fbpx
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา: สู้เพื่อวันที่สังคมรับฟัง 'ความฝัน' ของประชาชน

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา: สู้เพื่อวันที่สังคมรับฟัง ‘ความฝัน’ ของประชาชน

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

หลังการรัฐประหาร 2557 ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และกลุ่มดาวดิน ขยายประเด็นจากการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน มาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหาร และเคยชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่ขอนแก่น

จากนั้นจตุภัทร์ต้องโทษจำคุกตามความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความบีบีซีไทยทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้แชร์บทความเดียวกันหลายพันราย

หลังได้รับอิสรภาพ เขากลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง บนหลักการที่เขาเชื่อ ต่างไปที่วันนี้มีผู้คนมหาศาลออกมาลงถนน ชูสามนิ้วเคียงข้างเขาเพื่อต่อต้านรัฐบาล ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาค และการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางการนำของนิสิตนักศึกษาและนักเรียนที่หวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในคนรุ่นนี้

เป็นอีกครั้งที่จตุภัทร์ได้รับหมายเรียกจากการปราศรัยบนเวทีเยาวชนปลดแอก พร้อมกันกับที่ผู้ปราศรัยหลายรายถูกจับกุมดำเนินคดี แม้ว่าหนึ่งในสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน แต่กฎหมายก็ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ

จาก 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  ของม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน และ 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ 1 ความฝัน ของคณะประชาชนปลดแอก สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ในสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมต้องระมัดระวังก้าวต่อๆ ไปของการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับที่จตุภัทร์เห็นว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทั่วประเทศต้องมารวมตัวกันเรียกร้อง ทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น เพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

ดังที่พวกเขาประกาศว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา”

มองปรากฏการณ์การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร ในกระแสที่คนในสังคมจำนวนมากออกมาสนับสนุนการชุมนุม กระทั่งคนที่เคยสนับสนุน กปปส. มาก่อน

ตอนรัฐประหาร 2557 คนส่วนหนึ่งคาดหวังว่าประยุทธ์จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่พอผ่านไปหลายปีกลับแย่ลง ทำให้คนที่ยังเปิดใจรับฟังและรับรู้ความเป็นจริงพบว่าประยุทธ์ก็ไม่ได้ดี

หลักการของขบวนการเสื้อแดงที่ต่อสู้อยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยไม่ว่าจะกี่สิบปีคนก็ยังจดจำและเชิดชู ขบวนการนักเรียนนักศึกษาก็ยังยกย่องและขอโทษที่เคยเข้าใจผิด ขณะเดียวกันคนที่เคยเป็น กปปส. กลับรู้สึกอาย เพราะมันขัดกับหลักการ พอผ่านการตรวจสอบจากสังคม อย่างน้อยเป็นการยืนยันว่าขบวนการที่ยืนยันในหลักการประชาธิปไตยจะอยู่ได้ยาว เพราะหลักคิดถูกต้อง แต่ม็อบที่ไม่ทำตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เมื่อเวลาผ่านไปประวัติศาสตร์ก็จะจดจำอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่น่าภูมิใจ ไม่น่ายกย่อง กลายเป็นตราบาป นี่คือปรากฏการณ์ที่ผมเห็น

หลายคนที่เคยเป็น กปปส. เขาคาดหวังความยุติธรรมและความถูกต้อง แต่ไปหลงเชื่อ กปปส. กลุ่มคนเหล่านี้ก็กลับใจ เพราะเขามีอุดมการณ์ เขาอยากเห็นประเทศดี ส่วนกลุ่มคนที่ยังยืนยันความคิดเดิมอยู่ก็ยังมี แต่น้อยลง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเรียนนักศึกษามีบทบาทนำด้วยหรือเปล่า ทำให้คนกลุ่มอื่นสะดวกใจที่จะเข้าร่วม

มันเป็นอารมณ์ร่วมกันของสังคม ไม่ว่ากลุ่มไหนจัดคนก็จะออกมา เพราะคนทนไม่ไหวแล้วกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เช่น กรณีบอส – วรยุทธ อยู่วิทยา ตำรวจออกหมายเรียก 8 ครั้ง ขณะเดียวกันกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมแป๊บเดียวก็โดนหมายจับ-หมายเรียก ในสังคมมีแต่เรื่องราวแบบนี้ ทำให้คนทนไม่ไหวแล้วต้องออกมา

อีกส่วนหนึ่งคือการต่อต้านหรือการเคลื่อนไหวช่วงก่อนนี้ อารมณ์บรรยากาศมันน่ากลัวกว่านี้ ทำให้คนไม่กล้าออกมา วันนี้พอเพดานเสรีภาพมากขึ้น ทำให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น พื้นที่เปิดมากขึ้น เพราะบรรยากาศตอนประยุทธ์ 1 กับประยุทธ์ 2 ต่างกัน

ในฐานะนักกิจกรรมรุ่นพี่ ประเมินการเคลื่อนไหวของม็อบนักศึกษาตอนนี้อย่างไร อะไรคือจุดแข็ง และอะไรน่าจะพัฒนาได้อีก

ผมมองม็อบตอนนี้เป็นความสวยงาม มันเกิดขึ้นจากความไม่พอใจต่อรัฐ ต่อระบบการปกครอง ต่อวิธีคิดทางการเมือง นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพ ในหลายพื้นที่มีการนัดจัดแฟลชม็อบไล่ประยุทธ์ เป็นการปลดปล่อยความโกรธของคนในสังคมที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐ

บรรยากาศที่เกิดขึ้นสวยงามมากในทุกพื้นที่ เราเห็นปัญหาของสังคมร่วมกันแล้วออกมา การชุมนุมแต่ละที่นำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ (จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก) ไปเรียกร้อง ไม่ว่านักศึกษาหรือนักเรียนที่ไหนก็รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เพราะโครงสร้างทางการเมืองส่งผลไปถึงทุกคน

ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ เพราะที่ผ่านมาปัญหาของสังคมไทยคือคนในสังคมไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เข้าใจว่าเราควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่เข้าใจว่าเรามีสิทธิ เด็กที่ออกมาวันนี้เขายืนยันสิทธิของเขา แม้แต่เด็กมัธยม มันเป็นเรื่องที่สวยงาม

เมื่อแต่ละกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแล้วเห็นหน้าเห็นตากัน สิ่งต่อไปที่จะทำให้มีพลังมากขึ้นคือการมารวมกัน เพื่อเกิดการพูดคุยกัน มีการออกแบบร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันเรื่องข้อเสนอว่าอยากให้สังคมเป็นแบบไหน ทำอย่างไรให้ขบวนการนักศึกษาที่ตอนนี้ที่เป็นกลุ่มก้อนต่างๆ มากมายทั่วประเทศมารวมตัวกันและขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อจะได้มีพลังมากขึ้น เสียงจะดังขึ้น นี่เป็นโจทย์สำคัญ เพราะหากการต่อต้านเกิดขึ้นกระจายในแต่ละที่จะสู้ไม่ได้ เราทำม็อบที่ขอนแก่นหรือเชียงใหม่ให้ตายยังไงก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะอำนาจถูกรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ จึงต้องมาต่อรองอำนาจกันที่กรุงเทพฯ เชื่อว่าในปลายทางสุดท้าย ทุกขบวนการจะต้องมารวมกันที่กรุงเทพฯ

ถ้าการจัดม็อบวันนี้ยังไม่ได้ตามข้อเสนอก็ต้องทำให้มากกว่านี้ ลงแรงมากกว่านี้ เหนื่อยมากกว่านี้ คุยกันมากกว่านี้ ต้องมีคนมากกว่านี้ ที่ทำอยู่นั้นดีแล้ว แต่ไม่พอสำหรับจะให้รัฐมายอมรับข้อเสนอ การจะต่อรองอำนาจให้รัฐฟังเรา ต้องยกระดับมากขึ้น วันนี้คนอาจมาชุมนุมเป็นหมื่น รัฐยังไม่ฟังก็ต้องจัดบ่อยกว่านี้ เพราะรัฐไม่เคยฟังเราเลย

กระบวนการที่รัฐออกแบบมาเพื่อรับฟังนั้นไม่ใช่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจริงๆ ไม่มีทางที่เขาจะยอมง่ายๆ จึงต้องกดดันมากขึ้น ถ้าหวังถึงการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วต้องมารวมกัน เพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง

มีข้อวิจารณ์ว่าม็อบเต็มไปด้วยความโกรธ ยังเคลื่อนไหวอย่างไม่มียุทธศาสตร์ หรือการสื่อสารบางอย่างที่อาจยังไม่เชื้อเชิญคนที่อยู่กลางๆ ให้เข้าร่วม

มันเพิ่งเกิดขึ้นมาจากกลุ่มย่อยๆ ไม่ได้เป็นขบวนการตั้งแต่แรก หกปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดชุมนุมแบบนี้เลย นี่เป็นปีแรกที่มีการชุมนุมแล้วมีคนออกมาเยอะมาก ตอนนี้ในอีสานก็พยายามคุยกันเรื่องเครือข่าย พื้นที่อื่นก็พยายามคุยกัน เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เห็นหน้าเห็นตากันว่าใครจะออกมาทำอะไรบ้าง พอวันนี้เห็นว่ามีเพื่อนในจังหวัดนี้ มีเพื่อนที่มหา’ลัยนี้เคลื่อนไหวกัน ก็เห็นช่องทางคุยกัน ขบวนการเกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติจากความไม่พอใจต่อความอยุติธรรม ต่อไปก็จะเกิดการรวมตัวกัน ไม่อย่างนั้นจะทำให้ข้อเรียกร้องเกิดขึ้นไม่ได้

นี่เป็นการเคลื่อนไหวแบบใหม่ มีคนแบบใหม่ กิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนเรื่องข้อเสนอก็เป็นการเรียนรู้ของเขา ความกล้าของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางกลุ่มรวมกันแล้วมีคนกล้ามากก็อาจมีคนดันเพดานสูงหน่อย บางกลุ่มก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมา การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้พวกเขากำลังต่อสู้และเรียนรู้อยู่ ต้องให้โอกาสและเวลาที่ขบวนการจะเติบโต มันอาจผิดบ้าง ถูกบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่น้องๆ ก็พยายามทำให้เข้าถึงทุกคน บนเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ

เป็นเรื่องดีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าอะไรดีหรือไม่ดี ทำให้ต้องมีการออกแบบร่วมกัน เพราะขบวนการเป็นของทุกคน ถ้าเรามีความเห็นที่ดีก็เสนอไป เชื่อว่าน้องๆ เขารับฟัง ทำยังไงให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ดีขึ้น

มองข้อเสนอของม็อบอย่างไร โดยเฉพาะข้อเสนอ 10 ข้อของม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน สังคมไทยเวลานี้พร้อมพูดคุยเรื่องนี้ไหม

ผมสนับสนุน สังคมพร้อมหรือไม่ ไม่รู้ แต่พูดออกมาก็ดีกว่าไม่พูดเลย เราไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะพูดออกมา จึงจะรู้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อม เราจะรู้ว่าเราทำได้หรือไม่ ต่อเมื่อเราลองทำดู ถ้าเราบอกว่าสังคมไม่พร้อมโดยที่เราไม่พูด มันก็ไม่มีทางพร้อม แต่เมื่อเราพูดออกมาแล้วก็เป็นเรื่องของสังคมว่าจะพร้อมไหม ซึ่งผมคิดว่าสังคมวันนี้ก็มีคนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องสิบข้อ และมีคนที่ไม่พร้อม เราก็เข้าใจได้

บางคนบอกว่าต้องเรียกร้องเป็นขั้นเป็นตอน เช่น เรียกร้องเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก่อน ค่อยเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องอื่นๆ

เราต้องกล้าพูดก่อนว่าปัญหาของสังคมไทยคืออะไร ไม่ว่าจะแก้ปัญหาตามข้อเสนอ 10 ข้อหรือเริ่มจากการแก้ตามข้อเสนอ 3 ข้อก่อน แต่มันคือเป้าหมายเดียวกัน การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะเหล่านี้คือปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะสะดวกใจหรือจะถนัดกับการแก้อันไหน ผมคิดว่าทำได้ทั้งสอง ไม่จำเป็นต้องเลือกทำอย่างเดียว ใครพร้อมที่จะเริ่มจากข้อเสนอสามข้อก่อนก็เป็นพื้นฐานที่เราจะเริ่มต้น แต่ข้อเสนอสิบข้อก็เป็นการแก้จากโครงสร้าง ข้อเสนอทั้งสองแบบล้วนเป็นการพูดถึงปัญหาของสังคมไทยทั้งนั้น

มองปฏิกิริยาฝ่ายรัฐบาลอย่างไร บางคนเริ่มพูดว่าสามารถยอมรับข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญได้ หรือกระทั่งการพูดเรื่องเลือกตั้งส.ส.ร. คิดว่าเป็นไปได้ไหม

คิดว่าเขาก็กลัว เพราะตั้งแต่ยึดอำนาจมา ไม่มีครั้งไหนที่เขาจะรู้สึกสั่นคลอนขนาดนี้ ที่ผ่านมาเขารู้สึกมั่นคงมาตลอด เขาอาจต้องยอมบ้างเพื่อประคองให้ตัวเองอยู่ต่อไป ถ้าเราพูดน้อยเขาไม่ฟังเรา วันนี้คนออกมาพูดเยอะรัฐก็ฟังบ้าง แต่ไม่ฟังทั้งหมด เขาพยายามทำเพื่อให้ประคับประคองต่อไปได้

แต่ก่อนที่กระแสการต่อต้านยังไม่มากขนาดนี้ รัฐก็ไม่ฟังไม่สนใจ ตอนนี้กระแสความไม่พอใจและการต่อต้านมีมากจนทำให้รัฐต้องชะงัก เขาต้องทบทวนแล้วว่าต้องยอมอะไรบางอย่าง เชื่อว่าต่อจากนี้ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาของขบวนการจะแหลมคมขึ้น เช่น ถ้ายุบสภาจะเป็นยังไง หรือจะกดดันจนรัฐบาลลาออกไหม ขบวนการจะเติบโตขึ้นและใหญ่ขึ้น ต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องข้อเสนอที่เป็นไปได้

มองท่าทีพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างไร คิดว่าอะไรที่พรรคฝ่ายค้านจะทำได้ในช่วงเวลาแบบนี้

ผมเห็นสิ่งที่ฝ่ายค้านทำในวันนี้คือการสนับสนุนประชาชน พูดได้เต็มปากว่าพรรคฝ่ายค้านยังอยู่เคียงข้างประชาชน เวลาประชาชนโดนจับก็มาช่วยประกันตัว มายืนยันในหลักการ

ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของพรรคการเมืองแล้ว ดาราก็ออกมาด้วย เพราะเป็นเรื่องหลักการพื้นฐานที่เราควรยืนยัน ส.ส.หรือพรรคฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่นี้ได้ดีในการยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราต้องออกมาช่วยกัน อย่าปล่อยให้ขบวนการนักเรียนนักศึกษาโดดเดี่ยว แต่ละคนก็ควรทำหน้าที่ของตัวเอง ผู้แทนราษฎรก็ทำหน้าที่ไป สื่อก็ทำหน้าที่ไป แต่ตอนนี้หน้าที่ของพลเมืองกำลังเข้มข้น นักเรียนก็ไม่ได้เรียนอย่างเดียวแต่ทำหน้าที่พลเมืองด้วย พรรคการเมืองต่างๆ ก็ควรสนับสนุน เพราะนี่คือประชาชน

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มดาวดิน ข้อเรียกร้อง ม็อบ ชุมนุม ประชาธิปไตย

หากต้องพูดคุยกับสังคมและมวลชนฝ่ายขวา จะให้เขาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรเพื่อไม่นำไปสู่ความรุนแรง

เราบังคับให้ใครมาเชื่อหรือรักเหมือนเราไม่ได้ พวกคุณจะเป็นฝ่ายขวาจะรักในสิ่งใดเราก็ไม่ห้ามอะไร เป็นสิทธิของคุณ ขอแค่เคารพหลักการสิทธิขั้นพื้นฐาน เชื่อในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เราน่าจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายได้ เราไม่ได้จะเปลี่ยนให้เขาเป็นเหมือนเราและเราจะไม่เป็นเหมือนเขา เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีเหตุผลได้ยังไง

เวลาคุณปกป้องสถาบัน คำถามคือคุณปกป้องอะไร มันเห็นถึงคุณค่าในการต่อสู้ ฝ่ายประชาธิปไตยเขาปกป้องเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยืนยันเรื่องความเท่าเทียมกันของคน ยืนยันเรื่องความเสมอภาค ยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพ ยืนยันในการทำให้เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แม้จะเกิดเป็นความขัดแย้งทางความคิด แต่ถ้าเรายึดหลักสิทธิมนุษยชน เคารพในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ความขัดแย้งก็จะไม่นำไปสู่ความสูญเสีย เราสามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร แต่ถ้าเอาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกต่างทางความคิดเห็นไปเป็นเหตุในการใช้กำลังอย่างที่ผ่านมา มันไม่ใช่วิถีทางที่ดี

ถ้าคุณจะรักจะเชื่อในแบบของคุณก็เชื่อไป แต่คุณอย่ามาทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา คุณเป็นคุณ เราเป็นเรา เพียงแต่ว่าคุณกับเราไม่ฆ่ากัน ไม่ตีกัน ไม่เอาความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเหตุผลที่จะโกรธเกลียดถึงขั้นทำร้ายกันหรือคิดที่จะฆ่ากันได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ดี

ตอนนี้มีการไล่จับกุมผู้ปราศรัยในม็อบมากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าจะนำไปสู่อะไร จะทำให้สถานการณ์แย่ลงหรือจะยิ่งเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ประท้วง

สถานการณ์แย่ลงในฝั่งเขา เขาใช้วิธีการเดิมแต่คนไม่กลัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว เขาใช้คดี SLAPP (การฟ้องคดีปิดปาก) เขาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่สร้างความชอบธรรมที่สุดแล้ว เอากฎหมายมาบอกว่าคนนั้นคนนี้ผิดแล้วจับเขาขัง ทั้งที่มันเกิดจากความแตกต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดและที่ผ่านมาเขาทำสำเร็จ แต่วันนี้คนไม่ได้กลัวอีกแล้ว สิ่งที่เขาทำได้ดีมาตลอดมันทำไม่สำเร็จแล้ว การจับของเขายิ่งทำให้เห็นว่าขณะที่ประชาชนมีข้อเสนอให้หยุดคุกคาม คุณก็ยิ่งคุกคามประชาชนด้วยการจับขัง แทนที่คนจะกลัวกลับทำให้คนโกรธแล้วยิ่งออกมา เหมือนคุณเชื้อเชิญคนออกมาด้วยวิธีการของคุณ

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มดาวดิน ข้อเรียกร้อง ม็อบ ชุมนุม ประชาธิปไตย

คุณเองก็โดนหมายเรียกจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก การถูกจัดการด้วยกฎหมายสร้างความหวาดหวั่นในการออกมาเคลื่อนไหวไหม

ไม่ครับ มันน่ารำคาญ เสียเวลา หลักการของคดี SLAPP คือไม่ใช่การฟ้องเพื่อความยุติธรรม แต่เป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายการเมืองที่เห็นต่างเพื่อให้เขาเสียเวลา ผมคิดว่าเขาประเมินกระแสตลอดว่าจะเอาเข้าคุกหรือเปล่า กระบวนการยุติธรรมแบบนี้มันไม่ถูกต้อง อย่างที่บอกว่ามันแตกต่างกันมากเกิน บอส อยู่วิทยา ออกหมายเรียก 8 ครั้งแล้วไม่มา หาตัวไม่ได้ตั้งกี่ปีแล้ว ขณะที่ผู้ชุมนุมยังผ่านมาไม่ถึงเดือนก็ออกหมายจับ เห็นความแตกต่างอย่างมาก

ในฐานะคนที่เคยถูกคุมขังคดี 112 ทำให้กังวลเรื่องการออกมาต่อสู้รอบนี้ไหม

ผมไม่กลัวและผมควรจะพูดถึงสิ่งที่ผมโดนด้วยซ้ำ กลายเป็นผมเองที่ไม่กล้าพูดความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น การที่ผมโดน 112 มันเป็นปัญหาจริงๆ มันเป็นความอยุติธรรมที่ฝังใจแต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ พอสังคมเริ่มพูดถึงปัญหาที่แท้จริง ผมคิดว่าเราก็ควรพูดถึง ไม่ควรมีใครโดนกฎหมายแบบนี้ ไม่ควรมีใครโดนทำแบบนี้อีกแล้ว

คิดอย่างไรที่ตัวเองเข้าคุกเพียงเพราะแชร์ข่าว แต่ในวันนี้สังคมมีการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ไหม

สังคมเปลี่ยน เหมือนว่าภูมิคุ้มกันในทางเหตุผลมีมากขึ้น หลังจากผมออกมา มีเคสหนึ่งที่คล้ายกันคือ ‘นิรนาม_’ และอีกหลายคนที่เกือบจะโดนแต่ไม่โดน หลายคนรับไม่ได้กับเรื่องแบบนี้อีกต่อไปแล้ว แม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะไม่ยุติธรรม แต่ว่ากระบวนการทางสังคมพร้อมตรวจสอบและทำให้เขาไม่กล้าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในเรื่องนี้อีก ซึ่งขึ้นอยู่กับสังคมด้วย ถ้าสังคมนิ่งเฉยแล้วปล่อยไป เขาก็สามารถใช้ 112 หรือใช้วิธีการแบบนี้กับใครก็ได้ แต่วันนี้สังคมไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมอีกแล้ว ถ้าคุณจะใช้เครื่องมือแบบนี้ ไม่มีใครยอมแน่นอน ถึงแม้ว่าอำนาจที่รัฐใช้จะมีความชอบธรรมผ่านศาล แต่เขาไม่กล้าใช้ เพราะมันเป็นเรื่องของเหตุผล ซึ่งคนในสังคมตัดสินได้ว่าอันไหนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ถ้าเขาจะใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมืออีก ผมคิดว่าความยุติธรรมทางสังคมไม่ยอมแน่นอน

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มดาวดิน ข้อเรียกร้อง ม็อบ ชุมนุม ประชาธิปไตย

ในฐานะกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองหลังรัฐประหารตั้งแต่ที่ยังมีคนออกมาไม่มากนัก วันนี้เมื่อเห็นม็อบนักเรียนและการชูสามนิ้วหน้าเสาธงทั่วประเทศแล้วรู้สึกอย่างไร

ดีใจ มันเป็นภาพที่เราอยากเห็น เป็นภาพที่เราฝันมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเราคิดว่าทำไมคนไม่ออกมาสักที ทำไมคนอดทนได้ แต่วันนี้ยืนยันว่าสิ่งที่เราเคยทนไม่ได้ คนอื่นก็ทนไม่ได้เช่นกัน เพียงแต่การพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอาจไม่ทันใจ มันเป็นเรื่องที่ดี เราสู้มา 6 ปีเพิ่งมาเห็นก็ดีกว่าไม่ได้เห็นเลย

ช่วงเวลาไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ สังคมอาจรู้สึกหมดหวังว่าเราคงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอันแข็งแรงที่กดทับสังคมไทยไม่ได้ แต่พลังของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ทำให้คุณมองเห็นความหวังในอนาคตอย่างไร

เวลาจะมองว่าประเทศพัฒนาหรือไม่พัฒนาต้องดูจากคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่นิ่งเฉยทางการเมือง ไม่สนใจการเมือง ทำให้เราหดหู่ว่าวัยรุ่นไม่สนใจการเมืองแล้วประเทศจะเป็นยังไง แต่วันนี้คนรุ่นใหม่และนักเรียนออกมาทั่วประเทศ สนใจการเมือง ยืนยันเรื่องสิทธิมนุษยชน…โอ้โห มันมีความหวังว่าเขาจะโตไปแล้วหลักการเหล่านี้ไม่หายไปแน่นอน

ในยุคที่เราเป็นนักศึกษา นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่นิ่งเฉย ไม่สนใจการเมืองและสังคมเลย แต่ยุคนี้สังคมเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน นักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง สนใจความถูกต้องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน มันเป็นคุณค่าที่มีความหมายต่อความเป็นมนุษย์มาก มันเป็นค่านิยมใหม่

ตอนนี้เรื่องความยุติธรรมและสิทธิต่างๆ กำลังเป็นกระแส ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราต้องยืนยัน ที่ผ่านมาการต่อสู้เรื่องนี้มีการยืนยันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ประชาชนคนรุ่นใหม่ยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด และครั้งนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นการยืนยันถึงความจำเป็นของมนุษย์ที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะกี่ปีที่ประเทศเราวนลูปอยู่แบบนี้ แต่ยังมีคนออกมายืนยันเรื่องนี้

เราไม่รู้หรอกว่ามันจะจบที่รุ่นเราจริงๆ ไหม แต่ถ้าเราไม่ทำ เราจะยิ่งไม่รู้เลยว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม วันนี้เราลงมือทำ จะเปลี่ยนได้หรือไม่ จะจบที่รุ่นเราหรือไม่ แต่รุ่นนี้มีการทำขึ้นมาแล้ว

ถ้าทำเรายังรู้ว่ามีโอกาสชนะ แต่ถ้าเราไม่ทำ เราไม่รู้เลยว่าจะชนะไหม ผมก็ยังคาดหวังว่ามันน่าจะจบที่รุ่นเราเสียที


หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save