fbpx
จันจิรา สมบัติพูนศิริ: ‘หัวเราะต่ออำนาจ’ ยุคสมัยแห่งการปะทะของแนวคิดเก่า-ใหม่

จันจิรา สมบัติพูนศิริ: ‘หัวเราะต่ออำนาจ’ ยุคสมัยแห่งการปะทะของแนวคิดเก่า-ใหม่

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ 1.ยุบสภา 2.ให้หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้กลายเป็นชนวนให้มีการประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเกิดขึ้นต่อเนื่องมา ซึ่งส่วนใหญ่ริเริ่มโดยคนรุ่นใหม่ และมีประชาชนทั่วไปหลายช่วงอายุเข้าร่วมการประท้วง

สิ่งที่น่าสนใจในการประท้วงที่เกิดขึ้นคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างโดดเด่น เช่น ป้ายประท้วงที่เต็มไปด้วยการเสียดสี เล่นมุกตลก หรือรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เช่น การนัดไปชม ‘สวน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีการจัดต้นไม้เต็มพื้นที่อนุสาวรีย์จนทำให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่แสดงออกทางการเมืองไม่ได้ การนัดรวมตัวกันร้องเพลงการ์ตูนแฮมทาโร่ หลังโดนกล่าวหาว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง หรือที่กลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศนัดต่อบทภาพยนตร์หอแต๋วแตก เพื่อผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมเพิ่มเติมจากข้อเรียกร้องสามข้อ

ความคิดสร้างสรรค์และการเรียกเสียงหัวเราะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่เหนืออื่นใดคือเส้นทางที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนบรรลุผลอย่างสันติวิธี และไม่มีการใช้ความรุนแรงจากอำนาจรัฐ

101 ชวนมองสถานการณ์การประท้วง ผ่านมุมมองของ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงรูปแบบการประท้วงของคนรุ่นใหม่อันสอดคล้องกับวิธีการจัดการประท้วงทั่วโลกในยุคหลัง, ‘เสียงหัวเราะ’ ในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง และสิ่งที่ควรคำนึงในย่างก้าวต่อไปของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนครั้งนี้

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

หมายเหตุ – เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One EP.165 พลังประชาชนและเสียงหัวเราะในการประท้วง กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563

 

มองเห็นความน่าสนใจแบบไหนในการประท้วงที่เกิดขึ้นช่วงนี้ และแตกต่างจากการประท้วงช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมายังไง

ความน่าสนใจคือการมีลักษณะ ‘networked protest’ เป็นการผุดตัวขึ้นของผู้ชุมนุม คล้ายว่าเกิดแรงบันดาลใจจากที่หนึ่งแล้วที่อื่นก็เกิดขึ้นตามมาโดยไม่ได้เตรียมนัดหมายกัน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการประท้วงที่เกิดจากเครือข่ายนักกิจกรรมนักศึกษาที่รู้จักกันและเคยทำงานร่วมกัน มีอารมณ์ความรู้สึกและเป้าหมายร่วมกันบางอย่าง

สมัย นปช. หรือ กปปส. จะมีองค์กรร่มของการประท้วง ภายในนั้นจะมีหน่วยย่อยๆ เครือข่ายเล็กๆ และกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาร่วม แต่การประท้วงของนักศึกษาครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวแบบแนวระนาบ (horizontal movement) สนท. มีบทบาทค่อนข้างจำกัด ไม่เชิงว่าเป็นองค์กรร่วมอย่าง นปช. หรือ กปปส. แต่เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายนักกิจกรรมและอาศัยเครือข่ายนี้ในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษากลุ่มอื่นๆ ขึ้นมาประท้วง โดยมีเป้าหมายร่วมกัน 3 ข้อ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายมาก กลุ่มนักศึกษาที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี แต่ละองค์กรมีลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวเอง เข้าใจพลวัตท้องถิ่นของตัวเอง และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกความคิดของคนในท้องถิ่น

การเคลื่อนไหวมีการแตกออกเป็นดอกเห็ด ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวในต่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมา เป็นการเคลื่อนไหวแบบแนวระนาบ อาศัยเครือข่ายที่มีอยู่เดิมเพื่อกระจายกลุ่มการประท้วงต่อๆ ไปในระดับประเทศ ขณะเดียวกันมีคนมาเข้าร่วมการประท้วงจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระดมพลังสมองและพลังคน

ในบริบทของไทย การประท้วงนี้ต่างจากการประท้วงของกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ผูกติดอยู่กับพรรคการเมือง กลุ่มนักศึกษาไม่มีแบ็กทางการเมือง แต่มีแนวความคิดบางอย่างคล้ายกับบางกลุ่มการเมือง พรรคอนาคตใหม่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้การประท้วงในช่วงที่ผ่านมา แม้พรรคจะถูกยุบไปแล้วแต่ได้ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ขึ้นมา โดยไม่ได้มีลักษณะผสานกันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนการชุมนุมของ นปช. และ กปปส. ที่ผ่านมา

คนรุ่นใหม่ใช้ทวิตเตอร์ในการถกเถียงและเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเยอะมาก โลกทวิตเตอร์ทำงานอย่างไรในการประท้วง

ทวิตเตอร์ค่อนข้างทรงพลังและต่างจากเฟซบุ๊กในแง่ที่ว่า เฟซบุ๊กเป็นการสื่อสารกับคนที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ เลือกช่องทางในการปิดกั้นได้ ถ้าไม่อยากให้คนในครอบครัวเห็นโพสต์หรือไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามก็สามารถตั้งค่าได้ ส่วนทวิตเตอร์จะมีการใช้แอคเคาต์อวตารเพื่อปกปิดตัวตน แพลตฟอร์มทวิตเตอร์เน้นเรื่องเสรีภาพในการพูด การแสดงความเห็น สิ่งที่สังคมยึดถือกันเช่นเรื่องการเคารพอาวุโสก็แทบจะไม่มีเลย เด็กก็ด่าผู้ใหญ่ได้ โพสต์ในทวิตเตอร์ของเราจะถูกรีทวีตโดยใครก็ได้ ใครเข้ามาคอมเมนต์ก็ได้ ทวิตเตอร์เป็นที่ที่เสียงดังมาก โพสต์กระจายเร็วมาก จึงเปิดโอกาสให้มีการระดมการประท้วงค่อนข้างง่ายกว่าเฟซบุ๊ก

เทรนด์การประท้วงในประเทศไทยตอนนี้ร่วมสมัยกับเทรนด์โลกตั้งแต่ช่วงปี 2010-2020 ปัจจุบันขบวนการประท้วงระดับโลกเป็นแบบ horizontal network ที่มีทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือการระดมคนที่สำคัญมาก ตั้งแต่ Arab Spring – Occupy Wall Street หรือล่าสุดในปีที่แล้วคือการประท้วงฮ่องกงที่แม้จะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ทวิตเตอร์ก็เป็นที่เผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้โลกได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ทวิตเตอร์มีฟังก์ชันหลายอย่าง 1. กระจายความคิดได้เร็ว 2. ระดมสรรพกำลังได้ง่าย เช่นกรณี Arab Spring มีคนทวีตว่าต้องการกำลังแพทย์พยาบาลจำนวนมาก เพราะมีการปราบปรามผู้ชุมนุมกลาง Tahrir Square คนก็เข้ามาช่วยเหลือระดมกำลัง เพราะโพสต์กระจายไปเร็วมาก สามารถระดมสรรพกำลังจากคนที่ไม่รู้จักกัน หรือไม่ต้องเข้ามาร่วมขบวนการประท้วงก็ได้ 3. วัฒนธรรมการสื่อสารในทวิตเตอร์ได้ทำลายขนบการสื่อสารแบบที่เป็นมา ซึ่งถูกจำกัดโดยรหัสทางวัฒนธรรมในสังคม เวลาเราพูดกับผู้ใหญ่ในชีวิตประจำวันจะมีท่วงทำนองแบบหนึ่ง แต่ในทวิตเตอร์ไม่ว่าคุณจะเป็นที่เคารพขนาดไหนก็ ‘โดนแหก’ หรือ ‘ทัวร์ลง’ ได้

จริงไหมที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถใช้แบ่งอายุของผู้ใช้แบบกว้างๆ ได้ การประท้วงช่วงรัฐประหาร 2557 ความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ก็ยังอยู่บนเฟซบุ๊ก แต่ตอนนี้เคลื่อนมาอยู่บนทวิตเตอร์แล้ว

พื้นที่การเมืองบนโซเชียลมีเดียไทยไม่ได้เริ่มที่ทวิตเตอร์ เช่นที่คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่าย สังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555

การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยและการใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนจากเฟซบุ๊กเรื่อยมาเป็นทวิตเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่แบบวัฒนธรรมป๊อป ติ่ง K-pop J-pop เต็มไปหมด แล้วค่อยๆ มีแนวโน้มในการกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีการใช้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มทางการเมืองค่อนข้างจริงจัง

คนที่เริ่มใช้ทวิตเตอร์ใหม่ๆ จะพบว่าอะไรที่เขียนในเฟซบุ๊กจะไม่สามารถเขียนได้แบบเดียวกันในทวิตเตอร์ และจะไม่ได้รับความสนใจเท่ากัน ขณะที่กลุ่มประชากรดั้งเดิมของทวิตเตอร์ คือคนที่เคยใช้ทวิตเตอร์อยู่แล้วและเข้าใจวิธีการสื่อสารของทวิตเตอร์ ทำให้เห็นว่าทวีตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ฝ่ายก้าวหน้า จะมีการรีทวีตเป็นหมื่นๆ และมีการโต้ตอบมหาศาลที่มหัศจรรย์มาก

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะใช้ IO กับทวิตเตอร์ หรือมีกลุ่มอนุรักษนิยมที่อพยพมาจากไลน์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ทวิตเตอร์ การรีทวีตจะน้อยมาก หรือถ้ามีการรีทวีตก็เป็นแบบ ‘ทัวร์ลง’ คือมีแต่คอมเมนต์ของฝ่ายก้าวหน้าทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเห็นการที่ภาคประชาชนโต้กลับ IO ของรัฐที่ไหนที่มีพลังขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกว่ากองทัพสู้คนในทวิตเตอร์ไม่ได้ คือสู้ได้ยากจริงๆ เพราะมันเป็นพื้นที่เฉพาะมาก

ปรากฏการณ์ทวิตเตอร์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยมีความน่าสนใจในแง่ที่มีความเฉพาะตัวและมีวัฒนธรรมในการสื่อสารของมันเอง ทำให้คนที่ไม่คุ้นกับวัฒนธรรมนี้แทรกซึมได้ยาก จะใช้โฆษณาชวนเชื่ออย่างในพื้นที่อื่นไม่ได้ ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่โฆษณาชวนเชื่อแทบจะทำงานไม่ได้ผล

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในการประท้วงช่วงนี้คือมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันหลายรูปแบบ อะไรทำให้การประท้วงในรัฐบาลนี้เกิดบรรยากาศแบบนี้ขึ้นมาได้

ตอนที่ดิฉันเริ่มทำวิจัยเรื่องอารมณ์ขันกับการประท้วง กรณีศึกษาที่เลือกนั้นไม่ได้คิดถึงกรณีในไทยเลย เพราะการประท้วงในเมืองไทยช่วงปี 2552-2553 ค่อนข้างเครียด แน่นอนว่าการใช้อารมณ์ขันในฐานะกิจกรรมบันเทิงเรียกคนเข้ามาร่วมชุมนุมนั้นมีอยู่ทุกเวที แต่ยังไม่มีการใช้อารมณ์ขันในการประท้วงอย่างจริงจัง

น่าสนใจว่าจุดเปลี่ยนของวิธีการประท้วงเกิดช่วงหลังการปราบปรามปี 2553 คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เขาเป็นนักแสดงละครใบ้ มีทักษะเข้าใจเวที และการประท้วงก็คือเวที คุณแสดงเพื่อสื่อสารกับผู้ชม ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์และการตีความ คุณสมบัติเริ่มใช้อารมณ์ขันในการเรียกคนมาประท้วงในช่วงที่คนกลัว ในบรรยากาศหลังการปราบปรามที่มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างที่เรามีตอนนี้

อีกจุดเปลี่ยนที่ทำให้การใช้อารมณ์ขันกระจายตัวมากขึ้น คือช่วง คสช. เป็นพื้นที่การเมืองแบบปิด เมื่อพื้นที่การแสดงความเห็นปิด คนก็หาช่องทางในการพูดถึงประเด็นทางการเมือง โดยการเสียดสี พูดแบบอ้อมๆ ใช้คำแทน ใช้สัญลักษณ์ วิธีแบบนี้เรียกว่า euphemism

ช่วง คสช. ยังมีลักษณะซึ่งคนที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ขันเรียกว่า absurdity คือความเพี้ยนทางการเมือง อันเป็นผลจากการทำงานของ คสช. เอง เช่น การใช้ภาษาแบบ 1984 ซึ่งเป็นการใช้คำที่ไม่พูดถึงความจริงอย่างที่มันเป็น อย่างคำว่า ‘ปรับทัศนคติ’ เวลาพูดถึงคำนี้ให้ชาวต่างชาติฟัง เขาจะคิดว่าคือการเรียกมาสนทนากันอย่างเท่าเทียม แต่จริงๆ แล้วปรับทัศนคติคือการถูกกักตัวและอาจถูกดำเนินคดี เป็นการเลือกใช้คำแบบปกปิดความหมายที่แท้จริง ช่วง คสช. มีลักษณะการไม่ลงรอยกันของความจริงกับสิ่งที่พูดเยอะมาก และตอนนี้ก็ยังมีอยู่ วิธีการทางทหารเรียกว่าปฏิบัติการทางจิตวิทยา ถึงจุดนี้คนก็รู้ว่าผู้มีอำนาจกำลังพูดถึงอะไรและไม่พูดถึงอะไร

ยุค คสช. จึงมีวัตถุดิบในการสร้างอารมณ์ขันเยอะมาก เป็นช่วงที่มีการผลิตมีมค่อนข้างเยอะ มีเรื่องให้เสียดสีเต็มไปหมด เป็นเพราะพูดอะไรตรงไปตรงมาไม่ได้ อารมณ์ขันเริ่มพัฒนามาจากการพยายามจะมีชีวิตรอดทางการเมืองในช่วงคสช. ทุกวันนี้ที่เราเห็นอารมณ์ขันในทวิตเตอร์หรือในการประท้วงมันมีที่มา ไม่ใช่อยู่ๆ เกิดขึ้นมา คนรุ่นใหม่ที่โตมาในยุค คสช. เห็นความ absurdity ของสังคมเยอะมาก

ตอนนี้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีอารมณ์ขันแบบจิกกัดตัวเอง (self-deprecating humor) ปกติเวลาเราถูกล้อก็มักจะโกรธ แต่ตอนนี้คนไทยจิกกัดตัวเองก่อนเลย ทำให้อาวุธที่อีกฝั่งหนึ่งเคยใช้ได้ผล กลับไม่ได้ผล ตัวอย่างที่น่าสนใจคือตอนที่ชาวทวิตเตอร์ไทยทะเลาะกับชาวทวิตเตอร์จีน เรื่อง #nnevvy ที่มีดาราไทยไปพูดถึงไต้หวันและฮ่องกงในฐานะประเทศแล้ว ‘ทัวร์จีน’ ลง ชาวทวิตเตอร์ไทยก็แหกทัวร์จีนว่าทุกอย่างที่จีนพูดมา เช่นที่บอกว่าเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา คือใช่ เราเป็นอย่างนั้น ที่จีนพูดดูถูกไทยอย่างนั้นอย่างนี้ ชาวทวิตเตอร์ไทยก็บอกว่า เออ พูดถูก แล้วไงต่อ หาอะไรที่มันเจ็บกว่านี้ได้ไหม นี่เป็นอารมณ์ขันที่มีลักษณะเฉพาะของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะถือว่าของพวกนี้เป็นเรื่องศักดิ์ศรี มีเรื่องของชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เส้นของศักดิ์ศรีในคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป รหัสทางวัฒนธรรมที่เราพูดกันมันเปลี่ยนไปหมด

อารมณ์ขันที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีที่มา สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองของคนรุ่นใหม่ ความเข้าใจตนเองในฐานะคนไทยของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป และความรู้สึกผูกพันกับวัฒนธรรมไทยที่คนรุ่นเก่าเข้าใจก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่แค่การประท้วง แต่เรากำลังเห็นการปะทะกันของวัฒนธรรมสองชุดที่เริ่มเข้ากันไม่ได้ แล้วไปปรากฏตัวในพื้นที่การประท้วงบนถนนและพื้นที่โซเชียลมีเดีย

การเสียดสีหรือใช้อารมณ์ขันแบบนี้จะมีพลังแค่ไหนในการเคลื่อนไหว ฝ่ายรัฐบาลอาจมองว่าวิธีการแสดงออกแบบนี้ไม่เป็นแรงกดดันมากหรือเปล่า

Hannah Arendt นักปรัชญาชาวเยอรมัน พูดถึงอารมณ์ขันว่า “สิ่งที่อำนาจกลัวที่สุดคือการถูกหัวเราะ” การใช้อารมณ์ขันในสภาวะการเมืองแบบปิดจะเป็นประโยชน์ ในช่วง คสช. ที่พื้นที่การเมืองปิด อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือทำให้เรื่องที่ซีเรียสและน่ากลัวมากๆ กลายเป็นเรื่องตลก และแม้จะมีการปราบปรามจากผู้มีอำนาจแต่มันไม่ได้เป็นภัยคุกคามขนาดที่รัฐบาลจะต้องมาทำอะไรนักหนา อารมณ์ขันช่วยประคองสปิริตการต่อสู้ในช่วงพื้นที่การเมืองปิด ทำให้มีการสื่อสารระหว่างกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้

คำถามที่น่าสนใจคือในช่วงที่การเมืองเริ่มเปิดแบบนี้ ที่ทางของอารมณ์ขันอยู่ตรงไหน

1. อารมณ์ขันทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุมในสายตาสาธารณชนค่อนข้างคลุมเครือ (ambiguous) จากที่มีคำถามว่าเป็นเสื้อสีอะไร เป็นคนของใคร ก็กลายเป็นไม่แน่ใจ เช่น แฟนโอตะร้องเพลงแฮมทาโร่มาจากไหน ช่วยทำให้อคติต่างๆ ลดลงได้

2. เป็นความบันเทิง คนที่เป็นโอตะแฮมทาโร่ปกติอาจไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พอมีกิจกรรมแบบนี้ก็เข้าร่วม หรือที่มีกลุ่มแดร็กควีนแต่งตัวไปต่อบทเรื่องหอแต๋วแตกกัน การออกไปชุมนุมมันเป็นเรื่องที่เหนื่อยและมีความเสี่ยง แต่พอมีความบันเทิงก็เป็นแรงจูงใจ

คำถามคือถ้าใช้แต่วิธีแบบนี้จะได้ผลไหม ดิฉันคิดว่าไม่ การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้การเมืองภาคประชาชน ยังมีเครื่องมืออื่นๆ เต็มไปหมด อารมณ์ขันก็เป็น subset อันหนึ่งของวิธีการประท้วงที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กับกิจกรรมทางการเมืองแบบอื่น เช่น การพยายามสื่อสารกับคนวงกว้าง คนที่ไม่เห็นด้วยหรือคนที่ยังไม่แน่ใจว่าผู้ประท้วงทำอะไรกันอยู่ หรือการพยายามหาช่องทางพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่คิดว่าน่าจะเป็นพันธมิตรกันได้

การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นการชนอำนาจอย่างเดียว แต่เป็นการสมานได้ โดยพยายามชักจูงผู้ที่สนับสนุนฝ่ายอำนาจเพื่อหาขั้วพันธมิตรใหม่ นี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับใหญ่ ถ้าเรายึดอยู่ที่วิธีการใช้อารมณ์ขันอย่างเดียวก็เป็นเหมือนอาหารที่มีรสชาติเดียว ไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่อยากให้เกิดขึ้นเสมอไป

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ตอนนี้การชุมนุมกระจายออกไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ละกลุ่มนัดชุมนุมกันอย่างอิสระ สภาพเช่นนี้จะนำไปสู่อะไร รัฐบาลจะมองว่าการรวมตัวเช่นนี้สามารถสั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลได้หรือเปล่า

ถ้าไม่มีโควิดรัฐบาลคงจะวางใจกว่านี้ แต่ตอนนี้โควิดเป็นไพ่ที่เปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง การประท้วงเกิดขึ้นในภาวะที่เรียกว่า perfect storm คือเกิดควบคู่กับปรากฏการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เรามีโควิดซึ่งรัฐบาลไทยจัดการในทางสาธารณสุขได้ค่อนข้างโอเค แต่ในทางเศรษฐกิจคนกำลังตกงานมหาศาล เนื่องจากวิธีคิดของรัฐบาลยุคนี้ที่ต่อเนื่องมาจากยุค คสช. คือ อุ้มคนมีอำนาจ 1% และปล่อยให้คนที่เหลือช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ผลกระทบเกินกว่าที่จะรับมือ

ปรากฏการณ์ความไม่พอใจเรื่องปากท้องมีมากขึ้น เราจะเห็นการปลดคนออกจากงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกแย่ลง ในประเทศที่ช่วยพยุงคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคม วิกฤตเศรษฐกิจก็จะค่อนข้างเบาหน่อย แต่รัฐบาลไทยไม่สามารถพยุงคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคมได้ ผลกระทบก็จะขยายเป็นวงกว้าง เริ่มจากคนข้างล่างและจะกัดกินไปยังชนชั้นกลางทั่วไป เราจะเห็นปัญหาปากท้องที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนยากคนจนเท่านั้น คุณจะเห็นคนชั้นกลางมีปัญหาปากท้อง คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่สามารถหางานได้ ธุรกิจขนาดย่อมทั้งหลายเจ๊ง นั่นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่โควิดเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของรัฐบาลปัจจุบัน

ในทางการเมืองตอนนี้มีวิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นต่อพรรคพลังประชารัฐ ภายในพรรคก็มีการต่อสู้กันเอง ทำให้คนเริ่มเห็นว่าสถาบันอย่างกองทัพก็เลือกข้าง มีความเป็นการเมือง แล้วเผลอๆ อาจจะไม่ต่างอะไรกันกับนักการเมืองที่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องการใช้อำนาจแบบไม่มีความเป็นธรรม เริ่มเปิดเผยให้เห็นว่าขณะที่พรรครัฐบาลอ้างความเหนือกว่าทางศีลธรรม อ้างว่าเป็นตัวแทนของคนดี แต่ปรากฏว่าก็ไม่ต่างอะไรกับฝ่ายตรงข้ามที่เขาโจมตีมาตลอด

เราจะเริ่มเห็นวิกฤตศรัทธาของคนที่สนับสนุนพรรครัฐบาล หรือ ‘ระบอบประยุทธ์’ เกิดขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้อาจจะเริ่มเฉยๆ เมื่อกลุ่มก้าวหน้าต่างๆ ออกมาประท้วง ออกมาต่อว่าระบอบประยุทธ์ นี่เป็น perfect storm คือมีวิกฤตหลายด้าน

แล้วผู้ประท้วงจะอาศัยวิกฤตเหล่านี้เป็นโอกาสในการประท้วง ขยายพันธมิตร และเปลี่ยนวาทกรรมหลักของสังคมได้หรือไม่ การปะทุมีโอกาสที่จะสร้างจุดเปลี่ยนในยุคโควิด แต่ถ้าไม่มีใครใช้โอกาสนี้มาช่วยขับเคลื่อนการประท้วงได้ โอกาสแบบนี้ก็จะหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งคนไทยจะรู้สึกทนได้กับวิกฤตเศรษฐกิจ ทนได้กับความรู้สึกอยุติธรรม ถึงจุดหนึ่งคนจะชินแล้วความโกรธจะหายไป ต้องพยายามคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนไหวต่อไป

กลุ่มเยาวชนปลดแอกมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล แต่ในที่ชุมนุมยังมีการพูดถึงอีกหลายประเด็น สะท้อนความไม่พอใจรัฐบาลและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ คิดว่าในประเด็นเหล่านี้มีความสุ่มเสี่ยงอะไร มีสิ่งไหนที่ผู้ชุมนุมควรจะระมัดระวังไหม

การชุมนุมในความเข้าใจของดิฉันมีสองแนวทางหลัก 1. การแสดงจุดยืน (expressive) คือการพูดในสิ่งที่เราอยากพูด การพูดความจริงต่ออำนาจ เป็นลักษณะการเคลื่อนไหวเพื่อระบายความคับข้องใจ 2. การเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ (strategic) เราต้องเห็นว่าอำนาจในสังคมทำงานยังไง แล้วเราอยากเปลี่ยนอำนาจนี้แบบไหน ดิฉันสนับสนุนแนวทางในเชิงยุทธศาสตร์

ต้องเข้าใจว่าคนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในสังคมไทยมีลักษณะความคิดแบบอนุรักษนิยม ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดบาป คนเหล่านี้อยากรักษาสังคมไทยให้เป็นในแบบที่เคยเป็นมา แล้วถ้าคนอีกครึ่งหนึ่งในสังคมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไปบอกว่าสิ่งที่เขารักและเคารพ ไม่ใช่สิ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับเรา แทนที่เราจะ neutralize คนเหล่านี้คือการทำให้คนบางส่วนกลายเป็นพวกหรือทำให้เขาไม่ต่อต้านสิ่งที่เราทำอยู่ แต่เรากลับไปกระตุ้นให้เขาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งที่เขารัก

ถ้าเราไม่สามารถหาผู้สนับสนุนเพิ่มจนทำให้คน 60-70 เปอร์เซ็นต์ในสังคมมีฉันทามติร่วมกับเราได้ การเปลี่ยนแปลงระยะยาวก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องเข้าใจว่าควรจะสื่อสารอะไรที่ไม่เป็นการไปกีดกันคนเหล่านี้ออก ไม่ไปกระตุ้นให้คนเหล่านี้มาทะเลาะกับเรามากขึ้น หรือไม่เป็นการผลักให้คนเหล่านี้ไปเข้าข้างฝ่ายผู้มีอำนาจที่เราไม่เห็นด้วย

สังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นสังคมที่ความคิดแยกเป็นสองขั้ว สิ่งที่ปรากฏในโลกทวิตเตอร์หรือในการประท้วงตอนนี้ เป็นแนวคิดใหม่ที่กำลังปะทะกับแนวคิดเก่า ซึ่งแนวคิดเก่าไม่ตายง่ายๆ และยิ่งคุณไปกระตุกหนวดแนวคิดเก่านี้ก็จะยิ่งอยู่นานกว่าเดิม จะทำอย่างไรให้คนที่ยังอยากจะรักษาแนวคิดเก่าเหล่านี้เห็นว่าเขามีที่ทางในแนวคิดใหม่ ถ้าทำแบบนั้นได้การเคลื่อนไหวก็จะมีลักษณะเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าการแสดงออกเท่านั้น

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

หลายคนซ้อนทับภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นปัจจุบันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยความรู้สึกกังวล อะไรจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้สังคมเราเดินไปถึงจุดนั้น

ในทางหนึ่งวิธีการสื่อสารของผู้ชุมนุมต้องไม่สร้างฐานมวลชนให้ฝ่ายขวา การชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องการเมือง แต่เรื่องปากท้องมันมีอยู่ ทำยังไงที่จะเชื่อมโยงจากเรื่องระบอบการเมืองให้เป็นเรื่องปากท้อง เพื่อป้องกันการสร้างมวลชนของฝ่ายขวา

6 ตุลาฯ คือฝ่ายขวาระดับภาคประชาชน จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการระดมความเห็นมหาชนของฝ่ายขวาว่ารัฐมีความชอบธรรมในการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม จะทำอย่างไรให้ข้ออ้างเหล่านี้ด้อยพลังลง ฉะนั้นต้องพูดถึงปัญหาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ พูดถึงปัญหาระดับกว้าง ปัญหาปากท้อง ดิฉันคิดว่าถ้าจะเคลื่อนไหวในระยะยาวต้องพูดถึงเรื่องปากท้องเป็นหลัก

เมื่อเป็นอย่างนั้นได้ จะทำให้รัฐบาลที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธขาดความชอบธรรม การปราบปรามนั้นก็จะเป็นภัยต่อผู้ใช้กำลังเอง จะทำให้คนยิ่งตั้งคำถามกับระบอบมากขึ้น คนจะยิ่งมีปัญหากับผู้นำทางการเมืองตอนนี้มากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ถ้าจะต้องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจทางการเมืองจำนวนมากยังคงรักประเทศไทย การใช้กำลังใดๆ ก็ตาม ที่แม้ว่าจะทำในนามของความรักชาติ จะยิ่งทำให้สังคมแตกสลายเร็วยิ่งขึ้น ถ้าใช้กำลังปราบปรามแล้วคนที่ไม่เห็นด้วยจะวิ่งไปหาฝ่ายที่สุดโต่งมากขึ้น จะยิ่งผลักให้คนที่เห็นต่างกับคุณ กลายเป็นว่าไม่เอาคุณเลยหรือกระทั่งอาจจะจับปืนลุกขึ้นสู้ก็ได้ เพราะฉะนั้นการใช้กำลังมีปัญหาหลายเรื่อง

หากฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้กำลัง จะยิ่งทำให้สิ่งที่ไม่ใช่ภัยความมั่นคงกลายเป็นภัยความมั่นคง วิธีคิดของฝ่ายความมั่นคงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเป็นในแนวทางนี้ คือ การผลักให้คนที่ไม่ใช่ภัยความมั่นคงกลายเป็นศัตรูของรัฐ การปราบปรามมีราคาที่ต้องจ่ายทางการเมืองมาก สำหรับคนที่อยากเห็นสังคมไทยเดินไปข้างหน้า คนที่อ้างว่ารักชาติทั้งหลาย คุณต้องไม่ใช้กำลังทำร้ายคนที่เห็นต่าง เพราะถ้ายิ่งทำแบบนั้น ชาติจะแตกสลาย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save