fbpx
เจริโค นครที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ

เจริโค นครที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่อง

พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับโยชูวาว่า “ดูแน่ะ เราได้มอบเมืองเยรีโคไว้ในมือเจ้าแล้ว”

(โยชูวา 6:1)

เจริโคเป็นเมืองเก่าแก่ที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ของปาเลสไตน์กลางหุบเขาจอร์แดน ใกล้รอยต่อชายแดนประเทศจอร์แดนที่แม่น้ำจอร์แดน นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหนึ่งในชุมชนเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่ขุดพบได้ นับอายุย้อนหลังมากถึง 11,000 ปี โดยหลักฐานชุมชนแรกที่ค้นพบ มีอายุราว 9,000 ปีก่อนคริสตกาล

น้ำพุแห่งเอลีชา
น้ำพุแห่งเอลีชา

เจริโคมีสภาพเป็นที่ตั้งชุมชนอาศัย เนื่องจากมีแหล่งตาน้ำพุน้ำจืดผุดขึ้นจากพื้นดินหลายแหล่ง เหมาะแก่การตั้งรกราก ในคัมภีร์ยิวระบุชื่อของเจริโคไว้ว่า ‘เยรีโฮ’ (יְרִיחוֹ) ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งต้นปาล์ม เป็นที่อยู่ของชาวคานาอันดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยิวซึ่งอพยพร่อนเร่กลางทะเลทรายจะเข้ามายึดครอง ซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเล่มโยชูวา (Book of Joshua) ที่เทวทูตเป่าแตรให้กำแพงนครเจริโคถล่มลงและยึดครองรากฐานของดินแดนแห่งพันธสัญญาได้ในที่สุด รวมถึงเป็นสถานที่แห่งปาฏิหาริย์ที่ประกาศเอลีชาใช้รักษาโรคของเหล่าชาวยิว

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบซากสิ่งก่อสร้างหินที่ก่อเรียงกันสูงขึ้นอายุราว 9,000-10,000 ปี จึงสันนิษฐานในเบื้องแรกว่า คือกำแพงเมืองที่ปรากฏในพระคัมภีร์ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อขุดค้นและพิสูจน์หลักฐานเพิ่มเติม พบว่ากำแพงหินนั้นมีซากเปลือกเมล็ดข้าวปะปนอยู่จำนวนมาก จึงตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ว่าเป็นฉางข้าวและธัญพืช (granary) มากกว่าจะเป็นกำแพงเมืองตามตำนาน นอกจากนี้ การขุดค้นยังพบซากการเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือหิน หัวลูกศรหิน หินเหล็กไฟ

กำแพงแห่งเจริโค หรือฉางข้าวโบราณ
กำแพงแห่งเจริโค หรือฉางข้าวโบราณ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่กำแพงเมืองตามไบเบิล แต่การพบฉางข้าวที่เก่าแก่หมายถึงการก่อร่างของชุมชนเมืองในระดับที่เกิดการสะสมเสบียงธัญญาหารไว้ใช้ในระยะยาว และเป็นเมืองที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่อง

ในยุคสำริดราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล พบหลักฐานของสงคราม เช่น ซากกำแพง อาวุธโลหะ จึงคาดว่าการรุกรานของชาวยิวต่อชาวคานาอันดั้งเดิมในพระคัมภีร์เกิดขึ้นในสมัยนี้ โดยถิ่นฐานของเจริโคอยู่ในอิทธิพลของชาวนครรัฐไมแทนนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฮิตไตต์และอยู่ในรอยต่ออำนาจอิทธิพลของอียิปต์ การเอาชนะเจริโคและเข้าปกครองแคว้นคานาอันของชาวยิวในยุคของโยชูวา ได้ก่อร่างสภาพสังคมของเอเชียไมเนอร์ให้เข้าสู่ยุคปลายของยุคโบราณ (Late Antiquities) ก่อนจะเข้าสู่ยุคคริสตกาล

หลังจากนั้น เจริโคก็เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลยูดาห์หรือแคว้นยูเดียในปกครองของยิว และถูกจักรวรรดิใหญ่กลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่ง นับตั้งแต่เปอร์เซีย มาเซโดเนีย จนถึงโรมัน เว้นเพียงช่วงสั้นๆ ของกบฏมัคคาบีที่ชาวยิวตั้งกษัตริย์ปกครองตนเอง

ในยุคเฮรอด เจริโคยังเคยเป็นเมืองตากอากาศของคลีโอพัตรา เป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตำหนัก ราชวัง สถานบันเทิงอย่างเวทีละครและสนามแข่งม้า มีต้นผลไม้ดอกไม้เต็มไปทั่ว ซึ่งในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ได้ให้ภาพเจริโคเป็นเมืองที่รุ่งเรืองและเกิดเส้นทางการค้าจากเจริโคถึงเยรูซาเลมอย่างคึกคัก

ในพระคัมภีร์ พระเยซูคริสต์ทรงพำนักในเมืองเจริโคและทรงกระทำปาฏิหาริย์รักษาคนตาบอด (มัทธิว 20:29) และเทศนาให้คนเก็บภาษีนามซัคคาอุสกลับใจ (ลูกา 19:1-10) โดยในเมืองยังมีต้นซีคามอร์โบราณที่เชื่อกันว่าเป็นต้นไม้ที่ซัคคาอุสปีนขึ้นดูพระเยซูยืนต้นอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเทศนาชาวสะมาเรียผู้ใจบุญ (The good Samaritan) ซึ่งฉากของเรื่องอยู่ในเจริโคด้วย

ต้นซีคามอร์ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นเดียวกับที่ซัคคาอุสปีนในไบเบิล
ต้นซีคามอร์ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นเดียวกับที่ซัคคาอุสปีนในไบเบิล

เมื่อมองไปจากเนินเขาเทล เอส สุลต่าน (Tel-es-Sultan) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเก่าเจริโค จะมองไกลไปเห็นถึงภูเขาแห่งการผจญ (Mount of Temptation) ซึ่งโดยธรรมประเพณีคริสเตียนเชื่อกันว่าเป็นจุดที่ซาตานพยายามล่อลวงพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์

“อีกครั้งหนึ่งมารได้นำพระองค์ขึ้นไปบนภูเขาที่สูงมาก และได้แสดงบรรดาราชอาณาจักรในโลก ทั้งความรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ทอดพระเนตร แล้วได้ทูลพระองค์ว่า ‘ถ้าท่านจะก้มลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน’” พระเยซูจึงตรัสตอบว่า “จงไปให้พ้น เจ้าซาตาน เพราะพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า

‘จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่านและปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว’”

แล้วมารจึงไปจากพระองค์ และมีพวกทูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์

(มัทธิว 4:8-11)

ทำให้ปัจจุบันภูเขาแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแสวงบุญของชาวคริสต์ มีเคเบิลคาร์บริการนำขึ้นไปถึงสำนักสงฆ์ที่ตั้งขึ้นอยู่ริมผาในจุดที่เชื่อว่าพระเยซูถูกทดลองจากมารปีศาจนั้นด้วย

ภูเขาแห่งการผจญ (Mount of Temptation)
ภูเขาแห่งการผจญ (Mount of Temptation)

ภายหลังกบฏยิวต่อจักรวรรดิโรมันในยุคจักรพรรดิเวสปาเชียน ใน ค.ศ.70 เมืองเจริโคแม้จะไม่ถูกทำลายแต่ก็อ่อนแอลงเนื่องจากขาดประชากรและการค้าที่เสื่อมถอย จนกระทั่งเข้าสู่ยุคไบแซนไทน์ที่มีผู้แสวงบุญกลับมาเยือนจนรุ่งเรืองอีกครั้ง สืบทอดมาในสมัยอิสลามและครูเสด เจริโคมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สวนส้มและสวนกล้วยที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชากรในพื้นที่จนถึงสมัยออตโตมันในนามเมือง  ‘อาริฮา’ (أريحا‎)

เมื่ออังกฤษเข้ามาขยายอิทธิพลอำนาจในตะวันออกกลางปลายศตวรรษที่ 19 นักโบราณคดีเข้ามาขุดค้นเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเริ่มงานขุดสำรวจบนเนินเขาที่เรียกว่า Tell es Sultan ซึ่งเป็นเนินเขาที่คนพื้นเมืองถือว่าศักดิ์สิทธิ์และมีเมืองโบราณอยู่ข้างใต้ จนค้นพบซากเมืองซ้อนทับกันถึง 11 รุ่น และศาสนิกจากคริสตศาสนานิกายต่างๆ ได้เข้ามาตั้งโบสถ์ตามสถานที่ที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ตามพระคัมภีร์ด้วยคำอนุญาตของออตโตมัน

การขุดค้นทางโบราณคดีของอังกฤษนี้ ได้ทำให้การศึกษาค้นคว้าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางศาสนศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยว่าทำให้คนยุคใหม่เข้าใจชีวิตของคนยุคโบราณตามพระคัมภีร์มากกว่าที่จะจินตนาการขึ้นเองแบบในยุคกลาง และก่อให้เกิดกระแสการฟื้นฟูศรัทธาแบบสมัยใหม่ที่ปรับปรุงเนื้อหาคำสอนให้สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีมากขึ้น

หลังสงครามโลก เจริโคเคยอยู่ในปกครองของจอร์แดน และมีการสร้างพระราชวังของกษัตริย์จอร์แดนขึ้นในเมือง แต่หลังเกิดสงครามหกวันในปี 1967 อิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่เวสต์แบงค์ จอร์แดนสละดินแดนเจริโคไป และมอบให้องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLA: Palestinian Liberation Authority) ซึ่งต่อมาคือองค์การปกครองปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เป็นผู้ดูแล ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันวิชาการและยูเนสโก ปกป้องและขุดค้นแหล่งสำรวจเจริโคนี้จนถึงปัจจุบัน

เจริโคจึงเป็นเมืองสำคัญของปาเลสไตน์ที่สร้างรายได้จากทั้งการเกษตร (ไร่กล้วย อ้อยและอินทผาลัม) อุตสาหกรรม (น้ำตาล) และการท่องเที่ยว สามารถมาเที่ยวได้ง่ายและค่อนข้างปลอดภัย ทั้งจากฝั่งชายแดนจอร์แดนและเยรูซาเลม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทางการปาเลสไตน์ขาดงบประมาณจ้างทหารมาตั้งด่าน ทำให้ไม่มีด่านตรวจมากนัก ถ้ามาจากด่านจอร์แดนตอนเช้า สามารถจ้างรถแท็กซี่หรือเหมารถพาแวะเที่ยวที่เจริโคในครึ่งวันได้ก่อนเข้าเยรูซาเลมหรือแวะเที่ยวตามทาง ส่วนถ้าออกมาจากเยรูซาเลม มีทัวร์ท้องถิ่นนำชมทุกวันเว้นวันศุกร์และเสาร์ (วันหยุดมุสลิม/ยิว) หรือถ้าจะเช่ารถออกจากเยรูซาเลมก็ยังสามารถขับไปได้ไม่ยาก แต่ควรตรวจสอบสถานการณ์ในท้องที่ก่อนเดินทางทุกครั้ง

การศึกษาขุดค้นและเที่ยวชมโบราณสถานที่เก่าแก่กว่าเรายาวนาน จึงมิได้เพียงแต่ทำให้เรารู้เรื่องราวของคนในอดีตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงชีวิตในปัจจุบันว่าเราเติบโตและก้าวหน้ามามากเท่าไรแล้วจากในอดีต เพื่อปรับปรุงตัวเราต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save