fbpx
วงการเกมไทย ไปทางไหนดี?: คุยกับ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.เกมเมอร์ ที่อยากปฏิวัติวัฒนธรรมเรื่องเกม

วงการเกมไทย ไปทางไหนดี?: คุยกับ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.เกมเมอร์ ที่อยากปฏิวัติวัฒนธรรมเรื่องเกม

‘เด็กติดเกม’ เป็นคำคนในสังคมไทยเอ่ยถึงด้วยนำ้เสียงติดลบมาอย่างยาวนานพร้อมกับข้อถกเถียงเรื่องภัยร้ายที่อาจเกิดกับเยาวชน ความหมายติดลบนี้ถูกสนับสนุนด้วยสื่อและการศึกษาจำนวนหนึ่งที่พยายามอธิบายว่าเกมนำมาซึ่งปัญหาหลากหลาย ทั้งปัญหาครอบครัว การพัฒนาเยาวชน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต

‘วงการเกม’ ‘คนเล่นเกม’ และ ‘เด็กติดเกม’ จึงกลายเป็นชุดคำที่ถูกมัดรวม และให้ภาพที่ไม่น่าแตะต้องสำหรับใครหลายคน

แต่อีกมุมที่หลายคนอาจไม่ได้เห็นคือ วงการเกมพัฒนาและเติบโตอย่างเบ่งบานในโลกยุคดิจิทัล เกิดอาชีพเกี่ยวกับเกมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแคสต์เตอร์-สตรีมเมอร์ หรือผู้ที่ถ่ายทอดการเล่นเกมผ่านช่องทางต่างๆ , นักกีฬา e-sport ผู้ฝึกฝนและแข่งขันเกมแบบไม่ใช่ ‘เล่นๆ’ , ผู้ผลิตและพัฒนาเกม ที่สร้างสรรค์เกมใหม่ๆ จนเกมกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าไร้พรมแดนที่คนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกมมิ่งเกียร์ หรือการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเล่นเกม ฯลฯ

เมื่ออุตสาหรรมที่เติบโตขึ้นทุกวันสวนทางกับภาพจำและความเข้าใจของคนจำนวนมาก คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ เราจะสวมแว่นตามองเรื่องเกมอย่างไร เพื่อให้สามารถพัฒนาวงการเกมไทย ไปพร้อมๆ กับลดช่องว่างระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ที่เป็นห่วงลูกหลาน รวมไปถึงคนในสังคมที่ไม่เคยเข้ามาแตะต้องวงการนี้มาก่อน

101 สนทนากับ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เกมเมอร์ที่เล่นเกมมาตั้งแต่ยังเด็ก ปัจจุบันมีเพจชื่อ JIRATISGAMER ที่เขาใช้สตรีมเกมพร้อมกับเล่าเรื่องสังคมการเมือง เพื่อยืนยันให้สังคมเห็นว่าการเล่นเกมและการเป็น ส.ส. นั้นคือเรื่องแสนธรรมดา เขายังพ่วงตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและ e-sport ที่พยายามหาทางไปต่อให้วงการเกมไทย โดยชวนคนในวงการตัวจริงจำนวนมากเข้ามาสะท้อนปัญหา

อุตสาหกรรมเกมเติบโตขนาดไหน อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาวงการเกมคืออะไร เราจะทำความเข้าใจคนเล่นเกมได้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว…

READY,

SET,

GO!




ก่อนจะมาเป็นประธานอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและ e-sport ตัวคุณเองเล่นเกมหรือติดตามวงการเกมไทยขนาดไหน

ผมเป็นคนติดเกมครับ เล่นเกมตั้งแต่เด็กๆ ทุกวันนี้ก็เล่นเกมเกือบทุกวัน อย่างน้อยก็สัก 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน เวลาผมอยู่กับประเด็นการเมืองมากและไม่รู้จะปรับความคิดออกจากการเมืองได้อย่างไร เวลานอนไม่หลับ หรือเวลาทำสคริปต์อภิปรายแล้วตื้อ คิดไม่ออก ผมก็จะเล่นเกม นั่งเล่นแป๊บเดียวก็คิดออก เป็นวิธีผ่อนคลายอย่างหนึ่ง


คุณเล่นเกมแบบไหน สตรีมเกมอะไรในเพจ Jiratisgamer 

เล่นไปเรื่อยครับ อย่างตอนนี้กำลังฝึกบินในเกม flight simulator อยู่ เดี๋ยวพอให้สัมภาษณ์เสร็จ ผมก็จะไปเล่น  บินพาคนดูไปเที่ยวหมู่บ้านบางกลอยและบ้านป่าแหว่งตุลาการที่ดอยสุเทพ ผมยังบินไม่เก่ง เครื่องบินก็ยังตกอยู่ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าบ้านป่าแหว่งมันน่าเกลียดขนาดไหน เทียบกับบางกลอย มันเป็นอย่างไร

ส่วนเกมอื่นๆ ผมชอบเล่นเกมประเภท FPS (FPS หรือ first-person shooter: เกมประเภทที่ใช้อาวุธปืนผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ซึ่งเกมประเภทนี้เป็นตัวร้ายสำหรับกลุ่มคนที่เขาต้องการออกกฎหมายเรื่องเกมมาก คำว่า FPS เป็นสามคำที่เขากลัว เพราะมันยิงและฆ่ากันด้วยปืน หลายคนจะใช้เกม FPS เป็นตัวอย่างด้านลบในการทำวิจัย

จริงๆ ผมไม่ค่อยจะมีเวลาทำช่องเท่าไหร่ ต้องเริ่มพัฒนาบ้างแล้ว ฝากดูด้วยนะครับ ทางช่องJiratisgamer (หัวเราะ)


ตัวคุณเองเคยมีปัญหาไม่เข้าใจกับครอบครัวเรื่องติดเกมบ้างไหม

ผมอาจโชคดีเพราะแม่ผมก็เล่นเกมด้วยกัน ไม่มีปัญหาอะไร ตอนเรียน ม.2 ผมเคยขอเงินที่บ้านไปเปิดร้านเกม ตอนนั้นครอบครัวก็ไม่ได้รำ่รวย แม่ไปกู้เงินมาซื้อคอมพิวเตอร์ 10 เครื่อง เพื่อเปิดร้าน ด้วยความที่ผมประกอบคอมพิวเตอร์เป็น ลง Windows ทำระบบ LAN ได้เอง เลยอยากทำร้าน ตอนแรกก็กำไรเยอะ หลังๆ กำไรหาย 3 ปีให้หลังก็เจ๊ง แต่ได้ประสบการณ์เยอะ คุณแม่ก็ได้รู้เรื่องเกมมากขึ้น


จากจุดที่เล่นเกมมาตลอด เข้ามาเป็น ส.ส. และมาอยู่ในแวดวงการเมืองได้อย่างไร

สำหรับผม ใครๆ ก็เป็น ส.ส. ได้ ตัวแทนประชาชนไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ หรือจบปริญญาด้านกฎหมาย 10 ใบจากต่างประเทศ การเป็นตัวแทนประชาชนคือการเข้าใจความรู้สึกของคน เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร และไปโต้แย้งเพื่อให้เขาได้ประโยชน์ที่สุด ทำกฎหมายให้แฟร์กับทุกคนที่สุด แค่นั้นก็เป็น ส.ส. ได้

ตอนนี้ปัญหาบ้านเราคือผู้เล่นในสภาเป็นหน้าเก่าหมดเลย ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนผู้เล่นครับ และจำเป็นต้องมีคนใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนด้วย เด็กๆ ในสังคมเราไม่ค่อยมีใครยกมือขึ้นแล้วพูดว่าโตขึ้นอยากเป็น ส.ส. ผมเคยได้ยินจากน้องโฟกัส (โฟกัส จีระกุล) ที่พูดเป็นคนแรก ส่วนใหญ่เยาวชนจะอยากเป็นตำรวจ ทหาร พยาบาล หมอ ทำให้ผมตั้งคำถามว่าทำไมจะเป็น ส.ส. ไม่ได้ล่ะ มันไม่เกินฝัน มันเป็นได้ 

เพจ Jiratisgamer มีจุดประสงค์ต้องการให้คนเห็นว่า ส.ส. ไม่ได้ไกลตัว และอยากจะพูดเรื่องการเมืองให้เด็กที่สนใจเล่นเกมหันมาสนใจการเมืองบ้าง อนุกรรมาธิการศึกษาฯ ก็ตั้งขึ้นมาเพราะตั้งใจจะปฏิวัติวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของเกม แต่ไปไกลกว่านั้น 


เนื้อหาที่อนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟแวร์เกมและ e-sport ถกเถียงกันเกี่ยวข้องกับใครบ้างในวงการเกม

ประเด็นหลักอยู่ที่อุตสาหกรรมเกมทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตเกม เพราะการผลิตเกมเป็นตัวทำเงินที่สุด ส่วน e-sport เป็นเหมือนปลายนำ้ของเกม แต่ด้วยความที่บ้านเรา e-sport บูมขึ้น ก็จำเป็นต้องใช้ e-sport เป็นตัวผลักให้สังคมยอมรับและให้ภาครัฐสนับสนุน 

ถ้าเราพูดถึง e-sport อย่างเดียวเนื้อหาสาระที่คุยกันกระทบคนเยอะมาก ทั้งผู้จัดการแข่งขัน สปอนเซอร์ ผู้นำเข้าเกม สถานที่จัดการแข่งขัน พวกโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย นักแคสต์เกม นักแข่งและทีมแข่ง และที่สำคัญคือคนดู ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก 

ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมเกม จริงๆ กระทบไปถึงมหาวิทยาลัย และผู้ผลิต OEM (Original Equipment Manufacturer: ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) ที่รับผลิตจากบริษัทต่างประเทศ จริงๆ ประเทศไทยเราเก่ง เราผลิตเกมได้สบาย แต่ไม่มีการสนับสนุน ทุนก็ไม่มี เลยจำเป็นต้องรับจ้างผลิตให้กับเกมต่างประเทศไป

เพราะฉะนั้น หากถามว่าประเด็นของอนุกรรมการฯ กระทบเรื่องอะไรบ้าง ก็แทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกม มีอาชีพเยอะแยะเลยที่ได้รับผลกระทบ



อยากให้เล่าให้เห็นภาพหน่อยว่าบรรยากาศวงการเกมเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมนี้ใหญ่ขนาดไหน

เอาง่ายๆ เลยหากดูจากผู้บริโภคในโซนเอเชียแปซิฟิก คนเล่นเกมเกินครึ่ง เกือบ 50-60% ของประชากรในภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราก็รู้แล้วว่ามีความต้องการตลาด แต่ supply chain ทุกอย่างของอุตสาหกรรมเกมมักอยู่ที่ยุโรปและอเมริกาหมดเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ เอเชียเป็นผู้บริโภคมากกว่า

มีหน่วยงานที่เขาทำวิจัยเรื่องเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเกม ข้อมูลเขาค่อนข้างจะเชื่อถือได้ว่าเงินหมุนเวียนคือเกือบๆ สามหมื่นล้านต่อปี เทียบกับปี 2019 ประมาณสองหมื่นสามพันล้าน พอโควิดมา ตัวเลขยิ่งสูงขึ้นเยอะเลย และถ้าดูทั่วโลก ผมว่าอุตสาหกรรมเกมแซงฮอลลีวูดไปไกลหลายเท่าตัวด้วย ด้วยความที่มันดึงดูดผู้บริโภคมากกว่า เราดูหนังหนึ่งเรื่องใช้เวลาแค่สองชั่วโมง แต่เกมเกมหนึ่งอาจใช้เวลาเป็นร้อยชั่วโมงก็ยังไม่พอ

ยังไม่นับการซื้อขายไอเทมในเกมสารพัด เอาง่ายๆ ว่าเด็กที่เป็นสตรีมเมอร์อายุ 20 ต้นๆ ที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการ จ่ายภาษีปีละล้านกว่า แค่นี้ก็คงรู้ว่าเงินมันมหาศาลขนาดไหน หรืออุตสาหกรรมที่เขาเรียกว่าเกมมิ่งเกียร์ พวกคีย์บอร์ด เมาส์ หูฟัง มีมูลค่าสูงมาก ซึ่งไทยเราก็เป็นผู้ซื้ออย่างเดียวเหมือนเดิม

เอาจริงๆ ผมตื่นเต้นกับความสามารถของคนไทยที่ไม่ได้ต่างจากต่างชาติเลย ถามว่าเราไปแข่งบอลโลกกับเขาคงไม่ไหว ตัวเราเล็กกว่า แต่พอเป็นเรื่องเกม การผลิต เรามีต้นทุนไม่ต่างจากเขา มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราไม่ได้แพ้เขา หลายๆ เกมเราเป็นแชมป์โลกหมด ซึ่งอาจไม่มีการนำเสนอข่าว แต่คนในวงการรู้กันว่าการจะเก่งเกมซักเกมมันไม่ง่าย ต้องฝึก ต้องซ้อม

ต้องพูดกันตรงๆ ว่าอาชีพนี้จะสั้นมาก พออายุมากขึ้นซัก 25-30 ขึ้นไป การตอบสนองก็ช้าลงเป็นธรรมดา เหมือนนักฟุตบอลที่เล่นได้อย่างมากก็ 30 ปี เพราะฉะนั้นจึงมีช่วงเวลากอบโกยน้อยมาก แต่เงินที่กอบโกยไปได้ก็เยอะมากจริงๆ เพราะมูลค่าสูง


คุณคิดว่าทุกวันนี้สังคมและรัฐมีมุมมองเรื่องเกมอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดเป็นคำสั้นๆ เขามองว่าเกมเป็นธุรกิจบาป รัฐเป็นคนใช้คำนี้ ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเอง ธุรกิจบาปที่อยู่ในโหมดเดียวกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ รัฐและข้าราชการส่วนใหญ่มีความคิดแบบนี้

แนวคิดนี้ส่วนหนึ่งมาจากนักทำวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่หวังดีกับเด็กๆ นั่นแหละ ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ หรือการพัฒนาเยาวชน แต่งานวิจัยแทบทั้งหมดเป็นวิจัยที่บอกว่าเกมไม่ดี เกมเป็นธุรกิจบาป ทำให้เด็กเสียคน ไม่มีงานศึกษาที่พยายามบอกว่าเกมดีเลย เป็นแบบนี้ตลอดมาน่าจะเป็นหลักสิบปีด้วยซำ้ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่สังคมไทยจะคิดว่าการติดเกมเป็นเรื่องเลวร้าย คำว่าติดเกมคือคำที่มีความหมายติดลบ

ผมว่าแนวคิดเช่นนี้สะท้อนวิธีคิดของผู้ปกครองที่คิดว่าตัวเองปกครองทุกคน ทุกคนเป็นลูกเขาหมด เขาห่วงว่าเด็กจะเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ หลายๆ คนไม่ได้มีลูกด้วยซ้ำ แต่ก็คิดว่าความคิดของตัวเองน่าจะถูกต้องที่สุด ถ้าคิดไว้แล้วว่าเกมไม่ดี ตั้งต้นแบบนี้ เขาก็จะมีกระบวนการไปสู่เป้าหมายของเขาโดยที่ไม่สนใจว่าอาจมีคนที่ไม่เห็นด้วย

แม้จะมีผู้สนใจวงการเกมในไทยมากขึ้น มีนักแคสต์เกมที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่มุมมองภาครัฐไม่ได้ดีขึ้นเลย ต้องบอกเลยว่าวงการเกมเติบโตมาด้วยตัวเอง ไม่ได้เติบโตด้วยการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ เขาเติบโตด้วยกระแสโลกที่เป็นไปตามธรรมชาติ จริงๆ กระแสมันดีขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจเรื่องวงการเกมมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนรุ่นเก่าก็อาจยังถูกทำให้เชื่อว่าเกมเป็นสิ่งเลวร้ายด้วยสื่อที่นำเสนอเรื่องเกมแบบเดิมๆ

ผมขอยกตัวอย่างที่เลวร้ายมาก เมื่อสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามเรื่องเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมตอบว่า เพราะผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมติดเกม นี่คือรัฐสภานะครับ มันถูกถ่ายทอดออกไปขนาดไหน แล้วการรับรู้ของผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร กลายเป็นว่าถ้าเด็กดื้อขึ้นมา เด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีความรับผิดชอบ คนที่เป็นพ่อแม่อาจไม่มองปัจจัยรอบด้านด้วยซำ้ว่าให้เวลาลูกมากพอหรือเปล่า โรงเรียนและสังคมที่ลูกอยู่ดีหรือเปล่า ก็โทษเกมไว้ก่อน จบ


เหตุผลที่มักถูกใช้อธิบายว่าเกมเป็นเรื่องไม่ดี หรือเป็นธุรกิจบาป คืออะไร

เรื่องที่เขาใช้พูดบ่อยๆ คือ เขาบอกว่าวงการนี้เหมือนปิรามิด คนที่เล่นเกมจนประสบความสำเร็จมีแค่นิดเดียว มีไม่กี่คนที่จะได้อยู่บนยอดปิรามิด ซึ่งเราแย้งได้เลยว่า ก็เป็นเช่นนี้ทุกวงการ เหมือนที่เราอาจไม่ได้มี ส.ว. 60 ล้านคน แต่มี ส.ว. 250 คน เหมือนกับการถามว่าทำไมมีคนเป็นนายก เป็น ผบ.ทบ. แค่คนเดียว เมื่อพูดเช่นนี้เท่ากับเขามองข้ามคนส่วนอื่นๆ ของปิรามิดไปทั้งหมด เขาไม่ได้คิดว่าปิรามิดในส่วนอื่นก็มีอาชีพ มีงานทำ แม้กระทั่งถ้าเขาจะเป็นแค่คนเล่นเกมคนหนึ่ง เขาก็ได้ความเพลิดเพลิน

วิจัยเกี่ยวกับการเล่นเกมบางชิ้นไปสำรวจเด็กๆ อายุ 13-14 ปี แล้วก็บอกว่าพวกเขามีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น ผมเองยังตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือ ผมงงว่าเด็กจะตอบว่าตัวเองรุนแรงขึ้นได้อย่างไร กระบวนการกำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่างของเขาเป็นอย่างไร เขาไปถามใครบ้าง

และสุดท้ายไม่มีส่วนไหนเลยที่บอกได้ว่าเกมคือภัยอันตรายของประเทศ ไม่มีสิ่งไหนที่เอื้อให้เขาสรุปอย่างนั้นได้เลย แต่ผลลัพธ์กลายเป็นว่า ต้องออกกฎหมายมาควบคุมวงการเกม เพราะจะทำให้เด็กเสียการเรียน


การตั้งต้นมุมมองเรื่องเกมเช่นนี้ มีผลต่อการกำหนดนโยบายที่ผ่านมาอย่างไร

ผลก็คือไม่มีนโยบายที่จะไปสนับสนุนวงการเลย มีแต่กระบวนการที่จะทำให้เป็นกฎหมาย เพื่อไปควบคุมมูลค่าของอุตสาหกรรมที่เริ่มสูงขึ้น

สิ่งที่เราได้รู้จากการคุยกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคือ จริงๆ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ชื่อว่า DEPA ที่ดูแลเรื่องนี้ เขาได้งบประมาณแค่ 13 ล้านต่อปี มีข้าราชการทำงานแค่ประมาณ 10 คน คือในขณะที่เรามีข้าราชการ 2 ล้านคน แต่มีแค่ 10 คนที่ดูเรื่องเกม และยังมีภารกิจอื่นที่ต้องดูแลคือดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น อุตสาหกรรมแอนิเมชัน 13 ล้านนี้เมื่อต้องหาร สุดท้ายอุตสาหกรรมเกมเหลือเงินเพียง 3 ล้าน

ผมถามว่าทำไมคุณไม่ของบประมาณมา งบประมาณปีหน้าผมนั่งกรรมาธิการนี้อยู่ เดี๋ยวผมรีบไปเซ็นให้ผ่านให้ได้ ผมสนับสนุนเต็มที่ เขาบอกผมว่า มันไม่ผ่านตั้งแต่หัวหน้างานเขาแล้ว ไม่เคยถึงอธิบดี ไม่เคยถึงรัฐมนตรี ไม่เคยถึงสำนักงบฯ เลย ดังนั้นจึงไม่มีทางถึงรัฐสภา


มีการพยายามนิยามว่าเกมเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง และรวม e-sport เข้ากับการแข่งขันแบบกีฬา แต่วงการเกมก็มีรายละเอียดยิบย่อยและด้านอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากกีฬาด้วย  คุณคิดว่าเราควรตั้งต้นมองเรื่องเกมในมุมมองแบบไหน

สำหรับผมเราต้องมองเกมให้เป็นโอกาส อันนี้สำคัญที่สุด ขณะเดียวกันเกมก็เป็นสื่อบันเทิงหรือนันทนาการอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาชี้ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี

ในขณะเดียวกันเราก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ มูลค่าของอุตสาหกรรมเกมในไทยอยู่ที่เกือบสามหมื่นล้านบาท แต่เงินไหลเข้าบ้านเราแค่ 1-3% เท่านั้น ที่เหลือออกไปนอกประเทศหมดเลย หากเราให้โอกาสวงการเกมในการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราอาจไม่ได้เก็บแค่ 3 หมื่นล้านนะ เรากำลังจะเอาอีกแสนล้านเข้ามาในประเทศ ซึ่งประเทศอื่นเขาทำได้

ผมยกตัวอย่างอย่างประเทศจีน บริษัท Tencent Games เข้ามาในวงการเกมทีหลังสุด แต่ตอนนี้มูลค่าสูงสุดในโลก แซงบริษัทเกมชั้นนำทั่วโลกไปหมดเลย เขาเริ่มต้นช้าแต่เขาก็ยังทำได้ หรือที่เกาหลีก็ให้การสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมบันเทิงโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการมากำหนดว่าต้องทำเนื้อหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์อันดีงามของประเทศเท่านั้น เขาจะทำอะไรก็ทำไปเลย เพราะสุดท้ายก็เป็นการส่งออกวัฒนธรรมด้วยตัวเองอยู่แล้ว เราจึงไม่ได้ดูแค่แดจังกึม แต่ได้ดูซีรีส์วัยรุ่นอย่าง สตาร์ทอัป อีแทวอนคลาส เยอะแยะไปหมด ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้เราซึมซับวัฒนธรรมเกาหลีได้ 

ขณะที่รัฐไทยเข้ามายุ่งกับเนื้อหามากเกินไป ยกตัวอย่างกรณีเกม home sweet home เกมสยองขวัญที่มีตัวละครเป็นผีนางรำ ปกติเกมสยองขวัญก็ต้องมีพื้นฐานคือความน่ากลัว ถ้าไม่น่ากลัวก็จะขายไม่ได้ แต่รัฐเข้ามายุ่ง มาบอกว่ามันน่ากลัวเกิน เดี๋ยวจะเกิดผลเสียต่อศิลปวัฒนธรรมไทย คนจะไม่อยากเรียนรำ หรือบอกว่าไม่ควรให้ชฎาอยู่บนพื้น ทำให้ผู้ผลิตเกมต้องไปลบ ไปทำภาพใหม่หมดเลย ผลคือทำให้เกมน่ากลัวลดลง ทำให้ตัวอย่างที่เขาโปรโมตไปแล้วคนสนใจทั่วโลกกับเกมของจริงแตกต่างกัน โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะนะครับ เป็นผลเสียเห็นๆ แทนที่จะเป็นโอกาส

เรื่องชฎาอยู่บนพื้นเป็นมุมมองของไดโนเสาร์จริงๆ ผมไม่รู้จะใช้คำไหน คือชฎาในเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นภาพสามมิติกลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ในขณะที่ชฎาที่อยู่บนซองผงชูรสมาไม่รู้กี่สิบปี มันก็อยู่ได้ แล้วทำไมอยู่บนพื้นในคอมไม่ได้ มันคือการส่งออกวัฒนธรรม ถ้าเราไม่มองเป็นโอกาส ผมถือว่าเราพลาดมากๆ ครับ ตอนนี้เศรษฐกิจเราก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ ท่องเที่ยวเอย EEC เอย ก็ไม่ดึงดูดการลงทุน ในขณะที่อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ลงทุนเยอะขนาดนั้น ไม่ต้องใช้ที่ดิน ไม่ได้ใช้เครื่องจักร ไม่ต้องใช้กฎหมายอะไรเลย รัฐกลับไม่มอง ผมเสียดายครับ



เท่าที่คุณได้คุยกับอนุกรรมการฯ ที่มาร่วมออกความเห็นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่คลุกคลีในวงการเกม พวกเขามองอะไรเป็นอุปสรรคในการพัฒนาวงการเกม

อุปสรรคหลักมีเยอะมาก ทั้งเรื่องกฎหมายที่รัฐไม่สนับสนุน เช่นเรื่องการเงินต่างๆ  อย่างบริษัทนึงเขาเป็นผู้เผยแพร่นำเข้าเกมมาขาย มียอดขายและเงินหมุนเวียนต่อปีเกือบๆ 500 ล้าน แต่ไปกู้เงินไม่ได้ซักบาทเดียว ในขณะที่เรามีมอเตอร์ไซค์เก่าๆ คันนึงเรายังไปกู้เงินได้ คือเข้าใจได้ว่าธนาคารอาจไม่ต้องการเสี่ยง แต่รัฐก็ไม่เคยยื่นมือไปอุดหนุนตรงนี้ จะไปหุ้นกับเขาหรือไปเป็นหลักประกันในการกู้เงินให้เขาก็ไม่มี แม้กระทั่งส่งเสริมการลงทุน BOI ยังไม่เคยมีให้เลย เราให้ทุกโรงงาน แต่ให้เรื่องเกมไม่ได้

แล้วด้วยความที่ทรัพยากรเรามีน้อย บุคลาการเราก็น้อยตาม มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนตอนนี้ก็เริ่มมีหลายหลักสูตรขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ ถามว่าเรามีคนเก่งๆ อยู่แล้วหรือไม่ มีครับ มีอยู่แล้ว แต่เขาก็ทำได้อย่างมากคือผลิตเกมให้ต่างประเทศ 

อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ให้ความสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์ จริงๆ แล้วกำไรของเกมมาจากลิขสิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ เกมหนึ่งเกมมีลิขสิทธิ์มหาศาล เช่น ลิขสิทธิ์เพลงประกอบ ไปจนถึงกราฟิก แต่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ


การดูแลจัดการวงการเกมในฝันของคุณจิรัฏฐ์และและคนในวงการเกมหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมคิดอะไรที่พื้นฐานมากๆ เลย คือให้เงินเปล่า บางคนบอกว่าให้เงินเปล่ามันไม่ดี แต่จริงๆ การสนับสนุนแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นอะไรที่เหมาะสมที่สุด ถ้าพูดถึงการผลิตเกม อุตสาหกรรมนี้สร้างอาชีพให้คนหลากหลายประเภท เช่น งานศิลปะ เขียนเพลง ออกแบบภาพประกอบ ออกแบบคาแรกเตอร์ ฟอนต์ โลโก้ แม้กระทั่งเขียนเนื้อเรื่อง มันรองรับอาชีพหลากหลายมาก

ถ้าพูดถึง e-sport ก็มีทั้งนักพากย์ นักจัดการแข่งขัน ทีมแข่ง รัฐไม่ได้ลงทุนเสียเปล่าแน่ๆ แต่เงื่อนไขของผมคือถ้ารัฐจะลงทุน ต้องให้เวลาในการพลาดได้ ผิดได้ แต่อย่างน้อยมันสร้างอาชีพ สร้างโอกาส และความรู้เยอะมาก


นอกจากการมองในมิติธุรกิจบาป ในมิติของเด็กเยาวชนมีอะไรบ้างที่ถูกยกมาถกเถียงเพื่อต่อต้านเกม

ก็มักมีการยกเคสของเด็กที่ไปทำร้ายพ่อแม่ โดยมักอธิบายว่าเด็กหงุดหงิดที่ไม่ได้เล่นเกม ซึ่งเขาไม่ได้วิจัยจากปัจจัยอื่นๆ เลยว่ามีอะไรแวดล้อมอีกไหมที่ทำให้เด็กก้าวร้าว อีกประเด็นคือเรื่องการบูลลี่ เขาไปเอาเคสจากต่างประเทศที่มีเด็กถูกโดนลวนลามทางเพศผ่านเกมมาใช้ ซึ่งในกรณีนี้ก็เกี่ยวกับหลายปัจจัยที่แวดล้อม และยังต้องมองว่าสังคมมีกฎหมายที่ควบคุมการกระทำผิดเหล่านี้อยู่ด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญเลยคือองค์กรอนามัยโลกออกมานิยามว่าการติดเกม หรือ Gaming disorder เป็นอาการป่วยทางสุขภาพจิต ซึ่งยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการยกประเด็นนี้มาอ้างเต็มๆ หมอแต่ละคนจะเคลมว่าการติดเกมรักษายากอย่างไร แต่ก็ยังไม่มีเด็กที่ถูกวินิจฉัยจากหมอว่าเป็นโรคติดเกม เพราะยังไม่มีโรคนี้

หรือเรื่องสมาธิสั้น ถ้าไปดูงานวิจัยหรือไปคุยกับแพทย์ โรคสมาธิสั้นมาจากกรรมพันธุ์ 90% ผมคิดว่าไม่เป็นเหตุเป็นผล บางครั้งสมาธิสั้นก็ไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากหมอ พ่อแม่หลายคนเห็นลูกคิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว กลายเป็นสมาธิสั้นไปซะงั้น

นอกจากนี้เขาบอกว่าการแข่งขัน e-sport มีการพนันมาเกี่ยวข้อง ซึ่งในต่างประเทศมีจริง เพราะการพนันเขาถูกกฎหมาย แต่ของเรามันผิดกฎหมาย ผมเล่นเกมมาเกือบ 30 ปี ไม่เคยเจอการพนันในเกมซักครั้งเดียว หากถามว่ามีไหม ผมเชื่อว่าก็อาจมี แต่ไม่ได้มีช่องทางอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตอนนี้ทีมแข่งบางทีมมีสปอนเซอร์ติดเสื้อเป็นเว็บการพนัน ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายสามารถโฆษณาเว็บการพนันได้ แต่เล่นการพนันไม่ได้ กฎหมายก็ประหลาด ถามว่าต้องไปโทษทีมแข่งเหรอว่าไม่มีคุณธรรมที่เอาสปอนเซอร์แบบนี้มา ก็ต้องถามกลับว่า ถ้าไม่มีสปอนเซอร์เขาจะอยู่อย่างไร

บางคนก็บอกว่าเราต้องทำวิจัยฝั่งเราไปชนกับเขา การวิจัยของเราทำแน่นอน แต่เราทำเพื่อไปออกนโยบาย ไม่ได้ทำเพื่อสู้กับเขา เพราะอย่างที่ผมบอก เราไม่ได้จำเป็นต้องไปตัดสินว่าเกมมันดีหรือไม่ดีด้วยซำ้ ในเมื่อเกมเป็นนันทนาการ แต่เราไม่เอาปัจจัยอื่นๆ ในสังคมมาใช้เลย จะอ้างแต่เรื่องเกมไม่ดีอย่างเดียว มันไม่ถูกต้อง

ผมยกตัวอย่างตัวเองก็ได้ว่า ผมก็ติดเกม แต่ไม่รู้สึกว่าชีวิตผมล้มเหลวตรงไหน พูดแบบนี้ก็จะมีคนบอกว่าคุณอาจเป็นแค่หนึ่งในล้าน แต่ในเมื่อผมทำได้ คนอื่นก็ทำได้


แม้หลายกรณีด้านลบที่เกิดขึ้นอาจจะมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจยังรู้สึกกังวล เพราะเกมเป็นอีกโลกที่หลายคนเข้าไม่ถึง การคำนึงถึงอันตรายหรือผลเสียก็อาจเกิดขึ้นได้เพราะความเป็นห่วง อยากให้คุณช่วยอธิบายกับกลุ่มคุณพ่อคุณแม่หน่อยว่า จะทำความเข้าใจเรื่องการเล่นเกมของลูกอย่างไร

จริงๆ ในยุคสมัยนี้ การให้เด็กเล่นเกมไม่แปลกเลย ไม่ให้เด็กเล่นเกมนี่แหละที่อาจจะแปลกมาก เพราะเกมและดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นช่องทางการเรียนรู้โลกใหม่ที่ง่ายที่สุดในมือเรา มันมีสถิติตัวเลขที่บอกว่าคนเล่นเกมมือถือในบ้านเราเยอะกว่าเกมในคอมพิวเตอร์มาก ก็เป็นภาพสะท้อนที่บอกว่า แม้เราไม่ให้เด็กเล่นเกม เด็กก็ยังสามารถเข้าถึงเกมได้ในช่องทางมือถือ

ผมอยากชวนมองว่า จริงๆ แล้วเด็กที่มีรายได้จากตรงนี้มีเยอะมาก และมีเด็กจำนวนมากที่เล่นเกมโดยไม่กระทบผลการเรียน ทั้งนี้เป็นเพราะการเล่นเกมหรือเล่นโทรศัพท์เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ต้องมีวิธีการสื่อสารตกลงกับลูกว่าทำอย่างไรให้เขารับผิดชอบชีวิตในด้านอื่นๆ และต้องแฟร์กับเขา ถ้าเขาบอกว่าเขาอ่านหนังสือและสอบได้ แต่ยังจำกัดการเข้าถึงของเขาอีก ก็อาจนำไปสู่การที่เขาจะแอบเล่นและไม่สื่อสารกับพ่อแม่

อีกประเด็นคือ หากเรามองว่าเกมเป็นธุรกิจบาป ก็ถือเป็นการปิดโอกาสของเด็ก ปิดโอกาสของประเทศ และทำให้เราพลาดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จริงๆ ชีวิตเราอยู่กับเกมมาตลอด ไม่ว่าคุณจะทำงาน เรียนหนังสือ ก็ต้องมีการแข่งขันกับเพื่อน กับเพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างเป็นเหมือนเกม ถ้าคุณไม่เรียนรู้ที่จะเล่นมัน คุณอาจจะไม่มีวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด


เราจะลดช่องว่างความไม่เข้าใจเรื่องเกมของคนในสังคมอย่างไร อย่างน้อยก็ผู้ใหญ่กับเยาวชนในบ้าน

ผมมีวิธีที่ง่ายมาก คือถ้ารัฐทำอะไรซักอย่างนึง สังคมเปลี่ยนความคิดได้หมดเลย ถ้าสังคมคิดว่าเกมไม่ดี แต่รัฐสนับสนุนเกม จะไม่มีใครคิดว่าเกมไม่ดีอีกต่อไป อันนี้ง่ายมากเลยครับ ขอให้รัฐทำเถอะ ถ้ารัฐทำเป็นนโยบายและทำทั้งประเทศพร้อมกัน ความคิดคนเปลี่ยนทันที เพราะส่วนใหญ่คนเชื่อรัฐ


ช่วงปีที่แล้วมีความพยายามร่างกฎหมายกำกับดูแลเกม เนื้อหาของร่างและแนวทางการกำกับเป็นอย่างไร ไกลจากความฝันในการพัฒนาวงการเกมของคุณไหม

ถือว่ามันขัดขวางความฝันที่ผมว่าไว้ในทางอ้อมครับ เพราะเป็นการรวบอำนาจทุกอย่างมาอยู่ที่คณะกรรมการซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีฝ่ายความมั่นคง มีตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมานั่ง เมื่อรวบอำนาจทุกอย่าง ผมรับรองว่าการตัดสินใจจะออกข้อบังคับต่างๆ จะมีปัญหาเยอะมาก

การจัดแข่งขันต้องขออนุญาต รวมไปถึงการแข่งขันระดับโรงเรียน ต้องผ่านการตรวจนู่นนี่นั่น พอรวบอำนาจทุกอย่างไปอยู่ที่ตัวเองแล้ว ดุลพินิจก็มีราคามีมูลค่าขึ้นมา จะเรียกเท่าไหร่ก็ได้ สปอนเซอร์ที่เคยอยากเข้ามาสนับสนุน จากร้อยยี่ห้อ ต่อไปอาจเหลือแค่ไม่กี่ยี่ห้อ เพราะทุกอย่างต้องวิ่งไปที่กรรมการหมด และจะมีกรรมการอีกชุดนึงก็มาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเกมผ่านการทำงานวิจัย ทำงานเสวนา และมีกรรมการที่จัดการกองทุน

ถ้าร่างกฎหมายออกมาจริงๆ แล้วมันผ่าน จะเกิดคำถามในสังคมอีกเยอะมากเลย เพราะเนื้อหาบางอย่างก็ทำไม่ได้จริงอยู่แล้ว เช่น ต้องให้ผู้ประกอบการแจ้งพ่อแม่ของเยาวชนด้วยว่าลูกเล่นเกมไปกี่ชั่วโมงแล้ว


คนในวงการเกมเองทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกมไทยพัฒนาและเกิดการสนับสนุนที่เหมาะสม

ผมก็ต้องพูดตรงๆ ว่า วงการเกมยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองมากนัก ด้วยความที่เขาเป็นอิสระ เขาเลยไม่จำเป็นต้องมาสนใจ และอาจยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญว่าทำไมต้องยุ่งเรื่องการเมือง ทุกคนจะบ่ายเบี่ยง จะปฏิเสธหมด ไม่อยากเลือกข้างบ้าง อยากเป็นกลางบ้าง ทำให้การออกกฎหมายมันง่ายขึ้นมากเลย พอไม่มีใครช่วยผมพูด จึงทำให้รัฐบาลไม่กลัวที่จะเอากฎหมายนี้เข้าสภา

บางครั้งผมไปพูดกับคนในวงการ พอเห็นว่าเป็นพรรคการเมืองก็ไม่กล้าช่วย ไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเดี๋ยวจะถูกหาว่าไปสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งจริงๆ ผมอยากบอกคนในวงการว่า ถูกต้องแล้ว นักการเมืองต้องหาเสียง ถ้าคุณประกาศว่าสนับสนุนพรรคใดพรรคนึง มันทำให้พรรคที่เหลือต้องเร่งสร้างนโยบายมาขายคุณ พอคุณเห็นนโยบายที่ดีกว่า คุณก็ไปอีกพรรคนึง พรรคที่เหลือก็ต้องสร้างนโยบายที่ดีกว่ามาขายคุณอีก ทีนี้คุณก็จะได้เลือกว่านโยบายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคุณ นี่คือการเมืองที่ถูกต้องไม่ใช่หรือ




ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save