fbpx
ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง : ตำนานแห่งมงฟอร์ต

ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง : ตำนานแห่งมงฟอร์ต

กษิดิศ อนันทนาธร (ม.ว. 27889) เรื่อง

ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง (Joseph Andre’ Gueguen)
ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง (Joseph Andre’ Gueguen)
(26 ตุลาคม ค.ศ.1921 – 17 กรกฎาคม ค.ศ.2018)

ในโลกสมัยนี้ จะมีคนสักกี่คนที่ใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น ซึ่งไม่ใช่คนร่วมชาติของตน แต่เป็นคนต่างชาติต่างภาษา  ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตของตนตามอุดมคติอย่างแน่วแน่ด้วยศรัทธา

ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง แห่งโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นคนจำนวนน้อยซึ่งมีปรากฏให้โลกได้แลเห็นถึงอุดมคติที่สามารถปฏิบัติได้  บราเดอร์อุทิศชีวิตให้กับพระเจ้าตามที่ท่านนับถือ และใช้ชีวิตเพื่อการศึกษาของเยาวชนไทยเป็นเวลานานถึง 70 ปี ก่อนที่จะกลับไปหาพระเจ้าของท่าน

โดยท่านปฏิบัติงานที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยนานถึง 54 ปี ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของอายุโรงเรียน  จนกลายเป็นตำนานของโรงเรียนที่ศิษย์เก่ารุ่นแล้วรุ่นเล่าจะนึกถึงอยู่เสมอ เวลานักเรียนไปเจอผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์เก่า คำถามหนึ่งที่พบเสมอคือ “บราเดอร์อังเดรยังอยู่ไหม เป็นอย่างไรบ้าง”

ผู้เขียนเองใช้ชีวิตมัธยมปลายที่โรงเรียนแห่งนี้ เมื่อบราเดอร์อายุมากแล้ว จึงไม่ได้คุ้นเคยใกล้ชิด หรือสนทนาวิสาสะกับท่าน แต่ได้เห็นวัตรปฏิบัติอันงดงามของบราเดอร์อยู่เสมอ จนเป็นการสอนจากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

เมื่อบราเดอร์ตายจากไป จึงขอร้อยเรียงอักษรในบทความนี้ต่างเครื่องบูชารำลึกถึงท่าน ชายผู้รักโรงเรียนมงฟอร์ตเป็นชีวิตจิตใจ  ผู้มีความ “อิ่มเอิบ อบอุ่น อารี มีคุณธรรม คุณภาพสากล”[1]  และเป็นต้นแบบของนักเรียนมงฟอร์ตมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และหวังว่าจะตลอดไป

'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง
‘บราเดอร์อังเดร’ ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง

เกิดและโตที่ฝรั่งเศส

บราเดอร์อังเดรเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921)  ในครอบครัวชาวนา ณ หมู่บ้านเล็กๆ ทางตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส

บราเดอร์เข้าเรียนในโรงเรียนประจำท้องถิ่นของรัฐบาล เมื่ออายุได้ 7 ขวบ  หลังจากนั้นพออายุได้ 10 ปี จึงย้ายมาเข้าโรงเรียนซึ่งดำเนินงานโดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล

ครั้นอายุ 17 ปี จึงบวชเป็นบราเดอร์ โดยปฏิญาณตนว่าจะตั้งมั่นอยู่ในการถือศีลความยากจน ศีลพรหมจรรย์ และถือศีลความนบนอบ  โดยบราเดอร์เคยกล่าวถึงประวัติของท่านเองไว้ว่า “เป้าหมายในชีวิตข้าพเจ้าคือ ช่วยสอนหนังสือเด็กชนบทยากจน เมื่ออายุได้ 17 ปี คือหลังจากผ่านการฝึกอบรมเตรียมตัวเป็นนักบวช 5 ปี ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิญาณตัวเป็นนักบวชภราดาคนหนึ่งในคณะเซนต์คาเบรียล

ในปีถัดมา (ค.ศ. 1939) บราเดอร์เริ่มสอนหนังสือในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  โดยนักเรียนของบราเดอร์ส่วนใหญ่ต้องการเป็นครู ซึ่งพวกเขาเป็นคนค่อนข้างฉลาดและขยันหมั่นเพียร ต่อมาภายหลังนักเรียนของบราเดอร์บางส่วนก็เข้ามาช่วยงานของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย

'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็งรับศีลมหาสนิท เมื่ออายุ 11 ปี
รับศีลมหาสนิท เมื่ออายุ 11 ปี

เข้ามาทำงานที่ประเทศไทย

         

ครั้นถึง พ.ศ. 2491 บราเดอร์อังเดรขอเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นคณะภราดาในประเทศไทยก็มีไม่มาก และส่วนใหญ่ค่อนข้างชรา  บราเดอร์เดินทางโดยเรือใช้เวลา 4 สัปดาห์จึงมาถึงกรุงเทพฯ  โดยมีบราเดอร์อาวุโสหลายคนมาต้อนรับที่ท่าเรือ

ต้น พ.ศ. 2492  บราเดอร์วัย 27 ปี เริ่มสอนในโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ในวิชาพิมพ์ดีดและการบัญชี นับได้ว่าทุกอย่างใหม่หมดสำหรับบราเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นวิชาและภาษา บราเดอร์สอนที่นี่เป็นเวลา 6 ปี

หลังจากนั้นบราเดอร์ได้ไปพักผ่อนช่วงสั้นๆ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และอัสสัมชัญศรีราชา แล้วจึงกลับไปสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นเวลาเกือบ 10 ปี  ท่านสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ในระดับชั้น ม.7 และ ม.8 (เทียบเท่ากับชั้น ม.5 ถึง ม.6 ในปัจจุบัน) โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ

จนถึงวันหนึ่งใน พ.ศ. 2507 หลังอาหารเย็น ภราเดอร์จอห์น แมรี่ (อธิการเจ้าคณะฯ) เข้ามาหาบราเดอร์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บอกให้บราเดอร์ให้เก็บกระเป๋าย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

บราเดอร์จึงมาประจำอยู่ที่โรงเรียนมงฟอร์ตจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต  อย่างไรก็ดี แม้ช่วงหลังชราภาพจะครอบงำมากแล้ว แต่บราเดอร์ยังคงพร้อมปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ ดังที่เคยเขียนไว้เมื่อตอนอายุ 84 ปีว่า “ข้าพเจ้าได้ทำงานอยู่ที่โรงเรียนมงฟอร์ตมากว่า 40 ปี แล้ว แต่ถ้าเมื่อใดที่ภราดาเจ้าคณะแขวงสั่งย้ายข้าพเจ้าไปที่ไหนๆ ไม่ว่าเวลาใด ข้าพเจ้าก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งย้ายนั้นทันที จะเป็นที่เชียงใหม่ ลำปาง ศรีราชา หรือที่อื่นที่ใดในโลกนี้ ภราดาทั้งหลายพร้อมเสมอที่จะไปทำงาน ”

'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็งถ่ายเมื่ออายุ 35 ปี (เวลานั้นสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ)
ถ่ายเมื่ออายุ 35 ปี (เวลานั้นสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ)

สอนหนังสือที่มงฟอร์ต

20 มิถุนายน พ.ศ. 2507 บราเดอร์อังเดรในวัย 43 ปี ก็มาถึงเชียงใหม่ โดยได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลสอนเด็กนักเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษา  สอนวิชาเคมี พีชคณิต และฟิสิกส์ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกของโรงเรียนด้วย

เรื่องการสอนหนังสือ บราเดอร์เคยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยเสียดายเวลาที่ใช้เป็นครูสอนหนังสือ ทั้งครูและนักเรียนต้องทำงานหนักด้วยกันทั้งนั้น นอกจากว่าท่านเป็นอัจฉริยะ” กล่าวคือท่านเห็นว่าการสอนหนังสือจะเกิดผลสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของครูและนักเรียน และท่านก็เป็นคนที่เอาจริงเอาจัง สอนลูกศิษย์ด้วยความรักเหมือนลูก จึงเป็นที่รักของนักเรียนทุกรุ่น ดังมีฉายามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Danny Daye’ ‘Super Man’ ‘James Bond’ และ ‘Alain Delon’

 

'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็งในห้องทดลอง วิชาเคมี
บราเดอร์อังเดรในห้องทดลอง วิชาเคมี

 

บราเดอร์อังเดรในวิชาเคมี ซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษ
บราเดอร์อังเดรในวิชาเคมี ซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

ครูฝ่ายปกครอง

บราเดอร์อังเดรเคยทำหน้าที่เป็นครูฝ่ายปกครอง เปรียบเหมือนผู้คุมกฎของโรงเรียนในการจัดการกับนักเรียนที่หาทางแหกกฎของโรงเรียนตามประสาเด็กวัยรุ่น  แต่บราเดอร์ก็ลงโทษนักเรียนด้วยความเมตตาปรานี  วีรกรรมการหลบบราเดอร์อังเดรนั้นเป็นสิ่งที่บรรดาตัวแสบของรุ่นต่างๆ ต้องฝึกฝนกันให้เป็นทุกกระบวนท่า

ท่านขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดกวดขันระเบียบวินัยของนักเรียนทุกกระเบียดนิ้ว  ดังที่มีศิษย์เก่ามงฟอร์ตคนหนึ่งเล่าว่า “ท่านเอาใจใส่นักเรียนตั้งแต่หน้าประตูโรงเรียนและติดตามไปทุกมุมของโรงเรียน ไม่มีพื้นที่ไหนที่พวกเราจะรอดสายตาบราเดอร์อังเดรได้เลย ผมยาว เล็บยาว เสื้อผ้าไม่ถูกระเบียบ มาสาย โดดเรียน บราเดอร์อังเดร ตามตัวทุกคนมาอยู่เย็น[2] ซึ่ง ‘อยู่เย็น’ ในที่นี้หมายถึงการอบรมหลังเวลาเลิกเรียนปกติ

ชายชาวฝรั่งเศสที่ถือโทรโข่งในมือ ท่ามกลางนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง ในสภาพยอมจำนน คือภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง การลงโทษของท่านที่เด็กๆ จำได้ดี คือ การสั่งให้วิ่งรอบสนามฟุตบอลโรงเรียน two round (2 รอบ)
“ชายชาวฝรั่งเศสที่ถือโทรโข่งในมือ ท่ามกลางนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง ในสภาพยอมจำนน คือภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง การลงโทษของท่านที่เด็กๆ จำได้ดี คือ การสั่งให้วิ่งรอบสนามฟุตบอลโรงเรียน two round (2 รอบ)” – ธวัชชัย กฤติยาภิชาติกุล 

ตำแหน่งบริหาร

จนบราเดอร์อายุ 65 ปี จึงได้ลดบทบาทการสอนลง แต่ยังคงทำหน้าที่เหรัญญิกดูแลการเงินของโรงเรียน และดูแลอาคารสถานที่และพนักงาน

เกี่ยวกับเรื่องเงินทองและความเป็นนักบวช บราเดอร์พูดถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเงินเป็นของตัวเอง แม้จะมีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของโรงเรียน ข้าพเจ้านับและโอนเงินจำนวนหลายล้านบาททุกๆ ปี

ในด้านสาธารณูปโภคของโรงเรียน บราเดอร์เป็นผู้วางระบบน้ำและระบบไฟฟ้าของโรงเรียน เป็นผู้วางแผนซื้อวัสดุและควบคุมการทำงานอย่างเอาใจใส่ใกล้ชิด จึงทำให้ชาวมงฟอร์ตเคยเห็นภาพบราเดอร์ที่ยอดเสาไฟฟ้า หรือไม่ก็ห้องใต้หลังคาเพื่อทำการซ่อมสายไฟฟ้า หรือเดินตรวจตราระบบต่างๆ ในโรงเรียนอยู่เสมอ

ด้านอาคารสถานที่ บราเดอร์มีหลักคิดในการบริหารโรงเรียนให้ร่มรื่นสวยงามเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้  ดังความตอนหนึ่งว่า “แม้ว่าอายุจะมากแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังทำหน้าที่ดูแลความสะอาดอาคารเรียน จัดสนามหญ้าให้เขียวสดใสงามตา และปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ  โรงเรียนต้องดึงดูดความสนใจคนให้มากที่สุด ด้วยการมีอาคารเรียนที่สะอาดหมดจด สวยงามด้วยสนามหญ้าอันเขียวขจี และมีไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงามสะดุดตาสะดุดใจคนผ่านไปมา โรงเรียนต้องเป็นสถานที่อันสะอาดสดสวยงามตาให้มากที่สุด มิใช่เป็นแค่สถานที่ประสาทวิชาความรู้เท่านั้น

บราเดอร์อังเดรยังคงดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต  และถึงแม้ระยะหลังท่านอาจไม่ได้เข้ามาโรงเรียนที่ท่านรัก เพราะร่างกายและสุขภาพที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง แต่ท่านก็จะฝากความห่วงใยเสมอๆ ให้กับคุณครูและมาสเตอร์ที่ดูแลโรงเรียน

'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็งตรวจงาน
ภาพการตรวจงานของบราเดอร์ที่คุ้นตา
บราเดอร์อังเดรกับนักการภารโรง และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ซึ่งท่านผูกพันและดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ
บราเดอร์อังเดรกับนักการภารโรง และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ซึ่งท่านผูกพันและดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ

“ตีกัน ฉันไม่ว่า แต่เหยียบหญ้า ฉันไล่ออก”

ความเอาใจใส่เรื่องภูมิทัศน์ในโรงเรียนของบราเดอร์ทำให้เกิดเป็นประโยคคลาสสิคที่ใครๆ มักพูดกันอยู่เสมอว่าโรงเรียนมงฟอร์ตนี้ ตีกัน ฉันไม่ว่า แต่เหยียบหญ้า ฉันไล่ออก แม้วลีนี้จะเป็นเพียงการเปรียบเปรยความเอาใจใส่ดูแลของบราเดอร์ แต่ก็สะท้อนถึงการสอนให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยเริ่มจากในโรงเรียน

ลูกหม้อของมงฟอร์ตคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “12 ปีที่ผมอยู่โรงเรียน ไม่มีวันไหนที่สนามหญ้าและดอกไม้ในโรงเรียนไม่สวยงาม[3] ซึ่งคนที่เคยใช้ชีวิตในมงฟอร์ตก็คงจะเห็นตรงกันทั้งสิ้น

ตัวผู้เขียนเองหลังจากเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้แล้ว ถ้าต้องเดินบนสนามหญ้า แม้นอกโรงเรียน ก็จะรู้สึกเหมือนกำลังทำบาปอยู่ทีเดียว

และถึงบราเดอร์จะอายุมากแล้ว แต่นักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็มักจะเห็นบราเดอร์เดินตรวจตราความสะอาดเรียบร้อยในโรงเรียน ความสวยงามของสนามหญ้าและแปลงดอกไม้อยู่เสมอ ไม่ว่าในยามปกติหรือในยามที่น้ำท่วมโรงเรียน

บราเดอร์อังเดรในแปลงดอกไม้ในโรงเรียน
บราเดอร์อังเดรในแปลงดอกไม้ในโรงเรียน
แอบถ่าย บราเดอร์อังเดรขับรถเอง เดินลงมาตรวจสวนดอกไม้ ต้นไม้ที่ท่านรัก
แอบถ่าย บราเดอร์อังเดรขับรถเอง เดินลงมาตรวจสวนดอกไม้ ต้นไม้ที่ท่านรัก (24 สิงหาคม 2556)” – ม.ศรัณย์วิทย์ พวงสุวรรณ
มื่อน้ำท่วมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ในปี 2554  บราเดอร์อังเดรในวัย 90 ปี ก็ยังคงเดินตรวจตราความเรียบร้อยในโรงเรียนอยู่เช่นเคย ถึงแม้ว่าเวลานั้นโรงเรียนจะไม่ได้ทำการเรียนการสอนก็ตาม
เมื่อน้ำท่วมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ในปี 2554  บราเดอร์อังเดรในวัย 90 ปี ก็ยังคงเดินตรวจตราความเรียบร้อยในโรงเรียนอยู่เช่นเคย ถึงแม้ว่าเวลานั้นโรงเรียนจะไม่ได้ทำการเรียนการสอนก็ตาม

 

พาหนะคู่กาย

พาหนะคู่กาย 'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง

ในสมัยแรกที่มาสอนที่เชียงใหม่ บราเดอร์มีรถเวสป้าสีแสบตาเป็นพาหนะคู่ใจ  ภาพบราเดอร์ในชุดเสื้อคลุมสีขาวขับมอเตอร์ไซด์ตรวจการณ์รอบบริเวณโรงเรียนเป็นภาพในความทรงจำของนักเรียนในรุ่นก่อน

ต่อมาภายหลังเมื่ออายุมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้รถกระบะ  โดยคันหลังสุดเป็น Toyota Hilux Vigo เลขทะเบียน ‘นค 8872 เชียงใหม่’ ที่เริ่มใช้เมื่อปี 2550 หลังจากต้องปลดระวาง Toyota Hilux MigthyX สีเลือดหมู คันก่อนไปเพราะความเก่า  ซึ่งพวกเรามักได้เห็นบราเดอร์ขับรถกระบะไปมาระหว่างมงฟอร์ตแผนกประถมและมัธยมอยู่เป็นประจำ

พระเจ้าคุ้มครอง

บ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 บราเดอร์ในวัย 89 ปี มาตรวจตราการทำงานของพนักงานในโรงเรียนตามปกติ  วันนั้นบราเดอร์ยืนดูคนงานตัดต้นไม้ที่ตายแล้วบริเวณลานจามจุรี ขณะตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมตามหลักการของผู้ชำนาญ ทันใดนั้นชิ้นไม้ก็หลุดจากต้นแล้วพุ่งเข้าทิ่มหน้าอกของบราเดอร์ที่ยืนห่างออกไปประมาณ 10 เมตร

แต่เหลือเชื่อที่ปลายแหลมของไม้ขนาด 32×19 ซม. ทิ่มลงบนกางเขนขนาด 3×2 ซม. ที่ห้อยติดกับสร้อยของบราเดอร์พอดี ทำให้กางเขนนั้นงอเล็กน้อย แต่บราเดอร์ก็ปลอดภัยจากการทิ่มของไม้ที่จะมาโดนบริเวณลิ้นปี่พอดี

เรื่องบังเอิญเช่นนี้คงเป็นไปตามคำที่ว่า “บุคคลผู้ที่ตั้งมั่นในคุณธรรม และทำความดี พระเป็นเจ้าคุ้มครองเสมอ

ความสุขของ 'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง เมื่ออยู่กับนักเรียน
ความสุขของบราเดอร์เมื่ออยู่ท่ามกลางนักเรียนและศิษย์เก่า

ข้อคิดสำหรับนักเรียน

บราเดอร์เป็นคนที่พูดน้อย แต่ท่านทำมาก เอาใจใส่ในงาน และมีความเที่ยงตรงสม่ำเสมอในทุกเรื่อง  ทำให้แม้นักเรียนรุ่นหลังๆ ที่ไม่ได้เรียนในห้องกับท่าน ก็ได้เรียนรู้ผ่านวัตรปฏิบัติอันสง่างามของท่านอยู่เสมอ

กระนั้นก็ดี เมื่อถึงคราวที่บราเดอร์ให้โอวาท ชาวมงฟอร์ตล้วนได้รับข้อคิดอันแหลมคมจากบราเดอร์เสมอ เช่น ตอนหนึ่งท่านเขียนเมื่ออายุ 84 ปี ว่า “การเรียนหนังสือเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ควรลืมเรื่องการกีฬา ดนตรี ฯลฯ เสียสละ การฝึกอบรมบ่มนิสัยดีงามเป็นเรื่องสำคัญยิ่งไม่แพ้การศึกษาเล่าเรียน หน้าที่ประการเอกของท่าน คือ มีอาชีพการงาน มีชีวิตครอบครัวที่ดี ในฐานะประชาชนพลเมืองดี

และทุกปี เมื่อนักเรียนแต่ละรุ่นสำเร็จการศึกษาจากมงฟอร์ต พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะขอโอวาทจากบราเดอร์มาลงในหนังสือรุ่น ดังเช่นในปีหนึ่ง บราเดอร์ให้ข้อคิดเรื่องความหมายและคุณค่าของชีวิต กับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความตอนหนึ่งว่า

“ในทุกเช้าที่ชีวิตเริ่มต้นเมื่อพวกเธอตื่น จงเปิดใจ อย่าเพียงแต่นั่งนิ่งแล้วทำงาน และเมื่อเธอขาดแรงบันดาลใจ จงทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นโดยที่เขาไม่คาดหวังอะไร เธอจะแปลกใจว่ามันทำให้เธอรู้สึกดีอย่างน่าประหลาดใจ

จงคิดในแง่บวก ในบรรดาหน้าที่ทั้งหลายที่พวกเธอกำลังทำอยู่นั้น ไม่ว่าจะเล่นกีฬา ทำงานอดิเรก หรือรับใช้สังคมเมื่อเธอว่าง พวกเธอจงกระตือรือร้น ตื่นตัวเสมอ และวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้ ออกไปพบผู้คน และทำกิจต่างๆ โดยมองไปที่อนาคตข้างหน้า หลีกเลี่ยงความกังวลใจทั้งหลาย รวมทั้งความเครียดและความกดดัน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เธอไม่มีความสุข แล้วยังทำให้ชีวิตสั้น

ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเธอตื่นในยามเช้าของทุกวัน ด้วยทัศนคติที่ดีและเป็นบวก และถ้ามีโชคสักหน่อย พวกเธอน่าจะอายุยืนถึงร้อยปีได้ไม่ยาก” [4]

จดหมายบา 'บราเดอร์อังเดร' ภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง

ผู้มีชีวิตอยู่กับพระเจ้าในความรัก

บราเดอร์อังเดรนับว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมากแม้ในยามสูงอายุแล้ว คงเป็นเพราะทัศนคติของท่านที่ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเธอตื่นในยามเช้าของทุกวัน ด้วยทัศนคติที่ดีและเป็นบวก และถ้ามีโชคสักหน่อย พวกเธอน่าจะอายุยืนถึงร้อยปีได้ไม่ยาก

แต่ชีวิตและสังขารก็มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ในช่วงท้ายของชีวิต บราเดอร์ก็ตระหนักถึงความข้อนี้ดี โดยได้อำลาบุคคลรอบข้างอยู่เป็นระยะ  ในที่สุดบราเดอร์จากพวกเราไปอย่างสงบ ในวัย 96 ปี คงเหลือไว้แต่ความทรงจำและเรื่องราวของท่านที่จะถูกเล่าขานเป็นตำนานคู่กับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยสืบไป

มีปรากฏในพระคัมภีร์ว่า “บรรดาผู้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์จะมีชีวิตอยู่กับพระองค์ในความรัก เพราะพระเจ้าทรงความรักมั่นคง” (ปรีชาญาณ 3:9)

บราเดอร์อังเดร ผู้อุทิศชีวิตทั้งหมดอย่างซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ผู้อุทิศตนเพื่ออบรมสั่งสอนและให้การศึกษาแก่เยาวชน ย่อมจะชีวิตอยู่กับพระเจ้าในความรักเป็นแน่

พิธีบูชาขอบพระคุณแด่ดวงวิญญาณ ภราดรโยเซฟ อังเดร เกแก็ง ที่หอประชุม St.Joseph Hall โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561

 

หมายเหตุ 

ขอขอบคุณ ม.สุวรรณ อินทรชิต สำหรับประวัติของบราเดอร์และภาพประกอบจำนวนมากจากโรงเรียน

 

รายการอ้างอิง

ข้อเขียนของบราเดอร์อังเดร เมื่ออายุครบ 84 ปี

ประวัติภราดาโยเซฟ อังเดร เกแก็ง

สารจากพระสังฆราชมณฑลเชียงใหม่

เรื่องรถเวสป้า

ภาพและเรื่องรถกระบะ

ภาพน้ำท่วมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ปี 2554

เชิงอรรถ

[1] คุณลักษณะ 5 ประการนี้ เป็นเป้าหมายของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยในการสร้างนักเรียน  ดูเพิ่มเติมที่  ปรัชญา วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และนโยบายของสถานศึกษา 

[2] ดู ข้อเขียนของว่าที่ร้อยตรีณรงค์ชัย จินดาพันธ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 

[3] ดู ข้อเขียนของ Tanapoom Chaimongkol เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561

[4] เป็นคำแปลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save