fbpx
เมื่อผู้พิพากษาร่วมชุมนุมทางการเมือง สมชาย ปรีชาศิลปกุล

เมื่อผู้พิพากษาร่วมชุมนุมทางการเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ภายหลังจากที่คณะกรรมการตุลาการ (กต.) ได้มีความเห็นให้นางเมทินี ชโลธร ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 46 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ด้านหนึ่งก็เป็นที่น่ายินดีไม่น้อยเนื่องจากจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรมของไทย

แต่ในอีกด้านหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข้อมูลและภาพถ่ายซึ่งแสดงถึงกิจกรรมของ ‘ว่าที่ประธานศาลฎีกา’ ว่าได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. หรือ ‘ม็อบนกหวีด’ ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557

นับตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้เขียนได้พยายามติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางเท่าที่พอจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่พบการชี้แจงจากตัวบุคคลที่ตกเป็นข่าวว่าได้เข้าร่วมชุมนุมจริงตามที่มีการกล่าวถึงหรือไม่ อีกทั้งทาง กต. ก็ดูราวกับจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แต่อย่างใด เพราะไม่มีการให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการ (ข้อมูลดังกล่าวได้มีการเผยแพร่มาก่อนหน้าที่ กต. จะได้มีความเห็นชอบเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงคาดหมายได้ว่าน่าจะพอเป็นที่รับรู้กันในหมู่ตุลาการ) ซึ่งก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่ผู้พิพากษาสามารถกระทำได้ตามใจปรารถนา

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียนแล้วเห็นว่าประเด็นดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อฝ่ายตุลาการในฐานะขององค์กรที่ต้องทำหน้าที่ชี้ขาดข้อขัดแย้งต่างๆ อันหมายความรวมถึงปมประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันที่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และหลายเหตุการณ์ก็ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยของกระบวนการทางศาล

คำถามสำคัญของบทความนี้ก็คือ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสามารถที่จะเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองได้หรือไม่

 

“ไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใด”

 

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา นอกจากจะมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเฉกเช่นเดียวกันกับประชาชนแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ตำแหน่งของผู้พิพากษามีความแตกต่างจากงานราชการอื่นๆ เพราะต้องทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประชาชนด้วยกันเองหรือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวจะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมีความไว้วางใจของสาธารณะต่อการทำหน้าที่ของบุคคลในตำแหน่งนี้

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าการทำหน้าที่ของบุคคลผู้ชี้ขาดในปัญหาต่างๆ จะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต้องตั้งอยู่บนความเป็นกลางและดำเนินการชี้ขาดไปอย่างเป็นอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ความเป็นกลางและความเป็นอิสระนับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการที่จะให้เกิดความยุติธรรมอันเป็นที่ยอมรับให้บังเกิดขึ้น

เหล่า ‘บรรพตุลาการ’ ในสังคมไทยก็ตระหนักถึงเงื่อนไขดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ดังนั้น นอกจากบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายตุลาการ ก็ได้มีความพยายามในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้พิพากษา ซึ่งก็มีการได้จัดทำประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ โดยได้ออกมาใช้บังคับเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2529 ประมวลจริยธรรมฯ ได้กลายเป็นเสมือนหนึ่งคู่มือในการกำหนดแนวทางการดำรงตนให้ผู้พิพากษาได้ปฏิบัติตาม

ประมวลจริยธรรมฯ ได้ชี้เห็นถึงหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาก็คือ การตัดสินคดีต่างๆ ซึ่งจะกระทำอย่างซื่อสัตย์และเป็นอิสระ ดังได้บัญญัติไว้เป็นข้อแรก ดังนี้

“ข้อ 1 หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาคือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตน และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งตุลาการ”

โสภณ รัตนากร บรรพตุลาการคนหนึ่งได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับข้อกำหนดในส่วนนี้เพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผู้พิพากษาต้องทำให้ประชาชนเห็นด้วยว่าเขาได้รับความยุติธรรมโดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่ใช่ว่าตัวผู้พิพากษาคิดว่าได้ให้ความยุติธรรมแล้ว แต่ประชาชนยังเข้าใจว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้”[1] ความเห็นดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าคำตัดสินนั้นต้องทำให้คนในสังคมเห็นว่าเป็นไปอย่างยุติธรรม รวมทั้งในส่วนของการวางตัว โสภณ รัตนากร ก็ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า “เรามีคำพูดคำหนึ่งในวงการตุลาการว่า ผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริตแต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือไม่ให้มีเงาให้คนเขาสงสัยในความสุจริตด้วย”[2]

ทั้งนี้ ในประมวลจริยธรรมฯ นอกจากมีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการวางตัวในทางอรรถคดีแล้ว ก็ยังปรากฏจริยธรรมเกี่ยวกับกิจการอื่น ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยต่อการทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของเหล่าผู้พิพากษา ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตนของผู้พิพากษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองปรากฏอยู่ในหมวด 4 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

“ข้อ 33 ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ”

“ข้อ 34 ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง”

บทบัญญัติทั้งสองข้อย่อมเห็นได้อย่างประจักษ์ว่าผู้พิพากษาต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับบทบาทในทางการเมืองสิ่งที่ผู้พิพากษาจะกระทำได้ก็คือการใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งได้มีข้อห้ามว่าไม่ควรกระทำการอันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง

แม้ กปปส. จะไม่ใช่พรรคการเมืองในขณะนั้น แต่ย่อมไม่อาจปฏิเสธถึงความเป็นกลุ่มการเมืองได้อย่างแน่นอน เพราะมีการรวมตัว จัดตั้ง รวมถึงประกาศเจตนารมณ์ในทางการเมือง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ เป้าหมายสำคัญในการเคลื่อนไหวของ กปปส. ประการหนึ่งก็คือ การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น หากผู้พิพากษาคนใดเข้าร่วมในการร่วมเป่านกหวีดและเป็นส่วนหนึ่งของการขัดขวางการเลือกตั้ง ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมฯ อย่างชัดเจน

 

คดีสองสีที่แตกต่าง

 

ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการตัดสินคดีการเมืองสำคัญสองคดีเกิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกัน คดีหนึ่ง ผู้ที่ตกเป็นจำเลยคือกลุ่ม กปปส. ที่ได้เคลื่อนไหวขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2557 อีกคดีหนึ่ง จำเลยได้แก่แกนนำเสื้อแดง ซึ่งได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งไปปิดล้อมบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (องคมนตรีในขณะนั้น) คำตัดสินทั้งสองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาของคนจำนวนไม่น้อยต่อความเป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม โดยคดีทั้งสองมีรายละเอียดดังนี้

คดีที่หนึ่ง

18 มิถุนายน 2563 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 8 ผู้ชุมนุม กลุ่ม กปปส. ขวางเลือกตั้งล่วงหน้าเขตทุ่งครุ สั่งปรับ 2 หมื่น แกนนำสั่งขวางตัดโซ่คล้องปิดประตู สำนักงานเขตทุ่งครุ[3]

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 จำเลยสิบคนร่วมกันนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ประมาณ 50 คน ไปปิดล้อมทางเข้าสำนักงานเขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นที่เลือกตั้งกลาง อันเป็นสถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป จำเลยกับพวกร่วมกันนำรถไปจอดหน้าสำนักงาน พากันไปยืนและนั่งขวางหน้าประตู ใช้โซ่ขนาดใหญ่คล้องบานประตูทางเข้าออก ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าไปในสำนักงานเขตทุ่งครุได้

ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท โทษจำคุก 1 ปี ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ส่วนที่เหลือจำนวน 8 คนยกฟ้อง

คดีที่สอง

26 มิถุนายน 2563 ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก 5 แกนนำ นปช. คดีบุกบ้านป๋าเปรม 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา[4]

คำตัดสินดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 แกนนำและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าวมีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ นายนพรุจ ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

ศาลฎีกาตัดสินให้ลงโทษจำเลยอันประกอบด้วยนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยตัดสินจำคุกจำเลยทั้งหมดคนละ 2 ปี 8 เดือน

ทั้งสองคดีนี้ได้ถูกตัดสินในเวลาใกล้เคียงกันและได้กลายเป็นคดีที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกันในสื่อมวลชนหลายแห่ง พร้อมกับการตั้งคำถามว่าระหว่างการขัดขวางการเลือกตั้งอันถือเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยกับการปิดล้อมบ้านพักองคมนตรี การกระทำแบบใดที่ควรถือเป็นความผิดที่ควรได้รับโทษรุนแรงมากกว่ากัน

แน่นอนว่ามีหลายละเอียดและข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันอย่างมากในทั้งสองคดีนี้ แต่ผลลัพธ์ซึ่งเกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลก็ได้กลายเป็นข้อสงสัยและประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ การเลือกข้างทางการเมืองของบุคคลที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม การแสดงตัวของผู้พิพากษาระดับสูงท่ามกลางการชุมนุมของ กปปส. ก็ย่อมกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนสามารถตั้งข้อสงสัยได้อย่างไม่ยากลำบาก

ถึงจะไม่ใช่ผู้ตัดสินคดีนั้นด้วยตนเอง แต่ในฐานะของผู้พิพากษาระดับสูงก็อาจถูกตั้งข้อสงสัยได้ถึงอิทธิพลที่มีต่อแนวทางการวินิจฉัยคดี แม้ว่าการตัดสินลงโทษที่เกิดขึ้นในคดีทั้งสองนั้นอาจจะเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นจริงก็ตาม

 

“ต้องไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต”

 

ประมวลจริยธรรมฯ ถูกประกาศใช้ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้กับผู้พิพากษาเพื่อทำให้สถาบันตุลาการสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้อย่างอิสระและยุติธรรม ทั้งนี้ เมื่อมีข้อมูลซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษาได้ปฏิบัติตนขัดต่อข้อกำหนดในประมวลจริยธรรมฯ ก็เป็นสิ่ง กต. ควรจะต้องให้คำตอบต่อสาธารณชนให้เป็นที่กระจ่างเพื่อ “ไม่ให้มีเงาให้คนเขาสงสัยในความสุจริต”

ในเบื้องต้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้อมูลและภาพที่เผยแพร่นั้นเป็นความจริงหรือไม่ หากไม่เป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ทั้งทางว่าที่ประธานศาลฎีกาและ กต. ควรจะได้มีคำตอบออกมาอย่างชัดเจน อันจะทำให้ไม่เกิดข้อสงสัยต่อการวางตัวของผู้พิพากษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่กำลังจะดำรงตำแหน่งสูงสุดของศาลยุติธรรม

ในอีกด้านหนึ่ง หากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาถึงการเข้าร่วมชุมนุมกับทาง กปปส. ของว่าที่ประธานศาลฎีกาเป็นความจริงแล้ว ก็สมควรที่ทาง กต. จะต้องให้คำตอบว่ามีความเห็นต่อการกระทำดังกล่าวนี้อย่างไร ซึ่งอาจมีคำตอบไปได้อย่างน้อยในสองด้านด้วยกัน

หนึ่ง ถ้าเห็นว่าข้อกำหนดในประมวลจริยธรรมฯ ยังมีความสำคัญต่อการกำหนดแนวทางในการวางตัวของผู้พิพากษา เมื่อมีบุคคลที่ฝ่าฝืนก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพิจารณาและให้ความเห็นต่อการกระทำเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเหล่าผู้พิพากษาในปัจจุบันยังคงยึดมั่นต่อแนวทางที่บรรพตุลาการได้กำหนดไว้

สอง ถ้าเห็นว่าผู้พิพากษาสามารถเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองได้ก็แสดงให้เห็นว่าประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าวไม่มีความสำคัญในการกำหนดแนวทางปฏิบัติตนของผู้พิพากษาก็ควรที่จะต้องยกเลิกประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าวไป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดของสาธารณชนรวมถึงนักเรียนกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายซึ่งต่างเข้าใจกันว่าประมวลจริยธรรมฯ คือข้อกำหนดสำคัญในการปฏิบัติตนของผู้พิพากษาในปัจจุบัน

รวมทั้งควรจะต้องมีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าผู้พิพากษาสามารถเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเป่านกหวีดหรือการชูสามนิ้วก็ตาม

 

 


[1] โสภณ รัตนากร, “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : ตุลาการ” ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส (บรรณาธิการ), รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2548) หน้า 159

[2] เพิ่งอ้าง

[3] ยกฟ้อง! 8 กปปส. ก่อม็อบขวางเลือกตั้ง ส่วนแกนนำ เจอแค่โทษปรับ

[4] ฎีกายืนจำคุก 5 แกนนำ นปช.บุกบ้านป๋าเปรม 2 ปี 8 เดือน ส่งเข้าเรือนจำ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save