fbpx
“get in good trouble, necessary trouble.” : จอห์น ลูอิสกับการสร้างประชาธิปไตยในอเมริกา

“get in good trouble, necessary trouble.” : จอห์น ลูอิสกับการสร้างประชาธิปไตยในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คำพูดสุดท้ายที่ผู้คนในอเมริกาจะจดจำถึง “จอห์น ลูอิส” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐจอร์เจีย คงไม่มีวรรคไหนกินใจไปกว่า

“Do not get lost in a sea of despair. Be hopeful, be optimistic. Our struggle is not the struggle of a day, a week, a month, or a year, it is the struggle of a lifetime. Never, ever be afraid to make some noise and get in good trouble, necessary trouble.”

(อย่าหลงทางในมหาสมุทรของความสิ้นหวัง จงมีความหวัง มีสุคติ การต่อสู้ของเราไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว มันเป็นการต่อสู้ทั้งชีวิต อย่าหวาดกลัวที่จะส่งเสียง และเดินเข้าสู่ความยากลำบากที่ดี ความยากลำบากที่จำเป็น)

ลูอิสกล่าวข้อความนี้ไว้เมื่อครั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ปรปักษ์ของเขาในวอชิงตัน ทวีตโจมตีว่าลูอิสนั้นก็ดีแต่พูด พูด แล้วก็พูด เมื่อไรจะลงมือทำเสียที ในเรื่องปัญหาบ้านเมืองและการเหยียดเชื้อชาติสีผิว โดยลูอิสประกาศออกมาอย่างชัดแจ้งไม่อ้อมค้อมว่า “ทรัมป์เป็นนักเหยียดเชื้อชาติ” (racist) ทั้งสองคนปะทะกันหลายเรื่องในแคปิตอลฮิลล์และทำเนียบขาว ล่าสุดคือทรัมป์เสนอแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งที่ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และสมาชิกหนุ่มสุดขณะนั้นคือจอห์น ลูอิส ฝ่าฟันต่อสู้จนได้กฎหมายการเลือกตั้งปี 1965 มาอย่างเลือดตากระเด็น แต่แล้วก็มาถูกพลังการเมืองของคนผิวขาวอนุรักษนิยมและปฏิกิริยาเหยียดเชื้อชาติอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามจะบิดเบือนไม่ให้กฎหมายเลือกตั้งนี้ทำงานได้สมตามเจตนารมณ์

ผมนั่งดูการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของการขับเคี่ยวระหว่างพลังก้าวหน้ากับพลังล้าหลังในอเมริกาด้วยความสนใจ ก่อนนี้ไม่เคยนึกว่าระบบและสังคมการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นประชาธิปไตยแนวหน้าของโลกอย่างสหรัฐอเมริกานั้น จะมีพฤติการณ์และการกระทำอันไร้ยางอาย ไม่กลัวเกรงในพลังประชาชนและความเป็นธรรมของคนส่วนใหญ่ กลับอาศัยและใช้อำนาจตามอำเภอใจ ผมเชื่อเหมือนอย่างคนโลกที่สามที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายว่า มีแต่การเมืองและผู้มีอำนาจอย่างในโลกที่สามเท่านั้นที่คิดและทำอย่างไร้สติปัญญาและสามัญสำนึกอันตระหนักในความถูกผิดได้ ส่วนผู้นำในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ส่วนตนอันคับแคบ

แต่การเมืองในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ทำลายความคิดความเชื่อเก่าของผมลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้มองการเมืองใหม่อย่างที่มันเป็นจริงมากขึ้น ว่าอำนาจในตัวมันเองไม่ได้ดีหรือเลวไปกว่ากัน ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม อำนาจคืออำนาจ มันเหมือนกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าของใครและที่ไหนมีองค์ประกอบและโครงสร้างที่ช่วยพลังฝ่ายมวลชนหรือฝ่ายอภิสิทธิ์ชนมากกว่ากัน

กรณีของสหรัฐฯ นั้น น่าสนใจว่าพลังมวลชนได้รับการสนับสนุนในทางหลักการจากสื่อมวลชนต่างๆ ไปถึงธุรกิจเอกชนทั้งกลุ่มทุนอุตสาหกรรม บริการ และเทคโนโลยีล้ำยุค ดัวกรณีล่าสุด การเดินขบวนประท้วงของขบวนการ Black Lives Matter ที่มีคนออกมาร่วมเดินขบวนทั้งผิวดำ ขาว และน้ำตาลอย่างล้นหลาม นับเป็นปรากฏการณ์ระดับประเทศแล้วลามไปทั่วโลก กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเอกชนทั้งหลาย ไม่ว่ารองเท้ายี่ห้อดังจนถึงบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ต่างออกมาประกาศเข้าข้างผู้ประท้วงกันเป็นทิวแถว

ปรากฏการณ์ทำนองนี้หาได้ยากในการเมืองไทยและอาเซียน ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะผู้บริหารและเจ้าของทุนเทคโนอเมริกันมีปัญญาดีกว่าของไทย หากแต่เป็นเพราะระบบทุนนิยมในอเมริกาได้พัฒนาเติบใหญ่จนมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ประกบและทัดทานอำนาจรัฐทางการเมืองได้ ที่ผ่านมาเห็นแต่ทำเนียบขาวและคองเกรสพยายามเรียกให้ผู้บริหารใหญ่มานั่งคุยด้วย เพื่อหาทางควบคุมไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีขยายอำนาจเกินไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็คุมไม่ได้แล้ว สภาพดังกล่าวนี้ไม่มีทางได้เห็นในระบบทุนไทย ที่ยังต้องมาขอความเมตตาและกรุณาจากอำนาจรัฐไทย นี่เองที่ทำให้ผู้นำทางอำนาจไทยไม่มีทางสำนึกอะไรทางการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงๆ นอกจากทำไปตามธรรมเนียม

 

ชีวิตของจอห์น ลูอิส เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของคนแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯ ซึ่งกำเนิดมาพร้อมกับความยากลำบากของระบบทาส แต่แม้ระบบทาสถูกยกเลิกไปแล้ว ความยากลำบากก็ไม่หายสิ้นไป มันยังคงสืบทอดต่อมาอีก ประวัติศาสตร์นึ้จึงสร้างคนอย่างลูอิสขึ้นมา เขาไม่กลัวความยากลำบาก หากยิ่งเต็มใจที่จะเข้าไปแบกรับความยากลำบากด้วยซ้ำ นั่นคือปณิธานแห่งชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กจนโต

จอห์น ลูอิส เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 ในรัฐแอละบามา พ่อแม่เป็นลูกจ้างทำงานในฟาร์มคนผิวขาวที่เรียกว่า sharecropper อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลหลังสงครามกลางเมืองไม่สามารถบรรลุนโยบายการให้ที่ดินทำกินแก่อดีตทาสผิวดำที่ได้รับอิสรภาพจากการเป็นทาส ตรงกันข้ามหลังยุคการฟื้นฟูบูรณะประเทศ (Reconstruction, 1865-77) นโยบายของรัฐบาลและรัฐทางใต้กลับหาทางเล่นงานที่จะกดขี่อดีตทาสไว้ต่อไป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกอดีตทาสไม่อาจเป็นเสรีได้คือการไม่มีทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตเพื่อดำรงชีวิตได้ นั่นคือการไม่ให้ที่ดินทำกินแก่พวกอดีตทาส นั่นคือสภาพที่จอห์น ลูอิส และคนผิวดำรุ่นหลังสงครามกลางเมือง เกิดมาพร้อมกับภาพที่ครอบครัวต่างเป็นลูกมือ ลูกจ้าง หรือชาวนารับจ้างให้แก่ไร่ฝ้าย ข้าว และยาสูบของคนผิวขาวอดีตนายทาสกันทั้งนั้น

น่าสังเกตว่าลูอิสเมื่อเป็นเด็กนั้นก็ฝันที่จะโตไปเป็นนักเทศน์หรือสาธุคุณในโบสถ์คริสต์ แสดงว่าเขาต้องเป็นเด็กฉลาดหัวดีและเรียนหนังสือได้ นับแต่ยุคทาสเป็นต้นมา หนทางที่เด็กผู้ชายผิวดำจะมีโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าการใช้ชีวิตเยี่ยงทาสทำงานหนักในไร่ ก็คือการไปเป็นศาสนาจารย์หรือนักเทศนาพระคัมภีร์ แน็ต เทอร์เนอร์ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้ากบฏทาสในเวอร์จิเนียปี ค.ศ. 1831 เพราะเชื่อว่าพระเจ้าบอกให้เขาทำ หรือนักคิด นักเขียนชื่อดัง เช่น เจมส์ บอลด์วิน ก็เคยฝึกฝนตั้งแต่เด็กเพื่อเตรียมเป็นนักเทศน์ โบสถ์คริสเตียนหรือสถาบันศาสนาคริสต์จึงเป็นสถาบันที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและการเคลื่อนไหวทางสังคม และในที่สุดต่อการเมืองของคนผิวดำ ดังจะเห็นได้จากการเติบใหญ่ของพลังคนผิวดำในการสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960 ภายใต้การนำของสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

เมื่ออายุได้ 5 ขวบ จอห์น ลูอิสก็หัดเทศน์ที่เล้าไก่ ซึ่งเขามีหน้าที่เลี้ยงดู ตลอดเวลาที่เติบโตมา เขาเคยเจอคนผิวขาวแค่ 2 คนเท่านั้น จนเมื่อครอบครัวพาเขาเข้าไปในเมืองทรอยจึงเริ่มเห็นสภาพการเหยียดเชื้อชาติสีผิวภายในห้องสมุดเมือง นั่นเป็นยุคแบ่งแยกแต่เท่าเทียม (segregation but equal) ลูอิสมีญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในรัฐภาคเหนือ ทำให้เขารู้ว่าทางเหนือยอมให้คนดำใช้ระบบขนส่งเดินทางร่วมกันกับคนขาวได้ เมื่อเขาถามแม่ว่าทำไมถึงมีการแบ่งแยกสีผิวแบบนี้ แม่ก็สอนตั้งแต่เล็กๆ ว่าอย่าไปยุ่งกับความลำบากอะไรเลย อยู่ของเราไปก็แล้วกัน แต่เขาไม่เชื่อแม่ จึงต้องเจอกับความยากลำบากและเป็นผู้แทนของความยากลำบากของผู้คนทั้งหลายตลอดชีวิต

แรงผลักดันที่ทำให้ชีวิตของจอห์น ลูอิสเปลี่ยนไป คืออุดมการณ์หรือความเชื่ออย่างแรงกล้าในการทำให้คนผิวดำได้รับความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคมอเมริกา อุดมการณ์ของเขาได้รับการตอกย้ำและกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหลังจากได้ฟังคำพูดของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา อีกคนที่ให้ภาพประทับในความกล้าหาญของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสมอภาพคือ โรซ่า ปาร์คส์ สตรีผิวดำที่จุดชนวนการบอยคอตรถเมล์ในเมืองมอนต์โกเมอรี่ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะลุกขึ้นให้ที่นั่งนั้นแก่คนผิวขาว คนขับเรียกตำรวจมาบังคับให้เธอลงจากรถ วันรุ่งขึ้นมวลชนผิวดำก็ออกมาประท้วงต่อต้านด้วยการบอยคอตรถเมล์ทั้งเมือง ทำให้เกิดสภาพเมืองเป็นอัมพาตไป หลังจากถูกปฏิเสธการเข้าเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทรอย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ แนะนำให้เขาไปเรียนที่สามเณราลัยแบพติสต์ในแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี่ จนจบ และทำพิธีบวชเป็นศาสนาจารย์แบพติสต์ จากนั้นเขาก็ไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยฟริสค์จนได้ปริญญาตรีทางศาสนาและปรัชญา

ที่เทนเนสซี่ ลูอิสเข้าร่วมขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) เขานำนักศึกษาไปนั่งประท้วง (sit-in) ด้วยการเข้าไปนั่งในร้านอาหารที่ไม่รับคนผิวดำ หรือไปสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์ซึ่งสำรองไว้เฉพาะคนผิวขาว ผลจากการประท้วงและรณรงค์ให้คนดำเลือกตั้งได้ ทำให้เขาถูกจับกุมคุมขังหลายครั้ง จนทำให้เขาสรุปความจัดเจนในการต่อสู้ว่า มีแต่ต้องไปหาความยากลำบากถึงจะแก้ไขความยากลำบากได้ นั่นคือการไปหา “ความยากลำบากที่ดี” ซึ่งจะเป็นปณิธานในการทำงานและเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาต่อไปจนวันสุดท้ายของชีวิต

ตอนนั้น ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้จัดตั้งกลุ่มนำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่อิงกับโบสถ์คริสเตียน ได้แก่กลุ่ม Southern Christian Leadership Council (SCLC) ซึ่งทำหน้าที่ให้การศึกษา ปลุกระดม จัดตั้งคนทั่วๆ ไป แต่ที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาภายใต้ชื่อ Student Nonviolent Coordinating Council (SNCC) หรือ “สนิก” ในปี 1963

SNCC เป็นแกนนำองค์กรการเคลื่อนไหวของนักศึกษาผิวดำภาคใต้ที่โด่งดังมากในยุค 1960 จอห์น ลูอิสเป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมจัดตั้ง SNCC และเป็นประธานกลุ่มในช่วง 1963-66 ก่อนหน้านี้ ลูอิสได้ไปอบรมแนวทางการต่อสู้อย่างอหิงสา อันเป็นแนวทางและอุดมการณ์ที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ยึดถือเป็นแนวทางของขบวนการ ลูอิสจึงเป็นแกนนำฝ่ายอหิงสาและสันติในขบวนการนักศึกษาเพื่อสิทธิพลเมืองมาแต่แรก

จอห์น ลูอิสสร้างชื่อในเหตุการณ์สำคัญคือการเดินประท้วงในวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 1963 ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ March on Washington ซึ่งมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ขึ้นกล่าวปราศรัย “I Have a Dream” ซึ่งกินใจผู้คนต่อมาอีกหลายทศวรรษ ลูอิสเป็นหนึ่งในคณะแกนนำหกคน (The Big Six) เขามีอายุน้อยที่สุด แต่เตรียมคำปราศรัยที่แรงที่สุด จนถูกขอให้มีการแก้ไขบางวรรคและถ้อยคำ เพราะไม่ต้องการสร้างความลำบากใจมากเกินไปแก่รัฐบาลเคนเนดี้ที่พยายามเข้าใจและหาทางแก้ปัญหาคนผิวดำในภาคใต้อยู่  ลูอิสพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลกลางออกมายืนอยู่ฝ่ายคนผิวดำให้มากหน่อย แต่ดังที่ได้ประสบมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางได้แต่ออกไปจดบันทึกข้อมูล แต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอะไรได้ โฮเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn) นักประวัติศาสตร์อเมริกันฝ่ายซ้ายเขียนถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ลูอิสได้เตรียมคำถามที่ถูกต้องยิ่งว่า “รัฐบาลนี้ยืนอยู่กับฝ่ายไหน?” (Which side is the federal government on?) นี่เป็นวรรคที่เขาต้องตัดออก ก่อนขึ้นพูดเป็นคนที่สี่ ก่อนหน้า ดร.คิง ที่ขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย

การเคลื่อนไหวสำคัญของเขาต่อมาได้แก่ “การเดินทางเพื่อเสรีภาพ” (Freedom Rides) เขากับเพื่อนรวม 13 คน (คนผิวขาว 7 คน ต่อมา 3 คนนั้นถูกฆาตกรรมโดยคนขาว) เดินทางจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังเมืองนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียน่า ระหว่างผ่านเมืองต่างๆ พวกเขาก็ใช้บริการในสถานที่ที่ไม่เปิดให้คนดำ เป็นการท้าทายกฎหมายและการปฏิบัติที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม ตอนนั้นศาลสูงสุดเพิ่งให้คำตัดสินคดี Boynton v. Virginia (1960) ที่ระบุว่าการกีดกันแบ่งแยกในการใช้ทางหลวงระหว่างรัฐ (interstate) ของคนผิวดำนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพวกคณะเดินทางเพื่อเสรีภาพจึงอ้างว่าพวกเขาออกไปกระตุ้นให้บรรดามลรัฐต่างๆ ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด แน่นอนว่าพวกผู้ว่าการรัฐภาคใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวเมืองร่วมกันใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเดินเพื่อเสรีภาพ มีการใช้กำลังและอาวุธทำร้ายทุบตีกลุ่มนี้ด้วยไม้เบสบอล ท่อน้ำ ไม้แฝก โซ่และก้อนหิน ที่มิสซิสซิปปี้ ลูอิสถูกจับและขังคุกถึง 40 วันกว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมา น่าตลกที่ทรัมป์กับพวกออกมาโจมตีการเดินประท้วงของกลุ่ม “ชีวิตคนดำมีความหมาย” ว่าเป็นการใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นมีแต่คนผิวขาวคลั่งเชื้อชาติเท่านั้นที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำตลอดมา โดยรัฐหนุนหลังอย่างเปิดเผย

ผมคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ลูอิสมีความเข้าใจในปรัชญาอหิงสาที่ใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแจ่มชัดและลึกซึ้งขึ้น เพราะมันทำให้เขาอดประหลาดใจไม่ได้ว่า เหตุใดคนผิวขาวถึงตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการประท้วงที่สงบสันติของคนผิวดำ ยิ่งถูกปราบปรามและตอบโต้ด้วยความรุนแรง นักเคลื่อนไหวผิวดำก็ยิ่งทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้แก่การต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ เพราะแสดงว่าสิ่งที่เขาได้ทำลงไปนั้นต้องถูก ไม่งั้นฝ่ายตรงข้ามจะโกรธแค้นและกระทำการที่ผิดทั้งต่อกฎหมายและพระเจ้าทำไม

เขาเชื่อว่าวันหนึ่งทั้งกฎหมายและพระเจ้าต้องอยู่กับพวกเขา

ความลำบากเห็นได้จากรัฐบาลเคนเนดี้ขณะนั้นยังต้องปรามคณะเดินทางเสรีภาพว่าให้เบาๆ มือหน่อย เพราะเกรงว่าจะคุมสถานการณ์ไม่ได้ แม้แต่โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ น้องชายของประธานาธิบดี และรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งมีความเห็นใจในจุดหมายของคนดำ ก็ยังไม่กล้าออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ นี่คือข้อจำกัดของการเมืองในระบบที่ไม่อาจลงไปแก้ปัญหาที่ขัดแย้งหนักในสังคมได้อย่างทันท่วงที ทำให้แกนนำหลายคนในขบวนการสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียมทางเชื้อชาติไม่ค่อยมั่นใจว่าหนทางอหิงสาและสันติวิธีจะนำไปสู่การได้ความเท่าเทียมและสิทธิในการเลือกตั้งจริงหรือ จอห์น ลูอิสก็อยู่ท่ามกลางการต่อสู้สองแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่กลุ่ม SNCC ของเขาก็มีปัญหากับกลุ่ม SCLC ของ ดร.คิงด้วยเหมือนกัน ต่อมาเมื่อกลุ่มได้ประธานคนใหม่ที่ชื่อ Stokley Carmichael ซึ่งประกาศคำว่า Black Power (พลังอำนาจผิวดำ) คำดังกล่าวก็กลายเป็นคำขวัญและชื่อเรียกของกลุ่มที่ไม่ยอมประนีประนอมกับอำนาจรัฐผิวขาวอีกต่อไป เป็นที่มาของพรรคแบล็คแพนเธอร์นั่นเอง

แล้วก็มาถึงเหตุการณ์เดินประท้วงในเมืองเซลมา รัฐแอละบามาที่กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ที่มีหมุดหมายสำคัญยิ่งในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ

ในปี 1965 กลุ่ม SCLC มีมติให้เดินประท้วงรัฐแอละบามาที่มีการใช้ความรุนแรงและฆ่านักเรียกร้องสิทธิทั้งผิวดำและขาว แต่กลุ่ม SNCC ลงมติไม่เข้าร่วมการเดินขบวนไปยังจวนผู้ว่าการจอร์จ วอลเลซ เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ดร.คิงให้การสนับสนุนกลุ่ม SCLC ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำในการเดินประท้วง ลูอิสจึงเข้าร่วมนำการประท้วงในนามของเขาเอง

วันที่ 7 มีนาคม 1965 ดร.คิงเข้ามาเมืองเซลมาไม่ได้ ลูอิสกับแกนนำจึงดำเนินการนำกลุ่มผู้ประท้วงเดินข้ามสะพานเอ็ดมัน เพตตุส เพื่อไปยังจวนผู้ว่าการรัฐแอละบามาเพื่อยื่นข้อประท้วงการฆ่าผู้ประท้วงอย่างสงบสันติโดยตำรวจ เมื่อไปถึงอีกฟากก็ถูกสกัดโดยกองกำลังตำรวจเต็มที่ เมื่อฝ่ายประท้วงไม่ยอมถอย ก็ถูกตำรวจบุกเข้าโจมตีอย่างป่าเถื่อนด้วยกระบองและแก๊สน้ำตา ลูอิสและผู้ร่วมขบวนประท้วงถูกทุบตีอย่างสาหัส ลูอิสถูกตีที่ศีรษะจนกระโหลกร้าวในวันนั้น

เป็นครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์เริ่มรายงานข่าวสด ในเวลา 3 ชั่วโมง ประชาชนเห็นภาพการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เข้าทุบตี หวดด้วยแส้บนหลังม้า ท่ามกลางผู้คนหญิงชายที่ไม่ตอบโต้ใดๆ เลย สถานีโทรทัศน์หยุดรายการหนังดังคืนนั้น Trial At Nuremberg ซึ่งกำลังพิพากษานาซีเยอรมันต่อการล้างเผ่าพันธุ์ ทันใดผู้ชมอเมริกันทั้งประเทศก็ตะลึง เมื่อภาพข่าวของกองกำลังแห่งรัฐเข้าโจมตีประชาชนมือเปล่า มีคนร้องว่าเหมือนในนาซีเยอรมันเลย

วันรุ่งขึ้นคนอเมริกันไม่น้อยออกมาประท้วงการกระทำดังกล่าว มีการเดินทางไปสนับสนุนถึงเซลมา

อีก 2 วันต่อมา ดร.คิงเข้ามาเป็นผู้นำขบวนเดินข้ามสะพานอีก แต่ก็เผชิญกองกำลังที่ไม่ยอมให้ผ่านไป ดร.คิงยอมถอยกลับ จนวันที่ 21 มีนาคม ศาลสหพันธ์มีคำสั่งไม่ให้กำลังเจ้าหน้าที่ขัดขวางการเดินอย่างสงบของผู้ประท้วง

วันนั้นฝ่ายผู้ประท้วงจึงสามารถเดินข้ามสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ไปได้ด้วยดี

การเมืองเริ่มเปลี่ยนกระแส สองวันก่อนเดินประท้วงที่เซลมา ดร.คิงได้พบและเจรจากับประธานาธิบดีจอห์นสันเรื่องการออกกฎหมายให้สิทธิพลเมืองในการเลือกตั้ง แต่จอห์นสันยังไม่รับ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่สำคัญอะไร

แต่หลังการปราบปรามที่เซลมา จอห์นสันออกมายอมรับว่าถึงเวลาที่จะต้องผ่านกฎหมายให้สิทธิการเลือกตั้งแก่คนดำ

ในที่สุด กฎหมาย Voting Rights Act ก็ผ่านออกมาได้ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1965

ปัจจุบัน กฎหมายนี้ถูกศาลสูงสุดที่อนุรักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ แก้ไขปรับเปลี่ยน จนหมดธาตุแท้แต่เดิมมันไปเยอะ ส.ส.ฝ่ายเดโมแครตโดยเฉพาะลูอิส พยายามผลักดันให้ออกกฎหมายเพื่อรื้อฟื้นสปิริตของกฎหมายเก่าอีก แต่ก็พรรครีพับลิกันและประธานาธิบดีก็ไม่เอาด้วย

หลังจากการมรณกรรมของลูอิส ล่าสุดคองเกรสภายใต้การนำของแนนซี เพโลซี ก็ผ่านกฎหมายสิทธิการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในนามของจอห์น ลูอิส เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

ฟังแล้วเหนื่อยแทนคนผิวดำในสหรัฐฯ เพราะอะไรที่พวกเขาได้มา มันช่างแสนยากเย็นเหลือเข็น เสร็จแล้วก็ถูกแย่งชิงกลับไปอีกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย(ผิวขาว)

จอห์น ลูอิสซึ่งได้ฉายาว่า “มโนธรรมแห่งรัฐสภา” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความยากลำบาก” – ความยากลำบากที่ดี ความยากลำบากที่จำเป็น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save