fbpx
จะนะ: เสียงร้องจากท้องทะเล

จะนะ: เสียงร้องจากท้องทะเล

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม เรื่อง*

 

ผลพวงของการพัฒนา

 

โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จะนะ

โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อมูล: กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

บ้านผมอยู่ในอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งห่างจากจะนะพื้นที่พิมพ์เขียวในการโกยเงินของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลาประมาณ 30 กิโลเมตร แม้พื้นที่จะไกลกัน แต่สายน้ำและอากาศต่างเป็นเนื้อเดียวกัน พื้นที่แถบบ้านผมเกือบทั้งหมดในปัจจุบันไม่สามารถใช้น้ำบ่อเพื่อการบริโภคได้เหมือน 10 ปีก่อน ความจริงปัญหาน้ำบ่อในชุมชนไม่เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมาจากบริษัทรับจ้างล้างโลหะอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชน ซึ่งอุปกรณ์ขุดเจาะเหล่านั้นก็เชื่อมโยงกับท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้นิคมอุตสาหกรรมจะนะจะห่างจากบ้านเรา แต่น้ำที่เราดื่มกินกลายเป็นสีเหลืองและไม่สามารถบริโภคได้อีกต่อไป จนชาวบ้านในละแวกดังกล่าวต้องซื้อน้ำกินมากกว่า 500 บาทในแต่ละเดือน ทั้งที่บ้านเรามีทะเล ป่าไม้ ภูเขา น้ำตกซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ความจริง ก่อนหน้านี้ พวกเราไม่ต้องจ่ายค่าน้ำดื่ม แต่เมื่อมีมีธุรกิจพลังงานและนิคมอุตสาหกรรมเข้ามา วิถีชีวิตและการเป็นอยู่ของเราก็เปลี่ยนไป ทั้งที่เราห่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่าคิดเป็นระยะทางแล้วก็ไม่น้อย … น่าคิดว่า แล้วชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมจะมีสภาพเป็นอย่างไร

นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านกู่ร้องต่อต้านโครงการดังกล่าวผ่านสโลแกน “มึงสร้าง กูเผา” เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เวลากว่า 1 ทศวรรษสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเพื่อสนองประโยชน์มูลค่าปีละหลายล้านบาทของนายทุนบางกลุ่ม ในขณะที่ ประชาชนต้องสูญเสียน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ อาชีพ รวมทั้งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไปในที่สุด

 

จะนะ: จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

 

ปลากระโทงร่มในทะเลนาทับ อ.จะนะ

ปลากระโทงร่มในทะเลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อมูล: ครูซอแหละฮฺ ขุนดุหรีม นักตกปลาผู้มากประสบการณ์

 

ข้อมูลในเดือนธันวาคมปี 2559 ระบุว่า เมืองจะนะถือเป็นเมืองใหญ่ลำดับต้น ๆ ของจังหวัดสงขลา มีพื้นที่ครอบคลุม 14 ตำบล 139 หมู่บ้าน รวมประชาชนประมาณ 106,114 คน รวม 28,894 ครัวเรือน วัด 27 แห่ง สำนักสงฆ์ 4 แห่ง และมัสยิด 70 แห่ง เป็นพื้นที่ที่ชาวพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกัน แต่หากคิดสัดส่วนแล้ว ชาวมุสลิมนับเป็นประชากรส่วนใหญ่คิด ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้คนในอำเภอจะนะ

จุดเปลี่ยนสำคัญของอำเภอจะนะคือ โครงการก่อสร้างท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หลังจากการหาข้อตกลงกรณีพิพาทเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยของไทยและมาเลเซียประมาณ 7,250 กิโลเมตรในปี 2522 ซึ่งต่อมาในปี 2534 ทั้งสองประเทศได้ข้อสรุปว่า “จะมีการแสวงหาผลประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน” องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority) จึงเริ่มสำรวจและพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ 15 แห่งด้วยปริมาณสำรองก๊าซปิโตรเลียมสูงกว่า 9.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

ในปี 2541 จึงมีการทำข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement-Head of Agreement: GSA-HOA) ระหว่างกลุ่มผู้ขาย (องค์กรร่วมตัวแทนรัฐบาลไทย-มาเลเซีย) บริษัทผู้รับสัมปทาน (บริษัทไตรตันออยล์ประเทศไทย บริษัทเปโตรนาสชาริกาลี ประเทศมาเลเซีย และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ประเทศไทย) และกลุ่มผู้ซื้อ (บริษัทปิโตรเลียมไทยจำกัด ปตท. และบริษัทปิโตรนาสแห่งมาเลเซีย)

ในปี 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เริ่มโครงการก่อสร้างท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเชื่อมจากไทยเข้าสู่มาเลเซียรวม 374 กิโลเมตร หลังจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2542 รัฐบาลชวน หลีกภัยมีการลงนามสัญญา 4 ฉบับว่าด้วย (1) สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (2) สัญญาผู้ถือหุ้น (3) สัญญาการให้ยืมคืน และ (4) สัญญาแม่บทการร่วมทุน สัญญาดังกล่าวมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันดังนี้คือ รัฐบาลไทยได้ร้อยละ 5 ปตท.ได้ร้อยละ 10 บริษัทไตรตันออยล์ของอเมริกาได้ร้อยละ 35 รัฐบาลและบริษัทผู้ขุดเจาะประเทศมาเลเซียได้ร้อยละ 50

หลังจากนั้นโครงการจึงถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่อย่างหนักเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่ถูกกลุ่มทุนกว้านซื้อ การใช้ที่ดินวากัฟ (บริจาค)ในโครงการ การไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ รวมทั้งปัญหาเรื่องความไม่โปร่งในเรื่องของการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report) ที่ทางบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซียได้ว่าจ้างให้คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ทำการศึกษาวิจัยด้วยวงเงินสูงถึง  20.77 ล้านบาท เมื่อ 16 ธันวาคม 2541 โครงการดังกล่าววางบนพื้นที่ประมาณ 950 ไร่ ของ ต. ตลิ่งชัน อ.จะนะ การคัดค้านจบลงด้วยการการสลายการชุมนุมผู้คัดค้านในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ท้ายที่สุดมีการก่อสร้างสำเร็จและเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549

ปัจจุบัน ท่อส่งและโรงแยกก๊าซจะนะมีกำลังการผลิตวันละ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต ผลิตได้จริง 325 ล้านลูกบาศก์ฟุต ปริมาณการส่งออก 325 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งส่งผ่านท่อไปยังมาเลเซียรวมระยะทางทั้งทางบกและทางน้ำประมาณ 374 กิโลเมตร

หลายฝ่ายมองว่า อุตสาหกรรมในโครงการจะนะไม่ใช่แค่ท่อส่งและโรงแยกก๊าซ หากแต่คือ นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีท่าเทียบเรือ ระบบการขนส่ง และอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้คนเพื่อจับตาการเปลี่ยนแปลงในบ้านเกิดตนเองด้วยการเรียกร้องที่ว่า “เมื่อถูกกลายเป็นผิด ภารกิจคือการต่อสู้” ประชาชนจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือกว่า 100 ฉบับ เปิดเวทีทางวิชาการกว่า 100 ครั้ง เขียนบทความและนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย

 

นิคมอุตสาหกรรมจะนะกับมติ ครม. รอบใหม่

 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา

ข้อมูล: httpswww.thansettakij.comcontentMacro_econ438265

 

หลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 รัฐบาลไฟเขียวให้ผู้รับผิดชอบเริ่มดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้พื้นที่กว่า 16,000 ไร่และนโยบายเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา คือ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) รีบดำเนินการเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 โดยเฉพาะประชาชนจากพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ คือ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม การคัดค้านของประชาชนเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะอันที่จริง รัฐควรจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนแล้วจึงค่อยมีมติจาก ครม. ไม่ใช่จัดการภายใต้กระบวนการที่ค่อนข้างปิดลับและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะชน

แม้ความเห็นในการดำเนินโครงการจะมี 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มสนับสนุน (กลุ่มทุนและประชาชนที่อยู่กับทุน มีนักการเมืองในพื้นที่หนุน) กลุ่มคัดค้าน (กลุ่มคัดค้านท่อส่งและโรงแยกก๊าซเดิม) และกลุ่มสนับสนุนหากมีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับประชาชนผ่านสหกรณ์ที่เพิ่งจัดตั้ง (กลุ่มนายทุนและประชาชนที่หนุนโดยนักการเมืองในพื้นที่ที่กลัวเสียฐานเสียง) แต่ข้อมูลจากพื้นที่บอกว่า ทั้งกลุ่มสนับสนุนเดินหน้าโครงการและกลุ่มสนับสนุนหากมีการแบ่งผลประโยชน์ให้ประชาชน ล้วนเป็นกลุ่มที่เกิดจากการจัดตั้งของนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งตนเองนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะผลประโยชน์จากการขายที่ดินที่ได้กว้านซื้อมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งธุรกิจพลังงานที่หลายคนมีส่วนในการแบ่งผลกำไร

ในกลุ่มผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมจะนะจึงขับเคลื่อนด้วย 2 กลุ่มทุนใหญ่นั่นก็คือ ทีพีไอกรุ๊ป ซึ่งมีแผนร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนจะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางรางมูลค่า 4 แสนล้านบาทบนพื้นที่ 7,000 ไร่ และ บมจ.ปตท. โดย บมจ.ไออาร์พีซี ซึ่งถือครองที่ดิน 3,000 กว่าไร่ และอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนในประเทศเกาหลี เพื่อลงทุนโครงการพลังงานทางเลือก (energy complex) ด้วยมูลค่าลงทุน 2.9 แสนล้าน

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มีการจัดการและเตรียมพร้อมเพื่อหาประโยชน์จากนิคมอุตสาหกรรมในจะนะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2540 โดยมีการกว้านซื้อที่ดินมากกว่า 10,000 ไร่โดยกลุ่มทุน นักธุรกิจ และนักการเมืองในท้องถิ่น ด้วยหวังว่า จะนะจะกลายเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย (Smart City) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร ศูนย์กระจายสินค้า อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าสะอาด อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี โลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

 

จะนะ: บาดแผลแห่งการพัฒนา

 

เครือข่ายผลกระทบจากนโยบายรัฐ

โรงเรียนริมเลเพื่อการต่อสู้ ก้าวสู่วิถีการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

ข้อมูล: https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/8f66da3b-caed-e711-80e3-00155d65ec2e?ReportReason=1&ReportReason=1

 

หากตั้งใจอ่านงานเขียนเรื่อง “โรงเรียนริมเลเพื่อการต่อสู้ ก้าวสู่วิถีการเรียนรู้ที่ยั่งยืน” ของ “เครือข่ายผลกระทบจากนโยบายรัฐ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้: ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้ อยู่ดี ที่ปากใต้” ก็จะพบข้อสังเกตสำคัญของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่กล่าวว่า

“จริง ๆ แล้ว โครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือทุนนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของทุนนิยมไทยที่ไม่พัฒนา กล่าวคือ ก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนหยิบมือเดียว ในขณะที่ปล่อยให้คนส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือในการกอบโกยความมั่งคั่งเหล่านั้น นายทุนทำหน้าที่ดูดซับทรัพยากรและแรงงานราคาถูกไปป้อนเศรษฐกิจ ทุนนิยมไทยผลาญทรัพยากรของชาติและทำให้คนไทยส่วนมากกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำให้แก่โรงงานของพวกเขา โครงการเหล่านี้ทำหน้าที่ดูดซับทรัพยากรให้แก่นายทุนทั้งภายในและข้ามชาติ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายมักสัญญาว่า จะทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นเสมอ เพราะรู้อยู่แล้วว่า วิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านนั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้”

ประสบการณ์จากการพัฒนาในหลายพื้นที่ของไทยล้วนแต่ยืนยันความข้างต้น โครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริมจำนวนมากทำให้วิถีชีวิตของผู้คนดั้งเดิมเปลี่ยนไป เมื่อโรงงานมา ความเจริญก็เข้ามา ถนน ประปา โทรศัพท์ ร้านค้าและอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ความสงบสุขของชุมชนก็เริ่มหายไปพร้อมกับการเกิดขึ้นใหม่ของห้องแถว ที่พัก สลัมข้าง ๆ โรงงาน เพื่อรองรับแรงงานต่างถิ่น หนำซ้ำ อาชญากรรม ยาเสพติด ลักขโมย (ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นทั้งไทยและต่างชาติ) ก็ตามมาด้วยเช่นเดียวกัน น้ำเสีย กลิ่นเหม็น อากาศเป็นพิษและน้ำฝนที่เริ่มทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นคุ้มค่ากับวิถีชีวิตและฐานทรัพยากรของชุมชนที่สูญเสียไปได้หรือ ไม่ต้องพูดถึงว่า ผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้นั้นมีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ได้รับไป มิได้มีการเกลี่ยให้กันอย่างเป็นธรรม

น่าแปลกตรงที่ว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็ยังพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ทุกคนเห็นกับโครงการว่าสามารถ “ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่” แต่ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า แต่ข้อมูลในปี 2559 ชี้ว่า ประชาชนอำเภอจะนะ มีครอบครัวยากจนสูงถึง 79 ครอบครัว ผู้พิการ 46 คน ซึ่งทั้ง 2 สถิติดังกล่าวนั้นมากเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดสงขลา

คำถามใหญ่คือผ่านมา 10 กว่าปีสำหรับโครงการท่อขนส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อำเภอจะนะ ทำไมคุณภาพชีวิตของชาวจะนะจึงไม่ดีตามที่โครงการเคยชวนเชื่อไว้ไว้

 

ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมจังหวัดสงขลา

ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมจังหวัดสงขลา

 

จะนะ: เสียงร้องจากท้องทะเล

 

ความจริงเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่และสถิติดังกล่าวนั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วที่รัฐจะรับฟัง แต่เสียงเหล่านั้นกลับถูกกลบโดยข่าวก่อการร้าย อาชญากรรมรายวัน ครูในโรงเรียน โควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อเสียงเหล่านั้นถูกบดบังด้วยเสียงอื่น ๆ เสียงของปลาอาจเป็นพลังสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปของพื้นที่ รวมทั้งเป็นสัญญาณเพื่อให้รัฐบาลหันมาทบทวนโครงการ “นิคมอุสาหกรรม” ที่อาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม

ความจริง รัฐเองก็รู้ดีว่า “นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมทั้งกุ้งหอยปูปลาในท้องทะเล” จนชาวบ้านสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า “สัตว์ทะเลเริ่มหายากมากขึ้นเต็มที”

วิกฤติดังกล่าว บีบให้รัฐหามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนด้วย “การสร้างปะการังเทียมและบ้านพักของปลาในพื้นที่อ่าวไทย” ซึ่งทำมาจากโบกี้รถไฟ รถบัส รถถัง โครงแท่งคอนกรีตและอื่น ๆ สังเกตได้จากข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดสงขลาที่ระบุว่า มีการจัดวางปะการังเทียมมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ซึ่งการวางปะการังในปี 2526-2552 นั้นจะกระจุกตัวในโซนพื้นที่ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร ส่วนเมืองสงขลา และจะนะ ส่วนในเทพานั้นมีเพียงแค่นิดเดียว

แต่เวลา 1 ทศวรรษหลังเกิดโครงการท่อส่งและโรงแยกก๊าซ ภาครัฐวางแนวปะการังในพื้นที่จะนะและเทพาอย่างเร่งด่วน (ดูได้จาก สัญลักษณ์สีเขียวและสีน้ำเงินในรูปภาพที่ 6) นั่นหมายความว่า “ความสมบูรณ์ของท้องทะเลเริ่มหายไป ปูปลาและวัฏจักรของสัตว์น้ำเริ่มสูญพันธุ์”

ในปี 2559 มีการวางแท่งคอนกรีตเพื่อทำเป็นปะการังเทียมในพื้นที่บ้านปากบางนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลาจำนวน 2,280 แท่งเป็นการเฉพาะเจาะจง เพราะรัฐรู้ดีว่า “ฐานเศรษฐกิจรากหญ้าของชุมชนเริ่มถูกคุกคามจากการพัฒนา” รัฐจึงทำได้แค่เพียงลำเลียงปะการังเทียมลงทะเลเพื่อเรียกฐานทรัพยากรของชุมชนกลับมา ซึ่งดูได้จากรูปภาพของสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา

 

การจัดวางปะการังเทียมในจังหวัดสงขลาระหว่างปี

การจัดวางปะการังเทียมในจังหวัดสงขลาระหว่างปี 2526-2555

ข้อมูล: สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา

 

เมื่อบ้านพักของปลาและปะการังเทียมมากขึ้น ท้องทะเลก็เริ่มฟื้นฟูและมีผลผลิตมากขึ้น เนื่องจากท้องทะเลเริ่มมีวัฏจักรและวงจรชีวิตตามธรรมชาติ ท้องทะเลนาทับจึงเริ่มสมบูรณ์ในระลอกใหม่ เราสังเกตได้จากปลาที่ครูซอแหละฮฺ ขุนดุหรีมได้มาจากทะเลนาทับ ซึ่งครูซอแหละฮฺบอกว่า

“ตนเองเริ่มตกปลามา 20 กว่าปี หลังจากเริ่มดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2549 สิ่งที่พบเห็นคือ ปลาและสัตว์ทะเลนั้นเริ่มหายไป จนกระทั่งภาครัฐต้องหาทางออกด้วยการสร้างปะการังเทียม เมื่อมีปะการังเทียมและบ้านพักอาศัยของปลา ทำให้ปลาเล็กสามารถเจริญเติบโต จนในปี 2563 ตนเองพบปลาฉลามวาฬที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือ ซึ่งคาดว่ามีน้ำหนักมากกว่า 500 กิโลกรัม”

 

ปลาฉลามวาฬ

ปลาฉลามวาฬขนาดกว่า 500 กิโลกรัมในทะเลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อมูล: ครูซอแหละฮฺ ขุนดุหรีม นักตกปลาผู้มากประสบการณ์

 

นอกจากนี้ยังมีปลากระโทงร่มที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 กิโลกรัม ปลาโฉมงามขนาด 5-7 กิโลกรัม ปลาอินทรีย์ขนาด 7-10 กิโลกรัม และปลาชนิดอื่น ๆ “ปลาเหล่านี้ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า ท้องทะเลเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์” ครูซอแหละฮฺกล่าวย้ำ

“ท้องทะเลเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ เห็นได้จากวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ตนเองได้ปลากระโทงร่มจากทะเลนาทับขนาดใหญ่กว่า 30 กิโลกรัม ซึ่งขนาดของปลาบอกเราถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล” ครูซอแหละฮฺแลกเปลี่ยน

 

ครูซอแหละฮฺกับปลากระโทงร่มจากทะเลนาทับ อ.จะนะ

ครูซอแหละฮฺกับปลากระโทงร่มจากทะเลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อมูล: ครูซอแหละฮฺ ขุนดุหรีม นักตกปลาผู้มากประสบการณ์

 

ตลกร้ายของเรื่องนี้คือ ยิ่งเราพบเจอสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์มากเท่าไหร่ที่ทำจากปะการังเทียมมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่า ระบบนิเวศโดยธรรมชาติมีปัญหามากเท่านั้น และเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า ความอุดมสมบูรณ์แบบนี้จะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว หรือมีผลกระทบระยะยาวแบบไหนอย่างไร

การกลับมาของปลาและสัตว์น้ำในทะเลเป็นเรื่องที่น่าดีใจ แต่หากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพึงปราถนาจริงๆ แล้ว ภาครัฐและสังคมควรหันมาตระหนักและทบทวน ‘การทำลายระบบนิเวศครั้งใหญ่ของประเทศ’ เพราะอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่เพียงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่มันคือ ‘การล้มระบบฐานเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชุมชนไปอย่างไม่มีวันหวนคืน’

ปลากระโทงร่มขนาดกว่า 30 กิโลกรัมและฉลามวาฬกว่า 500 กิโลกรัมในทะเลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา อาจปลุกจิตสำนึกของภาครัฐและนักการเมือง ผู้ที่คอยบอกคนรอบข้างว่า “ตนเองมาจากเสียงของประชาชน”  ได้บ้าง…ไม่มากก็น้อย…

 

*นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อ่านเพิ่มเติม

วชิระ แก้วจัน. (2561). รายงานสถานการณ์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา. สงขลา: กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา.

กิตติภพ สุทธิสว่าง และคณะ. (2549). โรงเรียนริมเล เพื่อการต่อสู้ ก้าวสู่วิถีการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เครือข่ายผลกระทบจากนโยบายรัฐ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้: ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้ อยู่ดี ที่ปากใต้. กรุงเทพฯ: อุษากรพิมพ์.

สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา. (2560). การจัดวางปะการังเทียมในเขตจังหวัดสงขลาระหว่างปี 2526-2555. 17 มีนาคม 2560. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 ตุลาคม 2563

คณะทำงานหยุดการพัฒนาสงขลา-สตูลสู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก. (2554). สงขลา-สตูลก้าวสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก. 17 มีนาคม 2560. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 ตุลาคม 2563

ประชาชาติธุรกิจ. (2563). ราคาที่ดิน อ.จะนะพุ่งขึ้น 20 เท่า รับแผนลงทุนเขตเศรษฐกิจใหม่. 16 กรกฎาคม 2563. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 ตุลาคม 2563

ซอแหละฮฺ ขุนดุหรีม, ณ ร้าน้ำชา ในชุมชนบ้านควนหิน อ.เมือง จ.สงขลา สัมภาษณ์, 18 ตุลาคม 2563

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save