fbpx
ชีวิตสองวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่

ชีวิตสองวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่องและภาพ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่คนญี่ปุ่นนิยมเดินทางมาเที่ยวและพำนักระยะยาวมากที่สุดแห่งหนึ่ง

เชียงใหม่และญี่ปุ่นมีบางสิ่งคล้ายคลึง บางสิ่งแตกต่าง

ชีวิตสองวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่เป็นอย่างไร 101 พาคุณไปค้นหาคำตอบด้วยกัน

 

เริ่มต้นชีวิตในบ้านหลังที่สอง

การใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมือง ภาษานับเป็นสิ่งยากที่สุดสำหรับการเริ่มต้นปรับตัว

คนญี่ปุ่นนิยมพูดภาษาตนเองมากกว่าภาษาอังกฤษ ส่วนคนเชียงใหม่นิยมพูดภาษาไทยและภาษาเมืองเหนือ คนญี่ปุ่นในเมืองเชียงใหม่จึงต้องเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาไทยหรือภาษาเมืองเหนือบางคำเพื่อใช้สื่อสารประจำวัน เมื่อการเรียนรู้ภาษาใหม่ย่อมใช้เวลานานกว่าจะคุ้นชิน การมี “สื่อภาษาญี่ปุ่น” ที่นำเสนอเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่และสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของสมาชิกใหม่ชาวญี่ปุ่นในบ้านหลังที่สองแห่งนี้มากทีเดียว

ที่เชียงใหม่มีหนังสือพิมพ์แจกฟรีภาษาญี่ปุ่นชื่อว่า “Chao” หรือ “เจ้า” ตามสำเนียงลงท้ายของสาวชาวเหนือ ผลิตมานานเกือบ 15 ปีแล้ว

Chao หนังสือพิมพ์​เชียงใหม่

ชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่ไม่มีใครไม่รู้จักหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เพราะเป็นเหมือน “เพื่อนคู่ใจ” ช่วยให้การเริ่มต้นชีวิตที่นี่ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าแผนที่เมืองเชียงใหม่พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งระบุตำแหน่งสถานที่สำคัญ วิธีการเดินทาง รวมถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร ร้านซักเสื้อผ้า ร้านนวดสปา กระทั่งประกาศรับสมัครงานสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ต้องการหางานทำในเชียงใหม่ บรรดาธุรกิจที่ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นจึงพากันซื้อโฆษณามากขึ้น เห็นได้จากปริมาณยอดพิมพ์แจกฟรีที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บินซัง บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Chao คนปัจจุบันให้ข้อมูลว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการเมื่อ 6-7 ปีก่อน Chao มียอดพิมพ์เพียง 3,000 ฉบับเท่านั้น แต่ปัจจุบันยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นสองเท่าตัว หรือ 6,000 ฉบับ วางแจกแบบรายปักษ์ทุก 15 วัน จุดวางแจกหลัก คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิงทุกสาขาในเชียงใหม่ เพราะชาวญี่ปุ่นชอบซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่นี่มากที่สุด ส่วนที่เหลือจะกระจายไปยังร้านค้าที่มีชาวญี่ปุ่นนิยมใช้บริการ และกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียงบ้างเล็กน้อย

แผนที่เชียงใหม่ ภาษาญี่ปุ่น

เหตุผลที่ทำให้หนังสือพิมพ์ Chao ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่มีสองปัจจัย

ปัจจัยแรก ปริมาณชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจสนใจลงโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นมากขึ้น

ปัจจัยที่สอง เนื้อหาของหนังสือพิมพ์นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวญี่ปุ่นที่ย้ายมาพำนักในประเทศไทย โดยนำเสนอในรูปแบบบทความหลากหลายคอลัมน์ ตั้งแต่วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ไปจนถึงความรู้เกี่ยวกับธนบัตรไทย จุดเด่นที่ทำให้หนังสือพิมพ์ได้รับความน่าเชื่อถือและนิยมจากคนอ่านมานานกว่าสิบปี คือ นโยบายแยกพื้นที่โฆษณาออกจากเนื้อหาบทความอย่างชัดเจน ไม่เน้นการโฆษณาแฝงซ่อนอยู่ในบทความ ทำให้คนอ่านได้รับความรู้ในการปรับตัวอยู่ในสังคมไทยดีขึ้น

บรรณาธิการเล่าว่า ธุรกิจที่สนใจลงโฆษณาจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจชาวไทยที่ต้องการลูกค้าชาวญี่ปุ่น กับกลุ่มธุรกิจหรือหน่วยงานของชาวญี่ปุ่นที่ต้องการรับสมัครเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นทำงานสื่อสารกับคนญี่ปุ่นด้วยกัน อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียนสอนภาษา และธุรกิจอีกหลายอย่างที่มีชาวญี่ปุ่นใช้บริการ เป็นต้น

มาจิโกะ ครูสอนภาษาญี่ปุ่นจากสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ เป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ Chao เพราะรวมสินค้าและบริการเป็นภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นที่มาอยู่เมืองไทยมีจำนวนน้อยที่พูดภาษาไทยได้ดี หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงช่วยให้คนญี่ปุ่นอยู่ในเชียงใหม่สะดวกสบายมากขึ้น

มาจิโกะ ครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทยที่สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นฯ
มาจิโกะ ครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทยที่สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นฯ

ในฐานะครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้ชาวไทย มาจิโกะเปรียบเทียบความยากง่ายระหว่างภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นให้ฟังว่า

“ภาษาไทยกับญี่ปุ่นออกเสียงไม่เหมือนกัน อย่าง “ง” กับ​ “ญ” หรือ “ย” ไม่มีในญี่ปุ่น ไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นจะยากกว่าภาษาไทย แต่การออกเสียงภาษาไทยจะยากกว่าภาษาญี่ปุ่น”

มาจิโกะย้อนอดีตก่อนเดินทางมาทำงานที่เชียงใหม่ให้ฟังว่า เธอเรียนจบด้านโภชนาการจากประเทศญี่ปุ่น และเคยทำงานเป็นนักโภชนาการในโรงพยาบาลมาก่อน แต่หลังจากเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้ง ก็เริ่มชอบเมืองไทยโดยเฉพาะเชียงใหม่ และใฝ่ฝันว่าอยากย้ายมาทำงานที่นี่ เพราะชีวิตในญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความเครียดจากการทำงานหนักเพื่อหาเงินให้เพียงพอกับค่าครองชีพ เธอเริ่มต้นเดินตามความฝันมาอยู่เชียงใหม่จากการสมัครเรียนเป็นกุ๊กอาหารไทย รวมทั้งเรียนภาษาไทยตั้งแต่อยู่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากเรียนจบจึงเริ่มเปิดดูประกาศรับสมัครงานในเมืองไทยเพื่อทำฝันให้เป็นจริง

“ตอนแรกได้งานเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทยที่กรุงเทพฯ  6 เดือน หลังจากนั้นจึงรอดูประกาศรับสมัครงานที่เชียงใหม่ พอได้งานจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะเชียงใหม่อากาศดีกว่า และค่าครองชีพต่ำกว่าที่กรุงเทพฯ และที่ญี่ปุ่นหลายเท่า อย่างเช่นถ้าอยู่ญี่ปุ่นวันหนึ่งต้องเสียค่าอาหารขั้นต่ำประมาณ 700-800 บาท แต่อยู่เชียงใหม่วันละ 300 บาทก็มากเกินพอแล้ว เราไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป มีเวลาพักผ่อนเยอะขึ้น ชีวิตที่นี่มีความสุขมาก”

ถัดมาจากเรื่องภาษา สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นต้องปรับตัวอันดับต่อมา คือ อาหาร เพราะอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันหลายอย่าง โดยเฉพาะรสเผ็ด ชาวญี่ปุ่นจะเคยชินรสเผ็ดจากวาซาบิ แต่อาหารไทยเป็นรสเผ็ดจากพริก รวมทั้งผักสมุนไพรทั้งขิง ข่า ตะไคร้ ในเครื่องแกง ที่เพิ่มระดับความเผ็ดให้สูงขึ้นไปอีก ชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยชินกับรสเผ็ดแบบไทยๆ จะใช้ชีวิตลำบากกว่าคนที่กินเผ็ดได้ แต่ถ้าใครสามารถกินเผ็ดในระดับสูงเท่าคนไทย คนนั้นจะมีความสุขในการใช้ชีวิตที่นี่มากมาย เพราะสามารถเลือกกินอาหารไทยได้ตั้งแต่ข้างถนนไปจนถึงภัตตาคารเลยทีเดียว

ถ้าวันไหนชาวญี่ปุ่นคิดถึงบ้านและอยากกินอาหารสัญชาติตนเองขึ้นมา พวกเขาจะมีทางเลือกสองแบบ คือ หาร้านอาหารญี่ปุ่นรสชาติสไตล์คนญี่ปุ่น ซึ่งมีความแตกต่างจากร้านที่คนไทยนิยมตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือทำอาหารกินเองที่บ้าน เพราะบางเมนูที่อยากกินอาจไม่มีขายตามร้านอาหาร

ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีรสชาติถูกปาก ราคาถูกใจคนญี่ปุ่นในเชียงใหม่มากที่สุด คือ ร้าน Ga Ga Ga กับร้าน Solomon ทั้งสองร้านมีเจ้าของคนเดียวกัน เป็นชายญี่ปุ่นที่มาแต่งงานกับหญิงไทย ตั้งอยู่แถวสันติธรรม กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นย่านที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุด บรรยากาศร้านนี้หลังพระอาทิตย์ตกดินไปจะมีชาวญี่ปุ่นนั่งคุยกันไปจิบแอลกอฮอล์กันไปอย่างครื้นเครง เหมือนเป็นดินแดน “ลิตเติลเจแปน” ของเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีร้าน Kitchen Hush อีกหนึ่งร้านที่คนญี่ปุ่นลงความเห็นว่า รสชาติและบรรยากาศการตบแต่งร้านยังคงเป็นสไตล์ญี่ปุ่น เปิดให้บริการมานานเกือบยี่สิบปี ร้านนี้มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่นลงมือแล่ปลาดิบที่คัดสรรมาอย่างดีด้วยตนเอง ปัจจุบันร้านนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักชิมชาวไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สัดส่วนลูกค้าที่เป็นชาวไทยมีจำนวนมากกว่าชาวญี่ปุ่นไปเสียแล้ว และหากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของไทย ร้านนี้จะแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่มีโต๊ะว่างให้ชาวญี่ปุ่นได้เข้าไปใช้บริการเพราะโต๊ะมักถูกจองล่วงหน้าเต็มหมด

Kitchen Hush : ร้านญี่ปุ่นเก่าแก่รสชาติและบรรยากาศร้านสไตล์ญี่ปุ่น
Kitchen Hush : ร้านญี่ปุ่นเก่าแก่รสชาติและบรรยากาศร้านสไตล์ญี่ปุ่น
เจ้าของร้าน Kitchen Hush
เจ้าของร้าน Kitchen Hush

อาจกล่าวได้ว่าการปรับตัวเรื่องภาษาและอาหารคือด่านแรกของการเริ่มต้นชีวิตของคนญี่ปุ่นในบ้านหลังที่สองแห่งนี้ หากผ่านด่านทั้งสองไปได้แล้ว ชีวิตของคนญี่ปุ่นในเชียงใหม่ก็จะเริ่มมีความสุขกับวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์แบบคนเชียงใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ บางคนโชคชะตาอาจนำพาให้มาพบรักกับชายไทยและตัดสินใจไม่ย้ายกลับไปอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกเลยตลอดชีวิต เพราะได้กลายเป็นสะใภ้ญี่ปุ่นหัวใจไทยไปซะแล้ว

สะใภ้ญี่ปุ่นหัวใจไทย

โมโมโกะ สะใภ้ญี่ปุ่นหัวใจไทย
โมโมโกะ สะใภ้ญี่ปุ่นหัวใจไทย

โมโมโกะ เป็นชื่อของศิลปินหญิงอารมณ์ดีจากกรุงโตเกียวที่โชคชะตาชักนำให้มาพบรักกับศิลปินหนุ่มไทยจากจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ทุกวันนี้เธอสามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาเมืองเหนือได้อย่างคล่องแคล่วจนไม่มีใครกล้าแอบนินทาลับหลังเลยทีเดียว สะใภ้เมืองเหนือเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า

“มาเชียงใหม่ครั้งแรกเพราะอยากเรียนเซรามิกกับเพื่อนชาวไทย เริ่มชอบเชียงใหม่ตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพราะบ้านที่ญี่ปุ่นอยู่ในกรุงโตเกียว เป็นห้องพักเล็กๆ ชีวิตในเมืองวุ่นวาย คนเยอะ ฉันรู้สึกว่าชีวิตที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีอิสระ ทำงานหนักมาก ต้องทำงานสองแห่งเพื่อให้มีรายได้พอกับรายจ่าย วันธรรมดาเป็นครูสอนวาดรูปที่โรงเรียนประถม วันหยุดรับจ้างเฝ้าแกลเลอรี กลับมาถึงบ้านก็เหนื่อย ไม่มีวันหยุด ชีวิตไม่สนุก เครียด อยากเขียนภาพก็ไม่มีเวลาว่าง ถ้าไม่ทำงานสองแห่งก็ไม่พอค่าใช้จ่าย ขนาดฉันอยู่บ้านพ่อแม่ ไม่ต้องเช่าก็ยังต้องหมุนเงินตลอด ไม่มีเงินเก็บ”

ด้วยบุคลิกมองโลกแง่ดี พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ โมโมโกะจึงปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบไทยๆ ไม่ยาก แม้ว่าบางเรื่องจะตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น เธอกลับมองเป็นเรื่องสนุกและใช้ความเป็นศิลปินถ่ายทอดความแตกต่างระหว่างคนไทยและญี่ปุ่นออกมาเป็นการ์ตูนให้คนญี่ปุ่นอ่านแล้วอมยิ้มตามไปด้วย

“ตอนมาเมืองไทยใหม่ๆ ฉันรู้ว่าไม่เหมือนญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพราะถ้าเหมือนกันมากก็ไม่สนุกสิ ฉันเคยเขียนการ์ตูนเปรียบเทียบชาวไทยกับชาวญี่ปุ่นแตกต่างกันยังไงออกมาขายแบบขำๆ

เช่น เวลาเข้าร้านอาหารแล้วคนขายทำผิดเมนู ถ้าอยู่ญี่ปุ่น คนขายต้องเปลี่ยนมาให้ใหม่ ไม่งั้นลูกค้าจะโวยวาย แต่คนขายไทยบอกว่า อันนี้ก็อร่อยนะ ลองกินซะ ตอนได้ยินฉันทำหน้างง แต่ก็ลองกินดู แล้วก็อร่อยจริงนะ คนขายเลยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ (พูดแล้วหัวเราะ)”

เมื่อเจอความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบไทยๆ เธอก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้ ลองปฏิบัติตามเช่นกัน

“ตอนลูกชายยังเด็กนอนโรงพยาบาลบ่อย ถามหมอว่าต้องทำยังไงลูกถึงจะแข็งแรง หมอแนะนำว่าให้ไปวัด ไหว้พระน่าจะดีขึ้นนะ ตอนแรกฉันฟังแล้วงง (พูดแล้วหัวเราะ) แต่ก็ไปวัดไหว้พระตามคำแนะนำของหมอ แล้วลูกก็แข็งแรงดีจริงๆ ด้วย ถ้าเป็นหมอญี่ปุ่นจะไม่มีการแนะนำอย่างนี้ แต่เราอยู่เมืองไทย ลองเชื่อดู แล้วก็หายจริงๆ”

โมโมโกะเล่าว่า ช่วงสิบปีแรกที่มาอยู่เชียงใหม่ เธอไม่มีเพื่อนเป็นชาวญี่ปุ่นเลย เพราะตอนนั้นชาวญี่ปุ่นยังไม่นิยมมาอยู่เชียงใหม่มากนัก เธอจึงใช้ชีวิตท่ามกลางคนไทย เพิ่งเริ่มมีเพื่อนเป็นชาวญี่ปุ่นที่มาแต่งงานกับคนไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพื่อนส่วนใหญ่เลือกใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะชีวิตที่นี่สบายๆ ไม่มีกฎระเบียบเคร่งครัดเหมือนในญี่ปุ่น

“ฉันไม่เคยอยากย้ายกลับไปอยู่ญี่ปุ่นเพราะที่นั่นอยู่คอนโดเล็กนิดเดียวอึดอัด เวลาปิดเทอมจะพาลูกไปเรียนที่ญี่ปุ่นแค่สองเดือน แล้วก็กลับมาเมืองไทย เพราะบ้านที่เชียงใหม่มีบริเวณให้ปลูกต้นไม้ วิ่งเล่น มีพื้นที่กว้างกว่าห้องคอนโดแคบๆ ในโตเกียวหลายเท่า ”

สะใภ้ญี่ปุ่นหัวใจไทยคนนี้ นอกจากจะพูดภาษาไทยและกินเผ็ดระดับคนไทยได้แล้ว เธอยังมีความสามารถในการปรับตัวด้านอาหารท้องถิ่นในระดับที่สูงกว่าคนไทยบางคนเสียอีก โดยเฉพาะความสามารถด้านการกินปลาร้า เพราะมีแม่สามีทำปลาร้าเก่งมาก จนเธอเกิดแรงบันดาลใจเขียนเล่าเรื่องแม่สามีชอบทำปลาร้าถ่ายทอดเป็นตัวการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีหัวเป็นแมว ตัวเป็นคน แต่งชุดพื้นบ้านแบบไทยๆ ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นและส่งไปขายที่ญี่ปุ่นจนหมดเกลี้ยงแผงไปเรียบร้อยแล้ว

การ์ตูนหัวเป็นแมว ตัวเป็นคน เรื่องแม่สามีทำปลาร้าส่งไปขายในญี่ปุ่น
การ์ตูนหัวเป็นแมว ตัวเป็นคน เรื่องแม่สามีทำปลาร้าส่งไปขายในญี่ปุ่น

การ์ตูนหัวเป็นแมว ตัวเป็นคน เรื่องแม่สามีทำปลาร้าส่งไปขายในญี่ปุ่น

การ์ตูนหัวเป็นแมว ตัวเป็นคน เรื่องแม่สามีทำปลาร้าส่งไปขายในญี่ปุ่น

ปัจจุบันโมโมโกะมีลูกชายและลูกสาวอย่างละหนึ่งคน ใช้ชีวิตเป็นสะใภ้เมืองเชียงใหม่อย่างมีความสุขโดยไม่คิดย้ายกลับไปอยู่ญี่ปุ่นอีกเลย เพราะโชคชะตากำหนดมาให้เธอเป็นคนญี่ปุ่นหัวใจไทยนั่นเอง

แหล่งรวมพลคนสูงวัย

ณ คอนโดฮิลด์ไซต์ 4 บนถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห้องกระจกหนึ่งคูหาถูกเช่าเป็นสำนักงานของชมรมผู้สูงอายุ หรือ Chiangmai Longstay Life Club (CLL) เปิดให้บริการผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมานานกว่า 15 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 145 คน จัดเป็นชมรมผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เก่าแก่มากที่สุดในเชียงใหม่

ชมรมผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่
ชมรมผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่

ทุกๆ วัน ที่นี่จะมีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเดินเข้าออกเพื่อมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพียงแค่เสียค่าสมาชิกปีละ 1,200 บาท ทุกคนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรีตลอดหนึ่งปี นับเป็นแหล่งรวมพลคนสูงวัยชาวญี่ปุ่นที่มีกิจกรรมให้คลายเหงาไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว อาทิ วันอังคารมีกิจกรรมงานฝีมือ วันพุธมีเรียนภาษาไทย วันพฤหัสมีเรียนภาษาอังกฤษและเต้นระบำฮาวาย วันศุกร์สนุกกับการเล่นหมากญี่ปุ่น และชมรมถ่ายภาพ ถ้าเป็นวันศุกร์ที่ 1 กับ 3 ของเดือนมีโปรแกรมพิเศษ คือ การปรึกษาสุขภาพทางไกลกับทางประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าใครสมัครชมรมนี้มาอยู่เชียงใหม่แบบไม่มีวันเหงาแน่นอน

เหตุผลที่ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนให้คนวัยเกษียณเดินทางมาพำนักแบบระยะยาวในเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าและสภาพอากาศที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะที่ญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาวจะหนาวจัดมากจนคนสูงอายุไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ ส่วนช่วงฤดูร้อนก็ร้อนจัดจนทำให้เหนื่อยง่าย ถ้าย้ายมาอยู่เชียงใหม่ คนสูงอายุที่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเองจะมีกิจกรรมให้ทำมากมาย ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจดีกว่าอยู่ที่ญี่ปุ่นนั่นเอง

ผู้สูงอายุที่ตัดสินใจมาพำนักในประเทศไทยมี 2 แบบ คือ แบบระยะสั้นสามเดือน ส่วนใหญ่จะเลือกอยู่เฉพาะช่วงฤดูหนาวของเชียงใหม่ ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย กับแบบระยะยาวหนึ่งปี การขอวีซ่าระยะยาวหนึ่งปีจำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากในธนาคารไทยอย่างน้อย 8 แสนบาท หรือต้องแสดงหลักฐานว่ามีเงินบำนาญรวมกันทั้งปีไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท สำหรับคนที่ไม่มีบัญชีเงินฝากมาแสดงจะขอวีซ่าได้เพียงสามเดือนเท่านั้น

ผู้สูงอายุที่สนใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่มักเริ่มต้นจากติดต่อที่หน่วยงาน Long Stay ของรัฐบาลในประเทศญี่ปุ่นก่อน หลังจากนั้นจะมีการนำคณะทัวร์พาผู้สูงอายุมาเที่ยวเชียงใหม่แบบระยะสั้นไม่กี่วัน เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่า ถ้ามาอยู่เชียงใหม่จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง โดยในขั้นตอนเตรียมตัวนี้ ทางหน่วยงานจะประสานความร่วมมือกับชมรม CLL ในเชียงใหม่ซึ่งมีการจัดพิมพ์คู่มือสำหรับผู้สูงอายุในการย้ายมาพำนักที่เชียงใหม่ฉบับภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 และปรับปรุงข้อมูลใหม่เกือบทุกปี โดยฉบับปัจจุบันเพิ่งปรับปรุงข้อมูลและตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่ผ่านมา ภายในคู่มือมีข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เรื่องที่พัก อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ร้านเสริมสวย โรงพยาบาล ไปจนถึงการเลือกค่ายโทรศัพท์มือถือของไทย เรียกว่าถ้าใครมีคู่มือเล่มนี้พกติดตัวไว้จะสามารถใช้ชีวิตในเชียงใหม่ได้อย่างอุ่นใจมากขึ้น

คู่มือเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุในการย้ายมาอยู่เชียงใหม่
คู่มือเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุในการย้ายมาอยู่เชียงใหม่

ปัจจุบันโซนที่พักซึ่งมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดในเชียงใหม่ คือ โซนที่อยู่ใกล้กับตลาดธานินทร์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่รวมทุกสิ่งให้เลือกสรร ทั้งอาหารการกินและของใช้ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันไปจนถึงเสื้อผ้า กระเป๋า และสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้กับสนามกอล์ฟลานนาซึ่งเป็นสถานที่ออกกำลังกายยอดนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ หรือ “รถแดง” ไม่สูงจนเกินไปนัก

การปรับตัวของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ยากที่สุด คือ ภาษา เพราะการเรียนภาษาใหม่ตอนวัยชราไม่ใช่เรื่องง่ายนัก รองลงมาคือ อาหารไทยซึ่งส่วนใหญ่มีรสเผ็ดไม่เหมาะกับผู้สูงวัย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ คือ ความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เรื่องอันตรายที่ชมรมผู้สูงอายุระบุแจ้งเตือนไว้ในเอกสารสำหรับสมาชิกชมรม เนื่องจากสัญญาณจราจรสำหรับให้คนข้ามถนนมีจำนวนน้อยมาก ทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีชาวญี่ปุ่นถูกรถชนบริเวณสี่แยกไฟแดงห้างเมญ่าไปแล้ว 3 คน นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุนัขจรจัดข้างถนนที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับชาวญี่ปุ่นที่เดินไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อีกด้วยเช่นกัน

โทมิตางิ หนึ่งในสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งอาศัยอยู่เชียงใหม่มานานกว่าสิบปีจนพูดไทยได้คล่องแคล่ว กล่าวถึงอายุสมาชิกชมรมส่วนใหญ่ว่า เป็นกลุ่มของผู้มีอายุระหว่าง 50-70 ปี ซึ่งยังคงทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองได้ ถ้าใครเริ่มอายุมากขึ้นจนเริ่มทำกิจกรรมไม่ไหว ทางชมรมจะแนะนำให้กลับไปอยู่กับลูกหลานหรือบ้านพักคนชราที่ญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่ดีรองรับ และถ้าอยู่เมืองไทยจนลุกไปไหนมาไหนเองไม่ไหวก็จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับลูกหลานในญี่ปุ่นมากเกินไป

การใช้ชีวิตสองวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นในเชียงใหม่ บางเรื่องอาจง่ายสำหรับคนหนึ่งแต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับอีกคนหนึ่ง เพราะแต่ละคนล้วนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน หากเปิดใจยอมรับในความแตกต่างและพร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมแบบไทยๆ คนญี่ปุ่นในเชียงใหม่คงจะมีความสุขในบ้านหลังที่สองแห่งนี้อย่างแน่นอน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save