลในฐานะคนหนุ่มผู้มีความรัก ความฝัน และอนาคตที่สดใส พร้อมกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อเขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนความสนใจของสาธารณชนที่มากขึ้น สามารถขยับขยายความประทับใจต่อเรื่องราวที่ภาพยนตร์นำเสนอ มาสู่การค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในมหาวิทยาลัยยอนเซ


เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง ที่สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักศึกษาปัจจุบัน ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อให้มหาวิทยาลัยยกย่องเชิดชูอิฮันยอลอย่างเป็นทางการ จัดทำอนุสรณ์สถาน ตลอดจนจัดตั้งมูลนิธิในการดูแลจัดการ เพื่อให้มีกิจกรรมและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาในการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย ภายหลังที่ภาพยนตร์ออกฉาย สภามหาวิทยาลัยได้ลงมติอนุมัติการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นอย่างเป็นทางการ และให้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่ว่านี้ในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี[8]
ที่มหาวิทยาลัยยอนเซในวันนี้ บนเนินเขาไม่ไกลจากอาคารกิจกรรมนักศึกษา (student union) มีอนุสรณ์สถานหินสลักตัวเลข “198769757922” ตั้งอยู่ ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงปี (1987) และวันที่ที่อิฮันยอลโดนยิง (June 9) เดือนและวันที่ที่เขาเสียชีวิต (July 5) เดือนและวันที่ที่จัดพิธีศพ (July 9) และอายุในวันที่เขาเสียชีวิต (22) หินอนุสรณ์ดังกล่าวถูกสร้างไว้พร้อมๆ กับแบบจำลองภาพพิมพ์วินาทีหลังจากที่เขาโดนยิงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา เพื่อเตือนใจคนรุ่นใหม่ถึงความกล้าหาญและมรดกทางอุดมการณ์ที่รุ่นพี่ของพวกเขาได้สร้างไว้ และยังส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ที่พื้นตรงทางเข้ามหาวิทยาลัยยังได้มีการวางหมุดสัญลักษณ์ เพื่อบ่งชี้ถึงตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวด้วย

“มินจุง” สามัญชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง
การต่อต้านของประชาชนในการสืบต่ออำนาจของประธานาธิบดีอีซึงมันในปี 1960, ขบวนการแรงงานที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมในด้านสิทธิการทำงาน ท่ามกลางนโยบายการพัฒนาประเทศที่ชี้นำโดยรัฐของประธานาธิบดีพัคจองฮี ในช่วงทศวรรษที่ 1960-70[9], นักศึกษาที่รวมตัวกันต่อต้านการสืบต่ออำนาจเผด็จการ หลังการเสียชีวิตของพัคจองฮีในช่วง 1979 ซึ่งรู้จักกันในนาม Seoul Spring, การประท้วงและการล้อมปราบประชาชนอย่างรุนแรงที่ควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980, การรวมตัวของนักศึกษา แรงงาน สื่อมวลชน ศิลปิน และกลุ่มทางศาสนา ในช่วงที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1980-1987, จนมาถึงการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางการชุมนุมอยู่ที่กรุงโซล ซึ่งรู้จักกันในนาม June Struggle ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนี้ ล้วนเป็นเพียงภาพบางส่วนของบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ขบวนการสามัญชนเหล่านี้เป็นที่เรียกขานกันในหมู่นักกิจกรรมและนักประวัติศาสตร์การเมืองว่า “มินจุง” (민중)
มินจุง เป็นคำที่ยากต่อการนิยามให้ชัดเจน และมีข้อถกเถียงมากมายถึงคำจำกัดความ ขอบเขต อัตลักษณ์ ยุทธศาสตร์ และภาพตัวแทนของพวกเขา[10] แต่กระนั้น ความเข้าใจร่วมกันที่มีต่อมินจุงก็คือ ขบวนการหรือปฏิบัติการของคนธรรมดาสามัญในสังคม ที่ต้องเผชิญกับสภาวะของการถูกกดขี่ การไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างชอบธรรม อันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่กดทับ และพยายามปลดแอกตนเองออกจากสภาวะดังกล่าว ผ่านทางปฏิบัติการทางการเมืองและวัฒนธรรม
บาดแผลของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการสังหารหมู่ที่ควังจูนั้นเป็นหนึ่งในทรัพยากรเชิงสัญญะที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อขบวนการและความรู้สึกร่วมของผู้คน ที่แสดงออกมาในช่วงที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการประท้วงเดือนมิถุนายน 1987 นั้น ภาพวาดและภาพพิมพ์ของอิซังโฮและจอนจองโฮ ศิลปินวัยยี่สิบกว่า ถูกผลิตซ้ำและแจกจ่ายออกไปมากมาย เพื่อนำไปประกอบการประท้วงในรูปแบบของธงและภาพแขวน ในฐานะเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และการตั้งคำถามต่อบทบาทที่คลุมเครือของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อขบวนการประชาชน ภาพของศิลปินทั้งสองนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ที่ควังจูออกมาฉายให้เห็นอย่างมีอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะการเน้นไปที่สีหน้าแววตา และความรู้สึกที่เจ็บปวดของผู้คนที่ไม่มีวันขจัดให้หมดสิ้นไปได้ อิซังโฮและจอนจองโฮเป็นศิลปินเกาหลีสองคนแรกที่ถูกจับในข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคง จากการแขวนภาพวาดของเขาในที่สาธารณะในช่วงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย


นอกจากบทบบาทของนักศึกษาและศิลปินแล้ว นักบวชในคริสต์ศาสนาก็มีส่วนอย่างมากในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตย ข้อมูลผลชันสูตรการเสียชีวิตของพัคจงชอล นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ในกระบวนการสืบสวนอย่างโหดร้ายทารุณ ถูกนำมาเปิดเผยโดย สตีเฟน คิมซูฮวาน พระราชาคณะแห่งโบสถ์คาทอลิกที่มย็องดง (Myeongdong Cathedral) โบสถ์แห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญที่ใช้ในการปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุมประท้วง จากการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 10 มิถุนายนอีกด้วย

สตีเฟน คิมซูฮวาน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจและความรุนแรงในยุคสมัยของช็อนดูฮวัน และเป็นผู้นำเอาข้อมูลหลายอย่างจากกรณีควังจูมาเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนมากขึ้น ในภายหลัง สตีเฟน คิมซูฮวาน ได้รับตำแหน่งเป็นอัครสังฆราชแห่งกรุงโซลและพระคาร์ดินัลของนิกายโรมันคาทอลิกคนแรกของเกาหลีใต้ เขาเป็นที่รู้จักในวงการศาสนาในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลี[11] เรื่องราวในวัยเด็กของเขาถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์ ในชื่อ Beyond That Mountain (저 산 너머) ซึ่งออกฉายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เอง[12]

ทุกวันนี้ หากเราเดินไปตามทางเดินและท้องถนนของกรุงโซลหรือเมืองหลักอื่นๆ ในเกาหลีใต้ เราจะได้พบกับอนุสาวรีย์ของผู้คน และหมุดบอกตำแหน่งของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนบทบาทและการเสียสละของสามัญชนในกระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
ความพยายามใดๆ ของผู้มีอำนาจในการลบและทำลายมรดกความทรงจำและร่องรอยของการต่อสู้เหล่านี้ ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ยิ่งแสดงให้เห็นว่า อำนาจที่ถือครองอยู่นั้นเป็นอำนาจที่เปราะบาง ซึ่งดำรงอยู่บนความไม่ชอบธรรม อันมาจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั่นเอง
อ้างอิง
[1] Lee Myung-sik. 2010. The History of Democratization Movement in Korea. Seoul: Korea Democracy Foundation and The May 18 Memorial Foundation.
[2] วิเชียร อินทะสี. 2556. พลวัตความเป็นประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[3] John D H Downing, ed. 2011. Encyclopedia of Social Movement Media. Los Angeles: SAGE Publications.
[4] ดูภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้ที่ http://chwe.net/hanyeol/
[5] Jameson, Sam. “Korea Student’s Death Sparks Clash in Seoul : Police Disperse Demonstration With Tear Gas; Protesters Spurn Ruling Party’s Condolences” Los Angeles Times, July 6, 1987.
[6] Roh Tae-woo. 1987. “Special Declaration for Grand National Harmony and Progress Towards a Great Nation by the Chairman of the Democratic Justice Party” in Working a Political Miracle: Sweeping Democratic Reforms. Seoul: Korean Overseas Information Service.
[7] Uk Heo and Terrence Roehrig. 2010. South Korea Since 1980. New York: Cambridge University Press.
[8] Kwon Young-sau. “A Foundation At Last: 30 Years after the death of Lee Han-yeol, Yonsei University is establishing an official commemorative foundation for Lee” The Yonsei Annals 3/2018. และ Song Min-sun. “When the Day Comes;” the Day Has Come: Remembering Yonsei in 1987 for a promising 2018, and more days to come” The Yonsei Annals 3/2018.
[9] Koo Hagen. 2001. Korean Workers: The Culture and Politics of Class Formation. Ithaca: Cornell University Press.
[10] ดู Wells, Kenneth, ed. 1995. South Korea’s Minjung Movement: Culture and Politics of Dissidence. Honolulu: University of Hawaii Press. และ Lee Namhee. 2007. The Making of Minjung: Democracy and the Politics of Representation in South Korea. Ithaca: Cornell University Press.
[11] McKittrick, David. “Cardinal Kim Sou-hwan: The first Korean Catholic cardinal and a campaigner for human rights” Independent, February 21, 2009. และ Choe Sang-Hun. 2009. “Stephen Kim Sou-hwan, Cardinal, Dies at 86” The New York Times, February 16, 2009.
[12] Choi Ji-won. “‘Beyond the Mountain’ looks at childhood of late Cardinal Kim Sou-hwan” The Korea Herald, April 28, 2020. และ Kwak Yeon-soo, “‘Beyond That Mountain’ depicts late Cardinal’s childhood. The Korea Times, April 22, 2020.