fbpx
โควิดและโอกาสของญี่ปุ่นในยุทธศาสตร์ความมั่นคง

โควิดและโอกาสของญี่ปุ่นในยุทธศาสตร์ความมั่นคง

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อาจฟังดูเพ้อฝัน แต่หากการตัดสินใจของผู้นำชาติต่างๆ วางอยู่บนฐานคิดที่ว่า ชะตากรรมของมวลมนุษย์และผลประโยชน์ของรัฐผูกโยงกันอย่างแยกไม่ออก วิกฤตโควิดน่าจะช่วยย้ำให้เห็นความจำเป็นที่นานาชาติจะต้องร่วมมือกันและแก้ปัญหาด้วยความสมานฉันท์กว่านี้ อุดมคติเช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้จริง ที่จริงแล้ว เรามีทฤษฎีและข้อเสนอไม่น้อยที่ชี้ว่านั่นคือ ‘สภาวะอันควรจะเป็น’ เสียด้วยซ้ำ แต่น่าเสียดายที่ภาพสภาวการณ์ (scenario) เช่นนั้นอาจต้องอาศัยองค์ประกอบต่างไปจากที่โลกมีอยู่เวลานี้ ความหวังดังกล่าวจึงดูไร้พลังที่จะผันแปรบรรยากาศที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของมหาอำนาจ ณ ตอนนี้

คงเห็นกันไม่ยากว่า สิ่งที่ผลักดันวาทะและท่าทีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือการมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู วิกฤตระดับโลกไม่ได้พลิกวิถีคิดที่ครอบงำผู้นำทั้งสองฝ่ายแม้แต่น้อย กลับยิ่งทำให้ความเป็นปฏิปักษ์ปรากฏชัดและกลายเป็นบริบทให้เล่นงานซ้ำเติมกัน สิ่งที่เด่นขึ้นมาในภาวะวิกฤตคือแนวคิด ‘ชาตินิยม’ ที่ยึดประโยชน์ของรัฐตนเป็นที่ตั้ง จนเบียดบังหลัก ‘สากลนิยม’ ที่เห็นคุณค่าของการพึ่งพาซึ่งกัน เหตุการณ์อย่างการสาดโคลนเรื่องต้นตอโควิด การเมืองในองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างการกีดกันไต้หวัน และการที่สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์กับองค์การฐานที่เข้าข้างจีนเกินไป หรือการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ไม่สามารถออกข้อมติให้ยุติสงครามทั่วโลกเพื่อร่วมกันต่อสู้โควิดได้ ล้วนตอกย้ำบรรยากาศการเล่นเกมอำนาจ มากกว่าที่จะเห็นค่าของการรับมือปัญหาร่วมกัน

ภายใต้บรรยากาศนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนใช้คำอย่าง ‘การหย่าร้าง’ (decouple) และ ‘สงครามเย็น’ (cold war) บรรยายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ แนวโน้มเช่นนี้ยังไม่วายถูกผลิตซ้ำในวาทกรรมวิชาการ โดยนับแต่ไวรัสระบาด มีบทวิเคราะห์ไม่น้อยที่มุ่งประเมินความสัมพันธ์ของมหาอำนาจจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ หรือสถานะอำนาจที่อาจเปลี่ยนไปจากนี้ บรรยากาศเช่นนี้ส่งผลให้รัฐอำนาจรองทั่วโลกต้องปรับตัวไปตามความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้น ญี่ปุ่นในฐานะรัฐที่มีความเกี่ยวพันกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องจับทิศทางลมและ “อ่านบรรยากาศ” (kuki wo yomu) เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ให้ตนอยู่รอดได้ ท่ามกลางการเมืองโลกที่กำลังแบ่งขั้ว โดยมีจีนผงาดขึ้นมาทางฝั่งเอเชีย

วิกฤตโควิดได้ตอกย้ำความรับรู้ในหมู่พันธมิตรโลกเสรีซึ่งมีญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ให้เห็นว่าคงยากที่จะวางใจจีน และเห็นความแข็งกร้าวมากขึ้นของจีน โดยจีนเริ่มใช้วิธีการข่มขู่และตอบโต้ที่เรียกกันว่า ‘wolf-warrior diplomacy’ ซึ่งไม่ยอมให้ต่างชาติโจมตีว่าร้ายตนฝ่ายเดียว แต่ต้องตอกกลับด้วยความขึงขังร้อนแรง ที่ผ่านมา จีนเข้าใจผลเสียของภาพลักษณ์เช่นนี้และพยายามแก้ไขโดยใช้วาทะอย่าง ‘การทะยานอย่างสันติและการเผื่อแผ่ผลประโยชน์แก่นานาชาติ’ อย่างไรก็ตาม การเมืองของมหาอำนาจในช่วงโควิดดูจะไม่ได้ช่วยส่งเสริม soft power ของจีนเท่าไหร่ ทั้งจากท่าทีที่มุ่งปกป้องจุดยืนและผลประโยชน์ในหลายแนวหน้า ไม่ว่าไต้หวัน ฮ่องกง ทะเลจีนใต้ จนดูเป็นการฉวยโอกาสในช่วงวิกฤต ซึ่งยิ่งเป็นการยืนยันภาพลักษณ์เชิงลบและความหวาดระแวงเดิมที่รัฐต่างๆ มีต่อจีน (self-fulfilling prophecy)

 

โอกาส ‘3-C’ ในยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่โดยมี ‘ความหวาดระแวงจีน’ เป็นแกนกลาง แต่ก็ใช้แนวทางที่ยืดหยุ่น โดยด้านหนึ่ง พยายามผูกมิตรเข้าหาจีน (engage) ในฐานะผลประโยชน์หลักทางเศรษฐกิจ ขณะที่ก็รุกเข้าหาสหรัฐฯ อย่างแข็งขันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อกระชับพันธมิตรไว้ถ่วงดุลอำนาจกับจีน (balance) โดยนายกฯ ชินโซ อาเบะ เกรงว่า จีนที่ยิ่งใหญ่อาจประพฤติตนบุ่มบ่ามตามอำเภอใจ และพยายาม “ใช้กำลังเปลี่ยนแปลงระเบียบที่เป็นอยู่” ของเอเชีย

วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นได้เสนอโอกาสเช่นไรต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นในยามที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ทวีความตึงเครียดมากขึ้น บทความนี้มองว่าความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ชี้ให้เห็นความต่อเนื่องในยุทธศาสตร์ข้างต้น นั่นคือพยายามเขยิบเข้าหาจีน (tentatively engage) ขณะที่ก็สร้างความเป็นเอกภาพกับโลกเสรี โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ในการสอดส่องและตรวจตราท่าทีและพฤติกรรมของจีน

ในการสำรวจโอกาสด้านยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นอาจหยิบฉวยในช่วงโควิด บทความนี้ขอยืมสโลแกน 3-C เป็นจุดตั้งต้น โดย ‘3-C’ ที่ว่านี้ เป็นคำที่ใช้รณรงค์ในญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้คนปฏิบัติตัววิถีใหม่ โดยให้เลี่ยงพื้นที่ปิดทึบ (closed) ที่ที่คนแน่น (crowded) และเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด (close-range interaction) บทความนี้มุ่งมอง 3-C ได้แก่ รัฐธรรมนูญ (constitution) นโยบายสกัดกั้น (containment) และคุณูปการระหว่างประเทศ (contribution) โดยมองว่าสามแนวหน้านี้เป็นหัวข้อใหญ่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน การมองพัฒนาการช่วงโควิดในด้านเหล่านี้น่าจะช่วยให้เห็นแนวโน้มปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจหลักและรองในเอเชีย ตลอดจนระเบียบของภูมิภาคที่จะดำเนินต่อไปในระยะยาว

 

ภาวะฉุกเฉินกับข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ

 

ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในช่วงสิบปีมานี้ผันความสนใจไปยังปัญหา ‘ความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ (traditional security) คือการสร้างกลไกและศักยภาพเพื่อปกป้องอธิปไตย และเขตแดนของประเทศจากภัยทางทหาร การต้องเตรียมการรับมือกับจีนเป็นแรงกระตุ้นหลักที่ทำให้แนวทางนี้ ซึ่งมีฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) เป็นผู้ผลักดัน กลายมาเป็นกระแสหลักในการวางยุทธศาสตร์ นี่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่สำหรับชาติที่มีข้อจำกัดอย่างรัฐธรรมนูญที่ห้ามเรื่องสงครามและการทหาร เดิมที ข้อจำกัดนี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ ในการรับประกันความปลอดภัย และหันไปสนใจ ‘ความมั่นคงแบบใหม่’ (non-traditional security) อย่างภัยพิบัติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องด้านการทหาร เป็นสำคัญ

แม้ว่าวิกฤตโควิดจะเป็นปัญหา ‘ความมั่นคงแบบใหม่’ ที่กระจายข้ามพรมแดน แต่ก็เห็นได้ว่าบรรยากาศของการต่อสู้บนฐานความมั่นคงแบบดั้งเดิม เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐก็ดำเนินไปพร้อมกัน ญี่ปุ่นไม่ตกกระแสการเมืองโลกนี้ โดยบริบทที่เกิดขึ้นเอื้อให้ฝ่ายขวาในญี่ปุ่นผลักดันนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นสมัยอาเบะ (2012) ได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดข้อจำกัดในการปรับเข้าหาความมั่นคงที่เน้นการถ่วงดุลอำนาจและพันธมิตรทางทหาร ในเรื่องนี้ อุปสรรคสำคัญหนึ่งของญี่ปุ่นคือรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งเป็นหัวใจของการห้ามใช้กำลัง ข้อจำกัดนี้เป็นที่ถกเถียงมานาน แต่ตราบใดที่มติมหาชนยังคงยึดมั่นแนวทางใฝ่สันติ การแก้กฎหมายสูงสุดที่ต้องผ่านการลงประชามติคงยังเป็นไปได้ยาก

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสร้างความยืดหยุ่นด้านความมั่นคงอย่างการจัดตั้งและขยายบทบาทของ ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ (SDF) ด้วยการ ‘ตีความ’ มาตรา 9 โดยนายกฯ อาเบะมองว่า ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขมาตรานี้ สถานะทางกฎหมายของ SDF ก็จะยังเป็นที่กังขา และได้ตั้งเป้าว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ในปี 2020 โดยต้องการกำหนดให้ชัดว่าญี่ปุ่นสามารถมี SDF ได้ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นกลับชี้ว่า แม้ประชาชนมากขึ้นจะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้สอดรับกับยุคสมัย แต่โดยส่วนใหญ่ก็มองว่าไม่จำเป็นต้องรีบแก้ตามเงื่อนเวลาที่อาเบะตั้งไว้ อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิดอาจสร้างหลักเหตุผลใหม่ในการพิจารณาเรื่องนี้ และส่งผลในการลดอุปสรรคต่อนโยบายทางทหารในแบบที่ไม่มีใครคาดมาก่อน

ปัญหารัฐธรรมนูญที่โควิดเผยให้เห็นคือ การขาดข้อบัญญัติที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลในยามวิกฤต ปัญหานี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้การประกาศภาวะฉุกเฉินในกรณีโควิดทำได้ช้าและไม่เด็ดขาด จนเกิดเสียงวิจารณ์อย่างมาก ทั้งนี้ การต้องดำเนินการผ่านรัฐสภาทำให้ต้องประนีประนอมกับฝ่ายค้านและพยายามไม่ให้มาตรการที่ออกมาละเมิดหลักเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับประกัน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิม นั่นคือกฎหมายรับมือไข้หวัดใหญ่ระบาด ที่ตราออกมาหลังเกิด ‘ไข้หวัดใหญ่ 2009’ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้ด้วยกฎหมายฉบับใหม่นี้คือ การให้อำนาจผู้ว่าการจังหวัด ‘ร้องขอ’ ประชาชนและธุรกิจให้งดกิจกรรมเป็นการชั่วคราว โดยปราศจากบทลงโทษต่อผู้ไม่ปฏิบัติตาม

นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘soft lockdown’ แบบญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลทำได้แค่ ‘ขอความร่วมมือ’ ประชาชน จุดนี้สะท้อนคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่ง ‘จำกัดอำนาจรัฐ’ ด้วยเป้าหมายในการร่างที่ต้องการกำราบอำนาจนิยมและลัทธิทหารที่ดำเนินมาก่อนญี่ปุ่นแพ้สงคราม การเน้นคุณค่าเสรีประชาธิปไตยถือเป็นอุดมคติที่น่ายกย่อง แต่ในยามที่ความปลอดภัยสาธารณะเผชิญภาวะคับขัน รัฐบาลอาจขาดเครื่องมือหรือตัดสินใจได้ไม่ทันท่วงที ที่จริงแล้ว มีการเสนอให้แก้ข้อบกพร่องนี้มาหลายระลอก รวมถึงในร่างรัฐธรรมนูญของ LDP ฉบับปี 2018 ด้วย โดยเหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นปัญหามาก่อน ก็ไม่ได้มาจากการที่รัฐบาลคาดคะเนถึงวิกฤตอย่างโควิด แต่เพราะปัญหานี้เป็นหัวข้อหนึ่งในการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือภัยคุกคามทางทหารจากชาติอื่น

ที่ผ่านมาอาเบะมองว่า การป้องกันประเทศมีช่องโหว่จากระบบกฎหมายที่สร้างข้อจำกัดด้านการทหาร เพื่อที่จะต่อกรภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพ และ “ไร้รอยต่อ” (kireme no nai) รัฐบาลได้ปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งทำให้บทบาท SDF ยืดหยุ่นขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีรอยต่อหลงเหลืออยู่ นั่นคือการที่รัฐบาลไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ ในยามฉุกเฉิน เช่นนี้แล้วโควิดและปัญหาภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจึงเป็นสถานการณ์ตัวอย่างที่ฝ่ายขวาอาจชี้ให้เห็นในการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญนับจากนี้ และเน้นย้ำว่าหากต้องรับมือกับภัยที่ฉับพลันและหนักหน่วงยิ่งกว่าอย่างการรุกรานจากจีนหรือเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นจะเผชิญอุปสรรคเช่นไร

ท่ามกลางวิกฤตโควิด คงไม่ใช่จังหวะเวลาที่รัฐบาลจะหาทางแก้รัฐธรรมนูญตามเส้นตายที่วางไว้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเรื่องภาวะฉุกเฉินจะกลายเป็นอีกประเด็นที่ผสมโรงกับข้อถกเถียงว่าด้วยมาตรา 9 และทำให้หลักเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายที่ใช้มากว่า 70 ปีนี้มีเพิ่มมากขึ้น จึงอาจมองได้ว่าโควิดเป็นบริบทที่เข้ามา “บ่อนเซาะความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจปูทางไปสู่การแก้มาตรา 9 ในที่สุด

ฝ่ายอนุรักษนิยมคงเข้าใจดีว่า การแตะต้องหัวใจแห่งสันตินิยมอย่างมาตรา 9 คงไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจถูกต่อต้านอย่างหนักจากสาธารณชน แต่สิ่งที่อาจเป็นเป้าหมายในเวลานี้คือ ‘การทลายกำแพง’ ทัศนคติของประชาชนที่มีมานานว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องหาทางเริ่มกระบวนการแก้ไข หรือพยายามแก้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในประเด็นอะไรก็ได้ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การแก้ไขประเด็นใหญ่อย่างมาตรา 9 ได้ในที่สุด

 

การกระชับแนวร่วมเพื่อปิดล้อมจีน

 

โอกาสในด้านที่สองเกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีน หากมองภาพรวมความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีนช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เป็นไปอย่างกระอักกระอ่วน หรือไม่ก็บาดหมางจากกรณีพิพาทด้านเขตแดน กระทั่งช่วงไม่นานมานี้เมื่อจีนถูกสหรัฐฯ โจมตีหนักขึ้น จึงเริ่มโอนอ่อนเข้าหาเพื่อนบ้านในเอเชีย ที่จริงญี่ปุ่นมีแผนต้อนรับการเยือนของผู้นำจีนในปีนี้ ก่อนที่โควิดจะเข้ามาขัดจังหวะจนต้องล้มเลิกไป นี่จึงสะท้อนให้เห็นช่วงของการ ‘ขยับเข้าหาจีน’ (tentative engagement) ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ การส่งความช่วยเหลืออย่างเครื่องมือแพทย์ให้แก่กัน ยังตอกย้ำถึงบรรยากาศการเริ่มหันหน้าเข้าหากันของทั้งสอง

กระนั้นก็ตาม การเมืองระหว่างมหาอำนาจได้ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ของชาติเพื่อนบ้านทั้งสอง จีนกลายเป็นเป้าโจมตีของสหรัฐฯ เรื่องความไม่โปร่งใสและไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งถูกมองเป็นปัญหาของระบอบอำนาจนิยม การใช้การทูตแบบ ‘กัดไม่ปล่อย’ ต่อชาติที่ต่อว่าจีน ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นในฐานะแนวหน้าต่อสู้วิกฤต ปฏิกิริยาของญี่ปุ่นที่สะท้อนทัศนคติเช่นนี้ เห็นได้จากการเร่งให้ธุรกิจย้ายฐานออกจากจีน โดย David Arase ผู้รู้ด้านญี่ปุ่นมองการที่อาเบะทุ่มงบก้อนใหญ่ให้กับเรื่องนี้ว่า คงไม่ใช่การมองปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความมั่นคงด้วย เรียกว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เพราะการพึ่งพิงที่น้อยลง ย่อมลดความได้เปรียบของจีนในการต่อรองกับญี่ปุ่น วิกฤตทำให้ธุรกิจเห็นว่าการพึ่งจีนอย่างมากอาจก่อปัญหาจากมาตรฐานการจัดการภายในของจีน และการใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือกดดันทางการเมือง

วิกฤตโควิดยังสร้างบริบทที่ต่อเนื่องในการถ่วงดุลกับจีน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นลงทุนลงแรงมา ไม่ว่าจะด้วยการกระชับพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือการขยายเครือข่ายพันธมิตรเผื่อไว้ในกรณีที่สหรัฐฯ มีท่าทีไม่ชัดเจน นั่นเป็นเพราะนับแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นผู้นำ นโยบายต่อเอเชียก็เกิดความปั่นป่วน การมุ่งผูกมิตรกับเกาหลีเหนือและรัสเซีย ขณะที่โจมตีพันธมิตรดั้งเดิมทำให้ญี่ปุ่นไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ ยังจะคงคุ้มครองตนหรือไม่ แต่วิกฤตโควิดทำให้เห็นว่าสหรัฐฯ ‘เอาจริง’ กับจีนขนาดไหน และถึงแม้ทรัมป์จะปฏิเสธนโยบายที่มีมาอย่าง Pivot to Asia แต่ภายใต้กรอบอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) การสกัดกั้นจีนก็ยิ่งชัดเจนขึ้น โดยสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยทรัมป์คือ การย้ำความเป็นพันธมิตรกับไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง

วิกฤตยิ่งทำให้แนวโน้มนี้เด่นชัดขึ้น ไต้หวันกลายเป็นแนวหน้าของ ‘แนวร่วมทัดทานจีน’ ของสหรัฐฯ รวมทั้งรัฐอำนาจรองอื่นๆ ต่างประณามจีนที่เล่นการเมืองข้ามช่องแคบแม้แต่ใน WHO โดยสกัดไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วม จนก่อให้เกิดความรู้สึกว่าจีนเห็นประโยชน์อย่างอื่นสำคัญกว่าการกู้วิกฤตร่วมกัน ไต้หวันก็ใช่ว่าจะยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่สามารถใช้การทูตเชิงรุก เรียกความชอบธรรมและการยอมรับจากชาติต่างๆ ด้วยการย้ำความสำเร็จในการรับมือวิกฤตของตน ส่วนญี่ปุ่นก็ใช้โอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันให้มากขึ้น โดยร่วมกับนานาชาติกดดัน WHO ให้รับฟังข้อเรียกร้องของไต้หวัน รวมทั้งส่งสัญญาณให้เห็นความใกล้ชิดอย่างการรับบริจาคหน้ากากอนามัยจากไต้หวัน และยกย่องไต้หวันว่าเป็น ‘มิตรที่สำคัญอย่างยิ่ง’ ในรายงานว่าด้วยการต่างประเทศที่ออกมาในปีนี้

ท่าทีเช่นนี้สอดคล้องกับความพยายามของญี่ปุ่นในการสกัดกั้นจีน โดยด้านหนึ่งคือ การประสานยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับการหันเข้าหาไต้หวันของสหรัฐฯ ในนโยบายอินโด-แปซิฟิก ความเคลื่อนไหวนี้จะยิ่งช่วยกระชับพันธมิตรแบบทวิภาคีให้แน่นแฟ้นไปในทางเดียวกัน ในอีกด้าน นี่ถือเป็นการส่งสัญญาณร่วมกับชาติโลกเสรีอื่นๆ ที่ต่างพากันเห็นใจไต้หวัน ให้เห็นความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ว่าพวกตนไม่เห็นชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของจีน และไม่ได้มอง ‘นโยบายจีนเดียว’ ว่าเป็นฉันทามติสากลที่ตนต้องยึดถือ การเรียกร้องอย่างเป็นเอกภาพนี้อาจส่งสัญญาณให้เห็นความเป็นไปได้ที่นานาชาติอาจปิดล้อมจีน (encircle) หากจีนยังคงท่าทีที่ขัดกับบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับ

นอกจากเรื่องไต้หวันแล้ว การใช้การทูตที่แข็งกร้าวและเลี่ยงการตรวจสอบจากภายนอก ล้วนทำให้นานาชาติยิ่งไม่วางใจจีน การสูญเสียภาพลักษณ์ของการเป็นชาติที่ผงาดอย่างสันติ และแทนที่ด้วย ‘จีนที่ดูเป็นภัย’ ในมุมของญี่ปุ่นย่อมทำให้เกิดเครือข่ายพหุภาคีที่คอยสอดส่องพฤติกรรม และอาจจับมือกันสร้างเครือข่ายปิดล้อมจีนได้ แรงกดดันระดับใหญ่ต่อจีนเช่นนี้ อาจส่งผลช่วยสร้างความยับยั้งชั่งใจ โดยช่วยลดการกระทำตามอำเภอใจ และกล่อมเกลาพฤติกรรมของจีนในระยะยาว ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ดูจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นลงทุนลงแรงไว้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการใช้อำนาจของจีน ขณะที่ก็เขยิบเข้าหาจีนเพื่อลดความบาดหมางระหว่างกันลง

 

คุณูปการในสถานการณ์โควิด

 

ด้านสุดท้ายที่ต้องการพิจารณาในที่นี้ คือการทำประโยชน์ระหว่างประเทศ (international contribution) จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตคือ การที่ชาติต่างๆ ส่งความช่วยเหลือให้ชาติที่ขาดแคลนปัจจัยทางการแพทย์ จนทำให้เกิดศัพท์ใหม่อย่าง ‘การทูตหน้ากากอนามัย’ (mask diplomacy) ขึ้นมาบรรยายปรากฏการณ์นี้ แต่การใช้ความช่วยเหลือและการบริจาคเป็นเครื่องมือทางการทูตนั้น ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในยามที่ปราศจากวิกฤตการณ์ รัฐก็ใช้ ‘การให้’ ผูกสัมพันธ์ระหว่างกันและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติของตน

ญี่ปุ่นส่งเสริมความมั่นคงด้วยวิธีนี้มายาวนาน นับแต่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วงสงครามเย็น จนมาถึงสมัยอาเบะเวลานี้ ที่มีการยกระดับนโยบายเป็น Proactive Peace Contribution หลักเหตุผลของญี่ปุ่นในการให้คุณูปการแก่ชาติอื่นก็มีความสอดคล้องต่อเนื่องมา นั่นคือนอกจากจะเป็นการทำหน้าที่ของรัฐใหญ่ตามสถานะอำนาจแล้ว ยังมองเป็นวิธีผูกมิตรและทำให้นานาชาติเห็นว่า “ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขาดไม่ได้” ประโยชน์ที่เกิดตามมาคือญี่ปุ่นใช้ความเป็นมิตร และ soft power เป็นใบเบิกทางเพื่อเข้าถึงทรัพยากรและวัตถุดิบที่ประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่นมีไม่พอจะจุนเจือเศรษฐกิจและเลี้ยงปากท้องประชากรของตน

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นที่ชาติอื่นๆ เห็นความสำคัญย่อมมีแนวร่วมคอยป้องกันภัยคุกคาม ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อทดแทนข้อด้อยด้านการทหารที่ตนมีอยู่ ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นมองคุณูปการเหล่านี้ว่าจะช่วยสร้างและดำรงเครือข่ายชาติผู้ร่วมอุมการณ์ (like-minded) เพื่อคอยระแวดระวังจีน โดยใช้ความช่วยเหลือเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าญี่ปุ่นสามารถ “เป็นตัวเลือกหนึ่ง” ให้แก่ชาติในเอเชียที่ต้องการหาที่พึ่งในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องเข้าหาจีนเพียงอย่างเดียว ชาติที่ด้อยศักยภาพกว่าในเอเชียจึงยังสามารถต่อรองกับจีนได้โดยไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งของจีนเสียทั้งหมด ซึ่งก็คือแนวทางการรักษาแนวร่วมของญี่ปุ่นในการสอดส่องและสกัดกั้นพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของจีนนั่นเอง

จะเห็นว่า แม้ญี่ปุ่นต้องทุ่มงบประมาณอย่างมากเพื่อจัดการปัญหาโควิดภายในประเทศ แต่ก็เจียดเงินมูลค่าไม่น้อยเพื่อทำประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ นอกจากคำมั่นที่จะบริจาคเงินและสิ่งของแก่ชาติอื่นโดยตรงแล้ว ยังสนับสนุนเงินทุนเพื่อบรรเทาวิกฤตผ่านสถาบันต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือในกรอบภูมิภาคอย่างอาเซียน (ASEAN) หรือกลุ่มชาติในอเมริกา (PAHO) เป็นต้น ญี่ปุ่นยังมีตัวช่วยสำคัญในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยมีตราประทับความเป็นญี่ปุ่นที่ชัดเจน นั่นคือยาต้านไข้หวัด Avigan หรือที่สื่อมักเรียกรัวลิ้นว่า Favipiravia ซึ่งบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยะมะเคมิคอล ของญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาขึ้น ซึ่งมีรายงานว่ายาชนิดนี้รักษาโควิดได้ผลในผู้ป่วยจีนจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวเพิ่มการผลิตและวางแผนแจกจ่ายให้แก่หลายชาติที่ร้องขอ แต่ไม่วาย จีนก็พยายามแข่งขันผลิตยาเดียวกันนี้เพื่อส่งเสริม ‘การทูตหน้ากากอนามัย’ ของตนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่จีนถูกร้องเรียนเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้หลายชาติอาจมีความคลางแคลงใจที่จะพึ่งพาสิ่งของช่วยเหลือจากจีนอยู่ไม่น้อย ยิ่งในกรณีเครื่องมือแพทย์และยาที่เป็นเรื่องความเป็นความตายด้วยแล้ว นอกจากนี้ ในการช่วงชิงบทบาทการสร้างคุณูปการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ชูสโลแกน ความช่วยเหลือที่ ‘เน้นคุณภาพ’ เป็นเรื่องใหญ่ เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างจากความช่วยเหลือจากจีน โดยญี่ปุ่นมั่นใจว่าตนจะได้เปรียบกว่าในเชิงภาพลักษณ์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สถานการณ์โควิดช่วยตอกย้ำให้เห็น

 

โอกาสที่เปิดให้ญี่ปุ่นในแนวหน้า 3-C ที่กล่าวมานี้ ทำให้การปรับยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น เพื่อจัดการปัญหาความมั่นคงจากภัยคุกคามทางทหารดำเนินต่อเนื่องไปได้ง่าย ภายใต้แรงผลักดันของรัฐบาลอนุรักษนิยมและกระแสแนวคิดหวาดระแวงจีนที่ทวีมากยิ่งขึ้นในสังคมญี่ปุ่น บทวิเคราะห์เช่นนี้อาจฟัง ‘ย้อนแย้ง’ ในยามที่วิกฤตซึ่งโลกเผชิญขณะนี้เป็นปัญหาความมั่นคงแบบใหม่ ที่ต้องการความสมานฉันท์และการหันหน้าเข้าหากันระหว่างประเทศมากกว่า

ท่าทีของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นการรับรู้ถึงแนวโน้มของการเมืองในภูมิภาคระยะยาว ที่โควิดเข้ามาปลุกปั่นให้บรรยากาศการต่อสู้และเป็นศัตรูระหว่างมหาอำนาจยิ่งเด่นชัดมากขึ้น โดยทำให้เห็นการแบ่งขั้วที่ชัดเจนและเห็นความแข็งกร้าวของจีนมากขึ้น การปรับทิศทางจากความพยายามผูกมิตรเข้าหามาสู่การพยายามตระเตรียมเครื่องมือและกลไกในยุทธศาสตร์ถ่วงดุลอำนาจ จึงอาจกลายเป็นแนวทางที่จะครอบงำนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของญี่ปุ่นต่อไป และนั่นคงจะเปลี่ยนญี่ปุ่นไปจากเส้นทางที่เคยดำเนินมาในกรอบข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญต่อต้านสงครามและแนวทางใฝ่สันติไม่มากก็น้อย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save