fbpx
กวีมีเสียง

กวีมีเสียง

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

 

“If you dig it, do it. If you dig it a lot, do it twice.”Jim Croce

โดยไม่ลังเล ในบรรดาศิลปินเพลงอะคูสติก บลูส์ คันทรี่ทั้งหมด อย่างบ็อบดีแลน, คาโรล คิง, เจมส์ เทเลอร์, นีล ยัง, แคท สตีเวนส์ และอีกหลายคนที่มีชีวิตว่ายวนอยู่ในยุค 60s – 70s ก็เป็นอมตะในใจพ่อทั้งนั้นแหละ 

แต่จิม โครเช่ นั้นพิเศษและต่างออกไปจากหลายๆ คน สำหรับพ่อเพลงของเขามันทั้งติดหูที่สุด โรแมนติกที่สุด สนุกและกวนส้นทีนที่สุด

เคยมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับ ‘กุล’ มือกีตาร์และร้องนำวง ‘เยนา’ วงที่หนุ่มสาวไทยแลนด์ยุคเบื่อคสช. บอกว่าเป็นวงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ ใจกลางและแก่นแกนของเพลงวงเยนาคือยึดถือในเรื่องคนเท่ากัน

กุลบอกว่าเมื่อก่อนเขาชอบบ็อบ ดีแลน เพราะความเท่ ดิบ และกินใจในประเด็นสังคมการเมือง แต่มาช่วงหลังกลับชอบจิม โครเช่มากกว่า เขารู้สึกว่าเพลงของจิมนั้นทั้งเนี้ยบและละมุน ยิ่งได้คู่หูอย่างมอรี่ มิวไฮเซน (Maury Muehleisen) มาโซโล่กีตาร์ให้ด้วยแล้วยิ่งทำให้เพลงของจิมนั้นเฉียบขาดขึ้นไปอีก 

แต่เสียดายที่ทั้งคู่ร่วมงานกันเพียง 3 อัลบั้มเท่านั้น จะว่าไปก็เป็น 3 อัลบั้มในช่วงเวลาแค่ 2 ปีสุดท้ายที่ชีวิตจิมพีคที่สุด โด่งดังที่สุด ตั้งแต่อัลบั้ม You Don’t Mess Around with Jim (1972), Life and Times (1973), I Got a Name (1973)

อัลบั้มสุดท้ายพวกเขาเพิ่งอัดเพลงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ทันจะออกวางขาย พวกเขาก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตซะก่อน ในระหว่างเดินทางกลับจากเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองลุยเซียร์น่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1973 จิมจากไปในวัย 30 ส่วนมอรี่เพิ่ง 24 

พ่อเขียนระลึกถึงจิมให้ ‘เวลา’ ฟังในช่วงครบรอบ 45 ปีที่จิมจากไปพอดี

ทำไมนักดนตรีลุคดูบ้านนอกๆ อเมริกันเชื้อสายอิตาเลี่ยนที่หน้าตาคล้ายมาริโอ ช่างซ่อมท่อประปา (เกมมาริโอ) คนนี้ถึงน่าหลงใหลอะไรสำหรับพ่อนักหนา 

อย่างสั้นที่สุดพ่อว่าเพลงเขาดีว่ะลูก ดีจริงๆ ทั้งเนื้อเพลงและเมโลดี้ทำนอง 

แต่ถ้าให้พ่อลองถามตัวเองลึกๆ ดูอีกทีพ่อน่าจะโหยหาการดูดนตรีสดแบบที่จิมเล่น โดยมีกลิ่นเมโลดี้แพรวพราวจากคู่หูของเขาซึ่งพูดกันตรงๆ เราไม่เคยเห็นใครสักคนเล่นแบบจิมในไทยเลย

เพลงโฟล์คของเขาหลายเพลงใช้คำเร็วๆ รัวๆ ในเนื้อเพลง ฟังดูเหมือนคร่อมจังหวะ แต่กลับคล้องจอง ลื่นไหล เมื่อได้ไลน์กีตาร์ของมอรี่มาช่วยอุ้มชูและผลักดัน ยิ่งทำให้เพลงดูแปลก แต่กินใจเหมือนที่พ่อชอบเพลงของเยนา อาทิ  ‘พิราบ’ และ ‘กรุงเทพฯ’ 

พ่อพยายามหาความหมาย ร่องรอยบางอย่างของชีวิตจิม ซึ่งแน่นอนว่ามันปรากฏอยู่ในเพลงของเขาเอง ทั้งความฝัน ความอัตคัดขัดสนข้นแค้น และความผ่อนปรนประนีประนอมให้ความตลกขบขัน นี่อาจเป็นคุณสมบัติของกวี

พ่อคิดว่าจิมเป็นกวี, ใช่แหละ ไม่ต้องลังเลอะไรเลย

จิมเกิดปี 1943 ที่ฟิลาเดลเฟีย เริ่มจับแอคคอเดียนเล่นตั้งแต่ 5 ขวบ กระทั่งเข้าเรียนมหา’ลัย เริ่มเข้ากลุ่มเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ และมาเริ่มจริงจังในทางดนตรีมากที่สุดก็ตอนได้ไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในแอฟริกา ยูโกสลาเวีย และที่มิดเดิลอีสต์

เขาเล่าผ่านบันทึกของภรรยา (Ingrid Croce) ว่า “เรากินอาหารพื้นบ้าน นอนในป่า ร้องเพลงที่ไม่ใช่ภาษาที่พวกเขารู้จัก แต่พวกเขาเข้าใจ” 

หลังกลับมาจากค่ายนักศึกษาแลกเปลี่ยน จิมมุ่งมั่นสู่เส้นทางดนตรีราวกับค้นพบเสียงในใจตัวเอง และเขาก็พยายามขุดค้นลงไปตามหามัน 

พ่อเดาว่าเพลงที่เราได้ยินคือสิ่งที่จิมขุดค้นพบ

จิมเรียนจบด้านจิตวิทยาและภาษาเยอรมัน เขามักชอบสังเกตชีวิตผู้คนต่างๆ และหลงรักการใช้ชีวิตในชนบท นั่นเพราะเขาโตมาแบบนั้น

ครั้งหนึ่งที่ต้องไปเกณฑ์ทหารเพื่อฝึกเดนตายไปรบที่เวียดนามเขาเคยเล่าว่าถ้าเกิดต้องไปสงครามจริงๆ เขาคงต้องสู้กับศัตรูด้วยไม้ถูพื้น

จิมในวัย 20 พบรักกับอินกริดในวัย 16 พวกเขารักการเล่นดนตรี มีความฝันอยากเป็นนักร้องนักดนตรี เมื่อพวกเขาแต่งงานกัน จิมได้เปลี่ยนศาสนามาเป็นยิวเหมือนกับอิงกริด และย้ายออกจากบ้านพ่อบ้านแม่มายืนด้วยลำขาตัวเอง โดยรับจ้างเล่นดนตรีตามผับเล็กๆ เล่นเพลงหลายๆ แนวตามที่ผับนั้นๆ อยากได้ยิน 

แต่ชีวิตไม่ง่ายเลย เมื่อจิมได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในนิวยอร์กและออกอัลบั้มเพลงคู่ร่วมกัน Jim & Ingrid Croce แต่กลับขายไม่ได้ ค่ายเพลงที่สัญญากับเขาว่าจะโปรโมทและปันผลกำไรให้ก็กลับเงียบเฉยไปดื้อๆ 

การมีชีวิตในนิวยอร์กสำหรับจิมเป็นเรื่องยากยิ่ง เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการทำเพลงด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ รายจ่ายมีแต่แพงขึ้น หนักขึ้น เขาต้องขายกีตาร์ที่รักเพื่อแลกกับเงินเลี้ยงชีพ 

ใครหลายคนก็คงเคยรู้สึกถ้านักดนตรีต้องขายเครื่องดนตรีกินแก้หิว ก็เหมือนต้องยอมตัดแขนขาออก

เพลง The Man That Is Me ในอัลบั้มคู่ Jim & Ingrid Croce นั้นแม่ของลูกชอบนักหนา 

 

 

ฉันเป็นนักฝันมาตั้งแต่เกิด
ฉันพยายามที่จะฝันให้ไกลจากโลกที่ฉันอยู่
ในความฝัน ฉันหลบเรื่องราวทุกข์ใจได้ทุกอย่าง
และไม่ต้องจ่ายค่าความสุขใดๆ เลย

 

จนกระทั่งอินกริดตั้งครรภ์ จิมพยายามทุกอย่างที่จะหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งการเป็นครูสอนดนตรี ไปขับรถบรรทุกในเหมืองแร่ เป็นแรงงานก่อสร้าง ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านในฟาร์มเล็กๆในฟิลาเดลเฟียที่ค่าเช่าไม่แพงมาก และใกล้กับผับซึ่งเขาจะสามารถไปเล่นดนตรีได้สะดวก 

บ้านหลังเล็กในฟาร์มนี้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของศิลปินที่ตอนนั้นยังไม่โด่งดังเช่นจิมมี บัฟเฟตต์ต, เจมส์ เทเลอร์, บอนนีย์ เรตต์ พวกเขากินดื่มและเล่นดนตรีกันในนั้น

ที่บ้านหลังนี้ จิมนั่งลงเขียนเพลงที่โต๊ะกินข้าวจากประสบการณ์ทั้งหมดของเขาเคยพบมา เขาใช้เวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ในการเขียนเพลงดังอย่าง Operator, You don’t mess around with Jim, New York is not my home, Time in the bottle ซึ่งทั้งหมดอยู่ในอัลบั้มแรก

เพลง New York is not my home นั้นชัดเจนว่าจิมบาดเจ็บจากนิวยอร์คมาก่อนหน้านี้

 

https://www.youtube.com/watch?v=G95f4tLGuzc

 

ดิ้นรนมาหลายที่ แข่งขันมาหลายที
มองหน้าผู้คน นัยแววตาที่ว่างเปล่า
มีอะไรบางอย่างที่มันไม่ใช่
ฉันรู้ว่าฉันต้องไปจากที่นี่
มันว่างเปล่ามาก
คุณรู้ไหมว่าทำไมฉันต้องไป
เพราะว่ามันไม่ใช่บ้านของฉัน

 

หรือเช่นเพลงที่เขาแต่งให้ลูกชายที่ยังไม่ทันเกิด อย่าง Time in the bottle เป็นเพลงที่คนรุ่นพี่ป้าน้าอาร้องคลอตามได้แทบทุกคน เพลงนี้ของจิมอาจเป็นเพลงที่คนไทยรู้จักดีมากที่สุดด้วยซ้ำ 

พ่อพยายามคิดว่าอะไรดลใจให้จิมเขียนเนื้อได้ละเมียดละไมมากขนาดนี้ มันเป็นเพลงที่เห็นเลือดเนื้อของความรักความผูกพันธ์อย่างประณีตจริงจัง 

ไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรอยู่ในใจจิมจนเขาผ่าออกมาให้อยู่ในเพลงนี้ได้ แต่ไม่อยากคิดเลยว่าหลังเพลงนี่เผยแพร่ไปได้เพียง 2 ปีจิมก็ต้องจากไปก่อนวัยอันควร ราวกับศิลปินหลายคนที่เชื่อเรื่องขายวิญญาณให้ซาตานเพลงของเขาโด่งดังอย่างสูงสุดแต่ก็ต้องแลกกับอายุไขอันแสนสั้นของศิลปินเอง 

หลายคนถามพ่อว่าชื่อลูก ‘เวลา’ มาจากเพลงนี้ด้วยใช่ไหมพ่อก็พยักหน้ารับทุกที

 

 

ถ้าสามารถเก็บเวลาไว้ในขวดแก้วได้
สิ่งแรกที่ฉันจะทำ
จะเก็บวันเวลาทุกวันไว้
เพื่อที่จะใช้มันกับคุณ
เหมือนเวลาไม่เคยพอ
ที่จะได้ทำตาม ตามความคิด
ที่ผ่านมาฉันรู้แล้วว่าอยากจะอยู่กับคุณตลอดไป

 

จิมเป็นคนเข้าใจและผูกพันกับความเป็นคนบ้านๆ และความอดสูของชีวิตอย่างดี มันทำให้เขาแสดงออกมาอย่างสนุกสนาน อย่างในเพลง Workin’ At the Car Wash Blues จิมเล่าไว้ในหลายคอนเสิร์ตของเขาว่าเพลงนี้พูดถึงชายคนหนึ่งที่มีความสามารถ แต่สังคมได้ตัดสินเขาไปแล้ว ชายที่วาดฝันถึงโลกสวยงามมากมาย ในขณะที่มือกำลังล้างรถสกปรกอยู่นั่นเอง 

จิมได้แรงบันดาลใจการแต่งเพลงนี้มาจากช่วงที่เขาเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ เขาได้รับหน้าที่เป็นพลทหารเดินสายโทรศัพท์และตอนนั้นเขาคิดว่าเขาน่าจะได้ทำตำแหน่งอื่นที่ดีกว่า

 

 

คือผมเพิ่งออกจากคุกเทศบาล
ถูกขังไป 90 วัน ไร้ทนายช่วยเหลือ
พยายามหาตำแหน่งงานที่ดี
แต่ไม่ว่าผมจะพูดนิ่มยังไง
พวกเขาก็ไม่ฟังข้อดีของผม

พวกเขาบอกว่างานมันเต็มหมดแล้ว

ตอนนี้หดหู่สุดๆ กำลังจะเป็นบ้าตายในร้านล้างรถ

คือว่าผมควรจะได้นั่งห้องแอร์เย็นฉ่ำ
เก้าอี้หมุนแบบผู้บริหาร
หยอกเย้ากับเลขาฯ บ้าง
เช่น แม่คุณเอ๋ย มานี่มามะ (ทำเสียงเท่ห์)
แต่ดันต้องใช้ผ้าขัดถูบังโคลนรถ
กลับบ้านเลอะเทอะ เหนื่อยล้า

โคตรจะเศร้า หดหู่แท้ ในคาร์ วอช บลู

คุณคงรู้ว่าหากเป็นคนที่มีความสามารถอย่างผม
ควรจะได้สบายไปแล้ว
แต่ผมได้แต่รอ
รอตรงใต้แผ่นยางวางเท้าในรถ

 

หลังจากจิมได้รับการยอมรับในฐานะนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเพราะเพลงเขาขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ งานแสดงคอนเสิร์ตก็เริ่มเข้ามาดึงตัวเองออกจากครอบครัว หลายช่วงที่เขาหายหน้าจากลูกไปเป็นเดือน ส่วนอินกริดต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังที่บ้านในฟาร์ม 

เธอคิดว่าจิมกำลังไปตามทางของเขาโดยไม่สนใจครอบครัว จนทั้งคู่เริ่มอับจนทางความสัมพันธ์ เธอตัดสินใจบอกเลิกจิม และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้จิมเขียนเพลงนี้แก่เธอ ‘ll have to say I love you in a song เพื่อบอกความในใจของเขา เหมือนท่อนที่ว่า

 

https://www.youtube.com/watch?v=7yjT5-vfxoc

 

พอถึงเวลาที่ต้องพูดไป ก็พูดไม่ดี
ผมเลยต้องบอกรักคุณในเพลงนี้

 

เมื่อเวลาผ่านไป เขาและเธอประนีประนอมและหาทางประสานข้อบกพร่องทางความสัมพันธ์ใหม่ได้ ทั้งคู่คิดว่าควรจะเริ่มต้นใหม่และทำชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้นพวกเขาย้ายมาอยู่แคลิฟอร์เนียด้วยกัน 

ก่อนอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ลุยเซียนาไม่นาน จิมมองภาพตัวเองในรูปถ่ายแล้วเห็นตัวเองในสภาพที่ผมหนาเคราดกครึ้มราวกับผ่านชีวิตตรากตรำมานาน

เขาเขียนจดหมายสั้นๆ ถึงเพื่อนภรรยาและตัวเขาเองมีใจความว่า เขาเห็นตัวเองแล้วอยากจะเปลี่ยนแปลง เขาเบื่อธุรกิจดนตรี อยากออกจากการเป็นนักร้องแล้วไปเขียนเรื่องสั้น เขียนบทหนัง 

แต่จดหมายของจิมนี้ถึงมือภรรยาหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว

กวีบ้านนอกอายุ 30 ที่ทิ้งบทเพลงของเขาไว้ให้เราร้องคลอตามไปอีกนานเท่านาน.

 

————–
อ่านคอลัมน์ ‘เมื่อเวลามาถึง’ ตอนที่ผ่านมาต่อที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save