fbpx
ขจัดให้หมดไปหรือจะคงไว้เพื่อการยับยั้ง: ญี่ปุ่นบนทางแพร่งนิวเคลียร์

ขจัดให้หมดไปหรือจะคงไว้เพื่อการยับยั้ง: ญี่ปุ่นบนทางแพร่งนิวเคลียร์

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในช่วงเริ่มแรกของปีนี้ ประชาคมโลกได้เห็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติเขยิบเข้าใกล้อุดมคติในการทำให้โลกปลอดนิวเคลียร์เข้าไปอีกขั้น เมื่อในวันที่ 22 มกราคม สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons) ซึ่งมีผู้ลงนามถึง 86 ประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากมีรัฐให้สัตยาบันครบ 50 ประเทศแล้วตามเงื่อนไข ความก้าวหน้าในประเด็นการจัดการอาวุธนิวเคลียร์นี้ยังได้รับการส่งเสริมอีกทาง เมื่อสหรัฐฯ กับรัสเซียสามารถตกลงกันได้ในการต่ออายุข้อตกลงทวิภาคีในการจำกัดนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ (New START) ออกไปอีก 5 ปี ก่อนที่จะหมดอายุเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่เมื่อพิเคราะห์ผ่านสถานการณ์อันน่ายินดีปรีดาไปยังแก่นสารและบริบทแวดล้อม ก็จะพบว่ายังมีปัญหาและข้อคาใจอีกไม่น้อยในความพยายามกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ นั่นคือ ขณะที่สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ไม่อนุญาตให้ชาติภาคีพัฒนา ผลิต ทดลอง ถือครอง ใช้ หรือข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เรียกได้ว่า “ห้ามแบบเบ็ดเสร็จ” แต่ชาติผู้มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 อย่างสหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส อินเดียและจีน กลับไม่ได้ร่วมในกรอบนี้ ส่วนข้อตกลง New START ซึ่งบังคับให้สหรัฐฯ และรัสเซียจำกัดอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic nuclear weapons) หรือหัวรบที่ทั้งสองสะสมไว้ยิงใส่กัน ก็ไม่ได้ห้ามการพัฒนาและแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ที่มีขนาดย่อมกว่าและอาจใช้ในสงครามทั่วไป แถมข้อตกลงนี้ก็เป็นฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่ระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์

ก้าวย่างอันน่าเฉลิมฉลองนี้ยิ่งดูหม่นหมองซ้ำเข้าไปอีกเมื่อหันมองญี่ปุ่น ชาติที่ดูเหมือนมีเหตุผลสนับสนุนทุกประการที่จะเข้าร่วมการเป็นภาคีกรอบห้ามนิวเคลียร์ใหม่ ไม่ใช่ญี่ปุ่นหรอกหรือที่หมกมุ่นอยู่กับอัตลักษณ์การเป็นชาติหนึ่งเดียวที่เคยทุกข์ทรมานจากการทิ้งระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นต้นแบบอาวุธนิวเคลียร์เวลานี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่หรือที่ตั้งมั่นในหลักการ ‘ปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์ 3 ข้อ’ คือไม่สร้าง ไม่มี และไม่ยอมให้นำเข้าประเทศ และเป็นญี่ปุ่นอีกไม่ใช่หรือที่เป็นผู้ยื่นร่างข้อมติในเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 1994 เพื่อผลักดันให้โลกขจัดนิวเคลียร์ให้หมดไป ถ้าดูจากประสบการณ์ฮิโรชิม่าไปจนถึงการวางตนเป็นแนวหน้าในวาระนิวเคลียร์ ก็ถือเป็นเรื่องน่าตกใจที่ญี่ปุ่นกลับไม่เข้าร่วมในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์นี้

การคงจุดยืนไม่เข้าร่วมของรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่การเจรจาร่างข้อตกลงในปี 2017 เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากสังคมภายในและภายนอกประเทศ ฝั่งออสเตรีย ชาติผู้ผลักดันสนธิสัญญานี้ เป็นหนึ่งในเสียงของนานาชาติที่กดดันให้ญี่ปุ่นเข้าร่วม ขณะที่ประชาชนและสื่อในประเทศก็ส่งเสียงหนักแน่นผ่านผลโพลครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ผู้คนจำนวนมากกำลังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นร่วมในกรอบนี้ ขณะที่สมาคมต่อต้านนิวเคลียร์ (Nihon Hidankyo) กลุ่มผู้เป็นเหยื่อปรมาณู (hibakusha) ที่ยังมีชีวิตอยู่นับจากสมัยสงคราม ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นไม่เพียงจะต้องร่วมเป็นภาคีข้อตกลงนี้ แต่ควรทำหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีตั้งแต่ต้นเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หากวางความปรารถนาเชิงอุดมคติและวิเคราะห์ท่าทีของญี่ปุ่นในเชิงยุทธศาสตร์ เราก็จะเห็นอีกโฉมหน้าหนึ่งที่แฝงเร้นอยู่ในตัวตนและตรรกะที่ว่า เพราะญี่ปุ่นเป็นเหยื่อปรมาณูจึง ‘รังเกียจ’ และไม่เห็นประโยชน์ของอาวุธทำลายล้างมวลชนนี้ ในเมื่อแท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นมีเหตุผลหลายประการเช่นกันที่จะดำรงจุดยืนปฏิเสธกรอบการขจัดนิวเคลียร์อย่างที่เห็น กล่าวคือ แสนยานุภาพด้านนี้เป็นอีกหนึ่งแนวหน้าในการต่อสู้เชิงอำนาจ (power struggle) และเป็นเครื่องมือรับประกันความปลอดภัยของประเทศที่อาจจำเป็นในโลกที่ยังมีนิวเคลียร์อยู่ และที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในสภาวะที่ภัยคุกคามของตนคือประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง

ข้อเขียนนี้ตั้งใจพาผู้อ่านสำรวจสถานะอันย้อนแย้งที่ปรากฏเป็น ‘ทางแพร่ง’ (dilemma) อันยากต่อการตัดสินใจสำหรับชาติต่างๆ เมื่อพูดถึงการเข้าร่วมความพยายามขจัดนิวเคลียร์ระดับโลก ญี่ปุ่นก็ประสบกับสภาวะยากลำบากกึ่งกลางทางแพร่งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงรัฐบาลนายกฯ ชินโซ อาเบะที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะจำต้องเผชิญเหตุผลสุดโต่งทั้งสองด้าน คือการเป็นชาติเหยื่อนิวเคลียร์ที่มุ่งมั่นขจัดนิวเคลียร์ด้านหนึ่ง และการจะต้องป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ โดยอาจต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องยับยั้ง อีกด้านหนึ่ง ภาวะที่ญี่ปุ่นเผชิญนี้อาจวิเคราะห์ในกรอบ security dilemma (ทางแพร่งในการสร้างความมั่นคง) ที่ไม่ใช่เพียงญี่ปุ่นที่ต้องตัดสินใจ แต่ชาติต่างๆ ในโลกก็อาจติดอยู่ในวังวนนี้ในประเด็นนิวเคลียร์เช่นกัน

 

ตรรกะการมีนิวเคลียร์เพื่อยับยั้งช่วงสงครามเย็น

 

ตรรกะเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ที่กลายเป็นสาระสำคัญในทางแพร่งที่รัฐต้องเสี่ยงตัดสินใจ แม้รู้อยู่ถึงผลเสียไม่ว่าจะเลือกทางไหน เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการข่มขวัญคานอำนาจกันด้วยอาวุธทำลายล้างสูงนี้ นั่นคือยุคสงครามเย็น (1945-1989) การเผยผลการค้นคว้าวิจัยในโครงการลับแมนฮัตตันของสหรัฐฯ ด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองในญี่ปุ่น ได้เร่งให้เกิดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในโครงการพยายามเตือนสติผู้นำสหรัฐฯ ก่อนจะตัดสินใจใช้อาวุธที่มีขึ้นใหม่ นั่นคือการแข่งขันไล่กวดระหว่างรัฐเพื่อพัฒนาศักยภาพนิวเคลียร์ ซึ่งไม่ช้า สหภาพโซเวียตก็สั่นคลอนสถานะผู้ผูกขาดแสนยานุภาพนี้ของสหรัฐฯ ลงได้

ตรรกะทั้งด้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในฐานะเครื่องรับประกันความอยู่รอด และด้านความพยายามบริหารจัดการอาวุธนิวเคลียร์มีที่มาจากความหวาดหวั่นและหวาดกลัว (terror) ว่า อานุภาพของอาวุธที่ตั้งอยู่บนการไขปริศนาและควบคุมพลังงานของเอกภพ เมื่อถูกปลดปล่อยออกมาด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะก่อโศกนาฏกรรมขนานใหญ่เพียงใดให้แก่มวลมนุษย์ อย่างที่เปรียบเปรยในสมัยนั้นว่า บ่ายวันไหนเมืองใหญ่อาจแปรสภาพกลายเป็นฝุ่นธุลีในชั่วขยิบตา ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีการทำลายล้างนี้ก้าวหน้าไปจากที่เห็นในฮิโรชิม่า จาก A-bomb ไปสู่ H-bomb ที่มีอานุภาพมหาศาลมากเท่าไหร่ หายนะของมนุษย์ก็ดูจะยิ่งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวตามไปด้วย

ในด้านการรับประกันความอยู่รอดปลอดภัยด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้น ได้เกิดตรรกะ ‘การรับประกันความพินาศร่วมกัน’ หรือที่เขียนย่อว่า M.A.D (mutual assured destruction) ตรรกะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ ‘มี’ อาวุธนิวเคลียร์ถ่วงดุลกัน โดยมรดกตกทอดของหลักคิดนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับทฤษฎีเกมในการคิดคำนวนยุทธศาสตร์ทางทหาร กลายเป็นหลักเหตุผลรองรับ ‘การยังจำเป็นต้องมีนิวเคลียร์’ เพื่อหวังผลในเชิง ‘ป้องปราม’ (deterrence) กล่าวคือ ตรรกะ M.A.D และการป้องปรามทำงานควบคู่กันทำให้ไม่เกิดการ ‘ใช้’ นิวเคลียร์โจมตีใส่กันขึ้น สร้างสภาวะสงบ หรือใครอาจจะเรียกว่า ‘สันติ’ ในยามที่สองมหาอำนาจต่างมีนิวเคลียร์ข่มขู่ที่จะยิงใส่กัน

อาวุธนิวเคลียร์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตอยู่ในสภาวะสงคราม ‘เย็น’ คือไม่ใช้กำลังปะทะกันโดยตรง แม้แต่การสู้รบด้วยสงครามแบบปกติก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงเพราะอาจบานปลายไปสู่การยิงนิวเคลียร์ใส่กันได้ กระนั้นก็ยังมีการใช้กำลังเพื่อรักษาเขตอำนาจของตนผ่านตัวแทน (proxies) ในค่ายอุดมการณ์ของตนในที่ต่างๆ ของโลก แนวปฏิบัติเพื่อสกัดศัตรูไม่ให้คิดโจมตี หรือการ ‘ป้องปราม’ คือการเพิ่มพูนนิวเคลียร์เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพ (capability) ตลอดจนความแน่วแน่ (commitment) อันเป็นกลยุทธ์เชิงจิตวิทยาทำให้ศัตรูรับรู้ว่า อย่าหวังจะรอดไปได้อย่างปราศจากแผลเหวอะหวะพอกัน หากเปิดฉากยิงนิวเคลียร์มา

เพื่อให้ข้าศึก ‘ไม่กล้า’ โจมตีก่อน (first strike) อีกฝ่ายต้องทำให้เห็นว่า แม้เราอาจยับเยินแต่จะยังคงมีศักยภาพโต้กลับได้เสมอ การรับประกันว่าเราจะมีหัวรบนิวเคลียร์เหลือรอดไว้ ‘โจมตีกลับ’ (second strike) เพื่อลงโทษฝ่ายที่เริ่มเผด็จศึกก่อนให้ได้ยับเยินไม่แพ้กัน เป็นการลดอรรถประโยชน์จากการใช้นิวเคลียร์ยิงใส่กัน M.A.D จึงกลายเป็นตรรกะที่ยับยั้งการใช้นิวเคลียร์ แต่ก็อยู่บนความจริงที่ว่าต่างฝ่ายต้องมีและสะสมนิวเคลียร์เพื่อความสามารถในการโต้กลับ แม้การป้องปรามเช่นนี้ทำให้ไม่เกิดการโจมตีตั้งแต่ต้น และโลกก็ไม่มีประวัติการใช้นิวเคลียร์นับจากกรณีญี่ปุ่นอีกเลย แต่การพัฒนาและเพิ่มพูนคลังแสงตลอดจนการมี ‘ระบบส่ง’ (delivery systems) ที่หลากหลายและหลบซ่อนได้ ก็กลายเป็นหัวใจของตรรกะการยับยั้งการใช้นิวเคลียร์เสมอมา

ในปัจจุบัน การพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือสะท้อนการดำรงอยู่ของตรรกะนี้ โดยผู้นำเกาหลีเหนือประกาศตัวเป็น ‘ชาตินิวเคลียร์ผู้รับผิดชอบ’ โดยจะไม่เป็นฝ่ายโจมตีใครก่อน แต่มีนิวเคลียร์ไว้เพื่อรับประกันว่าตนจะไม่ถูกโจมตีหรือถูกคุกคามทางทหารก่อน เมื่อศัตรูตัวฉกาจคือมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ศักยภาพที่จะใช้นิวเคลียร์โจมตีพื้นที่สำคัญ ไม่ว่าผืนแผ่นดินสหรัฐฯ หรือฐานทัพที่กระจายในเอเชีย หรือแม้แต่ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ แถบนี้ ล้วนสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯ กล้าเผด็จศึกต่อเกาหลีเหนือ การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่างขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีป (ICBM) การพัฒนาหัวรบให้เล็กพอบรรจุในขีปนาวุธ ตลอดจนขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ (SLBM) จึงเป็นหนทางเพิ่มพูนศักยภาพ second strike เพื่อข่มขู่และสกัดการโจมตีก่อนจากสหรัฐฯ

 

อุปสรรคปัญหาในความพยายามจำกัดอาวุธนิวเคลียร์

 

อีกด้านของทางแพร่งคือความพยายามควบคุมการแข่งขันด้านนิวเคลียร์ เมื่อการโจมตีด้วยอาวุธชนิดนี้กลายเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ขณะที่ในทางคุณธรรม นิวเคลียร์กลายเป็นอาวุธที่ร้ายแรงเกินกว่านานาชาติจะเห็นชอบให้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย การครอบครองนิวเคลียร์และการแข่งขันพัฒนาเพื่อรับประกันอำนาจโต้กลับจึงกลายเป็นเรื่อง ‘เสียเปล่า’ ในสายตามหาอำนาจ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงงบประมาณที่ต้องทุ่มไปกับการสร้างเสริมและบำรุงรักษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่โอกาสในการใช้ก็แทบไม่มี อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่เครื่องมือป้องปรามนี้อาจกลายเป็นชนวนก่อสงครามนิวเคลียร์อย่างไม่ตั้งใจขึ้นก็ได้

การเผชิญหน้าในวิกฤตขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis, 1962) ที่สหรัฐฯ ขู่จะใช้นิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียตหากไม่ยุติการส่งเรือมาติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา เป็นบทเรียนและจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งสองมหาอำนาจโอนอ่อนเข้าหากัน ก่อนพัฒนาเป็นช่วงเวลาแห่งการลดการเผชิญหน้า (détente) ในทศวรรษ 1970 ในช่วงนี้ได้เกิดข้อตกลงจำกัดและลดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นหลายกรอบ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความพยายามที่เราคุ้นหูอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกรอบการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ (NPT) กรอบห้ามทดลองนิวเคลียร์เบ็ดเสร็จ (CTBT) หรือกรอบการเจรจาทวิภาคีเพื่อลดนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต(SALT) และข้อตกลงที่เกิดตามมา (START) ซึ่งล้วนยังมีบทบาทและมักถูกอ้างถึงในความพยายามขจัดนิวเคลียร์ระดับโลกในปัจจุบัน

การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้ความหวังในการบริหารจัดการและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์มีพื้นที่ในวาระระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ ณ เวลาที่ระเบียบโลกเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ ชาติที่มีแสนยานุภาพนิวเคลียร์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในเอเชียและยุโรป ความพยายามของเกาหลีเหนือที่จะกลายสถานะเป็นชาตินิวเคลียร์ก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น เพียงแต่บรรยากาศที่การเผชิญหน้าระหว่างสองค่ายยักษ์ใหญ่ได้ยุติลงส่งเสริมให้การเจรจาข้อตกลงดูมีความคืบหน้าและสัมฤทธิ์ผล คาบสมุทรเกาหลีมีความหวังที่จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์ขึ้นมา ถึงกระนั้น ความพยายามขจัดนิวเคลียร์ก็ยังถูกมองเป็นทางสองแพร่ง มากกว่าเป้าหมายเดียวที่โลกจะมุ่งหน้าไป จากการที่ชาติผู้มีนิวเคลียร์ยังคงลังเลใจและยึดมั่นในตรรกะ ‘การมีนิวเคลียร์ไว้เพื่อป้องปราม’ ทำให้ไม่ยอมสละศักยภาพของตนง่ายๆ

เมื่อมองในแง่ศักยภาพนิวเคลียร์ โลกจึงมีอภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยที่มีจุดยืนแปลกแยกไปจากประชาสังคมโลก และคอยขัดขวางความก้าวหน้าสู่อุดมคติของโลกที่ปลอดนิวเคลียร์ กรอบการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ หรือ NPT ดูจะสะท้อนภาวะชนชั้นและความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องนี้อย่างชัดเจน นั่นคือขณะที่ไม่ยอมให้มีประเทศใดกลายเป็นชาตินิวเคลียร์ได้อีก แต่ข้อตกลงนี้ก็ได้รับรองสถานะของชาตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นมาก่อนปี 1967 โดยให้สัญญาว่าจะแบ่งปันเทคโนโลยีแก่ชาติอื่นได้ใช้ในทางสันติ และมุ่งมั่นที่จะลดหัวรบของตน ชาติที่พัฒนานิวเคลียร์ได้หลังจากนั้นอย่าง อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอลปฏิเสธเข้าร่วมในกรอบนี้ ขณะที่เกาหลีเหนือถอนตัวปี 2003 ก่อนที่จะทดสอบนิวเคลียร์สำเร็จในปี 2006

สัญญาที่จะลดและขจัดนิวเคลียร์ของชาติผู้ถือครอง ถูกลดทอนด้วยแรงจูงใจที่ผลักดันไปสู่ตรรกะการมองนิวเคลียร์เป็นประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ชาติเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยึดเหตุผลว่าในเมื่อนิวเคลียร์กำเนิดขึ้นมาแล้ว จะหวนกลับไปสู่โลกที่ไม่รู้จักหรือไม่มีวิทยาการด้านนี้มาก่อนย่อมเป็นความเพ้อฝัน การขจัดนิวเคลียร์ (denuclearize) ไม่ได้หมายถึงการลบความเป็นไปได้ที่ชาติไหนอาจผลิตขึ้นมาได้อีก นอกจากนี้ รัฐนิวเคลียร์ยังเผชิญ security dilemma ที่สร้างปัญหา 2 ทาง นั่นคือหากคิดจะลด ก็เสี่ยงกับการที่ตนจะอ่อนแอลงเชิงเปรียบเทียบ และเมื่ออำนาจ ‘โจมตีกลับ’ ด้อยลง อำนาจป้องปรามก็ย่อมด้อยตามไปด้วย แต่หากไม่ลดก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมลด ภาวะเกี่ยงกันนี้ยิ่งตอกย้ำความระแวงสงสัยถึงเจตนาของการมีนิวเคลียร์ของอีกฝ่าย ความระแวงกันนี้ก็เป็นเหตุผลให้ยังต้องมีนิวเคลียร์ยับยั้งกันต่อไป

มุมมองวิพากษ์อาจโจมตีหลักคิดข้างต้นว่าก้าวไม่พ้น ‘มโนทัศน์สงครามเย็น’ โดยชี้ถึงเหตุผลอีกทางเพื่อช่วยย้ำความจำเป็นของการขจัดนิวเคลียร์ อย่างแรกคือ การที่โลกมีตัวแสดงที่อาจทำให้ตรรกะป้องปรามไม่ช่วยยับยั้งการใช้นิวเคลียร์ได้อีกแล้ว เช่น กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งอาจเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้นิวเคลียร์เป็นอาวุธ ในอีกแง่ การมี ‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (missile defense system) ก็ทำให้การป้องปรามโดยอาศัยการโจมตีกลับมีประสิทธิภาพน้อยลง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเครื่องปัดป้องขีปนาวุธที่ยิงมาจากอีกฝ่าย

กระนั้นก็ตาม ฉากทัศน์เหล่านี้ก็ไม่ได้ลบล้างแนวคิดที่เห็นประโยชน์ในการคง second strike capability ไว้ ในเมื่อศัตรูตัวหลักคือ ‘ตัวแสดงรัฐ’ ก็ยังไม่หายไปไหน และต่างฝ่ายก็ไม่อาจก้าวพ้นความบาดหมางจากยุคสงครามเย็นไปได้จริงๆ เสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ อินเดีย และปากีสถาน ในขณะที่ระบบป้องกันขีปนาวุธ แม้จะมีความก้าวหน้ามาไกลจากต้นแบบในสมัยประธานาธิบดีเรแกน แต่ก็ยังเป็นที่กังขาว่าจะสามารถป้องกันได้ครอบคลุมและเบ็ดเสร็จแค่ไหน และจะไล่ตามศักยภาพการโจมตีสมัยใหม่อย่าง ขีปนาวุธเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile) ได้ชะงัดหรือไม่ ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว ‘ศักยภาพโจมตีกลับ’ ก็ยังเป็นที่พึ่งของรัฐนิวเคลียร์ในการยับยั้งการโจมตีอยู่ดี

สถานการณ์ยิ่งยุ่งยาก เมื่อนำปัญหาใน ‘ความร่วมมือ’ ระหว่างรัฐมาร่วมขบคิด การปฏิบัติตามข้อตกลงอาจเป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว คือการบรรลุสันติภาพที่ปราศจากนิวเคลียร์ แต่ชาติต่างๆ ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐทั้งหลายจะมีความตั้งใจและปณิธานที่จะทำตามสัญญาต่อเนื่องไปนานแค่ไหน หรือกลายเป็นว่าฝ่ายตนถูกหลอกให้หลงทุ่มเทอยู่ข้างเดียว ปัญหาการ ‘ผิดสัญญา’ (defect) มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยในกรอบความพยายามลดหรือกำจัดนิวเคลียร์ ยิ่งในช่วงไม่นานมานี้ที่สหรัฐฯ กลายเป็นผู้เล่นที่ดูกลับกลอก เอาแน่เอานอนไม่ได้เสียเอง อย่างที่เห็นในกรณีข้อตกลงกับอิหร่าน การถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) และที่เกือบไม่สามารถต่ออายุ New START ในปีนี้ได้ ส่วนเกาหลีเหนือก็เป็นอีกชาติที่เล่นใน ‘เกมการบิดพลิ้ว’ ต่อสัญญา ทำให้กฎกติกาในกรอบนี้เผชิญอุปสรรคที่ยากจะฝ่าไปไม่น้อย

 

ทางแพร่งนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญ

 

เมื่อหันมองสถานการณ์นิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อตอบปัญหาเรื่องแรงจูงใจที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่เข้าร่วมในกรอบห้ามนิวเคลียร์ ก่อนอื่นอาจกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนความก้าวหน้าอย่างยิ่งสำหรับญี่ปุ่นในด้านการใฝ่หาโลกที่ไร้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นคือ ภาพประธานาธิบดีโอบามากล่าวสุนทรพจน์เบื้องหน้า ‘โดมปรมาณู’ ที่ยืนตระหง่านเป็นฉากหลังที่ฮิโรชิม่า เหตุการณ์นี้ช่วยตอกย้ำประสบการณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และความสำเร็จในการหว่านล้อมผู้นำสหรัฐฯ ให้แสดงสำนึกผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ด้วยการเยือนดังกล่าว

เมื่อมองว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ และโอบามาก็เป็นสัญลักษณ์แห่งการมุ่งสู่โลกไร้นิวเคลียร์ โดยมีรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นเครื่องรับประกัน ดังนั้น ปี 2016 จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในวาระขจัดนิวเคลียร์ของโลก แต่แล้วนักวิเคราะห์ก็เตือนสติเราว่า ระหว่างที่โอบามาอยู่ในตำแหน่ง ความก้าวหน้าด้านการลดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นน้อยมาก และการเยือนฮิโรชิม่าในปีสุดท้ายที่เขาดำรงตำแหน่งก็ไม่ได้เป็นไปเพื่ออุดมคติ แต่หวังผลในการกระชับพันธมิตรทางทหาร และการถ่วงดุลอำนาจกับชาติคู่แข่งในเอเชียอย่างจีนและเกาหลีเหนือมากกว่า

ขณะที่ญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกฯ อาเบะก็ต้องการสิ่งตอกย้ำความเหนียวแน่นของพันธมิตรเพื่อป้องปรามภัยใกล้บ้าน ภายใต้ฉาบหน้าของการใฝ่หาอุดมคติสันติภาพ แฝงเร้นผลประโยชน์เชิงความมั่นคงที่อยู่บนฐานการพึ่งพิงศักยภาพและการรับประกันทางทหารจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการประสานความย้อนแย้งนี้อยู่ในนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงเสมอมา เมื่อย้อนมองแนวทางการป้องกันประเทศที่ญี่ปุ่นประกาศใช้หลังได้รับเอกราชหลังสงคราม เมื่อปี 1957 ญี่ปุ่นผนวกการส่งเสริมอุดมคติการสร้างโลกอันสันติผ่านการทำงานของสหประชาชาติ พร้อมไปกับพึ่งพิงสหรัฐฯ ด้านการทหาร “ระหว่างที่สหประชาชาติยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่” ในช่วงสงครามเย็น

ทางแพร่งระหว่างอุดมคติกับประโยชน์นี้ปรากฏในประเด็นนิวเคลียร์เช่นกัน เดิมทีญี่ปุ่นมีหลักการปฏิเสธนิวเคลียร์ โดยจะไม่ผลิต ครอบครอง และนำเข้า ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 การประกาศจุดยืนนี้ทำให้ นายกฯ เอซะคุ ซะโต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในความพยายามขจัดนิวเคลียร์ ซึ่งก็สอดคล้องกับสนธิสัญญาห้ามนิวเคลียร์ที่มีขึ้นล่าสุด แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าในสภาวะสงครามเย็นที่นิวเคลียร์เป็นประเด็นน่ากังวล ญี่ปุ่นพึ่งพิงการป้องปรามจากร่มนิวเคลียร์ (nuclear umbrella) ของพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และยังคงจุดยืนเช่นนี้ตลอดมาไม่เสื่อมคลาย

จะว่าไปแล้ว การมีสหรัฐฯ ให้พึ่งพิงทำให้ญี่ปุ่นสามารถธำรงจุดยืนที่เน้นอุดมคติไว้ได้โดยไม่ก่อปัญหาเชิงยุทธศาสตร์มากนัก และสามารถคงเอกภาพระหว่างนโยบายกับมติมหาชนที่มีอคติรุนแรงต่อนิวเคลียร์ได้ จะมีการตั้งคำถามอยู่บ้างเพียงประปรายว่าญี่ปุ่นควรมีนิวเคลียร์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเอเชียที่เปลี่ยนไปและการรับรู้ถึงภัยทางทหารจากจีนและเกาหลีเหนือในช่วงไม่นานมานี้ ทำให้จุดสนใจ (mindset) หันเข้าหาการเตรียมรับสถานการณ์เลวร้าย และการถ่วงดุลอำนาจมากยิ่งขึ้น จากที่ญี่ปุ่นเคยเป็นแกนนำส่งเสริมความมั่นคงแบบใหม่ที่ไม่เน้นกำลังทหาร บัดนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อ ‘ความมั่นคงแบบดั้งเดิม’ ที่มีเขตแดนและอธิปไตยของตนเป็นข้อกังวลหลักมากกว่า

ความไม่แน่ใจในท่าทีของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นหันมาคิดแบบ ‘เผื่อทางหนีทีไล่’ ในยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ แผนการเริ่มแรกที่เด่นชัดในสมัยอาเบะคือการกระโจนเข้าหาสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายริเริ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อมุ่งให้พันธมิตรเห็นคุณค่าและความสำคัญ ทั้งยังเอื้อให้นโยบาย ‘หันสู่เอเชีย’ (Pivot to Asia) ของโอบามาปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อย้ำให้เห็นว่าญี่ปุ่นมีมหาอำนาจคอยอารักขาอยู่เช่นเดิม อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ ที่ให้ความสนใจพันธมิตรน้อยลง ทำให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายต้องขยับเข้าหา ด้วยการปรับท่าทีตนเองให้สอดคล้องไปกับทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ

ทิศทางของสหรัฐฯ ในปี 2017 ช่วงที่มีการเจรจาและลงนามสนธิสัญญาห้ามนิวเคลียร์เป็นอย่างไร เรื่องนี้อาจช่วยตอบประเด็นท่าทีของรัฐบาลอาเบะต่อกรอบควบคุมนิวเคลียร์ได้ จากโอบามาผู้ต้องการเห็นโลกปลอดนิวเคลียร์ สู่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่ค่อยญาติดีกับกรอบพหุภาคีลักษณะนี้เท่าไหร่นัก ในปีดังกล่าว โลกยังได้เห็นการใช้วาทะเสียดสีกันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนืออย่างไม่เคยมีมาก่อน ถึงขั้นขู่ที่จะใช้นิวเคลียร์ยิงถล่มกัน (ก่อนที่ในปีถัดมา ความสัมพันธ์จะกลับชื่นมื่นขึ้นอย่างกระทันหัน) ญี่ปุ่นหนุนแนวทางกดดันถึงที่สุด (maximum pressure) ที่สหรัฐฯ ใช้จัดการกับเกาหลีเหนือในเวลานั้น

ในทางหนึ่ง การปฏิเสธกรอบนิวเคลียร์จึงเป็นท่าทีที่สอดรับกับความพยายามโดยรวมในการกระชับพันธมิตรให้ดูแข็งแกร่งและแน่นแฟ้น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในจุดยืนกับทรัมป์ รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกแนวทางที่ถือประโยชน์มาก่อนอุดมคติ เพื่อรับประกันว่าญี่ปุ่นจะยังคงมีแสนยานุภาพและร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ คอยคุ้มกันจากภัยที่ใกล้เข้ามา การยังคงต้องพึ่งสหรัฐฯ ทางทหารในสภาวการณ์ใหม่นี้ ทำให้นโยบายฝ่ายรัฐบาลลอยห่างจากทัศนคติมหาชนที่ต่อต้านนิวเคลียร์ และอยากเห็นญี่ปุ่นยึดมั่นในจุดยืนนี้บนเวทีโลกด้วย

แต่การเข้าหาพันธมิตรก็เป็นแค่แนวทางหนึ่งในวิถีการเผื่อทางหนีทีไล่ในยุทธศาสตร์เท่านั้น ยังมีประเด็นแอบแฝงในญี่ปุ่นอีกเรื่องที่น่าขบคิดด้วย ซึ่งมักเผยให้เห็นเป็นคำถามประปรายมานับแต่อดีตต่อจุดยืนไม่เอานิวเคลียร์ ญี่ปุ่นควรมีนิวเคลียร์ไหม เมื่อไหร่ควรมีสักที เป็นเสียงที่ได้ยินทั้งในและนอกญี่ปุ่นเรื่อยมา อย่างที่กล่าวข้างต้น ในยามที่ภัยนิวเคลียร์ใกล้เข้ามา แต่ไม่แน่ใจว่าจะพึ่งสหรัฐฯ ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ การหาทาง ‘ป้องปรามด้วยตนเอง’ อาจเป็นวาระที่ญี่ปุ่นกำลังโอนเอียงไปให้ความสำคัญ หรือเตรียมเผื่อไว้หรือไม่ ทั้งในด้านแสนยานุภาพแบบทั่วไปและอาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์

เมื่อสำรวจย้อนไปในอดีต แนวคิดนี้ปรากฏในรูปข้อถกเถียงที่มีขึ้นบางช่วงเวลา เช่นในทศวรรษที่มีการประกาศหลักปฏิเสธนิวเคลียร์ ระหว่างนั้นก็มีการถกอภิปรายว่าอาวุธนิวเคลียร์ในฐานะเครื่องมือป้องกัน หรือป้องปรามการโจมตี ควรเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขการมีกองกำลัง “เพื่อป้องกันประเทศเท่านั้น” ของญี่ปุ่น ยังมีการเปิดเผยด้วยว่า นอกจากการอาศัยร่มนิวเคลียร์สหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลยังมีจุดยืนเรื่อยมาที่จะดำรงรักษาองค์ความรู้และเทคนิควิทยาการที่จะสามารถเปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นชาตินิวเคลียร์ได้ด้วยเวลาอันสั้น ในยามจำเป็น

จากความพร้อมในด้านเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นหล่อเลี้ยงไว้ภายในประเทศในรูปการพัฒนาและใช้นิวเคลียร์เป็นพลังงานเชิงสันติมาอยู่แล้ว จึงมีคำเปรียบเปรยว่าญี่ปุ่นสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ “เพียงหมุนไขควง” สักหน่อย การมีแผนเผื่อทางเลือกนี้ไว้ยังสะท้อนออกมาจากเสียงของนักวิชาการญี่ปุ่นบางกลุ่มที่กังวลต่อกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หลังเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์รั่วไหลในเหตุแผ่นดินไหวที่ฟุคุชิมะ โดยเกรงว่าศาสตร์และความเชี่ยวชาญด้านนี้ของญี่ปุ่นจะเสื่อมถอยลง ซึ่งหมายถึงศักยภาพที่จะเปลี่ยนไปเป็นชาตินิวเคลียร์ได้ หากสถานการณ์บังคับในอนาคตด้วย

ที่ผ่านมา มีนักการเมืองญี่ปุ่นอยู่บ้างที่กล้าออกมาผลักดันให้สังคมถกเถียงเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์ แม้จะเผชิญเสียงก่นด่าจากสังคมไม่น้อย แต่เมื่อพิจารณาตรรกะ M.A.D และการป้องปรามข้างต้น การมีนิวเคลียร์สามารถสกัดไม่ให้เกิดการโจมตี หรือเป็นเครื่องมือข่มขู่ศัตรูเพื่อรักษาความสงบได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นคงไม่สามารถจูงใจให้เพื่อนบ้านที่มีนิวเคลียร์ และมีเหตุผลเต็มที่ที่จะรักษาศักยภาพนิวเคลียร์ไว้เข้าร่วมมือในกรอบการขจัดนิวเคลียร์ได้แน่ ไม่ว่าเกาหลีเหนือหรือจีน ญี่ปุ่นจึงอาจต้องหันมาเล่นเกมเดียวกันมากขึ้นเมื่อเผชิญ security dilemma เช่นนี้

สิ่งที่ทรัมป์เสนอก่อนขึ้นเป็นผู้นำเมื่อสี่ปีที่แล้ว ที่ว่าตนไม่ขัดข้องหากญี่ปุ่นจะมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับแนวทางเผื่อทางหนีทีไล่ที่ญี่ปุ่นเปิดช่องไว้ภายใต้อุดมคติขจัดนิวเคลียร์ อาจมีนัยสำคัญทำให้ญี่ปุ่นสามารถหลุดจากภาวะทางสองแพร่งได้ โดยหันความสนใจไปหายุทธศาสตร์มากกว่าอุดมคติ ท่าทีของรัฐบาลในช่วงไม่นานมานี้ที่ให้ความสนใจการติดอาวุธเชิงรุก เพื่อรับมือภัยคุกคามที่เติบโตขึ้น อาจทำให้การมีนิวเคลียร์ซึ่งยากที่จะใช้ในเชิงคุกคามอยู่แล้ว กลายเป็นทางเลือกนโยบายป้องกันประเทศที่รับฟังได้มากขึ้นในสังคม

แน่นอนว่า เมื่อสดับตรับฟังเสียงสาธารณชนญี่ปุ่น โลกทัศน์ในแบบแข่งขันเชิงอำนาจและการข่มขู่คุกคามด้วยกำลัง ย่อมขัดแย้งกับแนวทางสันตินิยมและต่อต้านนิวเคลียร์ที่มีมานาน แต่ด้วยสภาพการณ์รอบบ้านเช่นนี้ ฉาบหน้าญี่ปุ่นอาจแสดงตนเสมือนว่ายืนอยู่บนทางแพร่งที่เลือกไม่ได้และไม่อยากเลือกระหว่างการขจัดนิวเคลียร์ให้สิ้นไป กับการมีเผื่อไว้ป้องปรามการโจมตี อีกทั้งญี่ปุ่นยังอาสาทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ประสานระหว่างชาติที่มีและไม่มีนิวเคลียร์อีกด้วย แต่การเลือกไม่เข้าร่วมในกรอบห้ามนิวเคลียร์นี้ก็บ่งบอกถึงแนวโน้มบางอย่างที่เป็นกระแสอยู่ภายใต้ผิวน้ำสงบนิ่งผืนนี้ได้ไม่น้อยว่า บนทางแพร่งนี้ ญี่ปุ่นอาจจะขยับเดินต่อไปในทางใด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save