fbpx

ศักดิ์สิทธิ์และไม่โปร่งใส

ปฏิกิริยาที่ศาลยุติธรรมมีต่อคดีสินบนโตโยต้านั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง น่าสนใจไม่แพ้คดีที่กำลังดำเนินอยู่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกรายงานโดย Law360

ฉับพลันที่เว็บไซต์ Law360 ลงข่าวสินบนพร้อมชื่อผู้พิพากษาที่ถูกพาดพิง อีกสองสามวันถัดมา อดีตผู้พิพากษาที่ถูกพาดพิงก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เผยข้อมูล ‘เท็จ’ ทำให้ตนเสียหาย น่าสังเกตว่าผู้เสียหายบางคนมอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบเเละดำเนินคดีการเผยเเพร่ข้อความดังกล่าว แสดงว่าศาลเองมิได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความเสียหายต่อส่วนตัวผู้มีชื่อเท่านั้น แต่กระทบถึงองค์กรด้วย

เป็นไปได้ว่า การแจ้งความดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การรายงานข่าวเรื่องนี้ในสื่อไทยค่อยๆ เงียบลงในเวลาไม่นานนัก

แต่ปฏิกิริยาของศาลและสาธารณชน โดยเฉพาะ ‘เยาวรุ่น’ ต่อข่าวฉาวนี้น่าสนใจ เพราะดูเหมือนความเข้าใจในความชอบธรรมของสถาบันตุลาการของทั้งสองฝ่ายนั้นดูจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นักกฎหมายไม่ค่อยถกเถียงกันเรื่องความชอบธรรม (legitimacy) เท่าไหร่ อาจเพราะเห็นว่า ความชอบธรรมกับกฎหมายนั้น ถ้าไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง อะไรก็ตามที่กฎหมายสั่งไว้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นเหตุผลให้ต้องทำตาม เพราะในอุดมคตินักกฎหมายนั้น กฎหมายย่อมตราขึ้นด้วยผู้แทนปวงชน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และมีทัณฑ์หนุนหลัง ดังนั้นจึงเพียงพอที่จะใช้จำกัดสิทธิประชาชนคนอื่นได้

แต่ในความเป็นจริง ความชอบธรรมเป็นปัจจัยนอกเหนือกฎหมายที่สำคัญมากที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แม้สาธารณะจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายบางฉบับหรือคดีบางคดีที่ตัดสินไป แต่โดยรวมแล้วคนยอมรับคำพิพากษาหรือกฎหมายบางฉบับที่ไม่พึงปรารถนาได้ ไม่คิดโต้แย้งขัดขืน เพราะสถาบันตุลาการและกฎหมายมีความชอบธรรม

แล้วความชอบธรรมมาจากไหน

ในระบอบประชาธิปไตย เรามักถือกันว่าแหล่งที่มาใหญ่ที่สุดของความชอบธรรม คือ เสียงประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็เลือกคณะรัฐมนตรี ซึ่งบังคับบัญชาฝ่ายปกครองภายใต้อาณัติจากปวงชน ในระบบเช่นนี้ ความชอบธรรมจากปวงชนถูกแจกจ่ายลงไปเรื่อยๆ จนถึงหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ทำหน้าที่ออกกฎและคำสั่งกระทบสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนเอง

ปัญหาของคำอธิบายนี้คือฝ่ายตุลาการไม่อยู่ในสมการนี้ด้วย ตุลาการนั้นถือหลักความเป็นอิสระจึงแยกจากฝ่ายการเมือง แต่นั่นทำให้เกิดปัญหา ความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองนั่นเองจึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตุลาการไปพร้อมๆ กัน ศาลไม่ต้องรับคำสั่งจากนักการเมืองหรือประชาชนทำให้ศาลน่าจะเที่ยงธรรม แต่ในยามที่สาธารณะต้องการให้ศาลรับผิดชอบในเหตุการณ์บางอย่าง ศาลอาจจะถูกมองว่าลอยนวลพ้นผิดไปได้

แล้วความชอบธรรมของตุลาการมาจากไหน

ทางแก้ที่หนึ่ง คือ ให้ตุลาการ โดยเฉพาะในระดับสูง มาจากการสรรหาและเห็นชอบโดยฝ่ายการเมือง จึงถือว่ามาจากการเลือกโดยประชาชนในทางอ้อมแล้ว แต่คำอธิบายเช่นนี้ก็ยังไม่เพียงพอ

ความชอบธรรมส่วนใหญ่ของฝ่ายตุลาการจึงมาจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ไม่ใช่จากเสียงประชาชนโดยตรงหรือการเลือกตั้ง

ความชอบธรรมส่วนหนึ่งมาจากผลงานของศาลเอง ในประวัติศาสตร์ยาวนานนับแต่ตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมา ผู้พิพากษานับหมื่นนับแสนได้ช่วยกัน ‘สถิตยุติธรรม’ ด้วยการตัดสินคดี น่าจะนับล้านหรือสิบล้านได้ ต้นทุนตรงนี้กลายเป็นความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อศาลว่า หากข้อพิพาทของตนไปถึงศาลแล้ว จะสามารถยุติลงด้วยความเป็นธรรมได้ แต่นั่นไม่สามารถช่วยศาลรับมือกับเรื่องอื้อฉาวอย่างเช่นกรณีสินบนโตโยต้าได้

ถ้าให้สรุปอย่างย่อที่สุด สิ่งที่ศาลไทยเห็นว่าช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองคือความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคติความชอบธรรมแบบโบราณ ความศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้มาพร้อมกับความลึกลับและสูงส่ง บ่อยครั้งเจือไปด้วยกลิ่นอายของศาสนาด้วย

กฎหมายสมัยโบราณที่ชอบธรรมก็เพราะศักดิ์สิทธิ์ มาจากกำแพงจักรวาล ไม่มีใครรู้ข้อความที่แท้จริงในต้นฉบับที่เก็บไว้ในหอสมุดวังหลวง แต่ทุกคนก็เชื่อว่ามันเป็นความยุติธรรม

ตุลาการปัจจุบันไม่ได้มาจากกำแพงจักรวาลแน่ๆ แต่การเป็น ‘ท่าน’ ที่แยกตัวออกจากชุมชนนักกฎหมายด้วยกันและประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงภาพลักษณ์ของตุลาการผู้ตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธย จึงเป็นภาพของกลุ่มบุคคลที่ออกจะศักดิ์สิทธิ์พอสมควร ความศักดิ์สิทธิ์นี้เสริมให้แข็งแกร่งได้ด้วยธรรมเนียมขนบต่างๆ ในห้องพิจารณาคดี การห้ามนั่งไขว่ห้าง ห้ามใส่รองเท้าแตะ หากใครเอะอะมะเทิ่งอาจจะเจอกับข้อหาหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลได้ เหมือนชาวราษฎรที่ไปท้าทายความศักดิ์สิทธิ์บริเวณศาลรัชดา ต่างต้องโดนกำราบกันถ้วนหน้า

ความชอบธรรมเช่นนี้จะธำรงอยู่ได้ถ้าภาพลักษณ์ของศาลนั้นปราศจากมลทิน นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เคยมีการเผยแพร่รายละเอียดการลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาสู่ความรับรู้ของสาธารณชนเลย ด้วยเหตุผลว่าถ้าเผยแพร่แล้วการบังคับใช้กฎหมายจะเสื่อมประสิทธิภาพ

คติดังกล่าวขัดแย้งอย่างแรงกับความเห็นของคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าความชอบธรรมในองค์กรรัฐสมัยใหม่นั้นไม่ได้มาจากความศักดิ์สิทธิ์ แต่มาจากความเป็นมืออาชีพ

ความเป็นมืออาชีพนั้น นอกจากการใช้อำนาจตุลาการอย่างเสมอต้นเสมอปลายและมีเหตุมีผลแล้ว ยังแสดงออกผ่านความโปร่งใสตรวจสอบได้อีกด้วย

หากมีข้อกล่าวหาหรือเรื่องอื้อฉาว เรื่องนั้นควรถูกนำขึ้นมาอภิปรายชี้แจงอย่างเปิดเผยที่สุดเท่าที่บริบทจะอำนวย มากกว่าปกปิดแล้วจัดการกันเอง

ความศักดิ์สิทธิ์นั้นเกิดได้บนความสัมพันธ์แนวดิ่ง เมื่อสองฝ่ายไม่เท่ากัน แต่ความโปร่งใสนั้นมาจากความสัมพันธ์แนวขวาง เมื่อทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน จึงไม่มีเอกสิทธิ์ใดปิดบังข้อมูลจากเจ้าของเงินเดือน

ถึงที่สุด คนผิดอาจจะถูกลงโทษเหมือนกัน แต่ความโปร่งใสกับความลึกลับนั้นทำให้ผลลัพธ์ตรงข้ามกันได้ ดังสุภาษิตกฎหมายที่เตือนนักกฎหมายตกทอดต่อกันมาว่า นอกจากอำนวยความยุติธรรมแล้ว นักกฎหมายต้องทำให้สาธารณชนเห็นว่าได้อำนวยความยุติธรรมอีกด้วย

ความชอบธรรมทั้งสองแบบจึงขัดแย้งกันรุนแรงมากในวิธีการที่ศาลจะจัดการกับเรื่องอื้อฉาว อาทิ กรณีสินบนโตโยต้า แม้ต่อมาศาลจะแสดงให้เห็นความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ดี แต่ความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของศาลก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

การขบคิดเรื่องความชอบธรรมของสถาบันตุลาการนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ความชอบธรรมของสถาบันตุลาการเป็นคำถามที่ครั้งหนึ่งไม่ต้องเสียเวลาถาม ในการสำรวจความเชื่อมั่นในหน่วยงานรัฐนั้น ศาลยุติธรรมมาเป็นอันดับต้นๆ หลายปีติดต่อกัน น่าจะแปลได้ว่าศาลยุติธรรมนั้นมีความชอบธรรมสูงไม่น้อย แต่เช่นเดียวกับสถาบันหลักต่างๆ ของสังคมไทยที่เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็วภายหลังปี 2549 ศาลยุติธรรมประสบความเสื่อมนั้นไม่น้อยเช่นกัน กรณีอื้อฉาว เช่น บ้านพักป่าแหว่ง การฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ การเข้าร่วมการชุมนุม กปปส. ของคนหน้าเหมือนประธานศาลฎีกา ตลอดจนการให้ประกันตัวแกนนำการชุมนุมและคดี 112 ทั้งปวง แต่ละครั้งที่เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น ศาลอธิบายตัวเองต่อประชาชนได้แย่ลงเรื่อยๆ

ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าจุดสิ้นสุดขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเมื่อความชอบธรรมหมดสิ้นไปคืออะไร ที่พอจะเห็นได้ลางๆ คือ เมื่อความชอบธรรม ซึ่งเป็นอำนาจโน้มน้าวใจหมดสิ้นลง ก็เหลือแต่อำนาจบังคับซึ่งโหดร้ายทารุณ แต่ความโหดร้ายทารุณนั้นจะใช้ได้ตลอดไปหรือไม่ ไม่มีใครกล้าตอบ

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save