fbpx
มองว่าที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จาก 'เหรียญจอห์น เบตส์ คลาร์ก'

มองว่าที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จาก ‘เหรียญจอห์น เบตส์ คลาร์ก’

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) กำลังจะประกาศผลผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (หรือชื่อเต็มคือ รางวัลเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ หรือ The Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel) ประจำปี 2019 ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ตัวเก็งในสายตาของบริษัทนักวิเคราะห์เจ้าหนึ่ง ได้แก่ ดับบลิว. ไบรอัน อาร์เธอร์ (สถาบันซานตาเฟ่) แอเรียล รูบินสไตน์ (มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ) โซเรน โยฮันเซ่น และแคทารินา จูเซเลียส (มหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน) ชื่ออื่นๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง ได้แก่ เดล ยอร์เกนสัน (มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) มาร์ติน เฟลด์สไตน์ (มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) เอสเธอร์ ดูโฟล (เอ็มไอที) และดารอน อาเซโมกลู (เอ็มไอที) จุดร่วมของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหลังนี้คือ พวกเขาและเธอต่างเคยได้รับเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก (John Bates Clark Medal) ด้วยกันทุกคน

 

เหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก คืออะไร?

 

เหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก เป็นรางวัลที่สมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกัน (American Economic Association: AEA) มอบให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งอายุไม่เกิน 40 ปีที่ ‘สร้างคุณูปการต่อแนวคิดและความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญที่สุด’ ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับรางวัลไม่จำเป็นต้องถือสัญชาติอเมริกัน หากแต่ต้องทำงานอยู่สหรัฐอเมริกาในขณะที่ได้รับรางวัล โดยล่าสุดในปี 2019 นี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ เอมิ นากามูระ (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์) จากการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อศึกษาสาเหตุของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ รวมถึงเพื่อวัดผลกระทบของนโยบายการเงินและการคลังต่อระบบเศรษฐกิจ

สมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกันเริ่มมอบเหรียญรางวัลดังกล่าวครั้งแรกในปี 1947 ในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีชาตกาลของจอห์น เบตส์ คลาร์ก (ก่อนหน้าการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ครั้งแรกเกินกว่าสองทศวรรษ) และดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ สองปี จนกระทั่งปี 2009 จึงเปลี่ยนมามอบรางวัลเป็นประจำทุกปี  เจ้าของรางวัลนี้คนแรกคือ พอล แซมมวลสัน ผู้เป็นที่รู้จักกันดีจากการเขียนตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นซึ่งถือเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่ขายทีดีที่สุดในโลก และถูกตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 70 ปี  เขาคว้าเหรียญรางวัลนี้ไปครองตั้งแต่อายุเพียง 32 ปี ต่อมาในปี 1970 เขาก็กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก ก็ต่อคิวเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกันกับแซมมวลสัน เริ่มจากเคนเน็ธ แอร์โรว์ (ได้รับเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก ในปี 1957 และรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1972) ตามมาด้วยมิลตัน ฟรีดแมน (1951 และ 1976) ลอว์เรนซ์ ไคลน์ (1959 และ 1980) เจมส์ โทบิน (1955 และ 1981) โรเบิร์ต โซโลว์ (1961 และ 1987) แกร์รี่ เบ็คเกอร์ (1967 และ 1992) แดเนียล แมคฟาดเด้น (1975 และ 2000) เจมส์ เฮ็คแมน (1983 และ 2000) โจเซฟ สติกลิตซ์ (1979 และ 2001) และไมเคิล สเปนซ์ (1981 และ 2001) โดยคนสุดท้ายที่ทำได้คือ พอล ครูกแมน (1991 และ 2008) แต่หลังจากนั้นก็ว่างเว้นมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะเปรียบเทียบกับกรณีของไทยนั้น ไทยมีการมอบรางวัลในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกันคือ รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่สถาบันวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน ร่วมกับสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทยมอบให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อายุไม่เกิน 45 ปีที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและสามารถผลิตผลงานวิชาการคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง โดยมอบรางวัลเป็นประจำทุกๆ สองปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และคนล่าสุดที่ได้รับรางวัลในปี พ.ศ. 2562 นี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ อรรถวานิช (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

 

จอห์น เบตส์ คลาร์ก คือใคร?

 

เหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก ถูกตั้งขึ้นตามชื่อของจอห์น เบตส์ คลาร์ก นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน คลาร์กเกิดเมื่อปี 1847 ในรัฐโรดไอแลนด์ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยแอมเฮิร์สต์เมื่ออายุได้ 24 ปีหลังจากเรียนๆ หยุดๆ เพราะภาระทางครอบครัว ต่อมาด้วยคำแนะนำของอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าโลกวิชาการ และกลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่เดินทางออกจากสหรัฐฯ เพื่อไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองในเยอรมนี (ขณะนั้นสหรัฐ ยังไม่มีการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอย่างเป็นทางการ) แต่เขาก็ไม่สำเร็จการศึกษา และกลับสหรัฐฯ แบบมือเปล่าในปี 1875

กระนั้นคลาร์กก็มีบทบาทสำคัญในวงการการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างน่าทึ่ง เมื่อกลับมาถึงสหรัฐฯ เขารับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่วิทยาลัยคาร์ลตันในรัฐมินนิโซตา ก่อนจะย้ายไปสอนที่วิทยาลัยสมิธในรัฐแมสซาชูเซตส์ในปี 1881 อยู่ราวหนึ่งทศวรรษ และกลับไปสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิทยาลัยแอมเฮิร์สต์ที่เขาเคยเรียน ควบคู่กับการเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์  จนกระทั่งในปี 1895 เขาก็ตอบรับคำเชิญตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (และหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยเยล) และสอนอยู่ที่นั่นจนเกษียณอายุในปี 1923

ผลงานทางวิชาการของคลาร์กก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ขณะที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยคาร์ลตัน เขาเริ่มผลิตผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร The New Englander (ปัจจุบันคือ The Yale Review) ดอกผลของงานเหล่านี้คือหนังสือ The Philosophy of Wealth: Economic Principles Newly Formulated (1886) ต่อมาเมื่อสอนอยู่ที่วิทยาลัยสมิธ เขาเขียนงานขึ้นหลายชิ้น รวมถึง Capital and Its Earnings (1888), Possibility of a Scientific Law of Wages (1889), The Law of Wages and Interest (1890), Distribution as Determined by a Law of Rent (1891) ซึ่งกลายเป็นรากฐานของหนังสือเล่มสำคัญ The Distribution of Wealth: A Theory of Wages, Interest and Profits (1899) ในเวลาต่อมา  หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในต้นธารสำคัญของเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิกในสหรัฐฯ งานของคลาร์กช่วยขยับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จากการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองไปเป็นแบบส่วนเพิ่มนิยม (marginalism) เช่นเดียวกันกับงานที่ออกมาก่อนหน้าของวิลเลียม สแตนลีย์ เจวอนส์ และลีออน วอลรัส

นอกจากนี้ คลาร์กยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และลงมือลงแรงเพื่อทำให้ AEA ลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมอยู่หนึ่งสมัย จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ AEA นำชื่อของคลาร์กมาตั้งเป็นชื่อเหรียญรางวัล

คลาร์กเสียชีวิตเมื่อปี 1938 ขณะมีอายุได้ 91 ปี

เหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก บอกอะไรเรา?

 

การพิจารณามอบเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก หลายต่อหลายครั้งเป็นการบอกใบ้ ‘เทรนด์’ ของวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น หนึ่งปีก่อนที่แดเนียล คาห์นีมาน จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานบุกเบิกด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในปี 2002 นั้น แมทธิว ราบิน (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอีกคนหนึ่งก็เพิ่งคว้าเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก ไปครองหมาดๆ

แต่แนวโน้มที่อาจเห็นได้ชัดกว่าคือ การเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ งานศึกษาชิ้นหนึ่งเสนอว่า นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก เกือบทั้งหมดในระยะหลังสร้างชื่อจากผลงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ ‘เชิงประยุกต์’ หรือ ‘เชิงประจักษ์’ มากกว่าจากงานวิจัยเชิงทฤษฎี  ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากผู้ได้รับเหรียญรางวัลในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ที่มักเป็นเจ้าพ่อทฤษฎี  อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กำลังเดินห่างออกจากทฤษฎีเข้าหาข้อมูล หากแต่เป็นการเปลี่ยนจากการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้เพื่อทดสอบและพิสูจน์ทฤษฎีทั่วไป ไปเป็นการใช้ข้อมูลจากโลกความเป็นจริงเพื่อสร้างทฤษฎีสำหรับตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

สำหรับท่านที่สนใจผลงานวิชาการของผู้ได้รับเหรียญรางวัลจอห์น เบตส์ คลาร์ก วารสาร Journal of Economic Perspectives (JEP) ที่ผลิตโดย AEA จะเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาเขียนบทความสรุปและวิพากษ์ผลงานของผู้ได้รับเหรียญรางวัลเป็นประจำทุกปี ท่านสามารถเข้าถึงบทความเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่หน้าเว็บไซต์ของวารสารดังกล่าว

 

 


อ่านเพิ่มเติม

Backhouse, R. E., & Cherrier, B. (2017). The Age of The Applied Economist: The Transformation of Economics Since The 1970s. History of Political Economy, 49(Supplement), 1-33.

Henry, J. F. (2016). John Bates Clark: The Making of a Neoclassical Economist. Springer.

Leonard, T. C. (2003). A Certain Rude Honesty: John Bates Clark as a Pioneering Neoclassical Economist. History of Political Economy, 35(3), 521-558.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save