fbpx

โควิด-19 ความเหลื่อมล้ำ และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดอย่างแน่นขนัดกลายเป็นผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งในชุมชนแออัด โรงงาน แคมป์คนงานก่อสร้าง รวมทั้งในเรือนจำที่เพิ่งจะมารายงานตัวเลขเมื่อเร็วๆ นี้หลังผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกฝากขังเพิ่งได้รับการปล่อยตัวและพบว่าติดเชื้อ ขณะที่อีกหลายคนก็ล้มป่วยขณะถูกคุมขัง แถมปลายเดือนพฤษภาคมนี้ก็ยังมีรายงานการพบสายพันธุ์จากอินเดียและแอฟริกา ขณะที่จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการรายงานเกี่ยวกับการรับมือของสหรัฐอเมริกาต่อการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่านักข่าวอเมริกันเก่งกว่านักข่าวไทย และไม่อาจหาญจะเสนอแนะว่าสื่อไทยควรเอาเยี่ยงอย่างหรือต้องรายงานแบบไหนจึงจะเหมาะสมเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ (และหลายสำนักก็ทำได้ดีอยู่แล้ว) อีกทั้งไม่ได้สรุปว่าการรายงานที่ยกมาคือตัวอย่างที่ดีที่สุดเพราะส่วนใหญ่เป็นการรายงานขนาดยาวหรือสารคดีที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลและผลิตพอสมควร จะเอามาเทียบกับการรายงานข่าวขนาดสั้นก็ไม่เหมาะ เพราะข่าวรายวันของสื่อตะวันตกเองก็ผิดพลาดไม่น้อยเหมือนกัน

แต่อยากชวนผู้อ่านไปดูแง่มุมที่น่านำไปคิดต่อจากการรายงานเหล่านี้ เพื่อลองดูว่าอะไรเป็นองค์ประกอบของการรายงานของสื่อเชิงคุณภาพ และปัจจัยที่เอื้อต่อการรายงานคืออะไรบ้าง


การรายงานเรื่องการป่วย-เสียชีวิตจากโควิด กับการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ


ขณะที่โควิด-19 เริ่มระบาดหนักในสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางปีที่แล้ว Propublica ซึ่งเป็นองค์กรสื่อไม่แสวงกำไรที่เน้นการรายงานเชิงลึกได้วิเคราะห์สถิติผู้ป่วยและเสียชีวิต และพบว่าอัตราการป่วยและเสียชีวิตของคนผิวสี (people of color) โดยเฉพาะคนผิวดำ มีจำนวนมากกว่าคนผิวขาว แม้ในบางเมืองคนผิวดำจะเป็นประชากรกลุ่มน้อยก็ตาม

ตัวอย่างข้อมูลทางการแพทย์ในเมืองมิลวอกี พบว่าโดยปกติคนแอฟริกันอเมริกันมักจะมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าคนผิวขาวประมาณ 14 ปี เนื่องจากส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังที่ทำให้ปอดและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว ทั้งหอบหืด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและในอัตราที่สูงในชุมชนคนผิวสีซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง หรือบางส่วนก็ถูกขับออกจากที่เช่าอาศัยเนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดจนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ แถมยังไม่มีประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ต้องทำงานบริการหรือที่จัดได้ว่าเป็นแรงงานที่จำเป็น (essential workers) ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ในช่วงการระบาด นอกจากนี้ยังพบว่าคนผิวสีไม่เชื่อมั่นในวัคซีนและระบบบริการสาธารณสุขเพราะมีประสบการณ์เชิงลบจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยสถาบันทางการแพทย์มานาน

ในรายงานของ The New York Times ซึ่งวิเคราะห์สถิติผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในนครนิวยอร์กและชิคาโกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ชี้ว่าผู้ป่วย 9 ใน 10 รายที่เสียชีวิตมีโรคเรื้อรังที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดอยู่แล้ว นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นแรงงานรายได้ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี

ทีมข่าวของ Propublica ยังเก็บข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เป็นชายผิวสีกว่า 20 คนจากข่าว ข่าวมรณกรรม (obituary) และรายงานการชันสูตรศพ จากนั้นจึงไปสัมภาษณ์ญาติหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิต รวมถึงนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของชายผิวสี พบว่าผู้เสียชีวิตมักเป็นคนที่ขยันทำงาน มีความทะเยอทะยาน มองโลกแง่ดี และมุ่งมั่น ชายเหล่านี้พยายามยกระดับความเป็นอยู่ของคนอื่นไปพร้อมๆ กับตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชุมชนมักจะวิ่งไปหาเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนและเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ผู้ให้คำปรึกษาและปรับทุกข์อย่างโค้ชทีมกีฬา บาทหลวง และช่างตัดผม ทั้งยังเป็นผู้ดูแลครอบครัวที่ต้องเข้าสู่ระบบแรงงานเร็วกว่าคนผิวขาวในรุ่นเดียวกัน เนื่องจากต้องดูแลทั้งพ่อแม่ที่สุขภาพไม่ดี มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือต้องโทษ และลูกๆ ของตัวเอง

เหตุที่ชายวัยทำงานเหล่านี้ล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเป็นเพราะทำงานหนักต่อเนื่องกันมาหลายปี ทั้งยังเผชิญกับความเครียดเพราะต้องดูแลคนอื่นมากกว่าดูแลตัวเอง ขณะที่ต้องรับมือกับปัญหาที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน ทำให้สุขภาพไม่ดีนัก เมื่อป่วยโควิด ร่างกายก็ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้

การที่คนผิวดำในวัยฉกรรจ์มักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้กรำงานหนักด้วยหวังจะเลื่อนชั้นทางสังคมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หลังการเป็นทาสและเสียเปรียบทางเศรษฐกิจมานาน ทำให้อายุขัยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่การที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการระบาดของโควิดในครั้งนี้อาจทำให้สังคมสูญเสียชายผิวสีไปช่วงวัยหนึ่งเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกัน คนที่ร่ำรวยกว่าสามารถเข้าถึงปัจจัยที่ทำให้มีสุขภาพดีกว่า ทั้งอาหารการกิน ที่พักอาศัย สภาพการทำงาน และบริการด้านสาธารณสุข ทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอันตรายน้อยกว่าคนจน ส่วนสภาพแวดล้อมในชุมชนคนยากจนมักเต็มไปด้วยร้านสะดวกซื้อและร้านฟาสต์ฟู้ด ทำให้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างจำกัด ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียวและสถานที่สันทนาการ จึงขาดโอกาสในการออกกำลังกายบ่อยๆ ที่สำคัญคือมักอยู่ใกล้กับย่านอุตสาหกรรมที่มีโอกาสรับมลพิษทางอากาศ ซึ่งนักวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่สูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น และมีความเสี่ยงที่จะติดโควิดมากกว่ากลุ่มรายได้ปานกลาง 2-3 เท่า

รายงานจาก Propublica เสริมว่าโรงพยาบาลในชุมชนหรือที่เรียกว่า safety net hospital อย่างเช่นในนครชิคาโกที่ให้บริการผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำและไม่มีประกันสุขภาพซึ่งส่วนมากเป็นคนผิวสี ก็ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์และบุคลากรที่จำเป็นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะไม่มีรายได้จากผู้ป่วยที่ใช้ประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนเหมือนโรงพยาบาลใหญ่ๆ เมื่อสถานพยาบาลไม่พร้อม จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เป็นคนผิวสีและรายได้น้อยก็เพิ่มขึ้นไปด้วย

ความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่คนผิวสีในสหรัฐอเมริกาประสบยังเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน คนทำงานบริการและรับจ้าง และธุรกิจรายย่อยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การสำรวจของ The New York Times พบว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีอัตราการป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานและโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในสังคม ยิ่งความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งป่วยมากขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเมื่อล้มป่วย จนนำไปสู่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังอาจเสียชีวิตได้ในวัย 55 ปี ขณะที่อายุของผู้ป่วยเรื้อรังทั่วไปที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตคือประมาณ 70 ปี

การพูดคุยกับผู้ใช้แรงงานและผู้เชี่ยวชาญในจีน อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พบว่า แม้กระทั่งผู้มีรายได้ต่ำที่มีสุขภาพแข็งแรงก็เสี่ยงต่อการล้มป่วยและเสียชีวิตจากโควิดเช่นกัน เนื่องจากขาดรายได้และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์

รายงานนี้ชี้ว่านี่เป็นปัญหาแบบงูกินหาง เพราะขณะที่สภาพความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ทำให้คนยากจนป่วยมากขึ้นและสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แย่ลง การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศที่เศรษฐกิจและตลาดแรงงานแบ่งขั้วสูงอยู่แล้ว

ส่วนการระบาดในเรือนจำก็เป็นเรื่องน่ากังวล The Marshall Project ซึ่งเป็นสื่อภาคประชาสังคมที่เกาะติดกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รายงานว่าเรือนจำแต่ละแห่งมีประสิทธิภาพในการตรวจหาเชื้อเชิงรุกและการรักษาผู้ป่วยแตกต่างกัน แต่อุปสรรคสำคัญคือการที่เรือนจำบางแห่ง รวมถึงเรือนจำในสังกัดรัฐบาลกลางไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจเชื้อ จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั้งของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ทำให้ยากต่อการประเมินสถานการณ์ที่แท้จริง

แม้ในสหรัฐฯ จะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้างแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Propublica รายงานว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงจะเสียชีวิตจากโควิด-19 มีความเสียเปรียบในการเข้าถึงวัคซีนเพราะระบบการกระจายวัคซีนที่เต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้พิการ และแรงงานอพยพ คนกลุ่มนี้เดินทางไม่สะดวกหรือไม่มีรถส่วนตัว ใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนไม่คล่อง สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนักหรือไม่ได้เลย หากสถานที่ฉีดวัคซีนต้องใช้บริการแบบไดรฟ์ทรูเท่านั้น ต้องจองคิวผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือสายด่วนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือไม่เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานอพยพที่ไม่มีใบอนุญาตแม้จะอยู่ในกลุ่มอาชีพเสี่ยง กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ก็มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนน้อย

การรายงานของ Propublica ยังพบว่าปริมาณของวัคซีนยังมีน้อยเกินกว่าจะจัดสรรให้กับทุกคนที่มีสิทธิฉีด ขณะเดียวกัน การแข่งขันจองคิวฉีดวัคซีนก็ดุเดือด แพทย์ที่ดูแลเรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชนกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะกลายเป็นระบบที่แบ่ง 2 ระดับ (2-tier system) กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีความร่ำรวย มีอภิสิทธิ์ และมีเส้นสาย กับกลุ่มคนที่เหลืออื่นๆ เมื่อกลุ่มแรกฉีดวัคซีนครบ บทสนทนา (narrative) ในสังคมก็จะเปลี่ยนมาเป็นการโทษคนอื่นว่าทำไมจึงไม่ดูแลตัวเอง (เพราะไม่ฉีดวัคซีนซักที)

รายงานเหล่านี้ได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่านโยบายด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่นำไปสู่ ‘ความยุติธรรมด้านสุขภาพ (health justice)’ เพราะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีเงินและอำนาจอยู่แล้วมากกว่าคนที่มีน้อยหรือไม่มี ทางแก้คือการเมืองต้องเห็นความสำคัญของผู้ที่ถูกทอดทิ้งก่อน จากนั้นสุขภาพของพวกเขาก็จะดีขึ้น

ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าเหตุที่องค์กรสื่อเชิงคุณภาพในสหรัฐฯ มักนำประเด็นนี้มารายงาน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้สังคมอเมริกันใคร่ครวญและอภิปรายกันกว้างขวางว่าจะจัดการเรื่องอคติต่อสีผิวและเชื้อชาติที่ฝังอยู่ในโครงสร้างสังคมและระบบต่างๆ มายาวนานอย่างไรดี สถานการณ์ระบาดจึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางสีผิวและเชื้อชาติได้ชัดเจน และอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในระบบสาธารณสุขทีละน้อย

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งคือการที่องค์กรด้านสาธารณสุขในระดับรัฐบางแห่งเริ่มเก็บและเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยครอบคลุมเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ รวมถึงสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะสามารถนำไปวิเคราะห์อุปสรรคทั้งด้านเศรษฐกิจและทางกายภาพของกลุ่มเปราะบางที่ไม่เอื้อต่อการป้องกันการระบาด และแนวทางที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำงานของหน่วยงานด้วย


องค์ประกอบที่น่าสนใจของการรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข


การรายงานเชิงลึกที่ยกตัวอย่างมานี้พยายามอธิบายว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากระบบที่ไม่เท่าเทียม และไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงการระบาด แต่เป็นฐานคิดในการบริหารจัดการของรัฐและวัฒนธรรมมานานแล้ว

สำหรับองค์กรสื่อขนาดใหญ่ นักข่าวสายสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์มักเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการอธิบายความซับซ้อนของโรค แบบแผนการระบาด การรักษา และการป้องกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ แต่เมื่อขยายมาสู่ประเด็นความไม่เป็นธรรมในสังคม นักข่าวสายอื่นๆ เช่น คนที่คลุกคลีกับพื้นที่หรือสามารถประสานกับชุมชนและภาคประชาสังคม ก็มาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและเครือข่ายสื่อที่มีความชำนาญและทรัพยากรแตกต่างกันไป

การรายงานเหล่านี้จะไม่สามารถอธิบายแบบแผนของความเหลื่อมล้ำได้ หากไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลเปิดของภาครัฐที่น่าเชื่อถือและทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะจาก CDC และหน่วยงานสาธารณสุขระดับรัฐ (ซึ่งแม้ช่วงแรกจะไม่ได้มีข้อมูลเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากนักวิจัยและสื่อมวลชน CDC ก็เก็บและรายงานข้อมูลด้านนี้ด้วย) จากนั้นจึงใช้ข้อมูลที่เชื่อถือได้จากแหล่งอื่นๆ เช่น Johns Hopkins University CSSE COVID-19 Data การสำรวจจากองค์กรภาคประชาสังคม และผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อย่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อายุขัย และอัตราการเสียชีวิตของคนผิวสีมาพิจารณาร่วม ขณะที่การรายงานเรื่องการระบาดในเรือนจำมีข้อจำกัดเนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่เปิดเผยข้อมูล จากนั้นนักวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลจะช่วยอธิบายข้อมูลเชิงสถิติให้เข้าใจง่ายทั้งในการเขียนเรียบเรียงและการแปลงเป็นภาพ (visualization) เพื่อสะท้อนปัญหาจากกรณีของปัจเจกสู่ระบบและวิธีคิดของสังคม

แม้รายงานส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลเพื่ออธิบายภาพรวมของปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ก็ไม่ละทิ้งการเล่าเรื่องของ ‘คน’ กล่าวคือ ไม่ได้วัดระดับของปัญหาจากตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่แจกแจงให้เห็นจากปากคำของผู้ที่อยู่ในใจกลางปัญหาว่าชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร มีจุดร่วมที่สะท้อนระบบที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร

ที่สำคัญ การรายงานจะชี้ว่าปัญหาอยู่ที่นโยบายและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงตั้งคำถามต่อผู้กำหนดนโยบายและฝ่ายบริหารระดับต่างๆ รวมถึงพยายามหาทางแก้ไขที่ระบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น ไม่ใช่โทษแต่ประชาชน แน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านมาตรการป้องกันโรคและการฉีดวัคซีนอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล แต่แทนที่จะโทษว่าคนเหล่านี้ไม่รู้เรื่อง สื่อเชิงคุณภาพจะตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงไม่เชื่อมั่น และไปหาคำตอบต่อว่าจะทำอย่างไรให้เขาเชื่อมั่นในรัฐและการบริการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการระบาดได้


จากกรณีศึกษาสื่อสหรัฐฯ สู่การรายงานของสื่อมวลชนไทย


ผู้เขียนเห็นว่าการรายงานที่โดดเด่นของสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งในการระบาดรอบนี้คือการเกาะติดสถานการณ์และให้ความสำคัญต่อความพยายามของภาคประชาสังคมและประชาชนในการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้พักอาศัยในชุมชนแออัด รวมถึงความเสี่ยงและอุปสรรคในการดำรงชีวิตท่ามกลางสถานการณ์โควิดของคนจนเมือง แรงงานข้ามชาติ และผู้มีรายได้ต่ำ

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการอธิบายเรื่องวัคซีนที่ประชาชนยังมึนงงสับสนกันอยู่ เพื่อให้เห็นว่าเพราะอะไรเพื่อนร่วมสังคมของเราจึงได้รับผลกระทบและไม่สามารถจะ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ หรือ ‘การ์ดไม่ตก’ ได้อย่างที่ใครๆ พร่ำบอก ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของผู้สื่อข่าวที่ลุยเข้าไปในพื้นที่ระบาดเพื่อนำความจริงและเสียงของผู้ได้รับผลกระทบมาถ่ายทอดสู่สาธารณะ

แต่นี่เป็นเพียงภาพเหตุการณ์และเป็นคำถามตั้งต้นสู่โจทย์ใหญ่ที่สังคมควรร่วมกันค้นหาต่อไป ว่าเราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการปรับกลไกและระบบใด อย่างไร เพื่อให้เราทุกคนได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา รวมถึงเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่พึงมีพึงได้โดยไม่ต้องตะเกียกตะกายหาเอง แน่นอนว่าการรายงานของหลายสื่อเชื่อมโยงไปสู่การหาทางออกเชิงนโยบาย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเน้นบอกเล่าความทุกข์ของคนกลุ่มต่างๆ และการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี

ขณะเดียวกัน รูปแบบการรายงานแบบ ‘เล่าข่าว’ (ที่มักอ้างกันอย่างผิวเผินว่าช่วย ‘ย่อย’ ข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่ายด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่สนุกสนานเป็นกันเองของผู้ดำเนินรายการ) หรือการเน้นความเร็วและความถี่ในการปล่อยเนื้อหาทางโซเชียลมีเดีย ทำให้องค์กรสื่อหลายแห่งมักรายงานตามคำบอกเล่าหรือข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ทั้งยังนำความเห็นของคนโน้นคนนี้มาปะทะกันเพื่อให้เห็นความขัดแย้ง โดยที่ไม่ได้อธิบายบริบทที่เกี่ยวข้อง คลี่ให้เห็นว่าส่วนไหนคือข้อเท็จจริง ส่วนไหนเป็นความเห็น หรือเชื่อมโยงไปยังเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรค

หลายครั้งก็นำเสนอจากแหล่งข่าวเดียวและเป็นความคิดเห็นที่ไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลมารองรับ เพียงเพราะผู้พูดเป็นบุคคลสาธารณะหรือสามารถสร้างดราม่าให้คนเอาไปปั่นกันต่อบนโซเชียลมีเดียได้ การรายงานแบบนี้ไม่เพียงให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่ยังอาจเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือนที่ถูกส่งต่อทางโซเชียลมีเดียได้ง่ายและรวดเร็วด้วย

ยังไม่ต้องพูดถึงความน่าเสียดายที่ว่านักข่าวที่มีความรู้ลึกรู้จริงด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในวงการสื่อไทย (ไม่ได้บอกว่าไม่มี แต่ไม่ค่อยพบว่าเป็นผู้รายงานหลัก) ทำให้ต้องอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา วัคซีน และบริการสาธารณสุขในประเทศ (ซึ่งน่าจะมีไม่น้อย แต่ที่ปรากฏทางสื่อก็มักเป็นคนเดิมๆ เช่นเดียวกับแหล่งข่าว ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ด้านอื่นๆ) และโพสต์จากคนดังเป็นหลัก

ไม่ใช่เพราะนักข่าวไม่มีฝีมือ แต่เป็นเพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่แข่งขันกันดึงดูดความสนใจจากผู้รับสารด้วยความรวดเร็วในการรายงาน ‘สิ่งที่เกิดขึ้น’ และการนำเสนอความเห็นที่รู้ว่าต้องโดนใจประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าเชิงบวกหรือลบ

ในเมื่อการรายงานที่เน้นสถานการณ์ อ้างแหล่งข่าวประจำ และใช้รูปแบบการนำเสนอที่เน้นความบันเทิงหรือมีเซเลบชูโรง สามารถทำให้คนติดตามและองค์กรสื่อสามารถทำเงินได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนหรือฝึกฝนทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้เฉพาะทาง หรือให้นักข่าวมีเวลาเก็บ-ตรวจสอบข้อมูลเพื่อผลิตการรายงานเชิงลึกรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เห็นปัญหาในมิติอื่นหรือเชิงโครงสร้าง แค่ติดตามเหตุการณ์และคอมเมนต์รายวันทางโซเชียลมีเดียก็วุ่นวายพออยู่แล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าสื่อมวลชนทำงานแบบเอาง่ายเข้าว่าหรือแหล่งข่าวต่างๆ ที่ปรากฏตัวทุกวันนี้ไม่มีความรู้หรือเชื่อไม่ได้ แต่จะบอกว่าวิธีทำข่าวแบบนี้เป็นผลพวงของระบบที่เน้นผลผลิตจากปริมาณและความถี่มากกว่าการทำความเข้าใจกับข้อมูลเชิงลึก นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวคนไหน ทั้งสื่อและสังคมก็ควรตั้งคำถามหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงบ้าง ไม่อย่างนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะผูกขาดความรู้และความน่าเชื่อถืออยู่เพียงกลุ่มเดียว จนสร้างคำคมเก๋ๆ อย่าง ‘วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด’ เป็นมีมมาให้แชร์กันอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้ขยายความบริบทและเงื่อนไขแวดล้อม

ที่สำคัญ เมื่อบรรยากาศที่หล่อหลอมการทำงานของสื่อมวลชนคือการสกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกทิศทาง ถ้าไม่ไปหาแหล่งข่าวที่คุ้นเคยหรือคนที่พร้อมจะพูด โอกาสที่จะได้คำตอบหรือข้อมูลก็อาจจะไม่มีเลย แล้วจะเอาอะไรมานำเสนอเพื่อแข่งกับสื่อสำนักอื่นๆ หรือคนดังในโลกโซเชียล

หากไปตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือค้นคว้าอะไรลึกซึ้งมากมาย นอกจากจะหาข้อมูลไม่ได้ง่ายๆ แล้ว ผู้บริหารที่ใส่ใจต่อ ‘ความอยู่รอด’ ขององค์กรธุรกิจมากกว่าการเป็นสถาบันทางสังคมที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยก็อาจจะไม่ปลื้มนัก ไหนยังจะเสี่ยงทัวร์ลงจากแฟนคลับบางกลุ่ม แถมอาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและถูกลงโทษหนักอีกถ้า (ร่าง) พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ ฉบับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมุ่งมั่นที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลด้าน ‘ความมั่นคง’ ถูกนำมาใช้

ขนาดกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ยังไม่ออกมา บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นยังถูกจำกัด รายงานของประชาไทเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ มีบุคคลสาธารณะและคนทั่วไปอย่างน้อย 8 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 เนื่องจากวิจารณ์การจัดการวัคซีนโควิดของรัฐ ยังไม่นับที่รองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณ มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปอท. เฝ้าระวัง ‘ข่าวปลอม’ ที่จะทำให้สังคมเข้าใจผิด สับสน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล หากใครตั้งคำถามหรือวิจารณ์ไปแล้วหน่วยงานรัฐเห็นว่าเป็นข่าวปลอมขึ้นมา จะถูกจับก่อนหรือเปล่า และกว่าจะได้ไปสู้คดีกันในชั้นศาลก็ไม่ต้องรู้รอถึงเมื่อไหร่

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความเป็นความตายทั้งในระยะใกล้และในอนาคตเป็นเดิมพัน ทุกคนในสังคมต้องได้รับข้อเท็จจริงและข้อมูลเปิด (open data) ที่เข้าถึงได้ง่าย กระจ่าง หลายมุมมอง และทันต่อสถานการณ์เพื่อจัดการกับชีวิตของตนและอนาคตของประเทศ ไม่ใช่เพียงชูป้ายกระดานระบุจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยสะสมรายวันเป็นหลัก หรือขยี้ดราม่าคนนั้นทะเลาะกับคนนี้เรื่องการ ‘ทำดี’ เพื่อสงเคราะห์คนยาก

สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ รวมถึงเสรีภาพในการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤติของสังคม ความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาไม่ควรกระจุกอยู่ที่ผู้มีอำนาจในการบริหารและผู้ถือครองข้อมูลข่าวสาร สื่อจะผลิตซ้ำวาทกรรมของรัฐบาลที่เพียรบอกว่า ‘อย่าทะเลาะกัน’ หรือ ‘อย่าเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง’ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะการเมืองกำหนดนโยบายสาธารณะซึ่งมีผลต่อชีวิตของทุกคน ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะรัฐบาลหรือนักการเมือง

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ต้องมีทรัพยากรและสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและสื่อสารข้อมูลสาธารณะเพื่อให้สามารถตีแผ่ปัญหาทุกแง่มุมและเป็นเวทีให้ประชาชนได้อภิปรายและมีส่วนร่วมเพื่อหาทางออก ไม่ใช่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือเห็นเรื่องนี้เป็นเพียงนาฏกรรมทางสังคมที่นำมาขายเป็นข่าวได้ โดยไม่เชื่อมโยงว่าเราจะปรับเปลี่ยนระบบและวัฒนธรรมที่ผลักให้คนกลุ่มใหญ่ต้องเสียเปรียบในทุกทางได้อย่างไร.

ปล. ขอตั้งข้อสังเกต (ที่บางท่านอาจจะมองว่ากวนประสาท) ต่อการที่องค์กรสื่อหลายสำนักโหมรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนกันใหญ่ ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนที่มีในขณะนี้ การจัดหาวัคซีน และมาตรการป้องกันการระบาดอื่นๆ ได้ถูกนำมาอธิบายและถกเถียงอย่างกระจ่างและรอบด้านหรือยัง อย่างนี้จะเรียกว่าสื่อ ‘เลือกข้าง’ ได้หรือเปล่า

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการบอกว่าการรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ก็อยากให้สื่อมวลชนตรวจสอบรัฐและช่วยหาคำตอบที่ค้างคาใจประชาชนให้กระจ่างตามบทบาทที่ถูกคาดหวังในสังคมประชาธิปไตยด้วย และถ้าบอกว่างานนี้เลือกข้างได้เพราะมาจากการอ้างอิงข้อมูล ‘วิทยาศาสตร์’ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ สื่อมวลชนก็น่าจะรณรงค์ ‘ไม่ยอมรับรัฐประหาร’ ได้เหมือนกันหรือเปล่า (ไม่ได้บอกว่าต้องทำเมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว) เพราะการศึกษาไม่น้อยก็ชี้ว่ารัฐประหารไม่เป็นผลดีต่อชีวิตของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างไร และผลการวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็เป็นองค์ความรู้ที่สังเคราะห์อย่างเป็นระบบแบบหนึ่งเหมือนกัน.


อ้างอิง

ตัวอย่างการรายงานข่าวเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข

Early Data Shows African Americans Have Contracted and Died of Coronavirus at an Alarming Rate

COVID-19 Took Black Lives First. It Didn’t Have To.

How COVID-19 Hollowed Out a Generation of Young Black Men

As Coronavirus Deepens Inequality, Inequality Worsens Its Spread

How Inequity Gets Built Into America’s Vaccination System

ตัวอย่างฐานข้อมูล-งานวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด

The COVID Tracking Project

THE COLOR OF CORONAVIRUS: COVID-19 DEATHS BY RACE AND ETHNICITY IN THE U.S.

Who Is Most Likely to Die From the Coronavirus?

A State-by-State Look at Coronavirus in Prisons

นักวิชาชีพสื่อถอดบทเรียนการรายงานเรื่องการระบาดของโควิด-19 และวัคซีน

What has journalism learned from the pandemic?

Using data to illustrate COVID-19’s impact on vulnerable communities

Op-ed: How to cover vaccine hesitancy

Political warfare, inequity, and insufficient data in coverage of the vaccine rollout

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save