fbpx
คืนความเป็นอิสระให้ผู้พิพากษา คืนอำนาจตุลาการให้สังคม

คืนความเป็นอิสระให้ผู้พิพากษา คืนอำนาจตุลาการให้สังคม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“แม้ว่าความเป็นอิสระของตุลาการจะเป็นหลักประกันที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยปกปิดผู้พิพากษาจากการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณได้ด้วย”[1]

เมื่อบุคคลใดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะในฐานะของโจทย์หรือจำเลย ความคาดหวังว่าตนเองจะได้รับการตัดสินจากตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานซึ่งยากจะปฏิเสธในสังคมอารยะ การเอนเอียงหรือความไม่เป็นกลางของผู้ตัดสินย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าจะส่งผลต่อคำตัดสินที่เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินต้องเผชิญหน้ากับการคุกคาม หรือมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงในการทำหน้าที่ ปัญหาดังกล่าวย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะในบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนั้นๆ หากแต่ยังรวมไปถึงความเชื่อมั่นของสังคมโดยรวม

เพราะจะวางใจได้อย่างไรว่าหากวันหนึ่งที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วเราจะไม่ต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกัน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่การคุกคามต่อความเป็นอิสระจะเป็นปัญหาสำคัญที่ได้รับความสนใจ

กล่าวเฉพาะในสังคมไทย หลักการความเป็นอิสระดูราวจะจำกัดไว้อยู่แค่เพียงการปกป้องการแทรกแซงจากอำนาจของฝ่ายการเมือง และอาจรวมถึงการเรียกร้อง ‘ความเป็นธรรมด้านเงินเดือน’ ของฝ่ายตุลาการให้มากกว่าข้าราชการฝ่ายอื่นๆ

แต่ความเป็นอิสระของตุลาการมีความหมายกว้างขวางเพียงใด และลำพังเพียงความเป็นอิสระแต่เพียงอย่างเดียวจะสามารถสร้างความเที่ยงธรรมได้จริงหรือไม่

 

ความเป็นอิสระสองแง่มุม

 

โดยทั่วไปแล้ว ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ’ หมายถึงอำนาจอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการในการตัดสินคดีโดยการใช้กฎหมายเข้ามาพิจารณาข้อเท็จจริง ความเป็นอิสระนี้เกี่ยวข้องกับตุลาการทั้งที่เป็นในเชิงสถาบันและผู้พิพากษารายบุคคล[2]

ความเป็นอิสระเชิงสถาบันมีความหมายว่าฝ่ายตุลาการจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกแทรกแซงหรืออยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หากตุลาการต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจของทั้งสองฝ่ายย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน

สำหรับความเป็นอิสระเชิงส่วนตัว (หรือปัจเจกบุคคล) มีความหมายว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการแต่ละคนจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนไปบนฐานของการพิจารณาตัวบทกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน การคุกคาม การแทรกแซง การข่มขู่ ที่อาจมีผลให้การทำหน้าที่เบี่ยงเบนไป ซึ่งอาจปรากฏทั้งในแบบทางตรงหรือทางอ้อม

ทั้งนี้ กรณีของการแทรกแซงแบบตรงไปตรงมาอาจสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมากกว่า ขณะที่การแทรกแซงในทางอ้อมอาจเป็นประเด็นที่มีความยุ่งยากต่อการพิจารณาว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ และมักจะเป็นที่เข้าใจกันว่าการแทรกแซงต่อความเป็นอิสระในเชิงปัจเจกบุคคลจะเป็นผลมาจากบุคคลภายนอก แต่ความเป็นอิสระในลักษณะนี้มีความหมายรวมถึงความเป็นอิสระจากสมาชิกคนอื่นๆ ในฝ่ายตุลาการด้วย เช่น ฝ่ายตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงกว่า เป็นต้น

การให้ความสำคัญต่อหลักการความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ จึงนำมาซึ่งความพยายามในการออกแบบเชิงสถาบันหรือบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อทำให้หลักการดังกล่าวสามารถปรากฏผลขึ้นในความเป็นจริง โดยทั่วไปสิ่งที่ปรากฏในหลายประเทศก็คือ การออกแบบให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นเอกเทศออกไปจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การรับรองความเป็นอิสระในการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือลงโทษตุลาการเป็นสิ่งที่ฝ่ายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้

แต่ความเป็นอิสระในสองแง่มุมนี้ถือว่าเพียงพอสำหรับทำให้เกิดความไว้วางใจในคำตัดสินว่าจะมีความเที่ยงธรรมแล้วได้หรือไม่

นอกจากความเป็นอิสระในเชิงสถาบันและเชิงปัจเจกบุคคลแล้ว ในกรณีที่ตุลาการได้ทำหน้าที่ไปโดยไม่มีการแทรกแซงทั้งในเชิงโครงสร้างหรือการคุกคามจากฝ่ายอื่นใด แต่หากคำตัดสินดังกล่าวเป็นผลมาจากความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมืองแล้ว จะอธิบายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้อย่างไร

ดังกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ งานของ William J. Bowers and Glenn L. Pierce (1980) Deterrence or Brutalization: What is the effect of execution?[3] ศึกษาการลงโทษประหารในรัฐ Ohio และ Florida ระหว่าง ค.ศ. 1974-1977 พบว่าในคดีที่คนผิวดำถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนผิวขาวจะถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดจริงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนผิวขาวถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนผิวดำ (จำนวน 127 คดี) ไม่มีคนผิวขาวแม้แต่คนเดียวถูกตัดสินว่ากระทำความผิด งานชิ้นนี้ได้ให้ข้อสรุปว่าอคติทางชาติพันธุ์ที่ฝังลึกในความรับรู้ของผู้พิพากษา (deep-seated racial prejudices) มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อแนวทางคำตัดสินลักษณะดังกล่าวนี้ คำตัดสินในคดีต่างๆ เหล่านี้บังเกิดขึ้นภายใต้ความเป็นอิสระเชิงสถาบันและเชิงส่วนตัวของฝ่ายตุลาการ

แม้อาจมีข้อโต้แย้งว่าในสังคมไทยไม่มีอคติทางด้านผิวสีจึงไม่สามารถนำเอากรณีดังกล่าวมาเปรียบเทียบได้ แต่หากแทนที่ด้วยแง่มุมอื่นๆ ก็จะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันใช่หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นอคติทางชาติพันธุ์ สถานะทางเศรษฐกิจ เพศ หรือจุดยืนทางการเมือง เป็นต้น ก็ล้วนสะท้อนให้เห็นปัญหาบางประการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ฝ่ายตุลาการผู้ซึ่งทำหน้าที่จะมีความอิสระทั้งในเชิงสถาบันและในเชิงส่วนตัว กรณีข้อพิพาทที่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยที่ดำเนินมายาวนานมากกว่าทศวรรษก็มีการโต้แย้งอย่างกว้างขวางว่าผลในการตัดสินคดีนั้นสามารถคาดเดาได้จากการพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง

การดำรงอยู่อย่างเที่ยงธรรมของฝ่ายตุลาการจึงอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระเพียงอย่างเดียว การถูกตรวจสอบและความรับผิดจึงเป็นความสำคัญที่ต้องถูกพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

 

การตรวจสอบและความรับผิดของอำนาจตุลาการ

 

แม้ความเป็นอิสระจะเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน แต่ก็มิได้หมายความว่าความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจะเป็นสิ่งที่หลุดลอยออกไปจากสังคมอย่างสิ้นเชิง การตรวจสอบและความรับผิด (accountability) ก็เป็นหลักการสำคัญที่ดำรงอยู่เคียงคู่กันไปในสังคมแบบเสรีประชาธิปไตย

ในสังคมเสรีประชาธิปไตย อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในสามอำนาจสำคัญตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่ผู้ใช้อำนาจทั้งหมดก็ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับอำนาจสูงสุดในการปกครองซึ่งมาจากประชาชน แม้ว่าอำนาจตุลาการอาจไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนในลักษณะเช่นเดียวกันกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมักสะท้อนออกผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจตุลาการจะหลุดลอยจากประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง

หากกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่สุดประการหนึ่งก็คือ เมื่อฝ่ายตุลาการยังคงรับเงินเดือนและสวัสดิการที่มาจากภาษีของประชาชน ความเป็นอิสระจึงย่อมไม่อาจหมายความว่าจะล้วงเงินจากกระเป๋าเราได้โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ใดๆ กับประชาชนเลย

การยึดโยงฝ่ายตุลาการกับประชาชนมักปรากฏให้เห็นด้วยการให้ความเห็นชอบจากสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต่อผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายตุลาการ เช่น การให้ความเห็นชอบต่อผู้ดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุดโดยองค์กรนิติบัญญัติ เป็นต้น ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของฝ่ายตุลาการก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและให้ความเห็นชอบจากองค์กรอื่นที่สัมพันธ์กับประชาชน

ไม่ใช่เพียงการให้ความเห็นชอบต่อผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเพียงอย่างเดียว ในด้านของการตรวจสอบและความรับผิดต่อสังคมจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการไม่เห็นด้วยทั้งต่อการทำหน้าที่และคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการได้อย่างเสรี

ดังที่ได้ชี้ให้เห็นว่าในการตัดสินถูกผิดในแต่ละคดีนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว หากมีจุดยืนหรือความเข้าใจของผู้ตัดสินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นจากภายนอกจะเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการสร้างบทสนทนากับเหตุผลในคำตัดสินว่าคำพิพากษาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักวิชาและความเป็นไปในสังคมในห้วงเวลานั้นๆ หรือไม่ หรือยังคงมีอคติที่พ้นสมัยไปแล้วกำกับอยู่

การยอมรับเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อการทำงานของฝ่ายตุลาการและการแลกเปลี่ยนด้วยการใช้เหตุผลจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องได้รับการยอมรับ

ความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจทางวัฒนธรรมมาปิดปากผู้คนในการแสดงความคิดจะไม่ได้ช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ยิ่งใช้อำนาจในการปิดกั้นเพิ่มขึ้นก็จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ความเงียบที่เซ็งแซ่’ กว้างขวางขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางเหตุการณ์

ในห้วงเวลาที่สื่อสมัยใหม่แพร่กระจายไปจนยากเกินการควบคุม ความสามารถในการอธิบายด้วยเหตุผลต่างหากที่จะยังความน่าเชื่อถือให้บังเกิดขึ้นแก่ฝ่ายตุลาการ

แน่นอนว่าการแสดงความเห็นในที่นี้ย่อมมิได้หมายความถึงการปล่อยให้มีการใส่ร้ายป้ายสี หรือด่าพ่อล่อแม่ฝ่ายตุลาการอย่างคะนองปาก การกระทำเช่นนี้ควรเป็นสิ่งที่ต้องถูกห้ามด้วยอำนาจทางกฎหมายอย่างแน่นอน แต่ทั้งหมดต้องไม่รวมไปถึงการแสดงความเห็นหรือท่าทีบางอย่างที่อาจเพียงไม่เหมาะสมหรือไม่สุจริตในสายตาของฝ่ายตุลาการเท่านั้น เพราะเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเห็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมากกว่าซึ่งแน่นอนว่าย่อมผันแปรแตกต่างกันไปได้

 

ความเป็นอิสระที่หลุดลอยจากสังคม

 

ในท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตุลาการของสังคมไทย ดูราวกับว่าการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระจะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในขณะที่การตรวจสอบและความรับผิดกลับไม่ได้ถูกตระหนักถึงมากเท่าใด

ฝ่ายตุลาการในสังคมไทยมีความสัมพันธ์กับประชาชนรวมทั้งสามารถถูกตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด

หากพิจารณาถึงความยึดโยงระหว่างฝ่ายตุลาการกับประชาชนในสังคมไทย เท่าที่ปรากฏให้เห็นก็จะมีอยู่เพียงในคณะกรรมการตุลาการ (หรือ ก.ต.) อันเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของฝ่ายตุลาการ (รวมถึงการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา) องค์ประกอบของ ก.ต. มีจำนวน 15 คน โดย 12 คนมาจากการเลือกของบรรดาผู้พิพากษาด้วยกันเอง มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพียง 2 คน จากการคัดเลือกของวุฒิสภาและอีกหนึ่งคนคือประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

แม้ว่าจะมีบุคคลภายนอกร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกไม่ได้มีบทบาทหรือมีความสำคัญในการตัดสินใจแต่อย่างใด[4] อันหมายความว่าการตัดสินใจในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือพิจารณาความดีความชอบ ล้วนแต่อยู่ในมือของฝ่ายตุลาการเป็นสำคัญ

ท่าทีของธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาและองคมนตรี อาจช่วยให้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นถึงความหมายของความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ โดยเขามีความเห็นต่อ ก.ต. ที่เป็นบุคคลภายนอกว่า “เป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานของศาล ประเพณีปฏิบัติ และจริยธรรมเฉพาะทางของศาล” และการให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ผู้พิพากษามาดำรงตำแหน่งอันมีหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและตุลาการ “ย่อมเป็นการไม่ถูกต้องชอบธรรม ทั้งยังพิสดารขัดต่อสามัญสำนึก และขาดหลักประกันว่าคำวินิจฉัยของผู้ทรงคุณวุฒินี้จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ”[5]

ทั้งที่จะเห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ต. ก็เป็นจุดยึดโยงที่เบาบางอย่างมากระหว่างฝ่ายตุลาการกับประชาชน ทั้งในด้านของสัดส่วนที่เป็นเสียงข้างน้อยอย่างมากและในด้านที่มาซึ่งผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา ยิ่งในยุคสมัยที่วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ยิ่งแสดงถึงการหลุดลอยไปจากสังคมมากยิ่งขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยก็เผชิญความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น ในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้นแม้ว่าหลายการกระทำอาจไม่ใช่การขัดขวางต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาล อันถูกทำให้ตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์อันแท้จริงของความผิดในฐานนี้ว่าต้องการคุ้มครองสิ่งใดเป็นสำคัญ

แม้ว่าแต่เดิมความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในศาลยุติธรรม แต่ในภายหลังก็ได้มีการขยายขอบเขตให้รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลให้การแสดงความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเผชิญกับความผิดนี้ได้เช่นกัน ทั้งที่โดยพื้นฐานแล้วศาลแห่งนี้จะทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางการเมืองซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับการเห็นพ้องหรือเห็นต่าง

กรณีของ รศ.ดร.โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์ และคุณสฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งถูกเรียกให้ไปชี้แจงกรณีการแสดงความเห็นของตนเองต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ และติดตามมาด้วยการขออภัยทางสาธารณะก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจกระทบถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อฝ่ายตุลาการได้ไม่น้อย

ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการให้พ้นไปจากการแทรกแซง ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปเช่นเดียวกันก็คือ อำนาจของประชาชนในการตรวจสอบและการสร้างความรับผิดของฝ่ายตุลาการให้เกิดขึ้น

การสร้างความเป็นอิสระโดยปราศจากการตรวจสอบและการยึดโยงใดๆ ของอำนาจตุลาการก็อาจนำมาซึ่งความยุ่งยากในอีกรูปแบบหนึ่งที่พึงต้องตระหนักถึงด้วยเช่นกัน

 


[1] สมชาย หอมลออ และคณะ (บรรณาธิการ), หลักการสากลว่าด้วยความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้พิพากษา ทนายความ และอัยการ แนวทางสำหรับนักปฏิบัติลำดับที่ 1 (International Commission of Jurists, 2007) หน้า 67.

[2] สมชาย หอมลออ และคณะ (บรรณาธิการ), หลักการสากลว่าด้วยความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้พิพากษา ทนายความ และอัยการ, หน้า 28

[3] หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งช่วยชี้ให้เห็นความไม่เป็นกลางหากมีอคติทางชาติพันธ์เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญในการตัดสินลงโทษประหารในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี คือ Hugo Adam Bedau, The Death Penalty in America 3rd ed. (New York: Oxford University Press, 1982)

[4] เมธี ครองแก้ว, เสียงจากกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมคนนอก [ออนไลน์], 20 กุมภาพันธ์ 2559. แหล่งที่มา https://www.isranews.org/isranews-article/44961-methee.html

[5] สำนักข่าวอิศรา, องคมนตรีทำจดหมายถึงนายกฯ ค้านร่าง รธน. เปิดช่องแทรกศาล [ออนไลน์], 27 มิถุนายน 2558. แหล่งที่มา https://www.isranews.org/main-issue/39559-letter_39559.html

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save