fbpx
‘Youthquake’ พลังการเมืองของหนุ่มสาวจากโลกถึงไทย กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

‘Youthquake’ พลังการเมืองของหนุ่มสาวจากโลกถึงไทย กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ไม่กี่ปีก่อน Youthquake เป็นคำศัพท์แห่งปีของ Oxford Dictionaries เมื่อเกิดปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวในตะวันตกออกมาเคลื่อนไหวเขย่าการเมือง สังคม และวัฒนธรรม

ต้นปี 2020, Youthquake ส่งพลังสั่นสะเทือนถึงการเมืองไทย เมื่อนักเรียน-นักศึกษา ออกมาแสดงพลังทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เข้าใจพลังคนหนุ่มสาวจากบริบทโลกถึงไทย กับ รศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่พวกเขาสนใจ วิธีเคลื่อนไหวแบบไหนที่พวกเขาช่ำชอง โลกแบบไหนที่พวกเขาฝันหา และถึงที่สุดแล้วพลังจะเปลี่ยนโลกได้แค่ไหนและคลี่คลายไปทางใด

ติดตามทั้งหมดได้จากรายการ 101 One-on-One ep.107 ‘Youthquake’ พลังการเมืองของหนุ่มสาวจากโลกถึงไทย

 

 

:: ลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่างจากอดีต ::

 

 

ในอดีต ช่วงยุค 70’s สหภาพแรงงานเข้มแข็งมากในเทรนด์ระดับโลก โครงสร้างของขบวนการเคลื่อนไหวจึงชัดเจน มีลักษณะเป็นกึ่ง NGO และกึ่ง Social Movement คือมีการจัดการอย่างมีลำดับขั้น มีการบัญชาการ มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง และมีวาระขับเคลื่อนเดี่ยวๆ เช่น ต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน

แต่ปรากฏการณ์ที่เริ่มขึ้นในปี 2000 เป็นต้นมาและชัดเจนขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ คือ ผู้คนที่มารวมตัวกันมีลักษณะและความสนใจที่หลากหลาย เข่น ขบวนการในเซอร์เบีย ผู้เข้าร่วมมีทั้งนักสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แฟนเพลงขาร็อค กระทั่งเยาวชนที่ไม่สนใจการเมือง การเคลื่อนไหวในยุคใหม่จึงรองรับคนที่หลากหลาย แม้ว่าจะต่อสู้เรื่องการเมืองเรื่องประชาธิปไตยร่วมกัน แต่ก็มีวาระอื่นๆ ที่แตกต่างมารวมกันมากขึ้น

อีกประเด็นที่ต่างจากอดีตคือ ลักษณะของแกนนำขบวนการ แทนที่จะมีแกนนำคนเดียวก็เริ่มกระจายอำนาจ เปลี่ยนเป็นกลุ่มแกนนำที่สามารถทำหน้าที่คล้ายกันได้ แต่สลับกันทำ หรือมีการตัดสินใจร่วมกันที่เป็นแนวระนาบ เช่น ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว ทุกคนต้องมาประชุมและมีฉันทามติ

ด้านยุทธวิธีการเคลื่อนไหว เราจะเห็นบทบาทของสื่อมากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตถูกลง และโซเชียลมีเดียก็เข้ามามีอิทธิพล ดังนั้น การถ่ายทอดสดการชุมนุมจึงกลายเป็นเรื่องปกติ

แต่ก่อนเวลาเราคิดถึงการชุมนุมเราจะเห็นภาพคนมารวมตัวกันเยอะๆ และเป็นการ ‘ดูกันเอง’ แต่โซเชียลมีเดียทำให้การเคลื่อนไหวไม่ต้องพึ่งจำนวนคน และไม่ต้องพึ่งถนนเท่าเดิม กิจกรรมในการเคลื่อนไหวจึงอาจใช้คนแค่ 10 คน แต่ทำกิจกรรมในรูปแบบที่สามารถนำเนื้อหาไปลง Instagram โพสต์ใน Twitter หรือทำเป็นคลิปลง Youtube ต่อได้

 

:: การประท้วงกับการเปลี่ยนระบอบการเมือง ::

 

 

ประเทศที่มีบริบททางสังคมที่น่าสนใจและคล้ายกับเราคือประเทศซูดานใต้ แม้ว่าซูดานจะเป็นรัฐใหม่ ที่มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ต่างจากประเทศไทยที่มีรัฐเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่สิ่งที่คล้ายกับเรามากคือบทบาทของกองทัพในการเมือง

การเคลื่อนไหวในยุค 2000 เป็นต้นมา หลายประเทศเริ่มจากการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผู้นำ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบ เช่น ในอียิปต์ มีการเปลี่ยนผู้นำแต่องคาพยพเดิมยังอยู่ สังคมจึงกลับไปสู่จุดเดิม กล่าวคือแม้ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง แต่ไม่ได้แปลว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเสมอไป

ซูดานใต้จึงเรียนรู้จากอียิปต์ว่าจะทำยังไงให้ระบบการเมืองถูกถอนรากถอนโคน การชุมนุมในซูดานช่วงแรกเป็นการเรียกร้องให้ผู้นำลาออก แต่พอผู้นำลาออก กองทัพก็ขอแต่งตั้งกรรมาธิการชั่วคราวเป็นรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน และขอร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ผู้ชุมนุมจะพอใจแล้วหยุดการเคลื่อนไหว กลับยื้อการประท้วงต่อไปเป็นเดือนๆ โดยเรียกร้องว่าหากคณะกรรมาธิการชั่วคราวมีแต่กองทัพ เขาจะไม่ยอมถอย ต้องเอาคนจากภาคประชาสังคมไปผสม และมีการลงสัญญาว่าคณะกรรมาธิการชั่วคราวจะอยู่กี่ปีจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

การประท้วงทั้งหมดยืดเยื้อมากและมีการสูญเสีย แต่ผลลัพธ์สุดท้าย ก็ไม่ใช่การกลับมาของกองทัพอีกครั้ง

 

:: ขบวนการคนรุ่นใหม่ไทยในฐานะมูฟเมนต์แห่งความหวัง ::

 


 

การปรากฏตัวของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นหลังบริบทการยุบพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้งจึงมีความคับข้องใจ มีความโกรธค่อนข้างเยอะ เวลาผู้ประท้วงโกรธและออกมาทำกิจกรรมบนท้องถนน มักจะตามมาด้วยการบอกว่าฉันต่อต้านอะไร แต่สเต็ปถัดไปจากนี้คือ การบอกว่าเราจะสร้างอะไร อยากได้ หรืออยากแก้อะไร เราจึงเห็นการก่อตัวของข้อเสนอ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอจำเป็นจะต้องลงรายละเอียด การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้อะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ของคนรุ่นใหม่ เช่น อยากได้ประชาธิปไตยเต็มใบ อยากได้การเคารพกฎหมายตามหลักนิติธรรม อยากรักษาสิทธิของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าม็อบคือความโกรธ มูฟเมนต์ก็คือความหวัง

ม็อบเป็นสิ่งที่เอาไว้ต่อต้าน ออกมาเพราะความไม่พอใจจากเหตุการณ์บางอย่าง ส่วนมูฟเมนต์เป็นสิ่งที่เอาไว้ต่อรองกับอำนาจ ออกมาพร้อมข้อเสนอว่าจะเปลี่ยนอะไรในสังคม ดังนั้น สิ่งสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวคือ จะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนจากม็อบเป็นมูฟเมนต์

มูฟเมนต์ที่ให้ความหวังกับคนในสังคมได้จะต้องมีข้อเสนอบางอย่าง และต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนในสังคมที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่คนที่คิดเหมือนกันกับเรา เช่น ต้องคิดว่าจะคุยกับคนที่สนับสนุนลุงตู่อย่างไร ทำอย่างไรให้เขาเห็นด้วยว่าประชาธิปไตยก็สำคัญกับชีวิตเขาเหมือนกัน

 

:: Covid-19 วิกฤตที่เพิ่มโอกาสให้ขบวนการเคลื่อนไหว ::

 


 

ขบวนการเคลื่อนไหวประกอบไปด้วย 1.เรื่องของคน เช่น คนจะออกแบบแคมเปญอย่างไร ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างไร 2.เรื่องโครงสร้างทางบริบท ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกแบบไม่ได้

เพราะฉะนั้นบางเหตุการณ์หรือบริบทบางอย่างจึงเอื้อต่อการเคลื่อนไหวให้ประสบความสำเร็จ แต่บางจังหวะก็ไม่เอื้อ ตัวอย่างบริบทไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหลังรัฐประหาร เพราะเป็นช่วงที่มีการประท้วงกันมานาน คนเบื่อการประท้วง อยากได้ความสงบ เมื่อมีผู้ออกมาเคลื่อนไหว คนบางส่วนก็รู้สึกต่อต้าน

ขณะที่เหตุการณ์โควิด-19 เป็นบริบทที่น่าสนใจมาก และอาจจะมีน้ำหนักเท่าวิกฤตเศรษฐกิจ ในการศึกษาเหตุการณ์ทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจมักถูกนับว่าเป็น external shock คือเป็นสิ่งที่สร้างแรงกระเพื่อม เป็นตัวทดสอบประสิทธิภาพการปกครองว่าจะรอดไหม ถ้าห่วย ถ้าไม่รอด ก็เท่ากับสร้างโอกาสทางการเมืองให้การประท้วง คล้ายเป็นการบอกว่า ‘เห็นไหม ฉันบอกแกแล้ว เห็นอย่างที่ฉันเห็นไหม’

วิกฤตเศรษฐกิจยังสามารถเล่นกลทางนโยบาลได้ แต่วิกฤตโควิด-19 เป็นอะไรที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการเปิดข้อมูลอย่างโปร่งใส ต้องอาศัยความเชื่อใจในหน่วยงานสาธารณสุข และอีกหลายปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ หรือระบบที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาซับซ้อน

เราเห็นกระแสตาสว่างมากขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนขับเคลื่อนว่าจะชูประเด็นนี้อย่างไร จะเปลี่ยนกระแสตาสว่างให้เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการเคลื่อนไหวอย่างไร

 

:: การเคลื่อนไหวที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันในทวิตเตอร์ ::

 


 

ทวิตเตอร์เป็นการต่อสู้ทางความคิด และเป็นพื้นที่ต่อสู้ในช่วงที่คนแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะได้ยาก ทวิตเตอร์จึงซ่อนอะไรไว้หลายอย่างผ่านภาษา

ประเทศไทยใน 5 ปีที่ผ่านมากลายเป็นต้นทุนของการสร้างแฮชแท็กและตลกร้ายในทวิตเตอร์ ขณะที่การเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาษาจากทวิตเตอร์ ย้ายไปสู่กิจกรรมบนถนน จากที่เข้าใจกันเอง และเอาไว้ใช้เลี่ยงการพูดถึงประเด็นอ่อนไหว บางแฮชแท็กก็เริ่มกลายเป็นกระแสหลัก

เราจึงต้องมองเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของภาษาเหล่านี้ พอแฮชแท็กไหนฮิต ทางการเริ่มรู้เริ่มตามไล่ ก็ต้องคิดคำใหม่ และค่อยๆ ทำให้มันกลายเป็นกระแสหลักวนไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าพูดในฐานะมูฟเมนต์ มันก็ควรจะมีลักษณะเช่นนี้แหละ มูฟเมนต์ไม่ควรจะตายตัว เพราะเมื่อไหร่ที่ตายตัว ก็ไม่ต่างอะไรกับระบอบการเมือง

ระบอบการเมืองแบบตายตัวไล่ตามแฮชแท็กไม่ทัน เพราะเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องแข็งๆ ไม่เข้าใจความคิดสร้างสรรค์ทางภาษา คนที่คิด #ผนงรจตกม คงไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่คงจะหาคำใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ มาทำเป็นแฮชแท็กอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น กว่าเขาจะไล่ตามได้ คนก็ไปใช้แฮชแท็กอื่นกันแล้ว

 

:: คนรุ่นใหม่อยากเห็นโลกแบบไหน? ::

 


 

ความสนใจต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ เป็นมรดกของวิธีคิดแบบคนรุ่นเก่าที่สร้างความชิบหายให้กับโลกจนถึงทุกวันนี้ มันสะท้อนถึงความรู้สึกไม่พอใจ ทั้งเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การยึดติดกับ GDP ทั้งๆ ที่คนตกงานกันหมด ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ จากวิธีการที่คนรุ่นก่อนใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดปัญหา

ถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยอยากเห็นอะไร ดิฉันคิดว่าเขาอาจไม่ได้สนใจแค่จะมีประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องฝุ่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เขาอาจจะอยากเห็นโลกที่อยู่ได้ โลกที่เป็นมิตร และอยากเห็นสังคมไทยเคลื่อนจากวิธีคิดแบบเก่า สู่วิธีคิดที่ร่วมสมัยขึ้น เพื่อทำให้อนาคตของคนรุ่นเขา และคนรุ่นต่อๆ ไปดีกว่านี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save