fbpx

ญี่ปุ่น G7 กับการเป็นประเทศกลุ่มผู้นำโลก

สถานะ (status) ไม่เพียง ‘กินไม่ได้’ แถมยัง ‘ค้ำคอ’ น่าจะเป็นคำพูดที่สะท้อนความคิดของผู้นำญี่ปุ่นหลายรุ่นรัฐบาลนับตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศพุ่งทะยานจากเถ้าถ่านสงครามดั่งวิหกไฟคืนชีพขึ้นใหม่ ช่วงทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นฟื้นสถานะอันเป็นที่ยอมรับไม่เพียงในประชาคมรัฐ แต่ใน ‘สมาคมมหาอำนาจ’ อีกด้วย การจัดกีฬาโอลิมปิก เข้าเป็นสมาชิก OECD และร่วมประชุมกลุ่มประเทศที่สำคัญ 6 ชาติ (Group of 6 / G6) ในครั้งแรกและครั้งต่อๆ มา (ก่อนจะขยายเป็น G7) ตอกย้ำตัวตนใหม่ที่ไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นักกับจุดยืนหลังสงคราม

ในปีนี้ที่การประชุมสุดยอด G7 เวียนมาถึงตาญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ การแสดงภาวะผู้นำในฐานะสมาชิกและประธานกลายเป็นเรื่องสำคัญอีกครั้ง ท่ามกลางบริบทที่นายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศได้ประกาศมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะเน้นหนัก ‘ด้านการทูต’ ทั้งยังต้องการผลงานเพื่อพิสูจน์ให้สาธารณชนที่หย่อนความนิยมต่อรัฐบาลในปีที่แล้วได้เห็นฝีมือในเวทีระหว่างประเทศ ในอีกด้าน วิกฤตความมั่นคงของโลกจากสงครามยูเครนและการแบ่งค่ายแบ่งฝ่ายของมหาอำนาจก็ทำให้ความเคลื่อนไหวของ G7 ในปีนี้เป็นที่จับตา

เมื่อเห็นเวที G7 ที่มีญี่ปุ่นเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียวในหมู่มหาอำนาจตะวันตก ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงยุคที่ญี่ปุ่นเพิ่งพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นใหม่ๆ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในเวลานั้นญี่ปุ่นพยายามกระเสือกกระสนเพื่อหาที่ยืนและการยอมรับจากชาติศิวิไลซ์ตะวันตก การเรียกร้องความเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ในเวทีต่างๆ ทั้งในทางสัญลักษณ์และทางปฏิบัติสะท้อนปมด้อยด้านสถานะบางอย่างของชาติเอเชีย แต่ในปัจจุบัน G7 อาจเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทนำหรือโน้มน้าวชาติตะวันตกให้มาร่วมถ่วงดุลอำนาจในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

อันที่จริงการเป็นผู้นำอย่าง ‘สมสถานะ’ เป็นวาระแห่งชาติและปัญหาในเวทีโลกของญี่ปุ่นมาตลอดยุคหลังสงคราม การยึดหลักสันตินิยมไม่ใช้กำลังทำให้ญี่ปุ่นตั้งปณิธานว่า จะเป็นมหาอำนาจ ‘สายพลเรือน’ (civilian power) หลังจากยกสถานะเป็นชาติชั้นนำทางเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ 1970-1980 ขณะนั้นเมื่อชาติอื่นระแวงว่าญี่ปุ่นจะเป็นภัยคุกคามขึ้นมาอีกหรือไม่ จะเป็นคู่แข่งแย่งความเป็นใหญ่กับสหรัฐฯ ในเอเชียไหม ญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าตนจะมีบทบาทเป็นเพียง ‘ผู้สนับสนุน’ (supportive power) สหรัฐฯ เพื่อพิทักษ์ปกป้องระเบียบ

ในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งเครื่องเต็มพิกัดก่อนถึงวันนัดประชุมสุดยอดในวันที่ 19-21 พฤษภาคม ความเคลื่อนไหวต่างๆ ดำเนินไปอย่างคึกคักเพื่อผสานและจัดวางวาระสำหรับผู้นำ แน่นอนว่าปัญหายูเครน ท่าทีของจีนกรณีไต้หวัน และการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือน่าจะเป็นประเด็นเด่นบนโต๊ะหารือ แต่นอกจากที่ประชุมระดับสุดยอดแล้ว G7 ยังมีการประชุมอีกหลายครั้งในระดับรัฐมนตรีแยกย่อยแต่ละกระทรวงซึ่งสะท้อนความแนบแน่นในความร่วมมือและความสนใจที่ขยายคลุมหลากหลายกิจการ

ที่สำคัญไปกว่านั้น การเตรียมการเป็นเจ้าภาพดังกล่าวยังเคลือบแฝงไปด้วยความพยายามผลักดันวาระที่สะท้อนและตอกย้ำ ‘อัตลักษณ์ทางการเมือง’ ของญี่ปุ่นให้โลกได้รับรู้ การยกชูตัวตนแห่งชาติที่สอดคล้องและตอบโจทย์วาระที่เป็นสากลยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลในสายตาประชาชนญี่ปุ่นได้ไม่น้อย ขณะที่ในทางกลับกันสถานะการเป็นหนึ่งในชาติ G7 ที่ ‘ค้ำคอ’ ก็มีส่วนสร้างและวางมาตรฐานพฤติกรรมของญี่ปุ่นในฐานะชาติชั้นนำที่ต้องรับผิดชอบต่อระเบียบโลก

ข้อเขียนนี้มุ่งสำรวจแง่มุมที่พบเห็นในการเป็นประธาน G7 ปีนี้ของญี่ปุ่น โดยแบ่งความสนใจเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งดูว่าญี่ปุ่นเคลื่อนไหวอย่างไรในการเสนอประสบการณ์และเนื้อหา ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ที่สอดรับกับสถานการณ์โลก ทั้งยังสนใจว่าสิ่งนี้ส่งเสริมความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาคนในชาติอย่างไร ในอีกด้านจะวิเคราะห์ว่าท่าทีและพฤติกรรมของสมาชิก G7 มีอิทธิพลต่อการแสดงบทบาทในฐานะสมาชิกกลุ่มผู้นำโลกของญี่ปุ่นอย่างไร โดยจะใช้แนวคิด ‘แรงกดดันจากภายนอก’ (external pressure / gai-atsu) เป็นตัวช่วยอธิบายในเรื่องนี้

ความสำคัญของภาวะผู้นำท่ามกลางวิกฤตความมั่นคง

แนวคิดว่าญี่ปุ่นควรทำหน้าที่ ‘ผู้นำ’ หรือ ‘แกนนำ’ บนเวทีโลก ผุดขึ้นมาหลอกหลอนรัฐบาลอีกระลอกเมื่อปีที่แล้ว ไม่นานหลังจากนายกฯ คิชิดะ ขึ้นดำรงตำแหน่ง เสียงนี้ก้องมาจากภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยของเขาเอง เมื่ออดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ผู้ที่ถูกลอบสังหารในเวลาต่อมา ได้แสดงทัศนะผ่านการให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า ญี่ปุ่นควร ‘แสดงภาวะผู้นำ’ ในการรวมกำลังของชาติต่างๆ เข้ามาเป็นแนวร่วมป้องปรามและถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่อาจพยายามใช้กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ในภูมิภาค

ข้อเรียกร้องของอาเบะ สะท้อนความตระหนักถึงระดับความร้ายแรงของปัญหาโดยเฉพาะความสุ่มเสี่ยงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นที่กังวลมาก่อนหน้าสงครามยูเครน อาเบะย้ำเรื่องนี้ก่อนที่รัสเซียจะเผด็จศึกต่อเพื่อนบ้านเสียอีก โดยมองว่าเหตุรุนแรงกรณีไต้หวันจะกระทบพื้นที่โอกินาวา เกาะพิพาทเซงคะคุ โดยที่พันธมิตรญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เพียงสองชาติอาจต้านทานอำนาจทางทะเลของจีนไม่ไหว ในฐานะชาติ ‘ด่านหน้า’ (front line) ญี่ปุ่นจึงควรเป็นแกนนำผนึกกำลังชาติต่างๆ เพื่อให้เกิด ‘ความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความมั่นคง’ (multilateral security cooperation) ในภูมิภาค

คิชิดะซึ่งรับมือวิกฤตทางทหารในปีที่ผ่านมาได้อย่างเข้มแข็งและแน่วแน่กล่าวย้ำช่วงเริ่มต้นปี 2023 ว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ญี่ปุ่นต้องเล่น ‘บทบาทนำ’ (leading role) ในเวทีโลก เนื่องด้วยตำแหน่งต่างๆ ที่ญี่ปุ่นได้รับมา ไม่ว่าจะเป็น ‘สมาชิกไม่ถาวร’ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) หรือประธานจัดการประชุมสุดยอด G7 คิชิดะดูเหมือนจะใช้โอกาสนี้ต่อยอดสิ่งที่อาเบะเรียกว่า ‘การผนึกกำลังชาติต่างๆ’ โดยเอื้อมไปไกลกว่าทวีปเอเชีย เข้าหารัฐศักยภาพสูงต่างๆ ฟากฝั่งยุโรปเพื่อให้เข้ามาสอดส่องป้องปรามจีน

ด้วยประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ คิชิดะดูจะเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับการตอบโจทย์โลกอันปั่นป่วน แม้ถูกปรามาสมาก่อนว่า เขาน่าจะเป็นนายกฯ ที่ไม่ค่อยมีความเด็ดขาด แต่เขาก็ได้ประกาศจุดยืนทางการทูตแบบขึงขังเอาจริงเอาจังในกรอบ ‘สัจนิยมที่สอดรับกับยุคสมัย’ (Realism Diplomacy for a New Era) โดยให้คำมั่น 3 ข้อว่า จะส่งเสริมกฎระเบียบสากลและหลักคุณค่าแบบเสรีนิยม จะร่วมมือกับนานาชาติจัดการปัญหาระดับโลก และจะปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนญี่ปุ่นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (resolutely) หลักการนี้ดูจะได้รับการพิสูจน์ผ่านการร่วมรับมือวิกฤตยูเครนช่วงปีที่ผ่านมา

คิชิดะยังทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติเอเชียแถวหน้าที่ตื่นตัวต่อวิกฤตยูเครน โดยชักจูงชาติในเอเชียอื่นๆ ให้ช่วยกันกดดันรัสเซียด้วยการเน้นให้เห็นว่า ‘ยูเครนวันนี้อาจคือเอเชียในวันหน้า’ ถ้ารัสเซียได้เปรียบจากการกระทำหรือได้ตามต้องการ จีนก็อาจอยากเอาเยี่ยงอย่างบ้างในอนาคต ในอีกด้านคิชิดะส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกว่าภาวะวุ่นวายที่อาจปะทุในเอเชียตะวันออกจะส่งผลร้ายไม่เฉพาะในภูมิภาคนี้ อย่างที่เขาย้ำว่า ‘ความมั่นคงของยุโรปกับเอเชียไม่อาจแยกจากกันได’ (inseparable)

ญี่ปุ่นกับปัญหาที่มาพร้อมสถานะผู้นำ

ท่าทีเชิงรุกอย่างที่เห็นในตอนนี้ต่างจากรูปแบบพฤติกรรมที่ญี่ปุ่นเคยเป็นมา ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าญี่ปุ่นจากยุคสงครามเย็นจนสิ้นทศวรรษ 2000 เผชิญความปั่นป่วนจากการถูกนานาชาติคาดหวังบทบาท ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ชาติชั้นนำ’ โดยเฉพาะในด้านการธำรงสันติภาพและความมั่นคงของโลก เหตุเพราะการเปลี่ยนจุดยืนหลังแพ้สงครามก่อให้เกิดข้อจำกัดทางทหาร เกิดตัวตนใหม่ที่ต้องอาศัยการปกป้องคุ้มกันจากสหรัฐฯ และเกิดความไม่แน่ใจว่าการแสดงภาวะผู้นำของตนจะเป็นที่ชอบธรรมในสายตาชาติอดีตเหยื่อสงครามหรือไม่ ทั้งหมดนี้ทำให้ญี่ปุ่นคงท่าทีเฉื่อยชา (passive) กล้าๆ กลัวๆ หรือมัวแต่รอดูสถานการณ์ (wait and see) จนเกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นบ่อยครั้ง

ในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบใหญ่จนกลายเป็นที่สองของโลก คำติเตียนอย่างการเคยตัวกับ ‘การทูตสั่งจ่าย’ (checkbook diplomacy) หรือ ‘ให้น้อยแถมยืดยาด’ (too little, too late) ล้วนเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นแบกรับในฐานะ ‘รัฐสายพลเรือน’ เมื่อต้องร่วมจัดการวิกฤตความมั่นคงในที่ต่างๆ ของโลก ดูเหมือนชาติอื่นโดยเฉพาะบรรดาชาติใหญ่ๆ จะคาดหวังญี่ปุ่นให้มีส่วนร่วมมากกว่าแค่ส่งเงิน แม้ญี่ปุ่นจะตั้งมั่น ‘ทำประโยชน์’ แก่ประชาคมนานาชาติ แต่การแสดงบทบาทสมตามสถานะและความคาดหวังก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตกในนโยบายต่างประเทศเสมอมา

การที่ญี่ปุ่นกลับลำมาเล่นบทบาทเชิงรุกในยุคนี้ คงปฏิเสธได้ยากว่ามีสาเหตุจากการสัมผัสถึงวิกฤตที่เข้ามาประชิดตัวมากขึ้น ภาวะแปรปรวนของดุลอำนาจแถบนี้ทำให้ไม่อาจรอสหรัฐฯ ให้แสดงภาวะผู้นำอยู่ฝ่ายเดียวได้ สถานการณ์บีบญี่ปุ่นให้ตื่นตัวหามาตรการป้องกันภัยคุกคามด้วยตัวเองและขยายพันธมิตรออกไปหลายกรอบเป็นการเผื่อทางหนีทีไล่ไว้รองรับภาวะฉุกเฉิน พันธมิตรในกรอบ G7 ที่ล้วนเป็นชาติชั้นนำในโลกถือเป็นสินทรัพย์ชั้นดีหากสามารถผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นได้

ตำแหน่งประธาน G7 เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถใช้ประโยชน์จากการเน้นย้ำความเป็นเอกภาพของเหล่าชาติมหาอำนาจเพื่อรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากภายนอก พร้อมไปกับกระตุ้นความนิยมและเสียงสนับสนุนทางการเมืองต่อรัฐบาล จากจุดนี้ นอกจากตัวแปรในแง่การคำนึงถึงสภาวการณ์ความมั่นคงแล้ว ‘ปัจจัยเชิงสังคม’ หลายอย่างก็เข้ามามีส่วนปรุงแต่งบทบาทและพฤติกรรมของญี่ปุ่นในช่วงปีแห่งการเป็นเจ้าภาพ G7 ด้วย

ฮิโรชิม่ากับอัตลักษณ์ที่สอดรับกับวาระแห่งโลก

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นการประชุม G7 ประกอบด้วยหลายที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งได้เริ่มจัดไปบ้างแล้วในสถานที่ต่างๆ ของญี่ปุ่น แต่การประชุมระดับ ‘สุดยอด’ (summit) ที่วางไว้ท้ายเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้เลือก ‘เมืองฮิโรชิม่า’ ให้เป็นฉากหลังเมื่อเหล่าผู้นำสูงสุดมารวมตัวกัน สถานที่นี้แฝงไปด้วยข้อความและนัยสำคัญหลายประการ ส่วนที่อาจรับรู้กันดีก็คือเมืองนี้เป็นเป้าทิ้ง ‘ระเบิดปรมาณู’ (atomic bomb) หรือที่รู้จักต่อมาว่า ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ในช่วงท้ายสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากความหมายที่รับรู้กันระดับสากลแล้ว ผู้ที่ติดตามการเมืองญี่ปุ่นอาจทราบด้วยว่า ฮิโรชิม่าเป็นจังหวัดฐานเสียงของนายกฯ คิชิดะ จึงเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่นอกจากความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองของญี่ปุ่นแล้ว ในฐานะเมืองจัดประชุม G7 ญี่ปุ่นยังตั้งใจสื่อความหมายที่เชื่อมโยงอัตลักษณ์ของฮิโรชิม่าหรือก็คือ ‘เหยื่อโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์รายแรก’ กับภาวะสุ่มเสี่ยงในปัจจุบันที่บางชาติคิดจะใช้อาวุธร้ายแรงนี้เพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตน

สถานที่จัดประชุมจึงสะท้อนความเกี่ยวข้องสอดประสานของประสบการณ์และตัวตนความเป็นญี่ปุ่นกับบริบทและปัญหาที่นานาชาติเผชิญอยู่ ข้อความที่ส่งผ่านฮิโรชิม่ายังหวังผลเชิงป้องปรามชาติปัญหาอย่างรัสเซียที่ขู่จะใช้อาวุธต้องห้ามนี้คุกคามชาติอื่น ญี่ปุ่นใช้อัตลักษณ์เหยื่อรายแรกและรายเดียวในโลกสร้างความตระหนักถึงความน่ากลัวของนิวเคลียร์ ขณะที่ย้ำการเป็นชาติแนวหน้าผู้ผลักดันวาระการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากโลกอย่างไม่ย่อหย่อน

อาจคาดหมายได้ว่าการขจัดนิวเคลียร์จะเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่ผู้นำ G7 ถกแถลงในการประชุม แต่มากไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังวางแผนจัดให้ตัวแทนชาติเหล่านี้พบปะเหยื่อระเบิดปรมาณู ตลอดจนเยี่ยมชมศูนย์เอกสารว่าด้วยระเบิดปรมาณู ณ อนุสรณ์สถานสันติภาพในเมืองฮิโรชิม่า ภาพกิจกรรมเหล่านี้น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยาและอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าคำพูดและตัวอักษร และน่าจะช่วยตอกย้ำความเป็นเอกภาพของเหล่าชาติชั้นนำในการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้

ระหว่างการประชุม คิชิดะยังวางแผนให้ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน เยือนจังหวัดนางาซากิด้วย ซึ่งเป็นอีกเมืองที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู แต่น่าเสียดายที่แผนนี้ถูกพับไปจากปัญหาตารางเวลา การเยือนนี้หากเกิดขึ้นจริงน่าจะส่งผลเชิงสัญลักษณ์อย่างมีนัยสำคัญทั้งต่อวาระเกี่ยวกับนิวเคลียร์และต่อการกระชับพันธมิตรความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้น ในทางกลับกัน การยกชูและส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นเหยื่อที่คนญี่ปุ่นเผชิญให้โลกได้รับรู้และมองเป็นบทเรียนทรงคุณค่ายังส่งผลเป็นคะแนนนิยมทางการเมืองกลับมาสู่รัฐบาลคิชิดะได้ด้วยเช่นกัน

คะแนนนิยมนี้ส่วนหนึ่งคงมาจากการสัมผัสถึงเกียรติภูมิของประเทศ เมื่อภาพผู้นำชาติสำคัญที่มารวมกันเป็นเอกภาพอยู่ในญี่ปุ่นช่วยย้ำสถานะการเป็นสมาชิกหนึ่งในชาติผู้นำของญี่ปุ่นและการเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ยิ่งเมื่อเติม ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ที่โยงกับความเป็นมาและตัวตนร่วมกันของชาติญี่ปุ่นในฐานะเหยื่อนิวเคลียร์เข้าไปในเวทีสำคัญนี้ พร้อมกับตีความให้เห็นคุณูปการจากบทเรียนที่ญี่ปุ่นมีให้แก่โลก ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ไม่น้อย แน่นอนว่าสื่อญี่ปุ่นไม่พลาดที่จะเล่นกับบรรยากาศความรู้สึกซาบซึ้งนี้และผู้ที่ได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นพรรครัฐบาล

จึงอาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในบรรดาผู้ชมกลุ่มเป้าหมายในการแพร่ภาพเวทีระดับโลกนี้หนีไม่พ้นคนในประเทศญี่ปุ่นกันเอง คิชิดะน่าจะรู้ดีว่าการต่างประเทศที่ตนถนัดจะช่วยทำผลงาน ‘ชดเชย’ ปัญหาและอุปสรรคที่บั่นทอนเสียงสนับสนุนรัฐบาลในปีที่ผ่านมาได้ไม่น้อย ไม่ว่าเรื่องอื้อฉาวในหมู่รัฐมนตรีหรือปัญหานักการเมืองในพรรคมีเอี่ยวกับลัทธิศาสนาที่ประชาชนเคลือบแคลง รัฐบาลดูจะตระหนักดีว่า การจับเอาอัตลักษณ์แห่งชาติมาเป็นวาระระดับโลกมีพลังปลุกเร้าสาธารณชนชาวญี่ปุ่นที่จ้องจับตา ซึ่งความรู้สึกร่วมเหล่านี้คงจะแปลงเป็นคะแนนในการสำรวจความนิยมทางการเมืองในครั้งต่อๆ ไป

G7 กับมาตรฐานบทบาทชาติแกนนำโลก

เนื้อหาที่กล่าวมาด้านบนคงพอจะทำให้เห็นความพยายามของญี่ปุ่นในการผลักดันอัตลักษณ์และวาระที่ตนถนัดขึ้นไปสู่เวทีสากลในฐานะประธาน G7 แต่อีกด้านที่น่าสนใจไม่แพ้กันซึ่งจะเสนอในส่วนนี้คือ การที่ความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่ม G7 มีอิทธิพลต่อท่าทีญี่ปุ่นด้วยการวางมาตรฐานการแสดงบทบาท โดย ‘บอกและบีบ’ ญี่ปุ่นว่าในฐานะหนึ่งในชาติผู้นำโลกควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้สมสถานะและเป็นที่ยอมรับนับถือ สิ่งที่ญี่ปุ่นดำเนินการในวิกฤตยูเครนจากปีที่แล้วเป็นต้นมา คงไม่ผิดที่จะพูดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยการมีสถานะสมาชิก G7 ค้ำคออยู่

ดังจะเห็นว่าญี่ปุ่นเรียนรู้มาตรฐานการปฏิบัติในวิกฤตด้วยการสอดส่อง เฝ้ามองและเปรียบเทียบพฤติกรรมของสมาชิก G7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรอบนี้ดูจะทำหน้าที่อย่างแข็งขันเป็นรูปธรรมเด่นชัดในการผสานความร่วมมือและทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือยูเครนและกดดันรัสเซีย ขณะที่สหประชาชาติและ NATO ดูจะเผชิญอุปสรรคความคล่องตัวในการตัดสินใจ G7 ยังเป็นกรอบที่เชื่อมชาติชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในวิกฤตยูเครนอย่างแนบแน่นด้วย

จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นเองเข้าใจตรรกะว่าตนไม่อาจละเลยวิกฤตนี้โดยมองเป็นเรื่องคนอื่นไปได้ เพราะสักวันอาจกระทบมาถึงระเบียบใกล้บ้าน หากชาติที่มีเงื่อนไขคล้ายกันในเอเชียอย่างจีนเดินตามรอยรัสเซีย แต่จะเห็นว่าญี่ปุ่นเคลื่อนไหวโดยอาศัย ‘เอกภาพ’ กับ G7 เป็นแนวทางแสดงบทบาท แต่ก็เน้นการเป็นแนวร่วมกระทำตามมากกว่าเป็นผู้ริเริ่มบทบาทของตนเอง พลังเชิงสังคมนี้ทำงานผ่านสื่อนานาชาติและสื่อญี่ปุ่นโดยคอยทำหน้าที่สอดส่องติดตามชาติ G7 ว่าใครเคลื่อนไหวอย่างใดแล้วบ้าง ใครให้อะไรเท่าไหร่ ใครยังไม่ได้ทำอะไรในวิกฤตนี้ โดยถือความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มเป็นพลังที่อาจช่วยจัดการวิกฤตได้

ในเชิงบทบาทญี่ปุ่นมักเป็นชาติรั้งท้ายในหมู่ชาติ G7 ซึ่งวาทกรรมที่สื่อใช้รายงานความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในวิกฤตยูเครนมักเน้นเปรียบเทียบให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังช้าอยู่หรือเป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มที่ยังกระทำการไม่เข้าพวก แต่การตอบสนองที่ยืดหยุ่นของญี่ปุ่นในคราวนี้ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนๆ โดยจุดต่ำสุดเห็นจะเป็นวิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย (1990-1991) ซึ่งฝากแผลในใจ (trauma) เอาไว้จากการที่ญี่ปุ่นไม่อาจมีส่วนร่วมและทำประโยชน์ได้เท่าที่ควรด้วยข้อจำกัดทางกฎเกณฑ์ กองกำลังและทัศนะของประชาชน รัฐบาลจึงทำได้แค่เพียงส่งเงินตามเคย

เสียงวิจารณ์และคำดูแคลน ตลอดจนแบบอย่างจากชาติชั้นนำอื่นที่ตื่นตัวมากกว่าต่อการดูแลระเบียบโลกทำหน้าที่เสมือน ‘แรงกดดันจากภายนอก’ (gai-atsu) ที่ญี่ปุ่นมักใช้เป็นคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของประเทศ ท่าทีของชาติ G7 ที่แสดงให้เห็นในวิกฤตเวลานี้อาจกำลังทำหน้าที่ไม่ต่างกันในการเป็น gai-atsu ที่ส่งผลในแบบส่งเสริมหรือสั่นคลอน ‘ความมั่นคงเชิงสถานะและตัวตน’ (ontological security) ของญี่ปุ่นในการเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐแกนนำจัดการระเบียบและความมั่นคงของโลก

สถานะชาติ G7 ที่ค้ำคอญี่ปุ่นกับบทบาทในวิกฤตยูเครน

การคำนึงถึงสถานะที่ค้ำคอและการทำตามมาตรฐานชาติชั้นนำอื่นๆ ในกลุ่ม ทำให้ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ กฎเกณฑ์และข้อจำกัดดั้งเดิมให้สามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนทัดเทียมชาติ G7 อื่นๆ ได้ อย่างกรณีการรับผู้อพยพจากยูเครนให้เข้ามาอาศัยในญี่ปุ่นกว่า 2,000 คน เมื่อเทียบกับชาติอื่นในกลุ่มที่เปิดรับชาวยูเครนเรือนหมื่นถึงเรือนแสนแล้วก็นับว่าตัวเลขยังต่ำมาก แต่นี่ก็ถือเป็นมิติใหม่ เพราะเมื่อเทียบกับแนวโน้มก่อนหน้าที่เป็นมาของญี่ปุ่นซึ่งไม่ค่อยยินดีรับผู้ลี้ภัยต่างชาติเข้าประเทศเท่าไหร่ นี่ก็ถือได้ว่าบทบาทญี่ปุ่นเปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน

เมื่อผู้นำสหรัฐฯ และอิตาลีไปปรากฏตัวในกรุงคีฟเพื่อพบปะให้กำลังใจประธานาธิบดีเซเลนสกี ปลายเดือนกุมภาพันธ์ในวาระครบ 1 ปีที่สงครามดำเนินมา สื่อญี่ปุ่นต่างประโคมข่าวนี้ โดยย้ำว่าในหมู่สมาชิก G7 เหลือเพียงผู้นำญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังไม่เยือนยูเครน เมื่อคำนึงถึงการเป็นประธานกลุ่มในปีนี้การที่ 6 ชาติตบเท้าทำแบบเดียวกันกลายเป็น gai-atsu ส่งตรงมายังญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เอกอัครราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่นก็ได้กล่าวผ่านสมาคมสื่อต่างประเทศว่าอยากให้นายกฯ คิชิดะลงพื้นที่เพื่อไปเห็นสภาพสงครามในยูเครนด้วยตาตนเอง

นี่เป็นเหตุผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นหาทางจัดการอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ จนทำให้ภาพคิชิดะเดินคู่เซเลนสกีที่กรุงคีฟปรากฏสู่สายตาชาวโลกได้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขายังได้เชิญผู้นำยูเครนมาร่วมประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่า ทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมสถานะผู้นำของญี่ปุ่นในสายตาชาติพันธมิตรและประชาชนในประเทศ และด้วยความเป็นใจแห่งจังหวะเวลา พอดีในวันนั้นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเดินทางไปพบผู้นำรัสเซียที่กรุงมอสโคว ทำให้การเยือนคีฟของคิชิดะยิ่งมีนัยสำคัญมากขึ้นในการสะท้อนการผนึกกำลังของชาติ G7 ที่ให้การหนุนหลังยูเครน ขณะที่ฝ่ายรัฐเผด็จการจับมือเป็นหุ้นส่วนกัน ทั้งที่จีนย้ำว่าการเยือนดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ

ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่อยูเครน ดูเหมือน gai-atsu ก็เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบบทบาทกับชาติ G7 อื่นๆ โดยญี่ปุ่นมีข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้จัดสรรเงินช่วยเหลือได้ในกรอบมนุษยธรรมและเพื่อการฟื้นฟูเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ตื่นตัวเสนอเงินให้เป็นมูลค่าไม่น้อย แต่การช่วยเหลือทางทหารโดยตรงหรือการส่งอาวุธที่ใช้ในการรบเผชิญข้อห้ามที่มีมานาน จึงเหลือแต่ญี่ปุ่นในบรรดาชาติกลุ่ม G7 ที่ไม่สามารถ ‘ส่งอาวุธ’ ให้ยูเครน ได้แต่เพียงส่งอุปกรณ์ป้องกันอย่างเสื้อกันกระสุน หมวกทหาร โดรนตรวจการ และเต็นท์ เป็นต้น โดยไม่อาจขายอาวุธให้ชาติใดที่อยู่ในภาวะสงครามได้

แต่ด้วยแรงกดดันให้เกิดเอกภาพในกลุ่มผู้นำโลก รัฐบาลได้อาศัย gai-atsu นี้ผลักดันวาระและหว่านล้อมพรรคการเมืองต่างๆ ให้พิจารณาปรับแก้กฎหมายให้ญี่ปุ่นจัดส่งหรือขายอาวุธแก่ชาติอื่นรวมถึงยูเครนได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ความแปลกแยกแตกต่างในคุณสมบัติแห่งชาติที่ญี่ปุ่นเคยมองเป็นอัตลักษณ์และหลักคุณค่าหลังสงคราม ดูจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำประโยชน์ต่อระเบียบโลกทัดเทียมกับกลุ่มชาติชั้นนำอื่นๆ บาดแผลและความเซ็นซิทีฟต่อการยอมรับทางสังคมที่เกิดขึ้นควบคู่กับการดำรงสถานะเป็นชาติชั้นนำกำลังทำให้ญี่ปุ่นประจันหน้ากับทางแพร่ง (dilemma)

ทางแพร่งนี้มีทางเลือกระหว่างการจะยังคงยึดมั่นเป็นรัฐสันติ และเป็น ‘รัฐไม่ปกติ’ ต่อไปโดยอาจต้องอาศัยการรวบรวมความมั่นใจเป็นอย่างมากเพื่อยืนหยัดในกระแสวิจารณ์ที่ลดทอน ontological security ระลอกแล้วระลอกเล่า กับอีกเส้นทางที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตาม ‘แรงกดดันจากภายนอก’ เพื่อปฏิบัติตนให้สมสถานะและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มมหาอำนาจชั้นนำของโลก ซึ่งช่วยรักษาเกียรติภูมิในหมู่พันธมิตรและนานาชาติ แต่ก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นต้องตื่นตัว รับความตึงเครียดและความเสี่ยงที่อาจก่อศัตรูเพิ่มมากขึ้นด้วย

ในยามที่ความมั่นคงในเอเชียอยู่ในภาวะปั่นป่วนด้วยปัจจัยจากทั้งในและนอกภูมิภาค ขณะที่การเผชิญและแก้ปัญหาต้องการความมีเอกภาพและการผนึกกำลังร่วมกัน ญี่ปุ่นเข้าใจว่าตนต้องแสดงภาวะผู้นำในการโน้มน้าวชักจูงชาติต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ให้เข้ามาร่วมจัดการปัญหา แต่การจะทำเช่นนั้นญี่ปุ่นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า สามารถแสดงบทบาทนำได้โดยไม่ถูกข้อจำกัดภายในประเทศถ่วงรั้ง การเป็นประธาน G7 ปีนี้ทำให้ญี่ปุ่นได้ทั้งโอกาสและเผชิญแรงกดดัน ด้านหนึ่งคือการยกชูตัวตนสู่เวทีสากล แต่อีกด้านคือการต้องปรับตัวและบทบาทไปตามมาตรฐานการปฏิบัติของบรรดาชาติ G7

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save