fbpx

เจ็บกี่ครั้งก็ยังไม่จบง่าย: เกาะเหนือที่ญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์ในวิกฤตยูเครน

หากเราถือว่าสนธิสัญญาสันติภาพ (peace treaty) เป็นแบบแผนชี้วัดการยุติความบาดหมางระหว่างรัฐที่เคยทำศึกสงครามกัน การที่ญี่ปุ่นกับรัสเซียยังไม่สามารถทำข้อตกลงสันติภาพกันได้นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ดูจะสะท้อนปัญหาความไม่ไว้วางใจและการไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคในความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับกรณีสองเกาหลี ซึ่งน่าจะเป็นที่ทราบกันดีกว่าว่าชาติทั้งสองยังไม่อาจยุติสงครามระหว่างกันได้ด้วยการทำ ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ ทำให้ ‘ภาวะพักรบ’ (armistice) ยังคงดำเนินต่อเนื่องมานับแต่ปี 1953 กรณีของญี่ปุ่นกับรัสเซียก็เช่นกัน แต่อาจเป็นที่รับทราบกันน้อยกว่าว่า ทั้งคู่ก็มีปัญหาเรื่องข้อตกลงสันติภาพเหมือนกัน ทั้งที่ชาติคู่สงครามฝ่ายตรงข้ามญี่ปุ่น (49 ชาติ) ในสงครามโลกครั้งที่สองต่างลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นไปแล้วตั้งแต่ปี 1951

รัสเซียในคราบสหภาพโซเวียตในเวลานั้นไม่พอใจเงื่อนไขในสนธิสัญญา โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสละและคืนดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดไปในช่วงการขยายจักรวรรดิ จึงไม่ร่วมลงนามกับชาติต่างๆ ประเด็นคาราคาซังด้านดินแดนกลายมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้ญี่ปุ่นกับรัสเซียยังติดขัดเรื่องการบรรลุสันติภาพ และกลายเป็นปัญหาที่ปะปนกับความรู้สึกหวั่นเกรงรัสเซียของญี่ปุ่นจากท่าทีการขยายอำนาจและเป็นภัยคุกคาม นับจากสมัยสงครามเย็นจนมากระทั่งเวลานี้ที่รัสเซียกระทำการรุกรานยูเครน

ดินแดนปัญหาคือ เกาะ 4 แห่งที่เรียงตัวเหนือจังหวัดฮอกไกโดของญี่ปุ่นขึ้นไป และเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะคูริลที่ไล่เรียงเป็นแนวยาวลงมาจากคาบสมุทรคัมชัตคาชายฝั่งรัสเซีย ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังนี้ญี่ปุ่นจึงเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ‘ดินแดนตอนเหนือ’ (hoppou-ryodo / northern territories) ขณะที่รัสเซียเรียกว่า ‘คูริลตอนใต้’ (Southern Kurils) 4 เกาะที่ว่านี้ซึ่งประกอบด้วย เอโตโรฟุ คุนะชิริ ชิโคตันและฮาโบมัย (ตามชื่อญี่ปุ่น) กลายเป็นพื้นที่พิพาทกรรมสิทธิ์ โดยญี่ปุ่นมองดินแดนส่วนนี้ว่าเป็นของตน แต่ถูกรัสเซียยึดไปช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง

ข้อพิพาทเกาะทั้งสี่มีที่มาอย่างไรและเข้ามาเป็นปมปัญหาในวิกฤตยูเครนเช่นไร ข้อเขียนนี้หวังจะให้ภาพโดยคร่าว เพื่อทบทวนความเป็นมาของความขัดแย้งจากมุมมองของญี่ปุ่น ขณะที่วิเคราะห์พลวัตล่าสุดและปฏิกริยาที่ญี่ปุ่นมีต่อข้อพิพาทในบริบทที่รัสเซียเดินหน้าใช้กำลังขยายดินแดน หนึ่งสิ่งที่เด่นชัดคือ การที่ญี่ปุ่นยอมทิ้งความคืบหน้าในการแก้ไขข้อพิพาทที่สั่งสมมาด้วยความพยายามผูกมิตรเข้าหารัสเซียอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนมาแสดงความ ‘แน่วแน่’ เป็นหนึ่งเดียวกับนานาชาติเพื่อจัดการวิกฤต

บทลงโทษแก่ชาติที่ไม่เป็นมิตร

‘ท่าทีแน่วแน่’ (kizentoshita / resolute) กลายเป็นคำที่ผู้สังเกตการณ์ด้านญี่ปุ่นใช้อธิบายการตอบสนองของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อวิกฤตยูเครน ท่าทีนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ญี่ปุ่นมักถูกมองว่าเคยชินกับการหลบเลี่ยง หรือไม่ก็ ‘รีรอดูสถานการณ์’ อยู่ข้างหลังชาติใหญ่อื่นๆ ท่าทีแน่วแน่นี้นอกจากจะเห็นได้ในการร่วมกันคว่ำบาตรกับชาติต่างๆ อย่างไม่ลังเลแล้ว ญี่ปุ่นยังตอบโต้ต่อการที่รัสเซียหยิบไพ่การคืนเกาะเจ้าปัญหาและข้อตกลงสันติภาพขึ้นมาต่อรองแบบที่ไม่ใยดีเท่าไหร่นัก

จากเดิมที่ญี่ปุ่นพยายามเข้าหาและเจรจากับรัสเซียผ่านการสร้างความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันตลอดช่วงทศวรรษ 2010 โดยผู้นำญี่ปุ่น (สมัยนายกฯ ชินโซ อาเบะ) พบปะกับผู้นำรัสเซียหลายต่อหลายครั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์จนดูเหมือนคำมั่นที่ว่า ‘ทั้งสองจะสรุปสนธิสัญญาสันติภาพและรัสเซียจะคืนเกาะพิพาท 2 เกาะให้ญี่ปุ่น’ ดูใกล้ความจริงขึ้นมาทุกขณะ จุดยืนนี้สะท้อนการทูตแบบผูกมิตรเข้าหาของญี่ปุ่น (engagement) เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างละมุนละม่อม

การยึดติดกับผลคืบหน้าที่สั่งสมมาเป็นเวลานานจากแนวทางการทูตดังกล่าว ทำให้หลายครั้งญี่ปุ่นลังเลที่จะดำเนินท่าทีเด็ดขาดต่อวิกฤตโลกที่มีผลกระทบทางอ้อมกับตน ปล่อยให้ชาติอื่นเป็นแนวหน้าจัดการปัญหาขณะที่คอยประคบประหงมผลประโยชน์จากการประนีประนอมกับคู่กรณี โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงท่าทีตามความประสงค์หรือให้ในสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการ ไม่เพียงเฉพาะกรณีรัสเซีย แต่กับจีนและพม่าเราก็เห็นการดำเนินการทูตรูปแบบเช่นนี้ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะ ‘อกหัก’ จากทั้ง 3 กรณี

เมื่อรัสเซียตอบโต้การร่วมคว่ำบาตรกรณียูเครน โดยจัดให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติ ‘ไม่เป็นมิตร’ (unfriendly countries) พร้อมประกาศระงับการเจรจาประเด็นพื้นที่พิพาทที่ดำเนินมาต่อเนื่อง ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อทูตรัสเซียประจำโตเกียว โดยชี้ถึงความไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรมและยืนกรานจะคว่ำบาตรรัสเซียอย่างถึงที่สุด อีกทั้งจะระบุในรายงานประจำปีด้านการต่างประเทศให้ชัดว่าเกาะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น ‘มาแต่เดิม’ (koyuu / inherent) และรัสเซีย ‘ยึดครองโดยผิดกฎหมาย’

ความเคลื่อนไหวนี้ชี้ให้เห็นจุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นของญี่ปุ่นจากที่เคยเลี่ยงข้อความเหล่านี้ ด้วยเกรงจะกระทบการทูตและความสัมพันธ์อันดีที่จะช่วยโน้มน้าวรัสเซียให้ปฏิบัติตามคำมั่น อาจพูดได้ว่าญี่ปุ่น ‘เจ็บตัว’ อีกครั้งกับการคาดหวังกับการทูตแบบผูกมิตรเข้าหา ทำให้ต้องหันมาทบทวนว่าแนวทาง ‘เผื่อทางหนีทีไล่’ (hedging) แบบที่ใช้ ‘การประนีประนอม’ พร้อมไปกับ ‘การกดดันร่วมกับพันธมิตร’ เพื่อจัดการกับคู่กรณีหรือรัฐปัญหา อาจต้องให้น้ำหนักกับแนวทางอย่างหลังมากกว่าแล้วหรือไม่

อันที่จริงเราเริ่มเห็นท่าทีเข้มแข็งของญี่ปุ่นส่งผ่านผู้นำมาจากสมัยอาเบะ สู่โยชิฮิเดะ สุงะ จนมาถึงนายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ คนปัจจุบัน ท่าทีนี้ปรากฏให้เห็นผ่านจุดยืนที่จะช่วยป้องกันไต้หวัน การกระชับพันธมิตรกับสหรัฐฯ และแนวทาง ‘การทูตบนความเป็นจริงยุคใหม่’ (realism diplomacy for a new era) ที่คิชิดะประกาศออกมา (ไม่นานก่อนวิกฤตยูเครน) โดยตั้งมั่นว่าจะธำรงและส่งเสริมหลักคุณค่าเสรีสากล จะร่วมมือแก้ไขปัญหาและความท้าทายระดับโลก และจะปกปักรักษาสวัสดิภาพประชาชนอย่างแน่วแน่

คิชิดะผู้ถูกกังขามาก่อนว่าจะแสดงภาวะผู้นำในยามวิกฤตได้แค่ไหนกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์บังคับ ญี่ปุ่นก็สามารถปรับเข้าหาแนวทางสัจนิยม (realism) แสดงความมุ่งมั่นได้โดยไม่ยึดติดกับการทูตแบบรอมชอม (appease) กรณีการยอมสละประโยชน์ในประเด็นเกาะเหนือ เพื่อร่วมจัดการวิกฤต ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเข้าใจผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าในเชิงการธำรงระเบียบ โดยป้องกันไม่ให้มี ‘แบบอย่างความสำเร็จ’ จาก ‘การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์’ ที่อาจกระทบต่อความอยู่รอดของญี่ปุ่นและชาติต่างๆ

การจัดสรรดินแดนระหว่างญี่ปุ่น-รัสเซียในศตวรรษที่ 19

เมื่อไล่เรียงความเป็นมาปัญหาเกาะเหนือ จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซียที่พลิกผันและปรวนแปรตลอดช่วงประวัติศาสตร์ หากจำกัดการวิเคราะห์เฉพาะสถานะปัจจุบันที่หมู่เกาะนี้อยู่ในครอบครองของรัสเซีย อาจเริ่มไล่เรื่องย้อนไปเพียงแค่ช่วงท้ายสงครามแปซิฟิกช่วงปี 1945 ที่โซเวียตเข้ายึดหมู่เกาะคูริลหลังประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทั้งที่ฝ่ายหลังจวนเจียนจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว แต่หากอยากเข้าใจข้อยืนกรานของญี่ปุ่นที่ว่า เกาะเหนือเป็นของตนมาแต่เดิมแล้ว อาจต้องสืบสาวราวเรื่องไปไกลกว่านั้น

การที่เกาะคูริลทั้งสี่เข้ามาอยู่ใต้อธิปไตยของญี่ปุ่นเริ่มจากยุคที่การปักปันเขตแดนมีความสำคัญสำหรับชาติเอเชียที่ต้องการมีคุณสมบัติความเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งต้องสนใจเรื่องดินแดนตามแบบแผนที่ตะวันตกเผยแพร่เข้ามา หลังจากที่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯ งัดประเทศที่ปิดตัวให้เปิดออกและกดดันให้ทำสนธิสัญญาที่ญี่ปุ่นอยู่ในสถานะด้อยกว่า (สนธิสัญญาคะนะงะวะ ปี 1854) รัสเซียก็เป็นหนึ่งในบรรดาชาติตะวันตกที่เรียงหน้าเข้ามาทำสนธิสัญญาเพื่อหาสิทธิประโยชน์ในญี่ปุ่น

ปี 1855 จึงเกิดสนธิสัญญาชิโมดะ ซึ่งมีข้อตกลงแบ่งสรรดินแดนทางตอนเหนือระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ทั้งสองตกลงแบ่งพื้นที่ให้คนรัสเซียและญี่ปุ่นตั้งถิ่นฐานบนเกาะซาคาลิน เกาะขนาดใหญ่เหนือฮอกไกโดขึ้นไปอีกฝั่ง ซึ่งทั้งสองอ้างความเป็นเจ้าของ โดยญี่ปุ่นครอบครองพื้นที่ตอนใต้ ขณะที่ก็แบ่งหมู่เกาะคูริลระหว่างกันด้วย โดยใช้ช่องแคบเหนือเกาะเอโตโรฟุเป็นเส้นแบ่ง ทำให้ 4 เกาะตอนล่างลงมากลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนญี่ปุ่น

แผนที่บริเวณที่เป็นข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย | ที่มา: Office of Policy Planning and Coordination on Territory and Sovereignty

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นจัดการควบรวมดินแดนทางภาคเหนือให้มีความชัดเจนตามแบบรัฐสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างการผนวกเกาะฮอกไกโด (เดิมเรียกว่า เอโซะ) เข้ามาเป็นพรมแดนอย่างเป็นทางการในปี 1869 (ต้นสมัยเมจิ) และได้มีการตกลงเรื่องดินแดนกับรัสเซียอีกครั้ง ใน ‘สนธิสัญญาเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก’ (1875) ทั้งสองได้ปรับการถือครองพื้นที่ทางตอนเหนือ โดยยกซาคาลินทั้งหมดแก่รัสเซีย แลกกับที่ญี่ปุ่นได้หมู่เกาะคูริลทั้งแนวเหนือขึ้นไปจรดคาบสมุทรคัมชัตคามาอยู่ในเขตอธิปไตยของตน

ญี่ปุ่นเริ่มขยายดินแดนและได้อาณานิคมในเอเชียเมื่อเอาชนะจีนได้ในสงครามปี 1894-1895 นอกจากได้ไต้หวันแล้ว ยังยึดแหลมเลียวตุงทางตอนใต้ของภูมิภาคแมนจูเลียของจีนด้วย บริเวณนี้เป็นจุดที่รัสเซียเล็งไว้ให้เป็นพื้นที่ออกทะเลน้ำอุ่น (ตรงพอร์ทอาร์เธอร์) จึงร่วมกับชาติตะวันตกอื่นกดดันให้ญี่ปุ่นสละการถือครองบริเวณดังกล่าว การผงาดขึ้นมาเป็นรัฐอำนาจของญี่ปุ่นกระทบผลประโยชน์ของรัสเซียในตะวันออกไกล นอกจากแหลมเลียวตุงแล้ว คาบสมุทรเกาหลีก็เป็นอีกพื้นที่ที่ทั้งสองแข่งกันแผ่ขยายอิทธิพล

และแล้ว การกระทบกระทั่งทางดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างมองเป็นจุดยุทธศาสตร์ก็นำไปสู่ศึกสงครามระหว่างมหาอำนาจเก่าแก่อย่างรัสเซียกับชาติเอเชียที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ (Russo-Japanese War 1904-1905) ในสงครามนี้ญี่ปุ่นมีชัยในหลายสมรภูมิ โดยได้สหรัฐฯ หนุนหลังและเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยก่อนรัสเซียจะตั้งตัวโต้กลับได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดสนธิสัญญาพอร์ตสมัท ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นได้แหลมเลียวตุง มีอิทธิพลเหนือเกาหลี ขณะที่อำนาจของรัสเซียร่นถอยออกไป

การที่คนผิวเหลืองเอาชนะมหาอำนาจยุโรปอย่างรัสเซียได้ ถือเป็นนิมิตรใหม่ของชนชาติเอเชียที่ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะอาณานิคม ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นต้นแบบของการต่อสู้ พัฒนาเพื่อปลดแอกและสร้างรัฐเอกราช ชัยชนะของญี่ปุ่นยังทำให้ได้ซาคาลินตอนใต้กลับมาครอง พร้อมไปกับหมู่เกาะคุริลทั้งแถบ จากนั้นในช่วงสงครามกลางเมืองในรัสเซียอันสืบเนื่องจากการปฏิวัติสังคมนิยม (1917) ญี่ปุ่นได้ร่วมกับชาติตะวันตกแทรกแซงเพื่อช่วยฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในปี 1920 ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ ญี่ปุ่นฮุบพื้นที่เกาะซาคาลินทั้งหมดเป็นของตน ก่อนจะมีข้อตกลงคืนซาคาลินตอนเหนือให้กับโซเวียตอีกครั้งปี 1925

ที่มาของปัญหาข้อพิพาทเกาะเหนือ

จะเห็นได้ว่าตามหลักเหตุผลของญี่ปุ่น ก่อนที่รัสเซียจะยึดแนวเกาะคูริล รวมถึง 4 เกาะใต้ในช่วงท้ายสุดของสงครามแปซิฟิก สี่เกาะนี้ไม่เคยเป็นของรัสเซียแต่อย่างใด และการครอบครองของญี่ปุ่นก็เป็นไปด้วยวิถีทางการทูตที่ถูกกฎหมาย ดังนั้นการถูกยึดพื้นที่ตอนเหนือไปช่วงท้ายของสงครามจึงเป็นเรื่องน่าเจ็บใจ ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าทั้งสองไม่ได้เป็นคู่สงครามกันมาตลอดสงครามแปซิฟิกเนื่องจากมี ‘สนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกัน’ ที่ทำไว้ปี 1941 ก่อนที่โซเวียตจะเข้าสงครามกับเยอรมนี ญี่ปุ่นจึงอยู่ในฐานะเหมือนถูกหักหลัง

ที่จริงโซเวียตได้ให้สัญญากับพันธมิตรสงคราม (สหรัฐฯ อังกฤษ) ใน ‘ที่ประชุมยัลตา’ (ก.พ. 1945) ว่าตนขอเวลา 3 เดือนหลังสงครามในยุโรปยุติก่อนจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อแลกกับเขตแดนในเอเชีย รวมถึงเกาะคูริลที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ แต่การประชุมนี้จัดขึ้น ‘เป็นการลับ’ ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าร่วมหรือรู้เห็นข้อตกลงใดๆ จึงมองว่าข้อสัญญานี้ไม่มีพันธะทางกฎหมาย ช่วงท้ายสงครามญี่ปุ่นยังหวังให้โซเวียตช่วยไกล่เกลี่ยเงื่อนไขการยอมแพ้อยู่เลย แต่แล้วหนึ่งวันหลังสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฮิโรชิม่า โซเวียตก็เปิดศึกโจมตีญี่ปุ่นในเอเชีย

เหตุที่โซเวียตไม่ยอมร่วมลงนามข้อตกลงสันติภาพอีก 6 ปีต่อมา (1951) ซึ่งจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก เป็นเพราะเงื่อนไขในเอกสารนี้ระบุเพียงให้ญี่ปุ่น ‘สละสิทธิ์’ ในดินแดนที่ได้มาในช่วงแผ่จักรวรรดิ แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าดินแดนนั้นเป็นของใคร แม้ในข้อตกลงได้ระบุการสละกรรมสิทธิ์เกาะคูริล แต่ญี่ปุ่นก็แย้งว่านั่นไม่ได้หมายรวมถึง 4 เกาะตอนเหนือที่ญี่ปุ่นถือครองอย่างถูกต้องมาตลอดก่อนสงคราม

กระนั้น ประเด็นดินแดนก็มีการตกลงกันต่างหากระหว่างญี่ปุ่นกับโซเวียตในปี 1956 ในรูปแบบ Joint Declaration ถือเป็นการยุติสงครามและเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งกัน เอกสารนี้ได้วางกรอบข้อตกลงประวัติศาสตร์ว่าด้วยเกาะเหนือทั้งสี่ไว้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยังดังก้องอยู่ในการเจรจาของทั้งสองในทศวรรษปัจจุบันนี้ นั่นคือรัสเซียสัญญาว่าจะคืน 2 (เกาะเล็ก) ใน 4 เกาะให้แก่ญี่ปุ่น ‘หลังจาก’ มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ

ความสัมพันธ์ที่ขึ้นลงหลังจากนั้นทำให้ประเด็นเกาะและข้อตกลงสันติภาพค้างเติ่ง เด้งกระดอนไปตามบริบทการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตที่ไม่วายมองญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือ รัสเซียเริ่มอิดออดที่จะคืนเกาะให้ตามสัญญา โดยอ้างการที่ญี่ปุ่นให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ไม่อยากให้สนธิสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นได้โดยง่ายและกดดันให้ญี่ปุ่นเรียกร้องทั้งสี่เกาะคืน มิเช่นนั้นตนจะไม่ยอมคืนเกาะโอกินาวา ทางตอนใต้ที่ยึดไปในสงคราม (ภายหลังสหรัฐฯ คืนโอกินาวาให้ญี่ปุ่นปี 1972)

ความพยายามแก้ไขปัญหายุคหลังสงครามเย็น

ญี่ปุ่นเองก็มีการเปลี่ยนจุดยืนจากเดิมที่พอใจกับการได้เกาะเล็ก 2 เกาะคืน (ชิโคตัน ฮาโบมัย) ไปสู่การเรียกร้องให้รัสเซียคืนเกาะทั้งสี่ อีกทั้งยังตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องแก้ไขปัญหาเกาะเหนือให้ลุล่วง ‘ก่อนที่’ จะมีสนธิสัญญาสันติภาพ หลังยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ญี่ปุ่นยึดจุดยืนใหม่นี้ ขณะที่รัสเซียก็โอนอ่อนตามจนเกิดปฏิญญาโตเกียว (Tokyo Declaration 1993) ซึ่งย้ำชัดว่าเกาะปัญหามี 4 เกาะไม่ใช่มีเพียง 2 เกาะ

ต่อมาในการประชุมสุดยอดที่เมืองเอียร์คุตก์ (Irkutsk) ปี 2001 ประธานาธิบดีปูตินกับนายกฯ โยชิโร่ โมริ เห็นพ้องว่าจะเจรจากันโดยยึดข้อตกลงที่มีมาทั้งของปี 1956 และปี 1993 ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกันอยู่ แต่อย่างน้อยญี่ปุ่นก็ทำให้เกาะทั้งสี่เข้ามาอยู่ในการเจรจา ดังนั้นข้อตกลงจากทั้ง 3 ปีนี้จึงเป็นกรอบการแก้ปัญหาที่สืบต่อมาสู่ทศวรรษ 2010 ภายใต้การนำของนายกฯ อาเบะ (2012-2020)

ขณะที่ในหลายโอกาส รัสเซียยังยืนกรานว่าคูริลใต้เป็นของตน แต่นโยบายของอาเบะก็เน้นการผูกมิตรเข้าหา (engagement) ด้านหนึ่งเพราะเชื่อว่าปัญหาดินแดนจะคลี่คลายได้ด้วยความสัมพันธ์อันดีและการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ญี่ปุ่นยังต้องการชักจูงรัสเซียออกจากอ้อมกอดของจีน เพื่อสร้างแนวร่วมถ่วงดุลอำนาจกับจีนควบคู่ไปกับระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ด้วยตรรกะเช่นนี้ญี่ปุ่นจึงประนีประนอมและทุ่มทรัพยากรเข้าหารัสเซีย

เช่นนี้แล้วหลังจากรัสเซียผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 ญี่ปุ่นจึงไม่ได้คว่ำบาตรอย่างรุนแรง ทั้งยังต้อนรับการเยือนของปูตินในปลายปีนั้น ประเด็นเกาะเหนือและผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและพลังงานดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ญี่ปุ่นรับประกันว่าการทูตจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สะดุด ท่าทีขยายอิทธิพลเข้าไปในยูเครนดูจะไม่เป็นปัญหาในการสานสัมพันธ์กับรัสเซียให้ยิ่งแนบแน่น ด้วยข้อริเริ่มใหม่ๆ อย่างกรอบความร่วมมือ 8 ด้าน (8-point cooperation) และ ‘วิถีความสัมพันธ์ใหม่’ (new approach)

นอกจากแนวทางที่เน้นความร่วมมือแล้ว การมุ่งให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วยังทำให้อาเบะยอมลดเป้าหมายมาเจรจาในกรอบข้อตกลงปี 1956 ซึ่งกำหนดว่าทั้งสองจะทำสนธิสัญญาสันติภาพกันก่อนที่จะมีการคืน 2 เกาะเล็กให้ญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายนี้ รัฐบาลอาเบะได้ริเริ่มแนวทาง ‘two-plus-alpha’ โดยเน้นเจรจาให้ได้ 2 เกาะคืนก่อน ขณะที่จัดให้มีโครงการเศรษฐกิจร่วมในพื้นที่ 2 เกาะใหญ่ (เอโตโรฟุ คุนะชิริ) ซึ่งรัสเซียคงไม่คืนให้ญี่ปุ่นง่ายๆ ดูจากการประจำการกองกำลังในพื้นที่นั้นช่วงที่ผ่านมา

ท่าทีโอนอ่อนเข้าหารัสเซียถึงขั้นยอมสละจุดยืนที่เคยกดดันประเด็นเกาะซึ่งญี่ปุ่นมองว่าตนมีความชอบธรรมในการเรียกร้องกรรมสิทธิ์ ดูจะหวังผลระยะยาวให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเบ่งบานจากความร่วมมือ และให้รัสเซียทำตามประสงค์ของญี่ปุ่นในท้ายที่สุด แน่นอนว่ายุทธศาสตร์นี้ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่ายินยอมให้กับรัสเซียเกินไป ทั้งยังมีข้อกังขาว่าจะได้ผลในการโน้มน้าวรัสเซียให้เข้าหาญี่ปุ่นและห่างจากจีนได้จริงหรือไม่

การปรับท่าทีใหม่ในวิกฤตยูเครน

การบุกยูเครนของรัสเซียและการตอบโต้การคว่ำบาตรด้วยการประกาศระงับการเจรจาประเด็นเกาะที่สั่งสมมานับสิบปีจึงเป็นความเสียหายที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเจ็บใจและจำใจยอมรับ ญี่ปุ่นกลับเน้นย้ำความแน่วแน่ในวิกฤตยูเครน พร้อมไปกับเน้นย้ำความเป็นเจ้าของเกาะดังกล่าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย ญี่ปุ่นยังต้องรับความเสียหายจากโครงการที่ลงทุนร่วมมือกับรัสเซียและยังเสี่ยงต่อการถูกตัดการเข้าถึงพลังงานอีกด้วย

ถึงกระนั้น ญี่ปุ่นก็ประกาศเป็นเสียงเดียวกับชาติ G7 ว่าจะหาทางลดหรือตัดขาดการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียเพื่อกดดันให้สงครามยูเครนยุติโดยเร็ว ญี่ปุ่นยอมสละผลประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตนที่ฟูมฟักสั่งสมมาโดยตลอดกับรัสเซีย เพื่อผลประโยชน์ที่ใหญ่และสำคัญกว่า ด้วยการยึด ‘ตรรกะเชิงระเบียบ’ (raison de systeme) ที่มองว่าการธำรงกฎเกณฑ์และระเบียบก็เป็นเครื่องรับประกันความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศอย่างขาดไม่ได้เช่นกัน

ความสนใจของญี่ปุ่นต่อสวัสดิภาพของระเบียบมาจากภาวะพึ่งพิงโลกภายนอก ด้วยตระหนักถึงการเป็น ‘ชาติเกาะที่มีทรัพยากรจำกัด’ ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว ดังนั้นสภาพแวดล้อมภายนอก เสถียรภาพ สันติภาพและเสรีภาพในการเดินเรือ จึงจำเป็นต่อความอยู่รอดและความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ การมีชาติใดใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบที่ญี่ปุ่นอาศัยพึ่งพิงอยู่นี้ ย่อมส่งผลกระทบระดับใหญ่และระยะยาว

ในการประชุมสุดยอด ‘จตุพันธมิตร’ (Quad) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นร่วมกับพันธมิตรต่างพยายามส่งสัญญาณให้โลกเห็นชัดถึงตรรกะเชิงระเบียบนี้ และย้ำว่าผลที่ได้จากการละเมิดกฎเกณฑ์คือความเสียหาย หาใช่ผลได้หรือความสำเร็จไม่ ใช่ว่าแค่กรณีรัสเซีย แต่ชาติใดๆ ในโลกที่นึกคิดจะเอาอย่างอาจต้องเตรียมตัวเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน

ความแน่วแน่ต่อรัสเซียของญี่ปุ่นอย่างในประเด็นดินแดนตอนเหนือ อาจเป็นแบบอย่างชักจูงให้ชาติอย่างอินเดียที่ยังคงลังเลใจในการสละผลประโยชน์ที่ผูกโยงกับรัสเซีย ให้เห็นการยอมเจ็บจากการยอมเสียประโยชน์ส่วนตนเพื่อการรับประกันระเบียบอันจะส่งผลต่อส่วนรวมและต่อผลประโยชน์ของชาติตนในระยะยาวเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save