fbpx
Japan Depopulation: คนญี่ปุ่นจะหายไปจากโลกหรือเปล่า

Japan Depopulation: คนญี่ปุ่นจะหายไปจากโลกหรือเปล่า

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

คนญี่ปุ่นกำลังร่อยหรอลง

ปีที่แล้ว (คือปี 2017) มีเด็กญี่ปุ่นเกิดใหม่เพียง 946,060 คน (ดูข้อมูลจาก ที่นี่) เท่านั้น ถือว่าเป็นตัวเลขการเกิดต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นการเกิดที่น้อยกว่าหนึ่งล้านคนเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว นี่เป็นผลจากการเปิดเผยของรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ถือว่าเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการนับจำนวนการเกิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1899

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบด้วยว่า คนญี่ปุ่นที่เสียชีวิตไปในปีเดียวกัน มีจำนวน 1,340,433 คน เมื่อบวกลบกลบหนี้กันแล้ว จึงแปลว่าในหนึ่งปีที่ผ่านมา ประชากรชาวญี่ปุ่นได้ร่อยหรอหายไปจากโลกนี้ถึงเกือบสี่แสนคน

นี่คือเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง!

 

ปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า Depopulation หรือการลดลงของประชากร ซึ่งในญี่ปุ่น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ปี 2008 เป็นปีที่ประชากรชาวญี่ปุ่นมีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 128.08 ล้านคน แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ จนหลายคนสงสัยว่า – เอ๊ะ! แล้วชาวญี่ปุ่นจะ ‘หมดโลก’ ไปเลยหรือเปล่า

คำตอบที่ตอบได้ทันทีก็คือ – ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นหรอกนะครับ คนญี่ปุ่นคงไม่ถึงขั้นหมดไปจากโลก ปล่อยเกาะญี่ปุ่นให้เป็นเกาะร้างหรอก แต่เรื่องที่น่าเป็นกังวลมากกว่าก็คือ ถ้าคนญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยลง จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง เช่น ต้องเตรียมการขนานใหญ่ในเรื่องเงินบำนาญหรือสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และระบบบริการสาธารณสุข คำถามก็คือ ทางการญี่ปุ่นมองปัญหานี้อย่างไร และจะหาทางแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะเป็นเหมือนโมเดลสำหรับสังคมไทยได้ด้วยเหมือนกัน เพราะดูเหมือนเราก็จะเดินหน้าไปในทิศทางคล้ายๆ กัน

ถ้ามองไปในอนาคต มีการประมาณกันว่า ในปี 2065 ชาวญี่ปุ่นจะลดจำนวนลงเหลือราว 88.08 ล้านคน เท่ากับลดลงไปราวๆ 30% ของประชากรชาวญี่ปุ่นในปี 2015 นี่เป็นการประกาศของ National Institute of Population and Social Security Research ของญี่ปุ่นเอง

ฟังตัวเลขนี้แล้วหลายคนอาจตกใจ แต่ก็ต้องบอกคุณด้วยว่า มีรายงานจาก Japan Times (ดูที่นี่) ที่บอกว่าตัวเลขข้างต้นนั้นถือว่า ‘บรรเทา’ ลงจากตัวเลขที่เคยประมาณกันไว้ในปี 2012 แล้วนะครับ เพราะในปี 2012 เคยมีการประมาณไว้ว่า ประชากรในปี 2060 จะลดลงเหลือเพียง 86.74 ล้านคน แต่ด้วยมาตรการต่างๆ หลายอย่าง จึงทำให้ประชากรไม่ได้ลดลงมากขนาดนั้น ตัวเลขจึงเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ยังมีการทำนายด้วยว่า คนญี่ปุ่นจะมีจำนวนน้อยกว่า 100 ล้านคน ในปี 2053 ซึ่ง ‘ช้า’ กว่าที่ทำนายไว้ในปี 2012 ถึง 5 ปี อีกด้วย แต่กระนั้นก็ยังไม่มีใครบอกได้นะครับ ว่าแล้วรัฐบาลจะรักษาจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นเอาไว้ให้เกิน 100 ล้านคน ได้จนถึงปี 2060 หรือเปล่า

ยิ่งถ้าดูกันไปให้ไกลๆ ถึงปี 2115 มีการทำนายว่า หากเทรนด์เป็นแบบนี้ ประชากรชาวญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียงแค่ 51 ล้านคน (ซึ่งน้อยกว่าชาวไทยในตอนนี้เสียอีก) ในทางเศรษฐกิจ นี่ถือเป็นระเบิดเวลาทางประชากร (Demographic Time Bomb) อย่างหนึ่งเลย เพราะตอนนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลก โดยอายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นในปี 2015 คือ 80.75 ปี ในผู้ชาย และ 86.98 ปี ในผู้หญิง ซึ่งก็ฟังเหมือนมากแล้ว แต่ถ้าไปถึงปี 2065 ประมาณการว่า อายุเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไปอีก คือเป็น 84.95 ปี ในผู้ชาย และ 91.35 ปี ในผู้หญิง นั่นแสดงว่า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เป็น Super-Aging Society กันเลยทีเดียว

ในอีกด้านหนึ่ง อัตราการเกิดในปี 2015 คือ 1.45% จะตกลงไปอยู่ที่ 1.42% ในปี 2024 แต่พอถึงปี 2065 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.44% (ซึ่งสูงกว่าที่เคยทำนายเอาไว้ครั้งก่อนว่าจะอยู่ที่ 1.35% ในปี 2060) แต่ถึงกระนั้น สหประชาชาติก็ทำนายเอาไว้ว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ประชากรหดตัวรุนแรงที่สุดในโลก โดยตัวเลขของสหประชาชาติบอกว่า ในปี 2100 ประชากรชาวญี่ปุ่นจะเหลือแค่ราว 85 ล้านคน เท่านั้น

มีคนลองทำแบบจำลองทางสถิติดูจากแนวโน้มนี้โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอัตราการเกิดและคนที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ พบว่าถ้ามองไปในระยะไกลๆ เช่นในปี 2300 ประชากรชาวญี่ปุ่นจะลดลงเหลือแค่ 8.5 ล้านคน และพอถึงปี 2800 ก็จะเหลือแค่ 2 ล้านคนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็จะลดลงช้ามาก (ซึ่งแสดงให้เห็นนะครับ ว่าชาวญี่ปุ่นคงไม่หมดไปจากโลกหรอก)

คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรดีเล่า โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย

ทางเลือกมีอยู่ไม่มากนัก อย่างแรกสุดก็คือการสร้างนโยบายทำให้คนอยากมีลูก เพราะลูกถือเป็นภาระและค่าใช้จ่ายมหาศาลในชีวิตคนญี่ปุ่น การมีลูกเป็นเรื่อง ‘แพง’ มาก ดังนั้น จึงต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการมีลูกลง หรือถึงออกกฎเกณฑ์บังคับให้บริษัทเอกชนต่างๆ มีนโยบายคล้ายกับภาครัฐ คือถือว่าการมีลูกเป็นภารกิจสำคัญของประเทศ ต้องให้พนักงานหยุดงานได้ มีค่าชดเชยให้ ฯลฯ ที่จริงรัฐบาลมีนโยบายนี้ออกมาแล้วในระดับหนึ่ง ประชากรจึงไม่ลดลงอย่างที่ทำนายไว้ในตอนแรก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าทำได้แค่ ‘ชะลอ’ เท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้จริงจัง

อีกวิธีการหนึ่งที่ถกเถียงกันยกใหญ่ก็คือ ญี่ปุ่นควรเปิดให้มีผู้อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นหรือเปล่า แต่เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงและลังเลกันอยู่ เพราะสังคมญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง และมีความเป็น ‘สังคมปิด’ อยู่พอสมควร แม้ว่าปัจจุบัน แรงงานต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นมาก คือเพิ่มจากราวสามแสนคนในปี 2007 ทะยานมาเป็น 1.3 ล้านคน ในปี 2017 แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแรงงานเหล่านี้จะกลายเป็นประชากรของญี่ปุ่นนะครับ เพราะต่อให้ทำงานมายาวนาน แต่ก็มีแรงงานที่ได้รับการเสนอให้พำนักถาวร (เป็น Permanent Resident) น้อยมาก รวมทั้งไม่อนุญาตให้พาครอบครัวมาอยู่ด้วย จึงแทบไม่ต้องพูดถึงการโอนสัญชาติด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม มีอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คำถามนั้นก็คือ Depopulation เป็น ‘ปัญหา’ ที่ ‘ใหญ่’ ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า หรือเพราะเราเห็นว่ามันเป็นปัญหา มันจึงเป็นปัญหา

แน่ละ ในบางประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนญี่ปุ่น การขาดแคลนแรงงาน มีแต่คนสูงอายุเต็มประเทศ อาจเป็นปัญหาก็ได้ เพราะขาดคนทำงานที่จะหารายได้มาเลี้ยงประชากรสูงวัย แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งในตัวค่อนข้างสูง ถ้าขาดแรงงานคนหนุ่มสาว วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ก็คือการหาทาง ‘เฉลี่ย’ ความมั่งคั่งเหล่านั้น จากคนฐานะดีมาสู่ผู้สูงวัยคนอื่นๆ ซึ่งก็สามารถทำได้โดยใช้หลายกลไก

มุมมองที่ว่า Depopulation ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเพราะมุมมองแบบนี้เห็นว่าเมื่อประชากรน้อยลง ก็จะมี ‘ส่วนแบ่ง’ ในทรัพยากรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น มีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยมากขึ้นสำหรับคนแต่ละคน ซึ่งในที่สุด ก็จะทำให้เกิด ‘สมดุล’ แบบใหม่ขึ้นมาได้

ที่แน่ๆ ประชากรชาวญี่ปุ่นจะไม่มีทาง ‘หมด’ ไปจากโลกได้ (เว้นแต่จะเกิดภัยพิบัติใหญ่ๆ จนทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ไปเลย) เพราะประชากรที่น้อยลงจะกระตุ้นให้อัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยวิธีการทางกฎหมาย ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือในทางวัฒนธรรมก็ตามที

 

ดังนั้น การถามว่า คนญี่ปุ่นจะหมดไปจากโลกเพราะประชากรค่อยๆ น้อยลงจนเหลือศูนย์หรือเปล่า จึงเป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องถามเลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save