fbpx

“รัฐใดสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ รัฐนั้นสามารถปกครองโลกได้” มองภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่ กับ จิตติภัทร พูนขำ

เช่นเดียวกับทุกสิ่งในหน้าประวัติศาสตร์ – ระเบียบโลกมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของทิศทางการเมืองโลก มหาอำนาจนำ หรืออุดมการณ์ต่างๆ และแม้โลกในศตวรรษที่ 21 จะเคยถูกคาดการณ์ว่าเป็นโลกที่มาถึง ‘จุดจบของประวัติศาสตร์’ ซึ่งระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมกลายมาเป็นระบอบการปกครองหลัก แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า กระแสการเมืองโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้ชี้ชัดเช่นนั้น

ยิ่งเมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด เรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลกก็ดูจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงไม่แพ้มิติอื่น กล่าวคือโควิดทำให้โจทย์การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกที่ได้รับการพูดถึงมาก่อนหน้านี้ชัดเจนขึ้น เราเห็น ‘จีน’ เริ่มรุกคืบเข้ามามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศชนิดจี้สหรัฐฯ มาติดๆ จนทำให้นักคิดหลายคนมองว่า เรากำลังเข้าสู่โลกที่อาจจะแบ่งออกเป็นสองขั้วอำนาจมากขึ้น พร้อมไปกับอีกปัจจัยสำคัญอย่าง ‘เทคโนโลยี’ ที่เข้ามาเปิดโจทย์ใหม่ และกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แต่ละรัฐใช้ส่งเสริมและแย่งชิงอำนาจกัน

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การต่างประเทศของไทยในภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่จึงกลายเป็นหนึ่งโจทย์น่าขบคิด – ในฉากทัศน์แบบมหาอำนาจสองขั้วและโลกที่เทคโนโลยีคืออำนาจ ไทยควรวางแนวทางในเวทีโลกอย่างไร ยุทธศาสตร์การต่างประเทศแบบไหนจะช่วยให้เราอยู่รอดและมั่นคงในความผันผวนเช่นนี้

101 สนทนากับ รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงโจทย์ภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งมองโจทย์ใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปิดท้ายด้วยการชวน ‘ตั้งหลักใหม่’ มองยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้

มองแนวโน้มระเบียบโลกหรือภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่ในยุคหลังโควิด-19 อย่างไร อะไรเป็นประเด็นที่นักภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศกำลังสนใจศึกษากันอยู่

การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะระบาดเสียด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมมองว่า ระเบียบโลกน่าจะกำลังก้าวไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจ (bipolar world) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้น แม้ทุกวันนี้ จีนจะยังเป็นเบอร์ 2 แต่ก็ถือว่าหายใจรดต้นคอสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคง และเมื่อมีโควิดเข้ามา ก็เหมือนเป็น ‘ตัวเร่งขนาดใหญ่’ (great accelerator) ให้โลกไปในทิศทางที่เป็นสองขั้วอำนาจมากขึ้น และนี่น่าจะเป็นหน้าตาของระเบียบโลกในยุคหลังโควิดด้วย

ระเบียบโลกที่เป็นแบบ ‘สองขั้วอำนาจมากขึ้น’ ในยุคหลังโควิด น่าจะมีลักษณะหรือทิศทางอย่างไรบ้าง

ระเบียบโลกหลังโควิดน่าจะมีคุณลักษณะอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้:

ประการแรกคือ ระเบียบโลกจะมีลักษณะแยกตัวออกห่างมากขึ้น หรือบางคนใช้คำว่า ‘decoupling’ ซึ่งเป็นคำคลาสสิกในปัจจุบันไปแล้ว คือแยกห่างออกจากกันทั้งด้านผลประโยชน์ วิธีคิด และระบบการเมืองต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงมีกลุ่มที่อยู่ภายใต้สหรัฐฯ กับจีนมากขึ้นด้วยในเชิง decoupling ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และการทหาร

ประการที่สองคือ ระบบสองขั้วอำนาจจะขยับไปสู่การแข่งขันทางความคิดและระบบคุณค่ามากขึ้น คุณค่า (values) จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ สิ่งสำคัญกลายเป็นการปะทะกันของระเบียบโลก (a clash of world orders) สองชุด ชุดแรกเป็นระบบที่วางอยู่บนฐานของเสรีนิยม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจแบบเสรี อีกชุดหนึ่งคือแบบที่เน้นรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งบางคนอาจจะแซวเล่นๆ ว่าเป็นทุนนิยมที่มีลักษณะเป็นจีนหรือเอเชีย สองระบบที่แตกต่างกันนี้จะทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นมาว่า ประเทศต่างๆ จะดำเนินนโยบายแบบไหน

ประการที่สามคือ การแข่งขันกันในการกำหนดสถานการณ์การเป็นผู้นำโลกในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีการแข่งขันกันสูงมากในปัจจุบัน สหรัฐฯ มองจีนว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ (strategic competitor) มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่หน่วยงานด้านกลาโหมอาจจะมองว่าเป็นภัยคุกคามที่จะมาแทนที่สหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ดังที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ ยิ่งเมื่อโจ ไบเดน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้ว เราจะเห็นว่าเขาพูดถึงนโยบายที่จะกลับมานำโลกอีกครั้ง (lead the world again) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณค่าแบบเสรีนิยมด้วย ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแข่งขันจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในการกำหนดว่าใครจะเป็นผู้นำโลก ซึ่งรวมถึงเรื่องวัคซีนโควิดด้วย

ประเด็นที่สี่ ถ้าจะถามต่อว่า แล้วจะมีการแข่งขันกันในด้านใดบ้าง ผมอยากเสนอว่าการแข่งขันจะเกิดขึ้นใน 3T ที่สำคัญ คือการค้า (Trade) เทคโนโลยี (Technology) และไต้หวัน (Taiwan) ซึ่งไต้หวันเป็นภาพสะท้อนการแข่งขันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของจีนในทะเลจีนใต้ รวมถึงเรื่องฮ่องกงด้วย

ประเด็นที่ห้า หลายคนถกเถียงกันเยอะว่า ระเบียบโลกแบบสองขั้วอำนาจจะนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่ แต่ผมมองว่ามันยังไม่ถึงขั้นเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ เพราะเรายังไม่เห็นระบบพันธมิตรที่ชัดเจนตายตัวเหมือนยุคสมัยสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต อีกทั้งรัฐขนาดกลางหรือขนาดเล็กยังไม่เห็นด้วยกับการสร้างบล็อกต่อต้านจีนอย่างตรงไปตรงมา เพราะคิดว่าจีนมีความยิ่งใหญ่และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเยอะมาก แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสหรือเยอรมนีก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างบล็อกต่อต้านจีน ส่วนสหภาพยุโรป (EU) ก็ขยับไปทำข้อตกลงทางการค้าการลงทุนกับจีนแล้ว เพราะฉะนั้น รัฐขนาดเล็กน่าจะดำเนินนโยบายแบบประกันความเสี่ยง (hedging) มากกว่า

ถ้าบอกว่าโควิดเป็นตัวเร่งขนาดใหญ่ โควิดเข้าไปเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ละมิติอย่างไรบ้าง

นอกจากเป็นตัวเร่งแล้ว หลายคนยังบอกว่าโควิดเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game changer) ด้วย ซึ่งผมคิดว่าโควิดไปเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 4-5 เรื่องด้วยกัน หรือทำให้กระบวนการที่ว่าแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น

ข้อแรกคือ ทำให้เกิดการ decoupling ถ่างออกจากกันมากขึ้น เราเห็นแล้วว่าโควิดทำให้เกิดการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน สหรัฐฯ ก็กล่าวหาว่าจีนเป็นคนปล่อยเชื้อโรคออกมา ส่วนจีนก็ตอบโต้สหรัฐฯ หรือพันธมิตรกลับ เช่น ออสเตรเลีย ที่ออกมาตั้งคำถามเรื่องต้นตอโควิด ก็โดนจีนโต้กลับด้วยมาตรการทางการค้าต่างๆ หรือนอกจากเรื่องโควิดแล้ว การ decoupling ก็จะเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน และรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านการค้าหรือเทคโนโลยีที่ไปกระทบกับอำนาจอธิปไตยของจีนด้วย

ข้อที่สอง ทำให้เกิดการลดทอนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalisation) มากขึ้น เพราะโควิดทำให้เกิดการปิดประเทศ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ แต่ละรัฐต้องพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในประเทศของตน (local supply chain) หรือพึ่งพาเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น 

ข้อที่สาม รัฐจะกลับมามีบทบาทสำคัญ หรือที่หลายคนใช้คำว่าทำให้พรมแดนมีความเข้มข้นมากขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เราจะเห็นการสร้างกำแพง เช่น การสร้างกำแพงระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เท่ากับว่ากำแพงจะเยอะขึ้น พรมแดนจะหนามากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงมาตรการด้านสุขอนามัยซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่ขึ้นมา ตรงนี้รัฐก็จะมีบทบาทสำคัญเยอะขึ้นด้วย

ข้อที่สี่ โควิดเร่งกระบวนการชาตินิยม (nationalism) หรือกระแสปกป้องการค้า (protectionism) ให้ไปไกลขึ้น สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนก็มีการพูดถึง ‘Buy American’ ซึ่งจะทำให้เราเห็นการปกป้องทางการค้าที่สูงขึ้น มีการตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้น หรือสงครามการค้าก็อาจจะยังอยู่กับเราต่อไปด้วย

และ ข้อที่ห้า เรื่องของวัคซีนยังเป็นโจทย์ใหญ่ ทุกรัฐ โดยเฉพาะมหาอำนาจ พยายามจะใช้การทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) ทั้งในฐานะเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ และเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อกำหนดว่า ใครจะมีผลประโยชน์ทางวัคซีนในบริเวณไหน ภูมิภาคใด รัฐขนาดกลางหรือขนาดเล็กก็ต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่าจะอยู่ขั้วอำนาจไหน เพราะฉะนั้น การเลือกวัคซีนสำคัญ การให้วัคซีนก็สำคัญ อย่างประเทศอินเดีย เราจะเห็นเขาพยายามที่จะผลักอิทธิพลของจีนออกไปในบริเวณเอเชียใต้ รวมถึงพม่าด้วยนิดหน่อย

หลายคนถกเถียงกันเยอะว่า ระเบียบโลกแบบสองขั้วอำนาจจะนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่ แต่ผมมองว่ามันยังไม่ถึงขั้นเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ เพราะเรายังไม่เห็นระบบพันธมิตรที่ชัดเจนตายตัวเหมือนยุคสมัยสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต

การเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ จากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็น โจ ไบเดน ส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลก

ในกรณีสหรัฐฯ ทรัมป์กับไบเดนมีทั้งความเหมือนและความต่างกัน ถ้าเป็นด้านความต่าง ก็อย่างที่เราเห็นกันว่า ทรัมป์จะเป็นแบบปกป้องการค้าต่างๆ นานา ส่วนไบเดนจะพยายามหวนกลับมาใช้กลไกพหุภาคีเยอะขึ้น กลับมานำโลกมากขึ้น

แต่ในประเด็นความเหมือนของทรัมป์และไบเดนที่หลายคนอาจจะละเลยไปคือ การมองจีนว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์หรือภัยคุกคาม ซึ่งแนวคิดแบบนี้ยังอยู่ในนโยบายของไบเดน ถามว่าทำไม ส่วนหนึ่งเพราะมุมมองเช่นนี้เป็น bipartisan consensus เป็นฉันทามติของสองพรรคการเมืองใหญ่ในปัจจุบัน นี่ก็สะท้อนคุณค่าแบบหนึ่ง ทำให้เราเห็นว่ามุมมองของสหรัฐฯ ต่อจีนมีความต่อเนื่องและไม่เปลี่ยนไปเท่าใดนัก

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งทรัมป์เป็นคนเปลี่ยนมาใช้คำนี้มากขึ้นในเชิงความสัมพันธ์ ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ และพันธมิตรในภูมิภาค ในสมัยไบเดน อินโด-แปซิฟิกก็จะยังมีบทบาทสำคัญอยู่ แต่สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปคือ ขณะที่ทรัมป์ดูจะไม่ค่อยชอบพหุภาคีนิยม ไบเดนน่าจะใช้ทุกกลไก ทั้งพหุภาคีหรือกลไกระดับภูมิภาคก็ตาม

ในแง่หนึ่ง ระเบียบโลกถือเป็นสินค้าสาธารณะ (public good) ที่ประเทศต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมยังช่วยรับประกัน (peace) และความรุ่งเรือง (prosperity) ได้ดีพอสมควร การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบโลกแบบสองขั้วอำนาจจะสร้างสินค้าสาธารณะแบบไหน

นิยามหนึ่งในทางทฤษฎีบอกว่า หัวใจสำคัญของระเบียบโลกและความพยายามจะเป็นมหาอำนาจนำในระดับโลก (hegemony) คือ การเป็นผู้ให้สินค้าบริการสาธารณะระหว่างประเทศ (international public goods) ด้วย เช่น ค่าเงิน กองทัพ สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเราเห็นจีนพยายามเล่นบทบาทตรงนี้มากขึ้น อย่างการใช้ค่าเงินหยวนเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน หรือความพยายามจะสร้างสินค้าสาธารณะ เช่น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผ่านทางความร่วมมือ BRI แม้แต่วัคซีนก็ถูกรวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย ขณะที่สหรัฐฯ ก็มีความพยายามคล้ายๆ กัน เพราะผู้นำหรือมหาอำนาจนำของโลกจะต้องมีบทบาทความรับผิดชอบต่อโลก

อย่างไรก็ดี จีนก็มีเป๋ไปเล็กน้อยตอนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโรคระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น แต่เขาก็กลับลำได้รวดเร็ว ทั้งส่งออกหน้ากากอนามัย หรือให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์และวัคซีนต่างๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้สินค้าบริการสาธารณะระหว่างประเทศ

ถ้าสหรัฐฯ และจีนมีความพยายามจะเป็นผู้ให้สินค้าและบริการสาธารณะระหว่างประเทศเหมือนกัน อาจารย์มองเห็นความแตกต่างอะไรในสองประเทศนี้บ้าง

ทั้งสองประเทศย่อมมีความต่างกันอยู่ครับ โดยเฉพาะในเงื่อนไขภายในที่วางอยู่บนระบบคุณค่าที่แตกต่างกัน อย่างสหรัฐฯ ก็จะมีระบบคุณค่าเสรีนิยม ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ส่วนจีนจะเน้นเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น เคารพความเป็นพหุนิยมของการเมือง คือไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบการเมืองแบบเดียวกันทั้งหมด นี่ก็เป็นนัยอีกแบบ แต่ทำให้เราเห็นการแข่งขันกันด้านคุณค่าของสองระเบียบ สองชุดความคิดในเวลาเดียวกัน

การเมืองโลกในปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น เช่น ภูมิภาคอาเซียน หรืออินโดแปซิฟิก ที่ถูกมองว่าจะเป็นสนามการแข่งขันสำคัญของมหาอำนาจทั้งระดับโลกและขนาดกลาง ทำไมพื้นที่ หรือภูมิศาสตร์จึงกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ

ต้องบอกก่อนว่า ในภูมิทัศน์ทางวิชาการเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์หรือภูมิศาสตร์การเมือง จริงๆ สองคำนี้ต่างกันนะครับ ในทางรัฐศาสตร์หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเลือกใช้คำว่าภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) มากกว่าด้วยซ้ำ แต่บางทีเราก็ใช้แทนกันได้ 

ในเชิงการศึกษามีพลวัตหลายประการ หนึ่งคือข้อถกเถียงดั้งเดิมหวนกลับมาอีกครั้ง คือการกลับไปดูโจทย์คลาสสิกของภูมิศาสตร์แบบดั้งเดิม เช่น การกลับไปดูบริเวณดินแดนหัวใจ (heartland) หรือขอบดินแดน (rimland) หรือสมุททานุภาพ (sea power) ทำให้งานของ Halford Mackinder หรือ Nicholas J. Spykman หรือ Alfred Thayer Mahan กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง และก็มีการถกเถียงกันว่า ยุทธศาสตร์หลัก (grand strategy) ของสหรัฐฯ หรือของจีนในปัจจุบันมีลักษณะแบบไหน ซึ่งผมคิดว่าจีนมีนโยบายแบบทรีอินวัน คือพยายามจะเชื่อมในระดับที่เป็น belt และ road ทางบกและทางน้ำ ตอบโจทย์ภูมิรัฐศาสตร์ทั้งหมด

สองคือการที่ภูมิรัฐศาสตร์ในวันนี้มีการขยับขยายออกไป ไม่ได้เป็นแค่การควบคุมพื้นที่ทั้งทางกายภาพและเสมือนจริงในโลกไซเบอร์แล้ว แต่ไปถึงการให้ความหมายทางการเมืองแก่พื้นที่หนึ่ง (geographical representation) เช่น กรณีทะเลจีนใต้ ที่แต่ละประเทศให้ความหมายต่างกัน ซึ่งก็กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

ในแง่นี้จึงเกิดกลุ่มนักวิชาการที่บางคนอาจจะเรียกว่า กลุ่มที่ศึกษาภูมิรัฐศาสตร์มหาชน (popular geopolitics) แต่บางคนก็อาจจะเรียกว่าภูมิรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์ (critical geopolitics) ซึ่งสนใจประเด็นที่ไปไกลกว่าแบบดั้งเดิม คือดูวัฒนธรรมของมหาชน (pop culture) ผ่านสื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือนวนิยายต่างๆ ที่ออกมา ทำให้เราเห็นการสร้างภาพตัวแทนในโลกของภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ (James Bond) ที่สื่อให้เราเห็นว่าอะไรเป็นภัยคุกคามโลก หรือพื้นที่ความขัดแย้งในปัจจุบันอยู่ตรงไหน ซึ่งผมคิดว่าในอนาคต เราอาจจะเห็นนวนิยายหรือซีรีส์หันมาพูดถึงภัยคุกคามจากจีนมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ ภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics) อันนี้สำคัญมากเช่นกัน เพราะจะเชื่อมกับเรื่องการคุมตลาดหรือการเข้าถึงตลาดต่างๆ ด้วย

ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของมหาอำนาจในภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ โจทย์ใหญ่ของการระหว่างประเทศไทยคืออะไร

ผมลองเสนอแบบนี้ โจทย์ใหญ่ข้อแรกของไทยคือ เราจะวางตัวอย่างไรในโลกที่มีความเป็นสองขั้วอำนาจอย่างชัดเจน แม้ว่าระดับล่างจะมีความเป็นโลกที่หลากหลาย (multiplex world) ในระดับบน มีการถกเถียงกันว่าโลกจะยังเป็น Pax Americana หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ Pax Sinica แต่ผมว่านี่เป็นทางเลือกที่ถูกบังคับ (forced choices) ของไทยพอสมควร คำถามคือ จำเป็นไหมที่เราต้องเลือกข้าง ซึ่งผมคิดว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเลือกเสียทีเดียว แต่ต้องมีทางเลือกให้ได้ และเป็นทางเลือกที่ออกแบบหรือวางอยู่บนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของเรา ซึ่งผมอยากเรียกว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการประกันความเสี่ยง (hedging) กับยุทธศาสตร์การนำจากรัฐขนาดกลาง (leading from the middle strategy) ซึ่งรัฐขนาดกลาง (middle power) พึงที่จะมีความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการริเริ่มยุทธศาสตร์ใหม่และอาศัยกลไกหรือปทัสถานระดับภูมิภาคในการกำกับหรือกดดันพฤติกรรมของมหาอำนาจ

โจทย์ข้อที่สองคือ ไทยจะรับมือและมียุทธศาสตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลังโควิดอย่างไร ที่จะมีทั้งการแยกตัว (decoupling) การลดทอนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalisation) และการปกป้องการค้า (protectionism) โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่เราต้องคลี่ให้ออก

และโจทย์ข้อที่สามคือ ไทยจะรับมือและมียุทธศาสตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของเทคโนโลยี (disruptive technology) อย่างไร เพราะโลกกำลังเปลี่ยน ตรงนี้ผมเติมประเด็นเล็กๆ นิดหนึ่งว่า สิ่งที่เราเห็นจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 คือเรื่องของทุน ทั้งทุนโดยรัฐหรือโดยเอกชน มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งตรงนี้จะกระทบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกด้วย เรากำลังเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากยุทธศาสตร์ offshore (การโยกย้ายฐานการผลิตไปบริเวณที่มีแรงงานราคาถูกทั่วโลกในประเทศกลุ่มใต้) มาสู่ยุทธศาสตร์ใหม่คือ reshoring โดยผ่านกลไกของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์มากขึ้นในอนาคต

เทรนด์ที่ว่ามาจะก่อให้เกิดปัญหาและความท้าทายมากมาย เช่น การว่างงานเพราะเทคโนโลยี (technological unemployment) เมื่อรัฐและบริษัทหันไปหา AI มากกว่าคน หรือการเกิดอำนาจอธิปไตยทางเทคโนโลยี (technological sovereignty) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคำที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ใช้ในปี 2019 กล่าวคือใครผูกขาดเทคโนโลยีและ AI ได้ ผู้นั้นจะสามารถปกครองโลกได้ 

นอกจากนี้ มหาอำนาจจะหันมาแข่งขันกันในเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างกำลังจะกลับขึ้นฝั่งใหม่ (reshoring) โดยไม่โยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ผมจึงคิดว่าเราต้องสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีขึ้นมาให้สามารถแข่งขันได้ แต่ก็ต้องดูแลให้มี safety net สำหรับโจทย์การว่างงานที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้วย คือเราอาจจะต้องคิดไปถึงการออกแบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ในกรณีของสหรัฐฯ เราเห็นความพยายามจะเก็บภาษีจากบรรษัทมากขึ้น ช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น และทำให้มีระบบการเก็บภาษีที่เท่าเทียมมากขึ้น 

เราต้องสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีขึ้นมาให้สามารถแข่งขันได้ แต่ก็ต้องดูแลให้มี safety net สำหรับโจทย์การว่างงานที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้วย คือเราอาจจะต้องคิดไปถึงการออกแบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร

การต่างประเทศของไทยในปัจจุบันเป็นแบบไหน ยุทธศาสตร์ปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร และเราควรปรับตัวอย่างไรเพื่อพร้อมรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น

หลายคนบอกว่าเราใช้การประกันความเสี่ยง (hedging) บางคนก็ว่าเราเป็นไผ่ลู่ลม (bend with the wind) บ้าง ซึ่งผมมองว่าเรามีปัญหาอยู่เหมือนกัน 

ประการแรก รากปัญหาคือ เราดำเนินนโยบายแบบประกันความเสี่ยงจริงหรือเปล่า หรือเราใช้การประกันความเสี่ยงโดยบังเอิญ (by default) พูดง่ายๆ คือ แต่ละกระทรวง ทบวง กรม หรือภาคเอกชน ต่างไปคนละทิศคนละทาง หน่วยงานหนึ่งอาจจะเข้ากับสหรัฐฯ มากหน่อย อีกหน่วยงานก็อาจจะไปทางจีนแทน กลายเป็นไม่ได้มียุทธศาสตร์ในภาพรวม ผลที่เกิดตามมาคือแม้การรักษาระยะห่างระหว่างมหาอำนาจดูเหมือนจะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่มียุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่ชัดเจนว่าจะวางตัวเองอยู่ตรงไหน

ประการที่สอง หากบอกว่าไทยถูกมองว่าเป็นไผ่ลู่ลม คำถามคือจริงๆ เราเป็นแบบนั้นไหม หรือไทยก็ถูกกระแสลมของมหาอำนาจพัดพาไปอยู่ดี คือไหลไปตามวาระ (agenda) ของมหาอำนาจไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และปัจจุบันนี้ การทำตัวเป็นไผ่ก็ลำบากมากขึ้นนะ เพราะลมแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ นี่ก็เป็นความลักลั่น (paradox) ที่เกิดขึ้น และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรัฐไทย แต่เป็นปัญหานโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐทั่วโลกเลยก็ว่าได้

ประการที่สาม ถ้ามองไปในระดับภูมิภาคหรือระดับสถาบัน การประกันความเสี่ยงก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ สักเท่าไหร่ ยังไม่นับว่าไทยไม่ได้เล่นบทบาทผู้นำในระดับอาเซียนมากนัก ความริเริ่มใหญ่ๆ ก็มาจากประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ยกตัวอย่างกรณีพม่า ไทยก็ถูกวิจารณ์ว่าอยู่ข้างรัฐบาลทหารพม่าและอิงกับวิถีอาเซียน (ASEAN Way) ล่าสุดที่มีการประชุมที่สหประชาชาติ (UN) เราก็เลือกจะงดออกเสียงในกรณีที่มีการเรียกร้องให้หยุดขายอาวุธให้กองทัพพม่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าเราอาจจะต้องการวิสัยทัศน์ด้านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น ต้องการแนวนโยบายที่ตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งชาติในที่นี้หมายถึงประชาชนในภาพรวม และผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่จะกำหนดทิศทางได้

ยุทธศาสตร์ ที่ไทยควรคิดและควรทำในยุคที่การแข่งขันรุนแรงเช่นนี้เป็นยุทธศาสตร์แบบใด

ผมว่าอย่างแรก เราต้องประกันความเสี่ยงแบบเป็นยุทธศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำ ปล่อยให้เป็นเรื่องของระบบราชการไป แต่จะประกันความเสี่ยงอย่างเดียวก็ลำบาก เพราะทั้งสหรัฐฯ กับจีนแข่งขันกันรุนแรงจริงๆ ผมจึงอยากเสนอว่า เราอาจจะดำเนินยุทธศาสตร์แบบการนำจากรัฐขนาดกลางดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เรามีจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือไทยควรที่จะเล่นบทบาทเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคมากขึ้น และริเริ่มนวัตกรรมและชุดนโยบายด้านการเมืองการทูตในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงควรที่จะพยายามกำกับพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจ ภายใต้กติกาหรือปทัสถานบางอย่างของภูมิภาคด้วย

ถามว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้เรียกร้องเยอะไหม เยอะครับ แต่ก็มีกลุ่มประเทศต่างๆ พยายามทำนะ ในอดีต ถ้าเราพูดถึงยุทธศาสตร์การต่างประเทศในช่วงสงครามเย็นที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต เราเห็นการเกิดขึ้นของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) นี่ก็เป็นการริเริ่มที่ดี และอาจเป็นตัวแบบหนึ่งของยุทธศาสตร์แบบการนำจากรัฐขนาดกลางได้

ถ้าจะให้พูดรวมๆ ก็คือ ยุทธศาสตร์ของเราไม่ชัด ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษนิยม (conservative) หรือแบบก้าวหน้า (progressive) ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน เพราะยุทธศาสตร์คือการคิดใคร่ครวญระหว่างเป้าหมายทางการต่างประเทศกับเครื่องมือที่จะใช้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศมียุทธศาสตร์ 5S ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่โจทย์คือรัฐบาลในภาพรวมจะนำแนวคิดดังกล่าวไปแปรเปลี่ยนเป็นวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์และนำไปปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างไรมากกว่า เพราะนโยบายต่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ต้องบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันและยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์หลักให้ได้

ผมอยากทิ้งท้ายไว้แบบนี้ ถ้าเราย้อนดูบทเรียนในอดีต จะเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐไม่คิดถึงความมั่นคงหรือประโยชน์โดยรวมเป็นสำคัญ แต่หันไปมองอุดมการณ์หรือคิดใคร่ครวญเรื่องสถานะ (status) ก่อนประเด็นผลประโยชน์ใหญ่ มักจะทำให้รัฐนั้นค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและอ่อนแอต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหรือเกินตัว เช่น การขยายอำนาจมากจนเกินไป หรือทำให้นโยบายต่างประเทศเกิดความผิดพลาดขึ้นเหมือนนโยบายความมั่นคงในช่วงสงครามเวียดนาม

มีประเทศไหนไหมที่คล้ายไทย คือไม่ใช่ประเทศขนาดใหญ่ แต่มีนโยบายประกันความเสี่ยงและใช้การนำจากประเทศขนาดกลางได้ดี

จริงๆ ก็มีตัวแบบพอสมควร เช่น การเสนอแนวความคิดเรื่องการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian intervention) เราจะเห็นรัฐขนาดเล็กอย่างในแถบสแกนดิเนเวียหรือรัฐขนาดกลางอย่างแคนาดา ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมากำกับพฤติกรรมของมหาอำนาจได้ หรืออย่างช่วงสงครามเย็น กลุ่ม NAM ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

ในแถบอาเซียน ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา อาจารย์คิดว่าประเทศไหนที่ดำเนินนโยบายการต่างประเทศได้ดีและน่าสนใจบ้าง

ผมคิดว่าตัวแบบที่น่าสนใจคืออินโดนีเซีย ซึ่งมีบทบาทหลายเรื่อง ในกรณีพม่าที่ผ่านมาก็ใช่ หรือโจโกวี (โจโก วีโดโด) ก็บอกว่า เราต้องมีนโยบาย Global Maritime Fulcrum ที่จะทำให้อินโดนีเซียมีบทบาทด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ตอนที่มหาอำนาจพูดเรื่องอินโด-แปซิฟิก อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกๆ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นประเทศเดียวด้วยซ้ำที่บอกว่า เราต้องมียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของตัวเอง และพยายามผลักดันประเด็นนี้จนกลายเป็นวาระของอาเซียนที่ปรากฏออกมาเป็น ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) ซึ่งแม้จะลงนามในปี 2019 ตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก็ถือได้ว่าไทยมีบทบาทด้วย แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า คนที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มและผลักดันร่างเอกสารต่างๆ คืออินโดนีเซีย

นักคิดหลายคนเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศเริ่มต้นจากเรื่องภายในประเทศ’ มองจากกรอบนี้เรามองเห็นอะไร การเมืองไทยส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่านโยบายการต่างประเทศไทยมีช่วงเวลาขึ้นๆ ลงๆ ของมัน ซึ่งอยู่กับการมองของเราด้วยว่าเราใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวชี้วัด แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ตัวแบบที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นตัวแบบที่อยู่กับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหน่อย เพราะสามารถที่จะถกเถียงกันทางนโยบาย มีการคัดง้านและถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันได้ รวมทั้งผู้นำที่มาจากเลือกตั้งก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วย อย่างช่วงนโยบายสันติภาพและนโยบายเป็นกลางในช่วงนายกฯ ปรีดี พนมยงค์ หรือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นช่วงที่เราเปลี่ยนวิธีคิดในนโยบายต่างประเทศมากทีเดียว โดยการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าและทำให้เกิดสันติภาพในกัมพูชา แต่ก็ต้องดูด้วยว่า แต่ละตัวแสดงมีเอกภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยที่มีการโต้แย้งกันทางนโยบายมากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความท้าทายได้ เช่น ช่วงพลเอกชาติชาย ที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างบ้านพิษณุโลกกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่โดยภาพรวม ยุทธศาสตร์การต่างประเทศไทยควรไปด้วยกันกับพัฒนาการของประชาธิปไตย 

อีกประเด็นน่าสนใจที่อยากทิ้งท้ายไว้คือ เรามักจะชอบพูดว่าเราเป็นไผ่ลู่ลมตลอดเวลา แต่ในบางช่วง เราเลือกข้างในนโยบายต่างประเทศนะครับ เช่น ช่วงสงครามเวียดนามที่เราอยู่ข้างสหรัฐฯ ซึ่งตรงนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อไทยอยู่บนเวทีระหว่างประเทศ เราควรยืนยันในเรื่องคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จุดยืนแบบนี้จะอยู่ตรงไหนในการดำเนินนโยบายแบบประกันความเสี่ยงหรือรักษาสมดุล

ผมคิดว่าหลายครั้งที่รัฐชาติใช้ ‘คุณค่า’ เป็นเครื่องมือ เช่น ระบบคุณค่าอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น หรือแม้แต่ในปัจจุบัน คุณค่าถูกมองว่าเป็นแค่เครื่องมือในการอธิบายผลประโยชน์ของรัฐ เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าเราควรอิงกับคุณค่าของกฎหมายระหว่างประเทศ และระบบของสหประชาชาติให้มากที่สุด แต่ก็ต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติด้วย ทั้งสองอย่างนี้ต้องสมดุลและถ่วงดุลกันพอสมควร เพื่อจะได้ประกันความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้นโยบายของเรามีความชอบธรรม (legitimacy) และถูกต้องในทางกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมไปกับการตอบสนองต่อประชาชนในประเทศด้วย

ไทยควรที่จะเล่นบทบาทเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคมากขึ้น และริเริ่มนวัตกรรมและชุดนโยบายด้านการเมืองการทูตในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงควรที่จะพยายามกำกับพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจ ภายใต้กติกาหรือปทัสถานบางอย่างของภูมิภาคด้วย

อาจารย์พูดถึงอำนาจอธิปไตยในทางเทคโนโลยี (technological sovereignty) ซึ่งนำมาสู่โจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบริษัทเทคโนโลยี เพราะด้านหนึ่ง รัฐควรต้องพยายามควบคุมบริษัทเทคโนโลยี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อไปตีตลาดภายนอกประเทศด้วย อาจารย์มองว่าจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลายควรเป็นอย่างไร

โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจมากครับ แต่เราอาจจะต้องเริ่มจากการดูสภาพจริงก่อนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบริษัทเทคโนโลยีเป็นยังไง ซึ่งผมว่ามีหลายเทรนด์ที่พอมองเห็นอยู่ตอนนี้

เทรนด์แรกคือ เทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นภาคส่วนยุทธศาสตร์มากขึ้น พูดง่ายๆ คือ เทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเรื่องของส่วนยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบมาก เพราะเมื่อรัฐเปลี่ยนภาคเทคโนโลยีเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์แล้ว ก็จะนำมาสู่การที่รัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุน (subsidy) ซึ่งตรงนี้เป็นโมเดลที่สหรัฐฯ กับจีนมีความคล้ายกันอยู่

เทรนด์อีกเรื่อง ซึ่งผมพูดไปแล้ว คืออำนาจอธิปไตยในทางเทคโนโลยี รัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนา หรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับบริษัท และพยายามจะทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความมั่นคงของชาติ เมื่อมองต่อไปถึงการเคลื่อนไหวในอนาคต เราอาจจะเห็นการผลักดันให้มีการพึ่งพิงกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองมากขึ้น พร้อมกับการแบนการเข้าถึงทรัพยากรหรือ know-how ของเทคโนโลยีระดับสูง เช่นที่สหรัฐฯ พยายามแบนบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ในการเข้าถึงชิพหรือเข้าถึงตลาดต่างๆ

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ดุลแห่งการพึ่งพิงทางเทคโนโลยี’ สูงขึ้น เมื่อก่อนเรามักพูดถึงดุลแห่งอำนาจ แต่วันนี้ มิติหนึ่งที่สำคัญในดุลแห่งอำนาจคือ การสร้างดุลแห่งการพึ่งพิง (balance of dependency) ที่จะพยายามสร้างความพึ่งพิงของรัฐขนาดเล็กต่อประเทศที่มีเทคโนโลยีระดับสูงอย่างสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็พยายามผูกขาดเทคโนโลยีเพื่อจะเป็นผู้นำด้านนี้ต่อไปอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้ามองเรื่องของการแข่งขันในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอธิปไตยด้านเทคโนโลยี ชาตินิยม หรือมองว่ารัฐมีบทบาทในฐานะผู้วางยุทธศาสตร์ (strategic setter) ในด้านเทคโนโลยี เราจะเห็นการแข่งขันของมหาอำนาจรุนแรงมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีกลายเป็นอำนาจที่จะช่วยเสริมสร้างฐานอำนาจของรัฐไปด้วยในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบริษัทเทคโนโลยีจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในกรณีจีน อย่างที่เราเห็นกรณีของแจ๊ก หม่า หรืออาลีบาบา มีประเด็นที่รัฐเข้าไปควบคุมบรรษัทเหล่านี้ให้เห็นเรื่อยๆ

อีกกรณีที่ผมอยากพูดถึงคือ บริษัท TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิพและสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) รายใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตชิพขนาดเล็กมากและป้อนให้ตลาดโลกได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะจีนต้องการจะเข้าถึงชิพและสารกึ่งตัวนำมากขึ้น แต่จีนก็ถูกแบนจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ประเด็นไต้หวันเลยเป็นประเด็นฮอตขึ้นมา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจอธิปไตยของจีน หรือความสัมพันธ์ระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มีเรื่องการถือครองหรือครอบครองทรัพยากรที่มีค่าในโลกปัจจุบัน ซึ่งก็คือชิพหรือสารกึ่งตัวนำด้วย เรื่องนี้ร้อนแรงขนาดที่ผู้บัญชาการทหารกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Command) พูดไว้ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ว่า จีนมีแนวโน้มจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027 ด้วยซ้ำ

ในโลกที่เทคโนโลยีคืออำนาจ และการลงทุนในเทคโนโลยีต้องลงทุนค่อนข้างเยอะเนื่องด้วยการประหยัดจากขนาด (economies of scale) และมหาอำนาจก็แข่งขันกันทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยในฐานะประเทศที่รับเทคโนโลยีมาตลอดควรมียุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยีอย่างไร

เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจมากครับ เพราะถ้ายุทธศาสตร์นี้ไปสุดทางจริงๆ หมายถึงการ reshoring กลายเป็นยุทธศาสตร์หลัก AI และหุ่นยนต์เข้ามาทำงานเต็มที่ ประเทศที่จะเจอปัญหาก็คือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะประเทศตะวันตกก็คงไม่โยกย้ายฐานการผลิตแล้ว ทำให้เกิดปัญหาการตกงานเพราะเทคโนโลยีแทน รัฐต่างๆ จึงมีแนวโน้มต้องอัปสกิลมากขึ้น รวมถึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งมันแพงและต้องลงทุนแหละ แต่เราก็อาจต้องไปในทิศทางนั้น

ความพยายามอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือกันระหว่างภูมิภาคที่จะอาศัยห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (regional supply chain) ร่วมกัน เพราะเราอาจต้องอิงอาศัยกันในเรื่องทรัพยากรต่างๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน นี่ก็อาจจะเป็นโมเดลหนึ่งที่เราทำได้ เพราะในอนาคต แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจะอาศัยความใกล้กันมากกว่าจะอาศัยการโยกย้ายฐานการผลิตราคาถูกอย่างเดียว ทำให้เกิดอุปสงค์ในประเทศ (domestic demand) หรือในระดับภูมิภาค (regional demand) ที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นได้จริง

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีความท้าทายอีกหลายประเด็นรออยู่เช่นกัน ที่คนคาดการณ์กันไว้ก็เช่น การให้ความสำคัญต่อการทดแทนการนำเข้า (import-substitution) จะเกิดขึ้นอีกรอบไหม หรือเรื่องความเข้มข้นของชาตินิยมด้านเทคโนโลยี ที่อำนาจอธิปไตยและรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรที่เป็นด้านยุทธศาสตร์ตรงนี้มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วย ถ้ามองในระดับมหาอำนาจ ผมคิดคล้ายๆ ปูตินคือ โลกในอนาคตอาจจะเป็นโลกที่รัฐใดสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ รัฐนั้นสามารถปกครองโลกได้

เก็บความบางส่วนจากรายการ 101 (mid)night round: “ไทยในภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่” ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564


ผผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save