จรัญ โฆษณานันท์ และนิติปรัชญาไทยนิพนธ์

เมื่อกล่าวถึงบุคคลที่มีส่วนในวางรากฐานความรู้ด้านนิติปรัชญาในสังคมไทย ชื่อของปรีดี เกษมทรัพย์ จะเป็นรายชื่อแรกๆ ที่มักถูกคำนึงถึงในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันและเป็นผู้สอนในวิชาดังกล่าวที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในคราวปรับปรุงหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมทั้งได้กลายเป็นแนวทางการศึกษาที่ได้รับสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง

แต่บุคคลอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อการขยายพรมแดนความรู้ด้านนิติปรัชญาในสังคมไทยก็คือ จรัญ โฆษณานันท์ ซึ่งได้ตีพิมพ์ตำรานิติปรัชญาที่คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง รวมทั้งมีตำรา หนังสือ และงานวิจัยอีกหลายเล่ม งานของจรัญ มิใช่เป็นเพียงแค่ ‘กระดาษเปื้อนหมึก’ หรือ ‘ตำราบังคับขาย’ แก่นักศึกษาที่ลงเรียนที่รามคำแหงเท่านั้น หากยังเป็นงานที่นักศึกษาในสถาบันอื่นๆ หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจต่างต้องขวนขวายหามาอ่านเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ด้านนิติปรัชญา

อาจกล่าวได้ว่า ทั้งตำราของปรีดีและจรัญเป็นงานเขียนที่ผู้สนใจทางด้านนิติปรัชญาไม่อาจมองข้ามได้ จนกระทั่งทศวรรษ 2550 จึงปรากฏตำราและหนังสือนิติปรัชญาที่กว้างขวางและหลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับบทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่างานเขียนของจรัญได้ต่อยอด ขยาย ท้าทาย และปรับเปลี่ยนแง่มุมความรู้ที่มีต่อนิติปรัชญาในสังคมไทยไปอย่างสำคัญในแง่มุมอย่างไรบ้าง

ในเบื้องต้น พึงประกาศให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าผู้เขียนบทความนี้มิใช่ลูกศิษย์ ‘โดยตรง’, ไม่ใช่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย, ไม่มีประโยชน์โภชผลทางด้านวัตถุใดๆ เกี่ยวข้องกัน (เท่าที่พอจะมีอยู่บ้างก็คือ จรัญ มักจะส่งงานเขียนชิ้นใหญ่มาเป็นของฝากอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ผู้เขียนมักจะตอบกลับแทนด้วยงานเขียนชิ้นเล็กๆ อันนับว่าเป็นการเอาเปรียบอยู่ไม่น้อย)

การประกาศเช่นนี้ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าบทความนี้ไม่ใช่การเขียนขึ้นเพื่อ ‘อวย’ โดยมีประโยชน์ใดๆ แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง หากเป็นความต้องการที่จะชี้ให้เห็นความหมายและความสำคัญที่อยู่ในงานเขียนด้านนิติปรัชญาของจรัญ ในสายตาของนักเรียนกฎหมายธรรมดาๆ คนหนึ่ง

จากท่าพระจันทร์ ถึงหัวหมาก

อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่มีการบรรจุวิชานิติปรัชญาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตำรานิติปรัชญาของปรีดี ได้กลายเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญต่อการวางแนวทางการศึกษา และไม่ใช่เป็นเฉพาะตำราสำหรับนักศึกษาหากยังเป็นกรอบแนวความคิดในการเรียนการสอนและการเขียนตำรานิติปรัชญาที่ธรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง

ในเชิงเนื้อหา ตำรานิติปรัชญาของปรีดี เป็นการศึกษาแนวความคิดทางด้านปรัชญากฎหมายของตะวันตกด้วยการพิจารณาในมิติเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งต้องการแสดงให้ถึงความคิดทางด้านกฎหมายที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ยุคกรีก ยุคโรมัน ยุคกลาง ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ปรีดีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับแนวคิดทางด้านนิติปรัชญา 3 สำนักด้วยกัน คือ สำนักกฎหมายบ้านเมือง (legal positivism) สำนักกฎหมายธรรมชาติ (natural law school) และสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (historical school of law)

กรอบความคิดของปรีดีมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ดังจะพบว่าเมื่อมีการตีพิมพ์ตำราเกี่ยวกับนิติปรัชญาออกมาในภายหลังก็จะเป็นไปตามกรอบที่ปรีดีได้วางแนวทางไว้ เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนิติปรัชญา (2536) ของสมยศ เชื้อไทย[1] ก็ได้ดำเนินไปภายใต้กรอบที่ปรีดีวางไว้ ทั้งในด้านของการจัดหมวดหมู่ และแนวความคิดทางนิติปรัชญาก็ได้ให้ความสำคัญกับแนวความคิด 3 สำนัก ตามที่ปรีดีได้บุกเบิกเป็นแนวทางไว้[2] แนวคิดของปรีดีมีอิทธิพลต่อการศึกษานิติปรัชญาที่สถาบันแห่งนี้มาไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษ

จรัญได้ผลิตงานเขียนที่มีความสำคัญและมีส่วนอย่างมากต่อการบุกเบิกพรมแดนความรู้ทางด้านนิติปรัชญาคือ นิติปรัชญา (2531)[3] หนังสือเล่มนี้เป็นตำราสำหรับอ่านประกอบในวิชานิติปรัชญาของรามคำแหง ในเชิงภาพรวม หนังสือเล่มนี้มุ่งทำความเข้าใจนิติปรัชญาด้วยการจำแนกแนวความคิดทางปรัชญากฎหมายออกเป็นกลุ่มความคิด (school of thought) และจะมีการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของแนวคิดนั้นๆ รวมถึงข้อถกเถียงของแต่ละแนวคิดซึ่งจะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจแนวความคิดในแต่ละสำนักได้อย่างชัดเจน

เขาอธิบายถึงแนวความคิดสำคัญทั้งสามสำนักกล่าวคือ สำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (legal positivism), สำนักกฎหมายธรรมชาติ และสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ นอกจากนั้น จรัญ ยังได้เขียนถึงแนวความคิดร่วมสมัยมากขึ้น เช่น แนวความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติในศตวรรษที่ 20 แนวความคิดทางกฎหมายแบบมาร์กซิสม์ (Marxist theory of law) และแนวความคิดสัจนิยมทางกฎหมาย (legal realism) ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (sociological jurisprudence) แนวความคิดเหล่านี้เสนอมุมมองที่เสนอการมองกฎหมายในโลกของการเมือง/ในโลกของความเป็นจริง ที่จะทำให้นักเรียนกฎหมายได้ตระหนักถึงการดำรงของกฎหมายอยู่ในท่ามกลางชีวิตของผู้คนว่าอาจมิใช่เรื่องของความยุติธรรม

ตำราเล่มนี้ยังได้หยิบยกประเด็นถกเถียงสำคัญทางนิติปรัชญามาอภิปรายซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหลายสังคม และนักปรัชญากฎหมายก็ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อการแลกเปลี่ยนความเห็น เช่น การเคารพและการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย การควบคุมศีลธรรมโดยกฎหมาย เป็นต้น

นิติปรัชญาของจรัญจึงไม่เพียงบรรยายถึงแนวความคิดกระแสหลักซึ่งเป็นที่รับรู้และเป็นเสมือน ‘ท่าบังคับ’ ของหนังสือนิติปรัชญา แต่ยังได้มีการขยายพรมแดนความรู้ทางด้านนิติปรัชญาในแวดวงความรู้ด้านนิติศาสตร์ของไทยให้มีเพดานการรับรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ชี้ชวนให้เห็นแง่มุมของแนวคิดที่หลากหลายในการทำความเข้าใจ ‘ความหมาย’ และ ‘ความจริง’ ของกฎหมาย อันถือเป็นหลักหมายทางความรู้ที่สำคัญ

นอกจากนี้แล้ว จรัญยังได้มีการตีพิมพ์ปรัชญากฎหมายไทย[4] งานเขียนชิ้นนี้มีความแตกต่างอย่างมากจากงานด้านนิติปรัชญาที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น เนื่องจากเป็นการมุ่งทำความเข้าใจถึงนิติปรัชญาที่ดำรงอยู่ในระบบกฎหมายของไทยผ่านการวิเคราะห์เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา สืบมาถึงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ บทบาทของจรัญในการขยายพรมแดนความรู้ทางด้านนิติปรัชญาในสังคมไทยไม่ใช่งานเขียนสองชิ้นเท่านั้น นิติปรัชญาแนววิพากษ์ที่ตีพิมพ์ต่อมาถือเป็นงานเขียนอีกชิ้นที่มีความสำคัญเช่นกัน

ขึ้นไปสู่หอคอย และกลับลงมาสู่พื้นดิน

งานเขียนที่มีผลต่อการเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ทางด้านนิติปรัชญาโดยเฉพาะอิทธิพลจากวงวิชาการตะวันตกก็คือ นิติปรัชญาแนววิพากษ์ (2550)[5] ในงานเขียนชิ้นนี้ได้มีการอธิบายถึงแนวความคิดที่มากไปกว่าแนวความคิดกระแสหลักที่ครอบงำแวดวงความรู้ทางด้านนิติปรัชญาของไทย จรัญอธิบายถึงแนวคิดนิติศึกษาแนววิพากษ์ (critical legal studies), นิติศาสตร์แนวสตรีนิยม (feminist jurisprudence), นิติศาสตร์แนวหลังสมัยใหม่ (postmodern jurisprudence), ทฤษฎีวาทกรรมแห่งกฎหมายและนิติรัฐ ประชาธิปไตยของฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) และปรัชญากฎหมายจีน

สามารถกล่าวได้ว่าเนื้อหาของแนวความคิดเกือบทั้งหมด (ยกเว้นปรัชญากฎหมายจีน) เป็นแนวความคิดทางนิติปรัชญาที่ได้ถูกพัฒนานับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 สืบเนื่องมาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 21 แนวความคิดเหล่านี้เป็นประเด็น ‘ร่วมสมัย’ ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในโลกวิชาการของตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้อิทธิพลของแนวความคิดแบบหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ซึ่งได้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการตั้งคำถามถึงรากฐานต่อระบบความรู้ ความจริง

เมื่อแนวความคิดดังกล่าวแผ่ขยายเข้ามาไว้แวดวงทางนิติศาสตร์ก็ได้ทำให้เกิดคำถามถึงกฎหมายและความยุติธรรมที่แตกต่างออกไปถึงในระดับพื้นฐาน การท้าทายถึงความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของอำนาจแห่งกฎหมาย แต่ประเด็นเหล่านี้อาจไม่ได้ความสนใจในแวดวงนิติปรัชญาในสังคมไทยมากเท่าที่ควรในช่วงเวลาดังกล่าว

งานชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นหลักหมายต่อการเปิดพื้นที่ความรู้พื้นฐานทางนิติปรัชญาให้กระแสความคิดที่ร่วมสมัยมากขึ้น (ยกเว้นประเด็นปรัชญากฎหมายจีนที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นนี้ ที่มีความแตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายภายใต้กรอบทางความคิดที่อิงอยู่กับความเป็นชาติ แต่คาดเดาว่าคงเป็นประเด็นที่จรัญ มีความสนใจส่วนตัวและพิจารณาว่ามีความสำคัญจึงได้นำมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้)

นอกจากนั้นแล้ว จรัญ ก็ยังมีงานเขียนเรื่อง อาชญาวิทยาแนววิพากษ์[6] ซึ่งดูจะเป็นงานเขียนที่แตกต่างไปจากทางด้านนิติปรัชญา แม้จะไม่ใช่เป็นงานเขียนด้านนิติปรัชญาโดยตรงหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแนวคิดทางด้านอาชญาวิทยา แต่เขาได้อธิบายถึงอิทธิพลของกระแสแนววิพากษ์ที่มีอิทธิพลและส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์ทางด้านอาชญาวิทยาได้อย่างน่าสนใจ งานชิ้นนี้อาจเป็น ‘ตัวแบบ/ตัวอย่าง’ ที่แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดด้านปรัชญานั้นส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบความรู้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน    

และคงจะไม่สมบูรณ์อย่างแน่แท้หากละเลยไม่กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุด เรื่อง นิติปรัชญา: หลักนิติธรรม สภาวะยกเว้นและปฐมบทแห่งคำพิพากษาแนวรัฐประหารนิยม-ตุลาการภิวัตน์ (2563)[7] งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาปัญหาการยกเว้นหลักนิติธรรมของศาลไทยกรณีการรับรองอำนาจคณะรัฐประหารในคำพิพากษาอันเป็นบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทย พร้อมกับการยืนยันว่ามิได้เป็นผลมาจากแนวความคิดเรื่องปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย หากแต่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมเชิงจารีตที่แฝงฝังอยู่ในฝ่ายตุลาการมาอย่างยาวนาน ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นความพยายามในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยด้วยมุมมองทางนิติปรัชญาที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

และเป็นการยืนยันให้เห็นได้อย่างแจ่มชัดว่าการศึกษากฎหมายในเชิงทฤษฎีที่เป็นนามธรรมมิใช่เพียงการละเล่นทางปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว หากยังสามารถนำมาสู่การวิเคราะห์เหตุการณ์อันเป็นรูปธรรมอย่างแหลมคมได้

จงขึ้นไปยืนบนบ่าของยักษ์

แม้นิติปรัชญาเป็นรายวิชาที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษากฎหมายของแทบทุกสถาบัน ผู้สอนวิชานิติปรัชญาก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตำรานิติปรัชญาก็มีให้เห็นอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ผู้สอนวิชานิติปรัชญาที่ ‘อิน’ และมีความอุตสาหะตลอดจนทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตกับความรู้ด้านนี้ในสังคมไทยดูจะมีอยู่แค่เพียงนับนิ้วมือข้างเดียว

ยิ่งหากรวมไปถึงการผลิตงานเขียนอันมีคุณภาพและติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ในระดับสากลอย่างเท่าทันก็ดูราวกับจะยิ่งมีเป็นจำนวนน้อยลงไปอีก (อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ได้ให้ความสนใจและทำการศึกษานิติปรัชญาเพิ่มมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย)

เขาคือหนึ่งในบุคคลที่ได้ทุ่มเทชีวิตในทางวิชาการและการสร้างงานเขียนที่ถือเป็นหลักหมายสำคัญของงานเขียนด้านนิติปรัชญาในสังคมไทย งานของจรัญ โฆษณานันท์จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านนิติปรัชญาไปอีกยาวนาน หากคนรุ่นหลังต้องการจะขึ้นไปอยู่บนบ่าของจรัญ คงจะต้องใช้ทั้งแรงกายและความทุ่มเทอย่างไม่น้อยเลย จนไม่แน่ใจว่าจะมีผู้ใดสามารถกระทำเยี่ยงนั้นได้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน   


[1] สมยศ เชื้อไทย, ทฤษฎีกฎหมาย นิติปรัชญาพิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548)

[2] สำหรับการประเมินถึงอิทธิพลทางความคิดของปรีดี เกษมทรัพย์ ต่อการศึกษากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถประเมินได้ทั้งในด้านความสำเร็จและความล้มเหลว ดูรายละเอียดใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “ความสำเร็จที่ล้มเหลวของปรีดี เกษมทรัพย์” ใน เมื่อตุลาการเป็นในแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ bookscape, 2562) หน้า 162 – 169

[3] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2532) หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2531   

[4] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา ภาคสอง ปรัชญากฎหมายไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2536)

[5] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญาแนววิพากษ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2550)

[6] จรัญ โฆษณานันท์, อาชญาวิทยาแนววิพากษ์ และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2558)

[7] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา: หลักนิติธรรม สภาวะยกเว้นและปฐมบทแห่งคำพิพากษาแนวรัฐประหารนิยม-ตุลาการภิวัตน์ (2563

MOST READ

Law

20 Aug 2023

“ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท”: ความผิดฐานหมิ่นประมาทกฎหมายเยอรมัน

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย และยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นประมาทเยอรมันเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

20 Aug 2023

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save