fbpx
โชเซ มูรินโญ ยอดโค้ช (ที่คนทั้งรักทั้งชัง) ผู้กรุยทางด้วยการเป็นล่ามปากร้าย

โชเซ มูรินโญ ยอดโค้ช (ที่คนทั้งรักทั้งชัง) ผู้กรุยทางด้วยการเป็นล่ามปากร้าย

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คุณว่าจะมีผู้จัดการทีมฟุตบอลสักกี่คน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงเดียวกันว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่เก่งและชาญฉลาดที่สุด ไปพร้อมๆ กับที่ดำรงสถานะคนที่ถูกเหม็นขี้หน้ามากที่สุดคนหนึ่งด้วย

โชเซ มูรินโญ คือคนนั้น เขาคือชายที่พร้อมฟาดปากคนทั้งพรีเมียร์ลีกหากว่านั่นจะทำให้เขารู้สึกพอใจขึ้นมาอีกหน่อย และเป็นต้นธารที่ทำให้นักข่าวกีฬามีพาดหัววลีเด็ดๆ กลับไปเขียนที่บ้านหลังสัมภาษณ์เขา

“พระเจ้าต้องคิดว่าผมเจ๋งมากอยู่แล้วล่ะ ไม่งั้นเขาคงไม่มอบพรสวรรค์มาให้ผมมากขนาดนี้หรอกใช่มะ”

“ผมว่า ริคาร์โด คาร์วัลโญ น่าจะมีปัญหาเรื่องสติปัญญานะ หมอนั่นน่าจะไปลองวัดไอคิวดูหน่อย ไม่ก็ไปเช็คสภาพจิตใจหรืออะไรก็ได้ไป๊”

แน่นอน มูรินโญปากคอเราะร้าย มิหนำซ้ำยังพ่นคำสบถอัดหน้าคู่สนทนาได้อย่างน้อยห้าภาษา ถ้อยคำของเขาจึงฉูดฉาด มีสีสัน บวกกับบุคลิกส่วนตัวที่บางมุมก็ดูเย่อหยิ่ง บางคราวดูเจ้าอารมณ์ และบางครั้งก็เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้ชื่อของมูรินโญไม่เคยห่างหายไปจากหน้าสื่อ แต่เหนืออื่นใดคือฝีมือการคุมทีมที่ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดชายชาวโปรตุเกสคนนี้ ก็คงไม่อาจเห็นแย้งสถิติพาเชลซีคว้าพรีเมียร์ลีกสามสมัย นำถ้วยลีกคัพอังกฤษมาให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือหากฝั่งลาลีกา สมัยที่เขาคุมเรอัล มาดริด ก็เคยกอดคอนักเตะไปคว้าถ้วยแชมป์มาแล้ว

เช่นเดียวกับผู้จัดการและโค้ชบอลหลายคนทั่วโลก มูรินโญมองเกมทะลุปรุโปร่ง แต่หากจะมีอะไรสักอย่างที่มากกว่านั้นสักหน่อย อาจจะเป็นแรงผลักและความผูกพันบางอย่างที่เขามีให้นักเตะแต่ละทีม “ผมชอบที่ได้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้นักเตะ ทั้งในแง่อาชีพหรือชีวิตส่วนตัวพวกเขาก็ตามที บอกได้เลยว่าผมเป็นพลังบวกให้พวกเขาหลายคนเลยล่ะ”

สายสัมพันธ์และความชิดเชื้ออาจเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้มูรินโญค่อนข้างได้ใจนักกีฬา สมัยที่เขาคุมอินเตอร์ มิลาน มูรินโญคือหนึ่งในไม่กี่คนที่นักเตะคุ้มดีคุ้มร้ายอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ยอมให้ความร่วมมือในการทำตามแผน หรือ เวสลีย์ สไนเดอร์ ที่กล่าวยกย่องมูรินโญบนเวทีบัลลงดอร์ปี 2010 ว่ามูรินโญคือ “โค้ชที่ดีที่สุดในโลก” จนเกือบทำมูรินโญน้ำตาร่วง (ในเวลาต่อมา สไนเดอร์บอกว่าเกือบทุกครั้งที่เขาต้องตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ ในชีวิต เขาจะโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาจากมูรินโญก่อนเสมอ “เพราะว่าเขาเป็นคนสำคัญในชีวิตการทำงานของผมน่ะ เวลาผมขอความเห็นอะไรเขา เขาจะให้คำแนะนำที่ดีมากๆ เสมอเลย”)

“ผมว่านี่มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดเลยนะในการกระตุ้นให้นักเตะทุ่มเต็มร้อย หรืออัดพลังไปมากกว่านั้นลงในแต่ละแมตช์” มูรินโญสาธยาย “เพราะบางทีแค่ทุ่มหมดหน้าตักมันก็ไม่พอ และการจะได้อะไรมากกว่านั้นมา คุณต้องมีสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและนักเตะที่แข็งแรง สนิทชิดเชื้อ

“เราต้องเป็นมากกว่าผู้จัดการทีมกับผู้เล่น”

เหมือนเด็กชายชาวโปรตุเกสหลายๆ คน มูรินโญเติบโตมาใต้ร่มเงาอิทธิพลของโลกฟุตบอลจากผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นนักกีฬา เขาเล่าว่าสมัยยังเป็นนักเรียน เด็กชายมูรินโญจะวิ่งเตะฟุตบอลในสนามหน้าโรงเรียนจนโดนตะเพิดให้กลับบ้าน (หรือไม่ก็ “ไปเข้าเรียนซะไป”) และเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยตรงในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงลงคอร์สการเป็นโค้ชและลงแข่งฟุตบอลระหว่างเรียนด้วย (อย่างไรก็ตาม ยิ่งเรียน ชีวิตการเป็นนักเตะมือสมัครเล่นก็ยิ่งน่าอดสู ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจมุ่งมั่นกับการศึกษาเรื่องโค้ชและการจัดการทีมอย่างจริงจังมากว่า)

นั่นอาจจะเป็นจุดแข็งที่มูรินโญมี แต่นอกเหนือจากนั้น คือเส้นทางการเริ่มต้นอาชีพในสายฟุตบอล (หากไม่นับการเรียนด้านกีฬามาก่อน) ด้วยการเป็นล่ามให้เซอร์ บ็อบบี ร็อบสัน ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษสมัยที่เข้ามาคุมทีมในลีกของโปรตุเกส–บ้านเกิดของมูรินโญ–ในปี 1992 กล่าวกันว่า มูรินโญไม่เพียงแต่ทำหน้าที่คนแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสให้ร็อบสันเท่านั้น แต่มักจะถกเถียง พูดคุยเรื่องเทคนิคฟุตบอลจิปาถะกับร็อบสันอยู่บ่อยๆ บวกกันกับที่มูรินโญโตในครอบครัวนักกีฬา และเห็นแบบแผนการเล่นฉบับโปรตุเกสเนื้อๆ เน้นๆ มาโดยตลอด วิธีคิดและแบบแผนของร็อบสันที่ส่งตรงมาจากอังกฤษจึงถือว่าเปิดหูเปิดตาเขาไม่น้อย (เขาเคยเปรยๆ ว่าร็อบสันมีเกมบุกแบบอังกฤษ ส่วนเขาก็ชอบเอาเกมรับแบบโปรตุเกสไปคุยด้วย) ร็อบสันเคยออกปากว่า มูรินโญมักจะแกร่วอยู่ในสนามกับเขาแม้ว่าการแข่งขันหรือการซ้อมจะจบลงไปแล้ว แค่เพื่อจะคุยกับเขาเป็นการส่วนตัวว่าเทคนิคไหนน่าจะ เวิร์กในเกมถัดไปบ้าง 

“เขาเคยหายไปพักนึงแล้วกลับมาพร้อมตำรากลยุทธ์ซึ่งเฉียบมากจริงๆ” ร็อบสันว่า “เขาสรรหารายงานและเทคนิคดีๆ มาให้ผมเยอะมาก แล้วอย่าลืมว่าตอนนั้นเขาเพิ่งจะอายุต้นๆ 30 ได้ ไม่เคยลงเล่นในแมตช์ใหญ่ๆ และไม่เคยได้โค้ชใครมาก่อน แต่กลับไปหารายงานที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้รับมาให้ผมจนได้”

โลร็องต์ บลังก์ นักเตะชาวฝรั่งเศสที่เคยลงเล่นให้บาร์เซโลนา จำวันทีเขาเจอ ล่ามหนุ่มของร็อบสันได้ดี เพราะบลังก์เป็นหนึ่งในคนที่ต้องสนทนาผ่านมูรินโญเพื่อจะคุยกับโค้ช “ร็อบสันพูดภาษาสเปนได้น้อยมากๆ ก็ได้มูรินโญนี่แหละที่คอยช่วยไว้ ก็อย่างว่านะ หมอนั่นพูดได้ตั้งห้าภาษา

“มันมีอยู่ครั้งนึง พวกเรานักเตะขอให้ร็อบสันเปลี่ยนระบบการฝึกซ้อมให้เราหน่อย ปรากฏว่าร็อบสันหันไปมอบหมายให้มูรินโญออกแบบการฝึกซ้อมให้เราเพราะเขาพูดรู้เรื่อง ผมว่าทักษะ (การวางแผน) ของมูรินโญเริ่มจากตรงนั้นแหละ”

ร็อบสันย้ายออกจากบาร์เซโลนาไม่นานหลังจากนั้น ซึ่งหนนี้มูรินโญไม่ได้ตามไปด้วย และโค้ชคนต่อไปที่เขาต้องทำหน้าที่เป็นล่ามให้คือ หลุยส์ ฟาน กัล โค้ชชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งพูดภาษาดัตช์และภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว–น่าเสียดายที่ทั้งสองภาษานั้นไม่มีใครใช้ในดินแดนกาตาลันแห่งนี้ ฟาน กัล พบว่าพ่อหนุ่มนักแปลที่พูดได้หลากภาษาคนนี้ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ เครื่องแปลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีบุคลิกเฉพาะตัวบางอย่าง 

“เขาเป็นคนหนุ่มที่อวดดีเชียวล่ะ ไม่เคารพคนที่ความอาวุโสหรือตำแหน่ง แต่ผมชอบนะที่เขาเป็นแบบนี้” ฟาน กัลว่า “เขาไม่ใช่คนอ่อนน้อมอะไรเท่าไหร่ ลองเขาคิดว่าผมผิดขึ้นมา เขาเป็นต้องแย้งแบบหัวชนฝา จนในที่สุด ผมต้องเป็นฝ่ายยอมฟังว่าเขากำลังจะบอกอะไรมากกว่าที่ผมเคยฟังผู้ช่วยโค้ชทั้งชีวิตผมอีก” และในเวลาต่อมานี่เอง ฟาน กัลคือหนึ่งในแรงผลักสำคัญที่ทำให้มูรินโญตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพโค้ชเมื่อสโมสรเบนฟิกาจากโปรตุเกสบ้านเกิดติดต่อให้เขากลับไปเป็นผู้ช่วยโค้ช แต่ฟาน กัลยั้งไว้ “บอกเบนฟิกาซะว่านายจะกลับไปถ้าได้เป็นโค้ช แต่ถ้าจะไปเป็นแค่ผู้ช่วยละก็ อยู่ต่อซะที่นี่เถอะ”

ขณะที่ ชาร์บี เฮอร์นันเดส นักเตะจากบาร์ซายืนยันเรื่องนี้ว่ามูรินโญเป็นมากกว่าคนแปลภาษา “เขาเป็นผู้ช่วยโค้ชเลยด้วยซ้ำ เขาเข้าอกเข้าใจศาสตร์ของฟุตบอลแบบบาร์ซามากเลยนะ พวกนักเตะเคารพเขาจะตายไป บางครั้งเขาก็ไปร่วมซ้อมเดี่ยวกับทีมบี (ทีมรองในดิวิชั่นเดียวกันของทีมใหญ่) ซึ่งเขายินดีปรีดามากๆ”

กลับมายังทักษะแบบมูรินโญสไตล์ จะพบว่ารูปแบบการอ่านเกมของมูรินโญนั้นผสมผสานหลายสายเข้าด้วยกัน มากไปกว่านั้นคือทักษะการสื่อสารที่เขาให้ความสำคัญเต็มร้อย เป็นที่รู้กันดีว่ามูรินโญมีเบอร์โทรศัพท์นักเตะทุกคน และไม่ลังเลเลยหากจะยกหูไปเพื่อถามไถ่คุณภาพชีวิต ทั้งในอาชีพค้าแข้งหรืออาชีพส่วนตัว และก่อนหน้าลงเตะอย่างน้อยสามวัน เขาจะนัดเจอหน้านักกีฬาทุกคนเพื่อพูดคุยจิปาถะ–(ยัง)ไม่ใช่แผนการเล่นเกม

“ปกติผมมักจะคุยเรื่อยเปื่อยแล้วพูดปลุกใจในช่วงท้ายน่ะ สำหรับผม การเล่นแบบเป็นทีมมันสำคัญมาก มันคือทุกสิ่ง นักเตะแต่ละคนอยู่ในสนามก็เพื่อเล่นให้ทีม ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ทุ่มทุกอย่างให้ทีม เว้นแต่บางสถานการณ์ที่เรียกร้องให้คุณปะทะตัวต่อตัวกับผู้เล่นอีกทีมน่ะ 

“แล้วเวลาก่อนหน้าลงเตะ เราก็คุยกับนักกีฬาอีกที คิดและทบทวนแผนการเล่นอีกที จนพอพักครึ่งน่ะแหละที่จะยากขึ้นมาอีกมหาศาล คุณต้องอ่านเกมให้ขาด อ่านความรู้สึกนักเตะ คาดการณ์ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดในสนามบ้าง เอาจริงๆ มันใช้สัญชาตญาณมากกว่าหลักการอีกนะผมว่า”

มูรินโญเอาจริงเอาจังเรื่องการสนทนากับคนในทีมมาก อาจเพราะเคยประสบด้วยตัวเองแล้วว่าการสื่อสารไม่ได้อย่างใจนั้นลำบากขนาดไหนในสมัยที่เขายังเป็นล่าม งานอดิเรก (ที่ก็ไม่อดิเรกเท่าไหร่) ของมูรินโญคือการทุ่มเทให้กับการเรียนภาษาอย่างจริงจัง สมัยที่เขาย้ายไปคุมทีมในอิตาลี เขาหมกมุ่นอยู่กับการเรียนภาษาไม่ต่างจากการวิเคราะห์รูปแบบเกมของแต่ละทีม “ผมเรียนภาษาอิตาลีวันละห้าชั่วโมงนานตั้งหลายเดือน ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้คุยกับนักเตะ สื่อมวลชน แล้วก็แฟนบอลได้รู้เรื่อง” เขาว่า (ก่อนจะหันไปแซะ เคลาดิโอ รานิเอรี โค้ชชาวอิตาเลียนว่า “ดูอย่างรานิเอรีสิ อยู่อังกฤษมาตั้งห้าปีแล้วยังพูดอรุณสวัสดิ์หรือสวัสดียามเที่ยงไม่ค่อยจะได้เล้ย”)

ทุกวันนี้ มูรินโญมาไกลมากๆ จากพ่อหนุ่มนักแปลภาษาผู้ช่วยโค้ชคนนั้น เขากลายเป็นหนึ่งในโค้ชที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกเท่าๆ กับที่ อื้อฉาวมากที่สุดคนหนึ่งเช่นกัน แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปนัก เขายังยึดมั่นในการใส่ใจนักเตะ หมกมุ่นกับการขุดหาข้อมูล ตื่นเช้าและบึ่งไปที่สโมสรตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งทุกวัน “คุณอาจจะเรียกผมว่าเป็น ไอ้จิ้งจอกแก่หรืออะไรก็ได้ แต่ผมไม่สนหรอก ไม่มีอะไรที่ผมต้องกังวล 

“ก่อนนี้ผมเคยโค้ชเด็กอายุ 16 ตอนนี้ผมได้โค้ชนักเตะชั้นนำของโลก และผมพบว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การที่คุณเตรียมรับมือกับแต่ละเกมยังไง แต่เป็นสายสัมพันธ์ที่คุณมีให้นักกีฬาในทีมต่างหาก แน่ล่ะว่าคุณต้องมีความรู้ ต้องวิเคราะห์สารพัดสิ่ง แต่หัวใจสำคัญคือความสัมพันธ์และความเห็นใจที่คุณมีให้นักเตะ ให้ทีมต่างหาก”

 

อ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=wZPjwbIOnno

https://www.thesun.co.uk/sport/football/10385199/jose-mourinho-barcelona-man-utd-tottenham/

https://www.soccerladuma.co.za/news/articles/international/categories/english-premier-league/jose-mourinho-was-more-than-a-translator-at-barcelona/198783?next=true

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save