fbpx
‘สื่อเกิดขึ้นมาทำไม’ เมื่อคำถามเก่าๆ คือทางออกของสื่อยุคใหม่ กับ พรรษาสิริ กุหลาบ

‘สื่อเกิดขึ้นมาทำไม’ เมื่อคำถามเก่าๆ คือทางออกของสื่อยุคใหม่ กับ พรรษาสิริ กุหลาบ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์,ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

‘journalism is the first draft of history’ วารสารศาสตร์คือร่างแรกของประวัติศาสตร์ เป็นคำพูดที่นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคนหนึ่งเคยว่าไว้ และใจความทำนองนี้นี่แหละที่ทำให้เยาวชนบางคนเลือกฝากความฝันไว้ที่อาชีพสื่อ อาจเคยได้ยินใครบอก เคยเห็นจากภาพยนตร์ เคยเห็นนักข่าวนักเขียนในดวงใจแสดงให้เราเห็นว่า พลังของสื่อเสริมพลังของความจริง บทบาทของสื่อทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขา เดินหน้าสังคมเล็กๆ ของเรา และบางครั้งก็สั่นสะเทือนโลก

แต่ในที่สุด กาลเวลา การพัฒนาของเทคโนโลยี และสถานการณ์สังคมที่ยากขึ้นทุกวัน ได้ทำให้ใจความฮึกเหิมเหล่านั้นถูกบดบังด้วยใจความ ‘วารสารศาสตร์กำลังจะตาย’ ‘สื่อไปไม่รอด’ ‘ไม่มีใครทำอาชีพนี้กันแล้ว’ พร้อมกันกับภาพสื่อหลายแห่งทยอยปิดตัว ย้ายแพลตฟอร์ม หนีตายทุกวิถีทางอย่างเร่งเร้าและรวดเร็ว ในมหาวิทยาลัย สาขาวิชาวารสารศาสตร์ ก็ยังกลายเป็นสาขาที่คนเรียนน้อยลงทุกวัน — ทุกวัน

ในภาพที่หลายคนอาจมองว่าถดถอย ยังมีสื่อจำนวนมากกัดฟันสู้ เยาวชนอีกหลายคนกัดฟันฝัน และเพราะเช่นนั้น การทบทวนสถานการณ์สื่อปัจจุบัน การเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพ และการปรับตัวของการเรียนการสอน อาจขยายให้เราเห็นหนทางรอด

อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งคนที่ร่วมยืนและคอยสังเกตเส้นทางรอดที่เราฝันถึง ด้วยบทบาทอาจารย์ที่สร้างนักวารสารศาสตร์รุ่นใหม่สู่สังคม

เธอพาเราย้อนกลับไปยังจุดแรกเริ่ม สื่อเกิดขึ้นมาทำไม บทบาทหน้าที่ของสื่อคืออะไร พร้อมกันนั้น เธอชวนให้เราสังเกตปรากฏการณ์ ความท้าทายใหม่ๆ ที่พุ่งตรงมายังสื่อยุคปัจจุบัน และแนวทางการเป็นนักวารสารศาสตร์ ที่ไม่ได้มีแค่ทักษะ แต่รวมไปถึงความรู้และทัศนคติของคนสื่อ

ทั้งหมดนี้เพราะ ‘วารสารศาสตร์ต้องรอด’

 

พรรษาสิริ กุหลาบ

 

วงการวารสารศาสตร์ในวันนี้อยู่ในบรรยากาศแบบไหน มีอะไรบ้างที่เป็นความหวังให้คนที่จะมาเป็นสื่อ หรือคนในสังคมบ้าง

สิ่งที่เป็นความหวัง และน่าจะจุดประกายไฟให้นักสื่อสารมวลชน กระทั่งสังคมของเรา คือการมีองค์กรสื่อขนาดเล็ก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่สามารถเปิดพื้นที่ทางความคิดให้กับสังคม และสามารถคิดประเด็นที่แตกต่างหรือต่อยอดไปจากที่สื่อกระแสหลักรายงาน

ประเด็นที่สื่อกระแสหลักรายงานมักจะเป็นกระแสรายวันหรือเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน เพราะเป็นพันธกิจของเขา และเขาอาจมองว่าต้องเกาะกระแส เมื่อสื่อกระแสหลักไม่สามารถตกตะกอนปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ สื่อขนาดเล็กก็เข้ามาทำหน้าที่ พยายามวิเคราะห์ด้วยสายตาที่ลึกซึ้ง และมองในมิติอื่นๆ เพื่อหาความหมายของปรากฏการณ์เหล่านี้ ที่ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบลง

นอกจากเปิดพื้นที่ให้ประเด็นและมุมมองใหม่ๆ แล้ว ข้อดีอีกอย่างก็คือ สื่อเล็กเหล่านี้กลายเป็นสื่อที่เยาวชนติดตาม คนรุ่นใหม่จึงได้รับมุมมองที่แตกต่างจากเดิม ทำให้เขาคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดเองก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของสื่อท้องถิ่นอย่าง ‘เดอะอีสานเรคคอร์ด’ (The Isaan Record) หรือ ‘เดอะอีสานเด้อ’ (The Isaander) ที่พยายามเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในท้องถิ่น ต่างไปจากสื่อชุมชนแบบเดิมที่มีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ สื่อออนไลน์ขนาดเล็กในต่างจังหวัดได้สร้างทั้งพื้นที่ใหม่และภาพจำใหม่ อย่างน้อยคนในภูมิภาคอื่นๆ หรือคนในเมืองกรุงที่มีภาพจำบางอย่างต่อท้องถิ่น ก็สามารถเห็นภาพที่แตกต่างออกไปจากที่สื่อกระแสหลักรายงานได้ ในขณะเดียวกันเราจะได้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ภูมิภาค หรือในชุมชน มันเป็นเรื่องเดียวกัน ผูกโยงเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างและแนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตย ทำให้คนเห็นว่าเราไม่ได้อยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเดียวดาย เวลาจะแก้ปัญหาก็สามารถหาแนวร่วมจากคนในภูมิภาคอื่น หรือต่อกันติดผ่านประเด็นเหล่านี้ได้

ส่วนสื่อกระแสหลัก แม้ว่าจะพยายามเกาะกระแสสังคมเป็นหลัก แต่ในบางสถานการณ์ สื่อหลายสำนักก็พยายามผลิตผลงานให้มากไปกว่าการรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามอธิบายว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เรามองในมุมอื่นได้อย่างไรบ้าง ผลกระทบต่อสังคมในมิติต่างๆ เป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้อาจไม่ได้เห็นในรายงานข่าวรายวัน แต่อาจปรากฏในรายงานพิเศษ สกู๊ป หรือรายการสารคดี อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากคนทำรายงานข่าวเชิงลึกก็คือการทำเนื้อหาเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้ทั้งเวลาและต้นทุน ทำแล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะมีคนดูมากน้อยขนาดไหน พอไม่มีคนดูก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจกับผู้บริหารสื่อ โดยเฉพาะที่เป็นองค์กรธุรกิจได้ว่างานที่ทำออกมามีผลกระทบ (impact) จริงๆ หรือมีคนดูจริงๆ ท้ายที่สุด แม้จะมีความพยายามอยู่เรื่อยๆ ก็ยังติดกับดักเรื่องวิธีการวัดผลเชิงการตลาด อย่างเรตติ้ง โฆษณา การมีส่วนร่วมของผู้ชม หรือ engagement อยู่ดี

 

เมื่อสื่อบอกว่า “ทำไมจะไม่อยากทำงานคุณภาพดี แต่มีข้อจำกัดเยอะเหลือเกิน จึงทำไม่ได้” เราควรมองเรื่องนี้อย่างไร คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหานี้เป็นใครบ้าง

ทุกคนเลยค่ะ ทั้งสื่อและประชาชน แต่ก่อนเรามักจะเรียกร้องร้องกับสถาบันสื่อ ไม่ใช่แค่องค์กร แต่เป็นคนที่ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนทั้งปวงว่า สถาบันสื่อต้องต่อสู้กับรัฐและนายทุนเพื่อให้สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพได้ ซึ่งเราก็เรียกร้องอย่างนั้นมาหลายสิบปีแล้ว เห็นกันอยู่ว่าได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง มีบางจังหวะที่สื่อสามารถนำเสนอประเด็นเชิงลึกหรือประเด็นที่เป็นปัญหาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองและอุดมการณ์อย่างรุนแรงในปัจจุบัน

เราต้องย้อนกลับมาดูว่า สถาบันสื่อเกิดขึ้นมาทำไม โดยเฉพาะสื่อวารสารศาสตร์ หรือสื่อที่นำเสนอข้อเท็จจริง คำตอบคือ เพราะสังคมต้องการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ถูกต้องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการสะกดคำให้ถูกเท่านั้น แต่หมายถึงการตรวจสอบสิ่งที่แหล่งข่าวพูดว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เนื้อหานั้นมาจากหลักฐาน วิธีคิด และการใช้เหตุผลแบบไหน

คนในสังคมต้องการข้อมูล เพราะจะได้เอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการดำรงชีวิต ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่สุดอย่าง วันนี้ฉันจะหาหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 หรือหน้ากากอนามัยได้จากที่ไหน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการตัดสินใจว่า รัฐธรรมนูญควรจะถูกแก้ในประเด็นไหน แก้แล้วจะส่งผลกับชีวิตคนอย่างไรบ้าง

ถามว่าไม่มีสถาบันอื่นหรือที่ทำหน้าให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ก็มี ที่จริงสถาบันหลักที่ควรให้ข้อมูลเหล่านี้คือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา ในฐานะที่ได้รับอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด แต่เราก็พบว่าเขาไม่ได้ให้ข้อมูลกับเราทุกอย่าง บางทีก็อ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ เรื่องความเป็นระเบียบของสังคมหรือศีลธรรมอันดี ทำให้ประชาชนมีข้อมูลจำกัด สถาบันอื่นๆ เช่น สถาบันวิชาการและสถาบันการศึกษาบางครั้งก็ให้ข้อมูลที่อาจจะอ่านยาก ย่อยยากสำหรับประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถสื่อสารไปถึงทุกภาคส่วนในสังคมได้ ดังนั้นสถาบันสื่อจึงต้องทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ออกไป คอยตรวจสอบหรือตรวจทานข้อมูลที่ได้รับมาว่าจริงหรือไม่ เป็นข้อมูลที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือทำให้ชีวิตเขาพัฒนาไปในทางใดทางหนึ่งหรือเปล่า

การที่ ‘เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน’ ก็เพราะประชาชนต้องมีเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คิดเห็นอะไรก็สามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ในการสื่อสารไปยังรัฐ หรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมได้ สื่อจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในการสื่อสาร และส่งเสริมสิทธิในการสื่อสาร สถาบันสื่อจึงถูกคาดหวังให้มีหน้าที่นำข้อมูลที่สำคัญมาให้ประชาชน เพราะคุณเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงของพวกเขา

ขณะเดียวกันก็ต้องถามประชาชนว่า ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับจากองค์กรสื่อ มีคุณภาพแค่ไหน เป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเราหรือแค่ตอบสนองความเชื่อความคิดของเราเท่านั้น แล้วประโยชน์ในที่นี้ยังรวมถึงการปลอบประโลมจิตใจ จรรโลงใจด้วย ถ้าประชาชนยังรู้สึกว่าสิ่งที่ได้จากองค์กรสื่อต่างๆ ไม่มีคุณภาพพอที่จะทำให้ชีวิตเราพัฒนา ไม่มากพอให้ตัดสินใจ ไม่ทำให้มีความสุขหรือความหวังในการใช้ชีวิต ประชาชนก็ต้องมีบทบาทในการเรียกร้อง เราต้องการสื่อแบบไหน ก็ต้องเรียกร้องที่จะได้สื่อแบบนั้น

เมื่อประชาชนรู้ว่าตนต้องการข้อมูลข่าวสารแบบไหน ก็จะเห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นอกจากสถาบันสื่อ ที่จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาพื้นที่การสื่อสารจะเป็นใครได้บ้าง และจะช่วยทำให้สื่อดีขึ้นได้ยังไง

 

สื่อที่เน้นสนุกและจรรโลงใจจะได้รับความนิยมอย่างมาก แปลว่าคำตอบของยุคนี้คือประชาชนต้องการความสนุกหรือเปล่า

สื่อมักจะอ้างว่าประชาชนต้องการสนุก เราก็เลยทำสนุกๆ อย่างในรายการเล่าข่าว มักจะมีข้อความจากคนดูว่าสนุกจังเลย เข้าใจง่าย มันก็ดี แต่เรายังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วนี่คือภาพใหญ่ทั้งหมดหรือเปล่า ประชาชนอยากได้แค่นี้จริงๆ หรือมีประชาชนกลุ่มอื่นที่ต้องการอะไรมากกว่านี้

ทุกวันนี้มีกลุ่มก้อนทางสังคมมากมาย ถ้าเราดูโทรทัศน์บางช่อง เราอาจจะเห็นผู้ชมแบบหนึ่ง ถ้าอยู่ในทวิตเตอร์ก็จะเห็นการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง ถ้าอยากจะรู้จริงๆ ว่าประชาชนต้องการอะไร และสื่อควรจะต้องทำตัวยังไง เราคงต้องการชุดข้อมูลที่มากกว่านี้ และไม่สามารถวัดความต้องการของประชาชนจากการวัดผลในเชิงธุรกิจหรือการตลาดได้อย่างเดียว เรตติ้ง ยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอด engagement อาจบอกอะไรเราได้ก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่ถ้าเราไม่คุยกับผู้ติดตาม เราอาจไม่ทราบ ส่วนตัวคิดว่าอาจจะต้องมีการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านี้เรื่อยๆ เพื่อที่จะปะติดปะต่อว่า ตกลงแล้วประชาชนกลุ่มต่างๆ ต้องการอะไรกันแน่

หากประชาชนบอกว่าอยากได้สื่อบันเทิง เอาสนุก ก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่สื่อและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต้องกลับมาคิดว่า สนุกอย่างเดียว ดราม่าอย่างเดียวได้หรือ เนื้อหาของเราจะทำให้เขาใช้ชีวิตได้ดีขึ้นหรือ สังคมเราจะพัฒนาได้หรือหากคนต้องการแค่นี้ นอกจากนี้ การที่เขาต้องการความบันเทิงไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเรื่องไร้สาระ เขาอาจจะต้องการความบันเทิงในวิธีการเล่าเรื่องก็ได้ นี่เป็นความท้าทายของนักวารสารศาสตร์รุ่นใหม่ ว่าจะเล่าเรื่องยากๆ ให้คนที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านนั้นๆ มาก่อนเข้าใจได้อย่างไร สื่อวารสารศาสตร์ทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงก็จริง แต่ก็ต้องนำเสนอในแบบที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าน่าอ่าน น่าติดตาม ต้องอ่าน ขณะที่เนื้อหาไม่คลาดเคลื่อนบิดเบือนจากข้อเท็จจริง หรือนำเสนอความจริงเพียงส่วนเดียว

 

นอกจากความท้าทายเรื่องคุณภาพแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความเป็นดิจิทัลเข้ามาอีก ในช่วงหนึ่งเราเห็นความพยายามของสื่อในการย้ายแพลตฟอร์ม และปรับเนื้อหาให้เข้ากับแพลตฟอร์มนั้นๆ อย่างจ้าละหวั่น จริงๆ แล้วในยุคดิจิทัลเช่นนี้ คนทำงานสื่อควรเดินต่ออย่างไร

digital disruption เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเยอะ ถามว่ามันเป็นความท้าทายของคนทำงานสื่อไหม ก็คิดว่าเป็น เพราะไม่ว่าเฟซบุ๊กจะเปลี่ยนอัลกอริทึม หรือทวิตเตอร์จะยกเลิกปุ่มนั้นปุ่มนี้ขึ้นมา ก็ทำให้วิธีการนำเสนอและการเข้าถึงผู้รับสารของเราเปลี่ยนแล้ว แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดสิ่งที่สื่อควรจะยึดไว้คือการนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมีคุณภาพให้กับประชาชน ถ้าเราเล่นเกมตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพียงอย่างเดียว เราอาจหลงลืมว่าจริงๆ เราจะสื่อสารเรื่องอะไร กับใคร เพื่ออะไร

หากเราไม่สามารถจะชนะได้ในทุกเกม ไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาในวงกว้างได้ ก็ต้องเลือกจุดยืนว่าคนกลุ่มไหนที่เราจะสื่อสารด้วยตอนนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเพื่อให้เขานำข้อมูลไปตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพที่สุด เลือกทีละสเต็ปก็ได้ ตอนนี้เลือกกลุ่มนี้ก่อน เวลาต่อมาค่อยเลือกอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะข้อดีของเทคโนโลยีช่วยให้เรานำเสนอได้หลายรอบอย่างไม่จำกัดอยู่แล้ว ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกอะไร

 

อีกความท้าทายของวงการสื่อที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ คือเรื่องเฟคนิวส์ โจทย์ยากของประเด็นนี้คือมันเกี่ยวข้องกับวิจารณญาณในการรับสื่อของผู้คนด้วย แต่ครั้นจะบอกว่าไม่ใช่ปัญหาของสื่อ ก็ไม่ถูกต้อง สื่อจะเอาชนะข้อมูลเท็จที่มีมากมายในปัจจุบันอย่างไร

ยิ่งในยุคที่มีข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ถูกปล่อยมาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างเยอะมากๆ นักวารสารศาสตร์ยิ่งต้องทำงานหนักเพื่อกลั่นกรองว่า เป้าประสงค์ของการสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นคืออะไร การบอกว่าข้อมูลนี้จริงไม่จริง ถูกไม่ถูก อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเขาต้องปล่อยข้อมูลเท็จแบบนี้ออกมา เขาจะได้รับผลประโยชน์อะไร เช่น ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถือว่ามีความคิด ‘climate change denial’ หรือไม่เชื่อว่าภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเกิดจากฝีมือมนุษย์ นักข่าวบางส่วนอาจจะออกมาบอกว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดไม่จริง แต่มันไม่พอ เพราะยังมีคนที่พร้อมเชื่อหรือสนับสนุนทรัมป์โดยไม่แคร์ว่านี่คือเรื่องจริงหรือไม่ ดังนั้น สื่อควรจะอธิบายว่า ทำไมทรัมป์ต้องพูดแบบนี้ อาจเพราะผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของทรัมป์เป็นนายทุนแวดวงธุรกิจน้ำมัน หรือเหมือง ที่หากินกับทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของคนในพื้นที่ ทรัมป์อาจจะไม่ได้เชื่อสิ่งที่ตัวเองพูด แต่เขาต้องเอาใจคนเหล่านี้เพื่อได้แรงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่เป็นสิ่งที่นักวารสารศาสตร์ควรจะเปิดเผยกับสังคมให้ได้

ดังนั้นในยุคนี้ เรายิ่งต้องการนักวารสารศาสตร์ที่คิดวิเคราะห์เยอะ รู้ว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร รู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ของข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมา อย่าท้อค่ะ ยิ่งสังคมขัดแย้งกันหรือต่อสู้กันขนาดนี้ เรายิ่งต้องการข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แม้จะไม่สามารถทำให้คนตระหนักได้ในวันนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ มันจะอยู่ในพื้นที่อินเทอร์เน็ตที่คนค้นหาได้เสมอ ส่วนข้อมูลเท็จที่ปรากฏอยู่ เราก็ต้องใช้เทคนิคอื่นๆ สู้ เช่น ทำยังไงให้คนเสิร์ชเจอเนื้อหาของเราก่อนข้อมูลเท็จ เป็นต้น

 

พรรษาสิริ กุหลาบ

 

ช่วง 2-3 ปีก่อน ประเด็น ‘วารสารศาสตร์ตายแล้ว’ เป็นเรื่องยอดฮิตที่คนพูดถึง คุณคิดว่าวันนี้เราพ้นยุคนั้นหรือยัง มีคำตอบหรือทางรอดใหม่ๆ โผล่มาให้เห็นบ้างไหม   

อาจจะตอบคำถามนี้ได้ไม่ดีเท่าคนที่เป็นนักวิชาชีพ แต่ก็คิดว่าโมเดลประกอบการแบบองค์กรสื่อเล็กๆ ที่เลือกเป้าหมายในการสื่อสาร ตั้งประเด็นที่จะสื่อสารให้ชัดเจน จะทำให้องค์กรสื่อคล่องตัวมากขึ้นในสถานการณ์อุตสาหกรรมตอนนี้ การสร้างองค์กรสื่อใหญ่นั้นมีต้นทุนเยอะ ถ้าทุนไม่หนาจริงอาจจะลำบาก เพราะสื่อไม่ใช่ธุรกิจที่จะถอนทุนคืนได้ในเร็ววัน ขณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทุนเยอะ ก็ต้องรับมือกับปัจจัยแทรกแซงไม่น้อยที่อาจทำให้เป็นอิสระจากอำนาจทุนและรัฐได้ยาก

สิ่งที่สังเกตเห็นได้จากองค์กรสื่อเล็กๆ คือ เขาไม่ได้ผลิตเนื้อหาอย่างเดียว แต่มีงานอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันด้วย เช่น การเรียบเรียงเนื้อหาให้กับองค์กรอื่นๆ แต่ต้องมีจุดยืน หากไปรับงานจากหน่วยงานรัฐหรือภาคธุรกิจต่างๆ ก็ต้องมีเส้นแบ่งว่าเป็นงานลักษณะไหน ท้ายที่สุดแล้วเดิมพันขององค์กรวารสารศาสตร์คือความน่าเชื่อถือ หากองค์กรรับงานทุกงานโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือผู้ว่าจ้าง ไม่สามารถแปะป้ายว่าอันไหนคืองานโฆษณา (advertorial) หรือเนื้อหาที่ได้รับเงินสนับสนุน (branded/ sponsored content) หรือไม่สามารถสื่อสารเส้นแบ่งนี้กับ ‘ลูกค้า’ ได้ ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรลดลง

ปรากฏการณ์ที่องค์กรสื่อวารสารศาสตร์ต้องทบทวนโมเดลในการประกอบการ สะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ข้อมูลข่าวสารไม่ใช่ของฟรี และของฟรีที่ดีไม่ได้มีอยู่เสมอ ถ้าอยากได้ของดีมีคุณภาพ ผู้บริโภคก็ต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นทั้งสื่อและสังคมก็จะติดกับอยู่ในวังวนของงบโฆษณา กับการหาเรตติ้ง และยอด engagement ที่ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ

ส่วนตัวยังไม่ได้ศึกษามากในเรื่องนี้ และไม่แน่ใจว่าควรจะมองว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) หรือสินค้าทั่วไปที่ใครจ่ายอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

สิ่งที่เราต้องทบทวน หากข้อมูลข่าวสารกลายเป็น ‘สินค้าทั่วไปที่ใครจ่ายอย่างไรก็ได้อย่างนั้น’ คืออะไร

การมองว่างานวารสารศาสตร์เป็นสินค้าทั่วไปที่จ่ายอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น อาจเหมาะกับกลุ่มคนที่มีรายได้พอสมควรและเลือกได้ว่าตนจะจ่ายให้กับสินค้าอะไร ดังนั้น วิธีสมัครสมาชิก ระบบ paywall หรือแม้กระทั่งการบริจาค อาจได้ผลกับคนกลุ่มนี้ที่ต้องการข้อมูลคุณภาพที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตนเอง แต่ถ้าใช้วิธีคิดนี้มาจัดการระบบตลาดของข่าวสาร แสดงว่ากลุ่มคนที่ไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายก็อาจจะเข้าไม่ถึงข่าวสารที่มีต้นทุนสูงและมีคุณภาพ ทำให้เขาไม่ได้รับข้อมูลที่จำเป็นหรือสร้างความเพลิดเพลินในการใช้ชีวิต และขาดอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิต กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลข่าวสาร

ทางออกหนึ่งที่คิดได้ตอนนี้คือการที่ไทยมีองค์กรสื่อสาธารณะที่ผลิตข่าวสารเป็นสินค้าสาธารณะ ซึ่งในที่นี้คือข้อมูลคุณภาพให้คนทั่วไปเข้าถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อให้เขาได้มีข้อมูลเพียงพอ มีอำนาจในการกำหนดการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและสังคมได้ แต่นั่นหมายความว่า ต้องทำให้คนทั่วไปเข้าถึงสินค้าสาธารณะนี้ได้ เหมือนน้ำประปา ไฟฟ้า การศึกษา หรือบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ที่ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ควรได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพเหมือนกัน

และหมายความว่า งบประมาณสำหรับสื่อสาธารณะต้องมีเพียงพอทั้งสำหรับการผลิตสื่อและการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มสังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีการวางเครือข่าย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้หน่วยบริการสาธารณะอื่นๆ นำข้อมูลข่าวสารไปเผยแพร่ต่อให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงได้ และที่สำคัญต้องมั่นอยู่บนฐานคิดที่ว่าสื่อบริการสาธารณะ (public service media) ไม่ใช่ ‘สื่อของรัฐ’ (state media)

ศาสตราจารย์ Robert McChesney ซึ่งศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อเคยเสนอแนวคิดให้รัฐบาลอเมริกันให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานสื่อ (subsidise) ตอนที่สังคมอเมริกันเริ่มถกเถียงกันเรื่อง ‘วารสารศาสตร์กำลังจะตาย’ เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมต้องได้รับข้อมูลข่าวสารคุณภาพจากองค์กรสื่อคุณภาพ แต่ก็ถูกอภิปรายเยอะเพราะความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐ ขณะที่ในไทย สถานการณ์ปัจจุบันและที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า องค์กรสื่อของรัฐ องค์กรสื่อที่มีสายสัมพันธ์ทั้งเชิงอุดมการณ์และเชิงธุรกิจกับรัฐ รวมถึงการใช้งบประมาณภาครัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็เพิ่มความเสี่ยงในการถูกแทรกแซงหรือได้รับอิทธิพลในการรายงานข่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น ตัวเองจึงยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเรื่องนี้นอกจากจะบอกว่าเราคงต้องทดลองหาโมเดลประกอบการใหม่ๆ และประเมินผลการใช้ไปเรื่อยๆ

 

ในต่างประเทศ มีวิธีการเอาตัวรอดอะไรที่พอยกเป็นตัวอย่างให้สื่อไทยเรียนรู้ได้บ้าง

ในตะวันตก อุตสาหกรรมสื่อก็ยังพอเอาตัวรอดได้บ้างด้วยระบบสมาชิกหรือการรับบริจาค ในบ้านเราโมเดลนี้ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีเลย

ในสหรัฐอเมริกา นิตยสารข่าวหัวก้าวหน้าชื่อ Mother Jones บอกว่ารายได้กว่าครึ่งมาจากการสนับสนุนของผู้อ่านในรูปแบบต่างๆ ทั้งระบบสมาชิกและการบริจาคจากผู้อ่าน ขณะที่รายได้จากโฆษณามีเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ สำหรับองค์กรอื่นๆ ที่การสนับสนุนจากผู้อ่านไม่ใช่รายได้หลัก อย่าง NPR (National Public Radio) ก็มีคนบริจาคแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนคนฟังเป็นล้าน แต่องค์กรยังอยู่ได้เพราะเขาก็ได้รับทุนจากแหล่งทุนที่เป็นมูลนิธิด้วย หรืออย่างกรณีของนิตยสาร Monocle เขาอยู่ได้ด้วยการเป็นนิตยสาร โดยไม่ได้ทำโซเชียลมีเดียเลย มีแต่รายการพอดแคสต์เท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ Monocle บอกคือ ฉันหยิ่ง ฉันมีพรีเมียมคอนเทนต์ และฉันจะรักษาฐานสมาชิกของฉันให้อยู่หมัด เขาจึงจัดอีเวนต์เพื่อพบปะสมาชิก เช่น จัดเวิร์กช็อป หรืองานทอล์กที่ชวนให้สมาชิกมาเจอกันอยู่เสมอ

อีกโมเดลที่น่าสนใจคือการทำรายการพอดแคสต์ เราอาจเข้าใจว่ามันเป็นแค่การนำคนมาพูดคุยกันเท่านั้น แต่พอดแคสต์ของสื่อบางสำนักโดดเด่นเพราะเป็นรายการสารคดี รายงานเชิงสืบสวน หรือเป็นงานวรรณกรรม ต้องเขียนสคริปต์ด้วยภาษาที่ชวนฟัง เข้าใจง่าย และออกแบบเสียงประกอบอื่นๆ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพชัดเจน บางทีก็มีการจัดงานอีเวนท์ที่จัดรายการสดๆ โดยมานั่งอ่านบทให้คนฟัง ยกวงดนตรีมาเล่นทั้งวง มีหุ่นมาแสดงประกอบ มีภาพ มีแสง คู่ไปกับเสียง หรือทำละครเพลงที่ปรับมาจากสคริปต์ของสารคดีเชิงข่าวที่เคยนำเสนอ เช่นรายการ Radiolab หรือ This American Life นี่ก็เป็นอีกความสร้างสรรค์ในการเปิดบ้านให้คนเห็นว่า กว่าจะได้พอดแคสต์ตอนนึงเขาลงทุนกับอะไรบ้าง นอกจากจะให้ความบันเทิงกับผู้ติดตามเพียงอย่างเดียว ผู้ฟังจึงไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นแค่แฟนคลับ แต่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้รายการดีๆ คงอยู่ไปด้วย

 

นักวารสารศาสตร์ยุคใหม่ต้องมีทักษะมากไปกว่าเขียนหนังสืออย่างเดียวหรือไม่

ไม่ใช่นักวารสารศาสตร์เท่านั้น ถ้าคุณเรียนด้านการสื่อสารหรือทำงานเป็นนักสื่อสาร คุณควรจะมีทักษะการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ต้องเชี่ยวชาญทั้งหมดก็ได้ แต่ควรมีจุดแข็งสักเรื่อง เช่น เขียนเก่ง ตัดต่อเก่ง วาดรูปเก่ง แต่ต้องรู้ว่ามีวิธีสื่อสารอะไร หรือพอทำเป็นบ้าง เพื่อบอกกับคนอื่นถึงสิ่งที่เราคิดในหัวได้ ทักษะนี้รวมถึงการสื่อสารระหว่างบุคคลด้วย เช่น การสัมภาษณ์ ก็ต้องมีทักษะการตั้งคำถาม การพูดคุย เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถที่จะแยกส่วนได้ว่าเราแค่เขียนอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้หรอก

เพราะการทำงานที่มีคุณภาพไม่จำเป็นว่าเราต้องทำทุกอย่างเพียงคนเดียว อย่างงานที่ใช้ data visualization (การนำข้อมูลมาอธิบายด้วยภาพ) บางทีคนที่ทำภาพก็ไม่ใช่นักวารสารศาสตร์ อาจจะเป็น data scientist เป็นนักออกแบบกราฟิก แต่คนเหล่านี้ต้องเข้าใจว่าเขากำลังสื่อสารเรื่องอะไรอยู่ แล้วนักวารสารศาสตร์ก็ต้องไปหาข้อมูลและอธิบายเพื่อให้เขาสื่อสารเรื่องนั้นได้ มันคือการทำงานร่วมกัน เช่นที่ Wall Street Journal ที่มีการทำ data visualization หรือ The Guardian ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบ virtual reality ก็ตีความข้อมูลโดยใช้นักวารสารศาสตร์ที่มีความรู้และทักษะในการผลิตหลายด้าน หรือหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักจิตวิทยา มาช่วยตีความ เพื่ออธิบายว่าข้อมูลเหล่านี้มีความหมายอย่างไร

 

เปรียบเทียบกับสมัยก่อนบทบาทและทักษะของนักวารสารศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างไร

บทบาทนักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่ออาจไม่เน้นข่าวตามสถานการณ์มาก เพราะ social media ให้ข้อมูลนั้นอยู่แล้ว จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) ตอบโจทย์ที่จำเป็นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อธิบายเหตุการณ์และผลกระทบในมิติต่างๆ ชี้ให้เห็นที่มาที่ไปและบริบท และวิเคราะห์ด้วยมุมมองที่หลากหลายโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่การมโนเอาเอง เพื่อให้สังคมได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ด่วนสรุป หรือสับสนไปกับข้อมูลที่หลั่งไหลมาอย่างรวดเร็ว

นั่นหมายความว่าต้องให้ความสำคัญและลงทุนกับการผลิตงาน ทั้งเงิน จำนวนบุคลากร ให้เวลาเพื่อให้สามารถหาข้อมูล หาแหล่งข่าว ผลิตเนื้อหาเพื่อให้นำเสนอได้หลากหลายแพลตฟอร์ม และคิดค้นสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอใหม่ๆ ได้โดยไม่ถูกกดดันจากเงื่อนไขเวลา เช่น

  • แนวทางแบบ slow journalism ที่ให้เวลาในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและผลิตอย่างไม่เร่งรัด (แต่ไม่ใช่ไม่มีกำหนดส่ง) เช่น การรายงานข่าวแบบตีความ สกู๊ป รายงานพิเศษ และการรายงานเชิงสืบสวน
  • จัดเป็นเวทีสนทนาหรือดีเบตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ มานำเสนอข้อมูลและจุดยืนที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ทางออกแบบบูรณาการก็ได้ ตัวอย่างที่ดีคือ CNN Climate Crisis Town Hall ที่เชิญผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตมาดีเบตและนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการจัดการวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการถกประเด็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทางโทรทัศน์อย่างจริงจังและให้เวลานาน
  • รูปแบบการนำเสนอแบบ long-form journalism หรือการรายงานขนาดยาวเพื่อให้นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน long-form journalism ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องนำเสนอครั้งเดียวแล้วยาวเป็นวา แต่สามารถจัดการข้อมูลให้การนำเสนอแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพ เช่น ทำเป็นชุดรายงานที่แบ่งออกเป็นตอนๆ มีองค์ประกอบภาพและเสียงอื่นๆ ประกอบเพื่อช่วยอธิบายข้อมูล นำเสนอในช่องทาง social media ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของสื่อนั้นๆ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารเพื่อต่อยอดการรายงานได้
  • การร่วมมือกันระหว่างองค์กรสื่อและองค์กรอื่นๆ ที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอประเด็นเฉพาะทาง หรือรายงานเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่สำคัญได้รอบด้านและลึกขึ้น

 

 

พรรษาสิริ กุหลาบ

 

การเรียนการสอนสาขาวารสารศาสตร์ในปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรที่แม้จะดูโบราณแต่ยังจำเป็นต้องรู้ อะไรที่ยังขาดสำหรับการพัฒนานักวารสารศาสตร์ยุคใหม่ และมีอะไรบ้างที่เรียนรู้ได้โดยไม่ต้องรอมหาวิทยาลัย

อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกว่า นักนิเทศศาสตร์คือหมอที่เยียวยาสังคม การสื่อสารมีพลังและศักยภาพในการทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางกายภาพและจิตวิญญาณ ดังนั้น แกนหลักของการเรียนและการทำงานด้านการสื่อสารจึงไม่ใช่เรื่องเทคนิคและวิธีการซึ่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ แต่เป็นการเรียนปรัชญาของการสื่อสารเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าการสื่อสารมีพลังและศักยภาพอย่างไรบ้าง และจะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร

แก่นของการเรียนวารสารศาสตร์ในสถาบันการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจปรัชญาและพันธกิจของวารสารศาสตร์ต่อสังคม กล่าวคือ นำเสนอข้อเท็จจริงสู่สังคมด้วยวิธีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ หรือ “ทำความจริงให้ปรากฏ” เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการใช้ชีวิตและตัดสินใจ (informed) มีอำนาจในการกำหนดการใช้ชีวิต มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและสังคม และทำให้เกิดการพูดคุยและอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ ในประเด็นที่มีผลต่อชีวิตของคนในสังคม

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และบทบาทของวารสารศาสตร์ในสังคมแต่ละยุค เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เรารู้รากของสิ่งที่เรียนและทำ ไม่ใช่ตัดตอนมาเฉพาะเทคนิคและวิธีการที่เหมาะกับปัจจุบัน หรือท่องจำข้อมูลต่างๆ โดยไม่รู้ที่มาที่ไป ดังนั้น เราไม่สามารถแยกความเป็นการเมือง (depoliticize) ออกจากการเรียนวารสารศาสตร์และงานวารสารศาสตร์ได้ เพราะการเมือง หรือ การใช้อำนาจ เป็นปรากฏการณ์และกระบวนการทางสังคมที่นักวารสารศาสตร์ต้องทำความเข้าใจอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้น เราก็จะเรียนหรือใช้เพียงเครื่องมือ แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเครื่องมือนี้มีผลต่อสังคมอย่างไร

นิเทศศาสตร์จึงเป็นทั้งการเรียนรู้ทฤษฎีและการปฏิบัติที่ไม่ได้แยกออกจากกัน เพราะการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพต้องมีทฤษฎีและแนวคิดที่รองรับ ขณะที่การเรียนทฤษฎีและแนวคิดเรื่องการสื่อสารกับสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และเทคโนโลยี ก็ทำให้เกิดการเข้าใจที่นำไปสู่การปฏิบัติที่มีคุณภาพได้

การเรียนการสอนวารสารศาสตร์ควรจะส่งเสริมการไหวรู้ (sensitise) ต่อสรรพสิ่งรอบตัวทั้งความอยุติธรรมและความรื่นรมย์ในสังคม สร้างพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง (“Being a voice for the voiceless”) ให้ความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกฝ่าย มุ่งแสวงหาทางออกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ใช้ความรุนแรง

ขณะที่การเรียนเพื่อเพิ่มทักษะหรือการลงมือทำก็จำเป็น เพื่อสร้างนักวารสารศาสตร์ที่ใฝ่หาข้อมูลที่หลากหลาย และต่างมุมมอง สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยวิธีการต่างๆ และต้องมีทักษะหรือศิลปะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และมีสุนทรียะ

เหตุที่ไม่ให้น้ำหนักกับการเรียนการสอนเรื่องทักษะมากนัก ไม่ใช่เพราะทักษะไม่สำคัญ  แต่เป็นเพราะนวัตกรรมการสื่อสารและเทคโนโลยีเกิดขึ้นอยู่เสมอและอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเสริมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเล่าเรื่องและหาข้อมูล เป็นสิ่งที่ผู้เรียนและนักวารสารศาสตร์ต้องเรียนรู้อยู่เสมออยู่แล้ว นอกจากนี้ การสอนในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเป็นไปได้ยาก และอาจไม่สามารถครอบคลุมวิธีการสื่อสารใหม่ๆ ได้ทั้งหมด เพราะระบบและกลไกของมหาวิทยาลัยไม่เอื้อต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้เรียนและคนทำงานด้านวารสารศาสตร์จึงควรศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีมากมายมหาศาล เพื่อให้ตนก้าวทันและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ หากไม่สามารถสอนในหลักสูตรได้ ก็ควรจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอ

 

ในยุคที่บางคนบอกว่า ‘ใครก็เป็นสื่อได้’ นักวารสารศาสตร์จะต่างจากคนทั่วๆ ไปอย่างไร นักวารสารศาสตร์บางคนอาจเคยกล่าวว่า ต่างกันตรงที่นักวารสารศาสตร์มีจริยธรรมสื่อ ในขณะเดียวกันคนก็ยังตั้งคำถามกับจรรยาบรรณของสื่ออาชีพอยู่ร่ำไป คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เราอาจจะใช้ศัพท์อย่าง อุดมการณ์วิชาชีพหรือจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อมากำหนดว่าแนวปฏิบัติที่ดีควรเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ที่สุดแล้ว วารสารศาสตร์คือการเล่าเรื่องของคน และสังคมซึ่งมีคนที่มีความคิดและอัตลักษณ์แตกต่างหลากหลาย ดังนั้น ฐานคิดของจริยธรรมคือการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ (humanity) ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกพูดถึงในข่าว แหล่งข่าว สังคม และตัวนักวารสารศาสตร์เอง ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น วิธีคิดที่ง่ายที่สุดคือ หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราหรือคนที่เรารัก เราอยากได้รับการปฏิบัติอย่างไร

หากมองมุมนี้ การที่นักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่อปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม ทั้งในกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อมูลที่นำมาเสนอ และวิธีการนำเสนอ ก็ถือเป็นการมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์หรือไม่เห็นว่าคนนั้นเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่เห็นคนเท่าเทียมกัน

ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นสื่อเขาจะไม่ทำตามกรอบจริยธรรม ก็คงต้องใช้วิธีการอื่นมาอธิบายให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แต่นักวิชาชีพสื่อที่อ้างว่ามีจรรยาบรรณ แต่ไม่ทำตาม ก็ชัดเจนว่าเป็นสื่อที่ไม่มีเกียรติภูมิวิชาชีพและไม่น่าเชื่อถือ ถามว่าใครก็เป็นสื่อได้ไหม ก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่เดิมพันมันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และการปฏิบัติของคุณ ถ้าคุณได้ข้อมูลมาด้วยการไปละเมิดความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น มันก็จะวัดตัวคุณเองว่าสังคมจะเชื่อสิ่งที่คุณพูดหรือไม่

ประเด็นนี้ต้องโยงกลับมาที่สังคมด้วยว่า ผู้คนมองว่าเกณฑ์เหล่านี้อยู่ตรงไหน ถ้าสังคมยอมรับสื่อที่ต่อว่าด่าทอนักการเมืองที่เขาไม่ชอบด้วยคำเหยียดหยาม ทำให้เขาเป็นปีศาจ เป็นคนที่ต้องถูกกำจัด เราก็จะได้รู้ว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหนกัน แล้วเราควรจะยอมจำนนกับสภาพสังคมแบบนี้หรือเปล่า

 

เมื่อมีสถานการณ์สื่อที่ท้าทายเรื่องจริยธรรมในสังคม เช่น สื่อไม่เขียนถึงเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคม สื่อรับเงินนายทุน คนก็มักจะตั้งคำถามต่อการเรียนการสอน คุณคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยหรือไม่ในการสร้างอุดมการณ์เหล่านี้

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบในการทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าปรัชญาของศาสตร์คืออะไร แต่การทำความเข้าใจและการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมไม่ได้อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยมีการสอนวิชาหรือหัวข้อจริยธรรมหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าการเรียนการสอนทุกวิชาได้นำประเด็นทางสังคม ประสบการณ์และปัญหาที่เพื่อนมนุษย์พบเจอ รวมทั้งบทบาทและการทำงานของนักวารสารศาสตร์ในสถานการณ์เหล่านั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหรือเปล่า

ถ้าเรามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่จะให้ความรู้ หรือเป็นพื้นที่ให้คนสร้างความรู้ของตัวเองขึ้นมาได้ ก็ต้องคิดทั้งเรื่องเนื้อหาและวิธีการสอนที่มากไปกว่าการให้นักศึกษาทำข้อสอบตามโจทย์ของตลาดหรืออุตสาหกรรม เราไม่สามารถจะเรียนแค่การเขียนข่าว เรียนจรรยาบรรณหรือกฎหมายสื่อแบบท่องจำเป็นข้อๆ พอให้รู้ว่าทำอย่างไรให้อยู่ในกรอบเกณฑ์หรือไม่ถูกฟ้อง แต่ควรจะบอกให้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันส่งผลอย่างไรกับประชาชน

และมหาวิทยาลัยต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนทำความเข้าใจบริบทสังคมด้วยวิธีการต่างๆ เราต้องคุยกันเรื่องการเมืองได้ เราต้องคุยกันเรื่องความเปลี่ยนแปลงในสังคม หรือความท้าทายทางวัฒนธรรมต่างๆ ได้ ต้องยอมรับกับการที่นักศึกษาจะตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่รวมถึงวัฒนธรรมที่ฝังรากมากับสังคมไทย เช่น ทำไมเราต้องตัดผมสั้นเพื่อจะอยู่ในโรงเรียน หรือทำไมผู้หญิงต้องถูกสอนให้แต่งตัวมิดชิด เพื่อให้เขาเข้าใจว่าสังคมอยู่กันมาอย่างไร และตั้งคำถามได้ว่าสังคมจำเป็นต้องดำเนินไปในวิถีแบบเดิมๆ จริงหรือหากเป็นวิธีคิดหรือการกระทำที่กดทับ กีดกันคนกลุ่มอื่น

 

ในฐานะที่อาจารย์ได้ใกล้ชิดกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ เยาวชนมีความต้องการอะไรในการเข้ามาเรียนในสาขาวารสารฯ มีภาพในหัวหรือความกังวลต่อวิชาชีพอย่างไรบ้าง 

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนวารสารศาสตร์ มีทั้งกลุ่มที่สนใจความเป็นไปในสังคมการเมือง หรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ บางคนอ่านงานที่จะทำให้วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็จะมีคนที่ก็เข้ามาเรียนเพราะสาขาอื่นไม่เข้ากับเขาเลย วารสารศาสตร์เลยเป็นทางรอดสุดท้าย

มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกจุกที่ใจ คือนักศึกษาบางคนเข้ามาด้วยความสนใจเต็มเปี่ยม เคยทำกิจกรรมทางสังคมหรือทำงานวารสารศาสตร์มาก่อน เคยติดตามสถานการณ์การเมือง แต่บริบททางสังคมโดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีมานี้ที่ปิดกั้นมากๆ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้จะมีฝีมือและวิธีคิดที่ดี พอถูกถามว่าอยากทำงานสื่อไหม เขาก็จะตอบว่าไม่ ตอบแบบไม่ต้องคิดเลย เพราะหนึ่ง เขากลัวว่าเงินเดือนไม่พอกิน เพราะเขาจะต้องเป็นคนหาเลี้ยงชีพและครอบครัว หรือมีชีวิตที่อยากจะซื้อนู่นซื้อเหมือนคนที่มีโอกาสดีๆ ในสังคม สอง เคยเจอคนที่บอกว่าไม่อยากจะเอาตัวเองเข้าไปในวงการที่เขาไม่ศรัทธา ซึ่งก็สะท้อนว่าปัจจัยทางสังคมมากมาย ทำให้เขาไม่เชื่อมั่นในวิชาชีพที่ตัวเองเรียน แทนที่จะไปเป็นพลังที่ดีของวงการ ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ผู้เรียนหลายคนกลับรู้สึกฝ่อตั้งแต่เริ่ม

อีกแบบที่เคยเจอคือ คนที่บอกว่าไม่อยากอยู่ประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวก็เข้าใจและเห็นใจที่สภาพสังคมมันทำให้เขาสิ้นหวัง ยิ่งคนที่ไปเจอโลกแบบอื่นๆ มาจนรู้สึกว่า ทำไมการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้มันต้องเจอความอึดอัดและความเสี่ยงอะไรมากมายโดยที่ไม่มีใครเหลียวแลและแก้ไขไม่ได้ขนาดนี้ แต่คำถามก็คือ ถ้าไปกันหมดแล้วใครจะอยู่ เราก็ไม่อยากบอกว่าภาระอยู่ที่คนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่จงเป็นความหวัง มันกดดันเกินไป แค่เอาชีวิตรอดเขาก็จะตายแล้ว แต่เราอยากชวนคิดว่า การเปลี่ยนแปลงมันคงจะช้า แต่อย่างน้อยเราก็ช่วยกันขยับมันได้ เหมือนที่คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการชุมนุมในฮ่องกงบอกว่า เขารู้ว่าสู้ยังไงก็แพ้ พลังของคนตัวเล็กๆ จะไปสู้อะไรได้กับสิ่งที่ใหญ่กว่ามาก แต่เขาพูดว่าถ้าตัวเองโตขึ้นไปแล้วมองย้อนกลับมา อย่างน้อยก็สามารถบอกลูกบอกหลานได้ว่าครั้งหนึ่งพ่อกับแม่ได้ทำเต็มที่แล้ว เช่นกัน ไม่ว่าเป็นคนรุ่นไหนก็ควรจะมีความรู้สึกว่าครั้งหนึ่งเราลองทำเต็มที่แล้ว

สื่อยังพอมีความหวัง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปมองภาพใหญ่แล้วคิดว่าจะเปลี่ยนมันได้ในวันนี้ เราค่อยๆ เคลื่อนไป เหมือนต้นไม้ที่โตแทรกคอนกรีตขึ้นมา มันยากและนาน แต่ใครจะมาแก้มัน ถ้าไม่ใช่เรา

 

What’s in your Journalist bag ?

จะเป็นนักวารสารศาสตร์แห่งอนาคต ควรจะมีคุณสมบัติยังไง เครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่จะทำให้อยู่รอดในอาชีพ – ต่อไปนี้คือคำตอบและของสำคัญที่ พรรษาสิริ กุหลาบ แนะนำให้คุณพกติดตัวไว้

 

พรรษาสิริ กุหลาบ

 

 

คุณสมบัติของนักวารสารศาสตร์ยุคใหม่

1.ด้านความรู้ Knowledge: นักวารสารศาสตร์ต้องทำความเข้าใจกับหลักการประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในคุณค่าของสังคมประชาธิปไตย ศึกษาและทบทวนบทบาทของสื่อวารสารศาสตร์ต่อสังคม และหมั่นหาความรู้ในเรื่องที่ทำและสนใจเพื่อที่จะได้ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามใหม่ๆ ได้เสมอ

2.ด้านทัศนคติ (Attitude) เมื่อวารสารศาสตร์คือการเล่าเรื่องของคน ดังนั้น นักวารสารศาสตร์ควรสนใจความเป็นไปในสังคม หรืออย่างน้อยก็สนใจชีวิตของคนรอบตัว รู้สึกรู้สากับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หมั่นตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถาม ไม่ย่อท้อในการหาคำตอบ แต่อย่าแบกโลกและอย่าใจร้อน เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพสังคมไทยในขณะนี้

นอกจากนี้ นักวารสารศาสตร์ควรสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในการทำงานและใช้ชีวิต เช่น ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมและให้เกียรติ ไม่ใช้อำนาจหรือหาประโยชน์จากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวหรือเพื่อนร่วมงาน ทำงานความด้วยความใส่ใจ โปร่งใส และรับผิดรับชอบต่อการกระทำของตน

3.ด้านการฝึกฝนทักษะ อ่านมากๆ และอ่านให้หลากหลาย พูดเมื่อจำเป็น ฟังเยอะๆ และเปิดใจทุกเรื่อง เล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายและมีสุนทรียะ

 

 

 

 

เปิดกระเป๋านักวารสารศาสตร์ อะไรที่ควรศึกษา พกติดตัว ดู อ่าน ฟัง ฯลฯ

ของชิ้นที่ 1 “Podcast”

  • สำรวจสถานการณ์ปัจจุบันด้านวารสารศาสตร์ ผ่าน On the Media พอดแคสต์จาก National Public Radio และรายการ It’s All Journalism

“คนสัมภาษณ์ในรายการ On the Media เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ เขามีวิธีการตั้งคำถามและจับประเด็นที่ดีมาก เนื้อหาแต่ละตอนเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เช่น การรายงานประเด็นสิ่งแวดล้อม การรายงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชัง หรือเรื่องของผู้ก่อการร้าย เป็นต้น รายการจะนำเสนอคู่มือที่บอกว่า ในสถานการณ์ต่างๆ ผู้ฟังควรไตร่ตรองอะไรบ้าง เช่น เมื่อมีการกราดยิง ควรจะฟังหูไว้หูอย่างไร เมื่อมีเหตุภัยพิบัติจะต้องมีข้อมูลอะไรเพื่อเฝ้าระวัง นอกจากนั้นยังช่วยให้คนในวงการวารสารศาสตร์รู้ว่ามีประเด็นอะไรเป็นข้อท้าทาย อะไรที่เราควรระมัดระวัง หรือทดลองทำต่อไป คนทั่วไปก็จะได้รู้ว่าหลังบ้านของสื่อเป็นอย่างไรด้วย”

  • ฟังรายการสารคดีเชิงข่าว เพื่อศึกษาวิธีหาข้อมูล การสัมภาษณ์ และการออกแบบการเล่าเรื่อง เช่น This American Life (WNYC), Radio Lab (NPR), In the Dark (APM) และ Reveal (Center for Investigative Reporting)

“ใครที่บอกว่าการเขียนไม่สำคัญ ขอเถียงสุดใจเลย เพราะงานเหล่านี้จะต้องเขียนบทมาก่อนแล้วค่อยเอาเสียงมาใส่ เช่นเดียวกับที่เราเขียนบทความ วิธีคิดประเด็นของรายการก็น่าสนใจ บางตอนยกเอาเรื่องที่คนถกเถียงกันในสังคม หรือเรื่องที่ยังหาหลักฐานจับต้องไม่ได้มาเล่า เอาประเด็นสาธารณะที่ธรรมดาทั่วไปมาเชื่อมโยงไปยังปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม หลายๆ เรื่องเคยเป็นบทความหรือรายงานในสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ มาก่อน จากนั้นตัวพอดแคสต์ก็เอามาทำเป็นสารคดี จนบางเรื่องกลายเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ในที่สุด”

 

ของชิ้นที่ 2 “สื่อ”

“อ่านในสิ่งที่ตัวเองสนใจเยอะๆมีที่เป็นแหล่งประจำสักหน่อยก็ดีแต่ไม่ใช่ปิดกั้นตัวเองอยู่แค่เฉพาะกับแหล่งนั้น เช่น ติดตามงานขององค์กรสื่อวารสารศาสตร์ให้หลากหลาย และถ้าเป็นไปได้ สมัครสมาชิก (หรือบริจาค) ให้สื่ออย่างน้อย 1 องค์กร”

 

ของชิ้นที่ 3 “สิ่งที่เอาไว้จดบันทึก”

“ปากกาอย่าให้หมึกหมด พกสมุดโน้ต หรือสิ่งที่เอาไว้จดได้ไว้เสมอ เรื่องปากกาจำได้เลยว่าแต่ก่อนไม่คิดอะไรมาก จนกระทั่งเจออาจารย์ท่านหนึ่ง แล้วต้องให้ท่านเซ็นต์เอกสารสักอย่าง แต่เราไม่มีปากกา อาจารย์ท่านนั้นจึงถามว่า ‘ทำไมเป็นนักข่าวแล้วไม่พกปากกา’ จำจนตาย หลังจากนั้นก็ไม่เคยขาดปากกาอีกเลยในชีวิต

“และถ้าต้องทำงานเชิงสืบสวน ลองใช้ ‘Signal’ แอปพลิเคชันที่มีไว้สื่อสาร (เหมือน line หรือ WhatsApp) ที่ต้องเข้ารหัส รักษาความเป็นส่วนตัวได้ระดับหนึ่ง เหมาะกับการทำรายงานเชิงสืบสวนในสังคมไทยค่ะ”

 

ของชิ้นที่ 4  “ข้อความเตือนใจ”

“ข้อความหนึ่งของ เสนีย์ เสาวพงศ์ บอกว่า การศึกษาเรื่องของชีวิตนั้นเราต้องศึกษาจากประชาชนที่เป็นเจ้าของชีวิต ไม่ใช่ศึกษาจากหนังสือของนักเขียนนักคิด ของผู้มีปัญญาที่นั่งคิดนั่งฝันเอาเอง

 

ของชิ้นที่ 5 “เว็บไซต์เพิ่มทักษะ”

“ติดตาม เว็บไซต์ที่เป็นคลังความรู้เรื่องทักษะงานวารสารศาสตร์ เช่น Journalist’s Resource ของ Shorenstein Center on Media, Politics, and Public Policy, Harvard Kennedy School , Journalism.co.uk  และ BBC Academy

 

ของชิ้นที่ 6 “คำตอบไว้ใช้เมื่อท้อแท้”

“ลองอ่านปาฐกถาในพิธีรับปริญญาของ Columbia Journalism School ปี 2018  โดย Ira Glass ผู้ดำเนินรายการและโปรดิวเซอร์ของ This American Life  และ ปาฐกถาปี 2019 โดย Maria Ressa CEO ของสำนักข่าวออนไลน์ Rappler ประเทศฟิลิปปินส์ – ยาวหน่อย แต่อ่านหรือฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเมื่อท้อแท้หรือต้องการหาคำตอบว่า “ฉันกำลังทำอะไรอยู่” หรือ “สิ่งที่ฉันทำจะไปแก้ไขอะไรได้”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save