fbpx
ความฝันนอกแท่นพิมพ์ ของ ชัยพร อินทุวิศาลกุล

ความฝันนอกแท่นพิมพ์ ของ ชัยพร อินทุวิศาลกุล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนึ่งในอีเว้นท์ด้านศิลปะ-ดนตรี ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง คืองาน ‘LIT Fest 2019’ ที่จัดขึ้นที่มิวเซียมสยาม โดยนำรูปแบบของงานหนังสือมาผสมผสานกับเทศกาลดนตรี มีผู้เข้าชมงานหลักหมื่นตลอดระยะเวลาสามวัน ตามมาด้วยเสียงตอบรับในเชิงบวกซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย

หนึ่งในคนต้นคิดและผู้จุดประกายให้เกิดงานนี้ คือ ‘จ๊อก’ ชัยพร อินทุวิศาลกุล ทายาทรุ่นที่สองแห่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์สมมติ ผู้อยู่เบื้องหลังหลายๆ โปรเจ็กต์ที่สร้างสีสันให้วงการหนังสือ หนึ่งในนั้นคือ Bangkok Book Festival ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015

ในวันเวลาที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกำลังจะเวียนมาอีกครั้ง (และจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) 101 ชวนชัยพรมานั่งสนทนายาวๆ ว่าด้วยมุมมองที่เขามีต่อแวดวงหนังสือ วิธีคิดเบื้องหลังโปรเจ็กต์ LIT Fest ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และความใฝ่ฝันเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่อย่างการทำ ‘Printing Museum’

 ชัยพร อินทุวิศาลกุล

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่คนพูดกันว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ในฐานะที่ทำโรงพิมพ์ คุณได้รับผลกระทบไหม

สำหรับโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ในภาพรวมยอดไม่ได้ลดลงนะ อาจมีบางปีที่เราไม่ได้โต ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้ทำเฉพาะหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คอย่างเดียว เรามีงานที่เป็นหนังสือของหน่วยราชการ หน่วยงานต่างๆ ด้วย ค่อนข้างหลากหลาย ไม่เคยวิเคราะห์ตัวเลขเหมือนกันว่าสัดส่วนงานที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กคือเท่าไหร่ แต่โดยรวมโรงพิมพ์ยังไปได้อยู่

อีกเรื่องที่นึกได้ ผมว่าทุกวันนี้คนไม่ได้ซื้อหนังสือที่ปกแล้วนะ แต่ซื้อเพราะได้ยินได้ฟังมาว่าหนังสือเล่มนี้ดีมากกว่า ไม่ใช่ว่าเห็นปกสวยแล้วซื้อเลย เรื่องรูปลักษณ์หรือความสวย มันเป็นหน้าตาของคนเขียน ของสำนักพิมพ์มากกว่า เป็นแค่เสื้อผ้า ที่คนทำต้องการนำเสนอคอนเทนต์ของเขาออกมาในรูปลักษณ์แบบนี้ แพคเกจแบบนี้ ซึ่งคุณจะใช้แพคเกจแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเงินทุนด้วย

ถ้าคุณพิมพ์น้อย หรือทุนน้อย คุณก็อาจใส่เสื้อผ้าที่มันหรูมากไม่ได้ จากที่อยากพิมพ์สี่สี ก็อาจได้แค่ขาวดำ แต่ถ้าคุณอยากปั๊มทอง หรือทำปกแข็ง คุณก็ต้องเสียเงินเยอะหน่อย

ที่ผ่านมาผมก็เคยแนะนำพวกเพื่อนๆ ที่ทำสำนักพิมพ์ที่สนิทกัน เวลาเขามาพิมพ์งานกับเรา แล้วเราเห็นว่าอันนี้น่าจะปรับได้หน่อย เราก็เพิ่มให้เขาไป แถมเป็นปกแข็งให้เขาบ้างจำนวนหนึ่ง หรือปรับสเป็คบางอย่างให้ เข้าใจว่าบางครั้งคนเราก็อยากแต่งตัวหล่อๆ สวยๆ บ้าง อย่างน้อยเสื้อผ้าก็มีคุณค่าในแง่การมองเห็น การสัมผัส ในแบบหนึ่ง

ในฐานะคนที่เป็นผู้ผลิตในขั้นสุดท้าย หัวใจในการทำงานประเภทนี้คืออะไร

วิธีคิดของผมง่ายมากเลย อันนี้ขออ้างจากหนังสือที่เคยอ่าน ชื่อว่า ‘The small treatises on the great virtues’ ซึ่งพูดถึง virtue หรือคุณงามความดีของสิ่งต่างๆ เช่น ถ้าพูดถึงมีด virtue ของมันคือความคม ตราบใดที่มันคม คุณจะเอาไปหั่นอะไรก็หั่นไปเถอะ หันผัก หั่นเนื้อ หรือจะเอาไปยำกัญชาก็แล้วแต่ ขอแค่ให้มันคม ผมอ่านแล้วก็เก็ทเลย เออ เราทำโรงพิมพ์ ฉะนั้น virtue ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้หนังสือมันสวย คุณภาพดี ถูกใจและตรงความต้องการของคนที่มาจ้างเราทำ

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ทำ หรือไม่ยึดหลักนี้ไว้ เราคงตกงาน เพราะใครจะอยากมาจ้างโรงพิมพ์ที่ไม่สนใจว่าหนังสือที่สวยงามเป็นยังไง หรือไม่รู้ว่ากระดาษที่ดีกับไม่ดีต่างกันยังไง

แน่นอนว่าเราคิดกับมันเยอะ เพราะมันคืออาชีพเรา คือความอยู่รอดของเรา ที่ผ่านมามีหลายอย่างที่เราพยายามทำ พยายามทดลอง เช่น หากระดาษแปลกๆ ลองใช้สีแปลกๆ ใช้ process หรือเทคนิคแปลกๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แล้วก็เป็น passion ของเราด้วย

มีนิยามไหมว่า แบบไหนสวย แบบไหนดี

เรื่องนี้พูดยาก ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มีบางเรื่องที่พูดได้ และควรพูด เช่น อะไรที่ดีหรือไม่ดีในแง่ฟังก์ชั่นของหนังสือ เช่น ฟ้อนท์ไม่ควรเล็กเกินไป ขอบหนังสือไม่เบียดเกินไป เปิดอ่านได้ง่าย โดยที่กาวไม่หลุด

ส่วนเรื่องกระดาษเหลืองง่าย ที่คนชอบบ่นหรือกลัวกัน ผมว่าเป็นเรื่องปกติมาก คนประเทศนี้ชอบกลัวหนังสือขอบเหลือง แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรกลัว เพราะหนังสือมันก็เก่าได้ ถึงเวลาเก่ามันควรเก่า อันนี้ในมุมคนอ่านนะ ถ้าซื้อไปแล้วก็ไม่ควรกังวล หนังสือควรจะเหลืองได้ เป็นปกติ แต่ถ้าในมุมสำนักพิมพ์ อันนี้อาจต้องกังวล เพราะถ้ามันยังไม่ถูกขาย มันไม่ควรเหลือง ซึ่งก็มีวิธีอยู่ เช่น ห่อเอาไว้ อย่าเอาไปตากแดด แต่โดยพื้นฐานคือ ในเมื่อเป็นหนังสือ มันควรจะอ่านได้ดี สมมติถ้าพิมพ์ออกมาไม่ดี ก็เป็นอุปสรรคกับการอ่าน ทำให้อรรถรสเสีย อันนี้สำคัญ

แต่ช่วงหลังๆ ผมคิดว่าดีขึ้นเยอะนะ ทั้งในส่วนของสำนักพิมพ์ คนออกแบบ มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ในส่วนของเราที่เป็นโรงพิมพ์ ช่วงหลังเราก็พยายามทำเป็น mock up (เล่มตัวอย่าง) หรือเล่มตัวอย่างให้ลูกค้าดูก่อน ใช้กระดาษจริงทั้งหมด เพื่อให้เขาลองดูว่ามันใช่อย่างที่ต้องการมั้ย ถ้าตรงไหนยังไม่ใช่จะได้มีเวลาปรับทัน

แต่อะไรที่เป็นเรื่องความงาม เราจะไม่ค่อยไปยุ่ง จะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของสำนักพิมพ์ แต่ถ้าส่งไฟล์มาแล้วรูปแตก อันนี้ต้องยุ่ง ถ้าขอบชิดไป อันนี้ต้องบอก หรือถ้ากระดาษที่เขาเลือกมา มันไม่เหมาะ อันนี้ก็ควรแนะนำเขา อย่างน้อยๆ ต้องถาม ต้องคุยกัน ว่าคุณจะเอาหนังสือไปทำอะไร ฟังก์ชั่นมันเป็นแบบไหน คาดหวังอะไร

ในแง่ของคุณภาพการพิมพ์ เราอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับโลก

ผมว่าโอเคนะ คุณภาพการพิมพ์มันไม่ได้แย่ เครื่องไม้เครื่องมือถือว่าสู้ได้ ตั้งแต่ผมเริ่มทำธุรกิจ น่าจะประมาณสักสิบสามถึงสิบห้าปีที่แล้ว จนถึงวันนี้พ๊อกเก็ตบุ๊กก็ต่างไปเยอะนะ กระดาษพิเศษเยอะขึ้น เทคนิคพิเศษเยอะขึ้น ที่เห็นชัดคือมีดีไซน์ที่ลึกซึ้งขึ้น บางครั้งมันมาจากกราฟิก กราฟิกดูดีขึ้น คนจ้างค่าออกแบบปกแพงขึ้น พวกเครื่องมือต่างๆ ยังเหมือนเดิม แต่วัตถุดิบแปลกตาหลากหลายขึ้น

มีอะไรที่ยังเป็นข้อจำกัด หรือพัฒนาได้อีกไหม

ปัญหาที่เห็นอย่างหนึ่งคือ เราเป็นประเทศที่ไม่มีค่านิยมเรื่องความเป็น professional เท่าไหร่ มาตรฐานบางอย่างเราเลยยังไปไม่ถึง ซึ่งการที่เราทำโรงพิมพ์ เราก็คาดหวังว่าจะค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ปลูกฝังไป

ความ Professional ที่ว่า หมายถึงอะไร พอจะมีตัวอย่างไหม

ยกตัวอย่างแบบนี้ละกัน ผมเคยไปกินข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารฝรั่งเศสร้านนึง แล้วก็สั่งหอยนางรมมากินกัน ไอ้เราแม่งไม่เคยกินหอยนางรมแบบฝรั่งเศสหรอก พอพนักงานยกมาเสิร์ฟ เราก็ซัดแบบหอยนางรมที่สุราษฯ เลย แคะๆ แล้วเทลงจาน โรยหอมโรยผัก ราดน้ำจิ้ม กินไปตัวนึง พี่เจ้าของร้านเดินมาเลย โทษนะครับ ปกติกินแบบนี้เหรอครับ ผมแนะนำว่ากินอีกแบบนึงดีกว่า คุณค่อยๆ แซะเนื้อหอยออกมา แล้วคุณก็บีบมะนาวลงไป แล้วราดน้ำบอเซมิก แล้วซดมันจากฝาเลยครับ มันจะอร่อยกว่า ได้รสชาติที่ดีกว่า

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ไปกินเนื้ออีกร้านหนึ่งแถวพระรามสี่ วันนั้นเสือกสั่งหม้อไฟ เขาก็ให้เนื้อสดมาลวก ผมแม่งลวกเหมือนสุกี้เลย เอาใส่ตะแกงแล้วก็หย่อนลงหม้อ สักพักเจ้าของร้านแม่งเดินมาอีกแล้ว (หัวเราะ) ปกติพี่กินแบบนี้เหรอคะ ขอเสนออีกวิธีนึงค่ะ เอาเนื้อสดใส่ถ้วยไว้นะคะ แล้วก็ตักน้ำซุปในหม้อมาราด แล้วอย่าราดบนเนื้อโดยตรงนะ ราดตรงขอบๆ ชามก่อน แล้วค่อยๆ คนไป เนื้อมันจะไม่สะดุ้ง ถ้ามันยังไม่สุกก็เทน้ำกลับลงไปแล้วราดใหม่อีกที จนเห็นว่ามันแดงๆ นิดนึงแล้วค่อยกิน มันจะนุ่มกว่า รสชาติเนื้อจะดีกว่า

นี่คือความ professional คือความซีเรียสจริงจังในสิ่งที่ตัวเองทำ คือความใส่ใจว่าคนที่มาใช้บริการควรจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

ที่พูดมานี่ไม่ได้เกี่ยวกับวงการหนังสือเลย แต่พยายามพูดให้เห็นภาพ เพราะว่าสิ่งที่เราทำมันก็คือเรื่องทำนองนี้ เราไม่ได้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้ เราเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ แล้วก็ทำไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ แต่มุ่งทำมาค้าขายเป็นหลัก

 ชัยพร อินทุวิศาลกุล

ล่าสุดคุณมีส่วนร่วมในการจัดงาน ‘LIT Fest’ อาจเรียกว่าเป็นคนต้นคิดเลยด้วยซ้ำ อยากทราบว่าจุดตั้งต้นมาจากอะไร

เริ่มต้นจากเมื่อปีใหม่ปีที่แล้ว ภาพพิมพ์จัดงานเลี้ยงปีใหม่ที่มิวเซียมสยามให้กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในวงการหนังสือ พอจบจากงานนั้น เราก็คุยกับพี่ปุ๊-ธนาพล อิ๋วสกุล (เจ้าของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน) ว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เลยเกิดเป็นไอเดียคร่าวๆ ว่าน่าจะจัดเป็นงานเทศกาลหนังสือแบบ outdoor ที่เคยเห็นในต่างประเทศ

ความตั้งใจแรกๆ คืออยากทำให้เป็นของขวัญ เป็นสมนาคุณสำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ คนในอุตสาหกรรมควรจะสร้างพื้นที่แบบนี้มาให้พวกคุณที่เป็นนักอ่าน เพราะนักอ่านก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในวงการ ถ้าใครได้มางานนี้ก็จะเห็นว่ามันไม่มีฮาร์ดเซลล์ แล้วรูปแบบงานก็มีอิสระพอที่จะให้คนได้เสพอะไรหลายๆ อย่าง คุณอยากมานั่งอ่านหนังสือเฉยๆ หรือมานั่งฟังเพลงอย่างเดียวก็ได้ ความเป็นหนังสือมันแทรกอยู่ในทุกๆ องค์ประกอบ

แล้วโดยส่วนตัว ผมชอบงานแบบนี้อยู่แล้ว ผมคิดง่ายๆ ว่าในหนึ่งปี ประเทศไทยจะมีช่วงที่อากาศดีประมาณสักเดือนสองเดือน ช่วงธันวา-มกรา ก็คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ประเด็นคือเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้เองทั้งหมด ก็เลยไปชวนคนอื่นๆ มาช่วยกันทำ ไล่ตั้งแต่พี่โจ้ พี่เน็ต (ผู้ร่วมก่อตั้ง Readery) เล่าให้เขาฟังว่าผมจะทำงานหนังสือ พี่มาช่วยทำไหม ปรากฏว่ามันก็ตรงกับสิ่งที่เขาคิดอยากจะทำอยู่แล้ว Readery ถือเป็นแกนหลักที่ทำให้งานนี้ออกมาสนุกได้ขนาดนี้

นอกจากนี้ก็ทีมออร์กาไนเซอร์ ‘กางใจ’ ที่มาช่วยเรื่องออร์กาไนซ์ มีพี่วิภว์ บูรพาเดชะ จาก Happening มาช่วยดูแลในส่วนของดนตรี มีพี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ช่วยประสานหนังของ Documentary Club มาให้ฉายในงาน มีทีมจากร้าน Fathom Bookspace มาทำโซนสำหรับเด็ก กับกิจกรรม Book Blind Date มีคุณจุ๋ม จากสำนักพิมพ์ P.S. มาช่วยทำโซน Book Factory และก็อีกหลายๆ คนที่มาช่วยกันปั้นให้งานนี้เกิดขึ้นได้จริง จุดเริ่มต้นคร่าวๆ เป็นแบบนี้

 

ถ้าเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือ ถือว่าค่อนข้างแตกต่างพอสมควร

จริงๆ งานแบบนี้ก็มีความพยายามทำกันมาหลายครั้ง แต่สำหรับเรานี่เป็นงานแรกๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เราอยากทำงานหนังสือที่ไม่เน้นขายหนังสือมาก เราอยากมีบทสนทนา อยากมี dialogue ที่ดีกับคนอ่าน ในบรรยากาศที่ relax แล้วก็ดึงสิ่งที่ไม่ใช่หนังสือโดยตรงเข้ามาเสริม เช่น หนัง เพลง บอร์ดเกม หรือบุ๊คคลับ

เท่าที่สังเกตดู ผมว่าคนที่มาร่วมทำส่วนใหญ่ก็มีความสุขกัน ส่วนคนที่มาเดินในงานก็แฮปปี้ คิดว่าปีหน้าจะมีอีกแน่นอน

 

แล้วถ้าให้มองย้อนกลับไปที่งานหนังสือแบบเดิม คุณเห็นช่องโหว่อะไรบ้าง

งานหนังสือแบบเดิมมันมีฟังก์ชั่นของมันอยู่ มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีชีวิตรอดอยู่ได้ในอุตสาหกรรม ในแง่ที่เป็นช่องทางการจำหน่ายที่ได้น้ำได้เนื้อ เพราะฉะนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนต้องพยายามขาย หรือทำเงินให้ได้มากที่สุดจากงานนี้

ผมมองว่ามันยังมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจมหาศาลกับวงการ ขณะเดียวกันก็ช่วยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กได้มาก เพราะช่องทางการขายผ่านร้านหนังสือทั่วไป ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเท่าที่ควร รูปแบบมันอาจน่าเบื่อจริง แต่ยังจำเป็นต้องมี

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทราบมาว่าคุณมีส่วนร่วมในการดีไซน์บูธในกลุ่มสำนักพิมพ์เล็กๆ ในโซน C1 ซึ่งสังเกตว่ามีรูปแบบบูธที่แปลกตา โครงสร้างทำจากกระดาษลังเปลือย ไอเดียนี้มาจากไหน

เรารู้สึกว่าการเดินงานหนังสือช่วงหลังๆ มันไม่ค่อยสนุกแล้ว ก็เลยคิดว่า จะดีมั้ยถ้าออกแบบบูธขึ้นมาใหม่ แล้วทำให้มันสร้างผลกระทบในทางบวก ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์คือ positive externality คืออย่างน้อยคนเดินผ่านก็รู้สึกดี ไม่ฮาร์ดเซลล์มาก ใช้วัสดุบางอย่างที่อาจจะเตะตาหน่อย คิดแค่นั้นเอง

ส่วนสำนักพิมพ์ที่ชวนมาออกบูธตรงนั้น นั่นคือการใช้เพื่อนครับ (หัวเราะ) บอกเพื่อนให้ช่วยมาออกบูธตรงนี้หน่อย แล้วถ้าสังเกต มันจะมีสเปซตรงกลาง เอาไว้ให้คนมานั่งคุยกัน หรือจัดไลฟ์เสวนา คุยกันเรื่องหนังสือได้

พูดง่ายๆ ว่า อยากให้งานหนังสือดูน่าสนใจกว่านี้

อาจใช้คำว่ามีรสนิยมที่ดีกว่านี้หน่อยนึง ซึ่งหลังๆ ผมว่ามันก็เปลี่ยนไปเยอะ บูธต่างๆ สวยขึ้นเยอะ รวมถึงส่วนของนิทรรศการหลักในงาน ก็น่าสนใจทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา

ที่บอกว่างานหนังสือไม่จำเป็นต้องฮาร์ดเซลล์ก็ได้ คำถามคือถ้าไม่ฮาร์ดเซลล์แล้วจะขายยังไง

เราคิดว่าการขายมันอยู่ในสัญชาตญาณของทุกคนอยู่แล้ว แต่ถ้าตอบในมุมส่วนตัว เราก็ขอโทษด้วยที่เราไม่ได้ทำหน้าที่ในการช่วยให้เขาขายดีขึ้น เพราะเราไม่ได้เป็นมนุษย์แบบนั้น สิ่งที่เราทำมันอาจไม่จำเป็นในแง่ธุรกิจ แต่จำเป็นในแง่ที่อยากให้สังคมดีขึ้นกว่านี้

สังคมดี นี่คือดียังไง

ถ้าพูดเป็นรูปธรรม ก็คือการมีพื้นที่ที่ดี ที่คนจะออกมาใช้ชีวิตได้ ตอบโจทย์เชิงวัฒนธรรมได้ ถ้าเทียบจากงาน LIT Fest หลังจบงาน มีคนชมเยอะว่าคนที่มางาน นิสัยดีมาก อย่างแรกที่สังเกตคือแทบไม่มีขยะในงานเลย พูดง่ายๆ คือทิ้งเป็นที่เป็นทางพอสมควร บางทีมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ไม่รู้เรียกว่าศิวิไลซ์ได้รึเปล่า สรุปง่ายๆ ว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่มนุษย์อยู่แล้วมีความสุข สุขในแบบที่จริงหน่อย ไม่ได้เปลือกมาก

ถ้าถามในมุมกลับ การที่คุณรู้สึกแบบนี้ เป็นเพราะสังคมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีความสุข ไม่ค่อยศิวิไลซ์รึเปล่า

แน่นอน ถ้าให้พูดจริงๆ ผมเป็น pesstimist อยู่แล้ว พูดหยาบๆ ว่า เราแทบจะไม่เคยชอบค่านิยมต่างๆ ในสังคมไทยเลย เอาแค่ว่า ถ้าให้พูดถึงข้อดีของสังคมไทย ก็ยังไม่รู้จะตอบว่าอะไรเลย เราไม่ได้ชื่นชอบสังคมไทยขนาดนั้น ดังนั้นเลยรู้สึกว่า ถ้าเราพอจะทำอะไรให้สังคมนี้มันดีขึ้นบ้าง ก็ทำ

ไม่รู้สิ คุณว่าสังคมนี้มีอะไรดีมั่งล่ะ โอเค มันอาจเป็นสังคมสบายๆ คนให้อภัยกันง่าย ไม่คิดอะไรมาก ไม่ถือสาอะไรมาก แต่สำหรับเรา นั่นก็เป็นปัญหาอยู่ดี ในแง่ที่ว่าคนมันซีเรียสน้อยไปหน่อย careless ไปหน่อย

พูดได้ไหมว่า สิ่งที่คุณทำ กระทั่งงาน LIT Fest ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากช่วยยกระดับสังคมให้ดีขึ้น

เราควรได้รับสิ่งที่ดีๆ แล้วก็ฟรี ซึ่งจริงๆ มันเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้

ถ้าพูดถึง Lit Fest อย่างน้อยพื้นที่นี้ทุกคนก็เท่ากัน มันคือพื้นที่เปิด มีคนหลากหลายเพศ หลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ หลากหลายระดับรายได้ แล้วก็มาจอยกัน สิทธิ์ของทุกคนเท่าๆ กัน โอเค เงินในกระเป๋าอาจจะต่างกัน คนมีเงินเยอะอาจซื้อของได้มากหน่อย แต่กิจกรรมอื่นๆ มันฟรีหมด คุณอยากนั่งตรงไหน ถ้าคุณมาก่อนก็นั่งก่อน ไม่ต้องกันที่ไว้ให้ใคร ไม่มีประธานเปิดงาน (หัวเราะ)

 ชัยพร อินทุวิศาลกุล

ถ้ามองย้อนกลับไปที่ LIT Fest ฟังก์ชั่นของมันคืออะไร สำคัญต่อสังคมนี้ยังไง

พูดแบบตรงๆ มันอาจจะไม่สำคัญเลยก็ได้ แต่สำหรับผม มันทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ขอแค่ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันหน่อย

เราสร้างสเปซที่ดีและไม่น่าเบื่อให้เกิดขึ้นได้ อันนี้สำคัญ เพราะบางอย่างมันดีก็จริง แต่น่าเบื่อ ดีแต่ไม่ดึงดูดเท่าไหร่

เราพูดกับหลายคนว่าสเปซแบบนี้ ความร่วมมือแบบนี้ น่าจะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นหน่อยนึง ซึ่งถ้าสามารถจัดได้ทุกปี คนก็จะรู้แล้วว่าอย่างน้อยๆ ในหนึ่งปี มีงานนี้ที่กูสามารถไป relax ได้ แล้วถ้าปีหนึ่งมีหลายๆ งาน ในพื้นที่ที่ต่างออกไป ก็น่าจะโอเค

มันทำให้เห็นว่าคนมีความสุขได้โดยไม่ต้องช้อปปิ้ง พูดแบบหยาบที่สุดนะ เป็นที่ที่คนไม่ต้องมาใช้เงิน แต่มาใช้ชีวิตให้คุณดู แล้วคุณเห็นรอยยิ้มเขา ได้นั่งฟังเพลง อ่านหนังสือ ยืนคุยกัน ล้อมวงสนทนากัน มันเป็นการแสวงหาความสุขแบบไม่ต้องใช้เงินมากมาย คุณแค่พาตัวเองออกมา เราว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้คน appreciate กับตัวเองได้ง่ายขึ้น

ถ้าวัดจากตัวเอง ผมว่าผมเห็นคนมีรอยยิ้มเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากนะ เพราะเราน่าจะอยากอยู่ในสังคมที่คนมีความสุข แล้วรอยยิ้มมันคือสิ่งที่สะท้อนว่าคนมีความสุข

ถ้าวิพากษ์ไปถึงสังคมไทยโดยรวม ที่ผ่านมาคุณคิดว่ามันแห้งแล้งไปไหม ในแง่ของการมีกิจกรรมทำนองนี้

ผมคิดว่าอุตสาหกรรมอื่นมันดีนะ เช่น วงการเพลง พวก Music Festival ปีนึงก็จัดกันหลายครั้ง แล้วก็ค่อนข้างหลากหลาย แต่วงการหนังสือยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร นี่น่าจะเป็นงานแรกๆ ที่พอจะพูดได้ว่ามีนัยยะ

จริงๆ มันคล้ายกับงานสัปดาห์หนังสือเหมือนกันนะ เพียงแต่ในงานสัปดาห์หนังสือ เราไม่เห็นเขาในมุมของมนุษย์ เราเห็นเขาในมุมนักช้อปปิ้ง ในมุมของลูกค้ามากกว่า มาถึงก็ซื้อๆๆ แต่งานนี้ไม่ได้เน้นซื้อ เราเห็นเขาแสดงตัวตนในแบบที่เป็นตัวเขา ผ่านหลายๆ กิจกรรมที่เป็นมนุษย์มากกว่า ซึ่งมันทำให้เห็นว่า range ของคนสนใจหนังสือจริงๆ แล้วกว้างมาก แต่เราไม่ค่อยรับรู้ถึงการมีอยู่ซึ่งกันและกัน

สังเกตว่าที่ผ่านมา คุณมักทำงานร่วมกับคนทำหนังสือในสเกลเล็กๆ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียน/สำนักพิมพ์ ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก อยากรู้ว่าวิธีคิดเบื้องหลังคืออะไร

ผมว่าเป็นธรรมชาติมนุษย์อยู่แล้วที่จะชอบมวยรอง อยากจะให้แต้มต่อกับคนที่เสียเปรียบหน่อยนึง ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นแบบนี้ เพียงแต่บางครั้ง ถ้าคุณทำธุรกิจแล้วกรอบทางธุรกิจบังคับคุณมาก คุณจะเสียความเป็นมนุษย์ของคุณไป

แล้วถ้าคิดในเชิงการค้า การทำงานกับสำนักพิมพ์เล็กๆ เอาเข้าจริงก็ไม่ได้คุ้มค่าเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าคุณทำสิ่งที่มันเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเมื่อไหร่ หรือทำอะไรที่มีนัยยะกับสังคมมากกว่าสินค้าทั่วๆ ไป มันจะทำให้สังคมนั้นมีความหลากหลาย

งาน LIT Fest ถ้าว่ากันตามตรงก็ไม่สมหลักเหตุผลเอามากๆ แต่ที่ทำเพราะรู้สึกว่ามันจะออกมาดี น้องชายผมก็ด่าฉิบหาย ทำไมมึงต้องมาเสียตังค์อะไรขนาดนี้ แต่พอมันไปเดินงาน เออ เข้าใจแล้ว กูพอจะเก็ตแล้ว ถึงที่สุดมนุษย์รับรู้ถึงเรื่องพวกนี้ได้อยู่แล้ว

ทราบมาว่างานนี้คุณก็เข้าเนื้อพอสมควร

ก็หน่อยนึง แต่จำเป็นต้องทำ ต้องทำให้ดูก่อน เหมือนเขี่ยบอลก่อน แล้วหวังว่ามันจะกลิ้งต่อไปได้ เราเชื่อว่าในปีหน้าจะมีสปอนเซอร์พอที่จะซัพพอร์ตงานทั้งหมด แล้วที่บอกว่าเข้าเนื้อ ไม่ใช่เราคนเดียวนะ หลายคนมาช่วยงานฟรี ควักเนื้อเพื่อให้งานมันเกิด ไม่ใช่เราคนเดียว คนที่ต้องให้เครดิตมากๆ คือพี่ปุ๊-ธนาพล ซึ่งช่วยหลายอย่างมากๆ โดยแทบไม่ปริปากอะไรเลย

พูดได้ไหมว่าชีวิตนี้ อุทิศชีวิตให้กับทำงานหนังสือ 

โนๆ ชีวิตผมอุทิศให้กับความสุขครับ (หัวเราะ) ความสุขล้วนๆ เลย แต่เราก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีนะ ในแง่ที่อุตสาหกรรมนี้มันไม่ได้แปลกแยกมาก เราแฮปปี้กับสิ่งที่เราทำ แล้วก็ขับเคลื่อนไปในแบบของมัน พอมีโอกาสก็มาช่วยทำงานหนังสือบ้าง นี่แหละคือความสุข สมมติถ้าทำโรงพิมพ์แล้วเราทุกข์มากๆ เราก็คงไม่ทำ

แล้วมีจุดที่รู้สึกว่าทุกข์บ้างไหม ตั้งแต่ทำมา

มีอยู่แล้ว แต่พอรับได้ เราว่าเราเป็นคนที่มาโซคิสม์หน่อยๆ ว่ะ หมายความว่าบางทีการถูกเฆี่ยน ถูกโบยตีบ้าง ก็นำไปสู่ความสุขได้ ความสุขไม่ได้หมายถึงความสบายอย่างเดียว ความสุขของเรามันคือความอิ่มจากความเข้มข้นของอารมณ์ หรือความเข้มข้นจากการทำอะไรบางอย่าง

นอกเหนือจากโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ว่ามา มีเป้าหมายอื่นที่อยากทำอีกไหม

ขอบคุณมากที่ถามครับ ผมคิดไว้ว่าภายใน 10 ปีนี้ อยากทำ Printing Museum พิพิธภัณฑ์การพิมพ์ ในวงเล็บ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเป็นหลัก

อยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย ให้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ เช่น อาจมีเครื่องพิมพ์มาสาธิตการพิมพ์ให้ดูจริงๆ รวมถึงเครื่องพิมพ์ตะกั่วในยุคเก่าๆ แล้วก็มีเนื้อหาที่ดี

ประวัติศาสตร์การพิมพ์ตั้งแต่ Gutenberg ไล่มาจนถึงยุคนี้ที่คนอ่านใน device ต่างๆ เราพูดอะไรถึงมันได้บ้าง อยากเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาพูดถึงเรื่องที่นามธรรม การเผยแพร่ความรู้ การกระจายความรู้ผ่านตัวหนังสือ อยากทำให้สำเร็จ เพราะนี่คือวิชาชีพเรา เราแฮปปี้กับมัน พอใจที่จะอยู่กับมัน ซึ่งการจะทำได้ ก็ต้องมีการซัพพอร์ตมหาศาล จากหลายๆ คนที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้เราก็มีเครื่องพิมพ์โบราณบางอันที่เริ่มทยอยเก็บไว้บ้างแล้ว

อีกเรื่องที่อยากทำ เราบังเอิญไปเจอโรงพิมพ์ที่ยังเปิดทำการอยู่ทุกวันนี้ โดยใช้การจัดอาร์ตเวิร์กด้วยการเรียงตัวตะกั่วอยู่ เราอยากทำสารคดีเกี่ยวกับโรงพิมพ์นี้ ว่ามันเป็นไปได้ยังไงที่ป้าสองคนยังมานั่งเรียงตัวตะกั่วอยู่ ที่คิดไว้คืออยากทำให้ดีๆ เลย ทำเป็นภาษาอังกฤษฉายต่างประเทศเลย

ประเด็นคือ ในโลกที่เจริญแล้ว มันจะมีคนที่หวนกลับมาทำอะไรแบบนี้ในฐานะงานคราฟต์ หมายความว่ามันเลิกไปแล้ว แล้วเขาก็เอากลับมาทำเป็นงานคราฟต์ แล้วก็อัพราคา แต่อันนี้ไม่ใช่ นี่คือโรงพิมพ์ดังเดิมที่ทำแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร แล้วยังทำอยู่ แล้วก็ยังมีลูกค้าที่ใช้บริการจริงๆ อยู่ จนถึงพ.ศ.นี้ ซึ่งถ้าว่าตามตรง สิ่งนี้มันควรจะหายไปตั้งแต่สัก 20-30 ปีที่แล้ว อย่างตอนที่พ่อผมทำโรงพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็เป็นระบบออฟเซ็ตแล้ว ไม่ได้ใช้ตัวตะกั่วแล้ว

ฉะนั้นการค้นพบว่ายังมีโรงพิมพ์แบบตัวตะกั่วที่อยู่รอดมาได้ถึงวันนี้ ก็เหมือนการค้นพบฟอสซิลที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน เจ้าของคือป้าอายุ 70 สองคน กับลุงอีกคนนึง ป้าเป็นคนเรียงพิมพ์ ลุงเป็นคนจัดเลย์เอาท์ อันนี้อยากทำมาก แล้วคิดว่าต้องทำเร็วๆ ด้วย โชคดีที่เราได้เจอช่างภาพฝรั่งที่พอจะหาทีมโปรดักชั่นมาทำได้ เราอยากทำให้สวยๆ เลย แค่ฉากของโรงพิมพ์ก็สวยแล้วในตัวมันเอง ทั้งสถาปัตยกรรม องค์ประกอบต่างๆ รวมถึงคนและกระบวนการทำงานที่อยู่ในนั้น เป้าหมายหลักคืออยากทำเป็น archive เอาไว้ บันทึกไว้ว่าในพ.ศ.นี้ ยังมีคนทำสิ่งนี้อยู่

ส่วนโปรเจ็กต์ในระยะใกล้ๆ นี้ ก็จะมี Bangkok Book Festival​ ครั้งที่ 3 อันนี้คิดว่ามีแน่ๆ ช่วงปีหน้า

 ชัยพร อินทุวิศาลกุล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save