fbpx
เจอร์รี เคราส์ ชายผู้กลายเป็นตัวร้ายแห่ง The Last Dance

เจอร์รี เคราส์ ชายผู้กลายเป็นตัวร้ายแห่ง The Last Dance

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“นักกีฬากับโค้ชไม่ได้เป็นคนทำให้เราคว้าถ้วยแชมป์ได้หรอก การจัดการที่ดีต่างหากล่ะ!”

ในห้วงยามที่โลกกีฬาซบเซาเพราะไวรัส สารคดีที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูมากที่สุดหนีไม่พ้น The Last Dance สารคดีความยาวสิบตอนกำกับโดย เจสัน แฮร์ ที่จับจ้องไปยังช่วงเวลารุ่งโรจน์ของทีมบาสเก็ตบอล ชิคาโก้ บูลส์ ช่วงปี 1997 กับทีมที่ว่ากันว่าสมบูรณ์แบบและเกรียงไกรมากที่สุดอย่างไม่มีใครเทียบเคียงได้ ทั้งผู้เล่นแห่งศตวรรษ ไมเคิล จอร์แดน, ฟอร์เวิร์ดแสนครบเครื่องอย่าง สก็อตตี พิพเพน, ราชารีบาวด์จอมเกรียน เดนนิส ร็อดแมน และโดยเฉพาะกับกุนซืออัจฉริยะ ฟิล แจ็คสัน ที่พาให้บูลส์คว้าถ้วยรางวัลหกสมัยแบบไม่อาจต้าน

 

 

ท่ามกลางความรุ่งเรือง ตัวละครหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาอย่างลับๆ เสมือน ‘ด้านมืด’ ของความสำเร็จนี้อย่าง เจอร์รี เคราส์ ก็ถูกเอ่ยถึงในฐานะผู้จัดการทีมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพาบูลส์คว้าชัย และในขณะเดียวกัน นี่คือชายที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ทีมบูลส์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดแห่งยุคสมัยจำต้องสลายตัว เดินลงจากบัลลังก์ราชาและไม่อาจหวนคืนได้อีกจนวันนี้

เจอร์รี เคราส์ จึงเป็นชื่อที่หากเรารู้จักเขาผ่าน The Last Dance เราคงอดโกรธแค้นเขาไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเรารับรู้เรื่องราวผ่านปากของเหล่านักกีฬาและผู้คนที่เคยมีปากเสียงกับเขามาแล้วอย่างจอร์แดนและพิพเพน หรือแม้แต่โค้ชแจ็คสัน แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ชายร่างเล็กผู้เป็นหัวหอกสำคัญในการจัดการ ฟอร์มทีมบูลส์ขึ้นมาสมควรได้รับความกราดเกรี้ยวขนาดนี้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ใครจะพูดอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพราะเคราส์เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 เขาจึงไม่มีโอกาสได้ออกมาแก้ต่างทั้งในและนอกสังเวียนสารคดี

เคราส์เป็นชาวชิคาโก้แต่กำเนิด เขาหลงใหลในโลกกีฬาอย่างยิ่งหากแต่ร่างกายและสุขภาพไม่ค่อยเอื้อนัก ดังที่เราเห็นจากสารคดี เขาเป็นชายร่างเล็ก (มีบันทึกว่าเขาสูงห้าฟุตหกนิ้วหรือราวๆ 170 เซนติเมตร) และเคยเป็นนักกีฬาเบสบอลสมัยเรียนมัธยมปลาย ทุ่มเทกับการคว้าชัยจนทำกระดูกตัวเองหักเพราะเล่นกีฬากับเพื่อน กระทั่งเมื่อโตขึ้น เขาก็เบนสายมาสู่การเป็นแมวมองในแวดวงกีฬาด้วยการมองหาเหล่านักกีฬาวัยเรียนที่แววดีและท่าทางจะปั้นไปได้ไกล หนึ่งในนั้นคือ สก็อตตี พิพเพน เด็กหนุ่มจากอาร์คันซอที่ในเวลาต่อมา จะกลายเป็นคู่หูของ ‘เทพเจ้า’ อย่างจอร์แดน และเกิดข้อพิพาทรุนแรงจนกลายเป็นจุดแตกหัก

“อาชีพการเป็นแมวมองหานักกีฬามันเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยวมากนะ” เขาเคยให้สัมภาษณ์ “ตอนผมเข้ามาทำงานนี้แรกๆ แมวมองคนอื่นๆ ที่แก่กว่าเขาไม่ยอมมาคุยด้วยเลย เพราะเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเจ๋งพอแล้วพวกนั้นถึงจะยอมมาคุยด้วย”

กระทั่งเมื่อเด็กหนุ่มวัย 21 อย่าง ไมเคิล จอร์แดน เข้ามาร่วมทัพของบูลส์ครั้งแรกเมื่อปี 1984 และใช้เวลาไม่กี่ปีนับจากนั้นในการสร้างชื่อเป็นดาวรุ่งน่าจับตา และสร้างความหวังเป็นอย่างมากว่าจะเป็นคนแรกที่พาบูลส์ไปถึงถ้วยแชมป์เสียที เคราส์ไม่ลังเลที่จะหา ‘พระรอง’ เพื่อมาประกบเป็นลมใต้ปีกให้จอร์แดน และนั่นคือการจับจองตัวพิพเพนในการดราฟต์ปี 1987 พร้อมด้วยเงื่อนไขที่ชวนให้ใครต่อใครขมวดคิ้ว เพราะทีมที่เลือกพิพเพนคือ ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิกส์ ก่อนที่เคราส์จะจัดแจงทำเงื่อนไขเพื่อแลกตัวนักกีฬา (ในคืนวันดราฟต์เลย!) จนคว้าตัวพิพเพนมาร่วมทีมได้ ท่ามกลางสายตากังขาของทุกคน เพราะไม่มีสัญญาณแม้แต่อย่างเดียวที่เคราส์ประกาศว่าสนใจในตัวเด็กหนุ่มวัย 22 ท่าทางขี้อายคนนี้

“การทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมมันก็ต้องหาทางจัดการกับสื่อด้วย” เคราส์ว่า เขามีข้อครหาเรื่องวิวาทะกับสื่อบ่อยๆ “คนชอบถามว่า ‘คุณไม่อยากลองทำตัวดีๆ คุยกับสื่อดีๆ หน่อยเหรอ’ ก็อาจจะอยากทำอยู่หรอก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมจะทำได้ สมมติถ้าผมแย้มเรื่องอยากได้ตัวพิพเพนให้สื่อสักคนฟังแล้วเรื่องหลุดออกไป เราคงไม่ได้ตัวเขามา ฉะนั้น เราจึงทำแบบนั้นไม่ได้ จะต้องไม่มีใครสักคนในโลกนี้ที่เอะใจว่าเรากำลังเล็งพิพเพนอยู่ ไม่แม้แต่คนเดียว”

และนี่เองที่เป็นคำตอบว่า เหตุใดเคราส์จึงมักไม่สุงสิงกับผู้คน “ถ้าเราไม่ปิดปากเงียบเรื่องสก็อตตี พิพเพนละก็ ความสำเร็จต่างๆ มันไม่มีทางเกิดขึ้นมาหรอก” เขาอธิบาย “ความเดียวดายเพื่อจะเก็บความลับนี้ไว้มันจึงคุ้มค่าไงล่ะ”

“ผมโดดเดี่ยวเสมอแหละ” เคราส์บอก “ตลอดเส้นทางการทำงานนี้ ผมอยู่แต่กับตัวเองและไม่ค่อยมีเพื่อนมากนัก ผมมีงานที่ต้องทำ ไม่ได้สนใจว่าใครจะพูดถึงผมยังไง คนเรามันเอาแน่เอานอนไม่ได้ อย่างถ้าสมมติทีมเราชนะ ผมจะผอมลงมาทันทีเลยแหละ คนจะพุ่งเข้ามาบอกว่า ‘เจอร์รี นายดูดีนะ นี่น้ำหนักลดไปแล้วรึเปล่า’ แต่ลองถ้าเราแพ้สิ ผมจะกลายเป็น ‘ไอ้อ้วนสันขวาน’ ขึ้นมาทันที รู้อะไรไหม ผมหนักเท่าเดิมตลอดแหละ ตลอดหกปีมานี่ผมไม่เคยน้ำหนักขึ้นหรือลงไปกว่าหกปอนด์เลย

“มนุษย์เราเป็นเช่นนี้เอง และผมก็ไม่อาจเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองไปจากเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ นั่นคือการคว้าถ้วยชัย การคว้าแชมป์ในเมืองนี้มันย่อมมีความหมายสำหรับผมมากทีเดียว”

กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา หากวัดกันที่ความกระหายชัยชนะ ตัวเคราส์เองอาจไม่ได้ต่างไปจากจอร์แดนมากนัก เขาจึงทุ่มหมดทั้งหน้าตักเพียงเพื่อจะให้ชิคาโก้ บูลส์ ทีมบ้านเกิดของเขาคว้าชัย และเมื่อทำได้ เห็นวาระว่าต้องเปลี่ยนผ่านทีม เขาก็พร้อมทำเช่นนั้น นำมาซึ่งความขัดแย้งร้าวลึกระดับไม่อาจประสาน โดยเฉพาะการสร้างเงื่อนไขให้แจ็คสัน–กุนซือหลักของทีมอันเป็นที่รักและอยู่ด้วยกันกับสมาชิกคนอื่นๆ มาช้านาน–ต้องหมดวาระการเป็นโค้ชลง ตามมาด้วยการงัดกันกับพิพเพน พระรองที่วันหนึ่งโดดเด่นเสียจนสปอร์ตไลต์ฉายส่องกลายเป็นนักกีฬาแถวหน้า หากก็ยังต้องเผชิญกับสัญญาผู้เล่นแสนไม่เป็นธรรม (ในระดับที่แม้แต่นักกีฬาคนอื่นๆ ก็บอกว่า วัดตามฝีมือของพิพเพนแล้ว เขาควรจะได้มากกว่านี้หลายเท่าด้วยซ้ำไป) ซึ่งผู้จัดการอย่างเคราส์ควรต้องหาทางลงให้เรื่องนี้ให้ได้ แต่ก็ไม่เกิดผล จนพิพเพน (และเพื่อนรักอย่างจอร์แดน) หันไปกอดคอถล่มเด็กใหม่ที่เคราส์เลือกเข้ามาในทีมอย่าง โทนี คูโคช เละไม่เป็นท่า

นี่อาจเป็นเรื่องราวที่เราดูผ่าน The Last Dance ท่ามกลางข้อแก้ต่าง คำแก้ตัว ถ้อยแถลงชี้แจงจากนักกีฬาและผู้คนที่ร่วมหายใจอยู่ในช่วงรุ่งเรืองของชิคาโก้ บูลส์ เว้นเสียแต่ก็แต่ตัวเคราส์เองซึ่งจากไปด้วยปัญหาสุขภาพในวัย 77 ปี เมื่อปี 2017 พ้นไปจากฐานะผู้จัดการตัวเอ้เปี่ยมไหวพริบและไม่เป็นมิตร เขาคือคนที่จอร์แดน (และเพื่อนรัก พิพเพนอีกเช่นเคย) แซะแกมแซว (ในสมัยนี้น่าจะเรียกได้ว่า บูลลี่) เรื่องส่วนสูง เพราะเคราส์ร่างเล็กมาก ยิ่งกว่านั้น หากพูดกันแบบตรงไปตรงมา เป็นไปได้ว่านั่นอาจเป็นแผลที่ลึกที่สุดแผลหนึ่งของเคราส์ในฐานะคนที่อยากวาดลวดลายอยู่ในโลกกีฬา แต่ก็ทำไม่ได้เพราะติดปัญหาสุขภาพ และในฐานะเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาว่าฮอร์โมนไหนในร่างกายผิดปกติจนส่วนสูงไม่กระดิกหรือเปล่า และเติบโตมาเป็นคนที่จำต้องมองดูผู้เล่นร่างสูงสองเมตรถากถางว่าเขา ‘ตัวเล็กตัวน้อย’ ตลอดหลายปี

ทั้งนี้ The Last Dance ก็หาได้ปรักปรำเคราส์เพียงฝ่ายเดียว ทีมงานเองพยายามจะเล่าเรื่องราวในมุมของเคราส์ ซึ่งแม้จากไปแล้ว แต่เจสัน แฮร์ ผู้กำกับก็ยังติดต่อไปยัง เธลมา เคราส์ ภรรยาของ เจอร์รี เคราส์ ซึ่งปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ ทั้งหมดที่พอจะเป็นภาพแทนเพื่อบอกความคิดและความทรงจำของเคราส์จึงมีเพียงบทความไม่กี่ชิ้น และหนังสือไม่กี่เล่ม หนึ่งในนั้นคือ To Set the Record Straight–ว่าด้วยช่วงเวลาที่เขาเป็นผู้จัดการทีมบูลส์–ซึ่งไม่ได้รับการตีพิมพ์ แม้จนทุกวันนี้

“ที่ผ่านมา มีบทความมากมายที่นั่งเทียนเขียนถึงผม การเขียนจดหมายฉบับนี้จึงเป็นโอกาสที่ผมจะได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองและ–หากไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การกีฬาของอเมริกา–ก็เป็นทีมที่ยอดเยี่ยมหมดจดมาตลอดแปดปี และได้ทำสิ่งที่ไม่อาจมีใครเคยทำได้มาก่อน

“เรามี ไมเคิล จอร์แดน ผู้บรรลุเป้าหมายได้ทุกสิ่ง เขาเล่นโดยไม่ต้องมีเซ็นเตอร์หรือเพาเวอร์ ฟอร์เวิร์ด หรือเป็นเกมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดแต่เขาก็ยังชนะได้ด้วยตัวเองอยู่ดี และเรามี สก็อตตี พิพเพน ซึ่งในสองปีที่ผ่านมาเป็นผู้เล่นที่เก่งกาจเหลือเกิน เขาคือคนที่ร่วมคว้าชัยไปกับไมเคิลในฐานะผู้เล่นสมทบ และเรายังมีโค้ชที่ยอดเยี่ยมที่สุดอย่างฟิล แจ็คสันด้วย”

หากว่าเคราส์ยังอยู่ เราเชื่อว่า The Last Dance คงดุเดือดมากกว่านี้ และคงมีน้ำเสียงเล่าเรื่องที่แย้งมาจากฝั่งของเขาบ้าง นี่คือชายที่ลั่นวลี “นักกีฬากับโค้ชไม่ได้เป็นคนทำให้เราคว้าถ้วยแชมป์ได้หรอก การจัดการที่ดีต่างหากล่ะ!” ออกโทรทัศน์ภายหลังบูลส์คว้าแชมป์อันน่าชื่นใจมาครอง การกระทำของเขาถูกตั้งคำถามว่าเอาหน้า ทั้งจากสื่อ ทั้งจากคนดู และแม้แต่นักกีฬา แต่ถึงอย่างนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธความหลักแหลมของ เจอร์รี เคราส์ ชายผู้มีส่วนอย่างมากในการปั้นทีมชิคาโก้ บูลส์ ยุคที่ทรงพลังที่สุดของศตวรรษ และจะแปลกอะไรหากเขาจะเอ่ยอ้างถึงความชอบธรรมในชัยชนะนั้นด้วย ในวันที่เขายังทำได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save