fbpx

ญี่ปุ่นและนายกฯ คนใหม่ในกระแสลมการเลือกตั้ง

ภาพจาก Ministry of Foreign Affairs (外務省)

สำหรับผู้ที่ติดตามความเป็นไปในการเมืองญี่ปุ่น การเห็นผู้นำก้าวขึ้นมาใหม่ในเวลาเพียงปีเดียว ย่อมทำให้นึกถึงเหตุการณ์ช่วงหลังทศวรรษ 2000 ที่นายกฯ ญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งคนละปีติดต่อกันถึง 6 คน จนถูกเปรียบเปรยว่าเหมือน ‘ประตูหมุน’ (revolving door) ที่เวียนเอาผู้นำเข้าและออกไปอย่างฉับพลันจนแทบไม่ทันจำหน้าได้ ภาวะที่สื่อถึงปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนธรรมเนียมการถอดใจของผู้นำดูเหมือนจะกลับมาหลอกหลอนญี่ปุ่นอีกครั้งในการเปลี่ยนผู้นำรอบล่าสุด

โยชิฮิเดะ ซุงะ ซึ่งเพิ่งลงจากตำแหน่งนายกฯ ไปเคยเป็นที่กังขามาก่อนว่าจะต้องคำสาปประตูหมุนหรือไม่ มักมองกันว่าภาวะเช่นนี้มักเกิดหลังจากการมีผู้นำที่เข้มแข็งและได้รับความนิยมสูงครองอำนาจอยู่เป็นเวลานาน กรณีนี้คือ ชินโซ อาเบะ ซึ่งเป็นนายกฯ มาเกือบ 8 ปี (2012-2020) ทำสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น

เมื่อซุงะซึ่งเพิ่งขึ้นมาแทนอาเบะได้เพียงปีเดียวประกาศไม่ลงเลือกตั้งหัวหน้าพรรครัฐบาล (LDP) เทียบเท่ากับการเปิดทางให้สรรหานายกฯ คนใหม่ (หัวหน้า LDP จะได้ขึ้นเป็นนายกฯ ผ่านการลงมติเห็นชอบโดยรัฐสภาที่มีพรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากอยู่ขณะนี้) ทำให้คำถามตกทอดมาสู่นายกฯ คนปัจจุบัน ฟุมิโอะ คิชิดะ ว่าจะนำพารัฐบาลตอบสนองความต้องการและความพอใจของประชาชนได้ยาวนานแค่ไหน

การคาดการณ์เรื่องนี้คงจะเร็วเกินไปในเวลาที่รัฐบาลใหม่จัดตั้งมาได้ไม่ถึงเดือน อีกทั้งพรรคการเมืองญี่ปุ่นยังต้องลุ้นที่นั่งในสภาผู้แทนฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็เป็นภารกิจใหญ่แรกในการพิสูจน์ความเป็นผู้นำของนายกฯ คิชิดะว่าจะพาพรรค LDP และพันธมิตรชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากระดับไหนเพื่อรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ และผ่านกฎหมายและนโยบายยากๆ ได้อย่างสะดวกมือ

ถึงกระนั้น สิ่งที่สามารถบ่งบอกสถานะผู้นำของคิชิดะในยามนี้ได้ก็คือ เส้นทางการชิงชัยในการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค LDP ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งปูทางให้เขาได้เป็นนายกฯ อีกอย่างคือความพร้อมเข้าสนามเลือกตั้งใหญ่ปลายเดือนนี้ท่ามกลางสภาวะที่ญี่ปุ่นเผชิญทั้งปัญหาโควิดภายในและภัยความมั่นคงจากภายนอก ดังนั้น ข้อเขียนนี้จึงมุ่งสนใจความเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งทั้งครั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะมาถึง โดยมองเป็นเครื่องบ่งชี้ฐานอำนาจและความท้าทายของนายกฯ และรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น

เส้นทางตั้งแต่ก้าวย่างสู่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจนกระทั่งได้ผู้นำอย่างฟุมิโอะ คิชิดะขึ้นมากุมบังเหียนรัฐบาลเผยให้เห็นเกมการต่อรองระหว่างกลุ่มอำนาจภายใน LDP และการคำนึงถึงยุทธศาสตร์การเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้จะเกิดขึ้น อันจะมีเสียงประชาชนญี่ปุ่นเป็นผู้ตัดสิน ในช่วงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เรื่องคาดไม่ถึงได้เกิดขึ้นหลายระลอก ซึ่งสะท้อนให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายประเด็นในการเมืองญี่ปุ่น

เรื่องเหนือความคาดหมายที่ว่านี้มีทั้งกรณีการตัดสินใจยุติบทบาทของอดีตนายกฯ ซุงะอย่างกะทันหัน การที่กลุ่มก๊ก (factions / habatsu) ใหญ่ๆ ใน LDP ตกลงให้สมาชิกโหวตผู้นำได้ตามใจโดยไม่ต้องยึดจุดยืนของผู้ใหญ่ในกลุ่ม ผิดแผกจากแบบแผนที่เป็นมา อันที่จริงการที่คิชิดะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก็ถือเป็นอีก ‘เซอร์ไพรส์’ กว่าสื่อญี่ปุ่นจะจับทิศทางได้ก็ใกล้วันลงคะแนนเต็มที และท้ายสุด การรีบเร่งกำหนดวันยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือนนี้ก็เป็นอีกข่าวใหญ่ที่น้อยคนคาดคิดเอาไว้ก่อน

เราจะมองเหตุเซอร์ไพรส์เหล่านี้ในบริบทการเมืองของญี่ปุ่นอย่างไร และเป็นเหตุเป็นผลกับสถานะของนายกฯ คิชิดะอย่างไร จะได้ลองวิเคราะห์เรื่องราวนี้กันดู

ธรรมเนียมการถอนตัวของผู้นำญี่ปุ่น

การตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งของซุงะทั้งที่ประกาศจะต่ออายุเอาไว้ดิบดี เปิดทางให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP เต็มไปด้วยความคึกคัก ที่จริงแล้วหากซุงะยังยืนยันจะอยู่ต่อ ก็อาจเป็นประโยชน์และโทษแก่พรรคในเวลาเดียวกัน ในแง่หนึ่งกลุ่มอำนาจใหญ่ในพรรคอาจรู้สึกอุ่นใจ เพราะซุงะเป็นไพ่ที่รับประกันความต่อเนื่องทั้งในเรื่องอิทธิพลดั้งเดิมของอาเบะ และแนวอนุรักษนิยมของพรรคที่กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องจากบางกลุ่มภายในให้ทบทวนแนวทาง จึงไม่น่าแปลกใจที่แรงหนุนซุงะยังคงเข้มแข็งในหมู่ผู้นำเก่า

แต่แลกกับการปกป้องอิทธิพลดั้งเดิมและกลุ่มก๊กใหญ่ LDP อาจต้องเผชิญแรงต่อต้านจาก ส.ส.รุ่นใหม่ที่ต้องพึ่งความนิยมของพรรคและนายกฯ ในการคว้าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นในอีกไม่ช้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ส.ส.กำลังจะครบวาระ 4 ปีปลายเดือนตุลาคมนี้ อันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลมักชิงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งขึ้นก่อนในช่วงที่ตนได้เปรียบ แต่เพราะรัฐบาลซุงะรอจังหวะได้เปรียบอย่างไม่มีวี่แววจะมาถึง การปล่อยให้สภาผู้แทนฯ หมดวาระจึงเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

ความนิยมในตัวซุงะลดฮวบอย่างน่าใจหาย จากปริ่มๆ 70% เมื่อปีที่แล้ว เหลือไม่ถึง 30% ทำให้เขาถูกมองเป็น ‘ทุ่นถ่วง’ มากกว่า ‘สินทรัพย์’ ในการคงที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา จริงๆ แล้ว การเร่งฉีดวัคซีนโควิดและการแข่งกีฬาโตเกียวโอลิมปิกที่เพิ่งผ่านไปได้ด้วยดีน่าจะช่วยกระตุ้นความนิยมต่อตัวผู้นำขึ้นมาบ้าง แต่กลับสร้างกระแสต่อต้านตีกลับรัฐบาลซะอย่างนั้น โดยตอกย้ำว่าซุงะเป็นผู้นำหัวดื้อ เอาแต่ใจ ไม่ฟังเสียงประชาชน และจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก

ภาวะเกินเยียวยาของซุงะยังปรากฏจากการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้ง คนของ LDP เพลี่ยงพล้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมนี้ ในการเลือกนายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งและฐานเสียงของซุงะเอง ผู้สมัครซึ่งเป็นคนสนิทของเขาก็พ่ายให้แก่ตัวแทนของฝ่ายค้าน ดังนั้นเพื่อฝ่าทางแพร่งให้กับพรรค เขาจึงหันเข้าหาธรรมเนียมที่ใช้บ่อยในการเมืองญี่ปุ่นคือ ‘การยุติบทบาทตัวเอง’

อาจฟันธงได้ยากว่าซุงะสมัครใจถอนตัวหรือเป็นเพราะการต่อรองหลังม่าน แต่สื่อเวลานั้นเสนอเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้ใหญ่ใน LDP สนับสนุนเขาจนนาทีสุดท้ายและตั้งตัวไม่ติดเช่นกัน จะว่าไปแล้ว ‘การลาออก’ ที่มักเห็นจนเกร่อในการเมืองญี่ปุ่นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลและข้ออ้างใด หลายครั้งกลายเป็นเรื่องที่สังคมวิจารณ์โดยมองเป็นความไม่เข้มแข่ง แน่วแน่ หนีปัญหาหรือทิ้งภาระหน้าที่ แน่นอนว่าการมีผู้นำแบบ ‘ประตูหมุน’ ติดต่อกันหลายคนไม่น่าจะเป็นเรื่องดีในแง่ความต่อเนื่องเชิงนโยบาย

แต่การถอนตัวก็ใช่ว่าจะหมายถึงการ ‘ถอดใจ’ หรือด้อยภาวะผู้นำไปเสียหมด เราอาจเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมนี้จากค่านิยมพื้นฐานในสังคมญี่ปุ่น นั่นคือการถือความ ‘เกรงใจ’ เป็นเรื่องใหญ่และการทำให้สังคม ‘เดือดร้อน’ เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส คำที่สะท้อนแนวคิดนี้คือ meiwaku (รบกวน) ซึ่งมักใช้ติติงความประพฤติ ครอบคลุมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง กริยามารยาท การทำให้ผู้อื่นกระอักกระอ่วน รำคาญใจ

ดังนั้นการยืนกรานอยู่ในตำแหน่งจนพรรคอาจเสียโอกาสที่จะได้ลองมองหาแนวทางใหม่ๆ ทั้งยังทำให้เกิดทางแพร่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องลำบากใจ ไปจนถึงทำลายความสมานฉันท์กลมเกลียวและความนิยมชมชอบของสาธารณชนต่อพรรค จึงเป็นเรื่องร้ายแรงเกินกว่าผู้นำสักคนจะลอยหน้ารับไหว

อุดมการณ์หลายขั้วภายใน LDP

เมื่อชื่อซุงะหายไปจากสมการการสรรหาหัวหน้าพรรค โอกาสจึงเปิดให้สามารถปรับขบวนทัพกันใหม่เพื่อมุ่งต่อสู้ในเวทีเลือกตั้งทั่วไป โดยการเลือกผู้นำ LDP กลายเป็น ‘อีเวนต์’ ที่พรรคหวังใช้พลิกสถานการณ์อีกหนด้วยการอัดฉีดภาพลักษณ์สดใหม่เพื่อเรียกคืนเสียงสนับสนุน สิ่งที่เห็นต่อมาคือผู้สมัครมากหน้าหลากจุดยืนภายในพรรคต่างเสนอตัวขึ้นเป็นทางเลือก พร้อมด้วยแนวนโยบายและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างสำหรับจัดการวิกฤตเฉพาะหน้าและรับมือปัญหาท้าทายในอนาคต

4 ผู้สมัคร ชายสอง-หญิงสองที่เป็นความหวังในการนำพรรคลงเลือกตั้งมีความแตกต่างทางจุดยืนอย่างน่าสนใจ ในจำนวนนี้มีผู้ที่ชูแนวคิดสุดโต่งไปทางฝั่งปฏิรูปและอนุรักษนิยมแบบคนละขั้วราวกับมาจากคนละพรรค ทาโร่ โคโน่ รัฐมนตรีผู้ดูแลการจัดสรรวัคซีนที่มีโปรไฟล์ทั้งด้านการต่างประเทศและกลาโหมเป็นตัวเก็งทางฝั่งปฏิรูป อีกขั้วตรงข้าม ซะนะเอะ ทะคะอิจิ หญิงผู้เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลอาเบะมีแนวทางสุดโต่งไปฝั่งอนุรักษนิยม

ขณะที่โคโน่เสนอแนวทางเสรีนิยม คัดค้านนโยบายหลายอย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและอาเบะ-ซุงะยึดมั่น โดยเขาต้องการให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ ให้สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงสืบราชสันตติวงศ์ได้ ยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันและให้คู่ครองใช้นามสกุลต่างกันได้ แต่ทะคะอิจิ ผู้ที่อาเบะให้การสนับสนุนมีความเห็นตรงข้าม เน้นสานต่อนโยบายทั้งด้านเศรษฐกิจ (Abenomics) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมชาตินิยมและเพิ่มศักยภาพการโจมตีให้กองกำลังป้องกันตนเอง SDF ขณะที่รักษาสถานะเดิมเรื่องบทบาทระหว่างเพศในสังคมญี่ปุ่น

ฟุมิโอะ คิชิดะอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและเคยดูแลด้านนโยบายพรรคถือเป็นผู้นำสายปฏิรูปเช่นกัน แต่นโยบายของเขาไม่ได้แย้งกับจุดยืนพรรคและอาเบะมากมายนัก ที่เห็นชัดคือเขาชี้ถึงปัญหาของ Abenomics ว่าทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นต้องเน้นการกระจายความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกันในขั้นต่อไป โดยมองปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วน เซโกะ โนดะที่เคยเป็นรัฐมนตรีและมีบทบาทระดับแกนนำพรรคชูนโยบายสร้างสังคมที่เอื้อแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ของคิชิดะ

นอกจากเรื่องนโยบายแล้ว ความนิยมในหมู่สมาชิกและกลุ่มก๊กในพรรค ตลอดจนประชาชนทั่วไปก็เป็นอีกปัจจัยกำหนดตัวผู้นำ ผลสำรวจความเห็นคนญี่ปุ่นของสื่อหลายสำนักชี้ชัดว่าโคโน่ได้รับความนิยมนำโด่ง ตามมาด้วยคิชิดะ ทะคะอิจิ และโนดะ ในอีกด้าน สมาชิกรัฐสภาในพรรคผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนก็เริ่มแบ่งฝ่ายเข้าหาตัวเลือกทั้งสี่ แม้การเทคะแนนให้โคโน่จะช่วยรับประกันว่าความนิยมของพรรคจะพุ่งสูง แต่นโยบายที่ขัดหูขัดตาผู้ใหญ่และจุดยืนของพรรคทำให้เขาไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกรัฐสภาของพรรคเท่าไหร่

แผนกำจัดขบถ ตัวกำหนดผู้นำสายประสาน

แม้โคโน่ดูจะมาแรง แต่สิ่งที่ทำให้คาดเดาผลเลือกตั้งได้ยากและโอกาสพลิกโผที่เก็งไว้มีอยู่สูงคือ เกมการเมืองกลุ่มก๊ก (faction) ใน LDP และกติกาการลงคะแนน สำหรับปัจจัยแรก LDP มี 7 กลุ่มก๊กน้อยใหญ่และมีสมาชิกสภาที่ไม่สังกัดกลุ่มใดอยู่เช่นกัน สามกลุ่มใหญ่ โฮโซดะ อะโซ ทะเคชิตะ ซึ่งมีสมาชิกในสังกัดจำนวนมากคือตัวแปรหลักในการกำหนดตัวผู้นำ การขึ้นมาของซุงะเมื่อปีที่แล้วก็ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำกลุ่มเหล่านี้ในแบบตกลงกันล่วงหน้าก่อนจะมีการเลือกตั้ง

แต่ในครั้งนี้ ทั้งสามกลุ่มยอมทำตามเสียงเรียกร้องของสมาชิกสภารุ่นใหม่ที่ต้องการใช้สิทธิ์ลงคะแนนตามใจชอบโดยไม่ขึ้นกับแกนนำกลุ่ม แม้ว่าโคโน่จะสังกัดกลุ่มอะโซ แต่เขาไม่ได้เป็นตัวเลือกที่สมาชิกเห็นพ้องต้องกัน เขาถูกตีตราว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูงและช่างวิพากษ์วิจารณ์ ออกสื่อและใช้โซเชียลมีเดียเป็นว่าเล่น รวมทั้งการมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลชุดก่อนๆ ทำให้ความคิดเห็นแบบที่แตกต่างอย่างสุดโต่งจากแนวทางพรรคของเขาเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาเป็นที่ชมชอบในหมู่ประชาชนที่เรียกหาความแปลกใหม่ด้วย

แม้สมาชิกรุ่นใหม่จะมีปากเสียงมากขึ้น แต่ก็เห็นชัดว่าอิทธิพลและกลยุทธ์หลังฉากของกลุ่มผู้นำเก่าในพรรคก็ยังครอบงำความเคลื่อนไหวก่อนวันเลือกหัวหน้า อดีตนายกฯ อาเบะ ผู้คุมกลุ่มโฮโซดะที่ใหญ่ที่สุดแสดงความสนับสนุนคิชิดะและทะคะอิจิ ทั้งที่ผู้สมัครหญิงคนหลังนี้ถูกมองว่าอาจเป็นอุปสรรคในการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากเธอชูแนวนโยบายขวาจัดและยังเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอาเบะ ซึ่งอาจไม่ค่อยดึงดูดประชาชนเท่าไหร่ อีกทั้งก็ยังไม่แน่ใจด้วยว่าญี่ปุ่นพร้อมจะมีนายกฯ หญิงคนแรกหรือยัง

ปัจจัยอีกด้านที่สำคัญในการรับประกันว่าพรรคจะได้ผู้นำที่เอื้อต่อดุลอำนาจและกลุ่มอิทธิพลในพรรคคือกติกาและเกมการโหวต โดยตามกฎของ LDP ที่มีการปรับเปลี่ยนมาตลอดหลายปี สมาชิกพรรคที่มีตำแหน่งในสภา (ส.ส. ส.ว.) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 382 คน มีสิทธิ์โหวตแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ขณะที่ก็เปิดให้สมาชิกระดับจังหวัดซึ่งมีอยู่ราว 1.1 ล้านคนได้มีส่วนร่วม โดยนำคะแนนที่ลงล่วงหน้ามาคิดแบบสัดส่วนให้ได้ 382 เสียงเท่ากับกลุ่มแรก ดังนั้นในวันเลือกตั้ง ผู้สมัครจึงต้องลุ้นว่าตนจะสามารถกวาดคะแนน 764 เสียงได้เกินครึ่งเพื่อชัยชนะหรือไม่

ในหมู่ลูกพรรคระดับท้องถิ่น โคโน่ได้รับความนิยมสูงมาก สอดรับกับผลสำรวจความเห็นคนญี่ปุ่นทั่วไป จึงมีการเก็งกันแต่ต้นว่าเขาไม่น่าพลาดตำแหน่ง อย่างไรก็ดี ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกอย่าง นั่นคือในกรณีที่ไม่มีใครได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องลงคะแนนกันอีกรอบซึ่งครั้งนี้คะแนนลูกพรรคท้องถิ่นที่ลงไว้จะนำมาคิดให้เหลือจังหวัดละเสียง (47 เสียง) ดังนั้นการโหวตรอบชี้ขาดจึงขึ้นกับความเห็นของสมาชิกพรรคผู้มีตำแหน่งส.ส. ส.ว. เป็นหลัก ผลที่ออกมาจึงสะท้อนเกมการต่อรองในพรรคมากกว่าเสียงสมาชิกวงกว้าง ซึ่งที่จริงแล้วสะท้อนการยอมรับในระดับสาธารณชนได้ดีกว่า

เมื่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลมองโคโน่ว่าอาจขึ้นมาสั่นคลอนฐานอำนาจของตน จึงพยายามลดทอนกำลังของเขาด้วยการส่งสัญญาณสนับสนุนคิชิดะและทะคะอิจิอย่างแข็งขัน ทำให้แทนที่การโหวตรอบแรกจะเป็นการแข่งกันระหว่าง 2 ผู้สมัครในใจมหาชน คะแนนเสียงกลับถูกเทไปยังทะคะอิจิด้วยอีกคน ดังนั้น ในรอบแรก โคโน่กับคิชิดะจึงมีคะแนนสูสีโดยไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่ง แต่โคโน่ได้เสียงจากสมาชิกสภาต่ำมาก ต่ำกว่าทะคะอิจิด้วยซ้ำ แม้เขาจะได้เสียงจากลูกพรรคท้องถิ่นมากจนคะแนนเกือบเท่าคิชิดะก็ตาม

คิชิดะชนะการโหวตรอบสองอย่างท่วมท้น (257/170) ซึ่งสะท้อนการทำงานของดุลอำนาจในพรรค ถึงกระนั้นการมีตารางการเลือกตั้งผู้แทนรอต่อคิวทำให้ละเลยความเห็นมหาชนไปไม่ได้เช่นกัน ในแง่นี้ คิชิดะจึงเป็นตัวเลือกที่อาจเรียกได้ว่า ‘พอดี’ ทั้งในเชิงจุดยืนนโยบายและการได้พลังหนุนหลังจากกลุ่มอิทธิพลพรรค เขาจึงเป็นตัวเลือกสายกลาง (Goldilocks choice) จาก 2 แนวทางสุดโต่งกว่า นั่นคือ โคโน่ผู้ที่แม้ว่าแนวคิดเสรีนิยม-ปฏิรูปจะได้ใจปวงประชาแต่ไม่ถูกใจผู้ใหญ่ในพรรค และทะคะอิจิที่แม้จะมุ่งสานต่อแนวทางของพรรคและอาเบะ แต่ก็มีข้อกังขาในสายตาผู้คน

เกมการสกัดโคโน่และปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงทำให้คิชิดะมีโอกาสเฉิดฉาย ทั้งที่หลายฝ่ายในและนอกพรรคก่อนหน้านั้นมองกันว่ายากที่เขาจะเป็นผู้นำเข้มแข็งและมีบารมีมากพอจะผลักดันนโยบายใหม่ๆ หรือสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยืนยาว แม้แต่อาเบะเองยังมองว่าเขาเหมาะเป็นผู้นำในยามปกติ มากกว่าจะจัดการภาวะยุ่งยากและวิกฤตได้ดี จึงเป็นไปได้สูงว่าคิชิดะจะเป็นผู้นำแบบคอย ‘ประสานประโยชน์’ (coordinator) มากกว่าเป็นผู้ริเริ่มนโยบายแปลกใหม่และมีบทบาทในเชิงรุก

สิ่งที่ย้ำสถานะเช่นนี้ของเขา คือการแบ่งสรรตำแหน่งผู้บริหารพรรคและคณะรัฐมตรีหลังได้ขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการแบ่งประโยชน์ในหมู่กลุ่มก๊กใหญ่โดยเฉพาะโฮโซดะและอะโซ ซึ่งมองกันว่าร่วมด้วยช่วยกันสกัดโคโน่ ความเคลื่อนไหวนี้ยังสะท้อนความต่อเนื่องของแนวทางอนุรักษนิยมมากกว่าการปฏิรูปและเสรีนิยมที่คิชิดะหาเสียงเอาไว้ แม้ว่าเขาลองเสี่ยงตั้งคนรุ่นใหม่ให้รับตำแหน่งใหญ่ใน LDP เพื่อเสริมอิมเมจสดใหม่ แต่เขาก็ตั้งทะคะอิจิเป็นประธานด้านนโยบายพรรค ขณะที่ลดบทบาทโคโน่ให้ดูแลด้านประชาสัมพันธ์ของพรรค

สู่สนามเลือกตั้งทั่วไป

คิชิดะเผยในวันเดียวกับที่รับตำแหน่งนายกฯ ว่าเขาตั้งใจจะยุบสภากลางเดือนนี้และจัดการเลือกตั้งวันที่ 31 ตุลาคม ถือเป็นการยุติกระแสคาดเดาต่างๆ นานา รวมถึงกระแสที่ว่าการเลือกตั้งอาจล่าช้าไปถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ความเคลื่อนไหวนี้บ่งชี้ว่าสำหรับ LDP การเลือกหัวหน้าพรรคไปจนถึงเลือกตั้งทั่วไปเป็นกระบวนการหนึ่งเดียวกัน โดยอย่างแรกเป็นกลยุทธ์พิชิตอย่างหลัง เหตุผลการด่วนยุบสภาก็เพื่อหวังจะใช้ช่วงที่ผู้คนยังตื่นเต้นกับนายกฯ และผู้นำชุดใหม่คว้าคะแนนเสียงให้ได้มากๆ

เมื่อความสนใจตอนนี้มุ่งสู่เวทีเลือกตั้ง ในส่วนท้ายนี้จึงขอวิเคราะห์ข้อได้เปรียบและข้อด้อยของ LDP ในการชิงที่นั่งในสภาผู้แทนฯ อย่างแรก การปรับเปลี่ยนในพรรคและผู้นำทำให้เกิดบรรยากาศ ‘เห่อของใหม่’ LDP จึงชิงกำหนดวันเลือกตั้งก่อนที่ภาวะนี้จะซาลง และเพื่อไม่ให้พรรคฝ่ายค้านได้ทันตั้งตัว แต่นี่ก็แฝงนัยว่าคิชิดะอาจไม่มั่นใจว่าเขาจะปั่นความนิยมให้อยู่ในระดับสูงเพื่อคงช่วง ‘ฮันนีมูน’ ไว้ได้นานเพียงพอ

เค้าลางของความไม่ได้ดั่งใจเริ่มปรากฏเมื่อผลสำรวจความนิยมเผยว่าผู้คนไม่ได้เห่อคิชิดะมากมายนัก เมื่อเทียบคะแนนนิยมหลังรับตำแหน่งกับผู้นำคนก่อนๆ ในช่วงที่ยังไม่เห็นผลงานชัดเจนเช่นนี้ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงอาจยังกังขาว่าคิชิดะขึ้นมาเพราะเกมการเมืองพรรคหรือจะมาแก้ปัญหาตามที่สัญญาไว้กันแน่ อีกทั้งการสกัดตัวเลือกที่คนส่วนใหญ่เชียร์และมีจุดยืนขบถอย่างโคโน่ก็บ่งบอกถึงความดื้อดึงที่จะขับเคลื่อนการเมืองแบบเดิมๆ โดยไม่คำนึงถึง ‘ความเบื่อหน่าย’ จำทนของประชาชนที่สะท้อนให้เห็นจากระดับความนิยมที่ร่วงหล่นต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลอาเบะ

การจัดทัพใหม่ในพรรคและรัฐบาลที่ส่อถึงแนวทางต่างตอบแทนอาจลดทอนวาระปฏิรูปและแนวทางเสรีนิยมที่คิชิดะตั้งเป้าเอาไว้ การเดินหน้าแบบเน้นท่าทีอนุรักษนิยมอาจไม่ตอบโจทย์พลวัตทางสังคมและเสียโอกาสใช้ความหลากหลายเชิงอุดมการณ์ที่มีในพรรคมาเป็นนโยบายหาเสียงได้เต็มที่ ท่ามกลางสังคมที่เสียงเรียกร้องตำแหน่งแห่งที่ของคนหลาดหลายกลุ่มเริ่มดังขึ้น อย่างกลุ่มสตรี LGBT และกระแสให้ทบทวนจุดยืนคร่ำครึอย่างการปฏิบัติต่อคนเข้าเมืองต่างชาติ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ ฯลฯ

ในเวลานี้ฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (CDP) ที่อาจไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ประชาชนจะเทคะแนนให้ อาจต้องหาทางเน้นยุทธวิธีต่อสู้ด้วยการร่วมมือในหมู่ฝ่ายค้านเพื่อไม่ตัดทอนกำลังกันในเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ตัวแทนฝ่ายค้านเอาชนะฝ่ายรัฐบาลได้อาจขึ้นกับกลยุทธ์นี้ บวกกับการพยายามส่งสัญญาณของประชาชนว่าพวกตนเอือมรัฐบาลแล้วขนาดไหน

ฝ่ายค้านอาจนำวาระที่ LDP ไม่ค่อยสนใจและปัดตกไปด้วยการลดทอนบทบาทโคโน่มาเน้นย้ำเป็นยุทธวิธีสร้างความแตกต่างที่ฝ่ายค้านจะผลักดันได้ดีกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมอย่าง LDP ไม่ว่าการยกสถานะสตรี ยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันและการปรับเปลี่ยนสังคมการเมืองเดิมๆ ซึ่งน่าจะดึงดูดเสียงคนรุ่นใหม่ได้บ้าง ฝ่ายค้านอาจโจมตีความพยายามซุกซ่อนกรณีอื้อฉาวต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงของอาเบะ ด้วยการสรรหาผู้นำที่มีบุคลิกโอนอ่อนยอมตามกลุ่มอิทธิพลในพรรค

อย่างไรก็ดี LDP อาจมีข้อได้เปรียบในด้านการต่างประเทศและความมั่นคงโดยเฉพาะในบรรยากาศที่ประเด็นโครงการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือและท่าทีคุกคามของจีนแพร่หลายอยู่ในหน้าสื่อ ญี่ปุ่นอาจรู้สึกอุ่นใจกว่าที่จะเห็นความต่อเนื่องของยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการผูกสัมพันธ์เข้าหาสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลดูจะทำได้ดีในเรื่องนี้ และผู้ลงชิงหัวหน้า LDP ทุกคนก็เห็นเป็นเสียงเดียวกันที่จะต้องให้ความสำคัญกับภัยคุกคามใกล้บ้านไปจนถึงสถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวันด้วยการคำนึงถึงเรื่องดุลอำนาจ

คำถามสำคัญมีอยู่อีกประการคือ LDP จะได้เสียงส่วนใหญ่ระดับไหนในสภาผู้แทนฯ ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาล LDP กับ Komei มีที่นั่งรวมเกินกึ่งหนึ่งอย่างมากจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาศัยจังหวะเวลาที่ LDP ได้เปรียบ การกุมเสียงเกิน 2 ใน 3 ทำให้การผ่านกฎหมายเป็นไปได้โดยง่าย รวมถึงกฎหมายที่ปัดตกจากวุฒิสภา และที่สำคัญคือวาระการแก้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งต้องการเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 จากทั้งสองสภา) การรักษาเสียงส่วนใหญ่ระดับนี้ไว้อาจเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งถึงความสามารถของคิชิดะ เพื่อผลักดันวาระใหญ่ที่ LDP เลี้ยงดูมา (pet projects) นับแต่สมัยอาเบะ

ดังนั้นหากแม้ LDP จะชนะเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ไปได้ แต่ก็ต้องติดตามต่อไปว่าพลังอนุรักษนิยมภายใต้เงาของอาเบะจะครอบงำตัวตนผู้นำคนใหม่ที่ตั้งวาระปฏิรูปไว้ตอนต้นได้ขนาดไหน คิชิดะที่ขึ้นมาด้วยเกมการเมืองในพรรคจะติดกับวังวนของอิทธิพลอำนาจเก่าหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการพิสูจน์ความสามารถด้วยการสืบทอดและต่อยอดวาระอนุรักษนิยมต่อไป

แต่สถานการณ์นี้ย่อมไม่เป็นที่ชมชอบในสายตาสาธารณชนที่เริ่มวิจารณ์และต่อต้าน LDP มากขึ้น ความนิยมที่เหือดหายในผลสำรวจครั้งต่อๆ ไปย่อมทำให้นายกฯ เป็นที่กังขาทั้งในระดับประชาชนและสมาชิกพรรคในการผลักดันนโยบายต่างๆ ตัวบ่งชี้ความชอบธรรมที่อ่อนด้อยลงในเร็ววัน คือปัจจัยที่นำไปสู่การสละบทบาทเพื่อเปิดทางให้คนหน้าใหม่ขึ้นมากระตุ้นความหวังในสังคม

แล้วประตูก็เริ่มหมุนอีกครั้ง ไม่ว่าเร็วหรือจะช้า ก็จะมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเดิมพัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save