fbpx
การร่วมชุมนุมกับ กปปส. “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” ?

การร่วมชุมนุมกับ กปปส. “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” ?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

คำตอบของ ก.ต. ต่อกรณีผู้พิพากษาร่วมชุมนุมทางการเมือง

 

การดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนางเมทินี ชโลธร (ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน) ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังขาเกี่ยวกับการวางตัวในทางการเมือง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมีการเผยแพร่ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่านางเมทินี ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส. ในช่วงเวลาก่อนเกิดการยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อ พ.ศ. 2557

ที่ผ่านมา ผู้เขียนเข้าใจว่าทางคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มิได้มีการตระหนักต่อประเด็นข้อสงสัยดังกล่าว แต่ในภายหลังที่ได้อ่านรายงานการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563 วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563[1] ก็ได้พบว่าการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของนางเมทินี เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้มีการพิจารณาและอภิปรายในการประชุมของ ก.ต. ก่อนที่จะได้มีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563

(ทั้งนี้ ก.ต. เป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการแต่งตั้ง โยกย้าย ให้คุณ ให้โทษ กับเหล่าผู้พิพากษา ก.ต. ทั้งคณะจะมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีตัวแทนผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอกอีก 2 คน)

การอภิปรายและการให้เหตุผลของบุคคลผู้เข้าร่วมประชุมถึงความหมายการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและการฝักใฝ่ทางการเมืองนับเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งซึ่งถูกคาดหมายว่าจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองโดยไม่เอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันจะทำให้เกิดความไว้วางใจของสาธารณะต่อการชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ว่าจะเป็นไปโดยไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด รวมทั้งทางฝ่ายตุลาการเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่กำหนดห้ามไม่ให้ผู้พิพากษาฝักใฝ่กับกลุ่มการเมือง[2]

ในการประชุมของ ก.ต. ครั้งนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ความเห็นและพิจารณาต่อการร่วมชุมนุมของว่าที่ประธานศาลฎีกา (ในขณะนั้น) มีความหมายอย่างไร เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้หรือไม่ นับเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้สาธารณชนได้เข้าใจถึงความเป็นกลางซึ่งเป็นที่ยึดถือของผู้พิพากษาในท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมการเมืองไทยได้มากยิ่งขึ้น (แม้จะเป็นหนึ่งใน ก.ต. แต่ในระหว่างที่มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว นางเมทินี ก็ได้ออกจากห้องประชุมและกลับเข้ามาร่วมประชุมภายหลังที่ผ่านการพิจารณาประเด็นดังกล่าวไปแล้ว)

 

‘ความเป็นกลาง’ ในการร่วมชุมนุม

 

นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี (ศาลฎีกา) ได้อภิปรายถึงข้อการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนางเมทินีว่า วางตัวไม่เป็นกลาง เพราะเข้าไปร่วมการชุมนุม กปปส. โดนมีภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่านั่งอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่งในที่ชุมนุม แต่นุจรินทร์มีความเห็นว่า ไม่ได้มีสิ่งใดแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นการสนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุม

“ท่านดูภาพอย่างเดียวซึ่งไม่มีคำอธิบายไม่มีอคติ ท่านเห็นอะไรจากภาพ ดิฉันไม่อาจคาดหมายว่าท่านจะคิดเหมือนดิฉันหรือไม่ เพราะอารมณ์และความรู้สึกอาจจะต่างกันในส่วนของดิฉัน เห็นว่าเป็นการนั่งแบบสบายๆ ชิวๆ ของท่านกับเพื่อนหญิงตรงสนามหญ้า ห่างไกลจากเวทีที่ชุมนุมและมิใช่อยู่ท่ามกลางที่ชุมนุม การแต่งกายที่มิได้บ่งบอกถึงการสนับสนุนหรือเชียร์ฝ่ายชุมนุมหรืออย่างใด”

“จะมีเพียงผ้าพันข้อมือที่เป็นสีธงชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนไทยทั้งชาติที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าท่านให้การสนับสนุนฝ่ายที่ชุมนุม ท่านก็อาจเป็นเหมือนประชาชนคนไทยจำนวนมากมายที่อยากรู้อยากเห็นว่าเขาพูดอะไรเป็นเรื่องอะไรที่เข้าไปฟัง บ้างก็นั่ง บ้างก็ยืน ใกล้บ้าง ไกลบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชุมนุมทั่วไป ลักษณะที่ปรากฏจากภาพก็ไม่มีการแสดงให้เห็นว่าท่านสนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้กําลังใจฝ่ายชุมนุมแต่อย่างใด”[3]

นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช (ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก) ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนางนุจรินทร์ รวมทั้งยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าการเข้าไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. นั้นควร “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” เนื่องจากกระทำด้วยความรักชาติ รักสถาบัน

“ผมกลับมองตรงข้ามกับข่าวที่ออกมาว่าที่จริงสถานการณ์ในวันนั้นเราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตบ้านเมืองเกิดเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะมุ่งไปที่รัฐบาล เพราะต้องการให้รัฐบาลมั่นคงขึ้นและทำให้บ้านเมืองมันสงบสุข ท่านจะเห็นว่าไม่มีการชุมนุมครั้งไหนเลยที่มากกว่า กปปส. คือประมาณ 4-5 ล้านคน และผมเชื่อว่าการที่ท่านไปนั้นท่านก็คงไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตต้องอาศัยผู้คนที่เข้าไปแสดงพลังให้เห็นว่าบ้านเมืองวิกฤติเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการไปนั้นลักษณะจะเข้าไปดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ว่าเขาทำอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร อีกมุมหนึ่งนั้นการที่ท่านเข้าไปท่านเข้าไปด้วยความรักชาติ รักสถาบัน ผมว่าน่าจะเป็นความสง่างามของผู้พิพากษาด้วยซ้ำไป การที่ท่านเป็นผู้พิพากษาไม่ใช่ว่าท่านไม่รักชาติไม่รักสถาบัน ท่านต้องการแสดงความรักชาติโดยเข้าไปร่วมนั่งฟังการชุมนุม แต่ท่านไม่ได้เป็นผู้นําไม่ได้เป็นแกนนําไม่ได้มีส่วนสนับสนุนอะไรนอกจากการไปนั่งฟังเฉยๆ อันนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะนํามาพิจารณา”[4]

นายกําพล รุ่งรัตน์ (ศาลชั้นต้น) เห็นว่าการไปร่วมชุมนุมคือการไปรับรู้สภาวะอารมณ์ของสังคมเป็นสิ่งที่ควรต้องกระทำ ตรงกันข้ามการไม่รับรู้ถือว่าเป็นการปิดกั้นโลกทัศน์

“ผมว่านางเมทินีในฐานะที่ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตามที่ท่านอยากจะเข้าไปดูสถานการณ์บ้านเมือง อยากจะไปรับรู้เหตุการณ์อะไรต่างๆ เพื่อจะให้ได้เห็นสภาวะทางอารมณ์ในสังคมเป็นอย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะวันหนึ่งท่านก็ต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นหนึ่งในอำนาจที่เป็นกลไกของรัฐที่จะดำเนินการเกี่ยวกับบริบทหรือบรรทัดฐานในสังคม การที่เป็นผู้พิพากษาและจะไม่รับรู้อะไรเลยผมว่าค่อนข้างที่จะโลกทัศน์แคบ วันหนึ่งต้องมาตัดสินคดีคนต้องมาวางบรรทัดฐานในสังคมโดยที่เขาทำอะไร แล้วเราไม่รู้ ผมว่ามันค่อนข้างที่จะล่อแหลมต่อการให้ความยุติธรรม เพราะฉะนั้นการที่ท่านเข้าไป ก็มองได้ว่าเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ไม่ได้มองว่าไปสนับสนุน ดูลักษณะการแต่งกายของท่านก็ไม่ได้ มีอะไรบ่งชี้เลยว่าคุณจะเลือกฝ่ายเหลืองหรือฝ่ายแดงอะไร”[5]

นายณรัช อิ่มสุขศรี (ศาลชั้นต้น) ก็มีความเห็นว่าเพียงการเข้าร่วมยังไม่อาจถือว่าเป็นการฝักใฝ่ทางการเมือง สำหรับเขาแล้วต้องแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เข้าร่วมไฮด์ปาร์ก จึงจะถือว่าสร้างปัญหาแก่การทำงานในฐานะผู้พิพากษา

“ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฏว่า นอกเหนือจากภาพถ่ายดังกล่าวแล้วท่านขึ้นไปไฮด์ปาร์กเหมือนกับบางท่านหรือบางคนหรือไม่ หรือมีเหตุการณ์อะไร ที่จะแสดงถึงการฝักใฝ่ทางการเมืองนอกเหนือจากตามภาพ ลำพังเพียงตามภาพ ผมก็เชื่อมั่นว่า คงจะไม่ทำให้ท่านเป็นปัญหาในการที่จะมาเป็นผู้นําหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะฝ่าย กปปส. ที่ยังเป็นความอยู่ตรงนี้นี่เองผมยังเชื่อมั่นกับหลายๆ ท่านที่กล่าวมาว่า ท่านยังสามารถที่จะดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปได้”[6]

สำหรับ นายกิจชัย จิตธารารักษ์ (ศาลฎีกา) อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงบุคคลคนเดียวในที่ประชุมที่ได้อภิปรายและพยายามยึดโยงกับประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ รวมทั้งมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่ใช่ความผิดที่ถึงขนาดจะทำให้ไม่ได้รับตำแหน่งประธานศาลฎีกา การตักเตือนก็อาจเป็นการเพียงพอ

“กปปส. ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองแต่เป็นกลุ่มการเมือง การฝักฝ่ายคือร่วมอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จริยธรรมข้อนี้จํากัดสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ย่อมเห็นได้ชัดว่าผู้พิพากษานั้นอยู่ใน 2 ฐานะด้วยกัน คือ ฐานะที่เป็นข้าราชการตุลาการซึ่งต้องแสดงตัวเป็นกลางไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการฝักฝ่ายพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใด แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม อีกฐานะหนึ่งคือในฐานะส่วนตัวที่เป็นราษฎรย่อมใช้สิทธิเลือกตั้งโดยชอบเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ตรงนี้เองถ้าเผื่อเราจะช่วยเคลียร์ก็หมายถึงว่าเราจะมองว่าเป็นแค่เรื่องการไปร่วมชุมนุมที่ไม่เหมาะสม ก็ว่ากล่าวตักเตือนและก็จบ เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เองเมื่อก้าวไปสู่สังคมแล้วมันก็มีปัญหาตามมา”[7]

แต่ในท้ายที่สุด ภายหลังจากการอภิปรายจากที่ประชุมได้เกิดขึ้นพอสมควร ทางประธานก็ได้ขอมติจากที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 1 เห็นชอบให้นางเมทินี ชโลธร ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา

“โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่า นางเมทินี ชโลธร เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ คุณวุฒิ ความซื่อสัตย์สุจริต ภาวะผู้นํา การครองตน ครองคน และครองงาน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีเกียรติประวัติการรับราชการที่โดดเด่นมาโดยตลอด จึงมีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในวาระ 1 ตุลาคม 2563” (เสียงข้างน้อย ได้แก่ นายกิจชัย จิตธารารักษ์)[8]

นางเมทินี จึงได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของคณะกรรมการตุลาการ ในแง่นี้จึงย่อมมีความหมายเท่ากับทาง ก.ต. ได้ให้ความเห็นชอบต่อการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของผู้พิพากษาว่าเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ โดยไม่ถือว่าขัดแย้งต่อประมวลจริยธรรมฯ แต่อย่างใด

 

ในอุ้งมือผู้ตัดสินที่เลือกข้าง

 

หากพิจารณาจากการอภิปรายและการให้เหตุผลในประเด็นการร่วมชุมนุมทางการเมืองของนางเมทินี ในการประชุมของ ก.ต. สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง เป็นที่ยอมรับว่านางเมทินี ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมกับทาง กปปส. จริง ดังจะปรากฏว่าทุกคนที่ร่วมอภิปรายต่างก็ดูราวกับจะตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ไม่มากก็น้อย

สอง มีการให้คำอธิบายว่าการเข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงการเข้าไปสังเกตการณ์ การแต่งกาย ผ้าพันข้อมือลายธงชาติ มิได้มีสิ่งใดปรากฏให้เห็นว่าเป็นการสนับสนุนทางฝ่าย กปปส. รวมถึงไม่ได้เข้าไปเป็นคนปราศรัย จึงย่อมไม่อาจถือว่าได้ว่าเป็นการฝักใฝ่กลุ่มการเมืองซึ่งเป็นข้อห้ามตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ดังนั้น หากพิจารณาถึงความหมายของการฝักใฝ่กลุ่มการเมืองตามความเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุมนี้จึงต้องมีการแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การเข้าไปเป็นแกนนำหรือร่วมปราศรัยบนเวทีของกลุ่มการเมือง เป็นต้น การสวมสัญลักษณ์หรือเพียงการไปเข้าร่วมชุมนุมยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นการฝักใฝ่ในทางการเมืองแต่อย่างใด

การตีความในลักษณะดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแตกต่างไปจากทรรศนะของ โสภณ รัตนากร บรรพตุลาการซึ่งได้เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริตแต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือไม่ให้มีเงาให้คนเขาสงสัยในความสุจริตด้วย”[9] ขณะที่ความเห็นของบรรดาผู้พิพากษาในปัจจุบัน การฝักใฝ่ทางการเมืองต้องปรากฏอย่างชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ต่อให้ประชาชนจะสงสัยในความไม่สุจริตก็อาจไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด

สาม มีความเห็นบางส่วนเห็นว่าการไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าวควรถูกพิจารณาเป็น ‘ความสง่างาม’ เพราะบ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตเกิดเป็นภาวะรัฐล้มเหลว การแสดงออกนับเป็นส่วนหนึ่งของการรักชาติบ้านเมืองและรักสถาบัน ในแง่นี้ผู้พิพากษาย่อมสามารถแสดงออกในทางการเมืองได้ แต่ปัญหาที่อาจติดตามมาก็คือว่าการแสดงออกในเชิงสนับสนุนนี้ใช้ได้เฉพาะกับความเห็นทางการเมืองบางฝ่ายใช่หรือไม่

สี่ ความเห็นเสียงข้างน้อยมากให้คำอธิบายว่า กปปส. เป็นกลุ่มการเมือง การเข้าร่วมชุมนุมกับทาง กปปส. อาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม จึงควรจะต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน

คำถามของสังคมที่มีต่อแนวทางการวินิจฉัยของ กต. ก็คือ การให้ความหมายเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้พิพากษาย่อมสามารถเข้าการชุมนุมได้ตามที่ตนต้องการใช่หรือไม่ ตราบเท่าที่ไม่ได้ขึ้นเวทีอภิปรายหรือเป็นแกนนำในการชุมนุมนั้น

และอีกคำถามที่สำคัญไปไม่น้อยกว่ากันก็คือ การวางตัวในลักษณะดังกล่าวจะกระทบต่อความไว้วางใจหรือความน่าเชื่อถือที่สาธารณชนมีผู้พิพากษาหรือไม่ หากวันหนึ่งประชาชนได้พบว่าบุคคลที่มาทำหน้าที่ตัดสินความผิดของตนนั้นมีจุดยืนทางการเมืองคนละข้างกับตนอย่างชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันที่มีผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับการบังคับใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 

 


[1] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563 วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมอาคารศาลยุติธรรม ชั้น 3 ศาลฎีกา

[2] ประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2529 ข้อ 34

“ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง”

[3] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 40-41

[4] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 42

[5] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 42-43

[6] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 43

[7] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 44

[8] รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563, หน้า 45

[9] โสภณ รัตนากร, “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : ตุลาการ,” ใน รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, แสวง บุญเฉลิมวิภาส, บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2548), หน้า 159.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save