fbpx

ไม่มี 24 มิถุนายน 2475 ในอำนาจตุลาการ

แม้การอภิวัฒน์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองอย่างไพศาล รวมทั้งกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายตุลาการหรือไม่ ในลักษณะอย่างไร หรือทำให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยในเชิงโครงสร้างอำนาจอย่างเป็นทางการมากน้อยเพียงใด

หนึ่งในความพยายามจัดวางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายหลัง 2475 ก็ด้วยการปรับปรุงให้คณะกรรมการตุลาการ (กต.) อันเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของผู้พิพากษามาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น การแก้ไขที่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ. ข้าราชการตุลาการ 2477 กำหนดให้องค์ประกอบของ กต. มีจำนวน 5 คน จะเป็นผู้พิพากษาอาชีพ 4 คน กล่าวคือ อธิบดีศาลฎีกา ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีศาลอุทธรณ์ นายกกรรมการเนติบัณฑิตยสภา และเป็นบุคคลภายนอก 1 คน คือ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)[1] ซึ่งเป็นกรรมการเพียงคนเดียวที่มิได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาชีพ

แม้จะมีสัดส่วนจากผู้พิพากษาเป็นจำนวนถึง 4 ใน 5 แต่เนื่องจากการกำหนดให้ กต. ทำหน้าที่เพียง ‘ให้คำปรึกษาหารือ’ โดยอำนาจการตัดสินใจในประเด็นสำคัญจะขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมหรือคณะรัฐมนตรีเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการระดับสูง ฝ่ายตุลาการจึงมิได้หลุดลอยออกไปจากโครงสร้างอำนาจของระบอบประชาธิปไตย

ความสัมพันธ์ระหว่าง กต. กับรัฐบาลในการบริหารงานยุติธรรมนับเป็นการปรับเปลี่ยนให้องค์กรตุลาการต้องสัมพันธ์กับระบบการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอำนาจหน้าที่ของ กต. ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบใหม่ซึ่งเข้ามาแทนที่อำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แม้ในระยะเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยอาจยังจะไม่มีแรงต่อต้านจากฝ่ายตุลาการอย่างชัดเจน แต่ก็ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่ดูจะมีผลเป็นการสั่นคลอนความมั่นใจของเหล่าผู้พิพากษาในเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการอย่างมากและนำมาสู่การสร้างระยะห่างกับการปกครองในระบอบใหม่ อันได้แก่กรณีการสั่งโยกย้ายผู้พิพากษาใน ‘คดียึดทรัพย์พระปกเกล้าฯ’

คดีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยภายหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ทางกระทรวงการคลังได้ยื่นฟ้องรัชกาลที่ 7 เป็นจำเลยที่ 1 พระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2481 เพื่อให้ส่งมอบพระราชทรัพย์แก่รัฐบาล พร้อมยื่นคำร้องให้ยึดทรัพย์ไว้ก่อนด้วยเกรงว่าจะมีการโอนทรัพย์สินให้พ้นไปจากอำนาจศาล แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งได้ยกคำร้องของกระทรวงการคลัง ทางโจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดไว้ก่อนมีคำพิพากษา สำหรับคดีนี้ ท้ายที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาให้รัชกาลที่ 7 เป็นฝ่ายแพ้คดีและต้องคืนเงินให้แก่พระคลังข้างที่[2] ต่อมาภายหลัง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง (ผู้สั่งยกคำร้องในศาลชั้นต้น) และในเวลาไม่นานก็มีคำสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญฐานรับราชการนาน โดยไม่ปรากฏข้อหาความผิดแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวได้กลายเป็น ‘ความทรงจำร่วม’ ในความรับรู้ของเหล่าผู้พิพากษาที่มีการส่งต่อกันมา และกลายเป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งของฝ่ายตุลาการเพื่อแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซง (ของนักการเมือง) ต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา[3] ดังเช่น ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แนะนำกับผู้พิพากษารุ่นหลังว่าควรนำบันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการในกรณีนี้มาศึกษาและเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำรงตนเป็นตุลาการที่ดี[4] อันมีความหมายอย่างชัดเจนว่าผู้พิพากษาควรต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาโดยต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง หรือปรีดี เกษมทรัพย์ ก็ได้ยกกรณีนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญของการแทรกแซงต่อความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการเช่นกัน[5] 

นอกจากกรณีการสั่งปลดผู้พิพากษาแล้ว รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ปรับแก้บทบัญญัติใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2485 ด้วยการกำหนดให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการจะต้อง “ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลง” บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกมองว่าจะเป็นการเปิดทาง “ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาควบคุมฝ่ายตุลาการอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นซึ่งเลียนแบบแนวคิดเผด็จการของฮิตเลอร์ที่ปฏิเสธหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยสิ้นเชิง”[6]

การเปรียบเทียบรัฐบาลจอมพล ป. ในลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับรัฐบาลฮิตเลอร์อาจสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในฝ่ายตุลาการที่มีต่อผู้มีอำนาจในขณะนั้น จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดว่าในมุมมองของฝ่ายตุลาการ รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. จะถูกมองว่ามีบทบาทต่อการคุกคามต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างมาก

ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังทศวรรษ 2490 เมื่อคณะราษฎรมีอำนาจทางการเมืองลดลง ก็ได้มีแก้ไข พ.ร.บ. ข้าราชการตุลาการ ที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์ทางการเมือง ดังจะพบว่าอำนาจและบทบาทของสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งใน กต. ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจากระบอบประชาธิปไตยก็ค่อยๆ ปรากฏร่องรอยให้เห็น

ฝ่ายตุลาการดูราวกับจะต้องเผชิญกับ ‘การแทรกแซง’ อย่างสำคัญอีกครั้งใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2497 (อันเป็นช่วงเวลาที่จอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สอง) ทั้งนี้ สัดส่วนของกรรมการใน กต. ทางฝ่ายผู้พิพากษาจะถือเป็นเสียงข้างมากมานับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 แต่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2497 ได้มีการปรับเปลี่ยนให้สัดส่วนของผู้พิพากษากลายเป็นเสียงข้างน้อย โดยมีจำนวนเพียง 4 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน[7]

หากพิจารณาจากสายตาของทางฝ่ายตุลาการแล้วจะมีมุมมองด้านลบเป็นอย่างมากต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยถือว่าเป็น

“บทบัญญัติที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารและการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำและคุมเสียงข้างมากใน กต. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาตุลาการได้ อันเป็นการขัดต่อหลักประกันความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ”[8]

ในมุมมองของฝ่ายตุลาการ การกระทำนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความพยายามที่จะครอบงำอำนาจตุลาการของฝ่ายผู้มีอำนาจ” จากฝ่ายการเมือง

ขณะที่มีความเข้าใจว่าถูกคุกคามจากกลุ่มผู้นำใหม่ทางการเมือง แต่ฝ่ายตุลาการกลับสามารถดำรงความเป็นอิสระได้ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร โดยหลังการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน 2500 และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการแก้ไขให้ กต. พ้นไปจากอำนาจครอบงำของฝ่ายการเมือง พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2500 (ฉบับที่ 2) ด้วยการให้เหตุผลว่า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2497 ที่ใช้บังคับอยู่นั้น “ได้บัญญัติไว้เป็นช่องทางที่จะให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาควบคุมผู้พิพากษาตุลาการได้โดยง่าย อันเป็นการผิดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในส่วนที่ว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจให้สมดุลกัน”[9]

ประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็คือ การตัดรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมออกจากตำแหน่งประธาน กต. โดยให้ประธานศาลฎีกาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และสัดส่วนของ กต. ทั้งหมดจำนวน 11 คน ก็จะมาจากผู้พิพากษา 10 คน มีเพียงปลัดกระทรวงยุติธรรมเท่านั้นที่เป็นฝ่ายบริหาร ในความเห็นของนักกฎหมายและผู้พิพากษารุ่นหลังให้คำอธิบายว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ทำให้

“ระบบคณะกรรมการตุลาการได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างมั่นคง สมบูรณ์ และเด็ดขาด เป็นสถาบันที่คนไทยผู้เคยผ่านประสบการณ์ทุกข์เข็ญของระบบตุลาการไทยมากครั้งหลายหนได้ดิ้นรนต่อสู้จนได้มาในที่สุด เป็นอนุสรณ์อันทรงเกียรติของระบบตุลาการศาลไทยโดยแท้”[10]

หลักการเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยจึงมีฝ่ายตรงกันข้ามเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การจะสถาปนาความเป็นอิสระให้เกิดขึ้นจึงมีความหมายถึงการกันเอานักการเมืองให้พ้นไปจากองค์กรที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของเหล่าผู้พิพากษา และจะเป็นการบริหารกันเองภายในหมู่ผู้พิพากษาโดยไม่มีการตระหนักถึงความสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ในหลายครั้งฝ่ายตุลาการกลับสามารถสถาปนาความเป็นอิสระให้บังเกิดขึ้นภายใต้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม ดังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ กต. จนเป็น ‘อนุสรณ์อันทรงเกียรติของระบบตุลาการศาลไทย’ ก็เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ องค์กรเช่น กต. ได้กลายเป็นสถาบันสำคัญที่ทำหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่บรรดาผู้พิพากษาสืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งในปัจจุบัน กต. ได้กลายเป็น ‘องค์กรปิด’ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของผู้พิพากษาด้วยกันที่ยากจะถูกแทรกแซงจากสถาบันการเมืองการเลือกตั้ง และดำรงอยู่โดยมีความสัมพันธ์อย่างเบาบางกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ทั้งนี้ ประเด็น ‘ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา’ ก็มักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการต่อสู้ต่อรองของฝ่ายตุลาการในการเรียกร้องหรือคัดค้านกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายผู้มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคนับจากนั้นเป็นต้นมา และมักจะประสบความสำเร็จไม่ว่าจะตกอยู่ในรูปแบบการเมืองแบบใดก็ตาม

การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการไทยจึงแทบไม่มีประวัติศาสตร์หรือการเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แต่อย่างใด


[1] ธงชัย วินิจจะกูล เคยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่าการกำหนดตำแหน่งผู้ประศาสน์การ มธก. ไว้ใน กต. เป็นการเขียนที่ทำให้เฉพาะปรีดี พนมยงค์ เท่านั้นที่จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะผู้ประศาสน์การ มธก. เป็นตำแหน่งเฉพาะสำหรับปรีดี เพียงคนเดียวในฐานะของผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้

[2] สุพจน์ แจ้งเร็ว, “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23, ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2545) หน้า 75

[3] ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และวิวัฒนการของการพัฒนาระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในประเทศไทย, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 ปี 2556 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

[4] ตราชูหญิง, “บรรพตุลาการตัวอย่าง: ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ”, ดุลพาห ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2538) หน้า 160 – 182 อ้างใน ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาฯ, หน้า 114

[5] ปรีดี เกษมทรัพย์, “ระบบ ก.ต. และความเป็นอิสระของตุลาการ”, นิติศาสตร์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2535)

[6] ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาฯ, หน้า 54

[7] พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ 2497 กำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ ในส่วนผู้พิพากษาประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อีก 7 คนได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มาจากการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

[8] ตราชูหญิง, “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสละอำนาจเพื่อความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ”, ดุลพาห 41 ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2537) อ้างใน ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาฯ, หน้า 137

[9] ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษาฯ,หน้า 138

[10] ปรีดี เกษมทรัพย์, “ระบบ กต. และความเป็นอิสระของตุลาการ”, นิติศาสตร์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2535), หน้า 346.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save