fbpx

‘มรดกโลก’ อีกเวทีที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ไม่ลดราวาศอก

ประเด็นคั่งค้างจากอดีตที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสางอย่างเป็นที่พอใจในความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เปรียบเสมือนบาดแผลที่แม้เวลาจะผ่านมานานก็ยังไม่สมานสนิทเสียที ปมอดีตหลายอย่างยังตามมาหลอกหลอนความพยายามครั้งใหม่ในปีนี้ที่จะประนีประนอมเข้าหากัน อย่างที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองพยายามเจรจาหาทางไม่ให้ทรัพย์สินของบริษัท Mitsubishi Heavy Industry ของญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ที่ถูกอายัดมาพักหนึ่งถูกศาลสั่งขายทอดตลาดเพื่อนำเงินไปชดเชยฝ่ายโจทก์ผู้ฟ้องร้องบริษัทญี่ปุ่นว่า เคยบังคับใช้แรงงานพวกตนสมัยเกาหลีเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น

เหตุการณ์นี้มีความเป็นมาสืบเนื่องจากที่ศาลเกาหลีใต้มีคำตัดสินเมื่อปลายปี 2018 ให้บริษัทญี่ปุ่นชดเชยแก่ชาวเกาหลีที่เคยถูกบังคับใช้แรงงาน หลังจากปีนั้นมารัฐบาลทั้งสองก็มองหน้ากันไม่ค่อยติด ญี่ปุ่นถึงกับตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษทางการค้า โดยย้ำจุดยืนว่าเกาหลีใต้ผิดสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่สมัยสถาปนาการทูตระหว่างกันในปี 1965 ว่าจะไม่รื้อฟื้นการเรียกร้องทำนองนี้ขึ้นมาใหม่ ด้านประชาชนเกาหลีใต้ก็โจมตีจุดยืนที่ญี่ปุ่นอ้างว่า ได้ชำระหนี้ในอดีตเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วด้วยการ ‘แบนสินค้าญี่ปุ่น’ เป็นการใหญ่

บาดแผลที่ยังไม่ประสานดีรอยนี้มีที่มาจากยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาหลีเป็นอาณานิคม ซึ่งยาวนานมานับตั้งแต่ปี 1910 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 เมื่อทั้งสองกลับมาสานสัมพันธ์กันใหม่หลังสงคราม ญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือเกาหลีใต้เพื่อชดเชยสิ่งที่ตนกระทำแลกกับการที่เกาหลีจะไม่เรียกร้องเรื่องที่เคยถูกญี่ปุ่นกดขี่ แต่ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าข้อตกลงจะไม่ได้ทำให้สองฝ่ายคลายปมอดีตได้โดยง่าย แม้หลายครั้งต่างฝ่ายต่างเน้นความสัมพันธ์แบบมุ่ง ‘มองไปข้างหน้า’ (future-oriented) และหาผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ทั้งสองใช้ในการสานสัมพันธ์รอบใหม่ในปีนี้ด้วย

แม้รัฐบาลทั้งสองเล็งเห็นว่าต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อจัดการความท้าทายหลายอย่างร่วมกัน ทั้งการสอดส่องท่าทีของเกาหลีเหนือและจีน และการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ แต่ใน ‘ประเด็นประวัติศาสตร์’ ไม่แค่เฉพาะเรื่อง ‘แรงงานบังคับ’ เท่านั้น แต่ปัญหา ‘หญิงบำเรอ’ (comfort women) การเยือนศาลเจ้ายะสุคุนิ การสำนึกและขอโทษเรื่องสงครามในอดีต ตลอดจนเกาะที่ทั้งสองอ้างสิทธิ์ (ดกโด / ทะเคชิมะ) มักปลุกเร้าความรู้สึก ‘ชาตินิยม’ ในหมู่สาธารณชนสองฝ่ายจนบางครั้งกลายเป็นอุปสรรคทางการทูต หากไม่ถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปเสียเองก่อน

ประเด็นปัญหาเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาเรียนรู้ ชื่นชมและเชิดชูประวัติศาสตร์ ตลอดจนการรักษาสืบทอดศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะความพยายามทำให้วิถี วัตถุ สถานที่และเรื่องราวของชาติทั้งสองกลายเป็นที่รับรู้ รับรองและหวงแหนในประชาคมนานาชาติ นั่นก็คือกระบวนการเสนอชื่อขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’ และ ‘ความทรงจำแห่งโลก’ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

ความขัดแย้งของทั้งสองกลายเป็นประเด็นตบตีกันในเวทีพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้อย่างไร ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาวุ่นวายอะไรเกิดขึ้นระหว่างกันบ้าง และมีนัยสำคัญอย่างไร เป็นจุดสนใจที่ข้อเขียนนี้ต้องการเสนอและวิเคราะห์ โดยมองว่าการโต้แย้งในเวทีนี้ส่งผล ‘บั่นทอนวัตถุประสงค์’ (defeat purposes) ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่แสวงหาการยอมรับจากประชาคมโลกเพื่อสนองความรู้สึกชาตินิยมในยามที่สถานะของตนอ่อนด้อยลง ขณะที่เกาหลีใต้ใช้เวทีนี้ตอกย้ำวาทกรรมสร้างชาติที่ส่งเสริมชาตินิยมในประเทศด้วยการเน้นประวัติศาสตร์การถูกข่มเหงและต่อสู้กับญี่ปุ่น

มรดกโลก มรดกความขัดแย้งจากอดีต

ญี่ปุ่นมองกิจการของสหประชาชาติด้านที่ไม่ใช่การเมืองและความมั่นคงว่าเป็นพื้นที่ที่ตนสามารถแสดงบทบาทได้อย่างไม่ขัดกับอุดมการณ์สันตินิยมต่อต้านการทหารมาแต่ไหนแต่ไร โดยมองบทบาทด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา สังคมและวัฒนธรรมว่ามีคุณูปการทางอ้อมต่อการส่งเสริมสันติภาพและสวัสดิภาพของผู้คนบนโลก ไม่แปลกที่ UNESCO จะเป็นเวทีที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจอันดับแรกๆ ในการกลับเข้าสู่ประชาคมโลกยุคหลังสงคราม โดยเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1951 ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัวของสหประชาชาติในปี 1956 เสียอีก

ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนสูงเป็นอันดับต้นๆ แก่ UNESCO มาโดยตลอดและพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะยื่นเสนอสถานที่และวัฒนธรรมในประเทศตนให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage / sekai isan) ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็ใช้สถานะการเป็นแหล่งทุนใหญ่ต่อรองกดดันเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ เช่นในปี 2015 ญี่ปุ่นแสดงความขุ่นเคืองด้วยการระงับเงินอุดหนุน หลังจากที่มีการตัดสินใจให้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ นครนานกิง ซึ่งจีนกล่าวหาว่าเป็นการกระทำเหี้ยมโหดของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อปี 1937 ให้เป็น ‘ความทรงจำแห่งโลก’ (Memory of the World)

แม้ญี่ปุ่นจะมองเรื่องนี้ว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากกระทบต่อภาพลักษณ์และความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียง ทั้งยังติงกระบวนการพิจารณาว่าไม่โปร่งใสโดยไม่ยอมให้ทุกฝ่ายได้ออกความเห็น แต่ญี่ปุ่นเองในปีเดียวกันก็ผลักดันให้เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นที่ถูกสหภาพโซเวียตกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกในไซบีเรียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้บันทึกเป็น ‘ความทรงจำแห่งโลก’ เช่นกัน รัสเซียซึ่งถูกพาดพิงในกรณีนี้ก็รู้สึกไม่ต่างกันและออกมาคัดค้านว่า เวทีมรดกโลกกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (politicize) เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม

การใช้มรดกโลกตอกย้ำประเด็นติดค้างจากอดีตดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อกดดันชาติคู่กรณีด้วยการขยายปัญหาทวิภาคีให้กลายเป็นประเด็นที่รับรู้ทั่วโลก ถือเป็นวิธียกระดับความอับอายของชาติที่ถูกพาดพิง แนวทางนี้ยังช่วยปลุกความรู้สึกชาตินิยมภายในประเทศด้วยการย้ำมโนทัศน์ที่ว่ายังคงมี ‘ฝ่ายตรงข้าม’ (others) คอยเป็นศัตรูอยู่เสมอมาแม้เวลาได้ผ่านไปนานและสถานการณ์ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่ก็ช่วยเน้นความเป็น ‘พวกเรา’ (us) ที่มีที่มาจากการต่อสู้ร่วมกัน ซึ่งก็หล่อเลี้ยงชาตินิยมให้เกิดความสมานฉันท์ในหมู่พวกพ้อง

หญิงบำเรอชาวเกาหลีที่ไม่อยู่ในความทรงจำ

แนวโน้มที่ UNESCO ถูกใช้ในทางการเมืองยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เมื่อในปี 2016 เกาหลีใต้ดำเนินรอยตามจีนกับญี่ปุ่นด้วยการเสนอเรื่องราว ‘หญิงบำเรอ’ ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับให้ปรนเปรอทหารญี่ปุ่นในสงครามเป็น ‘ความทรงจำแห่งโลก’ ข้อมูลซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำบอกเล่าของเหล่าอดีตหญิงบำเรอ เอกสารเกี่ยวกับระบบจัดหาหญิงบำเรอ ตลอดจนเรื่องราวการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมยุคหลังสงคราม ยิ่งตอกย้ำจุดด่างพร้อยจากการกระทำของญี่ปุ่นในอดีต รวมถึงท่าทีปฏิเสธการที่จะสำนึกและชดเชยแก่ผู้เสียหาย

คาดหมายได้ไม่ยากว่าญี่ปุ่นคัดค้านเรื่องนี้แบบหัวชนฝา แต่อันที่จริงความเคลื่อนไหวของเกาหลีใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อมองภาพใหญ่ที่ประชาสังคมเกาหลีใต้มักอาศัยเวทีระหว่างประเทศเรียกร้องประเด็นนี้มาโดยตลอด ทั้งด้วยการตั้ง ‘อนุสาวรีย์หญิงบำเรอ’ ในประเทศต่างๆ การล็อบบี้รัฐสภาสหรัฐฯ และสหประชาชาติให้ช่วยร่วมแรงกดดันญี่ปุ่น แต่ความริเริ่มใน UNESCO ครั้งนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะถูกญี่ปุ่นสกัดด้วยการผลักดันให้มีบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนความทรงจำที่ยังเป็นข้อถกเถียง (contested nomination) โดยควรได้การยินยอมเห็นพ้องจากชาติที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพิจารณาจังหวะเวลาของเหตุการณ์นี้จะยิ่งเห็นความเรื้อรังฝังแน่นของปัญหา เพราะเมื่อปลายปี 2015 รัฐบาลทั้งสองเพิ่งทำข้อตกลงให้ประเด็นหญิงบำเรอเป็นอัน ‘สิ้นสุดแบบไม่รื้อฟื้นขึ้นมาอีก’ (finally and irreversibly) โดยญี่ปุ่นจะให้คำขอโทษและเงินชดเชยผ่านมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้น แต่แล้วข้อตกลงนี้ก็ถูกโจมตีจากสังคมเกาหลีใต้อย่างหนัก โดยมองว่ารัฐบาลพักกึนเฮไม่เคยหารือกับกลุ่มผู้เรียกร้อง อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขให้รื้ออนุสาวรีย์หญิงบำเรอที่ตั้งอยู่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลออกไป ก็สะท้อนความไม่จริงใจในการยอมรับประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา

เราจึงมองความเคลื่อนไหวใน UNESCO ได้ว่าเป็นความพยายามกดดันญี่ปุ่นระลอกใหม่จากความไม่พอใจที่ยิ่งทวีมากขึ้นเพราะเงื่อนไขข้อตกลงที่ควรจะส่งผลยุติความบาดหมางระหว่างกันมากกว่า การเรียกร้องจึงยังคงดำเนินต่อมาในรัฐบาลมุนแจอิน ซึ่งยกประเด็นประวัติศาสตร์ขึ้นมาให้ความสำคัญโดยไม่สนว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น จนบางช่วงความสัมพันธ์แย่ลงถึงจุดต่ำสุดขนาดที่สองฝ่ายคว่ำบาตรใส่กัน โดยมีปัญหา “แรงงานบังคับ” ในยุคอาณานิคมเข้ามาผสมกับการเรียกร้องประเด็นหญิงบำเรอที่ยังไม่ยุติง่ายๆ

เกาะเรือรบกับแรงงานบังคับ

ขณะที่ญี่ปุ่นสกัดไม่ให้ประสบการณ์ของหญิงบำเรอได้บันทึกเป็นความทรงจำของโลกมาจนบัดนี้ ในตอนนั้นญี่ปุ่นยังตอกย้ำบาดแผลคนเกาหลีใต้ด้วยการดึงดันที่จะขึ้นทะเบียน ‘สถานที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยเมจิ’ (the sites of Meiji Industrial Revolution) รวม 23 แห่งใน 11 เมืองของญี่ปุ่นเป็น ‘มรดกโลก’ (World Heritage) ให้ได้ ทั้งที่เกาหลีใต้ทักท้วงว่าสถานที่บางแห่งเคยใช้แรงงานบังคับชาวเกาหลี เนื่องจากการขึ้นทะเบียนนี้มีขึ้นปี 2015 จึงอาจมองได้ว่าปัญหาแรงงานบังคับที่ผุดขึ้นมาเป็นประเด็นกระทบกระทั่งอาจถูกกระตุ้นจากความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในเวทีดังกล่าว

ญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าสถานที่เหล่านั้นซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการถลุงเหล็ก ต่อเรือและเหมืองถ่านหิน เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยมองเชื่อมโยงกับบริบทโลกในแง่การเรียนรู้และรับเอาเทคโนโลยีจากชาติตะวันตกมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นของตนเองจนทำให้ญี่ปุ่นทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในชาติชั้นนำได้ น่าสนใจว่าคำบรรยายมรดกโลกนี้แบ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมออกเป็นสามช่วงคือ 1) ปลายทศวรรษ 1850 ถึงต้นทศวรรษ 1860 2) ทศวรรษ 1860 ถึงสิ้นทศวรรษ 1880 และ 3) ปี 1890-1910 ทั้งๆ ที่สมัยเมจิสิ้นสุดลงปี 1912

นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งเพื่อเลี่ยงการโต้แย้งของเกาหลีใต้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนโดยยืนกรานว่ามีการบังคับใช้แรงงานเกาหลีในที่ดังกล่าว โดยปี 1910 เป็นต้นไปคาบสมุทรเกาหลีเริ่มถูกญี่ปุ่นปกครองเป็นอาณานิคม อีกอย่างคงเป็นเพราะไม่ต้องการเอ่ยถึงข้อครหาของเกาหลีใต้ในการบรรยายคุณค่าของสถานที่เหล่านั้น เห็นได้ชัดว่าในการรำลึกถึงยุคแห่งการปฏิวัติสู่ความทันสมัย ญี่ปุ่นตั้งใจจดจำบางส่วนในความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ขณะที่กลบเกลื่อนข้อเท็จจริงและมลทินบางด้านเบื้องหลังพัฒนาการของประเทศตน

สถานที่ที่เกาหลีใต้ต่อต้านการขึ้นทะเบียนอย่างมากจากปัญหาแรงงานบังคับคือ เกาะฮะชิมะ (Hashima) หรือกุนคังจิมะ (Battleship Island) เกาะที่สร้างขึ้นรูปร่างคล้ายเรือรบลอยอยู่นอกฝั่งจังหวัดนะงะซะกิ ที่นี่เคยเป็นเหมืองถ่านหินของบริษัทมิสซูบิชิก่อนจะปิดตัวไปและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในปัจจุบัน ด้วยบรรยากาศของอาคารร้างเหมือนเมืองขนาดย่อมๆ ที่มีสิ่งของเครื่องใช้ปล่อยทิ้งไว้ราวกับผู้คนอันตรธานไปอย่างเฉียบพลันจนดูน่าขนลุก จึงไม่น่าแปลกที่ที่แห่งนี้กลายเป็นโลเคชันถ่ายทำหนังผีเรื่องหนึ่งของไทย

เกาะเรือรบ (Gunkanjima / Battleship Island) | ภาพจาก Nagasaki Prefecture via UNESCO

จากการต่อรองช่วงปี 2015 ทำให้แหล่งอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ผ่านการอนุมัติเป็นมรดกโลกรวมทั้งกุนคังจิมะ โดยในข้อตกลงญี่ปุ่นให้สัญญาที่จะจัดแสดงข้อมูลชี้แจงว่า ที่แห่งนี้เคยมีการใช้แรงงานบังคับชาวเกาหลีให้เป็นที่รับรู้ จากข้อถกเถียงนี้ในเวที UNESCO ปมแรงงานบังคับจึงกลายเป็นที่จับจ้องจากสาธารณชนเกาหลีมากยิ่งขึ้นพร้อมไปกับการต่อต้านข้อตกลงยุติปมหญิงบำเรอที่เกิดขึ้นปลายปีเดียวกัน

คงไม่มีภาพใดแจ่มชัดไปกว่าภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ Battleship Island ที่ออกฉายปี 2017 ซึ่งมองได้ว่าเป็นอีกวิธีที่เกาหลีใต้ถ่ายทอดให้โลกได้รู้ถึงความเลวร้ายที่ญี่ปุ่นเคยทำกับคนเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่ปรากฏท้ายสุดของตัวหนังที่ทวงถามสัญญาที่ว่า ญี่ปุ่นจะจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานบังคับในแหล่งอุตสาหกรรมมรดกโลก ปมอดีตนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของมุนแจอินกับชินโซ อาเบะ ย่ำแย่ถึงขีดสุดจากคำสั่งศาลที่ให้บริษัทญี่ปุ่นชดเชยแก่แรงงานบังคับในปีต่อๆ มา

ญี่ปุ่นอ้างว่าตนได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้กับ UNESCO ด้วยการเปิดศูนย์ข้อมูลมรดกทางอุตสาหกรรม (Industrial Heritage Information Center / IHIC) ขึ้นที่ที่ทำการกระทรวงมหาดไทย ย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว ในเดือนมีนาคมปี 2020 อย่างไรก็ดีในปีต่อมาเมื่อคณะกรรมการมรดกโลกลงพื้นที่ตรวจดูว่า IHIC จัดแสดงข้อมูลว่าด้วยแรงงานบังคับไว้เพียงใด คณะกรรมการฯ สรุปว่าญี่ปุ่นยังดำเนินการไม่พอในการให้ข้อมูลตามที่เกาหลีใต้เรียกร้อง ทั้งยังมีความพยายามบิดเบือนว่าไม่มีการพบเห็นแรงงานบังคับในกุนคังจิมะ

จุลสาร We are Tomodachi ฉบับออนไลน์ที่ทางการญี่ปุ่นเผยแพร่เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับญี่ปุ่นแก่คนต่างชาติ ได้ลงบทความแนะนำ IHIC ไว้และเชิญชวนให้ไปศึกษาหาความรู้ แต่ทั้งที่ญี่ปุ่นอ้างว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นตามพันธะสัญญาดังที่กล่าว เนื้อหาของบทความกลับไม่ได้เอ่ยถึงแรงงานบังคับชาวเกาหลีแม้แต่น้อย จะมีก็แต่เพียงเนื้อหาว่าด้วยความน่าทึ่งของแหล่งอุตสาหกรรมเหล่านั้น จนดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะเบียดบังอำพรางจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของชาติตน

ทั้งที่ข้อถกเถียงนี้เป็นที่รับรู้ทั่วกันแล้วตั้งแต่ช่วงการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อหลายปีก่อน โดยสื่อนานาชาติก็ประโคมข่าวการเผชิญหน้าและหาข้อยุติระหว่างสองชาติ อีกทั้งยังเรื่องที่ UNESCO ฟันธงอย่างโจ่งแจ้งว่าญี่ปุ่นยังไม่ได้ทำตามสัญญา แถมปัญหาก็ยืดเยื้อบานปลายในความสัมพันธ์ เมื่อเทียบกับว่าญี่ปุ่นตั้งใจให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และหน้าตาของประเทศในสังคมโลก ทำให้ความรุ่งเรืองที่เคยมีมาในอดีตเป็นที่รับรู้และยอมรับ (recognize) ในระดับนานาชาติ ญี่ปุ่นกลับไม่ได้สิ่งนั้นสักเท่าไหร่

ชาตินิยมเชิดชูอดีต

อาจมองได้ว่า ‘การเป็นที่ยอมรับ’ นับหน้าถือตาในประชาคมระหว่างประเทศทำหน้าที่ ‘ทดแทน’ (compensate) เชิงจิตวิทยาต่อสถานะอำนาจของญี่ปุ่นที่ลดน้อยถอยลงและถูกท้าทายจากการทะยานขึ้นเทียบชั้นของชาติอย่างจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งด้านศักยภาพ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและบทบาทที่เพิ่มขึ้นในกิจการโลก มองในอีกแง่ การแสวงหาการรับรองและให้คุณค่าจากประชาคมโลก อย่างการมีสถานที่ในประเทศเป็นมรดกของมนุษยชาติ ช่วยหล่อเลี้ยงความรู้สึกชาตินิยมที่อาศัยความภาคภูมิใจในอดีตที่ญี่ปุ่นเคยมีฐานะ ‘ที่หนึ่งของเอเชีย’ เป็นวัตถุดิบสำคัญ

น่าสังเกตว่า ‘เนื้อหาของชาตินิยม’ ที่ญี่ปุ่นส่งเสริม แม้ในบรรดากลุ่มอนุรักษนิยม (ฝ่ายขวา) ที่จุดสนใจน่าจะอยู่ที่การทำให้ชาติเข้มแข็งและยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง กลับมุ่งเน้นไปที่การอยากให้ญี่ปุ่น ‘เป็นส่วนหนึ่งของโลก’ ‘มีมาตรฐานโลก’ ‘มีบทบาทในโลก’ และ ‘เป็นที่ยอมรับในโลก’ อุดมคติเช่นนี้อาจเป็นผลจากการบ่มเพาะหล่อหลอมแนวคิดแบบ ‘สากลนิยม’ (internationalism) ในสังคมหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามและช่วงที่ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์เรื่องบทบาทตอนที่กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ การฟื้นคืนสถานะในโลกจึงยังเป็นปมติดค้างและตัวชี้วัดที่ผลักดันการต่างประเทศของญี่ปุ่น

เวทีมรดกโลกสนองตอบสิ่งนี้ให้แก่ญี่ปุ่นได้ โดยจะเห็นว่าการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นวิธีย้ำวาทกรรมแบบเชิดชูอดีตอันยิ่งใหญ่ ขณะที่ก็เสนอภาพการเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับระบบโลกและการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานโลกอย่างที่ญี่ปุ่นบรรยายถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในสมัยเมจิ แต่การสนองชาตินิยมด้วยวิธีนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อการเน้นความโชติช่วงในอดีตของญี่ปุ่นก็หนีไม่พ้นที่จะพัวพันกับปม ‘ทหารนิยม’ ‘การแผ่จักรวรรดิ’ และสงครามที่ญี่ปุ่นพยามยามกลบบังไม่ให้ถูกกล่าวโทษซ้ำๆ จากชาติที่เป็นเหยื่อการกระทำของตน

การที่ญี่ปุ่นเลือกบันทึกและจดจำบางส่วนของประวัติศาสตร์ โดยผลักไสไม่ยอมรับข้อเท็จจริงอีกด้านดูจะลดทอนอุดมคติของ UNESCO และการได้ศึกษาบทเรียนทั้งดีและร้ายในอดีต ความดื้อดึงไม่ทำตามข้อตกลงยังส่งผลให้ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์จากสังคมภายนอก และถูกมองในเชิงลบมากกว่าที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากการมีสถานที่ที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีแต่จะส่งผลบั่นทอนวัตถุประสงค์ของการแสวงหาเกียรติภูมิจากการเป็นที่ยกย่องชื่นชมระดับโลก

แนวโน้มที่ต่างฝ่ายจะไม่ลดราวาศอก

การใช้เวทีมรดกโลกพลิกฟื้นและหวนชื่นชมอดีตแบบ ‘เลือกปฏิบัติ’ ของญี่ปุ่นยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง เหตุการณ์ล่าสุดในปีนี้สะท้อนรูปแบบดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และไม่วายกลายเป็นปมกระทบกระทั่งขึ้นอีกครั้งในความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ก่อนหน้าที่ผู้นำเกาหลีคนใหม่จะผันจุดยืนมากระชับมิตรกับญี่ปุ่น แต่จากแนวโน้มในเวทีมรดกโลกที่ชี้ให้เห็นก็ส่อเค้าว่าปัญหาประวัติศาสตร์จะยังคงตามมารังควานการหันมาคืนดีกันของรัฐบาลทั้งสอง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ญี่ปุ่นได้ยื่นเสนอเหมืองแร่เงินและทองคำบนเกาะซาโด (Sado) ในจังหวัดนีงะตะ ให้เข้าอยู่ในรายชื่อมรดกโลกสำหรับปี 2023 ซึ่งผลการพิจารณาที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกาะซาโดไม่ได้อยู่ในรายชื่อ โดยคณะกรรมการฯ ผู้ตัดสินระบุว่าญี่ปุ่นส่งข้อมูลมาไม่ครบ อย่างไรก็ดีเช่นเดียวกับแหล่งอุตสาหกรรมยุคเมจิ เกาหลีใต้อ้างว่าเหมืองเหล่านี้ก็เป็นที่ที่ชาวเกาหลีถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานบังคับช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และคัดค้านการยื่นเสนอของญี่ปุ่นตั้งแต่ได้ข่าวการตัดสินใจเมื่อปลายปีที่แล้ว

เหมืองแร่เงินและทองคำเกาะซาโด | ภาพจาก Sado Sightseeing Navi

อันที่จริงรัฐบาลคิชิดะได้สั่งชะลอการยื่นขอไว้ก่อนเพื่อไม่เป็นการเติมเชื้อไฟให้กับปัญหาแรงงานบังคับที่ติดค้างแก้ไม่ตกอยู่ในหลายแนวหน้าทั้งใน UNESCO และศาลเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดีนักการเมืองในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) พรรครัฐบาลฝ่ายขวา โดยการนำของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอเหมืองเกาะซาโดเป็นมรดกโลกตามแผนในปีนี้ โดยไม่ต้องฟังเสียงคัดค้านจากใคร เห็นได้ชัดว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นวาระของบรรดานักการเมืองฝ่ายขวาที่มุ่งส่งเสริมชาตินิยมในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นบรรยายคุณค่าของเหมืองบนเกาะว่าเป็นแหล่งผลิตทองคำรายใหญ่ระดับต้นๆ ของโลกมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา) ทองจากที่นี่หมุนเวียนในระบบการเงินโลก ทั้งยังสะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยียุคโบราณและยุคใหม่ในการทำเหมือง ด้วยประวัติอันยาวนาน ประเด็นการใช้แรงงานบังคับเกาหลีในที่แห่งนี้จึงเป็นเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นก็เลือกที่จะขึ้นทะเบียนสถานที่ดังกล่าวจนถึงแค่ศตวรรษที่ 19 เพื่อเลี่ยงข้อโต้แย้งของเกาหลีใต้

การที่เหมืองบนเกาะซาโดไม่ผ่านการพิจารณาดูจะทำให้การสานสัมพันธ์เข้าหากันของผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ไม่ต้องเผชิญสภาวะกระอักกระอ่วนจากปมปัญหาเรื้อรังจากอดีต ถือเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้การกระชับพันธมิตรสามฝ่ายญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ เป็นไปได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานด้านความมั่นคงของโลกภายหลังรัสเซียเปิดศึกบุกยูเครน

ถึงยังไงญี่ปุ่นก็ตั้งใจจะเสนอเหมืองเกาะซาโดเป็นมรดกโลกให้ได้อีกในปีหน้า แต่หากญี่ปุ่นยังคงยืนกรานปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่มีชาวเกาหลีผู้เคยถูกกดขี่ร่วมอยู่ในความทรงจำ และใช้ UNESCO เพียงเพื่อเสริมเกียรติภูมิของชาติตนเท่านั้นแล้ว คนเกาหลีใต้ที่บ่มเพาะความเป็นชาติร่วมกันมาจากเนื้อหาประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปลดแอกจากญี่ปุ่นก็จะยังคงมองการกดดันให้ญี่ปุ่นรำลึกถึงอดีตอย่างซื่อตรงเป็นภารกิจชาตินิยมที่ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นแล้วในเวทีมรดกโลกสองชาตินี้จึงยังคงจะไม่ลดราวาศอกให้กันได้โดยง่าย

อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม


Sites of Japan’s Meiji Industrial Revolution: Iron and Steel, Shipbuilding and Coal Mining

Emergence of Industrial Japan in the Meiji Era: Industrial Heritage Information Centre

Consultations between Gov’t, Forced Labor Victims Hit Snag

Japan Says may Cut UNESCO Funds over Nanjing Massacre Move

Voices of the “Comfort Women”: The Power Politics Surrounding the UNESCO Documentary Heritage

Japan Wants to Showcase Gold Mines’ History. Just Not All of It.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save