fbpx
Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

‘นรา’ เรื่อง

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

ภาพจำแรกสุดที่ผมมีต่อตัวละครโจ๊กเกอร์ เป็นผลงานการแสดงของซีซาร์ โมเรโร จากซีรีส์ Batman ที่สร้างขึ้นระหว่างปี 1966-1968 (ในเมืองไทยน่าจะออกอากาศทางโทรทัศน์คล้อยหลังจากนั้นหลายปี หรืออาจเป็นไปได้ว่า ที่ผมโตทันได้ดูนั้นเป็นการนำมาฉายซ้ำ)

Batman ฉบับดังกล่าว เป็นแอ็คชันปนตลกในลักษณะทีเล่น ดูแล้วก็สัมผัสได้ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นว่ากระป๋องกระแป๋งครื้นเครงเฮฮา ตัวละครโจ๊กเกอร์ก็เป็นผู้ร้ายแบบตัวการ์ตูนในหนังสำหรับเด็ก ปราศจากฤทธิเดช ไม่มีความน่าสะพรึงกลัวใดๆ เลย

ภาพจำนี้ติดประทับในความรู้สึกกินเวลายาวนาน ไม่เฉพาะกับผมเท่านั้น แต่น่าจะครอบคลุมไปถึงผู้ชมทั่วโลก จนกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นฮือฮากันมาก เมื่อได้ดูหนังเรื่อง Batman ฉบับยกเครื่องใหม่ในปี 1989 โดยฝีมือการกำกับของทิม เบอร์ตัน และการสวมบทบาทเป็นโจ๊กเกอร์ของแจ็ค นิโคลสัน

ถ้านำหนังเรื่อง Batman ฉบับทิม เบอร์ตันมาดูกันในปัจจุบัน จะพบว่ามีความหน่อมแน้มไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงเวลาที่หนังแรกเริ่มออกฉาย ถือได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญที่แผ้วถางเส้นทางสายใหม่ให้กับหนังชุดนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้มีความจริงจัง สร้างเหตุผลที่มาที่ไปให้กับบรรดาตัวละครหลักๆ ทั้งฝ่ายตัวเอกและตัวโกง และทำให้คำว่า ‘ด้านมืด’ กลายเป็นศัพท์ฮิตติดตลาดในแวดวงนักดูหนังมาจนถึงทุกวันนี้

โจ๊กเกอร์โฉมใหม่จากการตีความและแสดงโดยแจ็ค นิโคลสัน โดดเด่นได้รับคำชมมาก ในการผสมผสานระหว่างลีลาทีเล่นกับทีจริงอย่างเหมาะเจาะกลมกลืน ด้านหนึ่งก็มีความเป็นการ์ตูนในแบบที่ผู้ชมคุ้นเคย แต่พร้อมๆ กันนั้นก็มีความขึงขังจริงจัง กลายเป็นตัวละครที่น่าสะพรึงกลัวในสัดส่วนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความเชื่อของผมและใครๆ หลายคนในเวลานั้น (ซึ่งต่อมาเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผิดกระจุยกระจายแบบน่าให้อภัย เพราะไม่อาจหยั่งรู้อนาคตได้) ก็คือ ด้วยมาตรฐานที่แจ็ค นิโคลสันฝากฝีมือเอาไว้ ยากที่จะมีนักแสดงคนไหนจะนำพาบทบาทตัวละครโจ๊กเกอร์ไปไกลและดีกว่านี้ได้อีก

จนถึงปี 2008 ฮีท เลดเจอร์ก็มอบการแสดงระดับสุดยอดและน่าประทับใจ ทำให้โจ๊กเกอร์กลายเป็นจอมวายร้ายซึ่งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ผู้ชมอย่างถึงที่สุด กลายเป็นตัวละครที่มืดหม่นและวิปลาสสมบูรณ์แบบ ไม่หลงเหลือร่องรอยทีเล่นอยู่เลย (อันที่จริง ลักษณะทีเล่นและอารมณ์ขันของโจ๊กเกอร์ฉบับฮีท เลดเจอร์ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้มีเพื่อทำหน้าที่สร้างเสียงหัวเราะ ตรงกันข้าม มันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเน้นให้ตัวละครนี้ทวีความร้ายกาจน่ากลัว)

เป็นอีกครั้งที่ผมและผู้คนจำนวนมาก เกิดความเชื่อพร้อมทั้งลงความเห็น (เพื่อที่จะผิดซ้ำสอง) ว่า ฮีท เลดเจอร์ทำให้ตัวละครโจ๊กเกอร์พัฒนาจนบรรลุถึงขีดขั้นสูงสุด จนกลายเป็นเรื่องยากมากๆ และไม่น่าจะมีนักแสดงคนไหนสามารถทำได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว

นี่ยังไม่นับรวมว่า ไตรภาคอันประกอบไปด้วย Batman Begins (2005) The Dark Knight (2008) และ The Dark Knight Rises (2012) จากฝีมือการกำกับของคริสโตเฟอร์ โนแลน ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนัง Batman ฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่สร้างกันมา (จนถึงขณะนี้นะครับ ผมนั้นเดาผิดมาเนืองๆ จนสมควรที่จะมีบทเรียนในการพูดอะไรให้รัดกุมขึ้น) โนแลนทำให้ผลงานชุดนี้ มีความจริงจังยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา ทั้งความหนักแน่นเข้มข้น ตัวละครมีมิติลงลึก ขณะเดียวกันก็ยังคงความสนุกตื่นเต้นเร้าใจเอาไว้ได้ครบครัน

ด้วยสภาพความเป็นไปโดยรวมข้างต้น ส่งผลให้ทันทีที่มีการประกาศตัวสร้างหนังเรื่อง Joker กำกับโดยท็อดด์ ฟิลิปส์ เป็นภาคแยกต่างห่างออกจากหนังชุด Batman และมีฮัวคิน ฟินิกซ์มารับบทเป็นโจ๊กเกอร์ งานชิ้นนี้ก็ได้รับการจับตามอง เป็นที่รอคอย และกลายเป็นที่คาดหวังล่วงหน้าเอาไว้สูงลิบลิ่ว (ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าข่ายนี้)

ประเด็นที่ผมให้ความสนใจล่วงหน้าก่อนดูคือ อย่างแรกเป็นความอยากรู้อยากเห็นว่า หนังจะสร้างที่มาที่ไปอย่างไร? ในการบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางความเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่มีลักษณะเป็นผ้าขาว เป็นคนดี จนกระทั่งข้ามเขตแดนล่วงเลยไปสู่การเป็นจอมวายร้าย

ถัดมาคือ ความกระหายใคร่รู้ว่า ฮัวคิน ฟินิกซ์จะนำพาตัวละครโจ๊กเกอร์ไปสู่รูปโฉมใด และทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน?

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

เมื่อได้ดูหนังเรื่อง Joker จบลง กล่าวสรุปโดยรวมได้ว่า หนังทำออกมาผิดแผกไปจากที่ผมนึกคะเนคร่าวๆ อยู่เยอะพอสมควร

ตามความคุ้นเคยของผม หนังที่มีเค้าโครงว่าด้วยการก้าวข้ามเส้นแบ่งผิดชอบชั่วดีของตัวละคร จากบุคคลที่ไม่มีพิษมีภัยใดๆ กลายมาเป็นตัวอันตราย มักเริ่มต้นดำเนินไปแบบนับหนึ่งจนถึงสิบ ค่อยๆ แสดงเหตุผลที่มาที่ไปทีละลำดับขั้น จนกระทั่งเข้าสู่ด้านมืดเต็มตัวในบั้นปลาย

หนังเรื่อง Joker ก็เป็นไปตามครรลองนี้ ผิดแผกแตกต่างเพียงแค่ว่า จุดเริ่มต้นของตัวละครไม่ได้เป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวง หรือพูดอีกแบบ มันไม่ได้เริ่มต้นที่การนับหนึ่ง

หากจัดลำดับเทียบเคียงความดีความร้ายของตัวละคร โดยเริ่มจากหนึ่งถึงสิบ โจ๊กเกอร์ที่เราพบเห็นในหนัง เริ่มต้นปรากฏตัวที่ประมาณขั้น 6 แล้วนะครับ

กล่าวคือ หนังเปิดฉากเริ่มเรื่อง ขณะอาเธอร์ เฟล็คยังไม่ได้กลายเป็นโจ๊กเกอร์ แต่ก็มีแนวโน้มหลายๆ อย่างเพียบพร้อมที่จะก้าวข้ามเส้นไปเป็นเช่นนั้นได้โดยง่าย ตั้งแต่ความป่วยไข้ทางจิตใจ ต้องประคับประคองอาการโดยพบจิตแพทย์และกินยาอยู่ตลอดเวลา มีความใฝ่ฝันแรงกล้าอยากเป็นนักแสดงตลกแบบเดี่ยวไมโครโฟน แต่ไม่ตระหนักว่าตนเองขาดคุณสมบัติ ปราศจากศักยภาพที่จะทำให้ความปรารถนานั้นปรากฏเป็นจริง ซ้ำร้ายสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ กลับเลวร้ายย่ำแย่ ห่างไกลจากการเป็น ‘ดาวตลก’ และเป็นเพียง ‘ตัวตลก’ ถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยผู้คนรอบข้าง

อาเธอร์แทบว่าจะกลายเป็นคนต่ำต้อยที่ไร้ตัวตน ไม่มีใครยอมรับ กระทั่งไม่มีใครรับรู้ถึงการมีอยู่ของเขา มีเพียงเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนแคระ ซึ่งสถานะความเป็นอยู่ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไร เป็นเพียงคนเดียวที่ไม่เคยทำตัวร้ายกาจกับอาเธอร์ และแสดงความกังวลห่วงใยอยู่ห่างๆ โดยไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้มากไปกว่านั้น

อีกคนหนึ่งซึ่งทำให้ชีวิตของอาเธอร์ ยังไม่ถึงกับเคว้งคว้างไร้ที่ยึดเหนี่ยวไปโดยสิ้นเชิงก็คือ เพนนี เฟล็ค แม่ผู้ป่วยไข้ของเขาเอง

พ้นจากนี้แล้ว ยังมีหญิงสาวแม่ลูกติดชื่อโซฟี ดูมอนด์ เพื่อนบ้านห้องข้างเคียงที่เพิ่งย้ายเข้ามาพำนักอาศัยได้ไม่นาน ซึ่งอาเธอร์ได้พบและรู้จักในลิฟต์ และปรารถนาจะคบหาผูกพันกันในฐานะคนรัก

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

การเริ่มต้นแบบผิดคาดที่เล่ามาข้างต้น ผมคิดว่าเป็นความเก่งกาจของผู้กำกับ การเขียนบทผูกเรื่อง และฝีมือของนักแสดงในบทนำนะครับ ทิศทางและจุดเริ่มเช่นนี้ ทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นด้านรื่นรมย์ ไม่เห็นช่วงเวลาที่ตัวละครยังมีชีวิตที่ดีและเป็นสุข รวมทั้งไม่มีช่วงเวลาที่ผู้ชมรู้สึกรัก เอาใจช่วย หรือมองตัวละครในด้านดีล้วนๆ ได้อย่างสนิทใจ

สิ่งที่หนังหยิบยื่นให้ตั้งแต่ต้น คือ อารมณ์ความรู้สึกระคนปนกันที่มีต่ออาเธอร์ ทั้งความสงสารในฐานะที่เขาเป็นตัวละคร ‘ผู้ถูกกระทำ’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และความรู้สึกหวาดหวั่นกลัวเกรงจากสภาพป่วยไข้ทางจิตของตัวละคร ความคิดอ่านและการกระทำที่เพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากผู้คนปกติ และปฏิกิริยาที่อาเธอร์ตอบสนองในทางลบต่อสิ่งต่างๆ ที่ย่ำยีชีวิตของเขา

นอกเหนือจากสภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ข้างต้นในชีวิตของอาเธอร์แล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่หนังเล่าแสดงเคียงข้างกันตลอดเวลาก็คือ สภาพสังคมและความเสื่อมโทรมของก็อธแธมซิตี้ ซึ่งเต็มไปด้วยหลากหลายปัญหารุมเร้าเข้าขั้นสาหัส ตั้งแต่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน มลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาชญากรรมชุกชุม ผู้คนจำนวนมากอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกโกรธแค้นไม่พึงพอใจ ที่รอคอยเพียงแค่เวลาเหมาะเจาะเพื่อระเบิดปะทุออกมา รวมเลยไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตประจำวันสารพัดสารพัน ซึ่งสบช่องเอื้อต่อการจะบดขยี้และทำร้ายคนด้อยโอกาสอย่างอาเธอร์ได้ทุกเมื่อ

ทั้งสองปัจจัยคือ ปัญหาจากโลกภายนอกและปัญหาภายในจิตใจของอาเธอร์ บวกรวมกันแล้วสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าจะนำไปสู่การหักโค่นทำลายความใฝ่ฝันในชีวิตทุกๆ ด้านของอาเธอร์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ ความหวังเรื่องเส้นทางอาชีพ ตลอดจนความรักที่มีต่อโซฟี ดูมอนด์

ประเด็นแง่คิดคติธรรมของหนัง ไม่ได้พูดถึงเรื่องธรรมะชนะอธรรม ดังเช่นที่เคยเป็นแก่นเรื่องหลักในหนัง Batman ทุกฉบับที่เคยสร้างกันมา ด้านหนึ่ง Joker ก็สะท้อนถึงสังคมอันเลวร้ายที่สามารถผลักไสให้คนตัวเล็กๆ ไร้ปากเสียงก้าวล่วงถลำกลายเป็นอาชญากรได้อย่างไร ขณะเดียวกันในแง่มุมตรงข้าม อาชญากรรมหรือการกระทำที่เป็นเหตุร้ายขั้นสามัญธรรมดา ก็สามารถกลายเป็นไม้ขีดไฟ จุดชนวนให้สังคมที่มีปัญหาและความเลวร้ายต่างๆ สั่งสมก่อตัวจนเข้าขั้นสุกงอม ลุกลามเป็นไฟไปสู่วิกฤตโกลาหลได้ง่ายดายเพียงไร

หากตัดรายละเอียดปลีกย่อยที่เชื่อมโยงเข้าสู่ความเป็นหนังชุด Batman ออกไป Joker ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง และแน่นอนที่สุดคือ ไม่หลงเหลือคราบไคลความเป็นหนังประเภทซูเปอร์ฮีโรให้เห็นกันอีกเลย กระทั่งว่าไม่ใช่หนังแอ็คชันเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่หนังเรื่อง Joker เป็นและทำออกมาได้ดียิ่งคือ หนังดรามาหนักๆ ที่พูดถึงตัวละครในเชิงจิตวิเคราะห์ เท่าๆ กับที่เป็นหนังสะท้อนภาพปัญหาสังคมปัจจุบันร่วมสมัย (ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงแค่ว่า จะต้องเป็นสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่แทบจะเป็นปัญหาสังคมในระดับสากลที่เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง)

Joker : ไม่ได้ทนอย่าง Batman เป็นได้แค่ Sadman

บรรยากาศและรายละเอียดหลายๆ อย่างในงานชิ้นนี้ ชวนให้รำลึกนึกย้อนไปถึงการรับอิทธิพลและแสดงความคารวะเชิดชูต่อหนัง 2 เรื่องของมาร์ติน สกอร์เซซี คือ Taxi Driver และ The King of Comedy

เรื่องแรกนั้นพ้องพานกัน ตั้งแต่บรรยากาศสลัวหม่นทึมเหมือนตกอยู่ในฝันร้ายของเมืองก็อธแธม ความโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง อาการเจ็บป่วยทางจิต และพฤติกรรมดีร้ายผสมปนกันของตัวละครในแบบฉบับแอนตี้ฮีโร รวมไปจนถึงความเข้มข้นทรงพลังในการสะท้อนปัญหาสังคม

เรื่องถัดมา เป็นน้ำเสียงเย้ยหยันเสียดสี และหักล้างทัศนะเกี่ยวกับ ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ ซึ่งเชื่อและมีความคิดว่า อเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาสประสบความสำเร็จสำหรับทุกคนที่มีความสามารถ

The King of Comedy เล่าถึงชายหนุ่มที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน (แสดงโดยโรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งในเรื่อง Joker เขาเล่นเป็นตัวละครที่มีสถานะตรงข้ามสวนทางกัน) แต่หนทางไต่เต้าสร้างชื่อเสียงถูกปิดกั้นทุกช่องทาง จนท้ายที่สุดเขาก็เลือกลงมือก่ออาชญากรรม เพื่อหยิบยื่น ‘โอกาส’ สำหรับแสดงความสามารถในการเป็นดาวตลกต่อหน้าสาธารณชน

นอกจากแง่มุมเกี่ยวกับการเสียดสี ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ แล้ว The King of Comedy ยังโดดเด่นคมคายในการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และจรรยาบรรณของสื่อมวลชน อีกทั้งพฤติกรรมนิยมเสพเรื่องดรามาของผู้คนในสังคม ได้อย่างเจ็บปวดขันขื่นและคมคาย

แง่มุมดังย่อหน้าข้างต้น ใน Joker นั้น แยกสายออกมาทางข้างเคียงคล้ายๆ กัน คือ สื่อมวลชนที่หยิบนำเอาข้อด้อยความบกพร่องและความผิดพลาดล้มเหลวของคนผู้หนึ่ง มานำเสนอเป็นเรื่องตลกขบขันเพื่อสร้างจุดขายเพิ่มเรทติ้ง รวมถึงการที่ผู้คนในสังคมที่สามารถหัวเราะครื้นเครงมีความสุขไปกับเรื่องน่าอับอายของผู้อื่น โดยไม่รู้สึกรู้สาทุกข์ร้อน และโหดร้ายเลือดเย็นปราศจากความเมตตาต่อกัน

หนังเรื่อง Joker มีโทนและอารมณ์หลักโดยรวมเป็นเอกภาพมาก เป็นการผสมปนกันอยู่ตลอดเวลา ระหว่างความหดหู่หม่นหมอง ความน่าสงสาร ความรุนแรง และความน่าสะพรึงกลัว และคลอด้วยน้ำเสียงสำเนียงเย้ยหยันเสียดสีอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การนำเพลงอมตะอย่าง Smile และ Send in the Clowns มาใช้ประกอบหนัง แล้วได้ผลลัพธ์ที่ผิดจากต้นฉบับไปไกลลิบลับเป็นคนละขั้ว

เพลง Smile แต่งทำนองโดยชาร์ลี แชปลิน ใช้ประกอบในหนังเรื่อง Modern Times (ซึ่งใน Joker ก็มีฉากสำคัญที่ตัวละครเข้าโรงหนังไปดูเรื่องนี้ด้วย) ต่อมาได้มีคนแต่งเนื้อร้องโดยอิงกับแก่นเรื่องในหนัง กลายเป็นเพลงยอดนิยม มีเนื้อหาปลอบโยนให้กำลังใจสร้างความหวังในเชิงบวกที่ดีที่สุดอีกเพลงหนึ่ง

แต่บทเพลงนี้ใน Joker กลายเป็นการยั่วล้อ เมื่อมันปรากฏอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์เรื่องราวที่ดับฝันทำลายความหวังของตัวละครอยู่ตลอดทุกขณะ รวมทั้งการเทียบเคียงที่สื่อนัยยะตรงกันข้ามระหว่างรอยยิ้มตามปกติของคนทั่วไปกับใบหน้าที่แต่งแต้มยิ้มเป็นตัวตลกของอาเธอร์ (รวมทั้งโจ๊กเกอร์ในบั้นปลาย)

ส่วน Send in the Clowns เป็นเพลงเอกจากละครเพลงเรื่อง A Little Night Music แต่งโดยสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ เนื้อหา (รวมทั้งเหตุการณ์ในละคร) เป็นเพลงรักเศร้าของหญิงสาวที่เคยผละจากไม่ใยดีต่อชายที่รักเธอ จนเวลาผันผ่านไป เมื่อเธอได้ตระหนักและกลับมาหา เขาก็มีคนอื่นและไม่ได้รักเธออีกต่อไป

Send in the Clowns ในเพลงต้นฉบับ เน้นวรรณศิลป์โวหาร เพื่อเปรียบเปรยพรรณาความเศร้าความผิดหวังของตัวละคร แต่การหยิบใช้ใส่ใน Joker หวนย้อนกลับมาเน้นความหมายที่ชื่อเพลงแบบตรงตามถ้อยคำสำนวนเดิม ซึ่งหมายถึง เมื่อการแสดงใดๆ ก็ตามเกิดขลุกขลักไม่ราบรื่น ทางแก้คือ ส่งตัวตลกออกมาหน้าม่านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยิ่งระบุชัดขมวดแคบเจาะจงไปที่คำว่า ‘ตัวตลก’ ในความหมายทางลบ ที่ตอกย้ำความเป็นผู้แพ้ ล้มเหลว ไร้ความสามารถของอาร์เธอร์

จริงอยู่ว่า Joker เป็นงานโชว์การปล่อยของแสดงฝีมือของท็อดด์ ฟิลิปส์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดียิ่ง สมควรแก่การชื่นชมทุกประการ แต่ยังมีอีกคนที่โดดเด่นและบดบังรัศมีของผู้กำกับไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การแสดงของฮัวคิน ฟินิกซ์ ซึ่งใช้ศัพท์สแลงของแวดวงฟุตบอลบ้านเรา ก็พูดได้ว่า เป็น ‘เดอะ แบก’ ตัวจริงของหนังเรื่องนี้

นอกจากน้ำหนักความสำคัญของบทที่ต้องปรากฏตัวเกือบทุกฉากทุกตอนในหนัง งานชิ้นนี้ยังหนุนส่งและเปิดโอกาสให้นักแสดงได้ ‘โชว์เดี่ยว’ หลากหลายสารพัดอารมณ์ความรู้สึก ทั้งวิธีการพูดจา การสื่อความหมายผ่านสีหน้าแววตา น้ำเสียง การเคลื่อนไหวของภาษาร่างกาย ตลอดจนรูปลักษณ์ร่างกาย ทั้งการแต่งหน้าและการลงทุนลดน้ำหนักตัวของนักแสดง

ฮัวคิน ฟินิกซ์ทำให้โจ๊กเกอร์ฉบับของเขา เต็มไปด้วยความเจ็บปวด น่าเห็นอกเห็นใจ สั่นคลอน เปราะบาง มีความเปลี่ยวเหงา หม่นเศร้า ขณะเดียวกันก็ดูอันตรายและน่ากลัวเอามากๆ

ถ้าต้องให้เลือก ผมยังคงชอบโจ๊กเกอร์ในแบบฉบับของฮีท เลดเจอร์มากสุด แต่ถ้าถามว่า ใครเล่นดีกว่ากัน ผมตอบไม่ได้ตอบไม่ถูกนะครับ เพราะเล่นดีมากๆ และตีความตัวละครกันไปคนละแบบ

แต่ที่เจ๋งเหลือเกินคือ โจ๊กเกอร์ของฮัวคิน ฟินิกซ์ เป็นการตีความและหาช่องว่างหาแง่มุมที่แตกต่างออกไป และเมื่อคำนึงถึงลำดับช่วงเวลาก่อน-หลัง โจ๊กเกอร์ฉบับของเขาก็สามารถเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโจ๊กเกอร์ในแบบของฮีท เลดเจอร์

สุดยอดมากๆ ทั้งคู่นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save