fbpx
ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji: ภาพอนาคตประเทศจีน

ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji: ภาพอนาคตประเทศจีน

อาร์ม  ตั้งนิรันดร เรื่อง

รัฐบาลจีนกำลังคิดการใหญ่กับ “ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji” ซึ่งมีที่มาจากชื่อพื้นที่สามแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คือ ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย (Beijing-Tianjin-Hebei โดย Ji เป็นชื่อย่อของมณฑลเหอเป่ย)

“Jing-Jin-Ji” เป็นแนวคิดเชื่อมโยงมหานครปักกิ่ง มหานครเทียนจิน เข้ากับเมืองใหญ่ 11 เมืองของมณฑลเหอเป่ย โดยรัฐบาลจีนจะลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางจากเมืองใหญ่แต่ละแห่งในมณฑลเหอเป่ย เข้าสู่ปักกิ่งหรือเทียนจินใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

หากแผนการสำเร็จ จะทำให้เกิด “อภิมหานคร” ที่กินพื้นที่และประชากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยพื้นที่เขตเมืองทั้งสิ้นรวม 212,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 40% ของพื้นที่ประเทศไทย โดยมีประชากรอาศัยในเขตเมืองที่เชื่อมต่อถึงกันรวม 130 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของประเทศไทยหนึ่งเท่าตัว

ที่สำคัญ ยุทธศาสตร์นี้จะเปลี่ยนความหมายของ “เมือง” ที่เราเคยเข้าใจอย่างสิ้นเชิง ต่อจากนี้ คำว่า “เมือง” ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นต่อเนื่องเป็นผืนเดียว แต่อาจเป็นพื้นที่เมือง ซึ่งอยู่ห่างไกลกัน แต่เมื่อเชื่อมด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้เสมือนราวกับว่าเป็นเมืองเดียวกัน

สำนวนเก่าในนิยายรักของจีนที่ว่า “ห่างกันหมื่นลี้ แต่เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน” จะเป็นจริงก็คราวนี้ เมื่อคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ของเหอเป่ย (ซึ่งค่าเช่าบ้านถูกกว่าในปักกิ่งมหาศาล) สามารถตีตั๋วเข้าปักกิ่งหรือเทียนจินได้โดยใช้เวลาเดินทางไม่ถึงชั่วโมง!

“Jing-Jin-Ji” สำคัญอย่างไร?

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 รัฐบาลจีนได้อนุมัติเงิน 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในระบบรางในพื้นที่ Jing-Jin-Ji เป้าหมายคือภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองใหญ่ในมณฑลเหอเป่ยเข้ากับปักกิ่งหรือเทียนจินรวม 8 เส้นทาง ส่วนแผนระยะยาวคือ ภายในปี ค.ศ. 2050 จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ในพื้นที่จำนวนรวม 24 เส้นทาง

จีนพร้อมทุ่มทุนมหาศาลเพื่อเชื่อม Jing-Jin-Ji โดยหวังกระจายความเจริญจากปักกิ่ง (เมืองหลวงของประเทศ) และเทียนจิน (เมืองท่าสำคัญ) ไปสู่มณฑลเหอเป่ย ซึ่งยังค่อนข้างยากจน ปัจจุบัน รายได้ต่อหัวของประชากรในมณฑลเหอเป่ยคิดเป็นเพียง 40% ของรายได้ต่อหัวในปักกิ่งและเทียนจิน

มณฑลเหอเป่ย ขึ้นชื่อเรื่องเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้า คอนกรีต ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ (กล่าวกันว่ามลพิษในปักกิ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงงานควันดำในเหอเป่ย) นอกจากนั้น จีนยังประสบปัญหาการผลิตเกินตัวในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายพยายามเลิกอุตสาหกรรมหนักที่กำลังจะ “หมดอนาคต” และเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมภาคการค้าส่งและภาคบริการ

การเชื่อมเมืองใหญ่ในเหอเป่ยเข้ากับปักกิ่งและเทียนจิน จะช่วยกระจายแรงงานทักษะสูงในปักกิ่งมาช่วย “อัพเกรด” อุตสาหกรรมในเหอเป่ย เพื่อให้ยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมก้าวหน้าและสร้างเป็นฮับเทคโนโลยีแห่งใหม่ของจีน รวมทั้งพยายามย้ายภาคการค้าส่งจากปักกิ่งมายังเหอเป่ย ลดความแออัดของปักกิ่ง ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากท่าเรือที่เทียนจินในการค้าขายกับต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ยังได้ประกาศสร้าง “มหานครแห่งอนาคต” ขึ้นที่เขตสงอัน ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทในมณฑลเหอเป่ย โดยมุ่งหวังจะย้ายภาคธุรกิจและภาคการศึกษาออกจากปักกิ่งมาที่เมืองใหม่ รวมทั้งสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของการพัฒนายุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji

โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือหายนะสิ่งแวดล้อม?

นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจการพัฒนาของจีน ดูจะตื่นเต้นกับยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji เพราะเชื่อว่า “พลังของความเป็นเมือง” จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล

การกระจุกตัวของประชากรในเมืองเอื้อให้เกิดหน่วยผลิตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหน่วยผลิตขนาดใหญ่จะให้ผลผลิตต่อแรงงานสูงกว่าหน่วยผลิตขนาดเล็ก กล่าวคือ ความเป็นเมืองทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด หรือ economies of scale

นอกจากนั้น การรวมตัวกันของธุรกิจภายในเมือง ยังช่วยประหยัดหลายด้าน เช่น ธุรกิจสามารถหาแรงงานทักษะสูงหรือวัตถุดิบได้ง่าย อีกทั้งเมื่อมีผู้แข่งขันมากราย ราคาสินค้าและวัตถุดิบก็จะถูกลงและมีคุณภาพมากขึ้น นั่นคือ ความเป็นเมืองทำให้เกิดการประหยัดจากการรวมตัวกัน หรือ economies of agglomeration

การกระจุกตัวของประชากรและของธุรกิจ ยังทำให้เกิดการกระจายของความรู้ (knowledge spillovers) เพราะย่อมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดระหว่างกัน

ดังนั้น ยิ่งคนกระจุกตัวมาก และยิ่งเมืองใหญ่ขึ้น ยิ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การเชื่อมเมืองที่ห่างไกลกันเข้าด้วยกันจนเป็นเหมือน “อภิมหานคร” ที่มีคนกระจุกตัว 130 ล้านคน จึงน่าจะสร้างกิจกรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจชนิดทวีคูณ

แต่กลุ่มที่นอนไม่หลับ ก็คือ นักสิ่งแวดล้อมและนักวางแผนเมือง หลายคนวิตกว่าจีนจะจัดการปัญหาความหนาแน่นที่ตามมาอย่างไร

ลองคิดดูง่ายๆ แทนที่ปักกิ่งจะจำกัดอยู่แค่ปักกิ่ง ต่อจากนี้ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 11 เมืองในเหอเป่ย ก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามาทำงานในปักกิ่งได้ แทนที่ปักกิ่งจะมีคน 20 ล้านคน มิกลับกลายเป็นว่าปักกิ่งมีคนเพิ่มเป็น 130 ล้านคนหรือ? นั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามาปักกิ่งยังพอได้ แต่รถไฟใต้ดินภายในเมืองเพื่อเดินทางต่อไปที่ต่างๆ ภายในปักกิ่ง จะไม่เบียดกันเป็นอัมพาตกว่าที่เป็นอยู่หรือ?

ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่นอนหรอกครับ เพราะจีนกำลังบุกเบิกปรากฏการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์โลก แต่ความหวังก็คือ รัฐบาลจีนจะสามารถผลักดันให้ความเจริญขยายออกไป แทนที่คนมหาศาลจะมุ่งแต่เข้ามากลางปักกิ่ง ก็จะแบ่งสายมุ่งไปยังศูนย์กลางความเจริญอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย รัฐบาลจีนพยายามเดินไปในทิศทางนี้ ดูจากแผนการสร้างเมืองใหม่ และแผนจะย้ายหลายหน่วยงานออกจากปักกิ่ง

รัฐบาลจีนยังต้องวางแผนระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างดีที่สุด ตัวอย่างเช่น สถานีรถไฟความเร็วสูงต้องเชื่อมมาได้ถึงกลางเมืองปักกิ่งเลย ต่อจากนั้น ต้องมีระบบรถขนส่งภายในเมืองที่ง่ายต่อการเดินทางในช่วง 5 กิโลเมตรสุดท้าย นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่บริษัทเทคโนโลยีในจีนสนใจพัฒนา Self-Driving Car เพราะมองว่าอาจเป็นทางออกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเดินทางภายในเมืองที่อาจหนาแน่นขึ้นอีกในช่วงเวลาทำงาน

ภาพอนาคตประเทศจีน: คลัสเตอร์เมือง

ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji สะท้อนภาพอนาคตประเทศจีน ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการจับกลุ่มคลัสเตอร์เมืองในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน สร้างระบบรางเชื่อมต่อถึงกันให้เหมือนเป็นเมืองเดียว เพื่อเชื่อมจุดแข็งของแต่ละเมือง พร้อมทั้งอาศัย “ขนาดมหึมาของพื้นที่และประชากร” ที่รวมเข้าด้วยกัน เพิ่มพูนกิจกรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจชนิดทวีคูณ

ในปี ค.ศ. 2015 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์สร้างคลัสเตอร์เมืองรวม 11 คลัสเตอร์ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคลัสเตอร์เมืองทั้งหมดเหล่านี้กินพื้นที่รวมเพียง 10% ของประเทศ แต่คลอบคลุมประชากรถึงหนึ่งในสามของประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสามของ GDP ของประเทศ เรียกได้ว่า พลังทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของจีนจะอยู่ภายในคลัสเตอร์เมือง!

ภายในคลัสเตอร์ 11 แห่งนั้น มีที่เป็น “ซูเปอร์คลัสเตอร์” อยู่ 3 แห่ง ได้แก่

(1) ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji ซึ่งมีหัวใจคือปักกิ่ง (เชื่อม 13 เมือง ประชากร 130 ล้านคน)

(2) ยุทธศาสตร์ Yangtze River Delta ซึ่งมีหัวใจคือเซี่ยงไฮ้ (เชื่อม 16 เมือง ประชากร 80 ล้านคน)

และ (3) ยุทธศาสตร์ Pearl River Delta ซึ่งหัวใจอยู่ที่กวางเจา (เชื่อม 11 เมือง ประชากร 80 ล้านคน)

การคิดอย่างเป็นยุทธศาสตร์ของจีน คือ การคิดการใหญ่ การคิดเชื่อมโยงพลังทางเศรษฐกิจ การคิดทั้งกระจุกและกระจายความเจริญ

ส่วนยุทธศาสตร์ของไทย กำลังคิดการใดครับ?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save