fbpx
จีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ : จากยุทธพิชัยสามก๊ก สู่ยุทธศาสตร์รับสงครามการค้า

จีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ : จากยุทธพิชัยสามก๊ก สู่ยุทธศาสตร์รับสงครามการค้า

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ระดับโลกเหตุการณ์หนึ่งที่เราต้องจับตามอง คือการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยมีกำหนดพบปะหารือทั้งกับประธานาธิบดี Xi Jinping และนายกรัฐมนตรี Li Keqiang แห่งประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2018 ซึ่งนับเป็นการเยือนจีนของผู้นำญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ตกต่ำที่สุดจากกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะ Senkaku/Diaoyu ในปี 2012

ในความเป็นจริง รอยร้าวระหว่างประเทศจีนกับญี่ปุ่นไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นในปี 2012 เพราะตั้งแต่อดีต จีนมองว่าญี่ปุ่นคือตัวแทนของมหาอำนาจตะวันตกในมหาสมุทรแปซิฟิค ในขณะที่ญี่ปุ่นเอง เมื่อถูกแซงหน้าและเสียตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกให้กับจีนไปในปี 2010 การขยายอิทธิพลของจีนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของญี่ปุ่น ก็นับเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง (ดูตารางที่ 1: ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง จีน-ญี่ปุ่น –ท้ายบทความ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจีนริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทางบกและทางทะเล ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) นั่นทำให้หลายๆ ประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นการขยายอิทธิพลของจีนไปทั่วโลกในภูมิภาค Indo-Pacific ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโลก

นั่นจึงทำให้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +6 ในปี 2017 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรี Malcolm Turnbull แห่งออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe แห่งญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรี Narendra Modi แห่งอินเดีย และ Rex Tillerson ตัวแทนประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐอเมริกา (วันนั้น Trump เดินทางมาถึงที่ประชุมแล้ว และขอไม่เข้าร่วมการประชุม ก่อนเดินทางกลับสหรัฐฯ ทำให้การประชุมล่าช้าไป 2 ชั่วโมง) ผู้นำทั้ง 4 ประเทศตกลงสร้างความร่วมมือระหว่างกันขึ้นมาใหม่ ต่อเนื่องจากเวทีการเจรจาเดิมที่เคยมีอยู่แล้วแต่ร้างลาไปนานหลายปี

ความร่วมมือนี้ถูกเรียกว่า ‘The Quad’ ตามชื่อความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เคยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 ในนาม Quadrilateral Security Dialogue หรือ QSD (QSD 2007 เกิดขึ้นเนื่องจากการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่อรองกับ Dick Cheney ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น, นาย John Howard นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และ นายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh)

นั่นยิ่งเป็นการผลักดันให้อาเซียนกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจีนที่ต้องการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า และฝ่าย The Quad ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับจีน และในขณะเดียวกันก็ต้องการปิดล้อมจีน (Engage and Contain) ทั้งนี้เนื่องจากอาเซียนตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ซึ่งแน่นอนว่าการเสนอให้สร้างความร่วมมือในลักษณะนี้ของ The Quad ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่มีรอยร้าวอยู่แล้ว ยิ่งแตกร้าวมากยิ่งขึ้น

การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในคราวนี้ จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น จะกลับเข้าสู่ระดับปกติอย่างเป็นทางการ คำถามที่สำคัญคือ เพราะอะไรการกลับมาสานสัมพันธ์ในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

คำตอบคือ ทั้ง 2 ประเทศ ในนาทีนี้กำลังวิตกกังวลในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ วิตกกังวลในเรื่องของแนวคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) , แนวคิดนิยมความรุนแรง (Radicalism) , ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และ ความนิยมการค้าแบบคุ้มกัน (Protectionism) ของผู้นำจากอีกซีกโลก ที่ทำให้เกิดภาวะสงครามการค้า โดยผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ทั้ง 2 ประเทศ คือจีนและญี่ปุ่น กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะการหดตัวของมูลค่าการค้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ Abe ตัวผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมวิชาการ East Asian Summit and East Asian Cooperation International Forum 2018 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2 วันก่อนนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนจีน และงานนี้ก็เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสถาบันคลังสมอง (Think Tank) ของจีน คือ Chinese Academy of Social Sciences (CASS) และสถาบันวิจัยของอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น คือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA)

ตลอดการประชุม นักวิชาการจาก ASEAN+6 จำนวน 16 ประเทศ ต่างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า และทุกฝ่ายสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบที่สร้างสรรค์และรับผิดชอบ

หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ นำเสนอโดย Professor Lin Guijun แห่ง Academy of China Open Economy Studies มหาวิทยาลัย University of International Business and Economics ประเทศจีน นำเสนอผลกระทบจากสงครามการค้าต่อ 15 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกของเอเชีย (Global Value Chains: GVCs) ที่จะเสียหายในมูลค่ามหาศาล หากสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป 

นี่คือผลที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า สงครามการค้าทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลายเป็นจีน (มูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรองลงมาคือคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม อย่างญี่ปุ่น ที่มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องอย่าลืมว่าญี่ปุ่นเสียหายหนัก เพราะญี่ปุ่นคือผู้ที่คุมห่วงโซ่มูลค่าการผลิตในภูมิภาคเอเซียตะวันออก และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในห่วงโซ่ GVCs ที่ควบคุมโดยญี่ปุ่น ญี่ปุ่นพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากจีนถึงร้อยละ 29 และพึ่งพาอาเซียนถึงร้อยละ 59 (ข้อมูล ณ ปี 2015 โดย UIBE)

สหรัฐ, trade war, จีน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีคู่กรณีเดียวกันคือ สหรัฐฯ ริเริ่มสงครามการค้าภายใต้นโยบาย ‘America First’ ที่ต้องการสร้างกำแพงภาษีเพื่อดึงเงินลงทุนและการย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งในสหรัฐฯ (Reshoring Investment) สถานการณ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงไม่แตกต่างกับ ศึกเซ็กเพ็ก (Battle of Chibi) หรือยุทธการผาแดง ในวรรณคดีเรื่อง ‘สามก๊ก’ ที่ทั้งเล่าปี่ แห่งจ๊กก๊ก และซุนกวน แห่งง่อก๊ก ที่ต่างก็ต้องแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน แต่คราวนี้ต่างก็มีศัตรูคนเดียวกัน นั่นคือ โจโฉ แห่งวุยก๊ก ที่กำลังจะยกทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนมาบุกแคว้นกันตั๋งของซุนกวน

ไม่ต่างจากสงครามการค้าในครั้งนี้ ที่ทำให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นมีความสูญเสียรวมกันไม่ต่ำกว่า 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เล่าปี่จึงต้องส่งสุดยอดกุนซืออย่างขงเบ้ง ให้ไปช่วยซุนกวนจัดทัพรับศึกโจโฉที่ผาแดง จนสามารถต้านทานและได้รับชัยชนะต่อกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนได้

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็น ประธานาธิบดี Xi Jinping ส่งนายกรัฐมนตรี Li Keqiang ไปเยือนโตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี Abe ก็เดินทางเยือนจีนในช่วงปลายเดือนตุลาคม และการเปรียบเทียบกับสามก๊กก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสำหรับผู้นำในเอเซียตะวันออก และในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยุทธพิชัยสงครามสามก๊ก คือสิ่งที่ผู้นำของประเทศในภูมิภาคนี้อ่านและเรียนรู้ รวมทั้งนำมาปรับใช้กันอยู่แล้วตลอดทั้งห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนและญี่ปุ่นต้องยอมระงับความขัดแย้งและร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อรักษาการค้าแบบเสรีและห่วงโซ่อุปทานการผลิตในเอเชียให้เดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ญี่ปุ่นกับจีนจะมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบใดที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และในขณะเดียวกัน ก็ไม่เกิดแรงต่อต้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แรงต้านภายในก็คือจากคนจีนและคนญี่ปุ่น ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ขัดแย่งกันมาโดยตลอด และทำให้หลายๆ ครั้งยังไม่สามารถวางใจระหว่างกันได้อย่างสนิทใจนัก ส่วนแรงต้านภายนอกคือการคำนึงถึงความสัมพันธ์ของทั้งจีน และญี่ปุ่น ซึ่งต่างก็มีพันธมิตรอื่นๆ ในเวทีอื่นๆ อีกด้วย

แน่นอนว่า การเปิดตัวของนายกฯ ญี่ปุ่นในจีนจะต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากที่ขงเบ้งต้องปราบการท้าทายฝีมือโดยเหล่ากุนซือของซุนกวน เมื่อคราวยอมนำตนเข้าไปช่วยศึกที่ผาแดง ดังนั้นการเดินทางไปเยือนจีนของนายกฯ ญี่ปุ่น จึงไปพร้อมกับกองทัพนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนหลายร้อยคน และแน่นอนว่าทางจีนก็ต้องต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

นั่นทำให้เราได้เห็นภาพการเจรจาธุรกิจของนักธุรกิจจีน ร่วมกับนักธุรกิจญี่ปุ่น จำนวนมากกว่า 1,400 คน ก่อนจะประกาศความสำเร็จในการปิดการเจรจาทางธุรกิจไปได้มากกว่า 500 ดีล ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็งัดเทคโนโลยีของตนมาประชันกันเต็มที่

นอกจากนี้ ความร่วมมือในรูปแบบของ Bilateral Swap Arragement มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่า หากใครคนใดคนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเงิน อีกประเทศจะส่งเงินทุนสำรองไปเพิ่มให้ในรูปแบบของการ Swap เงินตราระหว่างกัน

แต่สิ่งที่ทั้งโลกจับตามองมากกว่านั้นก็คือ เราไม่เห็นการประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าไปทำโครงการในประเทศจีน และในทางตรงกันข้ามเราก็ไม่เห็นการประกาศของรัฐบาลจีนที่เข้าไปทำโครงการในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ทว่าทางออกอันชาญฉลาดของจีนและญี่ปุ่น คือการสร้างเวทีใหม่ โดยไปร่วมกันลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3

เมื่อตกลงกันว่าจะไปลงทุนในประเทศที่ 3 แล้ว ผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ คือการผลิตสินค้าที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจะไม่ใช่สินค้า Made in China ทั้งจีนและญี่ปุ่นจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่ถูกกีดกันจากสงครามการค้า ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศยังสามารถร่วมกันขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาคได้ต่อไป โดยเฉพาะในภูมิภาค Indo-Pacific

จากวิธีการที่ว่ามา จีนจะได้ประโยชน์อย่างน้อยใน 2 มิติ มิติแรกคือเป้าหมายของจีนในการเชื่อมโยง Belt and Road Initiative ซึ่งจะไม่มีวันต่อชิ้นส่วนครบหากไม่มีญี่ปุ่น ที่มีทั้งเงินทุน เทคโนโลยี เครือข่ายกับประเทศต่างๆ และประสบการณ์การสร้างระเบียงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอาเซียน และมิติที่สอง คือการเข้ามาของญี่ปุ่นในโครงการที่จะไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 จะทำให้ภาพพจน์ด้านลบซึ่งมีมาแต่เดิมของ BRI ที่มักจะถูกหลายๆ ประเทศในโลกตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์เบาบางลง เพราะเที่ยวนี้จะมีญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานสูง และมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา Trust Crisis เข้ามาเป็นส่วนร่วมด้วย (อย่าลืมว่าในทศวรรษ 1970 นิสิตนักศึกษาไทยเดินขบวนต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่น แต่ในทศวรรษ 2010 นิสิตนักศึกษาไทยเดินขบวนเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นและไปเที่ยวญี่ปุ่น)

ส่วนญี่ปุ่นเองก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะเป็นรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนที่ไม่ใช่เข้าไปในจีนโดยตรง แต่ร่วมกันไปพัฒนาประเทศที่ 3 ซึ่งไม่มากจนเกินไป จนเสียความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก ขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายจีนพอใจ โดยที่ญี่ปุ่นเองก็ได้เครื่องมือใหม่ที่สามารถลดหรือสร้างดุลกับการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีอาเซียน (อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า เมื่อไม่สามารถปิดล้อมได้ ก็ดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกันแทนในรูปแบบ Engage and Contain) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของ Indo-Pacific ได้ด้วย ที่สำคัญกว่านั้นคือ ญี่ปุ่นเองก็ได้ความสัมพันธ์กับจีนไปใช้เป็นแต้มต่อ (Leverage) ในการไปเจรจาต่อรองกับประเทศในโลกตะวันตกได้อีกด้วย

ความร่วมมือในเวทีใหม่ (New Stage Cooperation) ของจีนและญี่ปุ่น ทำให้ทั้งคู่ได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ Win-Win ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็มีคนที่อยู่เงียบๆ แต่กินเรียบหมด นั่นคือประเทศที่ 3 ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นเลือกที่จะไปลงทุน ซึ่งจากการพบกันในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศมีความเห็นตรงกันว่า โครงการแรกที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย โดยจะเป็นเงินลงทุนที่มาจาก Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ร่วมกับ China Development Bank

คำถามที่สำคัญที่สุดต่อจากนี้คือ เมื่อส้มกำลังจะมาหล่นที่ประเทศไทย แล้วประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการรับส้มหล่นลูกนี้ดีพอรึยัง อย่าให้ส้มต้องหล่นและกลิ้งไปจากไทยนะครับ เสียของแย่เลย  


ตารางที่ 1: ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง จีน-ญี่ปุ่น

1894-1895สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (the First Sino-Japanese War) จีนเป็นฝ่ายแพ้และเสียดินแดน คาบสมุทร Liaodong, คาบสมุทรเกาหลี, เกาะไต้หวัน และเกาะ Penghu ให้กับญี่ปุ่น
1931Manchuria Incident ที่กองทัพญี่ปุ่นวางระเบิดทางรถไฟของตนเองในประเทศจีน เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการส่งกองกำลังเข้าไปในเขตแมนจูเรียซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
1937-1945สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (the Second Sino-Japanese War) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิง (Nanjing Massacre) ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เวลา 6 สัปดาห์ตั้งแต่ 13 ธันวาคม 1937 ถึงมกราคม 1938 สังหารชาวจีนไปมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ทศวรรษ 1950 และ 1960ความสัมพันธ์ย่ำแย่เนื่องจากจีนและญี่ปุ่น (ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแล และความสัมพันธ์ทางการทหารอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐ) อยู่คนละค่ายในสถานการณ์สงครามเย็น โดยความสัมพันธ์ยิ่งตกต่ำลงอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ที่ฝ่ายจีนมองว่าญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของตะวันตกในภูมิภาค
1968สำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในบริเวณเกาะ Senkaku Islands (เรียกโดยญี่ปุ่น) หรือเกาะ Diaoyu Islands (เรียกโดยจีน) หรือ เกาะ Diaoyutai Islands (เรียกโดยไต้หวัน) และในบริเวณเกาะ Pinnacle Islands
1971-1972สหรัฐอเมริกาคืนเอกราชให้กับหมู่เกาะ Okinawa ให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดข้อพิพาทในบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค (ซึ่งแน่นอนว่ารวมเอาหมู่เกาะ Senkaku/Diaoyu ซึ่งพบแหล่งทรัพยากร) ว่าใครเป็นผู้ครอบครอง จีน หรือ ญี่ปุ่น
23 ตุลาคม 1978ผู้นำสูงสุดของจีน Deng Xiaoping ผู้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมองเห็นความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนและนักการค้าระหว่างประเทศ เดินทางเยือนญี่ปุ่น และร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Fukuda Takeo ลงนาม The Treaty of Peace and Friendship between Japan and the People's Republic of China ในวันที่ 12 สิงหาคม 1978 และมีผลบังคับใข้ และเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่าง 2 ประเทศในวันที่ 23 ตุลาคม 1978
25 ธันวาคม 2011นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Yoshihiko Noda เยือนจีนอย่างเป็นทางการ และได้พบกับประธานาธิบดี Hu Jintao และนายกรัฐมนตรี Wen Jiabao
มีนาคม 2012การเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อนำไปสู่เขตการค้าเสรีจีน – ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ (CJK-FTA)
เมษายน 2012กลุ่มชาตินิยมญี่ปุ่นเริ่มต้นการระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินบนเกาะ Senkaku/Diaoyu เพื่อให้เกาะดังกล่าวเป็นของคนญี่ปุ่น
11 กันยายน 2012Anti-Japanese Demonstration ประชาชนจีนเดินขบวนประท้วงนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นทั่วทั้งประเทศจีน เป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 50 วัน นับเป็นการเคลื่อนไหวประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศจีนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
กันยายน 2012กองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มการลาดตระเวนโดยเครื่องบิน เรือรบ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งในบริเวณเกาะ Senkaku/Diaoyu
11 พฤศจิกายน 2012คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรี Yoshihiko Noda ประกาศ Nationalise หมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออก
29 ธันวาคม 2012Shinzo Abe เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น
30 มกราคม 2013East China Sea Confrontation ญี่ปุ่นส่งเรือพิฆาต (Destroyer) และเรือ Frigate เข้าพื้นที่ เพราะตรวจจับได้ว่าเรือรบของกองทัพประชาชนจีน Lock the weapon-targeting radar มาที่กองเรือรบของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น
14 มีนาคม 2013Xi Jinping เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศจีน
23 พฤศจิกายน 2013จีนประกาศเขต Air Defense Identification Zone (ADIZ) เหนือทะเลจีนตะวันออก ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนกับเขต ADIZ ของญี่ปุ่น ทำให้ People’s Liberation Army Air Force (PLAAF) และ Japanese Air Self-Defense Force (JASDF) ลาดตระเวนในพื้นที่เดียวกัน
26 พฤศจิกายน 2013นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe เข้าคารวะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ศาลเจ้า Yasukuni Shrine ซึ่งเป็นศาลเจ้าบูชาดวงวิญญาณของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นที่เข้าไปทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิง ทางการจีนถือเป็นการยั่วยุ และระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่น
10 พฤศจิกายน 2014นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe และประธานาธิบดี Xi Jinping พบกันในงานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ณ กรุงปักกิ่ง ถือเป็นก้าวแรกของการประสานความสัมพันธ์อีกครั้ง
3 กันยายน 2015ทางการจีนจัด 2015 China Victory Day parade เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพประชาชนจีน โดยเลือกวันเฉลิมฉลองการแพ้สงคราม the Second Sino-Japanese War ของฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นวันจัดงาน
1 พฤศจิกายน 2015การประชุมสุดยอดผู้นำ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี (CJK Summit) ณ กรุงโซล หลังจากที่ไม่ได้มีการประชุมมาตลอด 3 ปีตั้งแต่ 2012
17 มิถุนายน 2016เครื่องบินรบ F-15 ของ JASDF ญี่ปุ่น เกือบชนและปะทะกับเครื่องบิน SU-30 ของ PLAAF จีน ในบริเวณทะเลจีนตะวันออก
9 พฤษภาคม 2018นายกรัฐมนตรี Li Keqiang เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
12 สิงหาคม 2018นายกรัฐมนตรี Li Keqiang และนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe แสดงความยินดีกับวาระครบรอบ 40 ปีการสถาปนาทางการทูตอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ประเทศ
25-27 ตุลาคม 2018นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe เยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าพบ ประธานาธิบดี Xi Jinping และนายกรัฐมนตรี Li Keqiang

Ilustrated by ภาพิมล หล่อตระกูล

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save