fbpx

‘ฝ่าละออง’ ความทรงจำและประวัติศาสตร์ในวรรณกรรมการเมืองของจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

ประตูกระจกทาบทับด้วยสีเหลืองทอง ข้อความ ‘FROM DAWN TILL DUST’ ปรากฏด้วยสีที่เข้มกว่าตรงกลางประตู เมื่อคุณก้าวเข้าไปจะได้ยินเสียงเรื่องเล่าที่จะนำให้คุณเดินไปพบกับภาพจากทีวีในห้อง

ชั่วขณะหนึ่ง คุณจะเริ่มตระหนักได้ว่า เครื่องดูดฝุ่นสีทองในภาพนั้นกำลังพาคุณท่องไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่อาจดูปกติธรรมดาในปัจจุบัน แต่เนื้อในแฝงไปด้วยการหวนนึกถึงอดีตที่ถูกลบออกจากความทรงจำ พื้นที่เหล่านี้ได้รับการปัดกวาดเช็ดถูออกจากสำนึกทางความคิดเหมือนที่เครื่องดูดฝุ่นชื่อ ‘O-Robot’ นักแสดงหลักของงานจะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย “อย่างแข็งขัน และอย่างปราศจากข้อสงสัยต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย” ข้อความข้างต้นนี้อธิบายเอาไว้ในสูจิบัตรนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง’ หรือ ‘From Dawn Till Dust’  

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ คือศิลปินเจ้าของผลงานนี้ เขาคือนักเขียน ผู้ทำงานในวงการสื่อมาได้มากกว่าทศวรรษ ควบคู่ไปกับการทำงานวรรณกรรมและเรื่องสั้นที่มีผลงานอย่าง ฮาวายประเทศ, การเมืองเรื่องเซอร์เรียล, พิพิธภัณฑ์เสียง, Young & Wild, สนไซเปรส และประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า งานเขียนของจิรัฏฐ์เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดรางวัลซีไรต์ และเคยได้รับรางวัล SCG Indie Award ในปี 2011

2 ปีที่แล้ว เขาเริ่มนำเรื่องสั้นมานำเสนอเป็นงานศิลปะจัดวาง (installation art) ที่ชื่อว่า ‘คิดถึงคนบนฝ้า’ (Our Daddy Always Looks Down on Us) ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน จิรัฏฐ์สร้างประสบการณ์ให้คนดูด้วยการให้คนปีนบันไดขึ้นไปบนฝ้าเพื่อเจอกับอะไรบางอย่าง เรียกทั้งเสียงหัวเราะและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง 

คิดถึงคนบนฝ้าเป็นเรื่องสั้นที่จะรวมอยู่ในหนังสือ ‘รักในลวง’ เช่นเดียวกันกับฝ่าละออง เรื่องสั้นที่เขานำสร้างเป็นนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งยังคงมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับการเมืองไทย ผ่านการเฝ้ามองความทรงจำและประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครที่ชื่อว่า วินสตัน สมิทธิ โดยจิรัฏฐ์เลือกนำเสนอประกอบคู่กับเรื่องสั้นอีกเรื่องคือ ‘O-Robot’ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมคลาสสิกของจอร์จ ออร์เวลล์อย่าง 1984

หากว่าคิดถึงคนบนฝ้าคือการพยายามจดจำอะไรบางอย่างของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่าละอองก็คือการลบเลือนสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตการจดจำเหล่านั้น เครื่องดูดฝุ่นจึงเป็นตัวละครหลักในนิทรรศฝ่าละออง ที่จะทำการแสดงให้กับทุกคนที่เข้ามารับชมมหรสพของการลบเลือนฝุ่นละอองในพื้นที่ต่างๆ ผ่านจอภาพทั้ง 6 จอ และพื้นที่นิทรรศการนี้

หากคุณสงสัยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจและการทำงานศิลปะที่หยอกล้อกับความเชื่อกระแสหลักของสังคม นั่นคือเวลาที่บทสนทนาของจิรัฏฐ์จะเริ่มต้นขึ้นต่อจากนี้

คุณทำงานในวงการมา 17 ปี อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณสนใจเริ่มเขียนงานวรรณกรรม

มันอาจจะเป็นกระบวนการไปเอง พอเราทำงานสื่อเรื่อยๆ เราจะได้ทำงานตามโจทย์ ทำงานตาม บ.ก. สั่งมา หรือช่วงที่เราย้ายไปอยู่เชียงใหม่ตอนประมาณอายุ 27-28 เราก็ได้ทำงานเป็น บ.ก. นิตยสาร มันมีกำหนดประเด็นและคอนเซปต์ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เล่มนี้ตอบโจทย์ลูกค้าแบบไหน ขายใครบ้าง แม้ว่าจะมีอิสระในการทำงานประมาณหนึ่ง แต่มันก็ยังอยู่ในกรอบของการสื่อสาร เช่น ต้องไปสัมภาษณ์คนนี้นะ ต้องทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราทำๆ ไปก็ไม่ได้รู้สึกอิ่มตัวหรือเบื่อนะ แต่คิดว่าถ้าได้เขียนสิ่งที่เราอยากจะเขียนโดยไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์อะไรบ้าง มันจะเป็นอย่างไร 

เราชอบอ่านเรื่องสั้น อ่านวรรณกรรม มันก็เลยค่อยๆ พาเราให้ฝึกเขียนเรื่องสั้นส่งประกวด ช่วงแรกๆ ที่ส่งเรื่องสั้นไปประกวดก็ไม่ค่อยได้เล่าเรื่องอะไรมาก ตอนนั้นประมาณอายุ 24-25 ยังวัยรุ่นเนอะ ไม่ได้มีมุมมองอะไรมากมาย ทักษะเราก็ไม่ได้เก่ง แต่ทำมาเรื่อยๆ มันก็เริ่มทำได้เอง 

จนประมาณอายุ 25 ก็ได้ไป Work and Travel ที่ฮาวาย เราไม่เคยไปอยู่ต่างประเทศนานๆ ระยะ 2-3 เดือนเลย พอได้มาอยู่ที่เกาะเมาวี เห็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันเลยจุดประกายให้เราลองเขียนเรื่องสั้นจากพื้นที่แบบนั้นมา เลยมีชุดเรื่องสั้นชื่อเรื่อง ‘ฮาวายประเทศ’ เกิดขึ้น 

ตอนที่เรากลับจากฮาวายตรงกับช่วงปี 2553 ที่ม็อบคนเสื้อแดงถูกฆ่ากลางเมือง แล้วมีปฏิกิริยาของสังคมที่คนชนชั้นกลางรู้สึกโอเคกับการกวาดล้างตอนนั้น เราเข้าใจบริบทนะ แต่ความเลือดเย็นแบบนี้ มันทำให้เราเจ็บปวด เราเลยเขียนเรื่องสั้นออกมาอีกชุดชื่อ ‘การเมืองเรื่องเซอร์เรียล’ มองเรื่องการทำให้สิ่งธรรมดาโคตรเซอร์เรียล ประเทศนี้เซอร์เรียลนะ แล้วก็ลองส่งประกวดดู ช่วงนั้น SCG เปิดประกวดเรื่องสั้นให้เราส่งได้ทุกเดือน เราก็เขียนส่งทุกเดือน จนมึงต้องเลือกของกูจนได้แหละ (หัวเราะ) แล้วเขาก็เลือกให้เรื่องนี้ได้รางวัล SCG Indie Award ปี 2017 จากนั้นก็ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม แล้วฮาวายประเทศก็ได้พิมพ์ต่อ 

หลังจากนั้นเราก็กลับไปเขียนคอลัมน์ ทำสารคดี งานโฆษณาอยู่เชียงใหม่ต่อ 

จำความรู้สึกที่ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกจบได้ไหม ตอนนั้นเป็นอย่างไร

เรื่องสั้นเรื่องแรกเหรอ (คิด) มันคือเรื่องตัวละครกินตัวเอง มันเป็นเรื่องเชิง consciousness พูดถึงตัวละครที่อยู่ดีๆ กำลังจะนอนแล้วมีคนมาบุกรุก ซึ่งคนที่บุกรุกเป็นฝาแฝดเขาเอง มาทำร้ายแล้วก็กิน สุดท้ายแพ้ก็ถูกกินตายแล้วจบ ประมาณนั้น

นี่คือเรื่องสั้นเรื่องแรกที่เราเขียนจบ เราเอามารวมอยู่ในการเมืองเรื่องเซอร์เรียล ถามว่ารู้สึกยังไงตอนเขียนจบ มันปลดล็อกประมาณหนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกว่ากูเขียนเรื่องสั้นได้เว้ย จากที่เราเขียนอะไรเป็นข้อเท็จจริง (Fact) เรามาลองเขียนอะไรอยู่เหนือจากข้อมูลที่เราได้รับ มันมีความเป็นงานศิลปะประมาณหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับช่วงหลังที่เราเริ่มเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะ 

ช่วงที่เราเขียนการเมืองเรื่องเซอร์เรียลแล้วส่งประกวด SCG ทุกเดือน ตอนนั้นมีความสุขมากเลย เพราะมันเป็นการสมดุลกับงานสื่อที่เราทำ พอเราสัมภาษณ์คนนี้เสร็จ ทำสกู๊ปคนนั้นเสร็จ แล้วเรามีเวลา เราก็ลองเขียนดูดีกว่า มันเลยบาลานซ์จินตนาการกับข้อเท็จจริงได้ มีความขยันประมาณหนึ่ง

ดูเป็นชีวิตของนักเขียนจริงๆ เลย

ใช่ๆ แต่ตอนนั้นเป็นวัยรุ่นด้วย ซึ่งเราก็มีความปรารถนาในการเขียนหรือการสื่อสาร

ฟีดแบ็กจากการเขียนเรื่อง ‘การเมืองเรื่องเซอร์เรียล’ เป็นอย่างไรบ้าง

เอาตรงๆ พวกงานวรรณกรรมไม่ได้มีฟีดแบ็กที่เห็นชัดอะไรขนาดนั้น แต่ก็มีคนอ่าน มีบางคนแอดเฟรนด์เฟซบุ๊กมา ทักแชตมาบอกว่าชอบงานนะ 

แต่ก็มีนักวิจารณ์เขียนถึงคือ วาด รวี เขียนถึงการเมืองเรื่องเซอร์เรียล แล้วก็ด่าเลย แต่เราชอบที่เขาวิจารณ์ตรงไปตรงมานะ เขาบอกว่าเรื่องสั้นแบบนี้คือมุมมองของคนชนชั้นกลางที่พยายามจะมองการเมืองให้ลึก แต่ไม่ลึก มันเป็นเรื่องแบบ ‘สองไม่เอา’ ช่วงนั้นการเมืองมีคำนี้ ซึ่งหมายถึง ไม่เอาทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งกลายเป็นสลิ่มในอนาคต (หัวเราะ) 

หลังจากนั้น วาด รวี เขียนถึงเราทุกเล่ม วิจารณ์ฮาวายประเทศลง Underground Bulletin เขียนอยู่ประมาณ 20 กว่าหน้า เขียนโคตรลึก ตีความหลายอย่าง อันนี้คือพลังของการทำให้เกิดศิลปะ เป็นงานที่ทำให้คนคิดต่อ คนก็พยายามจะอ่านเรา ซึ่งบางทีเขาอาจจะอ่านไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดแต่ว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะไปทำอะไรเขา เขาทำให้เราเห็นว่าการเขียนเรื่องสั้นสนุก เพราะมีคนมาตีความแบบนี้ เราโคตรอยากให้เครดิต วาด รวี เลย เขาทำให้เรารู้สึกอยากทำงานแบบนี้ต่อ

ไม่รู้สึกเฟลที่มีคนมาวิจารณ์หรือ

เฟล คนโดนวิจารณ์ไม่มีใครมาหน้าชื่นตาบาน แต่ขณะเดียวกันมันคือความสำเร็จ เราคิดว่าความล้มเหลวจริงๆ ของงานเขียน คือการไม่ถูกอ่านเลยมากกว่า ถ้างานออกมาแล้วถูกมองข้าม เราคิดว่านั่นเศร้ากว่านะ แต่ถ้ามีคนอ่านแล้ววิจารณ์บ้าง ชมบ้าง มันก็ถือว่าสำเร็จแล้วในมุมมองของเรา 

การเมืองเรื่องเซอร์เรียลถือเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกที่คุณได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ทำไมในช่วงเวลานั้นคุณถึงสนใจเขียนเรื่องสั้นว่าด้วย ‘การเมือง’ จุดเริ่มต้นของความสนใจนี้เกิดจากอะไร  

เราสนใจการเมืองอยู่แล้ว ติดตามข่าวการเมืองตลอด แล้วอยากจะเล่าเรื่องสิ่งเหล่านี้ หลังจากเขียนการเมืองเรื่องเซอร์เรียล เรื่องต่อๆ มาก็มีการเมืองเป็นโจทย์หนึ่งของเราทุกครั้ง เพราะความสนใจหลักเราคือ การเมือง สังคม ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าในชุดเรื่องสั้นของเรามีองค์ประกอบประมาณนี้อยู่ 

(คิด) จำไม่ได้จริงๆ ว่าเราสนใจการเมืองได้อย่างไร มันเหมือนกับเราชอบกินผัดกะเพรา ก็เพราะได้กินผัดกะเพรามาก่อนหน้านี้ ถ้าตอบแบบหล่อๆ ก็จะบอกว่าความสนใจและตื่นตัวในการเมืองมีส่วนทำให้บ้านเมืองเราดีขึ้น เราไม่อยากบ่นว่ารัฐบาลไหนก็เหมือนกัน นักการเมืองก็แย่เหมือนกันทุกคน แต่เราสนใจว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง สิทธิที่จะกระตุ้นให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะด้วยการลงชื่อพร้อมกันหรือการเคลื่อนไหวแบบนั้นแบบนี้ เพราะเรารู้ว่าคนประเทศนี้ไม่ค่อยตื่นตัว 

ถ้าเราตื่นตัวกันหลายๆ คน อย่างช่วง 3 ปีมานี้ที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัว มันเห็นเลยว่ามีความเปลี่ยนแปลงและมีความพยายามจะตรวจสอบอย่างเข้มข้นในทุกๆ ภาคส่วน 

แล้วถ้าให้มองย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เราคิดว่า ถ้าสนใจการเมือง มันมีส่วนที่จะทำให้สิ่งรอบข้างเราดีขึ้นได้ ถนน ฟุตพาธที่แย่ๆ อาจจะดีขึ้นก็ได้ หรือคุณภาพชีวิตคนแก่ ปู่ย่าเราอาจจะได้เงินและสวัสดิการที่ดีกว่านี้ 

คนรุ่นใหม่ยุคนี้เขาจะบอกว่าการตื่นตัวทางการเมืองทำให้ตาสว่างในหลายๆ เรื่อง ตอนนั้นมีเรื่องที่ทำให้คุณตาสว่างไหม

โห ถ้าพูดตรงๆ นะ โคตรเขินเลย (คิด) ต้องเล่าก่อน สิ่งที่ทำให้ตาสว่างจริงๆ ไม่สิ ต้องเรียกว่าสิ่งที่ทำให้เราสนใจการเมือง คือรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สมัยที่สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาเปิดโปงทักษิณ ชินวัตร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ตอนนั้นทักษิณมีอำนาจในการคุมรัฐสภา เอาอยู่ทุกกลุ่ม อยู่ดีๆ สนธิมาเปิดโปง เอาข้อมูลมาแฉ ซึ่งถ้าไม่ได้มองเรื่องการเลือกข้าง ก็จะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเจอสิ่งนี้ในการเมือง นั่นคือการหยิบ ขุด และการสู้ด้วยข้อมูล 

โอเค ตอนแรกมันเป็นอย่างนั้น ข้อมูลแบบนั้นทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราสนใจการเมือง การขุดหาข้อมูลแบบนี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตอนหลังมีการโจมตีเชิงการโหนเจ้า มีการขอใช้มาตรา 7 เอานายกฯ พระราชทาน เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว สู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ดีๆ จะเอาช็อตคัตแบบนี้เลยหรอ 

ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง การฟังเสียงประชาชน แต่อยู่ดีๆ คุณบอกว่าเรายอมยกอำนาจให้กษัตริย์เลือกนายกฯ อ้าว แล้วที่สู้มาเพื่ออะไร มันไม่ใช่เรื่องคนดี-คนเลว มันคือหลักการประชาธิปไตย ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่เราจะไม่ไปสวมเสื้อสีเหลือง 

แล้วในบรรยากาศยุคนั้น การไม่เป็นเสื้อเหลืองเป็นเรื่องแย่ การที่คุณเป็นเสื้อแดงในยุคนั้นคือมุมมองแบบคนรุ่นใหม่มองสลิ่มยุคนี้ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีความแดงจัดอะไรขนาดนั้น เราก็มีมุมมองชนชั้นกลางอยู่ประมาณหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องสู้แบบคนเสื้อแดง สู้เพื่อทักษิณ เพราะมันยังมี agenda อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ 

แต่รู้สึกว่าสิ่งที่เสื้อเหลืองเป็นก็ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องในตอนนั้น เลยไม่ได้ไปสังฆกรรมอะไรกับเขา แล้วก็เริ่มออกมา พอมีโอกาสในการเขียน เราก็เลยสื่อสารออกมาแบบนั้น 

หลังจากมีผลงานตีพิมพ์แล้ว ต่อจากนั้นคุณยังคงมีการวรรณกรรมออกมาอีกใช่ไหม 

ต่อจากนั้น มีนิยายเล่มแรก ชื่อพิพิธภัณฑ์เสียง เรื่องนี้เริ่มมาจากช่วงที่เราได้เป็นนักเขียนคอลัมน์ศิลปะมากขึ้น ได้ช่วยแกลเลอรีและศิลปินทำหนังสือ เขียนสูจิบัตรนิทรรศการต่างๆ ทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ทำให้เราสนใจศิลปะมากขึ้น เราอยากเป็นคิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ความสนุกของมันคือการออกแบบพื้นที่เพื่อให้สื่อสารกับคนดู มันคล้ายกับการทำหนังสือที่คนเป็น บ.ก. ต้องคิดว่าจะลำดับเนื้อหาอย่างไร สกู๊ปนี้ใครเขียน สัมภาษณ์นี้จะเป็นแบบไหน ก็เลยไปเรียนปริญญาโทการจัดการศิลปะที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

เราเรียนแล้วไม่จบนะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการทำพิพิธภัณฑ์เสียงเป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์ ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมา ชื่อนี้ล้อเลียนเรื่องสั้นของพี่โย (กิตติพล สรัคคานนท์) ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์แสง เล่าเรื่องตัวละครที่หลบไปในอาคารที่จัดแสดงแสง ส่วนตัวงานของเราที่ส่งอาจารย์ ไอเดียคือออกแบบเสียงให้ตอบโจทย์กับพื้นที่นั้นๆ 

ระหว่างนั้น มันก็มีเรื่องชีวิตช่วงเรียนปริญญาโทในมหา’ลัยด้วย เราก็บันทึกสิ่งเหล่านั้น แล้วก็แปลงเป็นนิยายที่พูดถึงกลุ่มนักศึกษาร่วมกันทำพิพิธภัณฑ์เสียงแล้วมีความรักกัน แต่ละท่อนมีเรื่องสั้นบริบทเสียงต่อประวัติศาสตร์คั่นอยู่ มันเป็นการเมืองมาก เราพูดถึงเสียงที่มีอิทธิพลคุมพฤติกรรมมนุษย์ในยุคหนึ่ง ไอเดียของเราคือการทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นมิวเซียมของมัน  

พิพิธภัณฑ์เสียงมีฟีดแบ็กที่ดี ค่อนข้างทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีสื่อมาชวนเราไปทำนิยายชุมชน เป็นโครงการชวนนักเขียนไปอยู่กับชุมชน เราได้ไปลงพื้นที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ และเขียนนิยายชื่อว่าสนไซเปรสขึ้นมา เรื่องนี้ก็เกรียนประมาณหนึ่ง เมสเซจของเราคือพยายามจะตอบโต้ภาพลักษณ์ของชุมชนอุดมคติที่เขาพยายามจะวาดไว้ นิยายนั้นก็เป็นการประกอบกันของ 5 เรื่องสั้นที่พยายามพูดถึงสถานที่เดียวกันในยุคสมัยที่ต่างกัน 

หลังจากนั้นก็มีรายทางมาตลอด มันเป็นงานคอมมิชชันหมดเลยนะ เล่มต่อมาคือเบียร์ยี่ห้อหนึ่งทำแคมเปญเกี่ยวกับพรีเซนเตอร์คนรุ่นใหม่ 7 คน เขาชวนเราไปสัมภาษณ์ 7 คนนี้ แต่เราไม่อยากนำเสนอแบบสัมภาษณ์แล้ว เพราะเดี๋ยวสื่ออื่นก็ทำ เราเลยไปคุยกับ 7 คนนี้ แล้วตีความออกาเป็นเรื่องสั้น ชื่อว่า Young & Wild  

หลังจากนั้นเราก็แต่งงาน ไปยุโรปกับภรรยา เขียนหนังสือชื่อ US AND THEM เป็นบันทึกการเดินทางในยุโรป ต่อจากนั้นเราเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เสียงเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้ว ก็เริ่มลุ้นว่าน่าส่งไปอีก ช่วงนั้นไม่มีหนังสือออกใหม่หรอก เราก็รวมเรื่องสั้นในอดีตหลายๆ เรื่องส่งไปเล่นๆ แล้วได้เข้ารอบ shortlist สำนักพิมพ์แซลมอนเลยพิมพ์เป็นเล่มชื่อประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า 

ทำไมคุณถึงอยากส่งประกวดซีไรต์

เราโตมากับยุคที่การเป็นนักเขียนซีไรต์คือความเท่ชะมัด เพราะมันมีอยู่เวทีเดียวด้วยแหละ และเอาตรงๆ คือถ้าได้ซีไรต์ก็อาจจะขายหนังสือได้ดีขึ้น เรื่องเกียรติยศก็เรื่องหนึ่งนะ เราคิดว่าการเขียนหนังสือวรรณกรรมในประเทศนี้ มันเป็นอาชีพไม่ได้ แต่ถ้าคุณได้ซีไรต์ อย่างน้อยมันการันตีว่าคุณน่าจะขายได้ประมาณหนึ่ง คุณจะพอยังชีพได้ เราเลยมีความคิดแบบนั้น 

ต่อจากประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า คุณกำลังจะรวมเล่มเรื่องสั้นที่ชื่อว่า รักในลวง ซึ่งมีสองเรื่องในชุดนี้ที่คุณนำมาจัดนิทรรศการคือ คิดถึงคนบนฝ้าและฝ่าละออง อยากให้คุณเล่าว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้เราเอางานศิลปะมาทำงานเขียน เช่น พิพิธภัณฑ์เสียง หรืออย่างสนไซเปรส มี 2 เรื่องในนั้นที่เราเปลี่ยนงานทัศนศิลป์ที่ไปดูมาให้กลายเป็นข้อความ 

แต่เรื่องสั้นครั้งนี้เอางานเขียนที่เรามีมาทำให้เป็นงานทัศนศิลป์ จริงๆ เราก็อยากทำงานเขียนให้เป็นอย่างอื่นเท่าที่จะเป็นไปได้เลยนะ อยากทำให้เป็นหนังยาว หนังสั้น อยากทำให้มันเป็นมากกว่าข้อเขียน เพราะเราคิดว่ามันคือการทำงานศิลปะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าข้อเขียนมีต้นทุนถูกสุด คุณอยู่กับตัวคุณ นั่งพิมพ์งานนี้ออกมา แต่ถ้ามีโอกาสในการต่อยอดก็ควรจะทำ ในขณะเดียวกันด้วยความที่เราคลุกคลีกับงานศิลปะมานาน เราเห็นว่าทำให้งานเขียนเป็นงานศิลปะได้นะเว้ย ก็เลยทำดู

สำหรับคุณ การทำให้งานศิลปะเป็นงานเขียนและงานเขียนให้เป็นงานศิลปะต่างกันอย่างไร 

การทำศิลปะเป็นงานเขียนง่ายกว่า เพราะเราเป็นนักเขียนที่ไปดูงานศิลปะ แล้วก็กลับมาเขียนเป็นรีพอร์ต มันก็คือการตีความงานศิลปะอยู่แล้ว  

แต่พอทำกลับกัน เราต้องตีความเรื่องของเรา มันก็ไม่ใช่การตีความ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันคือเรื่องอะไร มันยากตรงที่จะทำให้เป็นทัศนศิลป์ที่สร้างประสบการณ์ให้คนดูได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเราอยากจะเล่าเรื่องอะไรก็เล่า แต่มันคือการสร้างประสบการณ์ว่าเขาจะคิดอะไรกับมันต่อ มันท้าทายประมาณหนึ่ง

อยากให้คุณช่วยเล่ากระบวนการแปลงเรื่องสั้นมาออกแบบประสบการณ์ในงานศิลปะ ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง 

เรามีเพื่อนสนิทชื่อจอยส์ (กิตติมา จารีประสิทธิ์) เป็นคิวเรเตอร์ประจำใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ (พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม – MAIIAM Contemporary Art Museum) และเป็นคิวเรเตอร์สองงานนี้ด้วย เราคุยกับเขาตลอดว่าเราอยากทำงานศิลปะ เราควรจะเริ่มยังไงดี 

จริงๆ ไอเดียแรกคืองานฝ่าละออง เราอยากเอาเครื่องดูดฝุ่นไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็ถ่ายวิดีโอ จอยส์บอกว่า เอาดิ ลองทำดู 

พอดีกับช่วงนั้นคุณบี (วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ) เจ้าของ VS Gallery เขามีความคิดที่อยากชวนคนที่ไม่ใช่ศิลปินมาทำงานศิลปะ อยากชวนนักเขียนก่อน เขาก็ชวนเรา ชวนอาจารย์ต้น (อนุสรณ์ ติปยานนท์) พี่แหม่ม (วีรพร นิติประภา) พี่โย กิตติพล ชวนหลายๆ คน มาทำงาน เราก็คิดว่าจะเอาไอเดียนี้ไปขายเขา แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที

ขณะเดียวกันก็มีไอเดียคิดถึงคนบนฝ้าเกิดขึ้นมา แล้วจอยส์รู้จักกับเจ้าของแกลเลอรีที่แสดงงานในตอนนั้น คือ น้ามิตร (มิตร ใจอินทร์) ศิลปินเชียงใหม่ เราเคยทำงานให้น้ามิตรมานาน เราก็บอกว่าน้ามิตรอยากได้พื้นที่ เขาก็บอกว่าเอาเลย อยากทำอะไรก็ทำ เขาเลยให้เวลาเราสองเดือนในการทำนิทรรศการ 

โจทย์คิดถึงคนบนฝ้าก็เป็นโจทย์ง่ายๆ คือการบุกฝ้าขึ้นไปดูอะไรบางอย่าง สร้างประสบการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ซับซ้อนมาก แค่เซ็ตติงฝ้า ทำประติมากรรม ทำเพนต์ติง ซึ่งส่วนใหญ่การทำงานนิทรรศการพวกนี้เกิดจากการที่เราคุยกับเจ้าของแกลเลอรีก่อน และสำหรับนิทรรศการคิดถึงคนบนฝ้าก็ถือว่าไม่ยากมาก เพราะ Cartel Artspace เป็นแกลเลอรีที่สื่อสารเรื่องการเมืองอยู่แล้ว พอเราอยากเล่าเรื่องแบบนี้ น้ามิตรก็บอกว่าคุณใช้พื้นที่ผมได้เลย เพราะเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะทำกำไรจากสิ่งนี้อยู่แล้ว เราก็เลยได้จัดที่นี่ 

พอจัดที่นี่ เราก็เห็นว่าเวิร์ก จากที่เราคุมแค่กับตัวหนังสือ ตอนนี้เราก็รู้ว่าเราคุมพื้นที่แบบนี้ได้ เรามีประสบการณ์แล้วว่าควรจะทำอะไรบ้างในพื้นที่แบบนี้ เลยมาทำฝ่าละอองต่อ

คุณเลยได้เอาไอเดียแรกมาทำงานต่อ

ใช่ๆ ไอเดียแรกเกิดจากตอนที่เราคิดว่า ถ้าเราอยู่ในห้องแล้วมีเครื่องดูดฝุ่น 10 ตัววิ่งกระจัดกระจายอยู่คงเพี้ยนดี เราสนใจเรื่องระบบกลไก AI (ปัญญาประดิษฐ์) หรือระบบ automatic สนใจการที่มันหลบเลี่ยงเราได้ พอภาพแบบนั้นเกิดขึ้นในหัว เราเลยคิดว่าอย่างนั้นเราลองเอามันไปดูดฝุ่นสถานที่ต่างๆ ดู 

ต่อจากนั้นเราไปรีเสิร์ชงานของอาจารย์ชาตรี (ชาตรี ประกิตนนทการ) เพราะประเด็นที่เราสนใจคือการลบเลือนความทรงจำ การลบประวัติศาสตร์ผ่านการรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้าง หรือการเปลี่ยนกายภาพของมัน 

ฟังก์ชันของเครื่องดูดฝุ่นคือการทำความสะอาด แต่เราไม่สามารถทำความสะอาดพื้นที่ข้างนอกหรือ outdoor ให้สะอาดได้ ขณะเดียวกันฟังก์ชั่นการดูดของมันมีความหมายหลายมาก เราคิดว่ารัฐไทยมองว่าสถาบันฯ คือความสะอาดเอี่ยม คือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่พวกเรายกมือขึ้นมาบอกว่าไม่ใช่ มันมีอะไรที่ต้องพูดถึง เลยทำให้รัฐอยากกำจัด มันเลยตอบรับกับเซนส์ของเครื่องดูดฝุ่นที่ถูกดูดตามที่ต่างๆ 

อีกเรื่องคือความทรงจำ เครื่องดูดฝุ่นก็ดูดฝุ่นที่เกาะอยู่ตามพื้นที่ ซึ่งเรามองว่าทุกพื้นที่คือสัญลักษณ์ของความทรงจำ การที่มันดูดไปก็คือความพยายามจะลบเลือนความทรงจำที่ติดอยู่ในนั้น เพราะ 6 ที่ที่เราเลือก ก็คือที่ที่มีกายภาพที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน หรือบางที่ก็อาจจะไม่ชัดเจนมาก แต่เราไม่รู้ว่ามันกำลังค่อยๆ เปลี่ยนจนสุดท้ายมันกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง 

ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องความทรงจำและประวัติศาสตร์ มันสำคัญอย่างไรในบริบทการเมืองตอนนี้

ถ้าดูในเชิงภาพรวมที่ผ่านมา เราคิดว่ารัฐพยายามจะควบคุมเรา วิธีการควบคุมง่ายที่สุดตอนนี้คือใช้กฎหมาย อย่างเช่น มีการใช้ 112 เข้มข้นด้วย อะไรที่ควบคุมมากกว่านั้นคือทำให้เราลืมอะไรบางอย่างและจดจำอะไรบางอย่าง โฆษณาชวนเชื่อที่ผ่านมา ทำให้คนรุ่นเรา พ่อแม่ ปู่ย่าเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการทำงานที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมความทรงจำ เราต้องเชื่อแบบนี้ ทำแบบนี้ เราเชื่อเรื่องบุญคุณต่อประเทศชาติ [สถาบันฯ] แตะต้องไม่ได้

ในขณะเดียวกันยุคหลังมานี้ พอคนรุ่นใหม่ตื่นตัว เขาก็พยายามจะควบคุม คนรุ่นใหม่พยายามเชื่อมให้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ พัฒนาการประชาธิปไตยที่ผ่านมาเป็นอย่งไร สิ่งที่เขาทำคือพยายามลบสัญลักษณ์ที่มันเชื่อมโยง เรารู้ว่ามันเป็นการเมืองแบบหนึ่ง เป็นเกมที่รัฐพยายามจะเล่นเกมกับเรา มันคือการควบคุมผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่

เราอยากสะท้อนให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งนี้อยู่ การเปลี่ยนผ่านหรือสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ บางทีเราไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้นิดเดียว มันก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างอนุสรณ์ปราบกบฎที่หลักสี่ อยู่ดีๆ เป็นรถไฟฟ้า คือโอเค เราเข้าใจว่ามันเป็นพัฒนาการของเมืองแหละ แต่ในขณะเดียวกันมันมีความหมายของความพยายามที่จะลบอยู่ หรือการรื้อตึกที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎร เราคิดว่ามันเป็นความพยายามของรัฐที่ทำอยู่

ภาพส่วนหนึ่งจากวิดีโอในนิทรรศการฝ่าละออง ถ่ายทำโดย ปาณิศา เขื่อนเพชร

สังเกตว่าคุณมักตั้งชื่องานหยอกล้อกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงหลังที่เกี่ยวโยงกับประโยคของฝั่งอนุรักษนิยม ซึ่งมีคนที่นับถือศรัทธาต่อสถาบันฯ เคยวิจารณ์ว่าคุณกำลังเอางานศิลปะมาล้อเล่นกับความรู้สึกคนอื่น ถ้าหากว่าคนไม่รักไม่อยากถูกบังคับให้รัก แล้วทำไมถึงใช้ประโยคของคนที่นับถือมาล้อเล่น คุณมองเรื่องนี้อย่างไร 

เราไม่คิดว่าก้าวก่าย ตั้งแต่งานที่ผ่านมา เราไม่ได้ไปโจมตีเขาเลย มันเป็นสิทธิเต็มที่ของเขาที่จะคลั่งไคล้ใครก็ตาม เราสนใจแค่เนื้อหา เราสนใจการบันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกความเชื่อของคนกลุ่มนี้ไว้ โอเค มันมีความล้อเลียน แต่เราไม่ได้โจมตีเขา 

เราเชื่อเรื่องเสรีภาพในการพูด แต่เราไม่ไปเบลมคนที่เขารัก มันเป็นสิทธิของเราที่จะตั้งคำถาม มันควรจะเป็นเรื่องสามัญมากๆ ที่เราจะทำแบบนี้ ยิ่งการเป็นคนสาธารณะที่มีส่วนต่อคุณภาพชีวิตเรา เราก็ต้องพูด แล้วก็เห็นอยู่ว่าควรต้องพูด ไม่ควรเงียบ การพูดถึงสถาบันฯ ควรเป็นคอมมอนเซนส์ เหมือนการที่เราวิจารณ์ประยุทธ์ได้ 

แล้วถ้ากลับไปดู คำแต่ละคำที่เราเลือกมาใช้คือภาพกลับของ propaganda คำว่าคิดถึงคนบนฟ้าถูกใช้มาในด้านเดียวตลอด คุณไม่สามารถพูดวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดกลางๆ ได้ ถ้าคุณจะพูดออกสื่อ คุณต้องชื่นชม ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำแบบชื่นชม แต่งานเราก็ไม่ได้เป็นการด่าใคร ตัวงานเป็นเพียงการมุดขึ้นไปบนฝ้า แล้วมีการพูดถึงคนที่หายตัวไปบนฝ้า ไม่มีการโจมตีใครเลย เรารู้สึกว่างานของเราเป็นแค่การหยิบคำนี้มาใช้ แล้วพูดในโทนปกติที่มนุษย์ควรจะพูดได้มากกว่า 

ฝ่าละอองเหมือนกัน เป็นคำกลางๆ คำหนึ่ง เมื่อก่อนเราถูกทำให้เชื่อว่าคำนี้ทำให้เขาอยู่สูงศักดิ์ ไม่สามารถแตะต้องได้ เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ไอเดียของเราคือลดความศักดิ์สิทธิ์ลงมาให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือการที่รัฐทำให้สถาบันฯ มีความศักดิ์สิทธิ์จนใช้กฎหมายมาปิดปากคนเห็นต่าง 

แต่ถ้าเราทำให้คนเห็นความปกติสามัญธรรมดา หรือเรื่องนี้ควรจะอยู่ในพื้นที่ศิลปะที่ใครมาดูก็ได้ ใครจะด่าหรือจะชื่นชม ก็เรื่องของเขา เราไม่ได้ปิดกั้น เราเลยคิดว่าการหยิบคำพวกนี้มาทำให้มันอยู่บนพื้น ทำให้มันธรรมดา เป็นสิ่งสำคัญ

ช่วงที่คุณเริ่มเอางานวรรณกรรมมาทำงานศิลปะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่ส่งเสียงให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งพลิกฟ้าภูมิทัศน์การเมืองไทยไปจนถึงวงการอื่นๆ ในฐานะที่คุณคลุกคลีในวงการนี้ คุณคิดว่าเกิดแรงขับเคลื่อนในวงการศิลปะการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

จริงๆ ในแวดวงศิลปะมีคนทำงานการเมืองมานานแล้ว ทำมาก่อนที่เราจะทำหลายปีมาก เพียงแค่ว่าประเด็นที่เขาทำอาจจะไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมา คนในวงการศิลปะจะเข้าใจกันเอง แต่พอมีม็อบเกิดขึ้น ความตรงไปตรงมาก็ไปอยู่ตรงนั้น อย่างที่เราเห็นว่าคนทำสตรีตอาร์ต ทำศิลปะในม็อบ จะสื่อสารแรงและตรง 

พื้นที่ทางแกลเลอรีไม่ค่อยพูดตรงๆ เพราะแกลเลอรีติดความเป็นทุนอยู่ คุณเป็นเจ้าของแกลเลอรี คุณก็ต้องขายงานศิลปะ คนสะสมงานศิลปะคือใคร ก็คืออีลีต ซึ่งมาจากเครือข่ายกลุ่มทุนใหญ่ๆ ทั้งหลาย บางทีก็อาจจะเชื่อมโยงกับสถาบันบ้าง ศิลปะในประเทศนี้เลยมีความเลี่ยงที่จะพูด แต่ไม่ใช่ไม่มีเลยนะ ยังมีพื้นที่อย่าง Cartel Artspace หรือ VS Gallery ที่เปิดโอกาสให้คนเล่าเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่มันไม่ใช่สุนทรียะหลัก คือไม่สามารถขายได้ เขาก็เห็นความจำเป็นว่าจะต้องเล่า

แต่ต้องบอกว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ที่คนทะลุเพดาน มีส่วนกระตุ้นให้พื้นที่เปิดมากขึ้น ตอนที่ไม่ได้มีพื้นที่เปิดมากพอ ศิลปินก็แสดงออนไลน์ในพื้นที่เขา แต่พอมีพื้นที่ตรงนี้เปิด มันเลยเกิดกระแสมากขึ้น

ขณะเดียวกันด้วยความที่คนโดนกดมาเรื่อยๆ ก็ทำให้คนอย่าง Uninspired by current events หรือคนทำภาพประกอบคนอื่นๆ หันมาทำสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่คุณเงียบไม่ได้ ถ้าคุณมีจิตสำนึก มันก็ควรจะเล่า ซึ่งมันก็ถูกแล้ว มันไม่ใช่เพราะกระแสการเมืองกำลังมา แต่เพราะรัฐกด มันก็ไม่ไหวว่ะ กูต้องแสดงออก ต้องระบายออกมา เราคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มันสุกงอมมากเลย คนไม่ไหวแล้ว มีโควิด-19 ด้วย มันได้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น มันก็ถูกแล้วที่คนต้องลุกขึ้นมา ถ้าเงียบอยู่สิประหลาด

การได้เห็นคนในวงการที่อาจจะไม่ได้เลือกนำเสนอด้านการเมือง มาเล่าเรื่องการเมืองมากขึ้น หรือว่าคนที่อาจจะไม่เคยสนใจศิลปะ หันมาสนใจงานศิลปะมากขึ้น มันมีผลต่อการเมืองบ้างไหม

มีครับ แต่เราไม่อาจพูดได้ว่า งานชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีผล [ในทางการเมือง] เราเชื่อในเรื่องการสะสม หมายถึง การดูงานหลายๆ ชิ้นรวมกัน มันก็ขับเคลื่อนให้เกิดมุมมองหรือมูฟเมนต์ ศิลปะเป็นเรื่อง collective นะ มันคือการรวมกันเพื่อให้เห็นสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น ถ้าเราเข้าไปดูใน VER Gallery ตอนนี้ จะเห็นภาพเพนต์ติ้งพื้นสีเปล่าๆ แล้วมีตัวเลขอยู่ นั่นเป็นงานของอาจารย์อบเชย (ผศ.ดร.วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร) ที่เก็บบิลเงินสดที่ต้องจ่ายภาษีทั้งปี แล้วเพนต์บิลนั้น แต่เหลือแค่ตัวเลขที่ต้องเสียภาษีให้รัฐ แล้วก็จัดโชว์เต็มละลานตา นี่คือการบอกเล่าแบบเขา 

หรือว่าห้องข้างๆ เรา แพร (พัชราภา อินทร์ช่าง-ศิลปินเจ้าของงานนิทรรศการ The Leftovers แด่คนที่ยังอยู่) เอาเรื่องสั้นของเราไปทำเพนต์ติง แต่เขาก็ไม่ได้เอาทั้งหมด และเอาประสบการณ์ของญาติผู้ที่ถูกอุ้มหาย เช่น ลูกทนายสมชาย นีละไพจิตร มาเพนต์ แล้วก็พูดถึงประสบการณ์ของคนที่รอคอยคนที่ไม่มีวันกลับมา หรือว่างานของเราเองก็พูดถึงประวัติศาสตร์ความทรงจำ เราคิดว่ามิติแบบนี้มีหลากหลายมากเลยนะ ไม่ใช่ว่าเราพูดว่าการเมืองคือการเมืองเนอะ แต่การเมืองก็มีมิติความทรงจำ ดราม่าก็มี สวัสดิการก็มี เราเลยคิดว่ามันจะมีบทบาทการเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ มันทำให้เกิดการสะสมขึ้นมา

หมายความว่าไม่มีงานศิลปะชิ้นเดียวที่จะพลิกสถานการณ์ทางการเมืองได้?

ตรงๆ คือไม่มี แต่มันมีส่วนในการกระตุ้นคนให้คิด แล้วพอสะสมไปมากๆ เข้าก็เกิดมูฟเมนต์ได้ เราคิดว่ามันช่วยขยับให้คนตระหนักอะไรหรือสนใจอะไรมากขึ้นได้มากกว่า เช่น สิ่งที่เราพูด หรือสิ่งที่อาจารย์อบเชยพูด ทำให้คนเริ่มคิดว่าแล้วเราจ่ายภาษีอะไรไปบ้าง มันคุ้มไหม ศิลปะทำงานได้หลายรูปแบบมาก เราเลยคิดว่ามันไม่สามารถตอบคำถามที่ว่ามันจะขยับอย่างไร แต่มันมีวิธีการขยับได้หลายแบบ มันมีวิธีการให้คนคิดได้หลายแบบมาก แม้กระทั่งงานหนึ่งงาน คนจะตีความไปได้ 4-5 ทิศทางก็ยังมี ทั้ง 4-5 ทิศทางไม่ได้มีความถูก-ผิดนะ มันคือประสบการณ์ของคนมาดูงาน แต่มันมีส่วนให้เขาหันไปทำอะไรอย่างอื่น 

เราไม่ได้มองว่าศิลปะคือเครื่องมือทางการเมืองที่เปลี่ยนทุกอย่างได้ทันที มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ก็จริง แต่ไม่ได้เป็นอะไรที่ทำงานตรงไปตรงมา มันคือการทำงานความคิดที่ให้เราได้ขยับไปทางใดทางหนึ่ง จดจำ เก็บสะสม หรือแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง

ภาพส่วนหนึ่งจากวิดีโอในนิทรรศการฝ่าละออง ถ่ายทำโดย ปาณิศา เขื่อนเพชร

คนทำงานศิลปะมักบอกว่าอยากให้งานตั้งคำถามบางอย่างกับคนดู ในยุคที่คนตื่นตัวกับการเมือง ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวมากขึ้นแล้ว ตอนนี้บทบาทของศิลปะการเมืองยังมีหน้าที่แบบเดิมอยู่ไหม

(คิด) เราคิดว่ามันยังมีบทบาทในการสร้างไดอะล็อกต่อคนดูอยู่ แต่การเมืองไม่ใช่เรื่องว่าฉันตื่นแล้วก็จบ มันยังมีมิติมากมายที่ต้องสู้ แม้กระทั่งคนตื่นแล้วยังตีกันเองเลย แล้วศิลปะก็มีควา่มจำเป็นในการทำให้เราคุยกันอยู่ 

ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องสาร ศิลปะคือสุนทรียะ มันคือการเข้าไปดูแล้วเสพประสบการณ์จากมัน คุณอาจจะไม่ได้คิดอะไรก็ได้ แต่คุณรู้สึกว่างานสวย มันแปลก มันก็ทำหน้าที่ทั้งสองแบบร่วมกันไป

คุณบอกว่างานศิลปะต้องสะสมจากหลายๆ คนเพื่อให้เกิดมูฟเมนต์บางอย่าง อย่างนี้คุณเชื่อเรื่องการใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ อย่างที่หลายคนถกเถียงกันอยู่หรือเปล่า

(หัวเราะ) เราอยากให้จบที่รุ่นเรา แต่เราเชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่มันไม่จบที่รุ่นเรา แต่เราต้องคิดว่ามันจะจบ ถ้าไปบอกว่า มันใช้เวลา มันไม่จบที่รุ่นเรา มันจะปลง แต่เราปลงไม่ได้ เราไม่ควรปลง แต่ใช่ มันใช้เวลา เราเข้าใจ แต่ถ้าคิดแบบนี้ มันไม่เกิดพลัง ไม่เกิดแอ็กทิฟที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save