fbpx
ปฏิรูปสถาบันตุลาการ ล้มเสาหลักค้ำจุนเผด็จการ

ปฏิรูปสถาบันตุลาการ ล้มเสาหลักค้ำจุนเผด็จการ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ชั่วเวลาแค่เดือนเศษ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กระจายไปทั่วประเทศ การชุมนุมขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากนิสิตนักศึกษาไปถึงสหภาพแรงงาน และคนวัยทำงานอีกจำนวนมาก ลามไปถึงในโรงเรียนมัธยม สามข้อเรียกร้อง สองจุดยืน หนึ่งความฝันกระหึ่มกึกก้อง ดูเหมือนจะถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกแล้ว

ประเทศไทยไม่เคยแก้ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญลงไปได้เด็ดขาดเสียที ทุกครั้งที่มีวิกฤตการเมือง หนึ่งในข้อเสนอของทุกฝ่าย คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตอของปัญหา ในครั้งนี้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล หรือสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนก็ตอบรับข้อเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

แต่จะแก้ไขสิ่งใดกันเล่า ขณะนี้ ทุกคนเพ่งความสนใจไปที่ระบบเลือกตั้งและการสรรหา ส.ว. ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นความโกรธเคืองที่ตกค้างมาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม 2562 จึงเป็นธรรมดาที่ระบบเลือกตั้งและ ส.ว. สรรหาจะเป็นเป้าหมายหลัก

แต่อย่าลืมว่า ความมั่นคงของอำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้น แท้จริงไม่ได้มาจากระบบการเลือกตั้ง และ ส.ว. 250 เสียง ปัจจัยหลักที่สนับสนุนประยุทธ์ และเป็นหัวใจหลักของวิกฤตการเมืองไทยด้วย คือ สถาบันตุลาการ

 

สามกรณี สามความอยุติธรรม

 

วันที่ 22 กรกฏาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นยกคำร้องที่ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขอให้ปล่อยตัวนายทิวากร วิถีตน ผู้ยืนกรานจะใส่เสื้อมีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนถูกจับส่งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ คำร้องดังกล่าว ไผ่อาศัยมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้ศาลมีอำนาจสั่งปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลอ้างว่า แม้ไผ่จะเป็นบุคคลอื่นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังสนิทสนมไม่พอที่จะเป็นบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ต่อผู้คุมขัง

ถ้าใครไม่ทราบ มาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาจากหลักการ habeas corpus ที่ให้อำนาจศาลสั่งปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้รับการประกาศรับรองใน Assize of Clarendon โดยพระเจ้าเฮนรีที่สองแห่งอังกฤษ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม ที่ให้ศาลเข้ามาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ

วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมอานนท์ นำภา และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ภายใต้เจ็ดข้อหารวมทั้งยุยงปลุกปั่น การจับกุมเกิดขึ้นตอนบ่ายวันศุกร์ แต่ว่าตำรวจได้นำตัวไปฝากขังกับศาลอาญาหลังเวลา 18.00 น. แล้ว โดยศาลอาญายัง ‘เปิดทำการ’ รออยู่ในช่วงค่ำ การพิจารณาฝากขังดำเนินไปถึงกลางดึกก่อนที่ศาลจะ ‘ปิดทำการ’ ให้นำบุคคลทั้งสองกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น

หลังจากวันที่ 7 สิงหาคม มีแกนนำนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนถูกจับมาให้ศาลสั่งประกันตัวโดยวางเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหว ห้ามกระทำผิดซ้ำอีก

วันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่าน มีรายงานความคืบหน้าคดี มาตรา 112 โดยศาลจังหวัดพัทยา ซึ่งศาลได้อธิบายการตีความคำว่ารัชทายาทตามมาตรา 112 ว่าต้องตีความตามนิติธรรมและราชประเพณี โดยขยายไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไม่ใช่แค่รัชทายาทผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง “ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ หากละเมิดย่อมมีความผิดตามกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม”

โดยทั่วไป หลักการตีความกฎหมายอาญาคือ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษรุนแรงแก่เนื้อตัวร่างกาย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่สามารถตีความขยายออกไปให้เป็นโทษได้

 

อยุติธรรมภายใต้กฎหมาย

 

สาเหตุหนึ่งของวิกฤตการเมืองไทย คือ ความอยุติธรรม

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ความอยุติธรรมนอกกฎหมาย ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนที่ควักปืนมายิงกันแบบหนังคาวบอยโดยไม่สนใจขื่อแปบ้านเมือง สิ่งที่ประเทศไทยเผชิญร้ายแรงกว่านั้น คือ เป็นความอยุติธรรมภายใต้กฎหมายต่างหาก

นับจากเมษายน 2549 เมื่อกระแสตุลาการภิวัตน์เริ่มต้นขึ้น กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายชนชั้นนำที่จะใช้รื้อถอนทำลายการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ฝ่ายตุลาการอ้างหลักนิติธรรมข่มเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศการเลือกตั้งไม่มีผล ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธินักการเมือง เป็นต้น

นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว คดีรัฐธรรมนูญในศาลรัฐธรรมนูญมักถูกจับจ้อง เพราะสื่อมวลชนให้ความสนใจกับผลทางการเมืองและชื่อเสียงของผู้ถูกฟ้อง จนหลายคนเข้าใจว่า ปัญหาของระบบตุลาการไทยนั้นจำกัดแค่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นศาลการเมืองเท่านั้น จนลืมไปว่ายังมีคดีอีกมากที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมที่มีปัญหาความอยุติธรรมไม่แพ้กัน

สามคดีที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด ถ้ามองย้อนกลับไป มีความผิดปกติจำนวนมากในคดีการเมืองและคดีความมั่นคง จนฝ่ายหนึ่งบอก กึ่งขำกึ่งประชดแกมขมขื่นว่า ฝ่ายเราติดคุกจนออกมาแล้ว ฝ่ายนั้นยังไม่สั่งฟ้องเลย

ปัญหามีตั้งแต่การยอมรับความชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร การห้ามประกัน การตีความขยายความหมายของกฎหมายออกไปกว้างขวาง สำคัญที่สุด คือการเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า ฝ่ายความมั่นคงใช้คดีความเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งนักกิจกรรมและนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

ผลคือ เผด็จการทหารกลายเป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมายที่สุดเท่าที่หลายคนจำความได้ จะทำอะไรก็อ้างกฎหมายทุกครั้ง มีศาลคอยรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำต่างๆ แต่ตรงกันข้าม แทนที่สังคมจะเคารพกฎหมาย กลับสงสัยในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายและความเที่ยงธรรมของสถาบันตุลาการมากกว่าเดิม

 

จะแก้ไขสิ่งใดหรือ

 

ทางออกของวิกฤตศรัทธาตุลาการนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ที่ว่าง่ายเพราะไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังรากลึกมานาน เมื่อเงื่อนไขการเมืองเหมาะสม ก็กระตุ้นให้อาการป่วยของระบบสำแดงได้เต็มที่ ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องแก้ที่ทัศนคติบุคคลและองค์กร ซึ่งว่าไปแล้ว อาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย

สถาบันตุลาการไม่ใช่อาคารสถานที่ แต่คือผู้คนจำนวนมากที่ใช้อำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินคดี ปัญหาคือคนเหล่านี้ที่ดำรงฐานะผู้พิพากษา ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องใช้กฎหมายในมือแก้ไขปัญหาการเมือง ทั้งที่ตั้งแต่เรียนนิติศาสตร์มา ระบบการเรียนการสอนฝังหัวมาตลอดว่าการเมืองและกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกัน บัณฑิตนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มุ่งมาสายตุลาการ จึงขาดความเข้าใจในสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างยิ่ง

แต่พวกเขาต้องถูกมอบหมายให้ ‘ช่วยประเทศชาติบ้านเมือง’ จากวิกฤตการเมือง บางคนอาจจะรู้และเต็มอกเต็มใจ บางคนอาจจะถูกมอบหมายหรือกดดันมา บางคนอาจไม่คิดอะไรมากไปกว่าหลับหูหลับตากับบริบทแวดล้อมแล้วพยายามตัดสินไปตามกฎหมายแห่งคดี

สถานการณ์เช่นนี้ กฎระเบียบภายใน และวัฒนธรรมองค์กรเองก็ไม่ได้ช่วย หากมีผู้พิพากษาคนไหนคิดจะแตกแถว ทุกคนถูกจับจ้องและกดดันให้ระมัดระวังตัว แม้คิดจะนอกคอกจริง ความตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะเมื่อต้นปียังเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจอยู่ กับความเงียบงันขององค์กรและเพื่อนร่วมงาน และความตายไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ไม่ว่าอย่างไร ผลโดยรวม คือ ความอยุติธรรมอยู่นั่นเอง

สถาบันตุลาการต้องยอมรับได้แล้วว่า ที่ผ่านมาความพยายามจะปิดตาอำนวยความสะดวกให้กับชนชั้นนำไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง สภาพปัจจุบัน ศาลเหมือนคนเดินไต่ลวดงกๆ เงิ่นๆ ยอมรับอำนาจเผด็จการที่ใช้ข่มเหงประชาชนพร้อมไปกับยืนยันว่าที่ทำอยู่นั้นเป็นการธำรงนิติธรรม ทั้งที่จริงแล้ว คำสั่งคำพิพากษาที่ออกมา ไม่อาจถือเป็นบรรทัดฐานได้เลย การธำรงความยุติธรรม กับการเชื่อฟังอำนาจเผด็จการนั้นเป็นสองวัตถุประสงค์ที่ไม่อาจบรรลุพร้อมกันได้

ถึงอย่างไร บ้านเมืองก็ไม่อาจขาดสถาบันตุลาการไปได้ ที่ดีที่สุดคือถ้าศาลรู้ตัวเอง ยอมลงจากเส้นลวดที่ไต่ ประกาศไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้กฎหมายรังแกประชาชนอีกต่อไป เป็นสถาบันสถิตยุติธรรมสมความภาคภูมิ

มิเช่นนั้น หากศาลไม่ยอมปฏิรูปตนเอง เมื่อเวลามาถึง อาจต้องยอมรับการถูกบังคับปฏิรูปจากภายนอกองค์กร และอาจต้องรับผิดชอบกับความอยุติธรรมที่ได้กระทำแก่ประชาชน เมื่อนั้น คงอ้างว่าตนเองเพียงแค่ทำตามกฎหมายได้ยากเต็มที

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save